การอุทิศตนต่อศิลปะ:ราชบัณฑิตและอุดมการณ์ในอาณาจักรไรช์ที่สามคนเหล่านี้คือจิตวิญญาณแห่งความจริงใจ โดย เอียน บูราม่า
ข้อความที่มักจะปรากฏในคำไว้อาลัยงานศพของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คือข้อความที่ว่าเขาหรือเธอ ” ใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่องานศิลปะของตนเอง”
อาจมีข้อความอื่นที่แตกต่างจากนี้เล็กน้อยแต่ก็อยู่ในแนวคิดที่ว่า ” เขาหรือเธออุทิศชีวิตเพื่อศิลปะ” สิ่งนี้คนทั่วไปถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันแสดงให้เห็นถึงการอุทิศและทุ่มเทตนให้แก่สิ่งที่สูงกว่า ยิ่งใหญ่กว่า และลึกซึ้งกว่าการมีอาชีพการงานทั่วไป การเป็นพลเมืองดี หรือการเป็นคนที่เอาใจใส่ครอบครัว การอุทิศตนให้ศิลปะได้รับการยกย่องเกือบเสมอการอุทิศตนทางศาสนา ในโลกแห่งวัตถุในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์กลายเป็นเสมือนวัดทางศาสนามากยิ่งขึ้นทุกที ในขณะที่ศิลปินเปรียบเป็นพระศาสดา ศิลปะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่หลังการล่มสลายของคริสต์จักรและการปฏิวัติที่ศิลปินยังบูชา และสิ่งนี้มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งจำเป็นหรือแม้แต่สมควรได้รับการยกย่อง
เยอรมันในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมีประชากรที่อุทิศตนให้ศิลปะเกือบจะมากที่สุดในโลก ซึ่งมากกว่าฝรั่งเศส นับตั้งแต่สมัยริชาร์ด วากเนอร์ ( Richard Wagner) อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะเป็นศาสนาของชาวเยอรมัน ประวัติศาสตร์ศิลป์เป็นการประดิษฐ์คิดค้นของชาวเยอรมันโดยแท้ ดนตรีและบทกวีเป็นสิ่งที่แสดงออกที่ดีที่สุดแห่งจิตวิญญาณของชาวเยอรมัน ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาเกือบทุกคนมีแรงบันดาลใจที่จะตอบรับต่อพลังทางศิลปะนี้ ราวกับว่าวัฒนธรรมเปรียบเสมือนกำยานบริสุทธิ์ที่สามารถฝากร่องรอยอันศักดิ์สิทธิ์ไว้บนร่างของผู้ที่มาสักการะได้
ความนิยมศิลปะของชาวเยอรมันได้ผลิตผลงานอันเยี่ยมยอดไว้มากมาย ไม่เพียงแต่ชาวเยอรมันจะมีวงออร์เคสตราและโรงอุปรากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ราชบัณฑิตทางศิลปะของเยอรมันยังเป็นหนึ่งในวงการศิลปะของโลก ความรู้ทางศิลปะเหล่านี้ไม่จำกัดวงอยู่แต่ภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น โดยเฉพาะในสมัยไวมาร์ ( Weimar) มีหนังสือแนะนำศิลปะสำหรับประชาชนทั่วไปที่เป็นที่นิยมอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการต้อนรับผู้อพยพที่เป็นผู้ทรงความรู้ทางประวัติศาสตร์และผู้ตีพิมพ์หนังสือศิลปะจำนวนมากที่เป็นชาวยิวในเยอรมันหลังจากที่ฮิตเลอร์เริ่มภารกิจการทำลายวัฒนธรรมเยอรมันในต้นยุคทศวรรษที่ 1930
