อนุสาวรีย์ที่ไทยทำ โดย แสงอรุณ รัตกสิกร
สมัยนี้เป็นสมัยของการทำอนุสาวรีย์ เป็นสมัยที่ทุกจังหวัดพยายามที่สุดที่จะหาเงินสร้างรูปบุคคลสำคัญไว้ในจังหวัดของตนให้ได้อย่างน้อยสักรูป และผู้รับเหมาการออกแบบแต่ผู้เดียวคือ กรมศิลปากร ท่านจะทำอะไรออกมา ดี-เลว อย่างไรก็ดูเหมือนจะไม่มีใครค้านได้ ยอมรับเอาโดยดุษฎี
จะเป็นเพราะไม่กล้าหรือไม่รู้จริงว่าอนุสาวรีย์ควรมีการออกแบบอย่างไร คงไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองเมื่อดูรูปอนุสาวรีย์ที่กรมศิลปากรที่ท่านทำขึ้นมา จึงเกิดความรู้สึกคล้ายดูหนังไทย … … คือกลุ่มนักแสดงพวกเดิม ซ้ำซาก น่าเบื่อ [ …] เดิมทีเดียว เมื่อไทยบรรพบุรุษจะทำรูปบุคคลที่ยกย่อง เคารพ ท่านคงทำเป็นรูปแบบเทวดา ไม่ใช่รูปเหมือนจริง คตินี้เป็นคติเดิมของไทยเรา เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อเรามีการติดต่อกับฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 และมาใช้วิธีการทำอนุสาวรีย์ตามแบบฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 คือพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งควรเรียกได้ว่าเป็นอนุสาวรีย์รูปแรกของประเทศ ที่ใช้วิธีการออกแบบและกรรมวิธีทำตามแบบฝรั่งและโดยฝรั่ง
รูปอนุสาวรีย์แบบฝรั่งมีมากขึ้นในสมัย ร. 6 แต่เป็นรูปเล็กๆ รูปอนุสาวรีย์แบบไทยที่เป็นชิ้นใหญ่ชิ้นสุดท้ายในรัชกาลนี้คงจะเป็นอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งแรก ตั้งที่บริเวณใกล้ท้องสนามหลวงเป็นอนุสาวรีย์ซึ่งไม่ใช้รูปมนุษย์เป็นสัญลักษณ์ของกิจกรรมอันมีเกียรติ แต่ใช้รูปทรงและลวดลายของสถาปัตยกรรมเท่านั้นเป็นเครื่องแสดงวีรกรรมของทหารอาสาและมีต้นไม้ล้อมรอบสนามเป็นกลุ่ม ต้นไม้ตัดเป็นรูปปืนใหญ่ (ซึ่งบัดนี้ชำรุดสูญไปแล้ว) ช่วยชี้และแนะให้ทราบถึงความหมายของอนุสาวรีย์แห่งนี้ อนุสาวรีย์เล็กๆรูปสัตว์ในรัชกาลนี้ ซึ่งทำตามแบบฝรั่งก็เห็นมีอนุสาวรีย์เล็กๆรูปสุกรริมคลองหลอดและรูปสุนัขที่นครปฐม รูปสุกรเป็นอนุสาวรีย์ที่งดงามและได้ผลดี รูปสุนัขย่าเหลเป็นอนุสาวรีย์ที่ไม่ได้ผลเลย นอกจากคำกลอนอันไพเราะที่ฐานของอนุสาวรีย์เท่านั้น อนุสรณ์สุกรริมคลองหลอด สร้างขึ้นถวายแด่สมเด็จพระพันปีหลวง ปีกุนเป็นปีพระราชสมภพของพระองค์ จุดประสงค์ของอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันครบรอบคล้ายวันพระราชสมภพ ( ความเข้าใจของผู้เขียนอาจไม่ถูกนัก ถ้าพลาดก็ขออภัย) รูปสุกรยืนบนก้อนหินธรรมชาติ มีพันธุ์ไม้ขึ้นเขียวชะอุ่มตามรอยแตกและรอบๆฐานของอนุสาวรีย์ ทำให้ได้ความรู้สึกของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างอนุสรณ์กับพื้นดินและธรรมชาติที่ล้อมรอบ ปัจจุบันความงามของอนุสรณ์นี้ด้อยลงอย่างมาก เพราะการสร้างรั้วเหล็กล้อมและมีความสกปรกในบริเวณรอบๆอันเป็นความบกพร่องของเทศบาล
ความง่ายในแบบที่ไม่เสแสร้งหรือเน้นความเป็นสุกรจนเกินขอบเขต ทำให้เราสัมผัสงานชิ้นนี้อย่างนิยมและสิ่งที่เป็นคุณสมบัติอันวิเศษคืออนุสรณ์เล็กๆชิ้นนี้ช่วยให้สภาพของเมืองตอนนั้นมีเสน่ห์ และตัวอนุสรณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคลอง-สนาม และต้นไม้ที่ปลูกตามแนวคลอง ( เดิมเป็นต้นอโศกน้ำ-เดี๋ยวนี้ไม่ทราบเหตุใดจึงตัดอโศกลงแล้วปลูกขนุนแทน เป็นกิจกรรมที่ทำขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) อนุสรณ์สุนัขย่าเหลที่นครปฐม เป็นตัวอย่างที่ตรงกันข้ามกับอนุสรณ์สุกรหน้ากระทรวงมหาดไทย ซึ่งย่าเหลเป็นพันธุ์สุนัขขนาดเล็ก ได้ถูกขยายให้ใหญ่มหึมาจนลืมมาตราส่วนอันแท้จริงของสุนัข บานรองรับที่หนักแน่น ทั้งรูปร่างและลวดลาย มีถนนวิ่งเข้าประกอบและมีการสร้างวิธีการที่จะเน้นและเชิดชูให้อนุสรณ์ซึ่งไม่ควรจะมีความสำคัญนักให้สำคัญระดับชาติ ( แต่ในยุคนั้น ย่าเหลอาจจะสำคัญระดับนั้นก็ได้ ข้าพเจ้าผู้เขียนเกิดไม่ทัน) ตัวอย่างอนุสรณ์เล็กๆสองอันที่ยกขึ้นมานี้ได้ให้ข้อคิดสองประการที่ควรนำไปพิจารณาในการออกแบบอนุสรณ์คือ
