พิพิธภัณฑ์ศิลปะและพิธีกรรมภาคประชาชน

พิพิธภัณฑ์ศิลปะและพิธีกรรมภาคประชาชน โดย คารอล ดันแคน
การปฏิวัติฝรั่งเศสได้ก่อให้เกิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกคือ เมื่อครั้งที่ก่อตั้งพระราชวังลูฟร์ขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินั่นเอง การดัดแปลงพระราชวังเก่ามาเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสถือเป็นวาระทางการเมืองครั้งหนึ่งในยุคนั้น

จากนั้นเรื่อยมาพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั้งหลายจึงเป็นเครื่องแสดงถึงผลงานทางการเมืองซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนั้นได้มอบสิ่งที่ดีงามเหมาะสมให้แก่ประชาชน นอกเหนือจากประเทศฝรั่งเศสก็มีความคิดเช่นเดียวกันว่า พิพิธภัณฑ์สามารถบ่งบอกซึ่งความดีของรัฐบาลได้ หรืออาจแสดงถึงการมีจิตใจอันสูงชนชั้นนำได้อีก จนมาถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ชาติตะวันตกเกือบทุกประเทศจะยกย่องเชิดชูพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหรือหอศิลป์เป็นสำคัญ แม้แต่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ในระยะหนึ่งก็ได้มีการสร้างหอศิลป์แห่งชาติขึ้น ซึ่งก็คือ อาคารเร็นวิค สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1859 เป็นอาคารที่ได้รับแบบอย่างจากสถาปัตยกรรมของพระราชวังลูฟร์มามาก ชาวตะวันตกตระหนักดีว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะเป็นของคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญและจำเป็นของประเทศเลยทีเดียว ต่อมาความคิดที่ว่านี้ก็ได้แผ่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆทั่วโลก และเมื่อไม่นานมานี้กษัตริย์ของกลุ่มประเทศที่ล้าหลังและผู้นำทางทหารของประเทศโลกที่สามก็ยังนิยมชมชื่นสิ่งนี้ไปตามกันอีกด้วย ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ศิลปะแบบตะวันตกจึงได้กลายเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ใครคือพันธมิตรทางการเมืองที่พร้อมจะยอมรับนับถือต่อคุณค่าและสัญลักษณ์แบบตะวันตก และ แม้วิธีการกลบเกลื่อนการเผยแพร่ลัทธิเสรีนิยมตะวันตกมาสู่ประเทศโลกที่สามอาจจะมีความเสี่ยงทางการเมืองและค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆ บ้าง พิพิธภัณฑ์ศิลปะในประเทศโลกที่สามก็ยังสามารถยืนยันต่อชาติตะวันตกได้ว่าใครคือกองหนุนทางการเมืองและการทหารบ้าง

ในปีค.ศ. 1975 อิเมลดา มาร์คอส จึงได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ขึ้นแห่งหนึ่งภายในช่วงเวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ ความรวดเร็วในการจัดการนี้ ได้รับการเอื้อเฟื้อจากการจัดประชุมของกองทุนอุดหนุนการเงินระหว่างประเทศที่จัดขึ้นในกรุงมะนิลา พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของกรุงมะนิลาที่เจาะจงจัดแสดงผลงานศิลปะของอเมริกันและยุโรปแห่งนี้เห็นได้ชัดว่ามุ่งสร้างความประทับใจต่อผู้มาเยี่ยมชม ซึ่งในที่นี้มีนายธนาคารผู้มีอิทธิพลของโลกรวมอยู่ด้วยหลายคน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้จะดำเนินการสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมได้โดยวิธีเดียวกันกับที่ฟิลิปปินส์และอเมริกาเชื่อมสัมพันธ์ทางการทหารและเศรษฐกิจต่อกัน กล่าวคือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นมาได้ด้วยเงินกู้จากพิพิธภัณฑ์บรูคลิน และพิพิธภัณฑ์ศิลปะประจำนครลอสแองเจลิส รวมทั้งคอลเลคชั่นส่วนตัวของอาร์มานด์ แฮมเมอร์ ( Armand Hammer) และนาธาน คัมมิงส์ ( Nathan Cummings) ด้วย เพราะฉะนั้นการได้รับเงินอุดหนุนจากกรุงวอชิงตันให้เป็นงบประมาณทางการทหารแก่ฟิลิปปินส์นั้น ก็พอจะถือเอาได้ว่าโดยส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งที่อเมริกาได้มอบให้ แม้ว่าอาคารดังกล่าวจะไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ใดๆ ทางการทหารเลยก็ตาม

