บนเส้นทางการแสวงหารูปแบบกลวิธีของงานศิลปะปัจจุบัน โดย ไพศาล ธีรพงษ์วิษ
เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่งานศิลปะสมัยใหม่ได้อุบัติมีขึ้นในสังคมไทย แต่ถึงแม้ว่าในพ.ศ.ปัจจุบัน ศิลปะจะยังมิใช่สิ่งสำคัญหรือเป็นผลผลิตอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยจะให้ความสนใจเหลียวมองก็ตามที
ทว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่เมื่อครั้งศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางเข้ามาสู่แผ่นดินสยามและร่วมกันกับข้าราชการไทย เริ่มต้นวางแนวทางการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ที่เป็นรูประบบชัดเจนตามแบบอย่างศิลปะศึกษาของยุโรป อิตาลี เพื่อให้เป็นรากฐานสำหรับการฝึกฝนเรียนรู้ในเมืองไทยนั้น ชีพจรศิลปะสมัยใหม่ของไทยก็ได้รับการคลี่คลายเรื่อยมา
บรรดาหมู่คนที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวิถีศิลปะของไทย ยังคงมุ่งมั่นอยู่กับการค้นหาแนวทางใหม่ๆเพื่อพัฒนาชีพจรศิลปะที่มีปรากฏอยู่ในประเทศ ให้ขยายตัวแทรกซึมสู่การรับรู้ของผู้คน หรือให้มีส่วนร่วมในสังคมที่กว้างออกไป แม้ผลที่ได้ปัจจุบันนี้จะยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวก็ตาม ทว่ากิจกรรมที่สร้างความเคลื่อนไหวทางศิลปะเพื่อบอกเล่าต่อสังคมก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่ระย่อ
ในยุคสมัยเริ่มต้น เมื่อแรกมีการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจกับวิถีแนวทางของงานศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งล้วนมีรากกำเนิดมาจากซีกโลกตะวันตกโดยบุคลากรชาวไทยอย่างเอาจริงเอาจังนั้น รูปแบบหรือทิศทางการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของกระแสศิลปะสมัยใหม่ จะดำเนินไปตามครรลองที่กำหนดวางเป็นกฎเกณฑ์เงื่อนไขโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ ด้วยการให้เริ่มสัมผัสทำความรู้จักกับศิลปะแบบง่ายๆ ทั้งไม่ซับซ้อนในส่วนของการเสนอเนื้อหาเรื่องราว ศิลปะเหมือนจริงจึงเปรียบเป็นบริบทเริ่มต้นสำหรับชีพจรศิลปะแนวทางสมัยใหม่ ที่สังคมไทยได้มีโอกาสสัมผัสรับรส แม้ขณะนั้นกระแสศิลปะในซีกโลกตะวันตก ทั้งยุโรป อเมริกา จะก้าวล่วงเข้าสู่งานนามธรรมแล้วก็ตามที ทว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ก็ยังคงควบคุมความเคลื่อนไหวเป็นไปของกระแสศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทย ให้วนเวียนแนบชิดอยู่กับทิศทางแบบอย่างของศิลปะเหมือนจริง หรือศิลปะผสมผสานแนวอุดมคติกึ่งจินตนาการแบบไทยประเพณี ซึ่งเป็นความคุ้นเคยสำหรับผู้คนในสังคมไทยทั้งนี้ก็คงสืบเนื่องมาจากแนวความคิดความรู้สึกของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ ซึ่งมองว่าสังคมไทยในยุคสมัยนั้น ยังอ่อนวัยเกินกว่าจะรองรับกระบวนแบบของศิลปะอันล้ำสมัยลักษณะอื่นๆ ศิลปะที่เต็มไปด้วยท่าทีแปลกแยก ห่างไกลพื้นฐานความเป็นจริงของธรรมชาตินิยม หรืออาจจะเป็นเพราะแนวทางการทำงานศิลปะของตัวศาสตราจารย์ศิลป์เองด้วย ก็เป็นงานในแบบเหมือนจริงและเน้นความเรียบง่ายความสงบนิ่ง ไม่ใช่งานที่มีท่วงท่าลีลาฉูดฉาดแปลกใหม่ เฉกเช่นที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มงานศิลปะของโลกศตวรรษที่ 20 ขณะเวลานั้น
