รองศาสตราจารย์ มานพ พงศทัต

รองศาสตราจารย์มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักผังเมืองเขาเดินทางมาแล้วทั่วโลก สัมผัสเมืองน้อยใหญ่ทั้งเจริญสุดขีด ศูนย์กลางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การทหาร ไปจนถึงเมืองที่มีความอดอยากยากจนไปทั่วท้องถนนทุกมุมเมือง 

 

 

“กรุงเทพฯ นี่นะเป็นเมืองที่มีแม่น้ำเยอะ มีน้ำเยอะ เราเผอิญใช้ American consultant เข้ามาในสมัยสฤษดิ์ ทำเมือง ซึ่งก็เป็นอีกแนวหนึ่ง เมืองในอเมริกาพัฒนาเมืองด้วยการขนส่งทางรถยนต์ ตัดถนนให้รถยนต์วิ่ง ที่เรียก “automobile city” ขณะที่ฮอลแลนด์(เนเธอร์แลนด์)ในอัมสเตอร์ดัมมันผสมผสานระหว่างคลอง ผมเคยเขียน article สมัยนู้นว่าถ้าสมัยนั้นเรามีที่ปรึกษาเป็นเนเธอร์แลนด์แทนอเมริกันเมืองจะเปลี่ยนไปมั๊ย?เปลี่ยน คอนเซปต์ในการพัฒนามันต่างกัน อเมริกันก็คือถนนหนทางกระจายไป เราทำถนนไปอุตลุด ฮอลแลนด์คือส่วนผสมระหว่างน้ำกับเมือง แต่เราเลือกทางเดินนี้มาในอดีตแล้วนี่ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้หมด”

 

กรุงเทพฯ ในวันนี้เปรียบเสมือนหนุ่มน้อยวัยฉกรรจ์ หนุ่มน้อยผู้นี้มีความเป็นไปได้ที่จะไปในทางดีงาม และทางเสื่อม ผังเมืองเปรียบดั่งฝ่ายปกครองของโรงเรียน ที่ช่วยประคับประคองให้เด็กหนุ่มรายนี้มีวิถีทางทีดีงาม เป็นที่พึ่งพาและสร้างคุณูปการต่อสังคมที่สร้างเขาขึ้นมา

 

“คนเยอะขึ้น คุณไม่จัดระบบก็เละสิ กรุงเทพฯ กำลังเป็นแบบนี้ เมืองเหมือนกับบ้าน ใครใคร่อยู่ อยู่ ใครใคร่สร้าง สร้าง ผังเมืองคือจัดระเบียบนั่นเอง จัดระเบียบว่าตรงนี้ทำการค้า ตรงนี้อยู่อาศัย ตรงนี้ทำอุตสาหกรรม ตรงนี้สวนสาธารณะ ตรงนี้พาณิชยกรรม กำหนดห้องหับให้มันชัดเจนอะไรเหมาะก็ทำส่วนนั้น ต้องจัดระเบียบผังเมืองให้เป็นระเบียบเหมือนบ้าน เราเริ่มค่อยๆ จัด เพราะผังเมืองนี่เขาเรียกเป็น Dynamic action ไม่ใช่จัดทีเดียวแล้วอยู่ยั่งยืนหรอกคนมากขึ้นก็ต้องจัดขึ้น และผังเมืองก็อยู่ได้ 5 ปี 8 ปี เพื่อให้มันดีขึ้นๆ”

 

“ผังเมืองไม่ตายตัว มันดิ้นได้ ไม่ใช่สร้างไปแล้วมันเป๊ะเลยนะครับ คนมากขึ้นความต้องการมากขึ้นมันก็ต้องปรับ เหมือนบ้านเราเมื่อคนมากขึ้น คนเป็นหนุ่มสาวมากขึ้นก็ปรับได้ มีลูกก็ต้องมีห้องลูกเหมือนกับบ้าน“

 

เมืองฟ้าอมรแห่งนี้แม้จะเป็นที่หมายปองของผู้คนทั้งประเทศ หากแต่ลองพินิจพิเคราะห์ดูให้ลึกก็เหมือนกับคนในอยากออก(แต่ออกไม่ได้ ขณะที่) คนนอก(ก็)อยากเข้า ปัญหาที่เกิดขึ้นรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากเมือง จากนั้นจึงลามขยายออกไปยังพื้นที่ภายนอก เสมือนเมืองแห่งความเสื่อมโทรมที่ปรากฏขึ้นพร้อมภาพความเจริญรุดหน้าของเมือง

