การวิเคราะห์เชิงวิจารณ์

การวิเคราะห์เชิงวิจารณ์รูปแบบและสัญลักษณ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในแง่ศิลปะโดยพิจารณาเน้นที่ภาพรูปจำหลักโดยรอบของปีกทั้งสี่ของอนุสาวรีย์ โดย เเจนนิส วงศ์สุรวัฒน์

ประติมากรรมนูนสูง รูปคนในภาพประติมากรรมนูนสูงมีขนาดใหญ่กว่าคนจริง และมีมวลที่หนาหนักพอที่จะเข้ากันได้กับขนาดและน้ำหนักของฐานปีก และความลึกของฐานอนุสาวรีย์ แนวเรื่องของงานประติมากรรมนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ซึ่งเป็นเหตุของการตั้งวันชาติขึ้น* แต่ศิลปินไม่ได้พยายามที่จะบรรยายถึงบุคคล เวลา และสถานที่อย่างเฉพาะเจาะจง ไม่มีการแสดงภาพบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อเชิดชูเกียรติเป็นการเฉพาะ หากมีการสื่อความถึงเนื้อหาบางประการอย่างกว้างๆ ได้แก่
– การวางแผนที่เริ่มต้นขึ้นจากฝ่ายทหาร เห็นได้ในภาพ “ผู้วางแผน”
– ฝ่ายทหารที่ทำการต่อสู้ (เพื่อรัฐธรรมนูญ) ปรากฏในภาพ “การต่อสู้”
– การทำงานในกิจกรรมต่างๆที่มีความสำคัญและมีเกียรติในสังคมถูกแสดงในภาพ ” การทำงาน”
– สังคมที่มีดุลยภาพของคุณค่าหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าที่เกิดขึ้นจาก การกีฬา การศึกษา ศาสนา และกิจกรรมเพื่อสาธารณะ เป็นเนื้อหาในภาพ “อุดมคติ” หรือ ” คุณค่า”

เมื่อเข้ามาดูภาพใกล้ๆดวงตาที่ขาวโพลนของรูปคนและมวลหนาๆหนักๆที่แฝงความหยุดนิ่งอยู่ในภาพนูนสูงนี้สะท้อนความรู้สึกที่ถูกข่มให้สงบลงและความเคร่งเครียด ภาพคนที่ปรากฏนี้มีขนาดใหญ่และหนักกว่าคนจริงๆ อันที่จริงแล้ว ผลงานนี้ดูตั้งใจจะสร้างให้เป็นภาพ อุดมคติเสียมากกว่า ไม่มีคนทำงานคนใดเลยที่ดูผอมบางตามลักษณะของคนไทย แต่ทุกคนดูแข็งแรง อดทน และแข็งขันในหน้าที่ การทำรูปคนให้กลายเป็นภาพอุดมคติเช่นนี้ให้ผลที่ดูจริงจังอย่างน่าประหลาด ด้วยการสร้างภาพอุดมคติของกรรมกร และคนงานในอาชีพต่างๆ ศิลปินได้เชิดชูคนธรรมดาสามัญในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูผิดปรกติจากที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ไทย ในลักษณะเช่นนี้ กรรมกร คนทำงานในโรงงาน ชาวไร่ ชาวนา ถูกยกเชิดชูขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน คุณค่าบางประการก็ถูกแสดงออกมาอย่างเด่นชัดราวกับว่ามันมีความสำคัญเป็นพิเศษ(ในสังคมประชาธิปไตย) นั้นก็คือภาพทหารสีขาวสงบนิ่งไม่เคลื่อนไหวราวกับเป็นการทอดบังเงามาจากโลกอื่น ซึ่งมันได้รับพื้นที่มากที่สุด

ภาพ ” ผู้วางแผนการ” ภาพนูนสูงภาพแรกข้าพเจ้าขอเรียกว่า “ผู้วางแผนการ” ถ้าภาพนูนสูงเหล่านี้ถูกคิดสร้างขึ้นเพื่อบันทึกเหตุการณ์ในการปฏิวัติที่นำมาสู่การประกาศตั้งวันชาติแล้ว ถ้าเช่นนั้นขั้นตอนของการวางแผนการก็จะต้องมาเป็นอันดับแรก

