รอบ ๆ ราวๆ P[ee] A[rse] S[hit] S[tory] โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา
About Cafe ให้ความหมายว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ร้านกาแฟ” ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องราว “รอบๆ” หรือ “ราวๆ” ร้านกาแฟ โดยสิ่งที่อยู่รอบๆนั้นก็เป็นการแสดงศิลปะ นอกจากนี้กาแฟก็ไม่สามารถทำให้คนอิ่มท้องได้โดยไม่มีอาหาร
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของการดื่มกาแฟแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับในความหมายหลังนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะระบุลงไปถึง “แก่นกลาง” ว่า “รอบๆ หรือ ราวๆ” อันเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกนั้นคืออะไร ทั้งนี้สิ่งที่อยู่ภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่กว้างใหญ่ ไม่สามารถที่จะหาขอบเขตได้ … … แต่การไม่สามารถกำหนดขอบเขตนี้กลับสร้างความขัดแย้งกับความหมายแรกที่ระบุตำแหน่งของความหมายของ ” ร้านกาแฟ” สภาวะของความหมายที่เกิดขึ้นจึงก่อให้ความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ชัดเจนและสิ่งที่ไม่ชัดเจน …
สภาวะที่เป็นอยู่ของสถานที่แห่งนี้เป็นเรื่องของการดำรงอยู่บนพื้นที่ที่ถูกกำหนดด้วยเวลา ทั้งนี้เพราะเนื้อที่บริเวณย่อมไม่ใช่ร้านกาแฟหรือสถานที่แสดงศิลปะในความสำนึกของคนหลายต่อหลายคน ในอดีตสถานที่นี้อาจจะเป็นร้านขายของ ที่อยู่อาศัย สถานที่ปลูกผัก ที่ดินว่างเปล่า ป่า หรือแม้กระทั่งเป็นทะเล ฯลฯ ความหมายที่เกิดขึ้นจากคุณลักษณะเฉพาะของสถานที่และสภาวะที่กล่าวมานี้ จึงเป็นสิ่งที่กลายเป็นเพียงแค่ซากของสิ่งเดิมๆที่หลงเหลืออยู่ สิ่งที่หลงเหลืออยู่จึงเป็นเครื่องกำหนดเวลาและหลักหมายของการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่หลงเหลืออยู่จึงกลายเป็นอนุสรณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการหวนรำลึกถึงอดีตอันเปรียบเสมือนการเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่อดีต การเดินทางที่ไปไม่ได้ทางกายภาพ แต่สามารถที่จะไปได้ด้วยความทรงจำ ความทรงจำจึงเป็น ” การเดินทาง” ที่ไม่ต้องเดิน ความทรงจำจึงเป็น “การเคลื่อนไหว” ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวให้เห็น ทั้งนี้ความทรงจำนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้การเห็นแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากภาพของ พันธุ์สิริ สิริเวชชะพันธุ์ ผู้หญิงในอิริยาบทของการนอน ด้วยตาที่ปิดสนิท เธอผู้นี้จึงไม่มีการเห็นด้วยสายตา หรือแม้กระทั่งอิริยาบทของผู้หญิงที่กำลังอยู่ในอารมณ์เคลิบเคลิ้มก็ไม่ได้ใช้สายตาเช่นกัน ในแง่นี้ภาพเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนว่าผู้ชมภาพกำลังแอบมองอยู่ โดยภาพนี้กลับล้อเล่นกับผู้ดูว่า “คุณเห็นอะไร ?” คุณสามารถที่จะเชื่อมโยงภาพนี้กับอะไร ? ทั้งนี้ในที่สุดแล้วภาพของผู้หญิงที่กำลังนอนหลับนั้นก็เลือนลางหายไปในความมืด ประดุจความทรงจำที่กำลังจะถูกลบเลือน ความทรงจำที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยสายตา
ความทรงจำที่เป็นสิ่งที่นำเราไปและไม่นำเราไป ทั้งนี้การนำเราไปเป็นการนำไปสู่ที่เดิมประหนึ่งว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่มีความแตกต่าง ในแง่นี้ความทรงจำก็ไม่นำเราไปไหน อย่างไรก็ตามความทรงจำนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องของการเดินทางที่ถูกกำกับไว้ด้วยเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเดินทางกลับไปสู่ที่เดิมนั้นจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ตราบเท่าที่ความคิดเรื่องของเวลายังเป็นลักษณะเส้นตรง (unilinear) เมื่อเป็นไปตามคุณสมบัติของเวลาแบบเส้นตรงก็ทำให้ความทรงจำไม่สามารถที่จะกลับไปสู่จุดๆเดิมได้ ประหนึ่งว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะเดินลงไปในแม่น้ำเดียวกันได้ถึงสองครั้ง ทั้งนี้ก็เพราะว่าสายน้ำก็ไหลไปอย่างไม่หยุดหย่อนและในขณะเดียวกันตัวมนุษย์นั้นก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความทรงจำจึงเป็นการรวบรวมเอาสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ โดยการรวบรวมนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงการรวบรวมเอาเวลาที่แตกต่างกันนำมารวมเข้าไว้ด้วยกันใหม่ สิ่งต่างๆที่ไม่เคยอยู่ที่เดียวกันหรืออยู่กันคนละเวลาจึงถูกรวมเข้ามาไว้ด้วยกัน เรื่องที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกันก็สามารถที่จะปรากฏอยู่ในที่เดียวกัน สิ่งที่เป็นไปไม่ได้จึงกลายมาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
เมื่อความทรงจำเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความซ้ำซากได้ สภาวะของความดาษดื่นก็เป็นผลที่ตามมา สิ่งที่เห็นจึงไม่ใช่เรื่องของ “ต้นแบบ” ที่แสดงความเป็นหนึ่งเดียว หรือมีความเป็นของแท้และดั้งเดิม ไม่ใช่ของเลียนแบบ ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นมีความใกล้เคียงกับสินค้าที่ผลิตโดยเครื่องจักรมีมากมายมหาศาล เมื่อถูกทำลายหรือสูญหายไปก็สามารถที่จะหาสิ่งใหม่มาทดแทนได้ เมื่อผลิตผลที่เกิดขึ้นจากการผลิตแบบอุตสาหกรรมได้ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายมาเป็นผลงานทางศิลปะก็ทำให้ความแตกต่างระหว่างศิลปะชั้นสูงและศิลปะชั้นต่ำไม่มีความแตกต่างกันอีกต่อไป ในแง่นี้แล้วกระเบื้องจึงสามารถที่จะเฟื่องฟูลอย แต่น้ำเต้าน้อยก็กลับไม่ได้ถอยจม เมื่อความแตกต่างระหว่างศิลปะไม่มี ก็หมายความว่าระยะห่างย่อมหมดไป ความใกล้ชิดและความคุ้นเคยเป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่คุ้นเคยก็หลีกหนีสภาวะที่ซ้ำซากไปไม่พ้น สภาวะที่บ่งบอกถึงความซ้ำซากที่เห็นชัดเจนก็คงไม่มีอะไรเกินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเดินทางจากบ้านไปสู่ที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งการพักผ่อนอยู่ในบ้าน …