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ทรงความรู้ทางศิลปะทุกคนที่เป็นคนยิว หนังสือเรื่อง “The Faustian Bargain: The Art World of Nazi Germany” โดยโจนาธาน เพโทรพูลอส (Jonathan Petropoulos) ได้เล่าถึงนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ผู้ขายผลงานศิลปะ นักข่าวศิลปะ และศิลปินที่ไม่เพียงแต่อาศัยอยู่ในเยอรมนีหลังปี 1933 แต่ยังช่วยเหลือและได้รับผลประโยชน์จากหน่วยงานของนาซีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พวกเขาบางคนเป็นนักฉวยโอกาส บ้างก็เป็นพวกคลั่งลัทธิ หรือบางคนก็เพียงแต่ต้องการทำงานศิลปะของตนต่อไป พวกเขาพยายามมองข้ามความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนโดยอ้างถึงความเคารพนับถือที่ได้รับ คนเหล่านี้มักจะอ้างว่าที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อศิลปะโดยที่เราก็ไม่รู้ว่าข้ออ้างเหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่
ทำไมถึงเป็น “สัญญาแบบเฟาสต์” ในเรื่องที่แต่งโดยเกอเธ่นั้น ตัวละครชื่อเฟาสต์สัญญาว่าจะขาย “วิญญาณ” ของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนกับความมั่งคั่งและชื่อเสียง แต่วิญญาณในที่นี้หมายถึงอะไรกันแน่ หมายถึงแก่นภายในตัวตนของเรา สิ่งที่เป็นของแท้ที่เราควรจะเชื่อว่านั่นคือตัวตนที่ “แท้จริง” ของเรา หรือว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของความจริงใจ หรือบางทีอันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเราที่อยากจะแสดงการอุทิศตนต่อสิ่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ อาจเป็นการบูชาพระเป็นเจ้า หรือศิลปะ และถ้าความเชื่อที่ลึกซึ้งและจริงใจที่สุดที่เรามีสามารถเปิดช่องทางให้เราประสบความสำเร็จทางโลกมากขึ้นล่ะ มันจะทำให้เราไม่จริงใจหรือจอมปลอมหรือไม่ แล้วเราจะสูญเสียจิตวิญญาณของเราหรือไม่ ผมตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นก็เพราะเหล่าศิลปินเกือบทุกคนที่อยู่ในหนังสือของโจนาธาน โมโทรพูลอส เป็นผู้ที่ศรัทธาอย่างจริงใจในสิ่งที่ทำให้พวกเขาร่ำรวยและมีอำนาจขึ้นมา หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นราชบัณฑิตทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ของโลกชื่อ ดร. ออตโต คึมเมล (Otto Kuemmel) ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์แห่งเบอร์ลินตั้งแต่ปี 1933 จนถึงปี 1945 เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่ชื่นชมและยึดถือในลัทธินาซีอย่างมาก เขาจึงพยายามรับคนจากพรรคนาซีเข้ามาร่วมทีมงานของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นอกจากนี้ เขายังอุทิศความเชี่ยวชาญทางศิลปะที่มีอยู่ให้กับพรรคนาซีโดยย้ายผลงานศิลปะของชาวเยอรมันที่อยู่ต่างประเทศกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน ในปัจจุบันพวกเราคงไม่ชื่นชมกับสิ่งที่เขาทำลงไปนัก แต่เขาก็ทำลงไปด้วยความบริสุทธิ์ใจและเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ผมจึงได้แต่เดาเอาว่า ดร.คึมเมลเสียชีวิตในปี 1952 ด้วยความอิ่มเอิบใจ