องค์ประกอบของภาพ ศิลปินที่ได้รับมอบหมายให้สร้างภาพเพื่อบรรยายการวางแผนการนี้ ได้ทำผลงานอย่างที่ศิลปินนึกคิดด้วยการทำให้เครื่องแบบที่ทหารสวมอยู่นั้นดูโป่งพองและเป็นลอนตามที่นิยมอยู่ในเวลานั้น หากมองจากจุดยืนในแง่ของคุณค่าด้านรูปแบบอย่างเดียวแล้ว องค์ประกอบของภาพนี้ก็น่าพึงพอใจและละเอียดอ่อน ศิลปินแบ่งภาพตามแนวนอนในระดับของหัวไหล่ สะโพก และหัวเข่าของรูปคนในภาพ มีการจัดวางจังหวะของพื้นที่ว่างระหว่างศรีษะของชายทั้ง 11 คนได้อย่างน่าชมลักษณะรูปร่างและใบหน้าคนทั้งหมดดูคล้ายคลึงกันมากจนการอยู่รวมกันของคนในภาพดูมีเอกภาพ

รูปแบบ และความรู้สึกทางประติมากรรม หากดูจากเครื่องแบบที่พวกเขาสวม คนในภาพดูเหมือนไม่ได้อยู่ที่บ้าน ท่าทางของ “ผู้วางแผนการ” ดูขาดกำลังและชีวิตชีวาไม่เหมือนอย่างในภาพ “การต่อสู้” หากเปรียบเทียบกับภาพ ” การต่อสู้” แล้วภาพ “ผู้วางแผนการ” ยังดูมีท่าทางแข็งๆ ขัดๆมากกว่า ความรู้สึกเช่นนี้แสดงออกมาให้เห็นได้ชัดในภาพถ่ายมากกว่าในภาพปั้นนูนสูงของจริงในสถานที่ติดตั้ง

ในแง่ที่ภาพเหล่านี้เป็นภาพประติมากรรมนูนสูงประดับอนุสาวรีย์ซึ่งใช้วิธีการหล่อจากแม่พิมพ์ คุณค่าทางประติมากรรมที่ดึงดูดใจของภาพนูนสูงเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระนาบระดับสูงต่ำและมวลปริมาตรของรูป ความงามของภาพเหล่านี้จะดูน่าประทับใจ เมื่อเข้ามาชมในระยะใกล้ จนไม่อาจมองเห็นเรื่องราวเนื้อหาได้ทั้งภาพ หรือชมจากถ่ายภาพที่แสดงให้เห็นถึงปริมาตรซึ่งทำให้ผลงานดูมีพลังในตัวเอง

ในแง่ของสัญลักษณ์ การชี้นำในภาพนี้สื่อว่า การวางแผนการเกิดขึ้นในค่ายทหารในสนาม เห็นได้จากแง่มุมต่างๆที่ปรากฏ ในอันดับแรก กลุ่มคนที่ร่วมกันคิดแผนการยืนรวมกลุ่มกันอยู่รอบๆโต๊ะที่เล็กมากเสียจนหนังสืออ้างอิง (?) ของพวกเขาต้องกองตั้งไว้กับพื้น ในลำดับต่อมา ม้าคู่หนึ่งถูกจูงมาเตรียมพร้อมอยู่ข้างๆ และมีชายที่ดูมีอำนาจซึ่งอยู่ในอาการที่กำลังหมดความอดทน และสุดท้ายมีทหารยามยืนระวังอยู่ใต้ต้นไม้ ภาพเช่นนี้บ่งชี้ว่า สถานที่แห่งนั้นก็คือสนามรบ

บทบาทรองของการใช้เหตุผลและสติปัญญาในภาพการวางแผนการนี้ถูกสื่อด้วยรูปของบัณฑิตที่ดูท่าทางแข็งๆและกระอักกระอ่วนลังเล เขากำลังถูกชี้แนะจากทหารอากาศนักบินหนุ่มคนหนึ่ง รูปบัณฑิตนี้ปรากฏขึ้นอย่างไร้เหตุและดูแปลกแยกจากสถานที่ในกลุ่มของทหารที่มีท่าทางกิริยาตามสบายในหมู่พวกพ้องของตัวเอง ข้าพเจ้าตั้งข้อสงสัยว่า องค์ประกอบของภาพนี้ไม่เป็นที่พอใจของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีเท่าใดนัก จะเห็นได้จากผลงานของอาจารย์ศิลป์ที่ออกแบบภาพประติมากรรมนูนสูงประดับ หอประชุมคุรุสภา ซึ่งแสดงความรู้สึกของท่านต่อความหมายของผู้ชี้นำ ในผลงานรูปนูนสูงภาพนั้น บัญฑิตเป็นผู้ชี้แนะให้แก่ทหารและพระสงฆ์

