การสั่นคลอนกลุ่มผู้มั่นในอำนาจ : การวิจัยศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย นอรา เทย์เลอร์
เมื่อเร็วๆนี้ ฉันเพิ่งจะเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง ศิลปะร่วมสมัยในเอเชีย ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟานซิสโก จุดประสงค์ของการสัมมนาคราวนี้ก็เพื่อกระตุ้นเตือนให้สถาบันทางศิลปะทั้งหลายเห็นความสำคัญในการจัดนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยของเอเชียขึ้นในหอศิลป์ของสถาบันเหล่านั้น
วิทยากรในการสัมมนาหลายท่านชี้ประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริงว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย สำคัญๆ ส่วนใหญ่ในประเทศนี้หลบเลี่ยงการแสดงงานศิลปะร่วมสมัย วิทยากรยังเตือนด้วยว่าหากพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นยังคงละเลยต่อศิลปะรูปแบบต่างๆของเอเชียในปัจจุบัน พวกเขาก็คงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยม “ผู้เชี่ยวชาญบูรพทิศศึกษา” และก็จะตกยุคไปเฉยๆ นักวิชาการเหล่านี้ได้ให้เหตุผลว่า การสร้างสรรค์งานศิลปะในเอเชียไม่เคยหยุดนิ่ง และมีเหตุผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายที่จะมุ่งความสนใจลงไปเฉพาะในเรื่องของอดีต รูปเคารพทางศาสนา หรือวัตถุที่ไม่ได้สื่อความหมายอะไรอีกต่อไปในเอเชียเอง สถาบันศิลปะที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าวนี้ ได้แสดงให้ที่ประชุมเห็นว่า พวกเขาไม่ยอมถูกชักจูงได้ง่ายๆ ในฐานะที่ฉันเป็นนักวิชาการทางศิลปะสมัยใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉันเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียนั้นมีจุดเริ่มต้นที่ “บูรพทิศศึกษา” หรือจากการสะสมศิลปะวัตถุที่ “เป็นของแปลกจากต่างถิ่น” ซึ่งมีฐานความคิดตามทัศนคติการมองตะวันออกจากศตวรรษที่ 19 มันคงจะต้องจัดให้มีการสัมมนาเช่นคราวนี้มากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อที่จะสั่นคลอนกลุ่มผู้มั่นอยู่ในวิชาการสาขานี้ และเปลี่ยนสมมุติฐานความคิดของผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศิลปะ เอเชีย ในบางกรณีนักวิชาการเอเชียอาคเนย์ศึกษาสามารถก้าวไปได้ไกลกว่า ทั้งนี้เพราะในสาขาวิชานี้มีประวัติศาสตร์ที่ตื่นตัวในการเปิดไปสู่การตีความใหม่ๆ แต่แล้วก็ถึงเวลาที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะเอซียตะวันออกเฉียงใต้ได้มองปัจจุบัน และได้ข้อคิดเห็นบางประการจากข้อเท็จจริงที่ว่า สิ่งที่เราเคยเรียกกันว่า ศิลปะเอเชียอาคเนย์นั้น อันที่จริงแล้วอาจเป็นอะไรบางอย่างที่ค่อนข้างต่างไปจากที่คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เขามอง เมื่อฉันเดินทางไปเวียดนามเป็นครั้งแรกเพื่อทำวิจัยสำหรับเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ประวัติศาสตร์ศิลปะเวียดนาม ฉันก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ตั้งสมมุติฐานไว้ล่วงหน้าว่า งานศิลปะที่จะต้องทำการศึกษานั้นมีก็เฉพาะแต่งานที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ความคิดนี้ถูกพิสูจน์ว่าผิดอย่างรวดเร็วเมื่อฉันเดินทางไปไหนมาไหนบนถนนในกรุงฮานอยด้วยจักรยาน และพบห้องแสดงงานศิลปะแห่งแล้วแห่งเล่า ป้ายโฆษณาขายงานศิลปะหรือป้ายสตูดิโอของศิลปินป้ายต่อป้าย ลำพังเรื่องที่ว่า ร้านเหล่านี้จะมีผลงานที่มีคุณค่าต่อการศึกษาหรือไม่นั้น ก็เป็นประเด็นที่ต้องการการศึกษาวิจัยเสียแล้ว ในเรื่องนี้ยังไม่ได้อยู่ในประเด็นความสนใจของฉันทันทีทันใด แต่สิ่งที่ทำให้ฉันตระหนักก็คือ นี่เป็นเครื่องบ่งชี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ทำให้ฉันได้รับรู้ว่า ยังคงมีศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานอยู่ในเวียดนาม ” แล้วมีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะไม่สร้างสรรค์งานหละ ?” ฉันต้องตำหนิทัศนคติทางประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ตื้นเขินของฉันเอง และต้องตระหนกต่อการขาดวิสัยทัศน์ในการตั้งคำถามถึงการมีตัวตนอยู่ของศิลปินเหล่านี้ เพื่อสรุปเรื่องยาวให้สั้นลง ฉันพบความจริงในไม่ช้าว่า ไม่เพียงแค่ตัวงานจิตรกรรมสมัยใหม่ของเวียดนามเท่านั้นที่น่าศึกษาและน่าวิจัย แต่ศิลปินเหล่านี้ยังมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญ และมีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ของเวียดนามด้วย บางครั้งศิลปินกลุ่มหนึ่งได้รับการศึกษาในสถาบันของฝรั่งเศส ขณะที่ศิลปินคนอื่นๆอีกหลายคนเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้าน บางคนเป็นชาวไร่ชาวนา เป็นทหาร เป็นฝ่ายล่าอาณานิคม เป็นฝ่ายต่อต้านนักล่าอาณานิคม เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเป็นนักปฏิรูป ชีวิตของศิลปินเหล่านี้น่าสนใจพอๆ กับประวัติศาสตร์ของเวียดนามเองเลยทีเดียว และงานศิลปะของพวกเขาก็เป็นประจักษ์พยานของประสบการณ์และความรู้สึกของพวกเขาเหล่านั้น