ว่าด้วยความลวง และความจริงอื่นๆของจิตรกรรม พินิจหลายแง่ต่องานของ เอส. พี. โดย ฮันส์ เบลทิง
การเล่นแร่แปรธาตุ ศาสตร์ทางเคมี และการกลายรูป งานจิตรกรรมจะสูญเสียส่วนประกอบหลักอันสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเรามุ่งแต่จะแสวงหาคำตอบต่อมันเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์เท่านั้น
โพลเค ( ซิกมา โพลเค Sigmar Polke) ทำให้พวกเราระลึกถึงประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติของสสารหรือวัตถุที่เขาใช้ ซึ่งเขายังคงแสดงมันออกมาให้เห็นในผลงานจิตรกรรมของเขา ทุกวันนี้จิตรกรบางคนมีความเห็นกันว่า ภาระหน้าที่ในงานของพวกเขามีอยู่แค่เพียงในอาณาจักรแห่งความคิดเท่านั้น ซ้ำยังใช้เนื้อสีที่บีบออกมาจากหลอดโดยตรง และใช้มันเป็นวัสดุแสดงความคิดราวกับมันเป็นธาตุที่ไม่มีความหมายในตัว ในยุคแห่งเทคนิค ธรรมชาติถูกจำกัดสิทธิให้เป็นเพียงแค่แบบชนิดหนึ่งของงานจิตรกรรมเท่านั้น และทุกครั้งที่มีการหันกลับมามองธรรมชาติก็จะกลายเป็นว่า มันเป็นทัศนคติแบบดึกดำบรรพ์ นี่คือสิ่งที่โพลเคคัดค้านและเตือนพวกเราให้หวนนึกถึงหนทางต้องห้ามแห่งความมหัศจรรย์ของจิตรกรรมที่ถูกลืม ซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยทำให้เกิดความประหลาดใจได้เช่นเดียวกับที่ปฏิกิริยาทางเคมีทำในปัจจุบัน ธรรมชาติหวนกลับมาสู่งานจิตรกรรมไม่ใช่ในเชิงที่เป็นแบบ แต่ในแง่ของพลังธรรมชาติที่เป็นภาพปรากฏต่อสายตาอย่างหนึ่ง ( และสิ่งที่มาคู่กับพลังทางธรรมชาติในรูปของสิ่งซึ่งเกิดขึ้นจากการสังเคราะห์ด้วยกระบวนการทางเคมี)
ความคิดเรื่อง เมทามอร์โฟสิส metamorphosis มีขอบเขตของความหมายอยู่ในกรอบความคิดดังกล่าวนี้ด้วย พวกเราทราบกันดีว่า เมทามอร์โฟสิส ก็คือการกลายรูป หรือการเปลี่ยนแปลงของรูปทรง ซึ่งหากปราศจากสิ่งนี้ก็ไม่อาจมีการวาดเป็นภาพจิตรกรรมขึ้นมาได้ แต่การ ” แปรเปลี่ยนรูป” transformation ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดดังกล่าวนี้ ก็มีปรากฏอยู่แล้วในน้ำมันชักเงา และน้ำยาเรซิ่นที่โพลเคใช้สร้างผลงานของเขา การแปรเปลี่ยนรูปของวัตถุก็คือกระบวนการในชั่วขณะหนึ่งที่ทิ้งร่องรอยของความเป็นมาในการสร้างสรรค์ของมันไว้ในภาพที่ถูกวาดขึ้น ภาพเช่นนั้นมักปรากฏดังถูกวาดขึ้นโดยตัวมันเอง จิตรกรได้ปลดปล่อยพลังของธรรมชาติเช่นเดียวกับที่ช่างถ่ายภาพทำในอ่างน้ำยาล้างภาพของเขา และงานจิตรกรรมของโพลเคก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยวิธีการที่เหมือนกับอ่างเคมีล้างภาพ ในวิธีการนี้จิตรกรเป็นผู้ทำให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างที่ไม่มีใครรู้จักราวกับว่าเขาไม่ได้อยู่ในกระบวนการทำงานนั้น การแสดงออกอย่างรวดเร็วในท่าทีของจิตรกรรมที่พวกเราคุ้นเคยกันดีนั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนอยู่ในชั่วพริบตาของกระบวนการทางเคมี งานจิตรกรรมจึงกลายเป็นสนามทดลองที่ไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์ใหม่เท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่เป็นสสารชนิดใหม่ด้วย ในรอยแต้ม หยดสี และการพร่างพรูของสีนั่นเองที่เราสามารถจะอ่านรูปลักษณ์ที่แสดงออกมาเป็นภาพให้เราได้เห็นถึงเหตุการณ์อย่างหนึ่งได้ ( หรือปฏิกิริยาทางเคมีอย่างหนึ่ง) นี่ก็คือ ละครแบบหนึ่งอันประกอบขึ้นจากธาตุต่างๆ
