ของปลอม ? เป็นชื่อนิทรรศการที่เกี่ยวกับการหลอกลวง หรือเกี่ยวข้องกับวัตถุที่เป็นหลักฐานจำนวนมากมายมหาศาลที่คนทำขึ้นมาตบตาเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองมากกว่า 3 พันปีแล้ว นิทรรศการนี้คือการบันทึกความบกพร่องของมนุษย์ และกลอุบายของผู้ที่ทำของปลอม รวมทั้งการหลงเชื่อง่ายๆของผู้ที่ถูกหลอก
นี่เป็นประเด็นที่ชวนติดตามตั้งแต่แรกเห็นในนิทรรศการที่จัดขึ้นที่บริติซมิวเซียม อาจมีการแสดงความเห็นกันว่า ของปลอมที่นักวิชาการ พ่อค้างานศิลปะ และนักสะสมต่างรังเกียจและดูแคลน หรืออาจเดินผ่านไปเงียบๆด้วยความรู้สึกอับอายขายหน้านั้น ถูกละเลยและไม่มีใครเอาใจใส่อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่มันเป็นหลักฐานอย่างดีเยี่ยมของคุณค่าและความเข้าใจทั้งของผู้ที่สร้างมันขึ้นมาและของผู้ที่มันถูกสร้างมาให้
ของปลอมสามารถสอนเราได้ในหลายสิ่งหลายอย่าง และบางทีสิ่งที่เด่นชัดที่สุดก็คือความผิดพลาดของผู้เชี่ยวชาญที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่มีของแม้แต่ชิ้นเดียวที่ถูกนำมารวมในนิทรรศการครั้งนี้ เพียงเพราะว่ามันสามารถตบตาคนทั่วไปได้ แต่ของส่วนมากถูกประเมินราคาไว้สูงเป็นสามเท่า ณ จุดเริ่มแรกที่มีการซื้อขายโดยนักสะสมผู้มีประสบการณ์ หรือ ณ การประกาศขายโดยนักวิชาการชั้นแนวหน้า หรือ ณ การซื้อไว้โดยพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง สิ่งที่กำลังถูกยืนยันอยู่นี้ไม่ใช่เพื่อบอกว่า การขาดข้อมูลที่ดีในบางครั้งอาจทำให้เกิดความผิดพลาด แม้ว่ามันเป็นความจริงก็ตาม แต่นี่ยืนยันว่า แม้แต่บุคคลผู้ทรงความรู้และมีฝีมือในการพิจารณาอย่างยิ่ง หรือแม้แต่สถาบันที่มีความเข้มงวดกวดขันในองค์กรอย่างยิ่งก็สามารถหรือมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ และมันไม่ใช่หรือมันไม่ง่ายแค่สาเหตุเพียงเพราะว่า ความรู้และประสบการณ์ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่เคยสมบูรณ์ แต่เป็นเพราะว่า ความเข้าใจที่เรารับรู้นั้นถูกกำหนดจากระบบของความคาดหวังซึ่งหนุนมันอยู่
ถ้าจู่ๆเราเสนอ Piltdown Man ต่อนักโบราณคดีที่ศึกษายุคหินคนหนึ่ง Palaeontologist อย่างไม่มีปีมีขลุ่ย มันก็จะถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง แต่ถ้ามันถูกเสนอต่อนักโบราณคดีผู้ศึกษายุคหินที่ทำนายถึง “ตัวเชื่อมต่อที่หายไป” และได้รอคอยหลักฐานเช่นนี้แล้วหละก็ มันก็จะดูเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถืออย่างยิ่งขึ้นมา และถ้านำเอาเหรียญสมัยเอเธนส์ที่หาได้ยากมากมาให้ผู้เชี่ยวชาญเหรียญตราและเงินเหรียญสมัยคลาสสิกคนหนึ่ง เขาก็จะตรวจสอบมันอย่างถี่ถ้วนด้วยความสงสัย แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญเหรียญตราและเงินเหรียญสมัยคลาสสิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่เคยมี เซอร์ จอร์จ ฮิล ผู้อำนวยการบริติซมิวเซียม การพบเหรียญแบบนั้นด้วยตัวเขาเองถูกนำมาทำเป็นเครื่องประดับสวมอยู่ที่คอของสุภาพสตรีสูงศักดิ์ผู้หนึ่ง