ที่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ต่างๆทางสังคมการเมือง การชักจูงใจภัณฑารักษ์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะให้เชื่อว่า การสร้างสรรค์งานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันมีคุณค่าสูงพอแก่การลงไปศึกษามากเท่าๆกับช่วงเวลาอื่นในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำให้สำเร็จได้ง่ายๆ ด้วยการจัดสัมมนาในประเด็นนี้เพียงวันเดียว การตั้งสมมุติฐานเอาไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่เราศึกษาหรือต่อคำถามที่ว่าทำไมเราจึงถูกตรึงติดลึกอยู่กับทัศนคติที่มีต่อเอเชียนั้น มันเป็นสิ่งที่เรารับรู้กันมาผ่านสายตาชาวตะวันตกรุ่นก่อนที่ชาวตะวันตกเองจะได้เคยไปสัมผัสกับทวีปนั้นเป็นครั้งแรกเสียด้วยซ้ำ การนำผลงานศิลปะประเภทคอนเซ็ปท์ชวล วิดีโออาร์ต และศิลปะสื่อผสม หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า ผลงานที่ดูคล้ายๆ กับงานศิลปะที่เราเห็นได้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะกุกเกนไฮม์ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทนีย์ หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนครนิวยอร์ก เข้ามาแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียจะเป็นสิ่งที่สร้างความฉงนให้แก่ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และผู้ชมที่ส่วนมากจะคุ้นเคยกับการได้ชมเศียรพระพุทธรูป ถ้วยโถเครื่องปั้นดินเผา และภาพวาดพู่กันที่เป็นม้วนตามหอศิลปะเอเชียมากกว่าของเล่นพลาสติกหรือข้อความอักษรวิ่งจากสื่ออิเลคโทรนิค แน่นอนเรื่องนี้บอกอะไรบางอย่างว่า กลุ่มผู้ชมของพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นมองวัฒนธรรมเอเชียอย่างไร มันเป็นอะไรบางอย่างที่โบราณ และเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณที่ ไม่มีแง่มุมทางการเมืองและล้าสมัย
ในขณะที่ฉันต่อสู้อย่างจริงจังเพื่อความคิดที่จะรวบรวมศิลปะสมัยใหม่เข้าไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย สิ่งที่ทำให้ฉันสนใจอย่างยิ่งก็คือ ทำอย่างไรการนำเสนอศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์จึงจะหรือสามารถที่จะเปลี่ยนวิถีทางที่เรามองงานศิลปะโบราณ ความจำเป็นในการพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนต่อสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันควรช่วยให้เราตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เราจำเป็นจะต้องทบทวนสมมุติฐานต่างๆ ของเราต่อสิ่งที่เป็นอยู่ในอดีตด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการมองในจุดที่ว่า ศิลปินในปัจจุบันตอบสนองต่อจราจลทางการเมือง หรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างไรนั้น ควรจะนำเราไปสู่ผลงานที่เป็นประจักษ์พยานของความยุ่งเหยิงและความยากลำบากในอดีตด้วย นักประวัติศาสตร์ศิลป์มักจะสรรเสริญความยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยของนครวัด ราวกับว่านั่นเป็นการบรรลุถึงจุดสูงสุดของศิลปกรรมเสียแล้ว แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าพอจะเทียบเคียงกันได้เลยหรือ ระหว่างการที่จะศึกษาสถาปัตยกรรมของนครวัดกับการศึกษาว่านครวัดบอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับการเมืองของกัมพูชา หรือสำคัญยิ่งไปกว่านั้น งานศิลปะของชาวกัมพูชาที่ถูกมองโดยทั่วไปว่า ไม่”งดงาม”เท่ากับประติมากรรมของนครวัด จะไม่มีคุณค่าแก่การศึกษากระนั้นหรือ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง มีคนบอกฉันว่า ศิลปินร่วมสมัยชาวพม่าแทบจะไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยมากที่จะหาสีน้ำมัน ผ้าใบ หรือกระดาษมาได้ พวกเขาจะใช้ทุกอย่างที่มือของเขาจะหามาได้เพื่อที่จะสร้างสรรค์งานขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้บอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองพม่าเลยเชียวหรือ ? ยังมีตัวอย่างให้ฉันยกขึ้นมาได้อีกมากมาย จุดประสงค์ของฉันเรื่องนี้ก็คือ การมุ่งความสนใจไปสู่ศิลปะร่วมสมัยของเอเชียซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสถาบันศิลปะหลายแห่งไม่ควรกลับกลายเป็นการละเลยศิลปะในอดีต แต่เป็นที่คาดหวังในทางตรงข้ามว่า ความสนใจในการที่จะหาทุนสนับสนุนการวิจัยใหม่ หรือการขุดค้นหาองค์ความรู้ใหม่ และวงการวิชาการในทิศทางใหม่ในเรื่องทางโบราณจะเป็นการช่วยกันสานมือต่อมือเพื่อที่จะค้นหา ” สิ่งใหม่” แห่งเอเชีย
จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล
แปลจาก Nora Taylor.”Shaking the Establishment : Researching the Contemporary Art of Southeast Asia” In Suvannabhumi : Southeast Asia Land of Gold. Newsletter of the Program for Southeast Asian Studies at Arizona State University . Vol.10, Number 1, December 1998. p.7.