ภาพ “การต่อสู้” ในความเห็นของข้าพเจ้า นี่เป็นภาพซึ่งอาจารย์ศิลป์กล่าวถึงในจดหมายฉบับหนึ่งที่ระบุว่า สนั่น ศิลากรเป็นผู้ทำภาพนูนสูงรูปหนึ่งสำหรับประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รูปคนที่ปรากฏในภาพนูนสูงนี้สวมเครื่องแบบทหารปรกติ และแสดงออกถึงอารมณ์อันพลุ่งพล่าน ซึ่งแสดงว่าศิลปินชื่นชมต่อชีวิตและลักษณะของชายชาติทหาร

องค์ประกอบของภาพ พลังและความเคลื่อนไหวที่อัดแน่นอยู่ในภาพนี้ ชี้ให้เห็นว่าศิลปินมีพลังที่จะแสดงออกยิ่งกว่าที่เห็นด้วยซ้ำ ภาพที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นั้นดูพร้อมที่จะหลุดออกมานอกกรอบพื้นที่อันจำกัด นี่เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงฝีมืออันมีพลังในการสร้างสรรค์ของศิลปิน ภาพคนที่มีขนาดใหญ่โตกว่าคนจริงที่บรรจุอยู่ในพื้นที่ของภาพดูมีชีวิตและมีความเคลื่อนไหว ในขณะที่พลังของภาพที่กำลังจะระเบิดออกนั้น ราวกับจะเรียกร้องพื้นที่มากขึ้นสำหรับภาพนี้ หากจะเปรียบเทียบรูปคนในภาพนูนสูงชิ้นนี้กับภาพที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ก็จะเห็นข้อเด่นของศิลปินของภาพการต่อสู้นี้ได้ทันที การปั้นใบหน้า ท่าทางของมือ แขน ลักษณะเสื้อผ้าที่สวมใส่ การยืน แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างการทับซ้อนกันของรูปคน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ศิลปินคนที่สองมีความมั่นใจมั่นคงกว่าศิลปินคนแรก มีลายละเอียดมากมายบนเครื่องแบบและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ปรากฏอยู่ในภาพซึ่งบ่งชี้ว่า ศิลปินมีความสนใจและตระหนักถึงเทคโนโลยีการทหาร

มีลำดับความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ที่เป็นเหตุเป็นผลในองค์ประกอบของภาพ ซึ่งเริ่มขึ้นจากซ้ายไปขวา รูปเริ่มต้นด้วยคนคุกเข่าและโน้มตัวไปข้างหน้า ตามด้วยชายสามคนยืนอยู่ คนที่สามชี้มือไปทางขวา กลุ่มคนทางด้านขวาของภาพมีท่าทางที่แสดงความเร่งร้อน ไปจนถึงจุดสำคัญที่สุดของภาพในรูปธงที่กำลังโบกสะบัดอย่างแรงกล้า รถถังกำลังคืบคลานไปข้างหน้าอย่างอึกทึก ทหารม้าก็กำลังรุกเข้ามาด้วยเช่นกัน การรุกที่ตื่นตัวอย่างเร่งรีบและรุนแรงไปสู่การยกรัฐธรรมนูญขึ้นเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ค่อนข้างน่ากลัวว่า พวกเขาอาจจะชนมันล้มคว่ำลง แต่นั่น ( ตามที่ประวัติศาสตร์บันทึก) ก็คือการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยไม่ใช่การโยนมันทิ้งไป…

