ภาพพิมพ์ทัศนะส่วนบุคคล และอีกทัศนะหนึ่ง โดย วิรุณ ตั้งเจริญ
มีนักคิดท่านหนึ่งกล่าวว่า “ดอกไม้บานเพราะดิน น้ำ สายลม และแสงแดด ดอกไม้ เติบโตไม่ได้เติบบานเพื่อเตรียมตัวให้ใครชื่นชม การที่มนุษย์ชื่นชอบหลงใหลเพราะมนุษย์ปรารถนาจะชื่นชอบเอง”
เมื่อคนเราอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาก็มักจะเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สอยร่วมกัน คิดร่วมกัน หรือรับรู้และชื่นชมร่วมกัน การนิทรรศการศิลปะที่นิยมกันอยู่ขณะนี้ก็เช่นกัน อาจจะเป็นการนำความกระหายส่วนบุคคลไปสู่การชื่นชอบของผู้อื่นด้วย จะเติบบานประหนึ่งดอกไม้ หรือเติบบานเพื่อการรับรู้ของสังคมก็ยังคงเป็นทัศนะที่ต่างกันออกไป นิทรรศการ ” ภาพพิมพ์ทัศนะส่วนบุคคล” ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรที่สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน
ไกรโชติ จิตตรุทธะชี้แจงว่า “ไม่ว่าจะเป็นข่าวอาชญากรรม สงคราม ฆาตกรรม อาชญากรรมทางเพศ ฯลฯ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความกดดันและความรุนแรง ซึ่งเราเองอาจพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน” เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าไกรโชติหลอกตัวเองหรือเปล่านะ ในการเลือกภาพถ่ายทั้งหมดทั้งสิ้นของฝรั่งมารวมไว้ และออกจะเป็นสังคมด้านเซ็กซ์ด้านเดียว ภาพถ่ายหญิงเปลือยยืนเรียงแถวของเอดเวิร์ด มายเบริดจ์ แต่ปี 2530 ไกรโชติน่าจะทดลองนำเรื่องที่สัมผัสได้ใกล้ๆตัวมารวมไว้ เพราะอาจจะรับได้ชัดเจนกว่าสังคมอื่น การศึกษางานของรัสเซนเบิร์กก็นับเป็นการดี ซึ่งไกรโชติก็สร้างได้หนักแน่นจริงจัง งดงามทั้ง “จูบ” และ “สัญลักษณ์ทางเพศ” ” ชีวิตมนุษย์ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ที่อธิบายไม่ได้ ฉันจึงสนใจดวงดาว ความลึกลับของจักรวาล การไร้สภาวะ การล่องลอยไปอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด” … มึน สีสรรพ์ของชนิดา ซึ่งตระกูล เป็นสีหวานๆที่ชวนชื่นชม แต่อาจจะดูขัดเขินกับจินตนาการที่สร้างเป็นสัญลักษณ์ในลักษณะจิตนิยม การสร้างสื่อจะมีสภาพเป็นสัญลักษณ์ก็ต่อเมื่อพอจะรับรู้ร่วมกันได้ การสนใจดวงดาวที่ชนิดาอ้างไว้ จึงน่าสงสัยว่าเป็นดวงดาวทางดาราศาสตร์ที่เป็นเหตุผลหรือดวงดาวทางโหราศาสตร์ที่เลื่อนลอย
” การบันทึก” ของประธาน พูลศิริ “ร่องรอย” ของสิทธิพร สายเนตร และชุดบ้านเรือนในสลัมของหมอนสมัย ผ่องใส เผชิญหน้าและบันทึกวัตถุได้น่าสนใจ ประธานอาจจะยังไม่ได้เลือกสรรพื้นผิวให้ดีที่สุดและหนักแน่นจริงจังนัก สิทธิพรบันทึกความซับซ้อนของพื้นผิวได้หนักแน่น หมอนสมัยบันทึกโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง ถ้าจะทดลองสะท้อนความเขลอะกรัง ตะไคร่น้ำ บรรยากาศโทรม ๆ เพิ่มขึ้นอีก แล้วถึงวันนั้นเราจะอ่านเรื่องสั้นของมานพ ถนอมศรีได้จุใจยิ่งขึ้น
