ข้อเขียนเรื่องศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวล

ข้อเขียนเรื่องศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวล โดย โซล เลวิทท์
บรรณาธิการผู้หนึ่งได้เขียนถึงฉันว่า เขาเห็นพ้องด้วยที่จะหลีกเลี่ยงความคิดที่ว่า ” ศิลปินเป็นลิงชนิดหนึ่งที่ต้องได้รับการอธิบายจากนักวิจารณ์ผู้เจริญแล้ว”

นี่น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเหล่าศิลปินและลิงทั้งหลาย ด้วยการยืนยันเช่นนี้ฉันจึงตั้งใจที่จะแสดงเหตุผลอธิบายต่อความมั่นใจของเขา ซึ่งอุปมาอุปไมยได้ดังเกมเบสบอล (ศิลปินผู้หนึ่งต้องการที่จะตีลูกบอลให้ออกนอกสนาม ในขณะที่คนอื่นขึ้นไปยืนได้อย่างไม่เกร็งอยู่บนฐาน และก็ตีลูกบอลที่ถูกขว้างออกมา) ฉันจึงรู้สึกยินดีสำหรับโอกาสนี้ที่จะลองออกไป “ฟาดลม” ด้วยตัวเองดูบ้าง ฉันขออ้างถึงศิลปะประเภทหนึ่งที่ฉันมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันได้แก่ ศิลปะแนว คอนเซ็ปท์ชวล ในศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวล แนวความคิดเป็นส่วนสำคัญที่สุดในงาน เมื่อศิลปินใช้รูปทรงทางศิลปะมาแสดงแนวความคิด หมายความว่า การวางแผนและการตัดสินใจทั้งหมดได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และการลงมือทำให้สำเร็จก็จะต้องมีการเตรียมการเสียก่อน ความคิดได้กลายเป็นกลไกที่จะสร้างงานศิลปะขึ้นมา ศิลปะแนวนี้จึงไม่ใช่ศาสตร์ที่ว่าด้วยทฤษฎี หรือเป็นภาพประกอบของทฤษฎีใดๆ มันต้องใช้ญาณของการรับรู้ และเกี่ยวข้องกับทุกกระบวนการที่สัมผัสกับจิตใจ และมันไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการใดเฉพาะ โดยปรกติศิลปะแนวทางนี้มักจะไม่ขึ้นอยู่กับการใช้ความชำนาญของศิลปินเหมือนกับที่ช่างฝีมือต้องมี จุดประสงค์ของศิลปินแนวคอนเซ็ปท์ชวลอยู่ที่การสร้างผลงานของเขาให้มีความน่าสนใจทางความคิดต่อผู้ชม ดังนั้นศิลปินจึงมักต้องการให้ผลงานของเขาเป็นสิ่งที่แห้งแล้งในทางอารมณ์ อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่เหตุผลที่จะยกขึ้นมาอ้างได้เมื่อศิลปินแนวคอนเซ็ปท์ชวลทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อ เพียงแต่ความคาดหวังของผู้ชมที่ต้องการการกระตุ้นทางอารมณ์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของศิลปะแนวเอ็กเพรสชั่นนิสม์ ( expressionist) ที่ผู้คนคุ้นเคยกัน เป็นอุปสรรคต่อผู้ชมในการรับรู้ศิลปะในแนวนี้

ศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวลไม่จำเป็นต้องมีตรรกะ ตรรกของผลงานแต่ละชิ้นหรือแต่ละชุดเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกนำมาอ้างโดยเฉพาะเมื่อผลงานนั้นกำลังจะล้มเหลว ตรรกะอาจจะถูกใช้เพื่อที่จะกลบเกลื่อนความตั้งใจที่แท้จริงของศิลปิน หรือเพื่อกล่อมให้ผู้ชมเชื่อว่า ตัวศิลปินเองเข้าใจงาน หรือเพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง อาทิเช่น การมีเหตุผลกับการไร้ซึ่งเหตุผล ความคิดนั้นไม่จำเป็นต้องซับซ้อน ความคิดส่วนใหญ่ที่ประสบผลสำเร็จเป็นความคิดธรรมดาที่ชวนหัวเราะ โดยทั่วไปความคิดต่างๆที่ประสบความสำเร็จจะมีความเรียบง่ายปรากฏออกมาเพราะความคิดเหล่านั้นดูราวกับว่า มันเป็นสิ่งจำเป็น ในขอบเขตของ “ความคิด” ศิลปินนั้นเป็นอิสระแม้แต่จะสร้างความประหลาดใจให้กับตัวเขาเอง ทั้งนี้ความคิดทั้งหลายถูกค้นพบด้วยญาณ ( intuition) ที่เกิดขึ้นในใจ

ผลงานศิลปะนั้นจะดูเหมือนอะไรก็ตามไม่ใช่สิ่งที่มีความสำคัญมากนัก มันจำเป็นต้องดูเหมือนอะไรบางอย่าง หากผลงานนั้นมีรูปทรงทางกายภาพ แต่ในท้ายที่สุด ไม่ว่ารูปทรงนั้นจะเป็นอย่างไร ก็จะต้องมีจุดเริ่มต้นมาจากความคิด มันเป็นกระบวนการของการกำหนดแนวความคิด ( conception) และการทำให้สิ่งซึ่งศิลปินครุ่นคิดอยู่นั้นปรากฏเป็นจริงขึ้น ครั้นเมื่อศิลปินทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาในเชิงกายภาพ ผลงานนั้นก็จะเปิดไปสู่การรับรู้ของทุกคน ซึ่งรวมทั้งตัวศิลปินเองด้วย (ฉันใช้คำว่า ” การรับรู้” [ perception]) เพื่อที่จะสื่อความหมายถึงการทำความเข้าใจในข้อมูลจากประสาทสัมผัส ซึ่งความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของความคิดที่เป็นภววิสัยและการตีความหมายที่เป็นอัตวิสัยเกิดขึ้นควบคู่กันไป) งานศิลปะถูกแสดงให้หรือเป็นสิ่งที่รับรู้ได้ ก็ต่อเมื่อมันถูกทำสำเร็จแล้วเท่านั้น ศิลปะที่มุ่งจะกระตุ้นความพึงพอใจจากประสาทสัมผัสในการมอง น่าจะถูกเรียกว่าศิลปะของการรับรู้ ( perceptual) มากกว่าจะเรียกว่า แนวคอนเซ็ปท์ชวล ซึ่งมันน่าจะรวมอย่างกว้างๆไปถึงศิลปะแนวออพทิค ( optical) ศิลปะแนวไคเนทิค (kinetic) ศิลปะแนวที่ใช้แสงและสี ( light and color)

เนื่องจากเงื่อนไขของการกำหนดแนวความคิด ( conception) และการรับรู้ (perception) เป็นสิ่งที่แย้งกันอยู่ (สิ่งหนึ่งมาก่อน อีกสิ่งหนึ่งจึงตามมา) ศิลปินมักจะย่นย่อความคิดของเขาโดยใช้อัตวิสัยพิจารณา ถ้าศิลปินปรารถนาที่จะสำรวจความคิดของเขาอย่างละเอียด การตัดสินตามอำเภอใจหรือตัดสินใจอย่างบังเอิญตามโอกาสน่าจะมีน้อยที่สุด ในขณะที่ความแปรปรวน รสนิยม และความไม่แน่นอนอื่นๆ น่าจะถูกแยกออกจากการทำงานศิลปะ ผลงานที่ไม่สวยไม่จำเป็นที่จะต้องถูกปฏิเสธ บางครั้งสิ่งที่คิดในตอนแรกว่า มันดูน่าเกลียดอาจจะได้รับการชื่นชมในท้ายที่สุด

