จิตรกรรมและวรรณกรรมแนวเซอร์เรียลิสต์

จิตรกรรมและวรรณกรรมแนวเซอร์เรียลิสต์ในประเทศไทย พ.ศ. 2507-2527 โดย สดชื่น ชัยประสาธน์
… ในวงการจิตรกรรม ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากเซอร์เรียลิสม์มีทั้งศิลปินที่ได้รับการศึกษาศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและที่อื่น ข้อสังเกตประการแรก ก็คือ ศิลปินที่สร้างงานแนวเซอร์เรียลิสต์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์สังคมนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นศิลปินที่มิได้อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร

เว้นแต่ธนะ เลาหกัยกุล และธรรมศักดิ์ บุญเชิด ศิลปินที่ยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะเซอร์เรียลิสต์และทำงานแนวนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางได้แก่ เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ ถวัลย์ ดัชนี และจิระศักดิ์ พัฒนพงศ์ ส่วนอังคาร กัลยาณพงศ์นั้นมีผู้ระบุว่า กวีนิพนธ์ของเขามีลักษณะเซอร์เรียลิสต์และผู้วิจัยก็ได้ค้นพบว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากภาพเซอร์เรียลิสต์บางภาพในการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ แต่ตัวศิลปินเองไม่ยอมรับชัดเจนว่ารับแรงบันดาลใจจากศิลปะลัทธินี้ เพียงแต่แสดงความชื่นชมภาพ นาฬิกาเหลว ของดาลีอย่างเปิดเผยเท่านั้น วิโรจน์ นุ้ยบุตร นัยนา โชติสุข สมชัย หัตถกิจโกศล ไพศาล ธีรพงษ์วิษณุพร สร้างผลงานที่แสดงว่ามีแนวโน้มทางจิตวิทยาใกล้เคียงกับศิลปินเซอร์เรียลิสต์ แต่วิโรจน์ก็มีผลงานทำนองนี้น้อย ภายในเวลาสั้นๆ นัยนา ทำงานสม่ำเสมอแต่ปริมาณไม่มาก ส่วนสมชัยนั้นแสดงผลงานแนวนี้อยู่เฉพาะช่วงปี 2512-2515 และ 2521 แล้วหยุดไปเป็นเวลานาน เพิ่งจะกลับมาเสนอผลงานจิตรกรรมแนวเซอร์เรียลิสต์อีก เมื่อต้นปี 2536 ซึ่งเป็นระยะหลังจากช่วงที่ศึกษา เช่นเดียวกับไพศาล ที่เสนอผลงานแนวสังคมไว้มากในช่วงปี 2520-2526 แล้วกลับมาแสดงภาพใหม่ในปี 2536 มีนัยทางเพศสูง … แต่ปริมาณงานน้อยกว่าสมชัยมาก

ประเทือง เอมเจริญ ปัญญา วิจินธนสาร พิชัย นิรันด์ ก็ได้รับแรงบันดาลใจเชิงเทคนิค กลวิธีจากภาพวาดเซอร์เรียลิสต์แล้วนำมาผสมผสานกับเนื้อหาทางสังคม ประสบการณ์ชีวิต ศาสนา และ/หรือจิตรกรรมไทยประเพณี เพื่อสร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัวอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะคลี่คลายไปสู่แนวทางอื่น สำหรับศิลปินคนอื่นๆนอกจากที่กล่าวมาแล้ว เซอร์เรียลิสม์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจจากตะวันตกที่ได้รับมาใช้ในการทดลองสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมอยู่ช่วงหนึ่งในระยะเวลาสั้นๆ เช่น โกวิท อเนกชัย (เขมานันทะ) วรฤทธิ์ ฤทธาคนี อวบ สาณะเสน ช่วง มูลพินิจ บางคนเช่น วิวิชชา ยอดนิล ศุภชัย สุกขีโชค พยัด ชื่นเย็น ดวงรัชฏ์ โตสมบุญ โลจนา พลาวงศ์ ฯลฯ ก็นำแรงบันดาลใจจากเซอร์เรียลิสม์มาเป็นเพียงแนวทางในการทำวิทยานิพนธ์เท่านั้น