ทางกษัตริย์ชาห์แห่งอิหร่านก็ต้องการมีพิพิธภัณฑ์แบบตะวันตกไว้เพื่อใช้เป็นฉากหน้าของความทันสมัยที่สร้างขึ้นอวดชาวตะวันตกด้วยเช่นกัน พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในกรุงเตหะรานนี้เปิดขึ้นในปี ค.ศ. 1977 ก่อนที่ระบอบกษัตริย์จะล่มสลายเพียงเล็กน้อย ด้วยเงินงบประมาณกว่า 7 ล้านดอลลาร์ในการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ผสมผสานรูปแบบอันหลากหลายของตะวันตกเข้าไว้ด้วยกันแห่งนี้ เต็มไปด้วยผลงานศิลปะอเมริกันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรวมมูลค่าได้ถึง 30 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ก็ยังเป็นชาวอเมริกันอีกเสียด้วย โรเบิร์ต ฮ็อบส์ ( Robert Hobbs) อดีตหัวหน้าภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์กล่าวว่าทางราชสำนักอิหร่านมองพิพิธภัณฑ์แห่งนี้และงานศิลปะข้างในเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองอย่างหนึ่ง

ขณะเดียวกันในตะวันตก กระแสความนิยมพิพิธภัณฑ์ ( museum fever) ก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ในเกือบทุกสัปดาห์หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ จะลงข่าวเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ หรือไม่ก็เกี่ยวกับการขยายพื้นที่พิพิธภัณฑ์ หรือการบูรณะพิพิธภัณฑ์แห่งเก่า ไม่ว่าจะในลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก และลอสแองเจลิส หรือที่มหานครอื่นๆก็ตามแต่ ยิ่งไปกว่านั้น การมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่กว่าและดีกว่าก็นับเป็นจุดเด่นทางการเมืองและสามารถบ่งบอกอัตลักษณ์ของชาติได้ด้วย กล่าวคือ แสดงให้เห็นถึงการเป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มอารยประเทศที่มีเสรีภาพและความทันสมัยนั่นเอง

เมื่อไม่นานมานี้ มีการสนใจกันมากในเรื่องที่ว่าบรรดาพิพิธภัณฑ์แบบตะวันตกนำเสนอวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างไร เช่น การจัดแสดงศิลปะที่เรียกว่า “อนารยะ” ( primitive) และศิลปะจากประเทศโลกที่สามหรือศิลปะที่ไม่ใช่ตะวันตกมักจะเป็นการถูกเสนออย่างไม่ถูกต้องสมบูรณ์ หรือแม้กระทั่งเสริมแต่งเรื่องของวัฒนธรรมอื่นๆขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ ปัญหาที่ว่าพิพิธภัณฑ์ทำอะไรกับวัฒนธรรมอื่นๆบ้างนั้น ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าสำคัญอย่างยิ่ง นั่นก็คือว่า พิพิธภัณฑ์เหล่านี้ตอบสนองวัตถุประสงค์ขั้นพื้นฐานใดให้แก่วัฒนธรรมของเราเอง และ ใช้ประโยชน์จากงานศิลปะเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง ดังนั้น บทความของดิฉันจะไม่เกี่ยวกับการนำเสนอวัฒนธรรมต่างประเทศหรือจากวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตก แต่จะพูดว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั้งหลายเกี่ยวข้องและบอกอะไรกับวัฒนธรรมของเราบ้าง เช่น มันสร้างนัยใดทางการเมืองและสร้างขึ้นมาอย่างไร ดิฉันรู้สึกเป็นห่วงพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งมหานครซึ่งเป็นแบบฉบับของการรวบรวมเอาสิ่งต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ศิลป์มาจัดแสดงอย่างเสียมิได้ และพระราชวังลูฟร์นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ประเภทดังกล่าวนี้

พิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นพิธีกรรม ดิฉันจะพิจารณาบรรดาพิพิธภัณฑ์ศิลปะในฐานะที่เป็นเสมือนอนุสาวรีย์ที่ใช้ประกอบพิธีการ การพิจารณาของดิฉันในประเด็นนี้เริ่มมาจากงานที่ดิฉันเคยทำมาในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานร่วมกับอลัน วัลลัค ( Alan Wallach) ในการอ้างถึงพิพิธภัณฑ์ว่าเป็นเสมือนอนุสรณ์สถานที่ใช้ประกอบพิธีการนั้น ดิฉันต้องการที่จะย้ำในแง่ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ นั่นคือพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมที่เป็นมากกว่า “ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์” เฉยๆ ตามที่พวกเราเคยเข้าใจ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ก็มิใช่ที่ว่างมุงหลังคาธรรมดาๆ อย่างที่จะให้เป็นกัน บ่อยครั้งที่ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์จะได้แบบอย่างการก่อสร้างมาจากอนุสรณ์สถานต่าง ๆ หลายแห่ง อาทิ วิหารในยุคคลาสสิกของกรีก มหาวิหารในยุคกลาง พระราชวังในยุคเรอเนซองส์ เป็นต้น พิพิธภัณฑ์จึงเป็นที่รวมของสถาปัตยกรรมต่างๆ มากมาย รวมทั้งเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะที่มีการตระเตรียม และมีวิธีการจัดวางผลงานศิลปะอย่างเป็นระบบและดูมีเหตุผล พิพิธภัณฑ์ก็เป็นเช่นเดียวกับสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆในอดีตกาลที่จะต้องบรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ในฐานะที่เป็นพิพิธภัณฑ์ นั่นก็คือ การอนุรักษ์และจัดแสดงผลงานศิลปะ รวมถึงการแบกรับหน้าที่ที่กว้างออกไปในเชิงการเมืองและอุดมการณ์ที่บางครั้งก็ไม่อาจแสดงออกมาได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

นับตั้งแต่ยุคแสงสว่างทางปัญญา ( ศตวรรษที่ 18: ผู้แปล) เป็นต้นมา สังคมของเราได้แบ่งแยกเป็นสังคมศาสนาและสังคมทางโลกอย่างชัดเจน โดย เรามักจะแยกเอาโบสถ์หรือวัดเป็นศาสนสถาน และแยกพิพิธภัณฑ์ พระตำหนักหรือรัฐสถานต่างๆ เป็น สถานที่ทางโลก ในยุคแสงสว่างทางปัญญาการแบ่งแยกอันเกิดจากความคิดขัดแย้งกับหลักคำสอนทางศาสนาที่เอื้อต่อการใช้อำนาจนั้น ได้ทำให้ความจริงทางศาสนากลายเป็นคตินิยมส่วนบุคคลไป ในขณะที่ความจริงทางโลกที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัย หรือศาลยุติธรรมต่าง ๆ จะต้องพิสูจน์ด้วยเหตุผล โดยอาศัยประสบการณ์และความรู้ความชำนาญมาอ้างให้ประจักษ์ชัด ในส่วนนี้ เรามักจะนึกถึงความจริงทางศาสนาในแง่ของการเทศน์ให้แก่กลุ่มคนที่มีใจเชื่อถือ ในขณะที่ความจริงทางโลกเป็นเรื่องราวความรู้อันเป็นสากลและนำมาใช้ได้จริงในสังคม ดังนั้นความจริงทางโลกจึงช่วยหลอมรวมชุมชนทั้งหมดเข้าไว้เป็นองค์ประชาคม และยังจำแนกให้เห็นถึงคุณค่าและสารัตถะอันจริงแท้ของความจริงนั้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะจึงอยู่ในขอบข่ายของความรู้ทางโลกที่มิใช่เป็นเพียงความรู้ในทางวิทยาศาสตร์และมานุษยวิทยาอันเกี่ยวข้องกับเรื่องการอนุรักษ์ เรื่องของประวัติศาสตร์ศิลป์ และโบราณคดีเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประชาคมอีกด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง เรามักจะเชื่อมโยง มโนทัศน์ในเรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ เข้ากับธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนา โยงเข้ากับเรื่องการเซ่นไหว้บูชาทรงเจ้าเข้าผีต่าง ๆ ซึ่งเราอาจจะเห็นว่าพิธีกรรมเหล่านี้ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสถานที่ทางโลกอย่างพิพิธภัณฑ์นัก แต่นักมานุษยวิทยาได้แย้งว่า วัฒนธรรมทางโลกเองก็เต็มไปด้วยขนบประเพณีและพิธีกรรมอยู่มากมายเช่นเดียวกัน เมื่อเรานึกถึงแบบอย่างของความหมายและการแสวงหาแสงสว่างทางปัญญา รวมถึงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ถูกอ้างไว้เพื่อชีวิตทางโลกแล้ว เราจะหมายถึงว่า ความจริงทางโลกเป็นสิ่งแน่นอนตายตัวและอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลรวมทั้งเป็นภววิสัยที่เข้าใจร่วมกันได้ ในจุดนี้ เราอาจจะเริ่มจับสาระที่ซ่อนเร้นอยู่ ( หรือบางทีคำที่เหมาะสมกว่าก็คือการอำพราง)ของเนื้อหาทางพิธีกรรมได้ และเรายังสามารถเห็นถึงประโยชน์ของพิธีกรรมทางโลก รวมถึงการก่อเกิดของมันอันมีลักษณะเป็นภววิสัย และเป็นกลางได้อีกด้วย