การทำงานด้วยการวางแผนที่ถูกเตรียมไว้ก่อนเป็นวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงอัตวิสัย มันยังลดทอนความจำเป็นของการออกแบบในแต่ละงานลงไปด้วย การวางแผนจะกำหนดตัวงาน บางแผนการอาจต้องการทางเลือกที่หลากหลายเป็นล้านๆทาง และบางครั้งก็มีทางเลือกจำกัด แต่ทั้งสองลักษณะนี้ก็จะถูกขัดเกลาในขั้นสุดท้าย ในบางกรณีแผนการอื่นๆอาจมีนัยว่าจะมีทางเลือกไม่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม ในแต่ละกรณีศิลปินจะเลือกรูปทรงธรรมดาๆและกฎต่างๆเข้ามาช่วยควบคุม หาทางแก้ปัญหา หลังจากนั้นยิ่งมีการตัดสินใจน้อยลงเท่าไรในการลงมือทำงานให้สำเร็จ ก็ยิ่งจะดีขึ้นเท่านั้น การทำเช่นนี้เป็นการตัดการทำตามอำเภอใจ ความแปรปรวนของอารมณ์ และอัตวิสัยออกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือเหตุผลของการใช้วิธีการเหล่านี้

เมื่อศิลปินคนหนึ่งใช้วิธีการประกอบหน่วยย่อยที่ซ้ำๆกันให้มีความหลากหลายขึ้น เขามักจะเลือกรูปทรงที่เรียบง่ายและสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้ว ตัวรูปทรงเองได้ถูกจำกัดความสำคัญลงอย่างมาก และมันกลายเป็นไวยากรณ์ของงานทั้งหมด อันที่จริงมันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหากหน่วยย่อยพื้นฐานนั้นจะไม่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะมันจะกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในงานทั้งหมดได้ อย่างแท้จริง การใช้รูปทรงย่อยที่ซับซ้อนจะทำลายความเป็นเอกภาพของงานทั้งหมดลง การใช้รูปทรงที่เรียบง่ายชิ้นหนึ่งซ้ำๆกันนั้นจะกระชับขอบเขตของงานให้แคบลง และมุ่งสู่ความเข้มข้นในการจัดการทางรูปทรงได้มากขึ้น ซึ่งการจัดการเช่นนี้กลายเป็นจุดที่จบลงได้ ในขณะที่รูปทรงได้กลายมาเป็นวิธีสื่อ

ศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวลนั้น โดยอันที่จริงไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ปรัชญา หรือกฎทางความคิดอื่นใดมากนัก คณิตศาสตร์ที่ศิลปินส่วนใหญ่ใช้เป็นเลขคณิตอย่างง่ายๆ หรือระบบลำดับตัวเลขที่ธรรมดาๆ ปรัชญาของงานมักแสดงนัยอยู่ในตัวงานเอง และไม่ใช่การบรรยายให้เห็นภาพของระบบใดๆทางปรัชญา ไม่ใช่เรื่องสำคัญนักว่า ผู้ชมจะเข้าใจความคิดของศิลปินจากการชมงานศิลปะหรือไม่ ทันทีที่ผลงานออกจากมือ ศิลปินไม่อาจควบคุมวิถีทางที่ผู้ชมจะชมหรือรับรู้ผลงานนั้นได้เลย ต่างคนก็เข้าใจสิ่งเดียวกันในทางที่ต่างกันออกไป