ทำให้เขาถึงกับยอมรับในความแท้ของมัน ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ซึ่งมีปรากฏอยู่ทั่วไปนี้ มีความหมายกว้างออกไปกว่าที่จะบอกถึงการจำแนกเหรียญผิด หรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสายวิวัฒนาการของมนุษย์ แต่มันสามารถส่งผลกระทบต่อมโนทัศน์ของเราเกี่ยวกับความจริงได้ ในส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ของปลอม ? จัดขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ความเปลี่ยนแปลงของกรอบหรือขอบเขตของความเชื่อ กรอบหรือขอบเขตที่มักจะถูกกำหนดหรือบางครั้งถูกตัดสินด้วยของซึ่งปลอม
ผู้ที่กุของปลอมต่างๆขึ้นมา อาทิ แกะซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งแห่งนาร์ทารี … … ที่มีสายสะดือติดอยู่กับแผ่นดิน หรือตัวซีบิชอป Sea Bishop1 ที่ถูกนำมาถวายกษัตริย์แห่งโปแลนด์ในปี 1531 หรือมนุษย์เงือกจำนวนมากที่ถูกนำจากญี่ปุ่นมาสู่ยุโรป สิ่งของเหล่านี้ได้เปลี่ยนความคิด (แม้จะชั่วขณะก็ตาม) เกี่ยวกับโลกและจักรวาลของผู้ที่ได้พบเห็นมัน และนี่ไม่ได้เป็นคำถามถึงความงมงายของมัธยสมัย Medievel เท่านั้น เอล์ซีและฟรานส์ ไรท์ Elsie and Frances Wright ก็สามารถทำให้ โคแนน ดอยล์ Conan Doyle นักประพันธ์ผู้ให้กำเนิดกระบวนทัศน์แห่งความช่างสงสัยอันชาญฉลาดของเชอร์ล๊อค โฮมส์ รวมทั้งคนอื่นๆอีกเป็นล้านคน เชื่อว่ามีเทวดาอยู่ท้ายสวนจริงๆด้วยการกุภาพถ่ายขึ้นมา …
… การตระหนักถึงประวัติศาสตร์ที่เผยให้เห็นโดยของปลอมนั้น บางครั้งก็เป็นสิ่งที่น่าสังเกตอย่างยิ่ง ดังที่จอห์น เทยเลอร์ John Taylor บันทึกไว้ว่า ชาวอียิปต์โบราณผู้ปลอมหิน ชาบาคา Shabaka Stone ที่ระบุว่ามันได้กำหนดจุดกำเนิดของโลก ณ บ้านเกิดของตัวเองในเมืองเมมฟิส Memphis นั้น ไม่เพียงอ้างว่าเขาได้ทำเทียมลอกแบบเอกสารโบราณที่ดูเหมือนถูกหนอนกินเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วเขายังได้จำลองถอดแบบแผนผังของเอกสารดังกล่าวเหล่านั้น และยังแนะนำการสะกดคำและโครงสร้างไวยากรณ์ภาษาโบราณ Achaic จนทำให้มันมีความน่าเชื่อถืออีกด้วย คงไม่มีสิ่งแสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนที่มีปรากฏอยู่ในความสับสนเรื่องยุคสมัย ในหมู่นักวิชาการชั้นสูงผู้ศึกษาเรื่องอียิปต์โบราณได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว …
… อย่างไรก็ตาม ของปลอมที่เป็นแหล่งข้อมูลหลักฐานแสดงวิธีคิดของผู้ทำของปลอมและผู้เปิดโปงมันยังเป็นเพียงเรื่องรองเท่านั้น เหนืออื่นใดมันเป็นปฏิกิริยาสนองต่ออุปสงค์ และเป็นคำอธิบายถึงความต้องการของมนุษย์ที่แปรเปลี่ยนไป ของปลอมคือสิ่งที่ถูกปิดบังซ่อนเร้นมากที่สุดในแต่ละสังคมและในคนแต่ละรุ่น ดังที่เราได้เห็นกันว่า สำหรับพระนักบวชชาวเมมฟิสโบราณ ของปลอมชิ้นนั้นก็คือการส่งเสริมยกย่องวัฒนธรรมและเมืองของพวกเขา … … สำหรับพระนักบวชในมัธยสมัยก็สิ่งสักการะสำหรับระลึกถึงนักบุญหรือผู้พลีชีพเพื่อศาสนา ซึ่งจะแสดงปาฏิหารย์นั่นเอง ที่ดึงดูดใจคนให้ศรัทธาและทำให้มั่นใจได้ว่า โบสถ์ของเขาจะมีเงินบริจาคเข้ามา สำหรับคนในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการก็มีสิ่งสักการะอีกชนิดหนึ่งจากโลกโบราณที่นับถือกันว่าเป็นความงามและแสงสว่างแห่งปัญญา ส่วนคนในรุ่นต่อมาก็มีความต้องการผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพิ่มมากขึ้น และในปลายศตวรรษที่ 19 ก็มีความต้องการสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีชื่อเสียงตลอดจนของเกือบทุกอย่างที่บอกถึงหรืออ้างได้ว่ามาจากศตวรรษอันรุ่งโรจน์ในอดีตที่ผ่านมา
มันอาจเป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญ เมื่อการขยายตัวของของปลอมอย่างมากมาย ณ วันนี้ไม่ใช่การสร้างสิ่งสักการะบูชาทางศาสนา หรือสิ่งที่เกี่ยวกับตำนานของชาติ หรือผลงานศิลปะ และไม่ใช่แม้แต่สิ่งของบางอย่างในยุคสมัยใหม่ซึ่งเป็นผลผลิตที่อาศัยข้อมูลพื้นๆทางวิทยาศาสตร์ ( แม้ว่ามันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก็ตาม) แต่เป็นของลอกเลียนแบบสินค้ามีชื่อจำนวนมากมายต่างหาก อย่างไรก็ตามก็ยังมีตลาดสำหรับน้ำหอมจากชาแนลหรือดิออร์ นาฬิกาจากโรเล็กซ์หรือคาเทียร์ เสื้อจาก จอร์จิโอ อาร์มานี กระเป๋าถือจากหลุยส์วีทตอง และรองเท้าจากอาดีดาส ที่เป็นของปลอมอยู่ต่อไปอีก ผู้ซื้อสินค้าปลอมเหล่านี้ส่วนใหญ่ทราบดีว่า ในราคาที่พวกเขาจ่ายไปนั้น ไม่สามารถซื้อหาของจริงมาได้ พวกเขากำลังซื้อภาพลักษณ์ “ภาพลักษณ์ของสถานะ” แห่งความสำเร็จ และชื่อเสียงอันโด่งดังที่ติดมากับผลผลิตของการลอกเลียนแบบ
หากของปลอมได้ให้ภาพของความเปลี่ยนแปลงที่ระบุเจาะลงไปในความปรารถนาของมนุษย์ มันก็สามารถให้ภาพวิวัฒนาการของรสนิยมได้ถูกต้องชัดเจนอย่างยิ่งด้วยเช่นกัน ที่ไหนมีของปลอม มันก็ชัดเจนว่าที่นั่นมีความเฟื่องฟูของตลาดที่มีของถูกลอกเลียนแบบ เหนืออื่นใดของปลอมทำให้เกิดตลาด มันไม่ใช่เพราะฝีมือของศิลปินหรือนักคิดผู้ยิ่งใหญ่คนใดเลย แต่ด้วยการฉวยโอกาสลอกเลียนแบบอย่างรวดเร็วจากสินค้าตามแฟชั่นใหม่ๆที่มีราคาแพงก่อนที่มืออาชีพจะพัฒนาสินค้าเหล่านั้นไปจนทำให้งานลอกแบบยากขึ้น หรือแย่กว่านั้นก็คือ ก่อนที่จะมีสินค้าลอกเลียนแบบออกมารบกวนจนค่อยๆทำลายตลาดทั้งหมดลง ( ดังที่เคยเป็นในกรณีของตลาดอัญมณีในช่วงกลางศตวรรษที่ 19) แต่ถ้าสิ่งที่ตลาดสนใจเป็นของเก่าโบราณ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพื่อตอบสนองแก่ความต้องการในตลาด ของปลอมก็จะถูกทำขึ้นมาตรงต้องตามความประสงค์มากกว่างานชิ้นเยี่ยมที่มีการซื้อขายกันอยู่ในตลาด ถ้ามีกระจกบานแรกมากระตุ้นความปรารถนาของนักสะสม กระจกบานต่อไปก็อาจจะตกมาถึงมือของเขาในสภาพที่สมบูรณ์ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ของชิ้นเยี่ยมทุกชิ้นในมือเจ้าของจะสมบูรณ์ไปเสียหมด ของบางชิ้นอาจถูกซ่อมอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพที่ยอมรับได้ ซึ่งมันเป็นกระบวนการเดียวกันกับการทำหลักฐานของ ประวัติศาสตร์แห่งรสนิยม หรือของปลอมนั้นเอง แท้ที่จริงแล้วประวัติศาสตร์ของการซ่อมอนุรักษ์ของเก่าโบราณก็เชื่อมโยงกันไม่ไกลจากประวัติศาสตร์ของของปลอมนัก