ทาดาโอะ อันโด สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ธรรมชาติและความหมาย

ทาดาโอะ อันโด สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ธรรมชาติและความหมาย โดย ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์
โดยทั่วไปงานสถาปัตยกรรมของทาดาโอะ อันโด ( Tadao Ando) จะถูกรับรู้ถึงคุณภาพในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติอยู่เสมอ นอกจากคอนกรีตเปลือยผิวที่มีลักษณะเฉพาะตัวเห็นได้ชัดแล้ว แสงสว่างที่ส่องผ่านเข้ามาในอาคารในแบบต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ได้รับการชื่นชม

ถ้าจะกล่าวแบบสรุปออกมาเป็นแนวคิด คอนกรีตเปลือยผิวก็เป็นการแสดงออกของวัสดุในองค์ประกอบสถาปัตยกรรมพื้นฐานเช่น ผนัง พื้น เพดาน ส่วนบทบาทของแสงนั้นก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติ ดังนั้น งานของสถาปนิกญี่ปุ่นผู้นี้โดยเฉพาะงานในช่วงแรกนั้น จะเป็นการสร้างความหมายของสถาปัตยกรรมโดยการตีความเกี่ยวกับหัวข้อทั้งสองนี้

ธรรมชาติ-สถาปัตยกรรม ในประเด็นที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับธรรมชาตินั้น ธรรมชาติในความเห็นของอันโดค่อนข้างจะต่างกับความหมายโดยทั่วๆ ไป ( ของคนทั่วไปหรือของสถาปนิกคนอื่นๆ) อยู่มากพอสมควร โดยพื้นฐานที่สถาปนิกมีชีวิตอยู่ในเมืองอันตกอยู่ในสภาพเสียหายอย่างหนักจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างโอซาก้า อันโด เห็นว่าความพยายามที่จะฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งรีบทำให้คนต้องเข้ามากระจุกตัวทำงานในเมือง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคม อุตสาหกรรมทั่วไป แต่ในญี่ปุ่นสถานะการณ์นี้ทำให้โครงสร้างแบบที่เป็นอยู่ต้องสูญสลายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงสร้างสังคมที่ว่านี้ก็คือโครงสร้างแบบกสิกรรมหรือการประมงซึ่งเป็นหัวใจพื้นฐานสำหรับชาวญี่ปุ่นมาก่อน

มองในแง่นี้ เมืองในฐานะแหล่งรวมที่อยู่อาศัยและเป็นตัวเชื่อมระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่อันโดพยายามจะหลีกเลี่ยง งานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะบ้านจึงต้องถูกตีความให้เป็นพื้นที่เพื่อปิดตัวเองออกจากสภาพอันสับสนวุ่นวาย (chaos) นี้ให้ได้ เมื่อทำการปิดตัวเองออกจากความสับสนนี้แล้วจึงค่อยสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา

นอกจากนี้ในมุมมองที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับธรรมชาติซึ่งดูเหมือนว่าเมืองและสถาปัตยกรรมจะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แยกห่างออกจากสภาพแวดล้อมมากขึ้นทุกที นับว่าความหมายระหว่างที่อยู่อาศัย-ธรรมชาติ ( สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น-สิ่งที่มีอยู่ตามสภาพแวดล้อม) จะขาดหายไปหรือมีช่องห่างที่ถ่างมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ความหมายดั้งเดิมเป็นไปในทางตรงกันข้าม

การนำกลับมาของต้นไม้ในเมืองหรือในบ้านก็คือการพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในระดับของความหมายหรือสัญลักษณ์ แม้ว่าสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของบางเมืองในญี่ปุ่นหรือในยุโรปจะมีสภาพคล้ายป่าตามธรรมชาติ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามมันก็เป็นเพียงป่าที่มนุษย์สร้างขึ้น และเป็นเพียงในระดับสัญลักษณ์ของธรรมชาติเท่านั้นที่มนุษย์เสพ มันเป็นคนละเรื่องกับการให้ความหมายของการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติจริงๆ ยิ่งเมื่อมองในระดับของการปลูกต้นไม้ในบ้านยิ่งแล้วใหญ่ ต้นไม้จริงๆที่ลงดิน ต้นไม้ในกระถาง ดอกไม้ในแจกัน ต้นไม้เทียม ดอกไม้เทียม มันเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติ ที่นอกจากจะไม่ได้ยืนยันว่ามนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติจอมปลอมเหล่านี้ยังตอกย้ำว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่ในธรรมชาติ หากแต่อยู่ห่างจากธรรมชาติในระยะที่ห่างไกลจนไม่สามารถเอื้อมถึงได้ ในความเห็นของอันโด ความหมายของธรรมชาติในลักษณะนี้จึงเป็นความหมายที่ถูกทำให้เสียไป (spoilt) โลกส่วนตัวที่สร้างขึ้นจึงควรที่จะปิดตัวเองออกจากความหมายเหล่านี้ เพื่อเปิดรับธรรมชาติในด้านที่บริสุทธิ์มากกว่า