ดังจะสังเกตได้จากผลงานประติมากรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ ซึ่งมักเป็นงานที่สร้างถอดแบบเหมือนจริงบุคคลสำคัญๆในเมืองไทย ที่ล้วนแต่เป็นตัวงานลักษณะรูปทรงยืนแข็งมะลื่อทื่อ ไม่แสดงลีลาความเคลื่อนไหวที่สะท้อนขับเน้นพลัง หรือความมีชีวิตชีวาออกมาให้เห็นอย่างโดดเด่นเจิดจ้าเหมือนเช่นที่ปรากฏอยู่ในงานประติมากรรมของศิลปะสมัยใหม่ (Modern) กลุ่มลัทธิต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้งานศิลปะที่อยู่นอกเหนือขอบเขตงานเหมือนจริง หรืองานที่ไม่ดำเนินไปตามหลักวิชาการทางศิลปะช่วงก่อนศตวรรษที่ 20 เป็นรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทยและแนวทางการทำงานการศึกษาศิลปะของเมืองไทย ที่มีตัวศาสตราจารย์ศิลป์เป็นแกนนำคนสำคัญอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งไม่กลมกลืนกันสักเท่าใดนักกับพื้นฐานของผู้คนในประเทศไทย ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมายาวนานก็ดูจะคลุกคลีอยู่กับงานแบบแผนประเพณีไทยที่เน้นความเรียบง่ายตามลักษณะเด่นอันเป็นแบบฉบับเฉพาะของชนชาติเสียมากกว่า
แต่เมื่อมาถึงช่วงปลายของศาสตราจารย์ศิลป์ ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีลูกศิษย์ลูกหาของท่านทยอยเดินทางข้ามทวีปเพื่อไปศึกษาเรียนรู้ดูงานศิลปะยังประเทศต่างๆอันเป็นแหล่งกำเนิดของศิลปะเช่นในยุโรปหรืออเมริกามากขึ้น เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้ก็ได้นำเอาความเปลี่ยนแปลงทางศิลปะกลับมาด้วยพร้อมกัน ส่งผลให้ชีพจรศิลปะของไทยเกิดมีกระแสความเป็นไปที่หลากหลายมากขึ้น เพราะการได้พบเห็นแบบอย่างที่แปลกใหม่แปลกตาของรูปแบบศิลปะ ซึ่งเต็มไปด้วยความเร้าใจช่วยก่อให้เกิดการเรียนรู้และเลียนแบบกระทำตาม ทั้งมีการทอดรับอิทธิพลด้านรูปแบบของศิลปะสมัยใหม่เหล่านั้นมาใช้พัฒนาคลี่คลายการสร้างงานศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทย ทำให้กระบวนการการสร้างงานศิลปะแตกตัวก้าวล่วงออกไปจากแบบแผนเก่าๆมากขึ้นเป็นลำดับ ลัทธิทางศิลปะที่อยู่นอกเหนือไปจากงานเหมือนจริง หรืองานผสมผสานแนวประเพณีก็เริ่มแทรกตัวเข้าสู่ความสนใจและนำไปทดลองทำตามเป็นระยะๆ
จากที่การสร้างสรรค์งานศิลปะสมัยใหม่ของไทยวนเวียนอยู่แต่งานแบบเหมือนจริง งานผสมผสานกึ่งอุดมคติในแบบอย่างแนวประเพณีก็เริ่มเปิดแยกไปสู่งานแสดงฝีแปรงสอดสีฉับไวของศิลปินประทับใจ (Impressionism) บ้างก็ผสมกลวิธีการใช้สีสันสดๆตัดกันรุนแรงอย่างที่เห็นได้ในงานศิลปะลัทธิสัตว์ป่า (Fauvism) หรือการปาดป้ายจังหวะฝีแปรงอย่างรวดเร็วเฉกเช่นแนวทางงานศิลปะลัทธิสำแดงอารมณ์เฉียบพลันแห่งเยอรมัน (German Expressionism) จากนั้นไม่นาน ศิลปะนามธรรม ( Abstract ) และศิลปะลัทธิบาศก์นิยม ( Cubism ) ก็เริ่มแทรกผสมปนเปื้อนเข้ามา