เพโทรพูลอสได้คาดการณ์ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับการใช้เฟาสต์ในการเปรียบเทียบเหล่าศิลปินในหนังสือที่เขียนขึ้น เขาจึงขยายคำจำกัดความออกไปอีกเล็กน้อย โดยกล่าวว่าตัวละครเกือบทุกตัวในหนังสือของเขา ” ตระหนักถึงผลที่จะตามมาของสิ่งไม่ถูกไม่ควรที่ได้ทำลงไป ถึงแม้ว่ามันจะตามมาภายหลังด้วยความพ่ายแพ้ สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่ามีการสำนึกผิดเกิดขึ้น” พวกเขาสำนึกผิดจริงหรือ ไม่ใช่ว่าผู้ที่สำนึกผิดในภายหลังเพื่อจะสร้างความประทับใจแก่ผู้สอบสวนฝ่ายพันธมิตรเหล่านั้นจะดูไม่จริงใจยิ่งกว่าการกระทำของพวกเขาหรอกหรือ เพโทรพูลอสได้กล่าวถึงกรณีการฆ่าตัวตายบางกรณี มีอยู่กรณีหนึ่งที่น่าสังเวชกว่ากรณีอื่น เป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ชื่อ แฮร์มันน์ บุนเยส ( Hermann Bunjes) ผู้ซึ่งฆ่าตัวเองและครอบครัวหลังจากถูกพวกอเมริกันจับกุมตัวในปี 1945 เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางประติมากรรมฝรั่งเศสยุคกลางที่ได้รับการศึกษาจากฮาร์วาร์ด ปารีส และมาร์บัวร์ก แต่เขาก็มีความสนใจในพรรคนาซีมากพอที่จะเข้าร่วมกับหน่วยเอสเอส (SS) ในปี 1938 ซึ่งแม้แต่ผู้ที่เชื่อถือในลัทธินาซีอย่างแท้จริงก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วม เขายังเขียนวิทยานิพนธ์ให้กับไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ( Heinrich Himmler) โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ” ป่าและต้นไม้ในประวัติศาสตร์ทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของพวกเยอรมันเชื้อสายอารยัน”
ต่อมาในภายหลัง บุนเยสมีส่วนพัวพันในการต้มตุ๋นที่ผิดกฎหมายอื่นๆ เขาหาช่องทางปล่อยผลงานศิลปะที่ถูกปล้นมาจากชาวยิวในฝรั่งเศสให้แก่ลูกค้า เช่น ฮิมเลอร์ ( Himmler) และเกอริง ( Goering) เขายังเป็นผู้นำคณะไปยึด Bayeux Tapestry ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญในวงการว่าเป็นตัวอย่างศิลปะแบบทิวทอนิคชั้นเลิศ เมื่อถูกจับหลังสงครามเขาขอร้องพนักงานสอบสวนชาวอเมริกันให้หางานให้ทำ ซึ่งเขายังเฉพาะเจาะจงว่าขอเป็นงานในปารีส ดูเหมือนว่าบุนเจสจะกลัวการลงโทษต่อพวกเยอรมัน เนื่องจากเขาเคยเป็นสมาชิกหน่วยเอสเอส เมื่อความพยายามที่จะหางานกับฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เป็นผล เขาจึงตัดสินใจว่าเกมได้สิ้นสุดลงและเลือกที่จะฆ่าตัวตาย แต่สิ่งนี้เป็นผลจากมโนสำนึกที่เขาได้ทำ “สัญญากับซาตาน” เหมือนกับที่เพโทรพูลอสกล่าวไว้จริงหรือ ผมไม่มั่นใจนัก ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้แน่ว่าตัวตนที่แท้จริงของบุนเยสเป็นอย่างไร แต่เราก็ไม่มีข้อสงสัยว่าพวกที่แม้หลังสงครามก็ยังไม่ยอมสำนึกผิดเป็นพวกที่ไม่จริงใจ พวกเขายังเจริญก้าวหน้าต่อไป ถึงแม้ว่าจะพัวพันอยู่ในกลุ่มที่น่าสงสัยก็ตามที
