โดย ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์
สุวรรณ เมธาพิสิฐ นำเสนอผลงานศิลปะล่าสุด ” ARTIST AND ARTIST” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากสูจิบัตรสุวรรณได้แถลงว่า สำหรับเขาแล้วงานศิลปะคือความรู้สึก หรือความคิดของศิลปินเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมผ่านประสบการณ์การเห็น ด้วยวัยประมาณ 40 สุวรรณจึงมีประสบการณ์การเห็น (และอื่นๆ) ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อ
การแสดงออกซึ่งประสบการณ์ส่วนหนึ่งเชื่อมต่อมาจากงานแสดง 2 ครั้งที่ผ่านมาของเขาในประเทศไทยคือ SEE SAW SEEN MANGOSTEEN ( ที่โรงละครกรุงเทพ , 2537) และ HE, SHE, IT (ART FORUM, 2538) ณ งาน ARTIST AND ARTIST นี้ เราจะเห็นอย่างชัดเจนถึงความต่อเนื่องขององค์ประกอบบางตัว เช่น หมูออมสินสีแดงซึ่งปรากฏมาตั้งแต่ 2537 แม้คราวนี้หมูจะดูเข้มข้นทางอารมณ์มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ส่วนตัวที่เข้มข้นขึ้นภายใต้สถานการณ์ของกรุงเทพฯ มังคุด ตามมาตั้งแต่ 2537 เช่นกัน และองค์ประกอบเล็กน้อยตั้งแต่การฝนเส้นปากกาจนกลายเป็นน้ำหนักที่เขาทำมาอย่างน้อยเกือบสิบปี และสีหยดผ่านรูปซึ่งเป็นความต่อเนื่องของกระบวนการแสดงออกส่วนบุคคล แต่ในงานชุดนี้มีสื่อตัวใหม่ ซึ่งนำเสนอความคิดชุดใหม่ที่ศิลปินเลือกมาใช้ ทำให้เราอาจจะตีความความคิดต่อไปได้ ตั้งแต่การตั้งชื่องานว่า ARTIST AND ARTIST ก็สื่อให้เห็นความต้องการที่จะสื่อถึงตัวศิลปินเองและศิลปินอื่น ดังเช่นที่ปรากฏในรูปชุดนี้ที่มีภาพของ วินเซนท์ ฟาน ก็อก ( Vincent Van Gogh) ทั้งภาพเหมือนบางภาพ ภาพทานตะวันอันโด่งดัง และภาพของมาริลิน มอนโร ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง กระบวนการวาดภาพของสุวรรณที่ดูเหมือนการล้อเลียนภาพเหมือนของศิลปินทั้งสองภาพ และภาพดอกทานตะวัน เมื่อพิจารณาในส่วนนี้ เราจะเห็นความกำกวมที่ปรากฏขึ้น เนื่องจากความไม่แน่ใจของผู้ชมเองว่าสุวรรณตั้งใจจะลอกเลียน ( copy) ตัวงานดั้งเดิม (original) ในระดับใด ถ้าสุวรรณต้องการ ลอกเลียนมาทุกส่วน เราอาจจะยังไม่พึงพอใจกับผลของมันมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วคงไม่ใช่ และมีองค์ประกอบบางตัวที่ชี้ให้เห็นว่า ความคิดที่แฝงอยู่ในงานนี้คงไม่ตื้นเขินเช่นนั้น ความจงใจที่จะนำองค์ประกอบเดิมส่วนตัวเข้าไป เช่น หมู-มังคุด หรือสีปากกาดำฝน และสีหยดไหลชวนให้เราครุ่นคิดต่อว่า จริงๆแล้ว “สาร” ที่ศิลปินต้องการ “สื่อ” คืออะไร