1. ควรพยายามให้อนุสาวรีย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสภาพธรรมชาติแวดล้อมหรือกล่าวอีกอย่างคือ อนุสาวรีย์ไม่ควรสร้างขึ้นมาโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ และควรจะช่วยส่งเสริมปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น
2. ควรพิจารณาความหมายและความสำคัญของอนุสาวรีย์แต่ละแห่งที่สร้างขึ้นมานั้นว่าควรแสดงออกอย่างไรและให้ความสำคัญขนาดไหน การแปลความหมายที่ผิดพลาดไป หรือเน้นความสำคัญจนเกินเหตุ จะก่อให้เกิดความรู้สึกปฏิเสธและเสื่อมศรัทธาต่อผู้ดู
ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์แบบตะวันตกชิ้นสุดท้ายคือ พระบรมรูปรัชกาลที่หนึ่งที่เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า เป็นฝีมือปั้นและหล่อของช่างอิตาเลียน ส่วนการออกแบบส่วนสถาปัตยกรรมและบริเวณแวดล้อมเป็นของสมเด็จกรมพระยานริศฯ นับเป็นผลงานที่ดีชิ้นหนึ่ง ซึ่งแสดงความคิดของช่างสกุลรัตนโกสินทร์ ในระยะที่กระแสความคิดตะวันตกได้ไหลเข้าสู่ประเทศ พร้อมๆกับวัสดุก่อสร้างใหม่และกรรมวิธีก่อสร้างแบบใหม่คือ ค.ส.ล. ( คอนกรีตเสริมเหล็ก : ผู้วิจัย) ลวดลายบัวไทยและรูปทรงแบบไทย ซึ่งมิใช่แต่จะคิดวางไว้รอบๆบริเวณพระบรมรูปเท่านั้น แต่ได้แผ่กระจายออกสู่ส่วนล้อมรอบใกล้เคียง เช่น บริเวณทางขึ้นลงสองข้างของสะพาน ประตูและรั้วของวัดราชบูรณะ และร.ร.สวนกุหลาบฯทำให้เกิดผลของการประสานสัมพันธ์ในบริเวณนั้นเป็นวงกว้างขึ้น อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของชาวกรุงเทพมาจนถึงราวๆก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่ม เพราะหลังจากนั้นมาจนปัจจุบันนี้ เมืองได้เปลี่ยนสภาพไปอย่างสิ้นเชิง ความแออัดของเมืองและยวดยาน และวัดราชบูรณะซึ่งสร้างขึ้นใหม่แทนของเดิมที่ถูกทำลายไปตอนสงครามโลกก็วุ่นวายในรูปทรงและสีสัน ต้นไม้ริมถนนตรีเพ็ชร์และในบริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์ก็ชำรุดทรุดโทรมลงไปเท่าๆกับความสกปรกที่เพิ่มมากขึ้น ความงามและความสำคัญของอนุสาวรีย์แห่งนี้มีน้อยลงไปทุกที ซึ่งเป็นที่น่าเศร้าใจ ตอนหลังนี้ได้มีการแก้ไข ยกแผงหลังพระบรมรูปให้สูงขึ้นอีก (โดยใครไม่ทราบ) ทำให้ส่วนที่ดีดั้งเดิมสูญสิ้นไป
อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นหลัง พ.ศ. 2475 ก็คืออนุสาวรีย์ปราบขบถที่บางเขน (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อจากชื่อนี้แล้ว แต่เรียกชื่อนี้เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆเพราะหลังจากการปฏิวัติไม่สำเร็จของพระองค์เจ้าบวรเดช แล้วได้สร้างอนุสาวรีย์นี้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์และทหารผู้เสียชีวิตของรัฐบาล) รูปทรงของอนุสาวรีย์นี้เล็กๆ อาศัยแนวของรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยเดิมช่วยเป็นแนวทางการสร้างรูปทรง มีรูปประติมากรรมประกอบพอสมควรที่ฐาน และบนยอดคือพานรัฐธรรมนูญ ( ซึ่งเวลานี้เป็นสมัยนิยมของพวกผู้ชายทั้งหลายว่าต้องมีพานรัฐธรรมนูญติดกระเป๋าเสื้อกันจึงจะทันเหตุการณ์) ที่ตั้งของอนุสาวรีย์แห่งนี้ เมื่อก่อนสงครามโลกเป็นที่ๆเปลี่ยวปราศจากการสัญจร ปัจจุบันการสัญจรได้เพิ่มความคับคั่งอย่างมาก ทำให้อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นตัวช่วยทำให้การจราจรติดขัดไป ที่จริงแล้วให้ย้ายอนุสาวรีย์นี้ไปในวัดพระศรีมหาธาตุจะดีกว่า เพราะรัฐบาลฯเองก็ไม่ได้ใส่ใจและสนใจกับอนุสาวรีย์นี้แล้ว ( รวมทั้งประชาชนด้วย)