สำหรับชีวิตในบ้านการพักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมและราคาถูกก็ไม่มีอะไรเกินการดูโทรทัศน์ กล่องความบันเทิงที่เปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง … … ไม่ได้บังคับให้ผู้คนต้องตรึงอยู่กับเก้าอี้ ที่ไม่สามารถที่จะคุยเปลี่ยนแปลงอิริยาบทหรือประกอบกิจกรรมอื่นๆ … … เช่น ทำกับข้าว รีดผ้า หรือกินอาหาร กิจกรรมในการดูทีวีจึงมีความหลากหลายมากกว่าที่จะมีความตายตัว … … นอกจากนี้ทางเลือกของการชมก็มีมากกว่าภาพยนตร์ ยิ่งไปกว่านั้นการใช้รีโมตคอนโทรลก็ยิ่งทำให้ความรวดเร็วในทางเลือกมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพเป็นเสียง ในแง่นี้แล้วโทรทัศน์ก็เปิดโอกาสให้แก่ผู้ชมในการเลือกได้มากเท่าๆ กับเสียงรำพึงรำพันว่าโทรทัศน์มอมเมาผู้ชม ภาพที่เกิดขึ้นในทีวีนั้นแน่นอนย่อมไม่ใช่ของจริงที่มีทั้งเลือดเนื้อและลมหายใจ เพราะภาพที่ทีวีนำเสนอนั้นเป็นเพียงภาพที่เกิดขึ้นจากคลื่นแสงที่ส่งภาพมาให้เห็นใด้จากระยะไกล อย่างไรก็ดีการนำเสนอภาพนั้นก็มิได้ครอบคลุมและมิมีวันที่จะครอบคลุม การนำเสนอนั้นจึงเป็นการนำเสนอจากมุมกล้องใดมุมกล้องหนึ่ง ภาพที่ปรากฏออกมาบนจอทีวีนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากการใช้กล้องในรูปแบบอื่นๆ ที่มีการตัดต่อและปรับเปลี่ยน ตลอดไปจนถึงการยืดเวลาการถ่ายทอดออกไปเพื่อเปิดโอกาสให้มีการควบคุมและเซ็นเซอร์ ถึงกระนั้นก็ดีสิ่งที่ทีวีเสนอนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าจริงเสียยิ่งกว่าจริง ภาพที่เห็นในทีวีจึงเป็นอภิมหาจริงด้วยหลักของการใช้เลนส์ซึ่งก็เป็นไปในทำนองเดียวกับการใช้กล้องในแบบอื่นๆ ภาพของทีวีนั้นจึงไม่ใช่ภาพที่เปิดเผยความจริงแต่เป็นสิ่งที่ปิดบังความจริง ในแง่นี้การสื่อสารด้วยภาพจึงเป็นการลดระดับความเป็นจริงให้เหลือเพียงแค่สิ่งที่ต้องการและเลือกที่จะนำเสนอ ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ นี่ก็คือการควบคุมการนำเสนอ
ในทำนองเดียวกันความทรงจำของมนุษย์ที่มีอยู่นั้นก็เป็นเรื่องของการควบคุม ความทรงจำนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องการเดินทางกลับไปที่เดิม แต่กระนั้นก็ดี ความทรงจำกลับเป็นสิ่งที่มิได้นำเราไปสู่ที่เดิม ความทรงจำนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีลำดับเรื่องราวตามเวลาที่เป็นเส้นตรงแต่อย่างใด ความทรงจำสามารถที่จะนำเอาเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆเข้ามารวมไว้ในที่เดียวกัน ประหนึ่งว่าความทรงจำนั้นทำหน้าที่คล้ายคลึงกับหลุมดำที่ดูดเอาทุกสิ่งทุกอย่างรวมเข้ามาไว้ในที่นั้น หรือทุกสิ่งทุกอย่างถูกอัดรวมเข้าไว้ด้วยกันในสมองที่เสมือนกระป๋องใบน้อยนี้ ความทรงจำจึงเป็นการประมวลเอาสิ่งต่างเข้ามาไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตามการที่จะให้ความทรงจำทำงานได้อย่างเฉียบไวนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตัวอ้างอิง (referent) ไม่ว่านั่นจะเป็นสถานที่ที่สามารถเดินทางกลับไปเยี่ยมชมได้ แต่ถึงกระนั้นก็ดี สถานที่ต่างๆเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะเอาผู้คนที่เคยร่วมประสบการณ์กลับเข้าไปในเหตุการณ์และเวลาแห่งอดีตได้ ในแง่นี้รูปภาพไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งและเคลื่อนไหวก็ล้วนแต่ทำหน้าที่หยุดเวลาและกิจกรรมที่เคยเกิดขึ้นให้ปรากฏภาพอยู่บนแผ่นภาพ อย่างไรก็ตาม ภาพที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องของการนำเสนอใหม่เพื่อให้เกิดความเหมือนกันแต่อย่างใด ภาพที่เกิดขึ้นกลับทำให้เกิด “ข้อสงสัย” ต่อเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งการสร้างสื่อนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้มีความเป็นนามธรรม