ที่สุดเมื่อปริมาณคนทำงานศิลปะแนวทางสมัยใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้น กลุ่มคนที่ได้เดินทางออกไปสัมผัสกับผลงานศิลปะในดินแดนตะวันตก ในยุโรป อเมริกาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว กระแสศิลปะในรูปแบบกลวิธีต่างๆที่มีปรากฏอยู่ในมหาอาณาจักรทางศิลปะบนซีกโลกส่วนอื่นๆ จึงได้รับการนำเข้ามาเผยแพร่หลั่งไหลสู่การรับรู้ ส่งทอด และให้อิทธิพลทางด้านรูปแบบต่อการทำงานศิลปะของคนรุ่นหลังสืบมา ทั้งยังมีการคิดค้นทดลองคลี่คลายออกไปในลักษณะอื่นๆ บ้างก็นำเอารูปแบบแตกต่างของศิลปะหลายลัทธิหลายสกุลผสมผสานเพื่อสร้างให้เกิดรูปแบบงานที่ใหม่แปรเปลี่ยนออกไป และการนำเอาลักษณะแบบอย่างศิลปะของตะวันตกผสมผสานกับรูปแบบงานแนวประเพณีดั้งเดิมของไทย ก็นับว่าเป็นกระบวนการขั้นตอนหนึ่งของความพยายามเปิดขยายพรมแดนอาณาจักรศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทยให้ก้าวล่วงไปสู่ความสอดคล้องกลมกลืนกับสังคมไทยและสังคมนานาชาติ
โดยส่วนมากของงานศิลปะที่ปรากฏในสังคมไทยตลอดเวลาที่ผ่านมายาวนานกว่า 50 ปี แม้จะเป็นการทอดรับอิทธิพลทางรูปแบบมาจากลัทธิศิลปะของซีกโลกตะวันตกด้วยปริมาณอันเข้มข้น แต่ถ้ามองในสัดส่วนของแง่มุมความคิด หรือปรัชญาแห่งการสร้างงานของลัทธิทางศิลปะเหล่านั้นแล้ว เราจะพบว่าคนทำงานในบ้านเราแทบจะไม่ได้หยิบนำพื้นฐานปรัชญาของลัทธิทางศิลปะเหล่านั้นมาเป็นแม่บทแห่งการสร้างสรรค์คลี่คลายผลงานของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย กล่าวได้ว่าคนทำงานศิลปะของไทยมีความสนใจลัทธิแนวทางงานศิลปะของชนชาติตะวันตก ก็เพียงส่วนที่เป็นรูปแบบเปลือกนอกเท่านั้น สำหรับโครงสร้างแนวคิดหรือปรัชญาที่เป็นรากฐานของลัทธิศิลปะนั้นๆกลับไม่ได้รับความใส่ใจหรือมุ่งศึกษาให้เกิดความถ่องแท้ชัดเจนในแง่มุมด้านลึกเลยแม้แต่น้อย หากจะมีความสนใจต่อรากฐานปรัชญา หรือโครงสร้างความคิดของรูปแบบลัทธิศิลปะตะวันตกเหล่านั้นเกิดขึ้นบ้าง ก็เป็นไปอย่างกระเส็นกระสาย กระท่อนกระแท่น ไม่มีความจริงสักมากมายเท่าใด
คนทำงานศิลปะในแนวทางสมัยใหม่ของบ้านเราบางกลุ่ม ได้พยายามนำเอารูปแบบกลวิธีของศิลปะตะวันตกหลายๆลักษณะมาผสมผสานกับพื้นฐานทางความคิด ตลอดจนรูปแบบอื่นๆของงานประเพณีไทย บ้างก็สอดใส่ปรัชญาแนวคิด ความเชื่อเกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม ขนบ-ประเพณีพื้นบ้านตามอย่างสังคมตะวันออก เพื่อสร้างให้เกิดเป็นผลงานผสมผสานที่มีความสอดคล้องกลมกลืน ระหว่างรากฐานเดิมของชนชาติกับกระแสใหม่ของลำธารวัฒนธรรมที่บ่าไหลเข้ามาอย่างเชี่ยวกรากรุนแรง
การทอดรับเอารูปแบบกลวิธีหรือแบบอย่างศิลปะที่เคลื่อนไหวมีอยู่ในดินแดนตะวันตก ในยุโรป อเมริกามาใช้สำหรับสร้างสรรค์ผลงานของคนทำงานศิลปะในเมืองไทยยังคงดำเนินมาจวบปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ในยุคสมัยที่โลกศิลปะของตะวันตกได้ล่วงเข้าสู่ทศวรรษของแนวทางศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ (Post-Modern Art) นับตั้งแต่ปลายปี 2512 ( ค.