อนุสาวรีย์ใหญ่ที่เปิดประกวดแบบเป็นทางการ คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนิน ไม่ทราบว่าใครบ้างเป็นกรรมการตัดสินและกรรมการเหล่านั้นจะมีความรู้พอในทางศิลปะและสถาปัตยกรรมแค่ไหน มีความเที่ยงธรรมในการตัดสินประการใดเพราะข้าพเจ้ายังจำได้ว่า มีประชาชนพูดกันว่า ผู้ชนะการประกวดนั้นเป็นญาติอันสนิทของท่านผู้ใหญ่ในคณะรัฐบาล แต่นั่นมิใช่ปัญหาที่จะพูดกันในบทความนี้ ซึ่งตั้งใจจะวิจารณ์ ผลดี-ผลเสีย ในการออกแบบอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนคนไทยเลยตั้งแต่สร้างเสร็จเป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะประชาชนไม่เข้าใจหรือเห็นด้วยกับเหตุผลที่รัฐสร้างงานชิ้นนี้ ประชาชนไทยไม่รู้สึกเหมือนประชาชนฝรั่งเศสที่ได้รัฐธรรมนูญการปกครองมาโดยการล้มราชวงศ์กษัตริย์แบบเลือดทาแผ่นดิน เราอยู่ดีกินดีมาตั้งแต่สมัยตั้งกรุงเทพฯ มีสุขและมั่นใจในรัฐ เมื่อมีการปฏิวัติใน พ.ศ. 2475 คนไทยทั่วๆไป จึงมองเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างเฉยและสงบ และเมื่อรัฐบาลสร้างอนุสาวรีย์นี้ขึ้นมา คนไทยทั่วไปก็มองดูเฉยๆและสงบเช่นเดิม อาจจะมีอาการรำคาญตาและเดือดร้อนก็ตรงที่รัฐตัดต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกสองข้างถนนราชดำเนินลง ทำให้ถนนร้อนจัด และแสบตาเวลาแดดออก
ถ้าจะพูดกันในแง่สถาปัตยกรรมแล้ว อนุสาวรีย์นี้ไม่ได้ผล เพราะว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ออกแบบโดยการใช้ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์ให้แก่ตัวอนุสาวรีย์ ดูๆก็น่าขำเพราะปีก ค.ส.ล. สี่ปีก ดูเหมือนจะหมายความว่า ชาติ , ศาสนา , มหากษัตริย์ , รัฐธรรมนูญ , ปืนใหญ่ที่ล้อมรอบดูเหมือนมี 75 กระบอก หมายว่าปี พ.ศ. 2475 ที่ปฏิวัติสำเร็จ -แล้วก็กระไดกี่ขั้น -กว้าง เท่านั้นเมตร -สูงเท่านี้เมตร และอะไรต่ออะไรที่ข้าพเจ้าจำไม่หวัดไหวว่าหมายถึงอะไร อันเกี่ยวกับการได้รัฐธรรมนูญมา – ล้วนแต่สิ่งที่ไม่อาจทำไม่ให้เกิดสัดส่วนและรูปทรงที่ดีแก่อนุสาวรีย์แห่งนี้ ( หรือแห่งไหนๆ) ได้เลยและมันก็ไม่งามจริงๆ มันจะไม่งามแน่ๆ เพราะผู้ออกแบบมัวไปแก่ตัวเลขสัญลักษณ์เสีย โดยเฉพาะตัวพานรัฐธรรมนูญที่ขยายขนาด Scale แบบสุนัขย่าเหลที่นครปฐม
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างเป็นชิ้นที่สองเพื่อเฉลิมฉลองชัยของทหารไทยในสมรภูมิอินโดจีน มีรูปประติมากรรมประดับรองๆแท่ง Obelisk ซึ่งเป็นเครื่องหมายของปลายดาบของข้าราชการทัพบก เรือ อากาศ ตำรวจและพลเรือน ส่วนฐานล่างเป็นรายชื่อทหารผู้เสียชีวิต ( ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นอนุสาวรีย์นิรนามแกะชื่อออก แล้วเอาชื่อเข้าคืนที่ และอะไรต่ออะไรอีกจนจำไม่ได้)
ข้อเสียของอนุสาวรีย์แห่งนี้คือ
1. รูปประติมากรรมไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวสถาปัตยกรรม
2. รายนามทหารผู้เสียชีวิตที่วางบรรจุไว้ที่ฐานนั้นไม่ถูกที่และทำให้ไม่มีใครสนใจจะอ่านจะดู ( และเมื่อมีรั้วกั้นในปัจจุบันนี้ก็เลยเท่ากับไร้ประโยชน์ เข้าดูไม่ได้และเลยลืมนายทหารผู้เสียชีพโดยสิ้นเชิง)
ที่กล่าวว่ารูปประติมากรรมไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสถาปัตยกรรม ก็เพราะรูปทุกรูปกำลังอยู่ในท่าทางต่างๆกัน ทหารบกทหารเรือ ตำรวจ ล้วนแล้วกำลังทำท่าแทงปืน และอุ้มกระสุนปืนใหญ่ท่าต่างๆนี้พุ่งแยกออกจากรูป แท่ง Obelisk มีรูปทหารอากาศและพลเรือนที่ค่อยสงบกว่ารูปอื่น และเข้ากับรูปสถาปัตยกรรมได้ เพราะยืนพักเข่า รูปทหารอากาศนั้นมือจับลูกระเบิดให้ตั้งไว้ ยังดีที่ไม่ได้ทำท่ายกลูกระเบิดไปกับเขาด้วย เพราะถ้าเกิดทำเช่นนั้นเข้าใครก็จะรู้ว่าเป็นลูกระเบิดกระดาษ มันจึงเบาจนยกเล่นได้
อนุสาวรีย์ทั้งสองแห่งนี้ตรงกลางการสัญจรอันคับคั่ง เป็นทางผ่านที่ต้องการให้การจราจรไหลไปอย่างเร็ว ฉะนั้นอนุสาวรีย์ทั้งสองแห่งจึงนับวันจะเลือนไปจากความใส่ใจ และความรำลึกถึงประชาชน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรามีการตื่นตัวเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์กันเรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งขอวิจารณ์เป็นรายๆไป
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่ ออกจะหันรีหันขวางเอาการอยู่ อนุสาวรีย์ ร. 6 ที่สวนลุมพินีถูกปล่อยไว้โดดเด่นและโดดเดี่ยว อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง – ละม้ายไปทางรูปพระเอกในจินตนิยายของพนมเทียน รูปอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรที่สุพรรณบุรีนั้น ออกจะลงทุนสร้างหนักกว่าที่ใดๆ คือมีช้างศึกพร้อมทั้งนายท้ายช้าง และพลสัญญาณหลังช้าง ซึ่งกำลังชูแขนให้สัญญาณ ( ไม่ทราบว่าสัญญาณรุก หรือรับหรือชูเฉยๆเล่น แต่อะไรก็ไม่น่าสงสารและสงสัยเท่า จตุรงคบาทผู้รักษาเท้าช้าง 4 คน ไม่ทราบว่าหายไปไหน คงวิ่งตามมาไม่ทัน – โทษถึงตายทีเดียว)
นอกจากอนุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอุทิศแรงและชีวิตเพื่อชาติก็มีอนุสาวรีย์ของบุคคลผู้มีชื่อเสียงของไทย เช่น สุนทรภู่ พระยาพิชัยดาบหัก วีรชนชาวบ้านบางระจัน และอีกเป็นจำนวนมากที่อยู่ในโครงการสร้าง ทั้งหมดนี้เป็นการออกแบบที่ยังไม่ถึงขนาด และบางแห่งออกจะแสดงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เอาเสียด้วยซ้ำ ทุกแห่งไม่มีการเตรียมอาณาบริเวณให้เพียงพอและดีพอทำให้ตัวอนุสาวรีย์ขาดความสง่า ไม่ประทับใจหรือไม่ก็ขัดกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ก็ถูก สิ่งแวดล้อมที่ทรามๆทำลายย่อยยับอันได้แก่อนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่วงเวียนใหญ่เป็นต้น
บรรดาอนุสาวรีย์ที่กล่าวถึงมานี้ พอจะเห็นว่าทางการเริ่มมีแนวทางการสร้างอนุสาวรีย์ที่แสดงอิริยาบถและบรรยากาศมากขึ้นกว่าอนุสาวรีย์ที่เป็นแต่เพียงรูปบุคคลที่มีฐานรองรับเฉยๆ อนุสาวรีย์พระบรมรูป ร. 6 ที่หน้าสวนลุมพินี ดูจะเป็นรูปสุดท้ายที่สร้างขึ้นเพื่อความเหมือนจริง ตามรูปถ่าย ไม่ได้แสดงความพยายามที่จะถอดความเป็นกษัตริย์นักปราชญ์หรือความสามารถของ ร. 6 ในฐานะผู้บุกเบิกทาง งานทางด้านวรรณกรรมแต่อย่างไร รูปอนุสาวรีย์แห่งนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่แสนจะโดดเดี่ยว อ้างว้าง แกมทรมานเพราะพระบรมรูปที่ตั้งบนฐานรูปชลูดและแคบๆนั้น ให้ความรู้สึกที่จะหล่นลงได้ง่ายๆ ช่องว่างของช่องขาของรูปประติมากรรม ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนแอในการต่อกันของตัวรูปประติมากรรมกับฐานที่รับมากขึ้นไปอีก และก็เช่นเดียวกันกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและชัยสมรภูมิ คือมีกระแสสัญจรที่คับคั่ง และรวดเร็ว ไหลล้อมรอบบริเวณอนุสาวรีย์แห่งนี้ คนที่ผ่านไปเกือบไม่มีเวลาแม้แต่จะชำเลืองดู
อนุสาวรีย์แห่งนี้ควรจะผลักเข้าไปให้ใกล้กับบริเวณต้นไม้ใหญ่ ( กำลังจะปลูก) ของสวนลุมพินี เพื่อให้มีฉากหลังที่เขียวขจี และจะทำให้พระบรมรูปดูสง่าและมั่นคงขึ้นอีก ถึงแม้ว่าเรายังไม่มีช่างที่ฉลาดสามารถพอที่ถอดความเป็นปราชญ์ของ ร. 6 ออกมาเป็นรูปประติมากรรมได้ คือทำได้ภาพเหมือนก็ตาม แต่ถ้าวางบริเวณที่แวดล้อมให้ดีกว่านี้ ก็จะช่วยให้ผู้ที่ดูอนุสาวรีย์เกิดความชุ่มชื่นร่มเย็นในความรู้สึกได้ และจะได้ผลดีขึ้นทันทีถ้าอนุสาวรีย์ถอยห่างออกจากการจอแจ สับสน ของยานพาหนะบนท้องถนน
รูปประติมากรรมของอนุสาวรีย์ที่สร้างหลังจากพระบรมรูป ร. 6 ส่วนใหญ่มุ่งจะแสดงออกถึงอิริยาบถอารมณ์และสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องไปกับตัวรูปประติมากรรมที่ตั้งขึ้น คงจะเบื่อการยืนเฉยๆของรูปที่ทำมาแล้ว จึงลองเปลี่ยนเสียบ้าง งานต่อมาคือพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่งานอนุสาวรีย์ชิ้นนี้ก็ถูกทำลายลงทันทีโดยห้องแถวแสนทรามที่สร้างแวดล้อมบริเวณอนุสาวรีย์แห่งนั้น ข้อนี้ดูจะเป็นข้อที่เสียหายอย่างรุนแรงซึ่งเกิดแก่อนุสาวรีย์ของเมืองไทย … เพราะทางการไม่อาจสร้างและสงวนเนื้อที่แวดล้อมได้พอเพียง และความคิดของทางราชการที่จะต้องวางตำแหน่งของอนุสาวรีย์ท่ามกลางความสัญจรอันจอแจสับสน ก็ดูจะฝังลงแน่นหนาในใจของผู้บริหารและคณะกรรมการผู้สร้างอนุสาวรีย์