รูปแบบสถาปัตยกรรมอันหลายหลากของพิพิธภัณฑ์ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของพิธีกรรมทางโลกได้หลายประการ มันจึงเหมาะสมแล้วที่สถาปัตยกรรมส่วนด้านหน้าแบบวิหาร ( the temple fa?ade) จะเป็นสัญลักษณ์บอกความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นิยมกันมาร่วม 200 ปีเพราะสถาปัตยกรรมส่วนที่ว่านี้มีจุดเด่นอยู่ที่การเชื่อมโยงระหว่างเรื่องทางโลกกับพิธีกรรมเข้าไว้ด้วยกัน จุดเริ่มต้นของสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์นี้มีมาตั้งแต่ยุคสมัยที่รูปแบบสถาปัตยกรรมของกรีกและโรมันได้กลายมาเป็นแม่แบบของสิ่งก่อสร้างของสังคมทั่วไป หากจะกล่าวถึงโลกสมัยก่อนคริสต์กาลในแง่ที่องค์กรของประชาคมมีวิวัฒนาการขึ้นอย่างสูงแล้ว บรรดาอาคารสิ่งก่อสร้างแบบคลาสสิกทั้งหลายสามารถจะบ่งบอกถึงกฎเกณฑ์และเป้าหมายของสังคมในยุคแสงสว่างทางปัญญาได้ แต่ขณะเดียวกันรูปแบบที่คลาสสิกนี้ก็ได้นำพื้นที่ของความเป็นพิธีกรรมติดตัวมาด้วย เช่น ทางเดินยาวที่ใช้เดินเรียงแถวเข้าไปในอาคาร ( corridor) และเครื่องสักการะบูชาที่ตกแต่งอยู่ภายในเพื่อจำลองความน่าเกรงขามและพลังอำนาจไว้ เป็นต้น

ในแง่ของสถาปัตยกรรมแล้ว พิพิธภัณฑ์ไม่เหมือนวิหารเสียทีเดียว หากแต่ทำหน้าที่คล้ายวัด วิหาร และอนุสาวรีย์อื่นๆ ทุกวันนี้ผู้ที่เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ก็เหมือนกับผู้ที่ไปเยี่ยมชมสถานที่อื่นๆ ที่ไปด้วยความตั้งใจ และพร้อมที่จะเปิดใจออกรับทัศนคติที่กว้างขึ้น พิพิธภัณฑ์ก็เหมือนกับสถานที่ประกอบพิธีกรรมอื่นๆ กล่าวคือ พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ถูกกำหนดและถูกจัดส่วนเป็นพิเศษซึ่งสงวนไว้เพื่อการใช้ความคิดไตร่ตรอง การเรียนรู้ และความตั้งใจในการชมผลงานในนั้นอย่างแท้จริง …

ในสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทุกแห่งจะมีกิจกรรมเยี่ยงการแสดงบางอย่างเกิดขึ้น และผู้ที่มาร่วมชมก็อาจจะมีส่วนรับรู้ในการแสดงนั้นด้วย ซึ่งได้แก่ การบวงสรวงบูชา และการได้ฟังการท่องบทสวด หรือไม่ก็ได้ยินเสียงดนตรีที่บรรเลงขึ้นในวาระพิเศษ และในบางครั้งผู้ชมก็อาจเป็นผู้ที่สวมบทของการแสดงนั้นด้วยตัวเอง ซึ่งก็มักเป็นการแสดงโดยลำพังทีละคนด้วยการเดินไปตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้แล้วด้วยการท่องบทสวดหรืออ่านข้อความบางตอนที่เป็นการทำให้เรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นถูกหวนระลึกอีกครั้ง หรือเป็นการเข้าไปร่วมในประสบการณ์บางอย่างซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องราวความเป็นมา หรือความหมายของสถานที่นั้นๆ ส่วนบางคนก็อาจใช้สถานที่นี้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าคนอื่นๆ พวกเขาอาจเตรียมพร้อมและศึกษามาอย่างดี เพื่อที่จะสนองตอบต่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสถานที่นั้น พิธีกรรมมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้ นั่นคือ พิธีกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ สามารถขัดเกลาและฟื้นฟูกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้แก่โลก โดยใช้วิธีการบวงสรวงเซ่นไหว้ บูชายัญ หรือการพิสูจน์ให้เห็นจริง ดังนั้น ผู้มาชมพิพิธภัณฑ์จึงต้องเดินไปตามเส้นทางซึ่งมีการลำดับขั้นตอนไว้เพื่อเล่าถึงเรื่องราว ซึ่งในที่นี้ก็คือ เรื่องราวในประวัติศาสตร์ศิลปะ ในพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ศิลป์ได้เข้ามาแทนที่ประวัติศาสตร์ มันได้ลบความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในประวัติศาสตร์ออก แล้วกลั่นประวัติศาสตร์ออกมาเป็นเรื่องราวแห่งความสำเร็จซึ่งเป็นความสำเร็จของอัจฉริยะบุคคลเสียส่วนใหญ่ แน่นอนว่า สิ่งที่พิพิธภัณฑ์นำเสนอ เช่น ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และอัตลักษณ์ของประชาคมอาจเป็นเพียงการนำเสนอความน่าสนใจและภาพลักษณ์ของอำนาจต่าง ๆในประชาคมนี้ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การหลอกลวงในลักษณะนี้ก็มิได้ลดประสิทธิภาพของรูปแบบพิธีกรรมของพิพิธภัณฑ์ลงอย่างแน่นอน

อารยธรรมบนความเสื่อมถอย ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินรอยตามประเพณีของอังกฤษที่โดยปกติแล้วรัฐจะปล่อยให้การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องของประชาชน ถึงกระนั้นก็ตาม พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาก็มีอิทธิพลในเชิงความคิดความเชื่อ เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์อื่นๆในยุโรปที่ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐ ในขณะเดียวกันก็ยังรับเอาปัจจัยการจัดการในเชิงงานพิธี อย่างที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ได้ทำไว้อย่างสมบูรณ์แต่แรกเข้ามาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า พิพิธภัณฑ์ของกรุงนิวยอร์กที่ได้รับแนวคิดมาจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์โดยตรงนั้น ยังติดยึดอยู่กับการถือเอายุคสมัยอันรุ่งเรืองทางศิลปะเป็นหลัก กล่าวคือ ถ้าเรามองจากห้องโถงที่เป็นทางเข้าขนาดใหญ่ของพิพิธภัณฑ์แล้ว ทางเดินหลักที่เป็นแกนทุกเส้นทางในนั้นจะพาเราไปสู่งานในยุคโบราณหรือไม่ก็ยุคเรอเนซองส์ คือเราจะเห็นศิลปะกรีกอยู่ในห้องทางด้านขวา อียิปต์อยู่ทางซ้าย ส่วนห้องชั้นบนก็จะเป็นศิลปะของอิตาลี เป็นต้น ส่วนห้องที่สะสมงานศิลปะอื่นๆ ก็จะอยู่ถัดจากห้องเหล่านั้นไป ด้วยเหตุนี้ยุคสมัยอันยิ่งใหญ่แห่งอารยธรรมตะวันตกทั้ง 3 ยุคจึงถูกเน้นย้ำให้เป็นมรดกอันล้ำค่าเหมือนกับที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ การจัดการแบบนี้มีให้เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆทุกแห่งในอเมริกา รวมถึงพิพิธภัณฑ์เล็กๆอีกจำนวนหนึ่งด้วย เมื่อพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถหางานต้นแบบตัวจริงของศิลปะกรีกหรือโรมันมาได้ เพราะผลงานเหล่านั้นมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์เพียงไม่กี่แห่ง จึงเกิดแนวความคิดที่จะนำเอารูปปลาสเตอร์ที่หล่อออกจากประติมากรรมคลาสสิกหรือจากสถาปัตยกรรมที่ดูเป็นแบบกรีกมาตั้งแสดงแทน ซึ่งประเด็นหลังนี้มักจะมีสลักชื่อของศิลปินเอกเอาไว้ด้วย ด้านหน้าของสถาปัตยกรรมที่หล่อออกมาจึงดูคุ้นตาเหมือนๆกันทุกแห่งนั่นเอง

