คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี, คุณนิวัติ อ่านเปรื่อง, คุณวรพงศ์ ช้างฉัตร

ดีไซน์กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สะท้อน “position” และ “image” ขององค์กร จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ เราจะเห็นเจ้าของอาคารหลายแห่งให้ความสำคัญกับดีไซน์ของตึกและการตกแต่งภายในมากขึ้น จนทำให้วงการออกแบบภายในของบ้านเราเติบโต P Interior & Associates (PIA) เป็นบริษัทไทยล้วนอีกแห่งหนึ่งที่มีผลงานมากมาย ทั้งในประเทศ และได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

 

ฉบับนี้ “POSITIONING” จึงขอถ่ายทอดบทสัมภาษณ์ดีไซเนอร์รุ่นพี่จาก PIA คือ รุจิราภรณ์ หวั่งหลี (MD) นิวัติ อ่านเปรื่อง (Associate) และวรพงศ์ ช้างฉัตร (Senior Associate) ทั้งนี้ ดีไซเนอร์อาวุโสรุ่นก่อตั้งบริษัททั้ง 3 ท่านนี้แทบจะไม่เคยเปิดบ้าน PIA และเปิดตัวต่อสื่อพร้อมกัน อย่างครั้งนี้กับที่ไหนมาก่อน …วันนี้ เราจึงขอเจาะลึกถึงแก่นรากแนวคิด และประสบการณ์ทำงานของทั้ง 3 คน ด้วย 7 คำถามที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ในวงการได้บ้าง ไม่มากก็น้อย…

 

การออกแบบให้แตกต่างจากคนอื่น มันทำยากไหม?

รุจิราภรณ์ : ก็คงยากถ้าจะให้แตกต่างจากคนอื่น เพราะตอนนี้การแข่งขันสูงขึ้น เนื่องจากมีบริษัทและดีไซเนอร์จากต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น คนเหล่านี้ได้เห็นโลกเห็นเทรนด์มาเยอะ มาตรฐานการแข่งขันบ้านเราก็เลยสูงขึ้น ดังนั้น PIA ก็ต้องยกมาตรฐานให้สูงขึ้นและแข่งขันได้ ซึ่งเชื่อว่าคนไทยทำได้ถ้าเราต้องการจะทำ ส่วนงานออกแบบที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์ มันจะต้องมาจากคอนเซ็ปต์ที่แรงและต่าง คอนเซ็ปต์จะสะท้อนออกมาในดีไซน์ ถึงแม้บางรายละเอียดอาจจะผิดไปบ้าง แต่ใจความสำคัญยังชัดเจนเพราะคอนเซ็ปต์มันมีอยู่

 

PIA มีเอกลักษณ์ในการออกแบบอย่างไร?

วรพงศ์ : จริงๆ แล้วทุกโครงการ เราจะมีการสรุปโจทย์ร่วมกันเพื่อหา “positioning” หรือจุดยืนและบุคลิกของแต่ละโครงการก่อนจะลงในรายละเอียด ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้ได้มุมมองที่แตกต่างจากทั้งเจ้าของโครงการ ฝ่ายการตลาด และทีมออกแบบ โดยดีไซเนอร์จะต้องรับฟังแล้วก็หาจุดสมดุลร่วมกัน เพื่อให้ได้ทั้งความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย

รุจิราภรณ์ : การปลูกเรือนก็คงต้องตามใจผู้อยู่ ดิฉันบอกทุกคนว่าเรากำลังสร้างบ้านให้เจ้าของก็ต้องตามใจเขาพอสมควร เพราะเขาเป็นผู้อยู่ดังนั้นเขาจะต้องมีความสุข แต่แน่นอนเราจะต้องสอดแทรกสไตล์ของเราเข้าไปด้วย จึงต้องมีการพูดคุยกับลูกค้าตลอดเวลา เพื่อให้ได้ทางเลือกของดีไซน์ที่ดีที่สุดภายใต้งบประมาณที่มี

 

ไฮไลต์ของบริษัท PIA คืออะไร?