นอกจากนั้นสายตาของท่านกรรมการก็มองได้แต่ปริมณฑลแคบๆที่กำหนดเป็นบริเวณที่จะก่อสร้างอนุสาวรีย์เท่านั้น นอกเหนือ … ไปจากบริเวณนี้ ท่านไม่เคยมองออกไปหรือมองออกไปแล้วท่านก็มองอะไรไม่เห็นด้วยเหตุบรรดาสิ่งที่เกิดห้อมล้อมอนุสาวรีย์ นอกเหนือไปจากรถที่วิ่งกันแน่นเต็มท้องถนน ก็คือป้ายโฆษณาต่างๆมีใบหน้าของดาราหนังของไทย-จีน แขก โผล่สลอน ใหญ่กว่าตัวประติมากรรมเสียอีก นอกนั้นก็คือป้ายน้ำขวดน้ำอัดลมที่มีไฟกระพริบเขียวแดง ป้ายร้านค้าสารพันที่แข่งกันในความโสโครก เสียงขยายที่ดังเท่าที่จะดังได้ของรถและร้านรวงรวมทั้งเสียงต่างๆที่แสนสกปรกเหล่านั้นได้มาประมวลกันเข้าเป็นแรงที่มีน้ำหนักพอที่จะผลักให้อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตกลงไปจากสายตาและจากใจของประชาชน
รูปอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นรูปที่แสดงอิริยาบถดูเหมือนจะเป็นงานประติมากรรมจากกรมศิลปากร รูปแรกที่ทำลักษณะนี้ แต่แล้วก็ถูกวิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะหางของม้าทรงชี้ไปทางด้านหลัง ทั้งๆที่ม้ายืนแบบปกติ มิได้มีท่าทีเผ่นโผน นี่เป็นสิ่งที่แสดงความบกพร่องของช่างปั้น เพราะเป็นรูปที่มีการแสดงอิริยาบทแบบครึ่งๆกลางๆ รูปพระเจ้ากรุงธนบุรีชักพระแสงดาบชี้ไปข้างหน้า เป็นการชี้ลอยๆเพราะลำตัวและส่วนอื่นของรูปประติมากรรมมิได้มีอาการอื่นใด นอกจากอาการที่เป็นปกติคือ เป็นอาการที่จะนั่งหลังม้าให้สนิทและสบายที่สุด รูปม้ายืนสองขาหน้าเสมอกันก็ยืนธรรมดาๆคอเชิดพอสมควร แต่ทำไมหางม้าจึงต้องพุ่งชี้ออก คล้ายๆม้าที่ควบขี่ฝีเท้าจัดเต็มที่ ที่เรียกว่ามีอิริยาบทครึ่งๆกลางๆก็คือมี Action ปรากฏที่อวัยวะบางส่วน ส่วนที่เหลืออยู่ในสภาพสงบการขัดกันในอิริยาบทแบบนี้ ไม่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ดูเลย ทั้งที่ตลอดเวลาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนได้ทรงฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อกอบกู้เอกราช แต่กรมศิลปากรถอดพระอิริยาบทออกมาได้เล็กน้อยเพียงเท่านี้เอง เป็นการถอดวีรกรรมของพระเจ้าแผ่นดินผู้กล้าหาญที่ไม่สมบูรณ์ และพอจะพูดอย่างภาษาชาวบ้านได้ว่า “มือไม่ถึง” คำว่า “มือไม่ถึง” นี้เห็นจะพอใช้ได้กับการออกแบบรูปอนุสาวรีย์ทั้งปวงของกรมศิลปากรซึ่งผลิตออกมาหลังจากการสร้างอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เช่นเดียวกับพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯ ที่พยายามจะสร้างอิริยาบทแต่สร้างไม่สำเร็จ และยิ่งไม่รู้และแน่ใจว่า ช้างศึกสมัยโบราณนั้นมีเครื่องประกอบอะไรบ้างก็เลยปั่นป่วนไปทั้งรูปทรงของอนุสาวรีย์แห่งนี้ กลางช้างชูสัญญาณหางนกยูง โดยไม่รู้ว่าเพื่ออะไรแต่ทำให้เกิดรูปที่พุ่งขึ้นแยกสูงออกไปจากมวลปริมาตรอันคุมกันแน่นที่รูปลำตัวของช้าง กลุ่มอาวุธบนหลังช้างที่พุ่งเป็นมุมเฉียงออกเป็นแฉก ยิ่งก่อให้เกิดความแยกตัวออกจากปริมาตรใหญ่และช้างยืนลำพังโดยไร้จตุรงคบาททำให้เกิดช่องว่างระหว่างฐานและท้องช้างขึ้น ทำให้มีความอ่อนแอในการต่อกันระหว่างฐานและรูปประติมากรรมที่วางลงบนฐาน ถ้ากรมศิลปากรไม่เสียดายเงินสำหรับผู้รักษาเท้าช้างสี่คน ปริมาตรของคนทั้งสี่จะช่วยให้ช่องว่างที่กล่าวหมดไปด้วย (ถ้าวางตำแหน่งให้ถูกต้อง) และประติมากรรมชิ้นนี้จะน่าดูขึ้น บริเวณล้อมรอบอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีไม่เพียงพอและไม่ถูกต้อง ในการใช้พันธุ์ไม้เข้าประกอบบริเวณแวดล้อมแห่งนี้ เนื้อที่ที่จริงบริเวณอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้กันทำให้มากกว่าแห่งอื่นๆ แต่กระนั้นก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะตัวเจดีย์ยุทธหัตถีมาช่วยทำให้เนื้อที่เล็กลงอีกถนัด ระยะทางสัญจรของสายตาที่เข้าไปสัมผัสรูปประติมากรรมสั้นเกินไป ถนนที่วิ่งเข้าไปวนล้อมตัวพระบรมรูปมีรัศมีแคบมากและถนนสายนี้วิ่งต่อไปยังเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งอยู่ถัดเข้าไปเพียงเล็กน้อย ทำให้กลุ่มพระบรมรูปเป็นเสมือนจุดๆหนึ่งบนทางผ่าน ถ้าถนนทำรัศมีให้กว้างขึ้นก็จะได้ลานใหญ่ล้อมพระบรมรูปมากขึ้นและจะแก้ความรู้สึกของการเป็นจุดบนทางผ่านให้หายไปได้