ศ. 1969) ทิศทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสมัยใหม่ของไทยเอง ก็ย่อมต้องขยับก้าวกระชั้นตามความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเหล่านั้นอย่างไม่บ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง หากแต่ว่ากว่าชีพจรศิลปะของไทยจะก้าวได้เท่าทันกับระลอกคลื่นแห่งพัฒนาการที่เกิดกับศูนย์กลางอาณาจักรศิลปะโลก อย่างในยุโรปและอเมริกาก็ต้องใช้เวลาที่เว้นห่างกันมากกว่า 10 ปีทีเดียว เพราะกระบวนการการสร้างงานในแบบอย่างของศิลปะยุคหลังสมัยใหม่หรือ Post-Modern Art นี้ เพิ่งจะเริ่มมีปรากฏขึ้นในแวดวงศิลปะสร้างสรรค์แนวทางสมัยใหม่ของเมืองไทย ก็เมื่อราวๆ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง (อาจจะสั้นหรือยาวนานกว่านี้บ้างก็เพียงเล็กน้อย) และนับตั้งแต่มีการนำเอาแบบอย่างการสร้างงานศิลปะตามแนวความเชื่อของศิลปะยุคหลังสมัยใหม่เสนอสู่ผู้คนในสังคมไทยจวบจนถึงวันนี้กล่าวได้ว่ายังเป็นวิถีทางที่ไม่พบความสำเร็จอันน่าพึงพอใจ เพราะแม้แต่งานศิลปะแบบนามธรรมกับสังคมไทยในทุกวันนี้ ก็ยังคงมีช่องที่เว้นห่างเพื่อการทำความเข้าใจอยู่ด้วยระยะที่กว้างมากพอสมควร
ทั้งนี้ ก็เพราะผลตอบรับระหว่างผู้ดูที่มีต่อกลุ่มงานศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะแห่งความคิด ( Conceptual Art) อย่างงานศิลปะการติดตั้งจัดวาง (Installation) งาน Earth Art , Land Art , Performance , Happenning , Video Art , Junk Sculpture ที่มีปรากฏอยู่ในนิทรรศการงานศิลปะแต่ละครั้งแต่ละวาระ ก็เต็มไปด้วยความฉงนฉงาย ชวนงุนงงสงสัย และไม่สามารถประสานให้เกิดความเข้าใจได้ด้วยความถ่องแท้ชัดเจนแก่ผู้เสพงานศิลปะในเมืองไทยได้ จึงนับเป็นภาวะการณ์ที่แทบจะไม่แตกต่างกันสักเท่าใดเลยกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งงานศิลปะนามธรรมปรากฏตัวต่อสังคมไทยเมื่อเนิ่นนานมาแล้ว
จุดมุ่งหมายสำคัญที่กระแสงานศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ต้องการ มิได้เป็นผลผลิตทางศิลปะที่มุ่งเน้นแง่มุมของความงามอันเป็นเปลือกนอกของตัวงานแต่ละชิ้นเฉกเช่นที่เคยเป็นบริบทสำคัญของการนำเสนอผลงานศิลปะดังที่เป็นผ่านๆมาอีกต่อไป หากแต่แนวทางของงานศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ คือผลผลิตที่มุ่งเน้นกลุ่มความคิด ซึ่งผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานสอดใส่และสื่อผ่านวัสดุหลากชนิดด้วยรูปแบบกลวิธีที่อิสระเป็นประเด็นสำคัญ ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบหรือแบบแผนของนิยามทางศิลปะที่เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ รูปแบบของงานศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ จึงมีกลวิธีสำหรับการนำเสนอความคิด รวมถึงการใช้สื่อวัสดุ ตลอดจนเทคนิคที่แปลกแตกต่างมากมาย ไม่จำกัดประเภทของวัสดุชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นแนวทางที่สามารถหยิบนำเอาวัสดุที่มีอยู่รอบตัวมาใช้รองรับความคิดและสร้างเป็นผลงานแต่ละชิ้นขึ้นได้ มีเป้าหมายสำคัญมุ่งไปในจุดเดียว นั่นคือการใช้สื่อวัสดุทุกประเภททุกชนิดชิ้นส่วนก่อสานขึ้นเป็นรูปทรงที่หลอมรวมเพื่อรับใช้การนำเสนอความคิดไปสู่ผู้ชมได้อย่างมีเอกภาพ และชัดเจนในประเด็นที่มุ่งถ่ายทอด