เมื่อไม่นานมานี้มีการเขียนเกี่ยวกับศิลปะแนวมินิมอล (minimal art) เป็นจำนวนมาก แต่ฉันยังไม่พบใครสักคนที่ยอมรับว่าทำงานในลักษณะนี้เลย ยังมีรูปแบบของศิลปะแนวอื่นๆอีกในเวลานี้ ซึ่งถูกเรียกว่าแนวโครงสร้างปฐม ( primary structures) แนวการลดทอน ( reductive) แนวตัดทอน ( rejective) แนวศิลปะที่ไม่เน้นการแสดงอารมณ์ ( cool) และแนวมินิอาร์ต ( mini-art) ไม่มีศิลปินคนใดที่ฉันรู้จักยอมรับว่าสร้างงานศิลปะประเภทที่กล่าวถึงนี้เลย ดังนั้นฉันจึงสรุปว่า คำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของภาษาลับที่นักวิจารณ์ศิลปะทั้งหลายใช้กัน เมื่อทำการติดต่อกับคนอื่นๆผ่านสื่อวารสารศิลปะ ศิลปะมินิอาร์ต ( mini-art) เป็นสิ่งที่ดี เพราะมันชวนให้นึกถึงพวกกระโปรงสั้น ( mini-skirts) และผู้หญิงขายาวทั้งหลาย มันคงหมายถึงงานศิลปะที่มีขนาดเล็กมาก นี่คือความคิดที่ดีมาก บางทีการแสดงศิลปะแนวมินิอาร์ต ( mini-art) สามารถจะส่งไปแสดงทั่วประเทศได้ในกล่องไม้ขีด หรือบางทีศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะแนวมินิอาร์ต ( mini-art) นี้ อาจเป็นคนตัวเล็กมาก บางทีอาจมีความสูงน้อยกว่าห้าฟุต ถ้าเช่นนั้นในโรงเรียนประถมทั้งหลายก็น่าจะมีงานดีๆอย่างนี้อยู่มากมาย ( โรงเรียนประถม-โครงสร้างปฐม/ primary school primary structures)

ถ้าศิลปินเดินตามความคิดของเขาและทำให้มันเป็นรูปทรงที่ปรากฏชัดเจนขึ้น เมื่อนั้นขั้นตอนทั้งหมดของกระบวนการก็จะมีความสำคัญ ตัวความคิดเองนั้นถึงแม้จะไม่ถูกสร้างออกมาให้เห็น มันก็เป็นการทำงานศิลปะพอๆกับการทำผลงานอื่นที่สร้างสำเร็จแล้ว ขั้นตอนต่างๆที่แทรกอยู่ทั้งหมด เช่น การขีดเขียน การร่างภาพ การวาดเส้น ผลงานที่ล้มเหลว แบบจำลอง การศึกษาด้านต่างๆ ความคิดต่างๆ บทสนทนาหาข้อคิดเห็นล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการทางความคิดของศิลปิน บางครั้งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าผลงานที่เสร็จแล้วด้วยซ้ำ

เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจว่า ของชิ้นหนึ่งควรจะมีขนาดใหญ่สักเท่าใด ถ้าความคิดนั้นเรียกร้องว่ามันต้องเป็นสามมิติ ก็ดูเหมือนกับว่าจะเป็นได้หลายขนาด แล้วก็จะมีคำถามเกิดขึ้นว่า ขนาดใดจะดีที่สุด ถ้าสิ่งของนั้นถูกทำให้ใหญ่โตมโหฬาร หากเป็นเช่นนั้น ขนาดเพียงอย่างเดียวจะจูงใจผู้ชม และอาจจะทำให้ความคิดนั้นสูญสิ้นไปหมด และเช่นเดียวกัน ถ้าขนาดเล็กเกินไป มันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ส่งผลใดเลย ความสูงของผู้ชมและขนาดของพื้นที่ว่างที่จะติดตั้งผลงานก็เช่นเดียวกันกับความต้องการของศิลปินที่จะวางตำแหน่งของงานให้สูงกว่าหรือต่ำกว่าระดับสายตาของผู้ชมที่อาจเป็นสิ่งกำหนดตัวงาน ในเรื่องนี้ ฉันคิดว่าชิ้นงานควรจะมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสามารถให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้ชมในการทำความเข้าใจ และชิ้นงานนั้นก็ควรจะติดตั้งในลักษณะที่จะเอื้อให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจต่องานได้ง่าย ( ยกเว้นแต่ว่าความคิดนั้นเป็นเรื่องของการกีดกันและต้องการความยุ่งยากในการมองหรือการเข้าถึงได้)