อุดมคติของพิพิธภัณฑ์ดังที่ดิฉันได้กล่าวไว้นั้น นำพาประเทศตะวันตกไปสู่การพัฒนาที่เห็นเด่นชัดหลายด้าน ซึ่งอุดมคตินี้มักจะทำให้เกิดความตึงเครียดและความกดดันในรูปแบบต่าง ๆ กัน แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังคงความเป็นอุดมคติไว้ได้อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงช่วงทศวรรษที่ 1950 อุดมคตินี้ได้เสื่อมลงที่อเมริกาเป็นที่แรก แล้วจึงแผ่ขยายออกไปทั่วโลก ความเสื่อมถอยที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 จนทุกวันนี้นั้น ทำให้มีพิพิธภัณฑ์เพื่อสะสมศิลปะสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ( หรือปีกที่สร้างขึ้นใหม่ของอาคารพิพิธภัณฑ์หลังเก่า) มีความแตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ดั้งเดิม มิใช่เพียงเพราะมีงานศิลปะสะสมที่ใหม่กว่า แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ มันเผยให้เห็นถึงพิธีกรรมของพิพิธภัณฑ์ที่มีความแตกต่างออกไป มโนทัศน์และการให้ความสำคัญต่ออดีตที่ผ่านมาของยุคคลาสสิกตะวันตกซึ่งเคยมีอิทธิพลกับพิพิธภัณฑ์แห่งเก่านั้นจึงไม่สามารถใช้ได้กับพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่เมื่อความแตกต่างหลากหลายของปัจเจกนิยมได้เข้ามามีบทบาท ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในเรื่องพิพิธภัณฑ์แตกต่างไปจากเดิม

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเห็นได้ชัดเจนในพิพิธภัณฑ์ดั้งเดิมหลายแห่ง เช่น ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเมืองบอสตันมีการขยับขยายพื้นที่และเปลี่ยนแปลงไปในเวลาเพียงไม่กี่ปี ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลังเดิมนั้น ทุกอย่างถูกจัดการภายใต้ความหมายของคำว่า “อารยธรรม” เราจะเห็นว่าหลังจากที่ผ่านทางเข้าตรงส่วนหน้าของอาคารแบบคลาสสิกแล้ว ทั้งห้องก็จะเต็มไปด้วยงานศิลปะของอารยธรรมยุคต่างๆ ของโลกที่ถูกจัดวางเรียงกันไป คือด้านหนึ่งจะเป็นกรีก โรมัน และอียิปต์ อีกด้านหนึ่งเป็นอารยธรรมจากโลกตะวันออก ส่วนที่เหลือในประวัติศาสตร์ศิลป์ก็จะตามมาหลังจากนั้น คือทุกอย่างจะถูกจัดตามลำดับเวลา โดยจัดวางให้ศิลปะเรอเนซองส์เป็นศูนย์กลาง ปัจจุบันรูปแบบการจัดวางนี้ก็ยังคงสภาพเดิม แต่ในส่วนอาคารปีกตะวันออกของพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งมาต่อเติมนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามาแทรกระบบการเดินชมที่จัดไว้ อาคารใหม่ส่วนนี้ได้กลายมาเป็นทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์ จึงทำให้ห้องแสดงงานศิลปะคลาสสิกในส่วนพิพิธภัณฑ์เดิมกลายเป็นส่วนที่ไกลที่สุดไป ซึ่งในที่นี้หมายถึง ไกลออกไปจากทางเข้าทางใหม่นั่นเอง ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ที่มีการสร้างขึ้นใหม่ประกอบด้วยห้องแสดงศิลปะสมัยใหม่ขนาดใหญ่ ร้านอาหารเปิดใหม่ 3 ร้าน พื้นที่ว่างสำหรับจัดนิทรรศการในวาระพิเศษ รวมทั้งร้านขายหนังสือและของที่ระลึกกว้าง ๆ อีก 1 ร้าน ซึ่งในขณะนี้เราสามารถที่จะเดินชมพิพิธภัณฑ์ ชมดูนิทรรศการ เดินเลือกซื้อของและกินอาหารไปพร้อมกันได้ โดยที่เราอาจจะมิได้คำนึงถึงเรื่องมรดกของอารยธรรมเลยก็ตาม