กระบวนการของศิลปะที่ทำการเปลี่ยนภาพที่เคลื่อนไหวจากโทรทัศน์ให้กลายมาเป็นภาพนิ่งนั้นก็เป็นกระบวนการสร้างความเป็นนามธรรมให้มากขึ้นไปกว่าเดิม ทั้งนี้การถ่ายภาพที่เคลื่อนไหวนั้นก็เป็นการเลือกสรรในขั้นตอนแรก ทั้งนี้ในขั้นตอนนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้กลายเป็นภาพที่เคลื่อนไหวอันเป็นการเลียนแบบความเป็นจริงบางส่วนที่เกิดขี้น การถ่ายภาพจากโทรทัศน์โดยที่ยังแสดงให้เห็นถึงคลื่นแสงที่ปรากฏอยู่ในโทรทัศน์ก็เป็นซ้ำเติมความเป็นนามธรรมให้มีความเป็นนามธรรมขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ระยะห่างของผู้ชมและวัตถุในภาพดั้งเดิมนั้นจึงถูกกลั่นกรองถึงสองชั้น โดยขั้นตอนแรกเป็นของผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ ขั้นตอนต่อมาเป็นขั้นตอนของผู้ถ่ายภาพนิ่ง ส่วนสุดท้ายนั้นก็ตกเป็นขั้นตอนของผู้ดู ลำดับของการนำเสนอจึงเป็นการหยั่งลึกเข้าไปในลำดับชั้นของความทรงจำ การนำเสนอศิลปะในรูปแบบนี้ก็เป็นดูดรวม ( implosion) เอาสื่อที่เป็นทั้วทีวีและการถ่ายภาพนิ่งให้รวมกันเข้ามาไว้ด้วยกันมากกว่าที่จะเป็นการกระจาย (explosion) ในรูปแบบของการนำเสนอ
ภายใต้สภาวะดังกล่าว สิ่งที่ไม่สามารถจะอยู่ด้วยกันก็สามารถที่จะอยู่ด้วยกันได้ เช่น ภาพของพันธุ์สิริ สิริเวชชะพันธุ์ การนำเสนอโลกที่กลับหัวกลับหาง โดยทำให้แผ่นฟ้าถูกแยกออกจากกันด้วยทะเลมากกว่าที่จะเป็นความต่อเนื่องระหว่างทะเลกับทะเล ฟ้ากับฟ้า ภาพที่ปรากฏออกมาจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีความต่อเนื่อง ไม่มีลำดับเรื่องตามข้อกำกับของเวลาแบบเส้นตรง ความต่อเนื่องของฟ้าและทะเลนั้นตั้งอยู่บนความไม่ต่อเนื่อง ในแง่นี้แล้วอาจจะไม่แตกต่างไปจากชื่อนามสกุลของศิลปินที่ถูกขนาบด้วย “พันธุ์” ในทำนองเดียวกับขอบฟ้าที่ขนาบทะเล แต่ก็เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ต่อเนื่อง ในทำนองเดียวกับ “สิริ” ที่เป็นชื่อท้ายและต้นของนามสกุล สำหรับการออกเสียงก็เป็นสิ่งที่มีความต่อเนื่อง แต่เมื่อปรากฏบนภาษาเขียนแล้วก็กลับไม่มีความต่อเนื่อง ดังนั้นภาพต่างๆ เหล่านี้ดูราวกับว่าเป็นลำดับขั้นที่มีความต่อเนื่อง แต่ก็เป็นภาพที่ไม่ต่อเนื่อง
การตัดขาดหรือความไม่ต่อเนื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะหลุดออกจากอดีต ในแง่นี้แล้วก็ดูจะสอดคล้องกับความเป็นสภาวะสมัยใหม่ ( modern) ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการก้าวไปสู่ข้างหน้าโดยทิ้งอดีตอยู่เบื้องหลัง การเปลี่ยนแปลงนี้เป็น “อภิวัฒน์” มากกว่าที่จะเป็นการหมุนกลับไปสู่ที่เดิมด้วยการ ” ปฏิ-วัติ” ตามความหมายดั้งเดิม การใช้ความทรงจำที่สามารถทำให้มีการหวนรำลึกถึงอดีตนั้นก็ยังสร้างความต่อเนื่องในความไม่ต่อเนื่องให้กับอดีตและปัจจุบัน การเชื่อมต่อกันระหว่างอดีตและปัจจุบันที่ไม่สามารถที่จะต่อเนื่องกันได้นั้นเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ด้วยสื่อทางศิลปะ อันไม่แตกต่างไปจากการเชื่อมต่อสิ่งไม่ต่อเนื่องด้วยสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่วางอยู่บนรากฐานของเวลาที่เป็นเส้นตรง อย่างไรก็ตามการเชื่อมต่อเหล่านี้เป็นการเชื่อมต่อกับสิ่งที่ไม่สามารถที่จะระบุให้แน่ชัดได้ว่าเป็นอะไร สิ่งที่ต้องการเชื่อมต่อเป็นเพียงแค่สิ่งสามัญมากกว่าวิสามัญ …