ภาพ ” การทำงาน” รูปแบบของภาพนูนสูงที่กล่าวถึงไปแล้วแสดงให้เห็นว่าเป็นฝีมือของศิลปิน 2 คน ชุดภาพประติมากรรมนูนสูงทั้งสี่นี้ ปรากฏว่าน่าจะเป็นฝีมือของศิลปินต่างกัน 4 คนภายใต้การดูแลของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในผลงานเหล่านี้ดูราวกับว่า อาจารย์ศิลป์ให้โอกาสที่ท้าทายความสามารถแก่ศิลปินหนุ่มๆที่เป็นผู้ช่วยและผู้ร่วมงานของท่านได้ทดสอบพลังและฝีมือของตัวเองอย่างเต็มที่ สำหรับผู้ชมที่มีประสบการณ์จะสังเกตเห็นความแตกต่างของรูปแบบในงานชุดนี้ได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาจารย์ศิลป์มีความเชื่อมั่นต่อคุณค่าและเหตุผลในการสร้างสรรค์ของศิลปินแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป

ในภาพนูนสูง 4 ชิ้นนี้มีแบบแผนที่คล้ายคลึงกันในการจัดกลุ่มคนตามแนวเรื่องที่แสดงความหมายเป็นสัญลักษณ์ รูปคนทั้งหมดถูกแสดงในลักษณะที่มีมวลหนาหนักเป็นรูปทรงที่มีความกลม ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้วัสดุ (ซีเมนต์) และวิธีการ (หล่อแม่พิมพ์) แต่งาน 2 ชิ้นหลังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีแนวโน้มที่จะลบและฝืนออกจากรูปแบบดังกล่าว ด้วยลายละเอียดเล็กๆที่ดูมีชีวิต ในผลงาน 2 ชิ้นแรกที่กล่าวถึง เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของกลุ่มทหารในเครื่องแบบเป็นเบื้องต้น จึงจำเป็นต้องมีการซ้ำของรูปทรงและเนื้อหาที่ดูคล้ายคลึงกัน ส่วนในภาพที่เหลือเกี่ยวพันกับเนื้อหาและกิจกรรมที่หลากหลายมากกว่า จึงทำให้รูปแบบขององค์ประกอบภาพมีการใช้การซ้ำน้อยกว่า

องค์ประกอบของภาพ ภาพ ” การทำงาน” ถูกแบ่งออกอย่างประณีตด้วยรูปทหารประจำยามในกึ่งกลางภาพ องค์ประกอบในด้านซ้ายและขวามีจังหวะสอดประสานเคลื่อนไหวขึ้นลง ซึ่งจะเห็นได้จากด้านซ้าย หัวของแพะตัวหนึ่งขึ้นตัวหนึ่งลง มีชามใส่เมล็ดพืชวางอยู่ข้างล่างสำหรับเลี้ยงไก่ ในที่ตรงกันข้าม พวงองุ่น ( ?) ถูกชูขึ้นสำหรับเลี้ยงแพะ รูปแบบขึ้นลงนี้ถูกยกนำมาใช้ในด้านขวาของภาพในลักษณะที่ตรงข้าม จากการโน้มตัวมาเป็นการยืนในท่าทางของการยืดแขนออกไป และยกขึ้นหรือวางลง

ในภาพ ” การทำงาน” อุตสาหกรรม การค้า (มีเรืออยู่ในฉากหลัง) เกษตรกรรม และการใช้แรงงานในกิจกรรมของมนุษย์ถูกสื่อโดยรูปคนทำงานที่แข็งแรง อดทน เป็นที่น่าสังเกตว่า รูปคนในภาพนี้ยืนเท้าเปล่า หรือเปลือยท่อนบน ยกเว้นรูปทหารที่สวมรองเท้าบูท แต่งตัวและถืออาวุธ ศิลปินได้แสดงลักษณะเฉพาะบางประการ (อาจมาจากจิตใต้สำนึก) ของข้อเท็จจริงที่เป็นปรกติของสังคมไทย นั่นคือทหารมีแนวโน้มที่จะบรรลุการพัฒนาให้มีความทันสมัยและรับเอาเทคโนโลยีในอัตราที่เร็วกว่าประชาชนทั่วไปได้รับ รูปแบบและความรู้สึกทางประติมากรรม มีพื้นที่ว่างระหว่างรูปคนในงานชิ้นนี้มากกว่าชิ้นอื่นๆ และศิลปินให้ความสนใจต่อการสร้างความลึกในฉากหลังของภาพมากกว่าเพียงจัดรูปคนทับซ้อนกันเท่านั้น