สิ่งที่ไม่น่าทำก็คือ ตัวเจดีย์ยุทธหัตถี ค.ส.ล. ซึ่งสร้างคลุมเจดีย์เดิมที่หักพังลง เจดีย์ของใหม่ ( ค.ส.ล.) ในรูปแบบเจดีย์ไทยประยุกต์นี้ ปฏิเสธกลุ่มประติมากรรมซึ่งตั้งวางไว้หน้าเจดีย์ ทั้งนี้เพราะว่าเจดีย์ออกแบบโดยใช้วิธีการของสถาปัตยกรรมไทยเดิม ส่วนตัวพระบรมรูปอนุสาวรีย์เป็นแบบฝรั่งล้วน
ถ้าระยะทางระหว่างตัวเจดีย์กับตัวอนุสาวรีย์พระบรมรูปได้ยืดระยะออกไปอีก ความรู้สึกปฏิเสธดังกล่าวจะน้อยลง และถ้าวางตำแหน่งต้นไม้ใหญ่บังให้ถูกต้องแล้ว ต้นไม้จะยิ่งช่วยแก้ไขข้อบกพร่องนี้ให้น้อยลงไปได้อีกมาก ข้อสำคัญก็คือว่า ทำไมจึงออกแบบให้ตัวเจดีย์และตัวพระบรมรูปอยู่ร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้ ( ค.ส.ล.) จะคลุมด้วยโครงสร้างอื่น ซึ่งถูกต้องกับปรัชญาสถาปัตยกรรมปัจจุบันไม่ได้หรือเจดีย์ ค.ส.ล. ก็เชยพอๆกับใบระกาช่อฟ้า ค.ส.ล. ก็เมื่อจะใช้วิธีสร้างรูปประติมากรรมแบบตะวันตกแล้วจะอิดเอื้อนไปทำไมที่จะใช้โครงสร้างแบบใหม่และวัสดุก่อสร้างใหม่ที่คนตะวันตกใช้และได้ผล
เกียรติและความภาคภูมิของเรา ย่อมแปลออกด้วยวัสดุ และด้วยวิธีก่อสร้างแบบใหม่ได้โดยไม่เสื่อมในความเป็นไทย กิจกรรมที่บรรรจุไว้ในตัวเจดีย์ปัจจุบันเสียอีกทำให้เราเสื่อมเกียรติเพราะจะได้พบความน่าเกลียดคือประตูเหล็กยืดแบบห้องแถว ซึ่งกรมศิลปากรติดไว้สำหรับปิด เปิดการเข้าออกในบริเวณตัวเจดีย์เดิม ข้างผนังคือแผงแขวนในเซียมซีมีเสียงสั่นติ้วแบบศาลเจ้าจีน ก้องสะท้อนในเจดีย์ยุทธหัตถี มีตู้กระจกสกปรกไว้ใส่เหรียญไว้วางขายและอื่นๆอีกสาระพัดที่จะก่อให้เกิดความเศร้าใจที่เห็นเจดีย์ยุทธหัตถีของเดิมอันมีค่าแห่งนี้ ได้ถูกแปลงให้ใกล้กับศาลเจ้าสำหรับขอหวยขอลาภเข้าไปทุกทีแล้ว นี่แหละคือการเสื่อมเกียรติที่ไทยเราทำกันขึ้น ต้นไม้ที่ปลูกล้อมรอบบริเวณนี้ควรใช้ต้นไม้ที่ขึ้นในท้องถิ่นแถบนั้นเพราะถูกต้องตามธรรมชาติและสร้างบรรยากาศดั้งเดิมได้ แต่การที่เอาสนปฎิพัทธ์หรือพันธุ์ไม้ต่างถิ่นต่างประเทศมาปลูกไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย นอกจากยิ่งวุ่นและสับสนอลหม่านกันขึ้นไปอีก
และพอถัดบริเวณอนุสาวรีย์ออกมา ห้องแถวที่โสโครกก็ตั้งประจันหน้าทันทีก็เหมือนกับบริเวณวงเวียนใหญ่นั่นเองแต่มีอาณาเขตสกปรกที่เล็กกว่า และยังง่ายต่อการรื้อถอน ถ้าหากว่ารัฐบาลจะมีกฎอะไรที่จะบังคับไม่ให้ความสกปรกโสโครกแบบนี้มาตั้งในรัศมีห้ากิโลเมตรจากอนุสาวรีย์ได้ก็จะเป็นการดี คือเราก็จะสร้างอนุสาวรีย์กันทุกๆ 10 กิโลในเมืองก็คงไม่มีใครว่าและเมืองจะได้สะอาดและงามครั้งนี้แหละ
อนุสาวรีย์ท่านสุนทรภู่เป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกที่สร้างให้แก่กวีไทยที่เป็นคนสามัญ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวใหม่ของทางการอันควรสรรเสริญ แต่ความเป็นคนธรรมดาของท่านสุนทรภู่ก็กลายเป็นคนประหลาดพิเศษไปกว่าคนอื่นด้วยฝีมือออกแบบของช่างกรมศิลปากร
การเลือกที่ตั้งอนุสาวรีย์ที่เมืองเกิดของท่านสุนทรภู่นั้นไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะที่ตั้งแห่งนั้นมิได้ภาพใดๆที่ชวนให้เกิดจินตนาการที่สัมพันธ์กับงานสุนทรภู่ที่เรารู้จักดีคือ การผจญภัยของพระอภัยในท้องสมุทร และบุคคลประหลาดๆตามเมืองต่างๆหรือถ้าจะมองสุนทรภู่ ในความเป็นกวีเอกของประเทศ กรมศิลปากรก็ไม่ควรจะสร้างบรรยากาศให้รูปท่านภู่อยู่กับตัวละครในเรื่องพระอภัยมณีเท่านั้น … … เหตุผลที่เลือกสร้างอนุสาวรีย์ที่บ้านเกิดของสุนทรภู่ ก็คงจะเป็นนโยบายที่จะดึงนักทัศนาจรให้มาสู่ตำบลนี้มากขึ้น และคงสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวตำบลนี้ แต่ถ้าจะให้กล่าวว่า สุนทรภู่เป็นกวีของคนไทยแล้วที่ตั้งก็ควรเลือกให้เป็นชัยภูมิงามกว่านี้ และถ้าช่างกรมศิลปากร ท่านภู่แยกไม่ออกจากนางผีเสื้อสมุทรแล้ว ก็ทำไมไม่เอาริมทะเลที่ไหนที่งามๆในระยองสักแห่ง (ซึ่งมีถมไป) ให้นางผีเสื้อสมุทรได้โผล่มาจากสมุทรจริงๆจะมิดีกว่าโผล่มาจากบ่อ ค.ส.