แสงสว่างท่ามกลางความมืด จิตรกรรมในประเทศไทยทุกวันนี้ โดย ไมเคิล ไรท์
จิตรกรรมไทยทุกวันนี้มีหลายคนที่มีฝีมือสูง ความคิดลึกซึ้ง และสร้างสรรค์อย่างคาดไม่ถึง ทั้งนี้อาจนับได้ว่าทั้งน่ายินดีและประหลาดใจ เพราะว่าตามจริงศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยมิได้ขึ้นต้นด้วยดี
ระยะเพาะตัวนั้นทอดจากรัชกาลที่ 4 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้รับความดลใจจากศิลปะตะวันตก ซึ่งในระยะนั้นไม่อยู่ในสภาพที่ดีนัก ศิลปะสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย หนักไปทาง Realism อย่างเทอะทะ ความรู้สึกมากจนเกินควร และประดับประดาเหลือขอ และต่อมาได้เกิดศิลปะเผด็จการรักชาติ ( หรือศิลปะรัฐการ) ในประเทศอิตาลี เยอรมนี และโซเวียต ซึ่งหนักไปทาง Realism อย่างเทอะทะ อหังการ และความทารุณ ในเบื้องต้นชาวสยามหันไปนิยมศิลปะตะวันตก เพราะนิยม Realism เราพิศวงและอยากเรียนรู้วิธีวาดเขียนธรรมชาติตรงตามที่ตาเห็นไม่ใช่ตามหลักที่โบราณสอนไว้ ดังนั้นจึงไม่สนใจศิลปะใหม่ๆ เช่น Impressionism ที่เกิดในฝรั่งเศสปลายรัชกาลที่ 5 หรือ Cubism ที่เจริญในรัชกาลที่ 6-7 แต่หลงใหลกับศิลปะปลุกใจ รักชาติอย่างเผด็จการที่ใช้ Realism เพื่อสร้างมายา ครูที่นำศิลปะสมัยใหม่หรือตะวันตกเข้ามาที่สำคัญคือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ( Corrado Feroci) ชาวอิตาเลียนที่รับราชการ พ.ศ. 2467 ในรัชกาลที่ 6 แล้วรับใช้สยามและประเทศไทยตามลำดับ จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2505 เราท่านจะนิยมหรือไม่นิยมงานของท่านไม่เป็นประเด็น แต่เป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคน อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นคนในสมัยนั้นและถูกฝึกฝนเป็นนักออกแบบอนุสาวรีย์วีรชนแห่งชาติอย่าง Realistic ซึ่งทุกวันนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักในโลกตะวันตก อาจารย์ศิลป์ พีระศรี สำคัญเพราะความเคารพรักที่ท่านมีต่อลูกศิษย์ และความเคารพรักที่ท่านได้รับจากลูกศิษย์คนไทย ดูเหมือนท่านจะเป็นฝรั่งคนเดียวที่ศิษย์ (และศิษย์ของศิษย์) ยังบูชาเป็นครูตามประเพณีโบราณ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ท่านสามารถถ่ายทอดฝีมืออันดีเยี่ยมของท่าน โดยไม่บังคับศิษย์ให้หลงกับศิลปะ “Realistic เผด็จการรักชาติ” ที่ท่านเองเรียนมา ศิษย์ไทยของท่านมีความหลากหลายที่เดินห่างออกไปจาก Nationalist Realism เข้าถึง Impressionism, Cubism, Surrealism การรื้อฟื้นศิลปะไทยประเพณี และทางอื่นอีกหลายทางที่ยากจะหาศัพท์เรียก เป็นไปได้ว่า ชีวิตชีวาและความหลากหลายของจิตรกรรมไทยทุกวันนี้เกิดจากความสำนึกทางศิลปะของชาวสยามเองประการหนึ่ง และความดลใจจากต่างประเทศที่คนไทยสนใจนักหนาอีกประการหนึ่ง แต่ยากที่จะอธิบายศิลปะไทยทุกวันนี้ หากไม่รับรู้ในบทบาทของครูวิเศษ ศิลป์ พีระศรี ที่เห็นกันทุกวันนี้