ธรรมชาติ-วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมประเพณีของญี่ปุ่นนั้นโดยพื้นฐานแล้วเป็นการตีความในหัวข้อที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยวิถีทางวัฒนธรรมในรูปแบบหรือวิธีต่างๆ อยู่แล้ว วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นที่น่าสนใจสำหรับสายตาของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตก เนื่องด้วยวิธีการมองโลกและอยู่ร่วมที่แตกต่าง ในขณะที่สถาปัตยกรรมตะวันตกเน้นที่การปกป้องมนุษย์ออกจาก สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่ทารุณ สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นกลับใคร่ครวญที่จะยอมรับและเสพสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ความรู้สึกพื้นฐานเช่นความร้อน ความหนาว ความเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่างๆ แล้วนำมาปรุงแต่งให้กลายเป็นความรู้สึกแห่งความงดงามและความเข้าใจธรรมชาติในแง่มุมของตนเอง

อาศัยพื้นฐานนี้เองที่อันโดนำมาตั้งคำถามต่อความคิดที่ว่าด้วยการปกป้องตัวเองออกจากสภาพธรรมชาติของสถาปัตยกรรมตะวันตก ความสะดวกที่เกิดขึ้นจากสถาปัตยกรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรขบคิดพิจารณาอีกครั้ง มากกว่าที่จะเป็นเพียงเงื่อนไขในเชิงหน้าที่ใช้สอยที่ต้องเอาชนะ ในเมื่อวิถีชีวิตที่มีความเข้าใจธรรมชาติเป็นพื้นฐานนี้มองในอีกด้านหนึ่งน่าจะเป็นวิถีที่ให้ความหมายกับมนุษย์ได้หลากหลายกว่าด้วยซ้ำ

การเปิดตัวสถาปัตยกรรมออกสู่ธรรมชาติที่ไม่ถูกทำให้เสียความหมายไปด้วยการตั้งคำถามในระดับของวัฒนธรรมนี้เองที่อันโดใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างสถาปัตยกรรม ยกตัวอย่างงานชิ้นแรกๆเช่นเรือนแถวที่สึมิโยชิ ( row house at Sumiyoshi-Azuma House) ตัวอาคารของเรือนแถวนี้วางตัวแทรกอยู่ในแนวของเรือนแถวขนาดเล็กแบบดั้งเดิม ขนาดของอาคารไม่ใหญ่เกินอาคารเก่าโดยรอบ แต่ที่แปลกตาและโดดเด่นก็คือรูปด้านหน้าของอาคารที่เป็นคอนกรีตปิดทึบ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนบน-ล่างแสดงถึงการแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นสองชั้น ส่วนของชั้นล่างเปิดเป็นประตูทางเข้าซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อเพียงหนึ่งเดียวกับโลกภายนอก โดยนัยที่ว่าทางเข้านี้จริงๆแล้วเป็นการปิดตัวจากโลกภายนอก (เมืองอันสับสน) มากกว่าที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภายนอก-ภายใน

แผนผังของอาคารแบ่งออกเป็นสามช่วง ช่วงที่เป็นพื้นที่ใช้สอยคือช่วงหน้ากับช่วงท้ายซึ่งแบ่งเป็นชั้นล่างกับชั้นบน พื้นที่ตรงกลางเปิดเป็นคอร์ตโล่งตลอดไม่มีหลังคาคลุม ดังนั้น บ้านหลังนี้จึงประกอบไปด้วยที่ว่างสี่ก้อนที่ไม่เชื่อมต่อกันบันไดที่ริมคอร์ตก็เพื่อเชื่อมชั้นหนึ่งและชั้นสอง สะพานเหนือบันไดกลางพื้นที่คอร์ตก็เพื่อเชื่อมที่ว่างชั้นสองให้ต่อถึงกัน