เราอาจเปรียบพื้นที่ว่าง ( space) เป็นพื้นที่เหลี่ยมลูกบาศก์ซึ่งถูกครอบครองอยู่โดยปริมาตรแบบสามมิติ ปริมาตรใดๆก็ตามที่ครองพื้นที่ว่างนั้นอยู่ คืออากาศซึ่งมองไม่เห็น มันคือระยะห่างระหว่างสิ่งต่างๆที่เราสามารถจะวัดได้ ระยะห่างและการวัดเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการทำงานศิลปะ ถ้าระยะทางที่แน่นอนเป็นสิ่งสำคัญในงานชิ้นหนึ่ง มันก็จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในงานชิ้นนั้น ถ้าพื้นที่ว่างไม่มีความสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นแล้ว เราก็อาจจัดระเบียบและทำให้พื้นที่ว่างนั้นเท่ากันได้ ( โดยวางสิ่งของในระยะห่างที่เท่ากัน) เพื่อที่จะลดความสนใจของช่องว่างนั้นลง พื้นที่ว่างที่ถูกจัดระเบียบนี้อาจจะคล้ายกับมาตรของเวลา ซึ่งเหมือนกับจังหวะหรือชีพจรที่มีความสม่ำเสมอ เมื่อมีการรักษาระยะห่างอย่างสม่ำเสมอ อะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามกฎก็จะมีความสำคัญมากขึ้น

สถาปัตยกรรมและศิลปะที่เป็นสามมิติมีธรรมชาติที่ตรงกันข้ามอย่างแท้จริง ผู้สร้างรูปทรงเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการสร้างพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงขึ้น สถาปัตยกรรมหนึ่งไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะหรือไม่ก็ตามก็จำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ไม่เช่นนั้นก็จะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ศิลปะไม่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย เมื่อศิลปะแบบสามมิติเริ่มที่จะนำคุณลักษณะเด่นบางประการของสถาปัตยกรรมมาใช้ อาทิ การสร้างพื้นที่ใช้สอยมันก็ทำให้หน้าที่ในฐานะงานศิลปะนั้นด้อยลงไป เมื่อชิ้นงานมีขนาดใหญ่จนข่มผู้ชมให้รู้สึกว่าตัวเล็กลง การสร้างความเด่นเช่นนี้เน้นถึงพลังทางกายภาพและทางอารมณ์ของรูปทรงโดยยอมสูญเสียความคิดของตัวงานไป

วัสดุใหม่ๆก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างความเสียหายในศิลปะร่วมสมัย ศิลปินบางคนเกิดสับสนระหว่างวัสดุใหม่ๆกับความคิดใหม่ๆ ไม่มีอะไรที่จะเลวร้ายไปกว่าการได้ชมงานศิลปะที่เกลือกกลั้วอยู่กับสิ่งของกำมะลอที่เอาไว้ตกแต่งแบบฟู่ฟ่า วัสดุเหล่านี้ดึงดูดใจศิลปินจำนวนมากที่ไม่มีความเข้มแข็งทางจิตใจพอที่จะทำให้พวกเขาใช้วัสดุเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม จะต้องเป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญจึงจะสามารถใช้วัสดุใหม่ๆในการสร้างสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นงานศิลปะขึ้นมาได้ ในความคิดของฉันสิ่งที่อันตรายอย่างมากก็คือ การทำให้คุณลักษณ์ทางกายภาพของวัสดุเหล่านี้มีความสำคัญมากขึ้น จนกระทั่งมันกลายมาเป็นความคิดหลักของตัวงาน ( ซึ่งเป็นศิลปะแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์อีกแบบหนึ่ง)