ประเด็นปัญหาสำคัญของงานชิ้นนี้ชัดเจนเมื่อพิจารณารูปอีกชุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นรูปเขียนสี แต่ถูกติดตั้งอยู่เคียงคู่กัน รูปชุดนี้เป็นการถ่ายภาพรูปจริงที่ถูกเขียนขึ้น แล้วนำไปผ่านกระบวนการอัดรูปย่อ-ขยาย นำมาติดตั้งกับกล่องใส่ซีดีแล้วประกอบกันขึ้นเป็นกรอบรูป ณ ที่นี้ด้วยสื่อของการถ่ายภาพ เราเห็นตัวความคิดอันชัดเจนที่จะเล่นกับความจริงแท้ของงานต้นแบบกับความไม่จริงของงานลอกเลียน และเจตจำนงของทั้งสองความคิดนี้ ในกระบวนการพัฒนาการทางศิลปะของตะวันตก ความเป็นงานต้นแบบกับการลอกเลียนนั้นมีสถานะที่เลื่อนไหลไปตามยุคสมัย วาลเทอร์ เบนญามิน ( Walter Benjamin) ก็เคยแสดงให้เห็นแล้วว่าความเป็น original นั้นผูกอยู่กับความแท้ ( authenticity) ดังนั้นจึงผลิตซ้ำ ( reproduce) ไม่ได้ แต่ภาพถ่ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกที่ความแท้ถูกผลิตซ้ำได้ ทำให้มีปริมาณมาก (ในขณะที่งานดั้งเดิมคุณค่าจะผูกติดกับความมีชิ้นเดียว) และการผลิตซ้ำนี้อยู่ในเจตจำนงมาแต่แรก
สุวรรณนำเอาสื่อภาพถ่าย ซึ่งเคยมีเจตจำนงที่จะผลิตงานซ้ำให้มีจำนวนมากกลายเป็นงานต้นแบบ ทั้งนี้ด้วยการซ้อนความหมายประกอบภาพถ่ายซ้ำเข้าไปในกรอบรูปแบบประเพณีนิยม ทำให้สถานะความจริงของงานเลื่อนไหลไปมาจนยากจะกำหนดให้แน่ชัด นี่เป็นการตีความในเชิงการสื่อ แต่ในตัวความหมายที่แท้จริงงานแสดงครั้งนี้ยังมีสิ่งให้ขบคิดต่อไปอีก นั่นคือศิลปินจงใจที่จะ “วิจารณ์” สถานะของตัวตนของการลอกเลียน ณ ปัจจุบัน เราเคยชินกับวาทกรรมที่ว่า การลอกเลียนนอกจากจะไม่มีคุณค่าแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ชวนให้ประณามได้อย่างไม่ลังเล และเราเชื่อเช่นนั้น แต่ศิลปินอย่างสุวรรณย่อมมีแนวความคิดที่แตกต่างออกไป เขาเห็นว่าการลอกเลียนนั้นมีคุณค่าในตัวเอง และไม่ใช่กิจกรรมที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเพียงอย่างเดียว แต่มันมีด้านดีในตัวเองหรืออาจจะมีแต่ด้านดีก็ได้ และ ประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การลอกเลียนนั้นมีด้านดี ตัวอย่างเช่น การลอกเลียนงานกรีกของพวกโรมันก็ทำให้เราได้ “ศึกษา” งานต้นแบบโดยผ่านการลอกเลียนได้ เมื่อในต้นแบบเสียหายไป ดังนั้นวาทกรรมที่ว่า การลอกเลียนนั้นเลวมาจากไหน
การลอกเลียนนั้นเลว และการผลิตซ้ำเป็นกิจกรรมที่ต้องถูกประณาม มีสถานะของการกำเนิดขึ้นมาใกล้เคียง หรือพร้อมๆกับการกำเนิดของลิขสิทธิ์ที่มีความตั้งใจจะกำหนดคุณค่าของความเป็นต้นแบบว่า มีคุณค่าเชิงความคิด และความคิดนี้สมควรได้รับผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นอุดมการณ์แบบทุนนิยม ดังนั้นเอกลักษณ์ของการกำหนดคุณค่าเชิงดีเลว ซึ่งเป็นมาตรฐานเชิงศีลธรรมจึงเลื่อนไหลไปมา ในสังคมแบบโรมันการลอกเลียนและผลิตซ้ำเป็นกิจกรรมอันควรสรรเสริญ แม้กระทั่งปัจจุบันความหมายของความดีในการลอกเลียนของศิลปินโรมันก็ยังมีอยู่ถ้าอยู่ในบริบทเชิงการศึกษา แต่ในสังคมปัจจุบันการลอกเลียนนั้นเลวภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เมื่อคุณไม่จ่ายค่าตอบแทน จะเห็นได้ว่ามาตรฐานความดีเลวเลื่อนไหลไปตามบริบททางสังคมและเวลา แม้แต่ในเวลาเดียวกันแต่ต่างบริบททางสังคม ความดีเลวก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ เรายังเคยรับรู้เกี่ยวกับการขายโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างๆโดยวัดค่าผ่านจำนวนแผ่นดิสก์ เช่น โปรแกรมนี้ใช้พื้นที่ดิสก์สิบแผ่น แผ่นละสิบบาท รวมหนึ่งร้อยบาท ซึ่งเป็นค่าเชิงวัตถุอย่างเดียว ไม่มีค่าของความคิดอยู่เลย ณ ปัจจุบันในบริบทของสังคมไทยเราก็ยังอยากที่จะใช้วิธีนี้อยู่ แต่โดยผ่านมาตรฐานของ อุดมการณ์แบบทุนนิยม โดยอาศัยกฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายการค้าระหว่างประเทศฉบับต่างๆ ทำให้เอกลักษณ์ที่ว่า การลอกเลียนนั้นดีต้องถูกเก็บกดให้อยู่เงียบๆ ส่วนผู้ที่ส่งเสียงดังชัดเจนว่า การลอกเลียนนั้นเลว ความจริงแล้วผู้ที่เป็นต้นแบบความคิดของสิ่งประดิษฐ์ต่างๆไม่ใช่ว่าจะไม่อยากให้มีการผลิตซ้ำ ยิ่งผลิตซ้ำมากจนกลายเป็นกระแสหลักยิ่งดี (เช่นกรณีวิดีโอระบบ VHS เอาชนะระบบ BETA ไปได้) แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า คุณต้องจ่ายสตางค์ ถ้าคุณจ่ายสตางค์การเลียนแบบและผลิตซ้ำนั้นดี
การจัดระเบียบเพื่อแยกดีเลวของการเลียนแบบผลิตซ้ำ จึงถูกจัดด้วยมาตรฐานแบบ ทุนนิยม คือต้องใช้สตางค์ และควบคุมได้ จึงต้องมีการสร้างอำนาจที่จะควบคุมให้การเก็บเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราเองก็ยอมรับในอำนาจนี้ วาทกรรมที่ว่า การลอกเลียนและผลิตซ้ำเลว ถ้าไม่จ่ายสตางค์ จึงกลายมาเป็นวาทกรรมหลักของสังคมในปัจจุบัน เพราะเราเองก็นิยมสะสมทุนหรือเงินเหมือนกัน จนบางทีเราก็ลืมไปว่า วาทกรรมที่ว่าด้วยการสะสมทุนนั้นดีและมีความหมายเหนือวาทกรรมอื่นๆในปัจจุบัน ( เช่นการสะสมทางจิตดี) ก็เป็นวาทกรรมที่เราถูกยัดเยียดมาเช่นกัน
งาน ARTIST AND ARTIST ของสุวรรณ เมธาพิสิฐ ในครั้งนี้จึงนำเสนอประเด็นอันชวนไตร่ตรองใหม่อีกครั้งในสังคมได้ ตั้งแต่เรื่องการลอกเลียน ความเป็นต้นแบบ มาตรฐานเชิงศีลธรรมของความดีเลว และสถานะอันเลื่อนไหลของมัน อันเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆของการวิจารณ์สังคม วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของเราด้วยงานศิลปะ ซึ่งในระดับของงานศิลปะเอง งานนี้ก็ตั้งคำถามให้ขบคิดได้ เช่น ความจริงแท้กับการผลิตซ้ำ หรือสื่อกับการแสดงออกในเชิงปรัชญา สุวรรณเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางความคิดของวาทกรรมอันหลากหลาย เขาอาจจะทำให้เราต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า เอกลักษณ์ของความดีเลวในเรื่องต่างๆในสังคมนั้น มีการก่อตัวและเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร และกระบวนการนั้นได้รับอิทธิพลหรือการบีบบังคับจากพลังส่วนใดมาบ้าง และนี่คงจะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของความคิดในการสร้างสรรค์งานศิลปะของสุวรรณ เมธาพิสิฐอีกครั้ง
ที่มา: ชัยยศ อิษฏ์วรพันธ์. ” ARTIST AND ARTIST.” Art 4 d ฉบับที่ 19 ( กันยายน 2539), หน้า 43.