ในแง่สัญลักษณ์ นี่คือภาพหลักที่แสดงลักษณะเฉพาะของอนุสาวรีย์แห่งนี้ที่ดูเคร่งเครียดอย่างน่าเกรงกลัว ” ตึงเครียดมาก” เป็นความคิดเห็นของเด็กไทยคนหนึ่งที่ไม่เคยเห็นรูปประติมากรรมนูนสูงเหล่านี้ในระยะใกล้ชิดมาก่อน การแสดงถึงความแข็งขันอดทนของกรรมกรปะทะใจผู้ชมให้รู้สึกว่า นี่ไม่ใช่ลักษณะของคนไทย ทหารอาจจะดูน่ากลัวน่าเกรงขาม แต่คนงานไม่ควรจะดูน่ากลัว ภาพเด็กชายเล็กๆคนหนึ่งยิ้มขณะที่กำลังเลี้ยงไก่ ส่วนพี่ชายของเขาก็ยังเล็กเกินกว่าที่จะดูเคร่งเครียด คุณลักษณะที่ดูไม่เป็นไทยประการอื่นในภาพนี้ก็คือ รูปแบบร่างกายของคนงานที่ดูเหมือนกับนักกีฬาในภาพชิ้นสุดท้ายที่จะบรรยายถึงข้างหน้า คนงานเหล่านี้ไม่มีเส้นเลือดปูดโปนไม่ได้มีรูปร่างเล็กเรียวบางอย่างลักษณะคนไทย บางทีนั่นอาจจะเป็นรูปร่างแบบตะวันตกหรือเป็นรสนิยมแบบ เมดิเตอร์เรเนี่ยน ซึ่งในรายละเอียดต่างๆเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความปรารถนาที่จะทำให้ท่าน นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามพอใจ ดังที่ท่านมักจะกระตุ้นชาวไทยอย่างแรงกล้าให้รับเอาแบบอย่างตะวันตกมาเป็นวิถีทางในการพัฒนาประเทศ

ภาพ “คุณค่า” ในภาพนูนสูงชิ้นนี้คล้ายกับภาพ “การทำงาน” ที่ประกอบไปด้วยฉาก 2 ฉากที่ถูกแบ่งโดยรูปที่อยู่ตรงกลาง ในกรณีของภาพนี้ รูปที่ปรากฏนั้นเป็นการสร้างรูปบุคคลขึ้นเพื่อสื่อถึงเทพแห่งความยุติธรรมหรือความเที่ยงธรรม รูปแทนนี้ถือตาชั่งในมือข้างหนึ่งและถือดาบในมืออีกข้างหนึ่ง ซึ่งอาจจะสื่อว่ามีกฎซึ่งรักษาให้สิ่งต่างๆมีดุลยภาพอันเหมาะสม หรืออาจสื่อว่าเรื่องราวทั้งปวงจะถูกตัดสินด้วยความเที่ยงธรรม นี่อาจเป็นการอ้างถึงปรัชญาหรือความเชื่อในพุทธศาสนาของไทยในเรื่องกฎแห่งกรรมที่มีอำนาจเหนือทุกสิ่งในธรรมชาติและสังคมมนุษย์ ซึ่งกฎนี้ทำให้สิ่งต่างๆเป็นไป การกระทำที่ดีก็จะส่งผลในทางที่ดี ส่วนการกระทำที่เลวยอมส่งผลที่เลวต่อผู้กระทำ การสื่อในเรื่องนี้ด้วยรูปคนเช่นนี้ก็คือการสื่อถึงลักษณะและระบบความคิดที่อยู่ภายในสังคมไทยนั่นเอง ในโลกที่มีระบบระเบียบนี้ ศิลปินได้แสดงออกถึงแง่มุมหลายประการของสังคมที่เข้มแข็ง อาทิ ร่างกายที่พัฒนาขึ้นด้วยกิจกรรมทางการกีฬาและจิตใจที่พัฒนาด้วยการศึกษา พระสงฆ์และผู้อุทิศตัวหรือพุทธศาสนิกชนก็แสดงถึงจิตวิญญาณอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะที่ชายในเครื่องแบบ 2 คน ยืนถกเถียงกันถึงเนื้อหาในหนังสือ ซึ่งคงจะแสดงถึงชีวิตที่ประกอบไปด้วยความรู้