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ มีศิลปินบางคนที่ได้รับการระบุว่ามีผลงานแนวเซอร์เรียลิสต์แต่เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่มีตัวบ่งชี้ชัดเจนว่าได้ใช้แรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปิน เซอร์เรียลิสต์ในการสร้างสรรค์ เพราะลักษณะที่ปรากฏอาจตีความได้ ( หรือศิลปินเองระบุ) ว่าเป็นผลงานจากแนวคิดอื่น เช่น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งพัฒนาแนวทางจากศิลปะไทยโบราณและของตะวันออก มณเฑียร บุญมา ระบุว่าได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะ Conceptual เป็นสำคัญ ส่วนวินัย ปราบริปูนั้น มีผู้ระบุว่าเขาทำงานแนวเซอร์เรียลิสต์ แต่ปรากฏว่ามีภาพจิตรกรรมของเขาในช่วงก่อน 2527 ยังเป็นการรับแรงบันดาลใจจากศิลปินยุคก่อนเซอร์เรียลิสต์ เช่น บอชและเบลคอยู่ กรณีเช่นนี้ทำให้อนุมานได้ว่า ความเข้าใจในเรื่องเซอร์เรียลิสม์ยังไม่ตรงกัน ในบางกรณีที่ระบุว่าผลงานของศิลปินบางคน เช่น ภาพ คนนั่ง ของจักรพันธุ์ โปษยกฤต มีบรรยากาศฝันๆแบบเซอร์เรียลิสม์นั้น ภาพที่เลือกมาเป็นตัวอย่างไม่ใช่ผลงานที่แสดงเค้าของแรงบันดาลใจจาก เซอร์เรียลิสม์อย่างเด่นชัดเท่ากับภาพในระยะฝึกหัด ระหว่างที่จักรพันธุ์เป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ ซึ่งมีตัวบ่งชี้ถึงการรับแรงบันดาลใจจากวิธีการเกลี่ยสีพื้นและไม้ค้ำของดาลี

กล่าวโดยสรุป ลักษณะของแรงบันดาลใจที่ได้รับจากเซอร์เรียลิสม์ส่วนใหญ่เป็นเทคนิค กลวิธี รูปแบบ บรรยากาศ หรือองค์ประกอบของภาพบางอย่าง อาจกล่าวได้ว่า เน้นรูปทรงและทัศนธาตุ (Visual element) มากกว่าเนื้อหาของแนวคิด หรือปรัชญา การเลือกรับแรงบันดาลใจเห็นได้ชัดว่าขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวของศิลปินไทย ซึ่งมีลักษณะพ้องกันเป็นส่วนใหญ่ …

… ผู้วิจัยขอให้ความคิดเห็นไว้ ณ ที่นี้ว่า เซอร์เรียลิสม์เป็นขบวนการหนึ่งของศิลปะ ตะวันตกที่มีพลัง แข็งแกร่ง รุนแรง น่าทึ่ง ให้อิทธิพลแก่ศิลปินนานาประเทศ ไม่เพียงในทวีปยุโรปหรืออเมริกาเท่านั้น แต่รวมถึงทวีปเอเชียด้วย ในแง่เสริมกำลังให้กล้าแสวงหาและแสดงออกซึ่งตัวตนที่แท้จริง หรือ “ความจริงสูงสุด” อย่างเสรี โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นจากกระแสแนวนิยมนี้ เพียงแต่เมื่อเริ่มรับนั้นขบวนการต้นแบบได้อ่อนกำลังใกล้จะสลายตัวลงแล้ว อนึ่ง ไทยไม่ได้รับเรื่องเซอร์เรียลิสม์เข้ามาเป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการทางศิลปะ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของประมวลความรู้เกี่ยวกับกระบวนวิธีและแนวนิยมทางศิลปะตะวันตกโดยรวม นักศึกษาศิลปะได้เรียนรู้เรื่องเซอร์เรียลิสม์พร้อมกับลัทธิศิลปะตะวันตกแบบอื่นๆ เช่น Realism, Cubism, Impressionism, Abstractionism ฯลฯ เทคนิควิธีการแสดงออกของแต่ละลัทธิเป็นเสมือน “เครื่องปรุง” หรือ “วิธีการปรุงแต่ง” ใหม่ๆ สำหรับที่จะเลือกนำมาใช้ผสมผสานกันตามชอบและให้เหมาะแก่วัตถุประสงค์เป็นกรณีๆ ไป โดยประยุกต์กับต้นทุนวัฒนธรรมเดิม และอาศัยฝีมือกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เฉพาะตัวเข้าประกอบด้วย