มองในแง่ของความสะดวกแบบตะวันตกแล้ว อาคารหลังนี้ไม่สะดวกเป็นอย่างยิ่ง การอยู่อาศัยในพื้นที่ทั้งสี่บล็อกนี้ ไม่ว่าคนในบ้านจะเปลี่ยนพื้นที่จากที่ใดสู่ที่ใดก็ต้องเดินผ่านคอร์ตกลางนี้ทั้งสิ้น แต่ความไม่สะดวกนี้เองที่อันโดใช้ตั้งคำถามกับวิถีแห่งสถาปัตยกรรมและวิถีแห่งธรรมชาติด้วยวิถีแห่งชีวิตหรือวิถีแห่งวัฒนธรรม การเดินผ่านคอร์ตกลางนี้ทำให้คนต้องรับรู้สถาพแวดล้อมทางธรรมชาติไปตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงในสี่ฤดูของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่คอร์ตนี้พยายามจะสัมผัส ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ลมจะพัด หิมะจะปลิว ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องเผชิญ การเดินทางผ่านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพื่อไปมีกิจกรรม ณ พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเรื่องอันคุ้นเคยสำหรับคนญี่ปุ่น การเดินฝ่าลมหนาวไปยี่สิบนาทีถึงครึ่งชั่วโมงเพื่อไปอาบน้ำยังที่อาบน้ำสาธารณะที่เรียกว่าไปเซนโตนั้น ไม่ใช่เรื่องยากลำบากหรือไม่สะดวก แต่เป็นเรื่องของความคุ้นเคย และเมื่อคุ้นเคยก็นำมาซึ่งความเพลิดเพลิน การเดินผ่านคอร์ตกลางเมื่อต้องการเปลี่ยนตำแหน่งของคนในพื้นที่ทั้งสี่บล็อกจึงเป็นการรับรู้ธรรมชาติในความหมายที่แท้จริง ธรรมชาติที่ไม่ถูกทำให้ความหมายเสียไปโดยสัญลักษณ์ธรรมชาติจอมปลอม

ธรรมชาติ-วัฒนธรรม-องค์ประกอบ ในสภาพพื้นที่ภายในของเรือนแถวสึมิโยชินี้ แสงที่ได้รับจากคอร์ตกลางจึงส่องผ่านเข้ามาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวบอกเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปในพื้นที่ เช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นๆ เช่นบ้าน โคชิโนะ ( Koshino House) ( เสร็จ 1980 ต่อเติม 1984) วิหารบนภูเขาโรคโคะ ( Chapel on Mt. Rokko ) ( เสร็จ 1986) และวิหารแห่งแสง (Church of the Light) ( เสร็จ 1989)

ดังนั้นผนังคอนกรีตของอันโดจึงทำหน้าที่เป็นฉากเพื่อรับแสงมากกว่าที่จะแสดงออกในลักษณะขององค์ประกอบพื้นฐานของผนังหรือการเป็นโครงสร้าง เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายนี้ ผนังและวัสดุที่ใช้จะต้องมีความหมายติดตัวน้อยที่สุด ตัวอย่างของวัสดุที่มีความหมายชัดเจนก็เช่นบรรดาผนังทาสีต่างๆ ซึ่งสีที่ปรากฏออกมานี้จะเป็นตัวกำหนดความหมายของผนังต่อการรับรู้ของคนไปด้วย เช่น ผนังสีไข่ไก่จะมีความหมายที่อบอุ่น (ผ่านทางความรู้สึก) ผนังสีน้ำเงินจะให้ความหมายที่เย็นกว่า เช่นเดียวกันกับในกรณีผนังเหล็กหรือไม้ซึ่งให้ความหมายที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป มองในแง่นี้ ผนังคอนกรีตในช่วงทศวรรษที่ 80 และ 90 ก็ต้องนับว่าเป็นผนังที่มีความหมายติดตัวน้อยที่สุด การเปรียบเทียบกับงานของเลอ คอร์บูซิเอร์ ซึ่งเน้นคอนกรีตเปลือยเช่นกันอาจจะทำให้ความคิดชัดเจนขึ้น

ในช่วงเวลาต้นศตวรรษที่ 20 ที่สถาปนิกผู้นี้ทำงานอยู่ คอนกรีตผสมเป็นวัสดุสำหรับการก่อสร้างอาคารที่ค่อนข้างใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวัสดุชนิดนี้มีความหมายของการผลิตตามระบบอุตสาหกรรมติดอยู่ ซึ่งระบบการผลิตที่ว่านี้ก็มีความหมายของคุณภาพสำหรับคนหมู่มากติดอยู่อีกมิติหนึ่ง สำหรับสถาปนิกอย่าง เลอ คอร์บูซิเอร์ ซึ่งพยายามเอาชนะความต่างของมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ นั้น คอนกรีตย่อมเป็นวัสดุที่สามารถแสดงออกได้ดีที่สุด ดังนั้นการใช้คอนกรีตของสถาปนิกสวิส-ฝรั่งเศสผู้นี้จึงต้องพยายามให้คอนกรีตแสดงตัวออกมาได้มากที่สุด รูปทรงที่มีคุณลักษณะทางประติมากรรมจึงจำเป็นต้องถูกเลือกขึ้นมารองรับ