วัสดุที่ใช้รองรับแนวความคิดเพื่อสร้างงานศิลปะแปลกใหม่สายนี้ มีทั้งสี แผ่นพลาสติก ชิ้นส่วนเครื่องจักร วัสดุจากธรรมชาติ เช่น กรวด หิน ดิน โคลน ทราย ไม้ พืช น้ำ เปลวไฟ ไม่ยกเว้นแม้แต่เครื่องใช้ที่เราคุ้นเคยอยู่ในชีวิตประจำวัน เครื่องโทรทัศน์ โทรศัพท์ พัดลม โต๊ะ เก้าอี้ หลอดไฟฟ้า เครื่องกล เคมีต่างๆ เศษขยะที่เรี่ยราดริมทาง ชิ้นส่วนโลหะ หรือสิ่งเหลือใช้อื่นๆของมนุษย์ ล้วนแล้วแต่สามารถหยิบจับมาผสมผสานสร้างงานในแนวทางของศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ประเภทต่างๆได้ทั้งสิ้น นอกเหนือจากนี้ อาคารสถานที่ หรือหาดทรายชายทะเล ป่าเขา ถนนหนทาง กำแพงสูงตระหง่าน ก็สามารถถูกหยิบยืมมาใช้ร่วมเป็นส่วนเสี้ยวของงานศิลปะประดานี้ได้อีกเช่นกัน ร่างกายที่มีเลือดเนื้อลมหายใจของมนุษย์ สัตว์ พืช สายลม แสงแดด ต่างก็มีคุณสมบัติอันเพียบพร้อมต่อการนำมาสร้างงานในแบบอย่างของศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ได้ หากมีความสอดคล้องกับประเด็นความคิดที่อุบัติขึ้น และบ่อยครั้งที่ตัวผู้ชมงานก็ถูกหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอรูปความคิดนั้นๆ
และในปัจจุบันนี้ กลวิธีการจัดสร้างนำเสนอผลงานศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ งาน Conceptual Art , งาน Installation และอื่นๆ ซึ่งเป็นผลผลิตของคนทำงานศิลปะรุ่นใหม่ๆในเมืองไทย ได้ก้าวข้ามออกพ้นขอบเขตความเชื่อ ความคิด ที่เป็นความคุ้นเคยเก่าๆของสังคมไปจนไกลแทบจะสุดกู่แล้ว ดังปรากฏให้เห็นในการแสดงงานศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ ซึ่งว่าด้วยกลวิธีของ Conceptual บ้าง Performance บ้าง Video Art บ้าง รูปแบบของผลงานที่ให้ความรู้สึกล่วงพ้นจนสุดโต่ง และกระตุ้นให้เกิดคำถามตามมา ก็เช่นการที่กลุ่มผู้แสดงงานพากันปลดเปลื้องเสื้อผ้าของตนจนล่อนจ้อนเปลือยเปล่าต่อหน้าผู้ชมงาน การเชือดไก่สดๆ การเข้าไปใช้พื้นที่วัดและสุสานของท้องถิ่น เพื่อรองรับการสร้างงานศิลปะที่เต็มไปด้วยรูปแบบอันแตกต่างแปลกแยกทางวัฒนธรรม ความรู้สึก หรือการบันทึกภาพการถ่ายปัสสาวะ อุจจาระมาเสนอฉายให้สาธารณชนได้รับรู้ด้วยแง่มุมที่โจ่งแจ้งชัดเจน ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ กลุ่มผู้เสนอยืนยันว่าเป็นรูปแบบลักษณะหนึ่งของกิจกรรมทางศิลปะสร้างสรรค์แนวใหม่ เป็นกลวิธีที่ได้เลือกสรรแล้วว่ามีความสอดคล้องอย่างกลมกลืนกับความคิด สามารถสื่อสารและขยายเรื่องราวออกมาเป็นภาพผ่านพฤติกรรมและกิจกรรมที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง ไม่มีความซับซ้อนคลุมเครือที่จะลวงให้หลงทางไปสู่สุนทรียภาพความงามของรูปแบบอันเป็นเปลือกนอกที่เป็นส่วนประกอบรกรุงรังได้อีก
ปรากฏการณ์การแสดงออกที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้ ถือได้ว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องอย่างกลมกลืนกับสังคมไทย พ.ศ.ปัจจุบันหรือไม่ เป็นกลวิธีที่สามารถสื่อสารและถ่ายทอดความคิดไปสู่กลุ่มผู้เสพรับได้ชัดเจนกว่ารูปแบบวิธีการลักษณะอื่นๆมากเพียงใด โดยเฉพาะกับพื้นฐานด้านต่างๆของสังคมไทยในขณะนี้ได้ให้การตอบรับกับรูปแบบกลวิธีของการสื่อสารดังกล่าวด้วยท่าทีอย่างไร นิ่งเฉย เปิดรับ หรือปฏิเสธต่อต้าน มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด สำหรับการนำลักษณะการถ่ายทอดเช่นนี้มาใช้เสนอ “สาร” และหลังจากเสนอ “สาร” ผ่านรูปแบบเหล่านั้นออกไปแล้ว กลุ่มผู้จัดแสดงหรือผู้สร้างเสนอได้มีการสำรวจปฏิกริยาของผู้รับ ได้ทบทวนตรวจสอบผลกระทบที่ปรากฏหรือไม่ หรือเสนอผ่านออกไปแล้วก็ปล่อยให้ผ่านไปเลย ความรับผิดชอบของผู้เลือกกลวิธีการนำเสนอที่มีต่อปฏิกิริยาตอบรับของสังคมต้องมีอยู่หรือไม่ อย่างไร