น่าสังเกตว่าสิ่งที่นักเขียนและศิลปินไทยไม่ได้รับมาจากเซอร์เรียลิสม์เห็นจะได้แก่ แนวคิด ปรัชญา การต่อต้านเหตุผล การต่อต้านศาสนา และการให้คุณค่าแก่ผู้หญิงในฐานะ ” มหาสัญญา” เพราะคนไทยมีบริบททางวัฒนธรรม สังคม และการเมืองที่ต่างจากกลุ่มเซอร์เรียลิสต์ ส่งผลให้แนวคิดในเรื่องเหล่านี้ต่างไปด้วย พวกเซอร์เรียลิสต์ฝรั่งเศสตั้งตนเป็นศัตรูกับชนชั้นกลางและคริสต์ศาสนา เพราะถือว่าทั้ง 2 ฝ่ายนั้นเป็นต้นเหตุที่นำประเทศหรือโลกเข้าสู่สงครามทั้งโดยตรงและโดยอ้อม วิธีที่แสดงความเป็นปฏิปักษ์ก็คือ ต่อต้านค่านิยมของชนชั้นกลางและจริยธรรมความเชื่อของคริสต์ศาสนา … … ส่วนกรณีของไทยตอนที่รับแนวนิยมเรื่องเซอร์เรียลิสม์มาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบ 20 ปี อันเป็นช่วงที่ไม่เหลือเค้าของความเดือดร้อนอันเนื่องมาแต่สงครามเท่าใดแล้ว ความคิดที่จะเคืองแค้นผู้ที่นำประเทศเข้าสู่สงครามก็เลือนลางไปแล้ว ที่สำคัญก็คือ ศาสนาหรือองค์กรศาสนาของไทยไม่เคยมีบทบาทที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามเลย ดังนั้นความรู้สึกที่เป็นอริกับศาสนาก็ไม่เกิดขึ้น ทั้งหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาหรือองค์กรศาสนาของไทยไม่เคยมีบทบาทที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามเลย ดังนั้นความรู้สึกที่เป็นอริกับศาสนาก็ไม่เกิดขึ้น ทั้งหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาที่ส่งเสริมให้ลดการยึดมั่นถือมั่น ตลอดจนการเน้นเรื่องการปลงและกฎแห่งกรรมก็เอื้อต่อการระบายความกดดันทางใจ ทำให้ไม่ได้เก็บสะสมความคับข้องใจหรือความขุ่นแค้นไว้มากจนเกิดการปะทุระเบิดเหมือนพวกเซอร์เรียลิสต์ ความบีบคั้นทางการเมืองและสังคมของไทยไม่เข้มข้นเท่ากับสังคมฝรั่งเศสยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงแม้จะผ่านยุคที่มีสงครามเวียดนาม การปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 แม้สองเหตุการณ์หลังอาจกระทบกระเทือนบ้าง แต่ความรุนแรงของเหตุการณ์ก็ไม่อาจจะเทียบได้กับสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ที่กระทบถึงชีวิตของพวก เซอร์เรียลิสต์ในฝรั่งเศสและในยุโรป ผลงานของศิลปินและนักเขียนไทยในกลุ่มที่นิยมเทคนิคกลวิธีแบบเซอร์เรียลิสต์และมีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม เช่น ประเทือง เอมเจริญ จิระศักดิ์ พัฒนพงศ์ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี ถึงจะมีการต่อต้านสงครามหรือความรุนแรงอยู่บ้าง แต่ก็มีลักษณะเป็นเชิงสะท้อนเหตุการณ์ประกอบการวิจารณ์โดยใช้ความคิดมากกว่าพลังอารมณ์เพื่อเร้าให้เกิดความคิดที่จะปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น ไม่ได้ถึงกับจะล้มล้างสังคมเดิมโดยสิ้นเชิงเหมือนพวกเซอร์เรียลิสต์ ในขณะที่กลุ่มเซอร์เรียลิสต์เห็นว่าจะต้องต่อต้านลัทธิเหตุผลนิยม (Rationalism) และลัทธิธรรมชาตินิยม ( Naturalism) ซึ่งให้ความสำคัญแต่เฉพาะสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล เชื่อแต่สิ่งที่เห็นได้ จับต้องได้ พิสูจน์ได้เท่านั้น เพราะต้องการพลิกคว่ำหรือลบล้างค่านิยมของสังคมและขนบทาง ศิลปวรรณกรรม ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกลางในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในช่วงต้นคือ ปลาย คริสต์ศตวรรษเดียวกันยังอยู่ในบริบทของวัฒนธรรมเดิม แม้ว่าจะมีคนที่อยู่ในระดับกลางๆของสังคม ( ไม่ใช่ผู้ปกครองและไม่ใช่กรรมกรหรือชาวนา) แต่แนวคิดเกี่ยวกับชนชั้นกลางในประเทศไทยก็ยังไม่ชัดเจน 1 หรือแยกห่างจากกลุ่มสังคมอื่นเด่นชัดพอที่จะนิยาม หรือตั้งตัวเป็นศัตรูต่อได้ อนึ่ง สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องของเหตุผลเท่าใดนักอยู่แล้ว การที่ศิลปินและนักเขียนไทยยกเอาเรื่องความไร้เหตุผลมานำเสนอในผลงานจึงจะถือว่า เป็นการขบถต่อค่านิยมของสังคมไม่ได้ถนัด อย่างมากที่สุดก็เป็นเพียงการล้อเลียนเสียดสีการถือเหตุผลผิดๆไม่ได้ประณามเหตุผล