ศิลปะแบบสามมิติไม่ว่าจะแนวใดก็ตาม จะต้องมีข้อเท็จจริงหนึ่งทางด้านกายภาพ ซึ่งคุณลักษณ์ทางกายภาพในตัวมันเองนี้ เป็นเนื้อหาที่สามารถกระตุ้นความรู้สึกทางอารมณ์ ศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวลถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ประสานเข้ากับจิตใจของผู้ชมมากกว่าจะให้สัมผัสทางตาหรือกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชม คุณลักษณ์ทางกายภาพของวัตถุสามมิติจะกลายเป็นสิ่งขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายที่ไม่มุ่งกระตุ้นทางอารมณ์ สี ลักษณะของพื้นผิว และรูปร่างเป็นสิ่งที่เน้นเพียงกายภาพของผลงานเท่านั้น อะไรก็ตามที่เรียกร้องความสนใจและทำให้ผู้ชมหันมาสนใจในคุณลักษณ์ทางกายภาพได้ ก็คือเครื่องมือในการแสดงออกทางอารมณ์ที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นเราในการทำความเข้าใจต่อความคิด ศิลปินแนวคอนเซ็ปท์ชวลต้องการที่จะพัฒนาการใช้วัสดุให้ดีขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือต้องการจะใช้มันในทางที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง ( เพื่อที่จะเปลี่ยนมันไปสู่ความคิด) ศิลปะในแนวทางนี้จึงควรที่จะแสดงออกด้วยสื่อวิธีการที่ประหยัดมากที่สุด ความคิดใดๆก็ตามที่ควรจะแสดงออกด้วยงานสองมิติ ก็ไม่ควรที่จะต้องทำให้เป็นสามมิติ ความคิดต่างๆอาจจะถูกแสดงออกด้วยจำนวนตัวเลข ภาพถ่าย หรือคำ หรือทางใดก็ได้ที่ศิลปินเลือกแล้วว่ารูปทรงจะไม่ใช่สื่อที่มีความสำคัญ

ข้อเขียนนี้ไม่ได้มุ่งที่จะจัดกลุ่มงานศิลปะอย่างเข้มงวด แต่ความคิดต่างๆที่ถูกกล่าวมานี้ใกล้เคียงกันอย่างยิ่งกับความคิดของฉันในเวลานี้ ความคิดเหล่านี้เป็นผลมาจากการทำงานในฐานะที่ฉันเป็นศิลปิน และมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ หากประสบการณ์ของฉันเปลี่ยนไป ฉันพยายามที่จะกล่าวถึงศิลปะแนวนี้อย่างชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าถ้อยแถลงที่ฉันได้เขียนขึ้นนี้ไม่กระจ่างชัด อาจหมายความว่าความคิดยังไม่ชัดเจน แม้ในขณะที่ฉันเขียนถึงความคิดต่างๆเหล่านี้ ก็ดูเหมือนกับว่ามันยังดูขัดๆกันอยู่ ( ซึ่งฉันได้พยายามที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง แต่คนอื่นอาจจะปล่อยมันผ่านไป) ฉันไม่ได้โฆษณาสนับสนุนรูปแบบงานศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวลแก่ศิลปินอื่นทุกคน ฉันได้พบว่า มันได้ผลเป็นอย่างดีสำหรับฉัน ในขณะที่วิธีอื่นใช้ไม่ได้ผล มันเป็นวิธีหนึ่งของการทำงานศิลปะ ในขณะที่วิธีอื่นก็เหมาะสมกับศิลปินคนอื่นๆ ฉันไม่คิดว่าศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวลทั้งหมดจะดีสมกับความตั้งใจของผู้ชม ศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวลจะเป็นสิ่งดีก็ต่อเมื่อความคิดนั้นดี

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล: ผู้แปล

แปลจาก Sol Lewitt. “Paragraphs on Conceptual Art.” Conceptual art: a critical anthology. The MIT press. pp. 12-16. ( ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Artforum. Vol 5 No. 10. 1967. pp. 79-84.)

You may also like...