จิตรกรรมไทยทุกวันนี้หลากหลายมากจนยากที่จะแยกประเภท ประเภทที่ใช้กันในงานประกวดจิตรกรรมบัวหลวงของธนาคารกรุงเทพ มีประเภทจิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัย ประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณี และประเภทจิตรกรรมไทยแบบแนวประเพณี โดยมากชาวตะวันตกจะมองคนไทยว่าเป็นมนุษย์สองมิติ ” เป็นชาวพุทธ ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส” ไม่มีความลึก แต่ถ้าหากว่าเขาดูจิตรกรรมไทยสมัยใหม่ เขาอาจจะตกใจเมื่อเห็นมิติอีกมิติหนึ่ง นั่นคือ มิติมืดท่ามกลางแสงสว่าง
จิตรกรรมไทยสมัยปัจจุบันส่วนหนึ่ง (ส่วนใหญ่) มักสะท้อนด้านมืดของบุคลิกภาพและสังคม โดยให้เห็นถึงความเจ็บปวดของปัจเจกบุคคลและความปวดร้าวของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง นี่เป็นบทบาทสร้างสรรค์สำคัญที่ทำให้ศิลปะปัจจุบันมีประโยชน์ มีชีวิตชีวา และมีความหมาย
ประเภทร่วมสมัย แม้เมื่อมองโลกในแง่ดีที่สุด เช่น ในภาพเฉลิมพระเกียรติ จิตรกรรมไทยมักแสดงพระราชกรณียกิจในแง่ที่ทรงปลดข้าแผ่นดินออกจากความยากจน การเอารัดเอาเปรียบ ความว้าเหว่ จิตรกรรมประเภทนี้มักตั้งคำถามว่า ” หากสมเด็จท่านไม่ทรงเอาพระทัยใส่แล้วประชาชนเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ?” ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับ “แสงสว่างท่ามกลางความมืด” Surrealism ของไทยมักถูกหาว่า “ลอกเขามา” ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าสัญลักษณ์ของศิลปะประเภทนี้มีจำนวนจำกัด ไม่หลากหลายเท่าที่คนมักคิด สัญลักษณ์ที่เห็นบ่อย คือ ชุดเสื้อผ้าในอิริยาบทต่างๆ ทั้งๆที่ไม่เห็นตัวคนที่นุ่งห่ม คล้ายจะถามว่า “ฉันเป็นใคร ? อยู่ที่ไหน ? หายไปไหน ?” นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้ง ความทารุณ ความโลภ และความขี้โกง Abstract ย่อมเข้าใจยากเป็นธรรมดา แต่ Abstract ของไทยมักไม่ “ขี้เล่น” หรือ “สวยล้วน” อย่างของฝรั่ง แต่มักมีอะไรบางอย่างที่ดูเป็นลางร้าย การข่มขู่ ความเน่า ซึ่งอาจสะท้อนปรัชญาพุทธ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) หรือความน่าเป็นห่วงของสังคม ปัจจุบันเป็นการง่ายนักที่จะหาว่า ศิลปะร่วมสมัยของไทย “เรียนเขามา” ก็ใช่สิ เพราะไทยได้ตั้งใจศึกษาศิลปะสมัยใหม่จากตะวันตก และ “ศิลปะไทยประเพณี” โดยนิยามเป็นการเล่าเรื่องเก่าด้วยวิธีเก่าตามครู