ความเป็นสิ่งสามัญเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันที่ไม่มีใครเก็บเอาไว้ในความทรงจำ ชีวิตประจำวันที่ไม่มีใครมากำหนดเป็นกฎหมายที่ตายตัวว่าใครจะต้องทำอะไร ใส่กางเกงแบบไหน ใช้ยาสีฟันขนาดอะไร ยี่ห้ออะไร … … ฯลฯ ในแง่นี้แล้วปริมณฑลของชีวิตประจำวันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องข้องแวะกับกฎหมายซึ่งมักแสดงออก … … ในขอบเขตของปริมณฑลสาธารณะ ( public sphere)… … แน่นอนอาณาเขตสาธารณะเหล่านี้ย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือและค่านิยมต่างๆ ย่อมได้รับการจรรโลงให้รุ่งโรจน์สืบไปชั่วกาลนาน ใครก็ตามที่บังอาจลบหลู่สิ่งที่ดีงามและขาวสะอาดบริสุทธิ์เหล่านี้ย่อมถูลงโทษ การละเมิดสิ่งที่ดีงามที่ขาวสะอาดก็เท่ากับเป็นการทำให้ของต่างๆเหล่านี้สกปรก ใครก็ตามที่บังอาจเล่นกับของสกปรกนั้นก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างไปจากเด็กที่ไม่รู้จักแยกแยะสิ่งสะอาดและสิ่งสกปรก ทั้งนี้ไม่มีผู้ใหญ่คนใดที่มีความเจริญด้วย วุฒิภาวะแล้วต้องการที่จะเล่นกับของสกปรก การเล่นกับสิ่งสกปรกหรือสิ่งปฏิกูลก็จะมีเพียงเด็กเท่านั้นที่กระทำตัวแบบนี้ เด็กที่คิดว่า “ขี้” เป็นของขวัญที่เกิดขึ้นจากความสามารถของตนเอง 1 การเล่นขี้จึงเป็นการท้าทายอำนาจของสังคม(กฎระเบียบ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกฎระเบียบที่มาจากสังคมที่ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ผู้ชายเป็นผู้ ” คลอด” และเขียนกฎหมาย
การเขียนเป็นรากฐานอันสำคัญต่อการเกิดอารยธรรม แต่จะรักษาความเป็นอารยธรรมอยู่ได้นั้นก็ต้องรู้จักที่จะจัดการกับของเสีย อารยธรรมจึงเป็นสภาวะที่บ่งบอกถึงความห่างระหว่างมนุษย์ที่มีอารยธรรมกับสิ่งปฏิกูล ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือว่า ร่างกายยิ่งห่างจากสิ่งปฏิกูลมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งมีอารยธรรมมากขึ้นเท่านั้น การหันไปยุ่งกับของเสียและขยะจึงเป็นการชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่ถดถอยมากกว่าที่จะเจริญก้าวหน้า ใครก็ตามที่กระทำการในลักษณะดังกล่าวถ้าไม่ใช่เด็กแล้วก็ถือว่าเป็นการลดตัวให้ต่ำลง แม้ว่าการลดตัวนี้จะกระทำด้วยความเต็มใจและเปี่ยมไปด้วยเสรีภาพของตัวเองก็ตาม ความสนุกอันก่อให้เกิดความสุขจากการเล่นขี้ด้วยความขี้เล่นนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะยอมรับกันได้ง่ายๆ ทั้งนี้ … … ส่วนของร่างกายที่สัมพันธ์กับของเสียนั้นจึงไม่สมควรที่จะนำมาเปิดเผยในอาณาเขตสาธารณะ