ในลักษณะเดียวกัน อาคารปีกหลังใหม่ที่ใช้จัดแสดงศิลปะอนารยะ primitive art ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะของมหานครนิวยอร์กก็ตั้งใจจะพุ่งความสนใจไปที่งานศิลปะกรีกที่ได้รวบรวมไว้ ซึ่งถูกย้ายไปไว้เป็นส่วนแรกที่เข้าสู่ห้องจัดแสดงศิลปะอนารยะหลังใหม่ และต่อมาก็ถูกจัดให้ไปไว้ที่ปีกหลังใหม่ที่จะแสดงศิลปะของศตวรรษที่ 20 นี่คือการจัดการที่จงใจเน้นย้ำแนวคิดเดิมของพิพิธภัณฑ์ที่อ้างว่ากรีกคือบรรพบุรุษของอารยธรรมสมัยใหม่นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วยุคสมัยใหม่จึงมิได้ปรารถนาหาแสงสว่างจากสิ่งของโบราณในแบบคลาสสิกเหมือนก่อน หากแต่หันมาโหยหาการสร้างสรรค์ของวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ว่ากันว่าไร้อารยธรรมที่ยังมิอาจเข้าถึงและเข้าใจได้ในแง่นี้พิพิธภัณฑ์อื่นๆซึ่งยอมรับในศิลปะสมัยใหม่ทุกๆรูปแบบ เช่นลัทธิคิวบิสม์ช่วงต้น ไปจนลัทธิเซอร์เรียลิสม์ รวมถึงลัทธินีโอเอ็กเพรสชั่นนิสม์ และนีโอพริมิตีฟ จึงมักจะรวมเอางานที่เรียกกันว่า ” ศิลปะอนารยะ” ( primitive art) และศิลปะในศตวรรษที่ 20 ของพวกหัวก้าวหน้าอะวองการ์ด avant-garde เข้าไว้ด้วยกัน

พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นเครื่องนิยามอัตลักษณ์ได้อย่างมีศักยภาพ การควบคุมดูแลพิพิธภัณฑ์ย่อมหมายถึงการควบคุมการแสดงออกของประชาคมและความจริงในสังคมนั้น นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงอำนาจในการนิยามและจัดระดับประชาชนด้วย ในแง่นี้คือ อำนาจที่จะเจาะจงว่า ใครมีส่วนร่วมในสมบัติสาธารณะอันนี้มากกว่าใคร ผู้ซึ่งมีบทบาทในลักษณะดังกล่าวนี้ก็คือผู้ซึ่งมีข้อตกลงเห็นพ้องต้องกันกับพิพิธภัณฑ์นั่นเอง พวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่ได้รับการอบรมให้ยอมรับประวัติศาสตร์ที่นำเสนอโดยระบบการจัดการ และเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนทักษะในการประสานเชื่อมโยงเรื่องต่าง ๆ หรือในเรื่องของจุดประสงค์เชิงสุนทรียศาสตร์มาเป็นอย่างดี ซึ่งในกรณีนี้อาจเป็นเป้าหมายหลักที่พิพิธภัณฑ์ปรารถนาไว้อย่างลึกๆก็เป็นได้ โดยสรุปแล้ว ผู้ที่รู้ดีที่สุดถึงการใช้ประโยชน์จากศิลปะภายในบริบทของพิพิธภัณฑ์ก็คือผู้ที่พิพิธภัณฑ์ให้ความสนใจมากกว่านั่นเอง ด้วยเหตุนี้ อาคารพิพิธภัณฑ์และวิธีการจัดการจึงกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งและโต้เถียงอย่างรุนแรงขึ้น สิ่งที่เราเห็นและไม่ได้เห็นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะอันทรงเกียรติของเรา รวมถึงเรื่องราว และอำนาจมืดต่างๆ นั้น จึงเป็นเรื่องที่ว่า ใครกันคือผู้สร้างประชาคม และ ใครจะใช้อำนาจนี้ในการนิยามอัตลักษณ์ของสังคมนั้น

พรทิพย์ เนติภารัตนกุล : ผู้แปล

ตัดตอนแปลจาก Carol Duncan, “Art museum and the ritual of citizenship”, Interpreting Objects and Collections, Edt. Susan M. Pearce, Routledge, London , 1999. pp. 279-286.
 

You may also like...