ชุด “สะสมรวบรวม” ของรสลิน อัฐพร เป็นการรวบรวมแง่มุมของวัตถุสิ่งก่อสร้างรอบๆ ตัว เช่น เรือ บ้าน ประตู หน้าต่าง เป็นองค์ประกอบสวยงามในบุคลิกของภาพถ่ายที่สะท้อนความรู้สึกเฉพาะมุมมีความประณีตเรียบร้อยสูง ภาพพิมพ์ของสุรศักดิ์ อวนดี แสดงท่าทีในลักษณะเหนือจริง “จิตสำนึก 1″ ที่สร้างบรรยากาศเขียวคลุมลึกลับไปทั้งภาพ ตุ๊กตาที่ควรจะไร้เดียงสาแต่กลับหม่นหมอง นาฬิกา บทเพลงกีตาร์เคว้งคว้างอยู่บนฟ้า เมฆสีขาวและสีดำเสรีที่จะไปไหนไหน บนดิน มนุษย์ผู้เสรีต้องถูกจองจำ
มัลลิกา ศรีรุ่งเรือง วางกลุ่มสีได้กินใจมากใน ” อาหารโปรด” แดงเข้มหนักแน่นท่ามกลางสีซึมๆ โดยมีน้ำเงินคล้ำและเขียวจางช่วยขัดแย้งได้งดงาม แต่อาจจะรู้สึกเคอะเขินกับภาพปลาไปบ้างด้วยมีลักษณะเป็นปลาออกแบบ ต่างไปจากสิ่งอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติลดทอนจากรูปจริง เป็นการขาดเอกภาพทางรูปแบบไปบ้าง ส่วนหุ่นนิ่งจะไปแทนความรู้สึกเจ็บปวด เกลียด รัก ตามแถลงการณ์ของมัลลิกาอย่างไรหรือไม่นั้น ตอบยาก ส่วนหุ่นนิ่งของพงศ์เดช ไชยคุตร ก็สวยในแบบของภาพหุ่นนิ่ง
งานของวรัฒน์ ตันติเวชกุล สร้างแม่พิมพ์วัสดุปะติดในภาพ “กระสอบเก่า” ได้สง่างามมีพลังของปริมาตรและพื้นผิวที่ชวนประทับใจ ให้ความรู้สึกเหมือนแท่งโลหะที่หักงอ สะท้อนความรู้สึกถึงสังคมเมืองและกวีรูปธรรมได้ดี ส่วน “อดีต” และ “กาลเวลาในอดีต” ที่แสดงภาพชายชราไว้บนระนาบนั้น เป็นการเริ่มต้นที่น่าติดตาม ขอบรอบนอกที่แสดงคุณภาพไว้จริงจังมาก อาจจะทำลายเอกภาพระหว่างคนพร่ามัวและระนาบเวิ้งว้างไปบ้างก็ได้
ชุดสงครามของประสพโชค ธนะเศรษวิไล คงต้องปรบมือแทนช่อการะเกดหรือดาว โดยเฉพาะภาพ “บันทึกประจำวัน” ที่ไม่ได้ตีพิมพ์ไว้ในสูจิบัตร เป็นสงครามในป่า หรือบนท้องถนนก็น่าจะได้บรรยากาศที่อึดอัด ความรู้สึกที่บีบคั้นด้วยสภาพเลือนลางซับซ้อนและจัดภาพทึบตัน บางตอนขาวโชนเหมือนแสงวูบวาบ ภาพอื่นๆก็น่าสนใจไม่น้อย แต่อาจจะให้ความรู้สึกเบาด้วยบริเวณว่างเวิ้งว้างไปบ้าง และหลายคนอาจจะนึกถึงบทกวีสดๆ ร้อนๆ ของอัศศิริ ธรรมโชติ … สงครามยังไม่เลิก สงครามยังไม่เลิก คนกระหายอำนาจ ยังอยู่ ดูซิ นั่น รั้วลวดหนาม ไกลออกไปที่นั่น คือเสียงปืน และไกลออกไปที่นั้น คือความมืดอันแท้จริง ” แม่ครับ …. ทุ่งนาของเราอยู่ที่ไหน” ” ลูกเอ๋ย …. มันกลายเป็นสนามรบไปแล้ว”
ที่มา: วิรุณ ตั้งเจริญ. “ภาพพิมพ์ ทัศนะส่วนบุคคล และอีกทัศนะหนึ่ง.” สยามรัฐ 17 กันยายน 2522.