การนำ ” ของเสีย” หรือ “ของทิ้ง” มาทำให้กลายเป็นศิลปะจึงเป็นการกระทำที่อุกอาจเสียยิ่งกว่าจะทำให้กระเบื้องเฟื่องฟูลอย 2 การทำของเสียหรือขี้ลอยฟ่องนั้นย่อมเป็นสิ่งที่รบกวนประสาทสัมผัสทั้งส่วนการมองเห็นและการดมกลิ่น อย่างไรก็ตามศิลปะที่ให้ความสำคัญกับของเสีย สิ่งที่ต้องการทิ้งเช่น ขยะ ของเสีย ฯลฯ นับได้ว่าเป็นการนำเอาสิ่งที่ไม่ควรเห็นมาทำให้เห็นอย่างเด่นชัด สิ่งที่ต้องปกปิดกลับทำให้เปิด สิ่งที่มีความเป็นส่วนตัวกลับกลายเป็นเรื่องสาธารณะ โลกที่กลับตาลปัตรแห่งวงการศิลปะแบบนี้จึงเป็นการลดความสำคัญของโลกศิลปะที่มีจารีตของการแสดงความโดดเด่นด้วยร่างกายมนุษย์ที่เป็นสัตว์เดินตัวตรงและเป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งตระหง่านประดุจราวกับลึงค์ของผู้ชายที่แข็งตัวเต็มที่ซึ่งพร้อมที่ประกาศศักดาในอาณาเขตสาธารณะ โลกแห่งศิลปะที่เคยตั้งตระหง่านชูคอให้ตั้งชันดังเช่นประติมากรรมทั้งหลาย ได้ถูกเปลี่ยนฐานะให้กลายเป็น “คอห่าน” ที่ไม่สามารถตั้งชูคอได้ตรงแต่กลับเป็นคอที่บิดเบี้ยวและเป็นคอที่ชี้ลงพื้นมากกว่าที่จะมุ่งสู่ท้องฟ้า การนำ “ของเสีย” หรือ “ของทิ้ง” เหล่านี้มาแสดงไว้ในสถานที่อย่างพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลปะก็เท่ากับเป็นการยั่วล้อสถาบันศิลปะไปในตัว ไม่เพียงแต่เท่านั้นการเป็นสิ่งสูงค่าแต่ราคาแสนถูกเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในศิลปะวัตถุเอง ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งนี้จึงสามารถที่จะเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้เท่าๆกับน้ำตาของภัณฑารักษ์และพ่อค้าศิลปะ …
… งานของดาร์ชาต์ จิรวิชญ … ก็แสดงออกไปในทิศทางที่เป็นการย้อนกลับไปสู่ความเป็นเด็กหรือย้อนกลับไปสู่โลกของเด็ก แต่ในที่นี้ไม่ใช่เด็กทารกที่นิยมการเล่นขี้ ความขี้เล่นในงานศิลปะที่นำเอาของที่สามารถ “ทิ้ง” ได้มาแขวนบนราวนี้ยังไม่ได้ดำเนินไปถึงขั้นการเล่นขี้ เพราะวัตถุต่างๆที่นำมาใช้นั้นยังไม่มีสถานะที่ต่ำจนสามารถที่จะนำไปสัมพันธ์กับร่างกายส่วนต่ำได้อย่างชัดเจน แม้ว่าสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ เหล่านี้ เช่น เสื้อเก่า ตุ๊กตา ของเด็กเล่น จะไม่ได้ถูกนำมาจัดตั้งให้เห็นตระหง่านแบบสัญลักษณ์ของลึงค์ที่แข็งตัวเต็มที่ก็ตาม แต่วัตถุต่างๆที่ถูกนำมาเปลี่ยนให้เป็นวัตถุแห่งศิลปะนี้ก็ยังถูกนำมาแขวนห้อยให้เห็นได้อย่างชัดเจนเช่นกัน การนำเอาวัตถุเหล่านี้มาห้อยก็อาจจะไม่แตกต่างไปจากอวัยวะเพศชายที่ห้อยต่องแต่ง สิ่งที่แตกต่างก็คือว่าการห้อยต่องแต่งนี้แสดงให้เห็นว่าพลังแห่งอวัยวะเพศชายเชิงสัญลักษณ์นั้นยังมิได้ประกาศศักดาอย่างเต็มที่ พลังของลึงค์นั้นยังอ่อนปวกเปียก พลังผลักดันที่ต้องการขยายความยิ่งใหญ่นั้นยังไม่สามารถที่จะลบล้างหรือก้าวข้ามพ้นอำนาจของปิตุลาธิปไตย (patriarchy) ได้ การล้อเล่นของอำนาจที่เป็นสถาบันนี้มิได้ดำเนินไปแบบที่ต้องมีการเผชิญหน้ากัน การสร้างศิลปะในรูปแบบที่ให้ความสำคัญแก่สำนึกแห่งความเป็นเด็กนี้มิได้เป็นอย่างมีจิตสำนึกว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นการท้าทายอำนาจ ดังจะเห็นได้จากคำอุทิศที่กล่าวในทำนองที่ว่าครอบครัวของเราไม่เคยรู้ว่าเขาทำอะไร ดูเหมือนว่าศิลปะที่เน้นความเป็นเด็กของดารชาต์ไม่ได้มีแรงผลักดันมาจากการท้าทายอำนาจของสถาบันครอบครัว