ดังที่แสดงในส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ของปลอม ? ซึ่งอุทิศให้แก่การสะสมของเก่าโบราณในปลายศตวรรษที่ 18 ในช่วงเวลาดังกล่าวการอนุรักษ์ซ่อมแซมผลงานประติมากรรมยังไม่เป็นประเด็นที่มีการยกขึ้นมาถกเถียงกัน ไม่มีงานประติมากรรมคลาสสิกชิ้นใดเลยที่ถูกพิจารณาเห็นว่ามีค่าควรแก่การตั้งแสดงให้ชม หากมันไม่สมบูรณ์ ไม่ว่ามันจะงามสักเพียงใดก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่าผลงานคลาสสิกโบราณที่พบโดยมากมักจะแตกหัก นักอนุรักษ์ซ่อมแซมของเก่าจึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก และฝีมือของพวกเขาจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำสิ่งลวงตาให้เห็นว่าของชิ้นนั้นสมบูรณ์ ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเก่าด้วยการเพิ่มของใหม่เข้าไปให้เกิดความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันหมด การทำของปลอมในกรณีนี้ก็เป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นเมื่อมีการทำสิ่งที่ไกลเกินไปกว่าการอนุรักษ์ ที่ได้ผลดีจนสามารถหลอกผู้ซื้อได้ ในกรณีของรูปวีนัสที่รู้จักกันดี ปัจจุบันอยู่ที่ นิวบี ฮอลล์ Newby Hall ในยอรค์เชียร์ Yorkshire พ่อค้างานศิลปะ เจนคินส์ Jenkins ได้ทำให้เกิดงานประติมากรรมคลาสสิกที่แพงที่สุดชิ้นหนึ่งเท่าที่เคยมีการซื้อกัน ด้วยการนำส่วนหัวของรูปหนึ่งไปต่อบนรูปที่ไม่มีหัวอีกรูปหนึ่ง และขายในลักษณะที่งานชิ้นนั้นเป็นรูปที่สมบูรณ์ นี่เป็นตัวอย่างของกระบวนทัศน์แบบหนึ่งในการทำของปลอม …
หากนิทรรศการ ของปลอม ? เป็นการตั้งคำถามที่ว่าด้วยความแท้และประเด็นปัญหาถูกตั้งขึ้นมาโดยการใช้มโนทัศน์ที่แตกต่างกันในเรื่องของความแท้ โดยกลุ่มคนที่แตกต่างกันจนถึงวัตถุต่างชนิดกันแล้ว มันก็ยังท้าทายปฏิกิริยาจากการเชื่อถือความแท้ของเราที่มีต่อของปลอมเหล่านั้นอีกด้วย ถ้าสิ่งที่เราประเมินค่าจากผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งคือความอภิรมย์ทางสุนทรีย์ที่เราได้รับจากมัน ทำไมของปลอมที่ทำตบตาได้สำเร็จชิ้นหนึ่งจึงมีค่าด้อยกว่าของจริง ? การตระหนักต่อคำถามนี้ทำให้คนบางคนพยายามที่จะปฏิเสธความสำคัญของความเป็นต้นแบบที่มีต่อของปลอม ริชาร์ด ไพน์ ไนท์ Richard Payne Knight นักสะสมและนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง เมื่อเขาพยายามที่จะพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับ ฟลอรา คาเมโอ Flora Cameo ที่เขาได้ซื้อมาในฐานะที่มันเป็นของเก่าโบราณ แต่ของชิ้นนี้นักเจียระไนอัญมณีร่วมสมัย เบเนดิทโท พิสทรูชชี Beneditto Pistrucci อ้างว่าเขาทำมันขึ้นมากับมือเขาเอง ไพน์ ไนท์ บอกกับพ่อค้างานศิลปะผู้ขายของชิ้นนี้ให้เขาว่า มันไม่สำคัญ ไม่ว่าของชิ้นนี้จะเก่าหรือใหม่ ในเมื่อความงามของมันไม่ได้เสื่อมถอยลงด้วยอายุเลย ในกรณีคล้ายคลึงกัน ผู้ซื้องานประติมากรรมรูปเหมือนขนาดอกที่คาดว่าน่าจะเป็นงานศิลปะในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของ ลูเครเซีย โดนาที Lucrezia Donati เมื่อค้นพบว่า ผลงานเหล่านั้นเป็นของปลอม พวกเขาก็ยังแสดงความพึงพอใจออกมาว่า ยังคงมีศิลปินที่มีพรสวรรค์และฝีมือเช่นนั้นมีชีวิตอยู่อีก แต่มันอาจจะไม่ฉลาดนักที่จะเชื่อถือพิพิธภัณฑ์ พ่อค้างานศิลปะ หรือนักสะสมงานศิลปะที่มีทัศนคติเช่นนั้น ณ วันนี้สิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่สงสัยกันว่า ความชื่นชมทางสุนทรีย์ไม่ใช่แรงขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียวของตลาดงานศิลปะเป็นสิ่งที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ เมื่องานศิลปะชิ้นหนึ่งถูกเปิดเผยว่าเป็นของปลอม เมื่องานของ “โมเนต์” Monet ชิ้นหนึ่งกลับกลายเป็นไม่ใช่ “โมเนต์” แม้รูปลักษณ์ที่มันปรากฏอาจไม่มีใดเปลี่ยนไป แต่มันได้สูญเสียคุณค่าของมันในฐานะเป็นสิ่งสักการะไปแล้ว มันไม่อาจให้สายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไปถึงมือของจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งได้อีกต่อไป และมันก็ไม่อาจปลอบประโลมจิตใจให้แก่ผู้ชื่นชมมัน หรือยกสถานะให้แก่ผู้เป็นเจ้าของมันได้อีกต่อไป และแม้ว่างานที่เป็นปัญหาอยู่นี้ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆทางกายภาพก็ตาม แต่ลึกๆปฏิกิริยาตอบสนองทางสุนทรีย์ของเราต่อมันก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อับราฮาม เบรดิอุส Abraham Bredius นักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเขียนถึงผลงานของ ฟาน เมเกร์เรน Van Meegeren ที่ปลอมว่าเป็นผลงานของ “เวร์เมียร์” Vermeer ที่ชื่อภาพพระคริสต์ที่เอ็มมาอุส Christ at Emmaus ว่า
มันช่างเป็นช่วงเวลาอันแสนอัศจรรย์ในชีวิตของผู้รักงานศิลปะคนหนึ่ง เมื่อเขาพบว่า ทันใดนั้นเองตัวเขากำลังยืนอยู่ต่อหน้างานจิตรกรรมจากฝีมือของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผลงานที่ยังไม่เคยมีใครพบหรือรู้จักมาก่อน และอยู่บนผืนผ้าใบกรอบเดิมซึ่งยังไม่ถูกแตะต้อง และปราศจากการซ่อมแซมใดๆ ราวกับว่ามันเพิ่งจะออกมาจากห้องทำงานของศิลปิน! แล้วนี้รูปอะไรกัน! ไม่มีทั้งลายเซ็นอันงดงาม … และจุด pointill? บนขนมปังที่พระคริสต์ให้พร มันช่างสมเหตุผลพอจะจูงใจเราว่า สิ่งที่อยู่กับเราขณะนี้ก็คือ ( ฉันโน้มเอียงไปในทางที่อยากจะกล่าวว่า) ผลงานชิ้นเยี่ยมของโยฮานเนส เวร์เมียร์ แห่งเดลฟ์ท Jahannes Vermeer of Delft ( วารสารเบอร์ลิงตัน , พฤศจิกายน 1937)
หลังจาก ฟาน มาเกร์เรน ถูกเปิดโปง มันกลับกลายเป็นว่า ผลงานปลอมของเขาเป็นงานจิตรกรรมที่น่าเกลียดอัปลักษณ์และไม่น่าชื่นชมเลย และมันไม่มีความคล้ายคลึงกับงานของ เวร์เมียร์ด้วยประการทั้งปวง ส่วนความสำเร็จในการหลอกลวงของเขาเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ เอ็ม เคร์บี เทล์เลย์ จูเนียร์ M.Kirby Telley Jr เขียนสรุปถึงงานของฟาน มาเกร์เรน ด้วยการตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “หากฟาน มาเกร์เรนเป็นศิลปินที่ดีกว่านี้แล้ว … เขาก็อาจจะประสบความสำเร็จในการสร้างผลงานของ ‘ เวร์เมียร์ ‘ ซึ่งอาจจะหลอกลวงตบตาผู้คนได้มากกว่าและนานยิ่งกว่างานชิ้นที่เขาได้ทำไป” จากคำที่เขาบอกเรานี้ก็น่าจะเห็นได้ว่า การที่ฟาน มาเกร์เรนถูกเปิดโปง ไม่ใช่เพราะเขาหยุดหลอกลวงผู้คนแต่เป็นเพราะว่าเขาได้หลอกลวงคนที่รักศิลปะมากเกินไป …