ที่จิตรกรรมไทยสมัยนี้มีความหลากหลายและชีวิตชีวา อาจเกิดจากตะวันออกพบตะวันตก เก่าพบใหม่ ทำให้จิตรกรไทยสามารถจัดการกับเรื่องเก่าด้วยกรรมวิธีใหม่ และเอากรรมวิธีเก่าไปใช้ในทางใหม่ที่คนเราไม่ค่อยคาดคิด การที่จิตรกรรมไทยประเพณี ” เรียนเขามา” ไม่จำเป็นต้องแก้ตัว เพราะเป็นเช่นนั้นโดยนิยามดังกล่าวมาแล้ว ส่วนประเภทร่วมสมัยย่อมใช้กรรมวิธีที่เรียนมาจากเมืองนอก (ดังกล่าวมาแล้ว) แต่ที่สำคัญคือ งานส่วนมากไม่ได้ลอกเขามาโดยตรง แบบศิลปะที่เป็นของเก่าในตะวันตกอาจจะเป็นของใหม่สำหรับคนไทย หากจิตรกรไทยจะรับใช้สังคมไทยก็มีสิทธิ์ที่จะนำกรรมวิธีเหล่านั้นมาใช้ หรือใครจะอ้างว่า Impressionism เป็นของเก่าเลิกกันแล้วในยุโรป ห้ามไม่ให้ศิลปินไทยนำมาเล่น ? Impressionism อาจเป็นของใหม่ ของสด ของปลดปล่อยในภูมิภาคนี้ แล้วคนไทยไม่มีสิทธิ์เอามาเล่นหรือ ? นอกจากนี้แล้วจิตรกรรมไทยสมัยนี้ แม้จะใช้กรรมวิธีสากล (ที่ไม่มีใครจองลิขสิทธิ์) ก็ยังปล้ำกับปัญหาแท้ๆปัจจุบันของคนไทยทั้งปวงซึ่งมิได้เป็นปัญหาที่ใครฝันขึ้นมาหรือนำเข้ามาจากที่อื่น
ประเภทไทยประเพณี ประเภทไทยประเพณีแบ่งได้อีกขั้นหนึ่งคือ แบบ “งาม” และแบบ ” มีความหมาย” แบบ “งาม” นั้นอาจจะเต็มไปด้วยความสวยงามทางสี เส้น และเนื้อหา แต่ไม่มีความหมายลึกนัก น่านับเป็นมัณฑนศิลป์มากกว่า ส่วนแบบ “มีความหมาย” มักสะท้อนความสนใจของชาวนาชาวสวนตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการหมุนเวียนของพืชและสัตว์ ความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดจากความตายและความเน่า หรืออีกนัยหนึ่งอาจสะท้อนคำสอนของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการวนเวียนเกิดตายในสงสารภพ งานบางชิ้นเป็นเอกสารสำคัญทางมานุษยวิทยา เพราะสะท้อนงานของเซอร์เจมส์ เฟรเซอร์ และดร.การ์ล ยุง ทั้งๆที่จิตรกรไม่เคยศึกษาทางนี้เลย ตรงกันข้ามน่าเข้าใจว่า ญาณปรุโปร่งนี้น่าจะเกิดจากจิตใต้สำนึกของจิตรกรไทยโดยตรง : แมวกับดวงจันทร์ เขากับกระดูก บาดาลกับสัตว์กึ่งมนุษย์ เขี้ยวกับเปลวเพลิง ไทยประเพณี ยังมีอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความหมายลึกซึ้ง แต่ไม่เพียง “สวยงาม” อย่างเดียว จิตรกรสาขานี้มักศึกษาลึกมาก มีฝีมือและจินตนาการสูง และไม่ค่อยพอใจกับจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เขาจึงสามารถรื้อฟื้นแบบศิลปะโบราณอย่างน่าอัศจรรย์ เช่น อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีเอกที่ยังวาดเขียนเยี่ยงชาวอยุธยาตอนต้น