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นกรณีของ โรแบร์ต ชอล์ซ ( Robert Scholz) ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ศิลปะให้กับวารสารนาซีฉบับสำคัญที่ชื่อ โฟลคิชเชอ เบโอบอัคเทอร์ (Volkische Beobachter) เขามีประวัติเหมือนกับผู้ที่บ้าคลั่งในลัทธินาซีอีกหลายคน ชอล์ซเกิดนอกประเทศเยอรมนี ในโมราเวีย เข้าร่วมกับพรรคนาซีในปี 1933 และเปลี่ยนสัญชาติเป็นเยอรมันในปีถัดมา ภาพนักวิจารณ์ศิลปะเดินไปเดินมาในชุดเครื่องแบบสีน้ำตาลอาจดูแปลกสำหรับบางคน แต่มันกลับเข้ากันได้กับแบบฉบับการวิจารณ์ศิลปะของเขา ปิกัสโซถูกลดชนชั้นเป็นเพียง ” ชาวยิวเชื้อสายสเปน” และศิลปะเยอรมันในสายตาของชอล์ซควรจะได้รับการไถ่บาปให้พ้นจาก ” ลักษณะต่างด้าวที่ส่อไปในทางเหยียดสีผิว” รสนิยมของชอล์ซมักจะเอนเอียงไปทางผลงานที่ใหญ่โตของอาร์โน เบรเคอร์ ( Arno Breker) และโยเซฟ โธรัค ( Joseph Thorak) ที่เป็นรูปปั้นหินอ่อนหรือทองแดงรูปชาวอารยันที่มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ในมือถือหอก ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง “ความต้องการอย่างแรงกล้าของอาณาจักรไรช์ที่สาม” นอกจากนี้ ชอล์ซยังมีส่วนรู้เห็นในการปล้นงานศิลปะเหมือนกับบุนเยสและสมาชิกพรรคนาซีคนสำคัญคนอื่นๆ ในวงการธุรกิจศิลปะ หรืออีกนัยหนึ่งในกรณีของเขาก็คือ การดูแลการเคลื่อนย้าย ” ทรัพย์สินที่ไม่มีเจ้าของของชาวยิว” ออกไปจากปารีสนั่นเอง
เพโทรพูลอสยังกล่าวถึงสาเหตุสองประการที่อาจบ่งบอกว่าชอล์ซเป็นมากกว่าคนชั่วร้ายและอาจจะเป็นแม้กระทั่งคนมีหลักเกณฑ์ สาเหตุหนึ่งก็คือความจงรักภักดีของเขา โดยเฉพาะกับเจ้านายที่ชื่อ อัลเฟรด โรเซนแบร์ก ( Alfred Rosenbarg) จอมเผด็จการจากเอสโนเนียที่มีความเชื่ออย่างจริงใจในลัทธินาซี โรเซนแบร์กบ้าลัทธินาซีมากจนถูกล้อเลียนจากพวกผู้บริหารนาซีในมหาอาณาจักรไรช์ที่สามที่ชอบมองโลกในแง่ร้าย ผมไม่แน่ใจนักว่าการที่ชอล์ซจงรักภักดีต่อพวกบ้าคลั่งลัทธิที่เป็นคนนอกจะแสดงให้เห็นว่าเขามีมโนสำนึก และมโนสำนึกนี่ก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จำเป็นต้องมีในการทำสัญญาแบบเฟาสต์ แต่อย่างน้อยก็มีความขัดแย้งให้เห็นในรสนิยมของเขา เพโทรพูลอสแสดงให้เห็นว่าในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 ชอล์ซมีความนิยมชมชอบในแนวคิดสมัยใหม่ โดยเฉพาะในแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์เยอรมัน แต่อย่างที่เพโทรพูลอสเองก็ชี้ให้เห็น รสนิยมนี้ก็ยังมีพวกลัทธินาซีคนอื่นที่นิยมด้วย เช่น เกิบเบลลส์ ( Goebbels) ต่อมา ฮิตเลอร์เป็นผู้ออกคำสั่งว่าแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี
เช่นเดียวกับตัวละครที่ปฏิบัติตนผิดหลักศีลธรรมคนอื่นๆ ของเพโทรพูลอส ชอล์ซรอดตัวไปอย่างง่ายดายหลังสงคราม มรดกทางศิลปะได้ถูกใช้เพื่อหล่อหลอมเยอรมันใหม่ที่ดีกว่า เกอเธ่และเบโธเฟนเป็นเสมือนยาถอนพิษจากพิษที่ฮิตเลอร์ได้วางเอาไว้ ต่อมาในปี 1948 ศาลตรวจสอบพฤติกรรมนาซีของเยอรมันประกาศว่าชอล์ซไม่มีความผิดอีกต่อไป ในช่วงหลังเขาประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ขวาจัด และตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของศิลปะเยอรมัน โดยเล่าถึงแต่จิตรกรเยอรมันที่มีชื่อเสียง เช่น คาสปาร์ ดาวิด ฟรีดริช ( Caspar David Friedrich) เขาเสียชีวิตลงในปี 1981 และได้รับคำไว้อาลัยที่ซาบซึ้งในนิตยสารของพวกขวาจัด หัวข้อข่าวได้รับการแปลออกมาว่า ” ศิลปินผู้มีจิตใจอันกว้างขวางและนักต่อสู้ผู้มีศีลธรรมอันสูงส่งได้จากเราไปตลอดกาล” อันที่จริงข้อความดังกล่าวใช้คำว่า ” feinsinnig” ซึ่งมีความหมายว่า ” มีจิตใจละเอียดอ่อน” ไม่ใช่คำว่า ” freisinnig” ที่อาจมีความหมายว่า ” มีจิตใจอันกว้างขวาง” ( ซึ่งที่จริงคำว่ามีจิตใจละเอียดอ่อนก็ไม่ใช่คำที่เหมาะสมที่จะอธิบายลักษณะของ ชอล์ซ อยู่ดี)
อันที่จริงกรณีของคนอย่างชอล์ซยังไม่น่าสนใจเท่ากรณีที่ตัดสินไม่ได้ว่าถูกหรือผิดของพวกนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่จริงจังหลายคนผู้ซึ่งใช้หัวข้อการวิจัยอย่าง วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือบุคคลระดับชาติ ทำให้การวิจัยที่ล้มเหลวดูมีระดับมากขึ้น หัวข้อเหล่านี้ดูล้าสมัยอย่างมากในปัจจุบัน แต่มันไม่เป็นเช่นนั้นในช่วงศตวรรษที่สิบเก้าและต้นศตวรรษที่ยี่สิบ อันที่จริงพวกเขายังได้รับความเคารพนับถือในอังกฤษเช่นเดียวกับในเยอรมนี อาจารย์ของนิโคเลาส์ เพฟสเนอร์ ( Nikolaus Pevsner) ที่ชื่อ วิลเฮล์ม พินเดอร์ (Wilhelm Pinder) ราชบัณฑิตที่มีชื่อเสียงก็สนใจในแก่นแท้ของความเป็นเยอรมันในศิลปะแบบเยอรมัน และสิ่งนี้เองที่ชักนำเขาเข้าสู่พวกนาซี
ยังมีคนอื่นๆ อีก เช่น ชาวออสเตรียที่ชื่อ ฮันส์ เซดเลไมเยอร์ ( Hans Sedlmeyr) ผู้เขียนทฤษฎีเกี่ยวกับ ” ความบริสุทธิ์” และความที่เป็นบุคคลระดับชาติทำให้เขาถูกจองจำในค่ายนาซี เขาได้กลายเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่ก่อนปี 1938 เมื่อพรรคนาซียังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในออสเตรีย ไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้เชื่อได้ว่าบุคคลเหล่านี้เป็นนักฉวยโอกาส อย่างน้อยที่สุดเมื่อเพฟสเนอร์ใช้ทฤษฎีของครูของเขาที่เกี่ยวกับบุคคลระดับชาติในงานศิลปะกับความเป็นอังกฤษในศิลปะอังกฤษ ไม่มีใครเคยกังขาว่าเขาทำไปเพราะต้องการมีอาชีพการงานที่มั่นคงยิ่งขึ้น ในอังกฤษ สิ่งนี้เป็นเพียงวิธีที่เขามองสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยปรกติแล้วการใช้ความคิดดังกล่าวในประเทศประชาธิปไตยที่ไม่เคยมีการเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยคงไม่เหมือนกับใช้ความคิดเดียวกันในรัฐนาซี คนอย่างเซดเลไมเยอร์ หรือพินเดอร์นั้น ถ้าไม่เป็นพวกที่ซื่อเกินไปเกี่ยวกับวิธีที่ทฤษฎีของตนถูกใช้ก็อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้เพราะพวกเขาอยู่สูงเกินกว่าจะสนใจในเรื่องดังกล่าว อย่างน้อยพวกเขาก็เป็นราชบัณฑิต ไม่ใช่พวกชอบมั่วสุมอย่างชอล์ซ หรือโรเซนแบร์ก หรือพูดอีกอย่างก็คือพวกเขาอาจอุทิศตนให้งานศิลปะและทฤษฎีศิลปะมากเกินกว่าที่จะสนใจผลทางการเมืองที่จะตามมา โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาก็เห็นด้วยกับลัทธิดังกล่าว