สังคมตะวันตกยุคเหตุผลนิยมถือว่า การเอาร่างคนมาเชื่อมต่อกับสัตว์หรือพืชหรือวัตถุเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักความเป็นจริง พวกเซอร์เรียลิสต์จึงต่อต้านค่านิยมนี้อย่างรุนแรง โดยเน้นความสมจริงของรูปคนกับสิ่งอื่นที่ต่อติดกัน เพื่อให้ความขัดแย้งปรากฏชัดอย่างน่าตระหนก การสร้างความขัดแย้งในกรณีอื่น เช่น ก้อนหินลอย การดำเนินเรื่องโดยไม่คำนึงถึงลำดับต่อเนื่องของเหตุการณ์ตามความเป็นจริง ฯลฯ ก็เป็นความพยายามที่จะต่อต้านเหตุผลในทำนองเดียวกัน แต่ถ้าหันมาพิจารณาดูระบบความเชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เรื่องวิญญาณ ผีสางและพลังจิต ก็ยังเป็นความเชื่อที่มีลักษณะผสมระหว่างคนกับสัตว์ หรือสัตว์ต่างชนิดจึงเป็นไปได้เสมอ ไม่เฉพาะแต่ในตำนานเท่านั้น ภาพหรือภาพพจน์ทำนองนี้จึงไม่มีพลังที่จะเร้าปฏิกิริยาจากผู้ดูผู้อ่านในสังคมไทยได้เท่ากับที่ผลงานเซอร์เรียลิสต์สร้างผลกระทบในสังคมตะวันตก

ผลงานของนักเขียนและศิลปินไทยต่อต้านศาสนาแต่เฉพาะรายละเอียดบางอย่าง ไม่ได้โจมตีสถาบันศาสนาหรือหลักธรรม แต่โจมตีกระพี้หรือการตีความบางลักษณะและออกมาในรูปประชดเสียดสีมากกว่าล้มล้างเพื่อเสนอแนวทางใหม่ มีการนำตำนานชาดกเดิมมาเป็นฐานเพื่อสร้างภาพอุปมาใหม่ให้รูปแบบและการนำเสนออย่างใหม่ เช่น กรณีของถวัลย์ ดัชนี แต่ก็ยังคงสาระเค้าความคิด หรือการตีความเดิมไว้เป็นส่วนใหญ่ ที่ใหม่ก็คือ กลวิธีการนำรายละเอียดของภาพที่ยืมหรือพัฒนาจากตะวันตกมาประสานกัน กลวิธีของตะวันออกและลักษณะเฉพาะตนทำให้ผลงานจิตรกรรมและวาดเส้นของเขาดูแปลกใหม่ขึ้น พอที่จะดึงดูดสายตาและความสนใจของผู้ดูร่วมสมัยทั้งที่ร่วมและต่างวัฒนธรรม