ล. ตื้นๆและสกปรก หรือช่างกรมศิลปากรคงจะถางต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ในบริเวณลงจนหมดแล้วทำเนินดินสูงขึ้นแถวๆกลางที่เพื่อจะวางรูปประติมากรรมท่านสุนทรภู่ ลงที่ยอดเนินนั้นเป็นจุดสูงสุดที่นั่งไม่สบายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนจริงๆหรือรูปประติมากรรมช่างแห้งแล้ง อ้างว้าง และ โดดเดี่ยว ในความรู้สึก จากทางเข้าจะเห็นรูปท่านสุนทรภู่ นั่งอยู่บนเนินดินสร้างใหม่นี้ แลตลอดโล่งไปจนสุดอาณาเขตของบริเวณ มีฉากหลังคือที่ว่างโล่งเปิดออกไป ดูเวิ้งว้างเห็นท้องทุ่งและละเมาะอยู่ไกลออกไปลิบๆ ถ้ากรมศิลปากรจะเก็บความโล่งว่างของฉากหลังที่กล่าวนี้ไว้ โดยไม่สร้างอาคารอะไรมาวางบังไว้ที่ปลายที่ดินของอนุสาวรีย์ก็ยังจะดี แต่กรมศิลปากรเกรงว่านักทัศนาจรจะไม่มีห้องสุขาใช้ จึงเอาห้องสุขามาตั้งให้เห็นชัดเจนอยู่หลังรูปท่านสุนทรภู่พร้อมทั้งเรือนคนเฝ้าที่ไม่น่าดูไม่ว่าจะเป็นเวลาสว่างหรือมืด นี่เป็นการไม่เข้าใจสภาพของที่ดินธรรมชาติและแปลจุดประสงค์ของอนุสาวรีย์ ท่านสุนทรภู่ผิด การตัดต้นไม้ลงก็ดี หรือการสร้างเนินดิน ซึ่งทำให้เห็นชัดจะแจ้งว่าเป็นเนินที่พูนขึ้นมาอย่างไม่กังวลว่า สภาพแวดล้อมของธรรมชาติเดิมเป็นอย่างไร และการกักกั้นสายตาไม่ให้ไปสัมผัสกับขอบฟ้าโดยเอาส้วมและเรือนเฝ้ามาวางไว้ให้ดูทั้งหมดนี้ทำให้บริเวณอนุสาวรีย์ไม่มีค่าอะไรเหลืออยู่เลย ยิ่งสร้างรั้วและตัดถนนเข้าไปล้อมรอบเนินดินที่ตั้งอนุสาวรีย์และตัดไปยังจุดต่างๆของบริเวณที่ดิน ยิ่งทำให้ที่ดินเล็กๆผืนนี้ถูกซอยสับลงเป็นตอนเล็กน้อยยิ่งขึ้น กรมศิลปากรปลูกต้นไม้ลงหลายสิบต้นแต่ยังเป็นต้นเล็กๆ คงกินเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีกว่าจะมีร่มเงาและรูปทรงพอจะชื่นตาได้บ้าง ( แต่การบำรุงรักษาอย่างปัจจุบันนี้คงจะรอดไปเติบโตไม่ถึงครึ่ง) ฉะนั้นความคิดแบบปลูกใหม่ของหมด โดยตัดไม้เก่าลงให้สิ้นหรือเกือบหมด ควรยุติได้แล้ว
เมื่อพิจารณาพันธุ์ไม้ที่ปลูกลงไป และตำแหน่งที่ปลูกก็อนาถใจ เป็นการปลูกแบบชนิดอย่างละอันพันละน้อย มีหลายอย่างหลายชนิดคล้ายๆกับจะอวดว่าที่นี่มีต้นไม้แปลกๆ แต่ไม่คำนึงถึงว่าไม้เหล่านี้เมื่อโตเต็มที่แล้ว จะมีรูปทรงและสีสันเข้ากันได้ หรือช่วยส่งเสริมกันและกันอย่างไรและจะช่วยให้ตัวอนุสาวรีย์ได้ผลสมบูรณ์ในการสร้างบรรยากาศได้หรือไม่ ดูชื่อพันธุ์ไม้ที่มีกำกับไว้ตามต้นที่ปลูกลงก็บอกได้ว่าจะไม่ได้ผลอะไรเลย นอกจากร่มเงาที่กระพร่องกระแพร่ง
ทีนี้ก็มาถึงตัวประติมากรรมท่านสุนทรภู่ซึ่งนั่งอยู่บนยอดเนินท่านภู่แต่งกายเต็มยศ ใส่เสื้อปิดคอมีผ้าคาดพุงอย่างแข็งแรงชนิดหายใจไม่สะดวก นุ่งโจนกระเบนชุดแบบนี้ คือชุดเต็มยศใหญ่คงใช้ไม่กี่ครั้งในชีวิตรับราชการของท่าน เพราะเวลาเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินในยุคนั้น ก็ถอดเสื้อเฝ้ากันได้ ทำไมจึงแต่งตัวให้ท่านแบบนี้คงเกรงว่าจะไม่มีวัฒนธรรมถ้าจะให้ท่านนั่งเปลือยบนท่อนบนกระมัง นี่เป็นการกระทำที่เกินขอบเขตของความจริงย่อมได้รับการปฏิเสธจากผู้ดูผู้รู้เพราะเห็นชัดว่าเป็นการเสแสร้ง การไม่ยอมรับสภาพความจริงปรากฏอยู่ในงานของกรมศิลปากรเสมอ ดูแล้วเสื่อมศรัทธา ไม่เห็นจะผิดอะไร ถ้าท่านภู่จะนั่งตามสบายเปลือยท่อนอกเพื่อจะแต่งกลอนที่ท่านถนัดพูดตามความจริง ใครจะบ้านั่งเขียนกลอนโดยแต่งตัวแบบที่เหงื่อไหล หายใจไม่สะดวกและตากแดด จะปลูกต้นไม้ไทยๆดีๆสักต้นให้ท่านนั่งสบายๆใต้ร่มไม้ก็จะสมเหตุสมผลขึ้นอีกโข ทำไมไม่ทำก็ไม่ทราบ
ต่อจากรูปท่านสุนทรภู่ ก็เป็นรูปนางเงือก ผีเสื้อสมุทรและพระอภัย พระอภัยนั่งบนชายตลิ่ง บนเนินดินตอนฐานของเนินสุนทรภู่ นางเงือกและนางผีเสื้อยักษ์อยู่สระน้ำซึ่งมีรูปเกือบจะเหมือนสระว่ายน้ำที่ใช้ว่ายแข็งขัน สระน้ำแยกจากเนินดินที่ท่านภู่และพระอภัยนั่งโดยถนน ค.ส.ล. วิ่งคั่นกลางแยกบริเวณทั้งสองให้ห่างออกจากกันเสีย ตามที่พรรณนามาทั้งหมดนี้ ท่านคงจะพอจินตนาการเอาได้ว่าช่างกระด้างสิ้นดี
อนุสาวรีย์สุนทรภู่จังหวัดระยองขอได้สังเกตว่า ต้นไม้ใหญ่เหลือรอดจากการโค่นลงเพียงต้นเดียว เนินดินที่พูนสูงขึ้นมา มีลักษณะที่บอกชัดว่า ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับที่ดินแวดล้อมเลย การตัดถนนสัญจรรอบๆเนินดิน ทำให้แยกตัวออกจากสระและกลุ่มประติมากรรมบนบกและในน้ำก็พลอยแยกตัวออกจากกัน ขอให้สังเกตดูรูปนางเงือกว่าประหลาดเพียงไร เธอนั่งบนก้อนหินแต่ก็เกร็งหางให้ชูลอยเหนือน้ำ นอกจากจะทำให้รู้สึกเมื่อยอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังทำให้รู้สึกว่านางเงือกเป็นโรคกลัวน้ำ อาคารที่โผล่หลังเนิน คือส้วมของสำคัญของอนุสาวรีย์ ในสายตาของกรมศิลปากร การไม่ร่วมกันของบริเวณ และกลุ่มรูปประติมากรรมเหล่านี้ไม่สามารถจะอธิบายได้ว่าเพราะอะไร นอกจากว่าทำไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งพูดกันอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะไม่จำเป็นจะต้องอธิบายอะไรให้ยืดยาวต่อไปอีก
อนุสาวรีย์ชิ้นใหญ่อีกชิ้นที่คงจะเกรียวกราวกัน ตอนทำพิธีเปิดก็คือ กลุ่มอนุสาวรีย์ชาวค่ายบ้านบางระจัน เท่าที่ดูจากรูปถ่าย อนุสาวรีย์ชิ้นใหม่ของกรมศิลปากรชิ้นนี้ให้ผลเช่นเดียวกับของท่านสุนทรภู่ คือไม่สนใจในการจัดและแต่งบริเวณล้อมรอบ มีถนนตัดเข้าไปพันรอบๆ บริเวณที่จะตั้งประติมากรรม ช่างปั้นของกรมศิลปากรและผู้ใหญ่ของรัฐบาลใส่ความเกินพอดีเข้าให้แก่วีรบุรุษ ชาวค่ายบ้านบางระจันทุกคน รวมทั้งกระบืออีกหนึ่งตัว ซึ่งเป็นพาหนะของนายจัน หนวดเขี้ยว คือเติมความล่ำสันกำยำแบบนักเพาะกาย และซูเปอร์แมนลงให้โดยครบถ้วน
และเมื่อได้ดูการจัดกลุ่มรวมของงานประติมากรรมทั้งหมดก็ทำให้เข้าใจถึงสาเหตุของการพ่ายแพ้แก่ พระนายกองสุกี้ของวีรชนกลุ่มนี้ เพราะทุกท่านต่างคนต่างแข่งกันออกรบพม่า มิได้ร่วมรบเป็นทีม อิริยาบถทุกๆท่านให้ความรู้สึกเช่นนั้นแก่ผู้ดู ที่จริงการออกแบบอนุสาวรีย์นั้นมีวิธีการมากกว่าที่กรมศิลปากรทำอยู่ กรมศิลปากรทำอยู่แบบเดียวกับซ้ำซาก งานประติมากรรมจากกรมศิลปากรเป็นแบบรูปธรรม คือเหมือนจริงตามธรรมชาติ และก็เหมือนแต่ผิวบนของธรรมชาติเท่านั้น อารมณ์และความรู้สึกที่ลึกลงไปใต้ผิวนั้น นายช่างของกรมศิลปากรมิอาจนำออกตีแผ่ให้ผู้ดูได้เห็นเลย และการออกแบบทำงานประติมากรรมชนิดลอยตัว ( Free Standing Sculpture) ซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นนี้ยิ่งก่อให้เกิดความเบื่อขึ้นทุกที ทำไมไม่เป็นแบบ Relief บ้าง หรือแบบผสมระหว่าง Relief และรูปลอยตัวหรือแบบสถาปัตยกรรมบริสุทธิ์ ซึ่งใช้แต่รูปทรงของสถาปัตยกรรมเท่านั้น เป็นสัญลักษณ์แทนที่จะต้องใช้ประติมากรรมรูปคนซ้ำซากอยู่
สิ่งที่พอสรุปได้จากการพิจารณาผลงาน การออกแบบอนุสาวรีย์ ของกรมศิลปากรก็คือช่างของกรมไม่เข้าใจเรื่องสถาปัตยกรรม ไม่เข้าใจสภาพธรรมชาติแวดล้อม ( Nature of Site) ไม่สนใจในการใช้พืชพันธุ์ไม้ที่ถูกต้อง และที่สำคัญที่สุด ไม่เข้าใจ และหยั่งไม่ถึงหรือเข้าไม่ถึงคุณสมบัติอันแท้จริงของวีรชน ที่นำมาสร้างเป็นอนุสาวรีย์ แต่การที่จะระลึกถึงวีรกรรมของใครก็ตาม เราจำเป็นเสมอไปหรือที่จะเห็นรูปบุคคลผู้สร้างวีรกรรมนั้นเสียก่อนจึงจะระลึกได้ บริเวณอนุสาวรีย์ที่จัดด้วยพันธุ์ไม้และที่เว้นว่างที่ถูกต้องตามวิชาภูมิสภาปัตยกรรม (Landscape Architecture) ก็อาจโน้มนำให้ผู้เข้าไป ณ สถานที่นั้นได้สำนึกในเหตุการณ์ และวีรกรรมอันมีเกียรติได้เช่นกันและอาจจะดีกว่าด้วย เพราะในสังคมเราซึ่งการบันทึกภาพและเหตุการณ์ในอดีตมีอย่างมืดมัว การที่ผู้ออกแบบพยายามใช้จินตนาการของตนสร้างภาพบุคคลหรือเหตุการณ์ขึ้นเอง ย่อมก่อให้เกิดความกังขาและปฏิเสธได้ การเปิดที่ว่างและจัดสวนหรืออาจใช้แท่งวัสดุจารึกบอกความมุ่งหมายและประวัติก็จะเป็นการดีและควรกว่าที่ทำๆกันดั่งที่พูดมาแล้วแต่ต้น
ที่มา: แสงอรุณ รัตกสิกร. “อนุสาวรีย์ที่ไทยทำ.” แสงอรุณ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์ 2523, หน้า 100-108. ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ต้อนรับน้องใหม่. ของคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2514. ตีพิมพ์อีกครั้งใน วารสารบ้าน ฉบับที่ 5 ( สิงหาคม 2525, หน้า 66-75.