ประเภทแนวไทยประเพณี ประเภทนี้นิยามยาก แต่เป็นประเภทที่ผลิตงานน่าสนใจและเป็นงานสร้างสรรค์มากที่สุด เพราะเป็นจุดที่ศิลปะตะวันออกพบปะกับศิลปะตะวันตกได้สะดวก ทำให้สิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้น จิตรกรอาจจะนำเรื่องประเพณีไปวาดเขียนด้วยกรรมวิธีร่วมสมัยหรือใช้กรรมวิธีแบบประเพณีเพื่อแสดงปัญหาปัจจุบัน ชวนให้เห็นของเก่าในแง่ใหม่ หรือเห็นเรื่องใหม่ในแง่ที่ไม่เคยคิดมาก่อน
บทบาทศิลปะทุกวันนี้ ศิลปะย่อมมีบทบาทนานาในสังคมปัจจุบัน ที่สำคัญมันไม่ควรรับใช้รัฐเยี่ยงทาส แต่ควรเข้าข้างปัจเจกบุคคลในการประท้วงรัฐและสังคม และควรสะท้อนความขัดแย้ง ความไม่สมดุลในรัฐและสังคมอีกด้วย ปัจจุบันมีจิตรกรไทยหลายคนที่ทำเช่นนั้นได้ดี โดยแสดงถึงความปวดร้าวของปัจเจกบุคคลในสังคมคับแคบที่ไม่เคารพคนที่ไม่มีสังกัด ไม่เข้าช่องที่สังคมจัดไว้ ยังแสดงถึงความ อยุติธรรมในสังคม เกษตรกรรมที่ถูกพานิชยกรรมสมัยใหม่ปล้น และวัฒนธรรมพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมน้อยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษก่อนและยังไม่ทันฟื้นฟูดีนัก ในงานประท้วงเช่นนี้ จิตรกรรมไทยมักทำงานที่มีชีวิตชีวา สะเทือนใจ และมีความหมาย มีประโยชน์ และสามารถสื่อสารกับคนนอกวงศิลปินได้ดี เป็นการดีอยู่ที่ศิลปะไทยปัจจุบันได้รับการศึกษาจากแง่มุมศิลปะตะวันตก เพราะได้รับความดลใจจากตะวันตกอยู่มากตั้งแต่รัชสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย ผ่านสมัยฟาสซิสต์ ตลอดจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อาจเป็นประโยชน์หากจิตรกรรมไทยสมัยปัจจุบันได้รับการศึกษาจากแง่เทพปกรณัม ทั้งอุษาคเนย์และอุษาทักษิณ และจากแง่ปัญหาสังคมและวัฒนธรรมซึ่งจิตรกรไทยขบได้มากและขบได้ดี
การอุปถัมภ์ ประวัติการอุปถัมภ์ศิลปะสยามนั้นน่าสนใจไม่แพ้ประวัติของศิลปะก่อนสมัยใหม่ผู้อุปถัมภ์ศิลปะคือ วังหลวง วังหน้า และเจ้านายท้องถิ่น โดยการอุปถัมภ์ส่วนใหญ่จะผ่านวัดวาอารามใต้นโยบายรวมศูนย์ของ ร. 5 เจ้านายท้องถิ่นหมดอำนาจวาสนาและวังหน้าถูกยุบ จนเหลือแต่วังหลวงเป็นศิลปะอุปถัมภ์ฝ่ายเดียว ในขณะเดียวกัน วังหลวงกำลังนิยมวิถีชีวิตและศิลปะยุโรปสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย ซึ่งศิลปินพื้นเมืองผลิตไม่เป็น จึงจำเป็นต้องนำเข้า จิตรกร ประติมากร และสถาปนิกจากยุโรป แม้ศิลปะไทยประเพณียังมีผู้ปฏิบัติอย่างดี เช่น กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่ออกแบบวัดเบญจมบพิตร แต่โดยมากมีคนนิยมบำรุงศิลปะเดิมน้อยมากจนอาจจะเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นอันตราย