นิวัติ : ไฮไลต์ของเราก็คือ “as a team” สำคัญที่สุด ที่นี่จะทำงานในรูปแบบของทีมเวิร์กจะไม่มี “one man show” เพราะความสำเร็จมันจะอยู่กับคนคนเดียวไม่ได้ ซึ่งวัฒนธรรมในองค์กรของเราก็ตอกย้ำตรงนี้ตั้งแต่ทีแรก

รุจิราภรณ์ : มันต้องทำงานเป็นทีม การตลาดไปขายคนเดียวแต่ไม่สามารถผลิตงานดีๆ ออกมาก็เป็นไปไม่ได้ งานดีๆ อาจจะขายไม่ได้หากไม่มีการนำเสนอที่ถูกต้อง มันจึงเป็น combination ของหลายๆ ขั้นตอน ตั้งแต่หัวหน้าดีไซเนอร์ ดราฟต์ (draft) รวมถึงทีมตลาดและประสานงาน จะต้องร่วมกันดูแลลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบ

 

แล้ว PIA มีกระบวนการสร้างทีมงานอย่างไร?

วรพงศ์ : ที่นี่จะมีวัฒนธรรมองค์กรเป็นของตัวเอง คือใช้วิธีการสั่งสมความรู้จากการทำ แล้วเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ และเรียนรู้จากรุ่นพี่ การเรียนรู้จากประสบการณ์จะสะสมไปเรื่อยๆ จนเป็นองค์ความรู้ที่เขาเอาไปปฏิบิติได้จริง

รุจิราภรณ์ : พอทำบ่อยเขาก็จะเรียนรู้ การทำงานอาจถูกบ้างผิดบ้างเราก็จะช่วยกันแก้ไขและปรับเปลี่ยนจนได้งานที่ดีที่สุด สิ่งเหล่านี้จะสะสมเป็นประสบการณ์จนเป็นฐานข้อมูล และก็กลายเป็นข้อได้เปรียบ (advantage) ที่ทำให้เราอุดรอยรั่วของปัญหาได้ก่อนที่มันจะเกิด

 

การทำงานแต่ละประเภทจะแตกต่างกันอย่างไร?

รุจิราภรณ์ : ธรรมชาติงานที่ต่างกันทำให้วิธีการบริหารงานต่างกัน อย่างกลุ่ม hi-end hospitality จะใช้ความสร้างสรรค์ (creativity) สูง และลงรายละเอียดเกือบทุกอย่าง เช่น ห้อง ถ้วยชาม โคมไฟ เสื้อผ้า ฯลฯ ขณะที่กลุ่ม corporate จะไม่ลงรายละเอียดมาก แต่ใช้ความสามารถในการเจรจาสูง เพราะทำงานกับหลายฝ่ายและเจ้าของตึกที่บางครั้งอาจมีความต้องการส่วนตัว เราต้องแปลสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นแบบที่เขาชอบและเราก็ชอบ

นิวัติ : ยกตัวอย่างงาน hospitality เช่น โรงแรมอนันตราที่สมุย ตอนนั้นเราคิดกันว่า ต้องทำอย่างไรให้มันแปลกใหม่ มีเรื่องราวที่แขกจะเอาไปเล่าต่อได้ เราแตกไปจากความเชื่อว่า ความเป็นไทยคือหน้าจั่ว ช่อฟ้า ไม้แกะสลัก เราจึงนำไลฟ์สไตล์มาใช้ วิจัยว่าไลฟ์สไตล์ของภาคใต้มีอะไร จึงออกมาเป็นปลากัดและนกเขาซึ่งเป็นกีฬาของคนใต้ พอตกผลึกที่คอนเซ็ปต์นี้มันก็ได้รายละเอียดทั้งโรงแรม เช่น ในโรงแรมจะใช้โหลปลากัดแทนแจกันดอกไม้ ภาพเขียนมีสีสันและเรื่องราวที่เข้ากัน ฯลฯ