ในการนำเสนอความคิดด้วยการนิมนต์พระมากกว่า 90 รูป มาเข้าร่วมเป็นสื่อส่วนหนึ่งของการแสดง และเมื่อพระทุกรูปได้ลากลับออกไป ก็มีการเปลือยกายถอดเสื้อผ้าของผู้แสดงงานหลายคนนั้น ให้สงสัยอยู่บ้างว่ามีความจำเป็นแค่ไหนอย่างไรต่อเจตจำนงในการแก้ผ้าครั้งนั้น การแก้ผ้าเป็นนัยทางความหมายที่สื่อสะท้อนความคิดเกี่ยวกับอะไร ผู้เสนอมีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหนในกลวิธีของการส่งผ่านประเด็นความคิดความหมายไปสู่ผู้ดูที่ร่วมชมงานในขณะนั้น ผู้รับ … รับความหมายของ “สาร” ที่ถ่ายทอดออกมาได้ชัดเจนหรือไม่ ทั้งก่อให้เกิดผลต่อความรู้สึกในลักษณะใด ประเด็นถูกเบี่ยงเบนไปจนเฉไฉออกนอกทิศทางที่วางเป็นเจตจำนงไว้หรือเปล่า ส่วนนิทรรศการที่ทำการเชือดคอไก่ท่ามกลางสายตาผู้คนนั้นเล่า มีความจำเป็นและความเหมาะสม อย่างไร ถึงแม้ว่าการเชือดไก่จะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีอุบัติขึ้นมากมายบ่อยครั้งทั่วทุกมุมเมือง แต่ในสถานที่แห่งนั้นซึ่งไม่ใช่สถานที่เฉพาะที่มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับกิจกรรมการเชือดไก่หรือฆ่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆตามครรลองหน้าที่ปกติ จึงมีความเหมาะควรอย่างไรหรือไม่ที่การแสดงกิจกรรมความคิดทางด้านศิลปะต้องไปเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตเพียงเพื่อตอบสนองรูปแบบการนำเสนอชั่วเวลาสั้นๆ ซึ่งจะให้ผลกระทบต่อผู้ดูได้อย่างมากมายตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ ก็ไม่อาจล่วงรู้ชัดเจน หรือการที่ครั้งหนึ่ง มีการนำเอารูปแบบงานสมัยใหม่ที่ประกอบขึ้นจากวัสดุหลากชนิดเข้าไปติดตั้งจัดวางไว้ในใจกลางเขตวัด สุสาน และสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา ซึ่งชาวบ้านในละแวกนั้นยังมีความเชื่อความคิดผูกยึดอยู่กับแบบแผนเก่าก่อนของสังคมเดิม ได้มีการไตร่ตรองและพิจารณาหรือไม่ว่า ผลผลิตทางศิลปะเหล่านั้นจะก่อผลกระทบต่อความรู้สึก ความเชื่อ และจิตใจของผู้คนเหล่านั้นอย่างไรบ้าง การแสดงออกด้วยกลวิธีดังกล่าว ได้สร้างความเข้าใจที่กระจ่างแจ่มชัดสักแค่ไหน เพื่อให้เกิดการยอมรับต่อการเข้าไปใช้สถานที่ ซึ่งเคยมีไว้สำหรับกิจกรรมประเภทหนึ่งลักษณะหนึ่งเป็นกาลเฉพาะ ได้มีการตรวจสอบมองย้อนหรือไม่เมื่อเกิดปฏิกิริยาจากประชาชนที่เข้ารื้อถอนทำลายผลงานศิลปะหลายๆชิ้นที่เข้าไปใช้พื้นที่ของวัดและสุสานสำหรับการติดตั้งจัดวาง การต่อต้านที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงการไม่ยอมรับหรือไม่ ชาวบ้านอาจรู้สึกว่าสถานที่ที่พวกเขาให้ความเคารพบูชา ทั้งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ กำลังถูกรุกรานด้วยสิ่งแปลกปลอมแปลกแยกต่อชีวิต ทั้งไม่อาจทำความเข้าใจได้ในกระบวนการของความคิดที่ได้นำเสนอ เป็นทีท่าที่ให้ความรู้สึกถูกจาบจ้วงอยู่ลึกๆหรือไม่ และนี่ใช่สาเหตุที่การเสนอผลงานครั้งนั้นถูกต่อต้านปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจนถูกรื้อทำลายในเวลาอันรวดเร็วหรือเปล่า ถึงแม้กลุ่มผู้สร้างงานจะมีเจตจำนงที่ดี เพราะต้องการนำเอาศิลปะสมัยใหม่ลงไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างใกล้ชิดกลมกลืน แต่สิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไป ดูจะขาดการทำความเข้าใจในวิถีชีวิต และกระบวนการความคิดความรู้สึกของผู้คนเหล่านั้น เพื่อค้นหาวิธีการที่ประนีประนอม มีทีท่าที่นุ่มนวลนอบน้อม เรียบง่ายและยอมรับได้ในความรู้สึกของชาวบ้านจนไม่ก่อให้เกิดทีท่าเชิงปฏิกิริยาดังที่ปรากฏผ่านมา
สำหรับการแสดงภาพอันโจ่งแจ้งของ การ “ขี้” และ “เยี่ยว” ก็ยิ่งเชื่อได้ว่าเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างจะให้ความรู้สึกที่หยาบคาย ไม่เหมาะสมกับกลวิธีที่ว่าด้วยการเสนอของภูมิปัญญาเอาเลย เพราะมองอย่างไร ภาพที่ปรากฏอย่างเป็นจริงของกิจกรรมดังกล่าว ก็ไม่ช่วยให้เกิดการตอบรับอะไรได้มากไปกว่าความรู้สึกอุจาด แม้จะเป็นการใช้ภาพโดยมุ่งหมายวิพากษ์ถากถางสะท้อนแนวคิดเชิงประณามพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมยุคปัจจุบัน ด้วยการใช้ความแรง ใช้ทีท่าที่ดิบ ตรง และทื่อ ทั้งผสมผสานกับแนวคิดที่ไม่มุ่งเน้นความงามของรูปแบบทางศิลปะอันเป็นเปลือกกระพี้ผิวเผิน แต่ศิลปะก็น่าจะเป็นสิ่งที่ได้มีการกลั่นกรองขัดเกลาคำนึงถึงสุนทรียภาพบ้าง เพราะหากกิจกรรมของมนุษย์ล้วนฉาบฉวย กักขฬะ ไร้ซึ่งสุนทรียภาพทางจิตใจโดยสิ้นเชิงเสียแล้ว นั่นก็จะดูมีเรื่องให้น่าวิตกเพิ่มขึ้นพอสมควร ก็สงสัยอยู่บ้างว่า ถ้าผลิตผลทางศิลปะไร้ซึ่งสุนทรียภาพความงาม ไม่ว่าจะเป็นความงามของเปลือกรูป หรือปรากฏการณ์ซ่อนแฝง ซึ่งถ่ายทอดให้ผลความงามต่อจิตใจความรู้สึกแล้ว ผลผลิตตัวนั้นจะเป็นศิลปะได้หรือไม่ ถ้าได้ งั้นสิ่งที่เรียกว่าศิลปะจะมีความแตกต่างอย่างไรกับสรรพสิ่งอื่นๆที่มีอยู่ดกดื่นในสังคมคน ถ้าไม่แตกต่างกันเลย แล้วศิลปะคืออะไร เคยมีอยู่หรือไม่ ที่ปรากฏและจัดแสดงกันอย่างครึกโครมในพ.ศ.นี้ นับเป็นกิจกรรมประเภทใดสำหรับสำหรับมนุษย์กันแน่
ในการเลือกสรรกลวิธีเพื่อใช้สื่อสารความคิดสู่สาธารณชนนั้น ควรได้รับการพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสังคมที่จะเข้ามารองรับผลผลิตเหล่านั้น ถึงแม้กระแสสังคมยุคปัจจุบันของเราจะเต็มไปด้วยกลไกอันทันสมัยของวัตถุเทคโนโลยี มีการเปิดกว้างสุดขีด รับวิทยาการจากซีกโลกตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่เราจะแน่ใจได้มากน้อยแค่ไหนว่าพื้นฐานความคิดของสมาชิกสังคมจะรองรับกระแสอันสุดขั้วทางความคิดหรือการแสดงออกแต่ละลักษณะได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน ทั้งควบคุมให้อยู่บนครรลองที่ถูกต้องดีงามได้ด้วยความชัดเจน