สิ่งเหล่านี้อย่างน้อยก็เป็นการมองโลกในแง่ดี แต่จุดสำคัญของบทความนี้ก็คือ การกระทำที่จริงใจอาจมีอันตรายเท่ากับหรือมากกว่าการฉวยโอกาส อาจเป็นไปได้ที่ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะที่เข้าร่วมการยึดทรัพย์สินทางศิลปะในประเทศที่ถูกนาซียึดครองทำการดังกล่าวไปโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อ ” รักษา” ผลงานอันหาค่ามิได้ไม่ให้ถูกทำลายโดยสงคราม เพโทรพูลอส บรรยายหลายตัวอย่างเกี่ยวกับความกล้าหาญของบุคคลเหล่านี้เมื่อสงครามแผ่ขยายมาถึงเยอรมนี พวกเขายังได้เสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อเข้าร่วมในการปล้นทรัพย์สินทางศิลปะเหล่านั้น ผมคิดว่า คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่าสำหรับพวกเขาแล้ว อย่างน้อยศิลปะก็มีความสำคัญยิ่งกว่ามนุษยธรรม พวกเขาคิดว่าเป็นการง่ายที่จะทำเป็นมองไม่เห็นวิธีการที่ทำให้พวกเขาได้งานศิลปะเหล่านั้นมา เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวงานศิลปะเท่านั้น ความโลภและอำนาจทางการเมืองมีส่วนสำคัญที่จะให้อภัยเหตุผลอย่างการอุทิศตนอย่างไม่ลืมหูลืมตาใน ” สาขาวิชาชีพ” ของตนเอง
บทเรียนจากเรื่องราวอันน่าเศร้านี้ไม่เพียงแต่จะสอนเราว่ามนุษย์จะกลายเป็นคนเลวได้ถ้าต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินหรืออำนาจ สิ่งเหล่านี้เราต่างก็รู้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่เรามักไม่ตั้งข้อสงสัยก็คือ ภาพอุดมคติที่โรแมนติกของการ “อยู่” เพื่อศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ พวกที่อ้างอุดมการณ์ดังกล่าวด้วยใจบริสุทธิ์มักจะได้รับการละเว้นไม่ถูกกล่าวหาว่าไม่คำนึงถึงผลทางศีลธรรมของการกระทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มายังอุดมการณ์ของตน ต่อคำโต้แย้งที่ว่าถ้าปราศจากการอุทิศตนอย่างไม่คำนึงถึงศีลธรรมแล้ว สิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่คงไม่เกิดขึ้นนั้น พวกเราคงไม่ลืมว่าอย่างน้อยนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันคนหนึ่งที่ไม่เคยหลงเชื่อการอุทิศตนอย่างไม่ลืมหูลืมตาและยังต่อต้านเมื่อผู้อื่นกระทำการดังกล่าว คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
กรกช อัตตวิริยะนุภาพ : ผู้แปล
แปลจาก: Ian Burama, “Dedicated to art: scholarship and idealism in the third Reich, they were the souls of sincerity”, The Times Literature Supplementary, June 9, 2000, No. 5076.