ในทางทฤษฎี หัวหน้ากลุ่มเซอร์เรียลิสต์ประกาศว่า ผู้หญิงมีความสำคัญในฐานะ ” มหาสัญญา” เป็นสื่อหรือหนทางไปสู่ “ความรอด” ในชาตินี้แทนศาสนา เพราะเพศสัมพันธ์เป็นทางหนึ่งที่นำไปสู่ “ความรู้” หรือ “ความจริงสูงสุด” ซึ่งเป็นภาวะที่อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ความเชื่อตามแนวทฤษฎีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อจริยธรรมทางเพศของสังคมชนชั้นกลางในฝรั่งเศสช่วงนั้นอย่างรุนแรง แต่ในทางปฏิบัติมีแต่กวีเซอร์เรียลิสต์ที่ดูจะยกย่องผู้หญิงในลักษณะนี้ ส่วนจิตรกร เซอร์เรียลิสต์นั้นมักจะใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือสื่อความปรารถนาในลักษณะท้าทายมากกว่า ส่วนนักเขียนและศิลปินไทยเท่าที่ศึกษาจากผลงานทั้งก่อนและหลังจากที่รับแรงบันดาลใจจาก เซอร์เรียลิสม์แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีทัศนคติทางเพศต่างไปจากมาตรฐานของสังคมซึ่งอยู่ในกรอบของศาสนาพุทธแต่อย่างใด

แต่เดิมมาชายไทยมีทัศนะต่อผู้หญิงไม่สูงนัก ให้เกียรติแต่เฉพาะแม่เป็นสำคัญ (“ร้อยชู้ฤาเท่าเนื้อเมียตน เมียแล่พันฤาดล แม่ได้” ลิลิตพระลอ) แต่ผู้หญิงทั่วไปก็อยู่ในข่ายที่จะคว้าเอามาเป็นวัตถุบำเรอได้ถ้าไม่เป็นการละเมิดสิทธิของชายอื่น (” เมียของเขาเจ้าอย่าได้ทำร้าย สาวแก่แม่ม่ายเอาเถิดวา” ขุนช้างขุนแผน) ผู้หญิงคือมารของผู้สละโลก เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์และ ” เป็นเกาะแก่งกีดกั้นกระแสกุศล” (มหาเวสสันดรชาดก) ผู้หญิงในอุดมคติของชายไทยต้องเป็นคนสวย มีเสน่ห์ทางเพศ ว่านอนสอนง่าย ไม่มีปากมีเสียง เก่งการบ้านการเรือน ไม่เป็นหมัน ไม่ขี้หึง ถ้ามีทรัพย์ด้วยยิ่งดี ( ดังสำนวนพูดเล่นกันว่า “รูปสวย รวยทรัพย์ อับปัญญา พ่อตาตาย แม่ยายโง่”) หลังรับแรงบันดาลใจจากเซอร์เรียลิสม์ปรากฏว่าทัศนคติของศิลปินและนักเขียนไทยในส่วนที่เกี่ยวกับผู้หญิงไม่ได้ปรับไปตามแนวคิดเชิงทฤษฎีของเซอร์เรียลิสม์ แต่หลังจากที่ได้ศึกษาวิธีการของจิตรกรเซอร์เรียลิสต์มาแล้ว นักเขียนและศิลปินไทยดูเหมือนจะได้วิธีแปลกใหม่ที่จะตักตวงผลประโยชน์จากความเป็นผู้หญิงได้ถนัดมือยิ่งขึ้นมากกว่า ที่เห็นได้ชัดก็คือเอาผู้หญิงเป็นเครื่องมือสำหรับวิพากษ์วิจารณ์สังคมและแสดงนัยทางเพศอย่างโจ่งแจ้งกว่าเดิม ( แนวความคิดเห็นใจผู้หญิงมีปรากฏอยู่ประปรายทั้งก่อนและหลัง