การย้อนกลับไปสู่ความเป็นเด็กนั้นย่อมขัดแย้งกับชีวิตทางชีววิทยาของศิลปิน การย้อนกลับไปสู่โลกวัยเด็กด้วยการแสดงทางศิลปะแบบนี้ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นเด็กแบบนี้ให้กลายมาเป็นเงิน ( ในฐานะของการแลกเปลี่ยนหรือของขวัญก็มีสถานะในทางสัญลักษณ์เช่นเดียวกับขี้) แบบเดียวกับที่สตีเว่น สปีลเบิร์ก ทำในภาพยนตร์เรื่องต่างๆของเขาได้ เงินเป็นการแลกเปลี่ยนที่ผู้ใหญ่นิยมเล่นกันมากกว่าที่จะเล่นขี้แบบเด็กๆ การกลับไปสู่โลกของเด็กหรือการโหยหาสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ( nostalgia) สำหรับคำว่า Nostalgia มีรากศัพท์มาจากคำว่า Nostos = กลับไป algos = เจ็บปวด การโหยหาอดีตนั้นจึงเป็นการเดินทางกลับไปอย่างเจ็บปวด ทั้งนี้ความเจ็บปวดเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเองที่มีต่อตัวเอง ความเจ็บปวดนี้เกิดขึ้นเพราะว่าการเดินทางกลับไปสู่อดีตนั้นเป็นการเดินทางที่ไม่นำไปสู่อะไร ไม่ได้ไปไหน เนื่องจากไม่มีอะไรในที่นั้นแล้ว ทุกอย่างจึงเป็นเพียงแต่ความว่างเปล่าที่ถูกความเปลี่ยนแปลงเข้ามาแทนที่ อดีตได้ถูกแทนที่ด้วยปัจจุบัน อดีตจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ในความทรงจำเท่านั้น อดีตถูกตัดขาดออกจากปัจจุบันเสมือนดังเลื่อยที่ผ่าสมองของเจ้าหมีน้อยออกเป็นสองเสี่ยง พร้อมด้วยรอยเลือดที่ยังเกรอะกรังอยู่ ด้านหนึ่งเป็นชีวิตปัจจุบัน อีกหนึ่งเป็นชีวิตในอดีต การถูกผ่าสมองออกเป็นครึ่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันร่างกายนั้นก็กลับไม่ได้ถูกแบ่งครึ่ง ดังนั้น ส่วนที่ถูกแบ่งออกเป็นสองนั้นจึงเป็นเพียงแค่สมอง ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่าโลกทัศน์กับชีวทัศน์นั้นยังไม่สอดคล้องกัน
โลกแห่งความคิดและชีวิตที่มักจะไม่ค่อยลงตัวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่ชอบเอาสมองเป็นตัวนำในการเดินมากกว่าที่จะเอาเท้าเดิน ความไม่ สมดุลของชีวิตที่สามารถตอบสนองและสร้างสมดุลด้วยคำหรูๆ อย่างสมดุลธรรมชาตินั้นเป็นเพียงจินตนาการของตัณหา ความสมดุลของตราชั่งบ่งบอกถึงความพยายามในการหาจุดที่ตายตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลง ความพยายามในการแสวงหาตัวตนเป็นสิ่งที่นิยมกันมากกว่าที่จะลบล้างตัวตน ดังนั่น ” ตัวกูจึงยังเป็นของกู” แต่ปัญหากลับเป็นว่า “กูยังหาตัวกูไม่พบ” เมื่อยังไม่รู้ว่าตัวกูเป็นอะไร ? เป็นใคร ? มาจากไหน ? ต้องการอะไร ? เมื่ออยู่ในสภาพแบบนี้แล้วสิ่งที่จะช่วยในการระบุหรือจำแนกประเภทเพื่อจัดตำแหน่งให้กับบุคคลนั้นก็เป็นปัญหา ทั้งนี้มนุษย์ผู้นั้นจะกลายเป็นบุคคลนิรนามที่ไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม เมื่อไม่มีชื่อก็หมายถึงการไม่มีเอกลักษณ์ที่จะระบุได้ว่าเขาเป็นใคร มีแผลที่ไหน ? มีเลือดกลุ่มอะไร ? มีดีเอ็นเอแบบใด ? แต่บางทีการมีชื่อแล้วอาจจะไม่เพียงพอ ต้องใช้ ” ตัวเลข” เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงตัวตน ก็เป็นการหวนกลับไปสู่อดีตของการ “สักเลข” ของชนชั้นไพร่ในสังคมไทยสมัยโบราณซึ่งเป็นเครื่องแสดงตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละคนในสังคม และทำให้คิดไปถึงตัวเลขที่ประทับอยู่บนผิวหนังของนักโทษชาวยิวในค่ายกักกันของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับคนที่เคยตกอยู่ในสภาพแบบนั้นแล้วสิ่งเดียวที่จะใช้แสดงให้เห็นว่าเขาเคยมีประสบการณ์อันหลงเหลือเป็นความทรงจำก็คือตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนข้อมือ ตัวเลขที่แสดงอยู่บนข้อมือคืออัตลักษณ์ของผู้คนเหล่านี้ อัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นจากตัวเลขเป็นอัตลักษณ์ที่ถือว่าเป็นการชี้ตัวด้วยฝีมือของรัฐหรือสถาบันแห่งการใช้อำนาจที่เต็มรูปแบบนั่นเอง
อัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นจากอำนาจแบบนี้ไม่สามารถที่จะให้รายละเอียดอะไรที่มากไปกว่าการดำรงอยู่ของมนุษย์ในฐานะประชากรของรัฐ ประชากรที่มีความหมายในสำมะโน ประชากรที่มีสิ่งแวดล้อมที่ต้องคอยรักษาเพื่อเป็นทรัพยากรให้แก่ทรัพยากรมนุษย์ต่อไป แต่ในที่สุดแล้วอัตลักษณ์ของมนุษย์ที่ถูกกำหนดมาจากสถาบันเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะครอบคลุมอัตตาของมนุษย์ได้ ทั้งนี้เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเนื้อที่สาธารณะ ผลงานของมงคล รัตนภักดี ในการกำหนดเนื้อที่และความหมายของปริมณฑลส่วนตัวโดยระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับพื้นที่ที่มีสิ่งของต่างๆวางเรียงรายอยู่ แน่นอนการกำหนดพื้นที่นั้นก็เป็นสิ่งที่มีร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่ต้องกำหนดอาณาเขตของตัวเองเอาไว้ อย่างเช่น การฉี่ลงบนพื้นที่ อย่างไรก็ตามความต้องการที่จะกำหนดอาณาเขตของตัวเองหรือมีอาณาเขตเป็นของตนเองนั้น สามารถที่จะแสดงออกได้หลายวิธี หนทางหนึ่งก็คือการมี A room of one’s own อย่างที่นักเขียนอย่างเวอร์จิเนีย วูฟได้สร้างชื่อเสียงเอาไว้ อีกหนทางหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันก็คือการเก็บของประเภทกระจุกกระจิก ของที่ไม่มีคุณค่าในการใช้สอย แต่มีคุณค่าของการแสดงเพื่อให้คนชม อย่างไรก็ตามการเก็บของต่างๆ เหล่านี้ต้องการเนื้อที่ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บุคคลที่มีของเก็บเหล่านี้ต้องการเนื้อที่ของตัวเอง สิ่งของที่เก็บเอาไว้เหล่านี้ก็ยังเป็นเครื่องเตือนความทรงจำที่ต้องการกลับสู่ที่เดิม และแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เพรียกหาการกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ฤานี่จะเป็นความต้องการที่จะกลับไปสู่ “ทะเล” น้ำคร่ำ “ซ้ำ” อีกครั้งหนึ่งเพื่อที่ร่างกายใหม่จะเกิดจากมดลูกแห่งความทรงจำ
ที่มา: ธเนศ วงศ์ยานนาวา , ” รอบๆ ราวๆ P[ee] A[rse] S[hit] S[tory]”, เอกสารประกอบคำบรรยายประเด็น “ทฤษฎีร่วมสมัยว่าด้วยร่างกายและความทรงจำ” เนื่องด้วยนิทรรศการศิลปะที่ร้าน About Cafe, 28 กุมภาพันธ์ 2541.
* ความบางตอนจากคำบรรยายนี้ถูกนำไปเผยแพร่โดย ยุวดี มณีกุล , ” สามรูปแบบงานศิลป์ ผ่านแว่น ‘ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ‘”. กรุงเทพธุรกิจ (จุดประกาย) , 2 พฤศจิกายน 2541, หน้า 12.