องค์ประกอบของภาพ ภาพนูนสูงชิ้นนี้ สื่อถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างมากในสังคมและประสบการณ์ของมนุษย์ จึงเหมาะสมที่จะนำลักษณะแบบนามธรรมเข้ามาใช้ในการจัดวางองค์ประกอบภาพมากกว่าในงานชิ้นอื่นๆที่กล่าวมาแล้ว จังหวะและรูปแบบขององค์ประกอบแบบเรขาคณิตที่ชัดเจนถูกนำมาใช้จัดภาพบัลลังก์ของรูปที่อยู่กึ่งกลางภาพ และใช้กำหนดสัดส่วนของภาพห้องเรียนและโต๊ะในชั้นเรียน ตลอดจนอุปกรณ์กีฬา และสนามกีฬาที่อยู่ในมุมซ้ายไกลด้วย ส่วนกลุ่มใบไม้ในฉากหลังให้ความรู้สึกนุ่มนวลขึ้นและให้ความรู้สึกถึงชีวิตในส่วนที่เหลืออีกข้างหนึ่งขององค์ประกอบในภาพ

รูปแบบและความรู้สึกทางประติมากรรม ดูราวกับว่า ศิลปินมีความพอใจและตั้งใจที่จะเล่นกับรูปแบบเรขาคณิต รูปเหลี่ยม จัตุรัส สามเหลี่ยม วงกลม วงรี และการสะท้อนมุม เป็นต้น ดังนั้นความรู้สึกของภาพนูนสูงชิ้นนี้จึงดูเบากว่าและดูตกแต่งมากกว่าในชิ้นอื่นๆ

รูปนักกีฬาที่ปรากฏทั้งรูปร่างและความรู้สึก ดูห่างไกลจากลักษณะทั่วไปของคนไทยอย่างแน่นอนทำให้ผู้ชมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงอนุสาวรีย์ในช่วงเวลาเดียวกันในประเทศเยอรมนีและอิตาลี รูปเช่นนี้เอง อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นความรู้สึกพึงพอใจของคนจำนวนมากต่อคุณค่าทางการทหารหรือคุณค่าแบบชาตินิยม ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในประเทศต่างๆในระหว่างช่วงเวลาของสงคราม

น่าประหลาดอย่างยิ่งที่รูปคนเช่นนี้ปรากฏอยู่บนภาพนูนสูงชุดนี้ได้ มันเป็นส่วนประกอบที่ดูมีพลังและอำนาจในองค์ประกอบของภาพ และดูเป็นรูปที่มีความเหมือนจริงที่ชวนให้เชื่อได้ว่า เขากำลังจะทุ่มตุ้มน้ำหนักออกไปจริงๆ แน่นอนผลของการทุ่มตุ้มน้ำหนักออกไปจะนำมาซึ่งหายนะ ข้าพเจ้าอยากจะเสนอความเห็นว่า นี่เป็นตัวอย่างของความหลงใหลและความจดจ่อของศิลปินที่อยู่กับการคิดถึงรูปทรงและการออกแบบ จนถึงระดับที่เขาสูญเสียสัมผัสจากสามัญสำนึกในการมองเห็นของคนธรรมดา ในแง่ของสัญลักษณ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในองค์ประกอบของภาพนี้ เด็กชายที่อยู่ในชั้นเรียนเหล่านั้นสวมรองเท้า ในขณะที่ครูของพวกเขายืนเท้าเปล่า ชายสองคนที่ดูครุ่นคิดอะไรบางอย่างอยู่ก็สวมรองเท้าเช่นกัน รองเท้าอาจเป็นสิ่งที่แสดงลักษณะเฉพาะทางความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งของศิลปินในเรื่องของการพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบตะวันตก หรืออาจจะสื่อถึงอำนาจ ความหยาบ หรือความดื้อรั้น หัวแข็ง และเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่เพศหญิงถูกเสนอในรูปที่ไม่สวมรองเท้า ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดูโรแมนติกมาก…