การรับอิทธิพลจากเซอร์เรียลิสม์จึงไม่อาจนำมาสัมพันธ์กับการรับแรงบันดาลใจจากเซอร์เรียลิสม์ได้) แต่ความคาดหวังเกี่ยวกับผู้หญิงก็ไม่ปรากฏว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จิตรกรบางคนบอกว่าเห็นใจผู้หญิง ( โสเภณี) แต่ผลงานที่ออกมาไม่ชัดนักว่าเป็นความเห็นใจ เช่น กรณีของสมชัย หัตถกิจโกศล และไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร ในกรณีของสุวัฒน์ ศรีเชื้อ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และแก้ว ลายทอง ก็เอาผู้หญิงมาใช้เป็นเครื่องมือเสนอความคิดเชิงวิพากษ์ หรือนัยเสียดสีสังคมจากมุมมองของผู้ชาย โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้หญิงเท่าใดนัก ตัวอย่างก็คือวิธีแก้ปัญหาการข่มขืนผู้หญิงของสุวัฒน์ด้วยการปั้นรูปหญิงเปลือยนอนอ้าซ่าอยู่กลางสนามหลวงให้ผู้ชายกลัดมันได้บำบัดความใคร่ ชายไทยไม่ได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องเพศถึงระดับปรัชญาแบบพวกกวีเซอร์เรียลิสต์ ถึงจะชอบพฤติกรรมทางเพศเหมือนกันแต่ทัศนคตินั้นต่างกัน น่าสังเกตว่าในขณะที่ชายไทยส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องเพศเป็นความบันเทิง ผู้หญิง ( รวมทั้งจิตรกรหญิง เช่น นัยนา โชติสุข) ยังเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ใช่หนทางไปสู่ “ความรอด” หรือ “ความหลุดพ้น” อย่างที่พวกเซอร์เรียลิสต์ประกาศไว้ในแถลงการณ์ อนึ่ง นิยามของคำว่า “ความหลุดพ้น” และ “เสรีภาพ” ของศิลปินและนักเขียนไทยกับพวกเซอร์เรียลิสต์น่าจะไม่เหมือนกัน เพราะมาจากฐานของความเชื่อต่างระบบตามหลักพุทธศาสนา เรื่องเพศเป็นกิเลสที่พึงสละให้สิ้นก่อนที่จะบรรลุถึงความหลุดพ้นได้สำเร็จ ไม่ใช่มรรควิถีสู่ความหลุดพ้นดังเช่นที่พวกเซอร์เรียลิสต์ยึดถือ แม้ความเปรียบเกี่ยวกับผู้หญิงบางลักษณะจะดูคล้ายกัน แต่ข้อที่พึงตระหนักก็คือเป็นอุปมาที่มาจากแนวความคิดที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น สำนวนของพวกเซอร์เรียลิสต์ที่กล่าวถึงการตีแม่ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนุก น่าทำ ” Il faut battre la mere quand elle est chaude” ( ต้องตีแม่ตอนที่แกร้อนรัก) อาจมองเผินๆดูคล้ายกับอุปมาเกี่ยวกับการ “ฆ่าพ่อฆ่าแม่เพื่อบรรลุนิพพาน” อยู่บ้าง เพราะเกี่ยวกับการทำร้ายแม่ด้วยกัน แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าเจตนานั้นต่างกันไกลลิบ

น่าสังเกตว่ามักมีผู้พยายามเทียบภาพนิมิตที่เห็นในสมาธิกับภาพที่ออกมาจากจิตใต้สำนึกของพวกเซอร์เรียลิสต์ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในขั้นตอนหนึ่งของการวิเคราะห์จิตหรือตัวตนภายในเช่นกัน แต่ทางพุทธศาสนานั้นถือว่าภาพนิมิตเป็นมายาที่ควรรู้ทันและขจัดเสียในที่สุดเพื่อจะได้ปลดเปลื้องกิเลสตัณหาและตัวตนได้โดยสมบูรณ์ แต่พวกเซอร์เรียลิสต์ต้องการเสนอภาพที่ผสมผสานด้วยแรงขับดันทางเพศจากจิตใต้สำนึกเพื่อสนองตัณหาของตนเองพร้อมกับมุ่งเสนอตัณหาเป็นค่านิยมใหม่ของสังคมแทนความหลุดพ้นทางศาสนา

อันที่จริง จิตใต้สำนึกเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนมีอยู่แล้ว ฟรอยด์เป็นแต่ผู้ขุดคุ้ยและนำมาวิเคราะห์โดยให้น้ำหนักแก่แรงผลักดันทางเพศ ก่อนหน้าฟรอยด์ ศาสดาหรือเจ้าลัทธิศาสนาต่างๆก็ได้เคยวิเคราะห์จิตหรือตัวตนภายในมาแล้วทั้งสิ้น หากแต่ไม่ได้ใช้มุมมองเดียวกับฟรอยด์ ศัพท์แสงและวิธีอธิบายก็ต่างกันออกไป ที่ศาสนาพุทธกล่าวถึง “ตัณหาอุปทานอันเป็นอนุสัยแนบเนื่องอยู่ในสันดาน” นั้น ก็คงหมายความถึงสิ่งเดียวกับฟรอยด์เรียกว่า “จิตใต้สำนึก” นั่นเอง กล่าวโดยสรุป ทั้งพุทธศาสนาและเซอร์เรียลิสม์มีกระบวนการวิเคราะห์ตัวตนเหมือนกัน แต่เจตนานั้นต่างกัน ฝ่ายหนึ่งวิเคราะห์เพื่อจะละตัวตนโดยสิ้นเชิง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งวิเคราะห์เพื่อยึดมั่นในตัวตนให้มากขึ้น