 

“กรุงเทพฯ ยังน่าอยู่สำหรับคนทั่วไป เรียนจบก็อยากมาอยู่กรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ มีเสน่ห์ มีเสน่ห์หลายอย่างไม่ใช่แค่เมืองอย่างเดียว มีเสน่ห์เพราะกิจกรรมด้วย มีคำภาษาอังกฤษอยู่ 2 คำ ถามว่าทำไมชอบกรุงเทพฯ? มันบอกกรุงเทพฯ Exciting ตื่นเต้น และ Exotic ลี้ลับ กิจกรรม 24 ชั่วโมงตลอดวัน ทำอะไรก็ได้ไปเที่ยวตอนกลางคืนก็สนุกสนานอาหารการกินพร้อม วัฒนธรรมดี คนมีจิตใจอารี มีที่ไหนในโลก?ไม่มี คนต่างชาติเขามาเพราะเหตุนี้ ข้าวของก็ถูก มันเลย Exciting & Exotic คำนี้มันดีมากๆ เลย ที่อื่นอาจจะ Exciting ไม่ Exotic ไม่ลี้ลับ ไม่มีวัฒนธรรม บางที Exotic ไม่ Exciting ของเรานี่ Balance อย่างดีเราก็ต้องใช้ผังเมืองนี้สร้างสมดุลตรงนี้ให้ดี อย่าให้ผู้ประกอบการโลภจนเกินไป คนเข้ามาก็ต้องจัดระเบียบกระจายออกไปนี่เป็นหน้าที่ของเราที่จะ ไดแลนด์ ตัวนี้ ผังเมืองคือการสร้างสมดุลที่มีมาตรฐาน”

 

“กรุงเทพมหานครเมืองของประมาณ 10 ล้านคน ก็เปรียบเทียบแถวนี้โตกว่าเราทั้งนั้น เปรียบได้กับเซี่ยงไฮ้ ใน 3–4 ปีที่ผ่านมาเป็นเมืองที่โตเร็วที่สุดในโลกไปถามคนจีนบอกเรียนขบมหาวิทยาลัยอยากทำงานที่ไหน? 80% บอกว่าอยากจะทำที่เซี่ยงไฮ้ คนไทยก็เหมือนกันจบมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอยากจะทำงานที่ไหน? 65–75 % อยากทำงานที่กรุงเทพฯ คนก็ต้องหลั่งไหลเข้ามาทำเมืองมันก็โต กรุงเทพฯมีลักษณะอย่างนั้นคล้ายๆ เซี่ยงไฮ้ แต่ว่าเล็กกว่าประมาณเกือบเท่าตัว ถ้าดูเมืองแถบๆ นี้ โตเกียว เขาโตไปกว่าเราเยอะ” ปัญหาสารพัดกระจุกอยู่ในเมือง เมืองคือต้นเหตุแห่งปัญหา หรือปัญหาเกิดเพราะเมืองไม่ดี สิ่งนี้น่าคิด

 

“ต้องพูดถึงคน ไม่มีคนไม่มีเมือง เมืองออกแบบเพียงไรไม่มีคนมันก็เจ๊ง!ใครๆ ก็อยากไหลเข้าเมือง พอไหลเข้าเมืองก็ต้องมีความต้องการเรื่องความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่พักผ่อน มนุษย์ต้องการสูตรที่เรียกว่า 888 คนต้องการนอน 8 ชั่วโมง ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง ก็ต้องจัดพื้นที่ เพราะคุณเข้ามาในเมืองก็เหมือนบ้านคุณต้องจัดพื้นที่ ถ้าบอกว่าผู้ประกอบการสร้างอุตลุด เพราะสร้างเพื่อความต้องการของคน แต่ผังเมืองคือการที่เราต้องพยายามสร้างกรอบให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเรื่องสิ่งแวดล้อม จัดระเบียบให้มันพอดีๆ”

 

 

***********************************

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...