… อนุสาวรีย์ในฐานะที่เป็นงานศิลปะ เป็นการแสดงออกถึงสิ่งแวดล้อมทางประติมากรรม ฐานของอนุสาวรีย์ที่ค่อยๆยกสูงขึ้นเป็นขั้น และเป็นทั้งลานโล่งนั้นชักชวน และสื่อถึงประชาธิปไตยที่ได้รับมาโดยกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นอย่างสะดวก รูปทรงที่เป็นฐานของปีกช่วยนำสายตาของผู้ชมจากเบื้องล่างขึ้นไปสู่รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ปีกเหล่านี้ก็ให้ภาพที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นของสูงส่งจากเบื้องบน รูปทรงที่แยกขาดออกจากกันขนาดใหญ่ 5 ก้อนนี้ ได้แก่ 4 ปีก กับโครงสร้างที่เป็นฐานรองรับรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นความคิดที่รุนแรงของนักอุดมการณ์หรือทหารซึ่งเปิดเผยออกมาตรงๆ

ในทางตรงข้าม ภาพประติมากรรมนูนสูงดูมีชีวิตมีความเป็นมนุษย์และติดดินมากกว่า และดูโรแมนติกกว่าโดยภาพรวม ภาพนูนสูงเหล่านี้ค่อนข้างสัมพันธ์กับพื้นเพระดับล่างที่ ประชาชนทั่วไปทำกิจกรรมของตัว ที่ผู้ชายทำงานอาบเหงื่อและต่อสู้ดิ้นรน ผู้หญิงเลี้ยงดูเด็กๆ ดังนั้น อนุสาวรีย์นี้จึงมี 2 พื้นที่ 2 อาณาเขตของความรู้สึก ในด้านหนึ่ง ชี้ไปสู่การสร้างภาพที่เป็นอุดมคติให้ตะลึงงัน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเรื่องเล็กๆของชีวิตประจำวัน ในอีกด้านหนึ่ง เสนอภาพที่ตรงและเฉพาะที่หยิบยื่นให้เห็นถึงกรรมกร ทหาร ชาวนา แม่บ้าน ซึ่งนั้นก็คือ “พวกเรา” ประชาชน

โดยมาตรฐานทางสุนทรีย์ของผู้อนุมัติให้สร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประสบผลสำเร็จ ดังที่ผู้ประกาศของคณะกรรมการสร้างอนุสาวรีย์ระบุว่า อนุสาวรีย์ที่ระลึกไม่ว่าที่ใดก็ตาม จักมีคุณค่าทางจิตใจที่ยืนนานได้ก็ต่อเมื่อศุภนิมิตรอันก่อให้เกิดความหมายแห่งอนุสาวรีย์นั้นๆ ได้มีปรากฏโดยถนัดชัดแจ้ง อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นการแสดงออกทางศิลปกรรมที่สำคัญชิ้นแรกต่อภาพของประชาธิปไตยในสายตาของคนไทย มันมีแง่มุมที่น่าเคารพบางประการ ที่ยังเป็นปัจจุบัน และมีภาพที่ดูไม่แน่ชัดบางประการ

ในขณะเดียวกันมันก็เป็นภาพการตีความธรรมชาติและลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมสังคมไทยได้อย่างถูกต้องทีเดียว นั่นก็คือความสุภาพนุ่มนวลและไม่รีบร้อนที่ถูกชี้นำจากภาพพจน์บางประการที่มีอยู่มากมายอย่างไม่รู้จบในสังคม ซึ่งไม่อาจอธิบายให้ชัดหรือไม่อาจจับต้องได้ และมันได้ถูกปรับเปลี่ยนไปสู่อำนาจ และความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติ และแน่นอนไปสู่เป้าหมายที่พวกเขาต้องการ

เป็นสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตอย่างยิ่งที่ชื่อของหลวงพิบูลสงครามกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเข้ามาเกี่ยวข้องกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การที่คนทั้งสองประสบความสำเร็จในการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น ได้แสดงให้เห็นว่า ชาย 2 คน คนหนึ่งทหาร อีกคนหนึ่งศิลปิน ทั้ง 2 คนนี้มีบางสิ่งบางอย่างที่เข้ากันได้มากเกินกว่าที่จะคาดเดาได้

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล

ตัดตอนจาก : Janice Wongsurawat. A Critical Analysis of the Form and Symbolic Content of the Democracy Monument as a Work of Art, With Emphasis on the Reliefs on the Base of Four Wings. The Research Center of Silpakorn University , 1987, pp. 25-35.

You may also like...