การที่ศิลปินและนักเขียนไทยเลือกรับแรงบันดาลใจเฉพาะด้านรูปแบบ เทคนิค กลวิธี อาจจะเป็นด้วยไม่ได้รับรู้หรือไม่สนใจแนวคิดซึ่งมีลักษณะแย้งกับวัฒนธรรมไทย นักวิชาการบางคนอาจได้รับข้อมูลข่าวสารมาก แต่อาจถูกจำกัดด้วยเวลาและโอกาสทำให้ถ่ายทอดได้น้อย หรืออาจจะเห็นว่าแนวคิด ( โดยเฉพาะเรื่องเพศ) นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรเผยแพร่ต่อสาธารณชน เช่นกรณีของ น.ณ ปากน้ำ … และกรณีของพูนศรี วงศ์วิทวัส … รสนิยมของคนไทยทั่วไปที่ชอบความสวยงาม ความประณีต ต่อเนื่องก็อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้วาดหรือเขียนแบบอัตโนมัติที่ออกจากจิตใต้สำนึกน้อย อนึ่ง การที่ศิลปินไทยนิยมวาดภาพแนวเซอร์เรียลิสต์แบบ figurative ( สาย ดาลี มากริตต์ ฯลฯ) มากกว่าแบบอัตโนมัติ (สายมัสซง มิโร ฯลฯ) นั้น นอกจากจะเป็นเพราะต้องการสื่อความแล้ว ก็อาจเป็นเพราะรับสืบทอดรสนิยมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีด้วยอีกประการหนึ่ง

อนึ่ง ความห่างไกลจากกลุ่มเซอร์เรียลิสต์ต้นตำรับทั้งในแง่เวลา ระยะทาง และข้อจำกัดในเชิงภาษา ก็ทำให้ศิลปินและนักเขียนไม่สามารถเข้าถึงแก่นของแนวคิดเซอร์เรียลิสต์ได้ นักเขียนไทยนั้นขาดโอกาสที่จะได้สัมผัสกับตัวบทประพันธ์เซอร์เรียลิสต์ ( ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส) โดยตรง หรือแม้แต่ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษก็มีผู้ได้อ่านน้อยมาก และในช่วงที่ศึกษา (พ.ศ. 2507-2527) เท่าที่ทราบก็มีแต่นักวิชาการแปลบทกวีเซอร์เรียลิสต์บางบทเพื่อใช้ประโยชน์ทางการสอน แต่ไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้าง ในกรณีของศิลปิน … การรับแรงบันดาลใจจากเซอร์เรียลิสม์นั้น มีทั้งที่รับจากสำเนาภาพของศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลิสต์ต้นตำรับโดยตรง และโดยอ้อมจากศิลปินกลุ่มอื่นๆที่ได้รับอิทธิพลจากพวกเซอร์เรียลิสต์ต้นตำรับอีกทอดหนึ่งหรือหลายทอด

การนำเอาภาพจากความฝันมาผสมผสานกับความเป็นจริงหรือปะติดปะต่อกันอย่างเสรี ซึ่งเป็นกลวิธีหนึ่งของเซอร์เรียลิสม์นั้นเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ศิลปินไทยนิยมทำ แต่เป็นในบางกรณีของไทยอาจจะเป็นการผสมผสานสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ หรือความฝันล้วนๆอย่างสนุกมือโดยไม่รู้สึกว่าเป็นของแปลก เพราะอันที่จริงก็เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับพื้นฐานดั้งเดิมอยู่แล้ว ส่วนข้อที่กลุ่มเซอร์เรียลิสต์จะมีแนวคิดเบื้องหลังอย่างไรนั้น ดูจะไม่ใช่สิ่งที่ศิลปินและนักเขียนไทยส่วนใหญ่เห็นว่ามีนัยสำคัญถึงขนาดที่จะยอมรับหรือต้องศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่เห็นว่าสำคัญหรือเป็นแก่นสารน่าจะได้แก่ความคิดจิตใจอย่างไทยๆ รูปแบบ เทคนิค กลวิธี ตลอดจนรายละเอียดหรือองค์ประกอบของภาพศิลปะเซอร์เรียลิสต์ ( หรือศิลปะแนวอื่นๆ) เป็นแต่เพียงเครื่องมือที่ยืมมาใช้สื่อความรู้สึกนึกคิดของผู้สร้างออกมาเท่านั้น การรับ “ของนอก” มาประยุกต์ใช้นั้นเป็นสิ่งที่คนไทยไม่เฉพาะแต่ศิลปินทำอยู่แล้วเป็นปกติโดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียหายแต่ประการใด ระดับคุณภาพของผลงานต่างกันแต่ที่ฝีมือและความฉลาดในการประสานลักษณะเด่นของตะวันตกและตะวันออกอย่างแนบเนียน โดยที่ยังคงเอกลักษณ์ของไทยในเชิงประยุกต์และผสมผสานไว้อย่างเหนียวแน่น …