ความสำเร็จของฟาน เมเกร์เรน ดูเหมือนเป็นสิ่งไม่น่าเชื่อ แต่สิ่งที่แปลกอย่างยิ่งในเรื่องนี้ก็คือจากตัวอย่างที่ถูกเปิดเผยในกรณีของเขานี้ โดยข้อเท็จจริงแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาก ปฏิกิริยาของเบรดิอุสและเพื่อนร่วมอาชีพมือชั้นเยี่ยมของเขาอีกจำนวนมากไม่ใช่ความโง่เขลาที่ผิดปรกติ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ของปลอมมักจะได้การต้อนรับด้วยความยินดีจากผู้รู้ทั้งหลาย Cognoscenti และสาธารณชนทั่วไปก็เช่นเดียวกัน มันเป็นความจริงที่รู้กันทั่วไปว่า เราจะรู้จักนักทำของปลอมก็ต่อเมื่อเขาเปิดเผยตัวเองเท่านั้น สาธารณชนจำนวนมากที่เข้ามาสนใจและอยากที่จะตรวจสอบผลงานที่พวกเขาข้องใจ จะมีก็แค่เพียงเพื่อที่จะบอกว่า สิ่งที่ชื่นชมกัน ดังเช่นผลงานของคนอื่นๆนั้น ขณะนี้ถูกมองว่าน่าเบื่อ ซ้ำซาก หรือแม้แต่ขาดความละเอียดอ่อน …
ในท้ายที่สุด นี่คือการประณามของปลอม ไม่ใช่เพราะมันหลอกลวงเอาเงินจากผู้ซื้อ ( แม้ว่ามันสมควรแก่การประณาม) แต่เป็นเพราะว่ามันทำให้เราหลงออกไปจากการยึดเหนี่ยวกับความจริง มันบิดเบือนและทำให้ความเข้าใจของเราต่ออดีตผิดไป ความรู้สึกโกรธและอับอายที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้ที่ถูกของปลอมเหล่านี้หลอกเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่แนวโน้มของผลที่ตามมาในการที่จะกำจัดหรือทำลายของปลอมเหล่านั้นทิ้งเสียเมื่อมันถูกค้นพบหรือเปิดโปง เป็นสิ่งที่ถูกชักนำไปในทางที่ผิด ความผิดพลาดในอดีตได้ให้บทเรียนสำหรับอนาคต มันไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งที่มีค่าแก่การเก็บ จดจำ และศึกษา ของปลอมยังให้ได้มากกว่านั้น มันยังเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงในทัศนะต่ออดีตของเรา และเป็นแรงผลักดันสำหรับพัฒนาการของการศึกษาวิเคราะห์ในทางวิชาการและด้านเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งขจัดความเชื่อในเรื่องความหยุดนิ่งแน่นอนทางสุนทรีย์ มันจึงสมควรได้รับความสนใจอย่างใกล้ชิดจากเรามากขึ้น ในขณะที่มันเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจที่น่าพึงพอใจที่สุด ที่เตือนให้เราระลึกถึงฝีมืออันยากแก่การคาดเดาของคนโกงผู้มีพรสวรรค์ในแต่ละยุคสมัย ของปลอมเหล่านี้ยังอ้างถึงความนิยมชมชอบของเราอย่างกระมิดกระเมี้ยนด้วย
จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล
ตัดตอนแปลจาก Mark Jones, “Why Fakes?”. Interpretating of Objects and Collections, Routledge, London , 1999, pp. 92-97. ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Fake? The Art of Deception, London : British Museum Publication Ltd., 1990, pp. 11-16.