สำหรับในช่วงเวลาของอันโด คอนกรีตเปลือยเป็นวัสดุที่ดาษดื่นเสียแล้ว ประเด็นทางความคิดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและความเป็นสากลก็เปลี่ยนไปหรือค่อนข้างจะจางหายไปแล้ว การใช้คอนกรีตเปลือยในความคิดที่ว่ามันเป็นวัสดุที่มีความหมายติดตัวน้อยที่สุด คือค่อนข้างเป็นกลางนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในบริบทของทศวรรษ 80 และ 90 มองในแง่คอนกรีตที่กลายเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมพื้นฐานเช่นผนังนั้น ในขณะที่เลอ คอร์บูซิเอร์ พยายามให้ผนังแสดงออกซึ่งความเป็นผนังมากที่สุด และคอนกรีตก็ต้องแสดงออกซึ่งความเป็นคอนกรีตให้มากที่สุด อันโดกลับให้ผนังแสดงออกซึ่งความเป็นผนังให้น้อยที่สุด ในแง่นี้ผนังได้กลายเป็นฉากที่จะรับใช้ ธรรมชาติซึ่งก็คือแสงและเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปก็สามารถแสดงออกมาบนฉากและคอนกรีตซ่อนความเป็นตัวเองอยู่ภายใต้ฉากนี้ เรียกว่าวัสดุของผนังถูกทำให้มีคุณลักษณะของวัสดุน้อยที่สุด ( dematerialized)

องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ คอร์ตกลางหรือลานในฐานะที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อของพื้นที่บ้าน เช่นที่เรือนแถวที่สึมิโยชิ เมื่อกลายมาเป็นพื้นที่ในโครงการใหญ่เช่นโครงการที่พักอาศัยโรคโคะ ( Rokko Housing) ( โครงการที่ 1 เสร็จ 1983) การเชื่อมต่อกับธรรมชาติผ่านทางองค์ประกอบสถาปัตยกรรมก็ได้พัฒนาให้เป็นบันไดและชานพัก ในโครงการที่พักอาศัยที่เป็นอาคารสูงนี้ อันโดแบ่งความสูงออกเป็นสองช่วง แต่ละช่วงจะแยกลิฟท์ออกจากกัน และการเข้าถึงห้องพักของตนเองผ่านทางลิฟท์จะไม่สะดวกเท่าการใช้บันได เช่นเดียวกันที่บันไดนี้เปิดโล่งออกสู่สภาพธรรมชาติ แดดลม ฝน หิมะ แน่นอนว่าการเดินขึ้นบันไดที่ได้รับการคำนวณและออกแบบเพื่อให้รับแง่มุมทางสายตาเกี่ยวกับธรรมชาติโดยรอบทั้งตัวภูเขาและแสงแดด ย่อมเต็มไปด้วยความเพลิดเพลินในฐานะสถาปัตยกรรม-ธรรมชาติ นอกเหนือไปจากนั้น การเดินขึ้นบันไดยังอาจนำมาซึ่งการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนบ้านร่วมชุมชน ซึ่งในกรณีนี้ อันโดเปรียบเทียบเมืองในยุโรปที่มักจะมีพลาซ่าเป็นตัวเชื่อมต่อถนนและชุมชน ในขณะที่ในอดีตของเมืองในญี่ปุ่นนั้นผู้คนพบปะสังสรรค์กันบนถนน จึงไม่แปลกที่จะใช้บันไดซึ่งเป็นทางสัญจรให้กลายมาเป็นพื้นที่ของชุมชนด้วย

ณ จุดนี้ ความสะดวกจากการได้ขึ้นลิฟท์ ความสะดวกจากการไม่ต้องถูกแดด ฝน ลม ฯลฯ ถูกตั้งคำถามอีกครั้ง เช่นเดียวกับการตั้งคำถามก่อนหน้านี้ อันโดได้กระตุ้นให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่า ความหมายของสถาปัตยกรรมคงจะไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว การตั้งคำถามบนพื้นฐาน วัฒนธรรมของตนเอง ( แน่นอนว่าแตกต่างกับวิถีแห่งตะวันตกหรือวิถีแห่งโลกาภิวัตน์ที่ครอบงำโลกใบนี้อยู่) อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะนำมาซึ่งคำตอบที่น่าพึงพอใจสำหรับวิถีชีวิตในแต่ละวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมในทัศนะของอันโดจึงเป็นเรื่องของความหมายที่มนุษย์สร้างโลกของตัวเองขึ้นมาสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติ แต่โลกธรรมชาตินั้นต้องสัมพันธ์กับวิถีแห่งวัฒนธรรมอย่างแน่นแฟ้นเพื่อให้สถาปัตยกรรมดำรงความหมายที่สัมพันธ์กับวิถีชิวิตอย่างหลากหลายและลึกซึ้งที่สุด

ที่มา: ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์. “ทาดาโอะ อันโด สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ธรรมชาติและความหมาย.” , ธรรมชาติ ที่ว่าง และสถานที่. โฟคัลอิมเมจ พริ้นติ้ง กรุ๊ป , เมษายน 2543, หน้า 111-126.

 

You may also like...