วรพงศ์ : ขณะที่งาน corporate ต้องทำร่วมกับคนหมู่มาก เพราะองค์กรมีเป็นพันคน มีหลายแผนก มีคนดูแลหลายคน และองค์กรก็เติบโตและปรับเปลี่ยนตลอด เช่น การเพิ่มพนักงานในแต่ละแผนกปีนี้เท่าไร ปีหน้าเท่าไร เราก็ต้องเผื่อรายละเอียดตรงนี้ไว้เป็น flexible space utilization และต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์องค์กรด้วย อย่างตึกมาลีนนท์ช่อง 3 มีคอนเซ็ปต์เป็นองค์กรที่ไม่ต้องการเส้นสายหวือหวา และฉูดฉาด แต่ก็ต้องมีส่วนผสมของความเป็นธุรกิจบันเทิงในสัดส่วนที่เหมาะสม

 

ออฟฟิศใหม่ๆ มีเทรนด์การออกแบบภายในอะไรบ้าง?

วรพงศ์ : เนื่องจากผู้บริหารเริ่มเปลี่ยนรุ่น คนเหล่านี้จะได้รับวัฒนธรรมและวิธีคิดใหม่ๆ ซึ่งสะท้อนในวัฒนธรรมองค์กร บางบริษัท CEO ต้องการใกล้ชิดกับพนักงานก็จะออกมานั่งทำงานร่วมกับพนักงาน แทนการนั่งในห้องส่วนตัว หลายบริษัทใช้ break-out area หรือ coffee place หรือ relaxing corner เป็นที่ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดอย่างไม่เป็นทางการ และบางแห่งมี open space ให้นั่งทำงาน เพื่อลดความรู้สึกของการนั่งโต๊ะทำงานและความเป็นปัจเจก ส่วนสีสันจะหลากหลายตามความมีชีวิตชีวาของแต่ละแห่ง และหลายแห่งให้ความสำคัญกับไลต์ติ้ง (lighting) มากขึ้น

 

การก้าวไปการทำงานออกแบบในต่างประเทศครั้งแรก

 

รุจิราภรณ์ : งานต่างประเทศชิ้นแรกเป็นโรงแรมอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย โดยคนของเขาเห็นผลงานเราที่โรงแรมสยาม โนโวเทล สยามสแควร์ ก็มาติดต่อให้เราไปทำที่อินเดีย ตอนนั้นประสบการณ์งานโรงแรมของเรายังน้อย ประกอบกับเขาสรุปรายละเอียดของโครงการมาไม่ถูก เราเองก็ไม่รู้ว่าเลยว่าเจ้าของคือ Mohan Singh Oberoi เป็นนักธุรกิจโรงแรมที่มีชื่อเสียงและมีโรงแรมอยู่ทั่วโลก พอ Oberoi เห็นแบบก็บอกเลยว่า “I don’t like anything” ในชีวิตยังไม่เคยอายขนาดนี้ แต่ก็พูดกับเขาว่าเรายอมแพ้ตรงนี้ไม่ได้ ขอเวลา 3 เดือนไปแก้ เรากลับไปทำงานกันหนักมากกว่าจะได้งานชิ้นใหม่ สุดท้ายเขาชอบ เราเลยได้งานโรงแรมของ Oberoi Chain ในอินเดียตลอด ประสบการณ์วันนั้นทำให้เห็นว่า เราต้องไม่ยอมแพ้และต้องลุกขึ้นมาใหม่

 

ก่อนจากกัน รุจิราภรณ์ยกคำพูดเป็นบทสรุปปรัชญาการทำงานของ PIA ว่า “Success is matter of assembling the right team, providing a focus and executing a well though-out strategy to accomplish the taste at hand” และที่น่าประทับใจอีกสิ่งคงเป็นคำคมหน้าห้องน้ำของออฟฟิศ PIA “Stop asking “why”, Start thinking “how”

 

*******************************************

ขอบคุณที่มาจาก http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=30456#ixzz0tfMFDi3R

 

You may also like...