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ศิลปะในประเทศไทยได้มีอุปถัมภกใหม่คือ รัฐบาล ที่แต่ละปีจะค่อยกลายไปในเผด็จการทหาร ในสมัยนั้นศิลปินไทยได้รับความดูแลและสนับสนุนทางการเงิน หากเขาสามารถผลิตงาน Fascist Realist แบบตะวันตก และงาน “ไทยประเพณีประยุกต์” ที่รัฐบาลต้องการในการโฆษณาชวนเชื่อ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ศิลปินไทยตกระกำลำบากอีก เพราะสังคมไม่มีระเบียบหรือความมั่งคั่งพอที่จะอุปถัมภ์ศิลปะ กาลเวลาผ่านไป รัฐบาลเผด็จการไม่มีปัญญาจะบำรุงศิลปะ แต่เอกชนและบรรษัทค่อยมีความมั่นคงพอที่จะคิดทำอะไรบางอย่างเพื่อบำรุงศิลปะและศิลปิน สอง-สามทศวรรษที่ผ่านมา เป็นระยะเวลาที่คนไทยตื่นตัว เริ่มทักท้วงลัทธิ ” รักชาติจอมปลอม” ของเผด็จการ ปฏิเสธ “ศิลปะราชการ ( Official Art)” และเริ่มซักถามตนเองถึงสภาพตนเอง สังคม และศิลปะ
เมื่อ พ.ศ. 2517 ธนาคารกรุงเทพจำกัด ได้จัดนิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวงเป็นครั้งแรก โดยให้รางวัลที่ดีพอสมควร และขอซื้อผลงานที่ดีด้วยราคาตลาด ทำให้ธนาคารกรุงเทพเป็นแหล่งสะสมจิตรกรรมไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ทำขึ้นมาเนื่องในโอกาสรวมเล่มผลงานจิตรกรรมบัวหลวงที่ชนะการประกวด หากทบทวนสูจิบัตรเก่าๆ ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน จะเห็นภาพชัดเจนแสดงถึงผลของการอุปถัมภ์เช่นนี้
ประการแรก จิตรกรรมไทยประเพณีได้กลับคืนชีพ ทั้งในด้านฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของจิตรกรและความนิยมในหมู่ประชาชน
ประการที่สอง ศิลปะตะวันตกได้รับการศึกษาอย่างดี และถูกคนไทยย่อยจนกลายเป็นของไทย โดยไม่มีเค้าพระนางเจ้าวิกตอเรียหรือฟาสซิสต์ยุโรปเหลืออยู่เลย
ประการที่สาม ในบางกรณีศิลปะสยามกับศิลปะตะวันตกได้ชนกันแล้ว ประสมกันจนเกิดศิลปะใหม่ ซึ่งไม่เป็นสิ่งน่าเบื่ออย่าง “ศิลปะแห่งชาติ” หากเป็นศิลปะต่างๆนานา ตามศิลปินแต่ละคนจะนึกคิด เป็นศิลปะเหนือชาติ เหนือภาษาที่ตั้งคำถามที่แหลมคมถึงพริกถึงขิง
นิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติ จัดโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร และนิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวง ของธนาคารกรุงเทพจำกัด ต่างเป็นงานแสดงศิลปะประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต่างได้ช่วยกันบำรุงอุปถัมภ์จิตรกรที่ดีและชวนให้ประชาชนหันมาสนใจศิลปะ อย่างไรก็ดี ยังจะต้องทำงานเพื่อส่งเสริมศิลปินที่จะสื่อสารกับประชาชน
ที่มา: ไมเคิล ไรท์. “แสงสว่างท่ามกลางความมืด จิตรกรรมในประเทศไทยทุกวันนี้” สูจิบัตรประกอบการแสดงงานศิลปะบัวหลวงระบายสี ประมวลภาพรางวัลจิตรกรรม ครั้งที่ 1-19 เนื่องในวโรกาสฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539, หน้า 75-88.