สรุปผลกระทบจากการรับแรงบันดาลใจจากเซอร์เรียลิสม์ กล่าวโดยสรุป การต่อต้านลัทธิเหตุผลนิยมของพวกเซอร์เรียลิสต์ก่อให้เกิดภาพและภาพพจน์ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะไม่ขึ้นต่อเหตุผลของภาพในวรรณคดีและจิตรกรรมไทยโบราณ ทำให้นักวิชาการ นักเขียน และศิลปินไทยนำทั้ง 2 อย่างมาเชื่อมโยงกัน ในลักษณะที่ถือว่าเป็นสิ่งเดียวกันและเกิดความภูมิใจว่าไทยก็มีศิลปะและวรรณกรรม ” เหนือจริง” หรือ “เซอร์เรียลิสต์” มาก่อนฝรั่ง ผลก็คือเกิดความนิยมที่จะกลับไปหยิบเรื่องราว ตำนานภาพและกลวิธีของเก่ามา “ปัดฝุ่น” ทำให้มีสีสันรูปแบบการนำเสนอใหม่ โดยผสมผสานเทคนิคกลวิธี ภาพพจน์ของศิลปะตะวันตกโดยเฉพาะเซอร์เรียลิสต์เข้าไปด้วย เกิดเป็นศิลปะไทยร่วมสมัยและวรรณกรรมแนวก้าวหน้าที่มีรสชาติแปลกจากเดิม ซึ่งนับว่าเป็นหนทางใหม่สำหรับระบายอารมณ์ความรู้สึก จินตนาการ ความเครียด ความกดดันทางใจหรือทางสังคมการเมือง พร้อมกับแสวงหาชื่อเสียงและการยอมรับจากสังคมไปในตัวอย่างค่อนข้างได้ผล 3 จะเห็นได้ว่า นัยหลังนี้แสดงถึงจุดยืนที่ต่างจากกลุ่มเซอร์เรียลิสต์อย่างมาก … แต่เมื่อสำรวจย้อนกลับไปแล้ว การมีจุดยืนต่างกันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

เนื่องจากมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ภูมิหลังทางวัฒนธรรม บริบททางสังคม การเมือง และความเชื่อทางศาสนาถึงเพียงนี้ ก็ไม่น่าแปลกที่ผลของการวิจัยจะสรุปได้ว่าศิลปินและนักเขียนไทยเท่าที่มีผู้ระบุว่าเป็นเซอร์เรียลิสต์นั้นอย่างมากก็เป็นแค่ผู้ยืมรูปแบบ กลวิธี เทคนิค ฯลฯ ของกลุ่มเซอร์เรียลิสต์มาผสมผสานกับเนื้อหาตลอดจนรูปแบบและกลวิธีของไทยโบราณและชาติตะวันออกอื่นๆ เพื่อใช้สื่อเอกลักษณ์หรือรสนิยมเฉพาะตนออกมามากกว่า ถึงบางคนจะมีลักษณะทางจิตวิทยาคล้ายคลึง แต่ก็ต่างด้วยจุดยืนและความเข้มข้นของพลังอารมณ์ที่แสดงออก …

ที่มา: สดชื่น ชัยประสาธน์. จิตรกรรมและวรรณกรรมแนวเซอร์เรียลิสต์ในประเทศไทย พ.ศ. 2507-2527. กรุงเทพ : ด่านสุทธาการพิมพ์. 2539, หน้า 151-158.

 

You may also like...