รูปแบบและสื่อที่นำมาใช้เสนอความคิดของกลุ่มศิลปะยุคหลังสมัยใหม่หลายๆครั้งก็ทำให้ต้องฉุกคิดและตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความเหมาะสมอยู่บ้าง การสร้างสรรค์เสนอผลความคิดผ่านรูปแบบกลวิธีทางศิลปะ น่าจะได้คำนึงถึงความเหมาะสมในการนำเสนอ เพื่อให้มีความสอดคล้องกลมกลืนไปกับพื้นฐานของสังคมที่ผู้นำเสนอและตัวความคิดนั้นๆดำรงอยู่ มิใช่มุ่งแต่เพียงการแสวงหาทิศทางแบบอย่างใหม่ๆ เพื่อฉีกรูปแบบให้แปลกต่าง สั่นสะเทือนความสนใจอย่างรุนแรง ทว่ากลับเต็มไปด้วยความหยาบฉาบฉวย เฉกเช่นที่เป็นกระแสอยู่ในสังคมตะวันตก ซึ่งไม่มองถึงสภาพแวดล้อมอันเป็นจริงในสังคม รวมถึงเงื่อนไขของความเชื่อ ขนบจารีตประเพณี ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมที่ยังไม่เสื่อมสลายไปจากสำนึกของประชากรโดยส่วนใหญ่
ในการแสวงหาความแปลกใหม่ที่ลงตัวและสอดคล้องของรูปแบบกลวิธี เพื่อใช้สื่อสารความคิดตามแนวทางการสร้างผลงานศิลปะของยุคหลังสมัยใหม่ ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากคนทำงานศิลปะรุ่นหนุ่มสาวของเราอยู่ขณะนี้ นอกจากการมุ่งคิดค้นรูปแบบกระบวนการมาใช้ตอบสนองการเสนอความคิด ด้วยเทคนิควิธีที่แตกต่าง ด้วยสื่อทุกชนิดทุกประเภท และในแง่มุมที่เป็นอิสระปลอดพ้นจากข้อจำกัดผูกมัดต่างๆนั้น สำหรับกับสังคมไทยเป็นอยู่ในปัจจุบัน สังคมที่ยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำของสถานภาพทางเศรษฐกิจ การศึกษาที่หย่อนยานคุณภาพอันสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นสังคมที่ประกอบขึ้นด้วยความเปราะบางของความยั้งคิด ไร้ระเบียบวินัย ไม่เคารพซึ่งสิทธิพื้นฐานของสมาชิกร่วมสังคมโดยสิ้นเชิง เกลื่อนกลาดไปด้วยความคิดแบบตัวใครตัวมัน ตัวกูของกูไม่สนใจคนอื่น จึงน่าจะได้มีการพิจารณาไตร่ตรองตรวจสอบถึงความเหมาะสม ให้มีความกลมกลืนกับพื้นฐานของสังคมที่ดำรงอยู่ด้วยความรอบคอบ แม้ประเทศไทยจะไม่มีอาณาเขตกว้างใหญ่มากมายเท่าอเมริกา แต่ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ วิธีการดำรงชีวิตของผู้คนแต่ละภูมิภาคนั้น ยังมีให้เห็นอยู่อย่างชัดเจนโดดเด่น ดังนั้น การแสวงหารูปแบบมารับใช้การนำเสนอทางด้านศิลปะจึงควรมีความรัดกุมชัดเจนในการคิด ในการเลือกสรร บางครั้งความสะใจสุดกู่ของการแสดงความคิดอารมณ์ความรู้สึกเพื่อเสนอประเด็นเรื่องราวของคนทำงานศิลปะ ก็อาจจะกลายเป็นคมดาบที่ถากเฉือนบรรทัดฐานสังคมจนแหว่งวิ่นขาดกระจาย ยากจะเก็บมาปะต่อลบรอยผิดพลาดได้
ผู้คนในบ้านเรามีความพร้อมและมองความเหมาะสมอย่างไรหรือยัง สำหรับการนำเสนอความคิดผ่าน “สื่อ” ที่มีรูปแบบกลวิธีอันอิสระสุดโต่ง ขณะที่สังคมพื้นฐานที่รองรับยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำหมิ่นเหม่ ระหว่างความดีและความเลว ขาวและดำ ถูกและผิด ชัดเจนและคลุมเครือ บรรทัดฐานในการคัดเลือกตัดสิน พิจารณาไตร่ตรอง และมองปรากฏการณ์อย่างมีเหตุผล ด้วยวิจารณญาณที่แจ่มชัดยังอยู่ดีหรือไม่ หรือถูกเก็บเข้าใส่ลิ้นชัก ขณะเดียวกันกับที่กุญแจสำหรับเปิดไขถูกทำให้หล่นหายไปนานแล้ว
ที่มา: ไพศาล ธีรพงศ์วิษ. ” บนเส้นทางการแสวงหารูปแบบกลวิธีของงานศิลปะปัจจุบัน.” สีสัน. ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (2536), หน้า 88-93