คำที่มีความหมายในตัวเองที่จะอธิบายถึงกลวิธีแห่งจิตรกรรมดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เคมี chemistry แต่เป็นอัลเคมี alchemy ศาสตร์แห่งการเล่นแร่แปรธาตุ ในช่วงเวลาสมัยใหม่ ศาสตร์ทางเคมีที่สั่งสมความรู้มาจากการสังเกตและการทดลองได้เข้ามาแทนที่การฝึกฝนอันลึกลับในศาสตร์ของการเล่นแร่แปรธาตุที่มีคำอธิบายตัวเอง ซึ่งรู้จักไปทั่วว่า “ศิลปะวิทยาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า” อันเป็นศิลปะที่เข้าใจได้แต่บุคคลเพียงไม่กี่คนที่ได้รับคัดเลือกให้ถ่ายทอดความรู้นี้ นี่เป็นอีกครั้งที่พวกเราได้ผ่านเข้ามาสัมผัสกับศาสตร์โบราณอันเร้นลับที่ตกมาสู่พวกเรา โดยมีคำอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างทันสมัยที่สุด ดังที่เราเรียกมันว่าเป็นศิลปะ ในจุดที่มีการพิจารณาตัวเองว่าเป็นศิลปะซึ่งพิทักษ์ปกป้องมนต์ขลังอันเร้นลับของโลกนี่เองที่ศาสตร์ของการเล่นแร่แปรธาตุแบ่งแยกตัวมันเองออกจากศาสตร์ทางเคมีอย่างชัดเจน การเล่นแร่แปรธาตุเป็นศิลปะไม่ใช่แค่เพียงฐานะที่มันเป็นพิธีกรรมโบราณอันเต็มไปด้วยความชำนาญเฉพาะทาง หากมันยังเป็นการกระทำที่เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกกำกับไว้ด้วยภาษาภาพชุดหนึ่งอีกด้วย โพลเคใช้ประโยชน์จากบทบาทของปรากฏการณ์แห่งความลวงอย่างหนึ่ง และในความลวงที่มีมนต์ขลังแห่งบรรพกาลซึ่งถูกปกปิดไว้นี้เองที่พวกเราสืบสานมันอยู่โดยไม่รู้ตัวด้วยความเข้าใจว่ามันคือศิลปะ ปฏิสัมพันธ์ทางสุนทรีย์ด้วยธาตุต่างๆอาจเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใด แต่ที่ชัดเจนเหนืออื่นใดก็คือเสรีภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปะมีสิทธิ์จะกล่าวถึง
การอุปมาอุปมัยระหว่างการเล่นแร่แปรธาตุกับงานจิตรกรรมมีมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว โพลเคกล่าวอย่างโหยหาอาลัยถึงสีพื้นฐาน 4 สี ในจิตรกรรมโบราณที่ถูกลืม สีซึ่งอยู่ในระบบที่ต่างๆไปจากปัจจุบัน สีพื้นฐานนี้เป็นเครื่องหมายแทนคำ 4 คำ ในกระบวนการของการเล่นแร่แปรธาตุ อันได้แก่ ดำ ขาว เหลือง และแดง สีเหล่านี้ ( ถูกลดลงเหลือ 3 สี การเล่นแร่แปรธาตุหลังยุคโบราณ) แต่ละสีเป็นสัญลักษณ์ของกระบวนการที่มีเขียนเป็นบันทึกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นกระบวนการของ “งาน” ที่มีมนต์ขลังที่เร้นลับ อันประกอบกันขึ้นมาจากการทำการทดลอง ด้วยพลังอำนาจของเคมี “งาน” ในที่นี้มิใช่ในความหมายของ “ผลลัพธ์” แต่เป็นเรื่องของกระบวนการและการสะท้อนออกมาจากการครุ่นคิดต่อทฤษฎีที่ว่าด้วยกำเนิดและพัฒนาการของจักรวาล ซึ่งนักเล่นแร่แปรธาตุกระทำซ้ำไปซ้ำมาในห้องทดลองของพวกเขา การซ่อนนัยของการอุปมาอุปมัยในการเล่นแร่แปรธาตุเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในขุมทรัพย์อันมหัศจรรย์ของการเปรียบเปรย เพื่อที่จะบรรยายถึงศิลปะแห่งจิตรกรรมที่มีวิวัฒนาการมาหลายขั้นหลายตอน คงไม่มีอะไรที่สามารถจะบ่งบอกลักษณะดังกล่าวมานี้ได้ดีไปกว่า Theatrum Chemicum หนังสือที่รวบรวมเอางานเขียนของนักเล่นแร่แปรธาตุทั้งหลายที่ตีพิมพ์ไว้ในปี 1602? การทำให้วัตถุหรือสสารมีคุณค่าสูงขึ้นด้วยปฏิกิริยาทางเคมีจาก ” การจับคู่ธาตุเข้าด้วยกัน mariage of the elements” เป็นสิ่งที่เกี่ยวดองกันอย่างลึกลับกับการเปลี่ยนแปลงของธาตุสีในงานศิลปะ ในฐานะที่เป็นศิลปะอันเร้นลับ มันจึงมักถูกกล่าวหาว่าเป็นสิ่งหลอกลวง นี่จึงเป็นเหตุให้บันทึกลับโบราณ Smaragdene Tafel หรือ “จารึกมรกต” อ้างถึงไว้ในบรรทัดเปิดบทว่า มันเป็น “ความจริงอันปราศจากความลวง” แม้แต่ดันเต Dante ก็ยังผลักไสไล่ส่งเหล่านักเล่นแร่แปรธาตุไปตกนรก … ซ้ำยังตั้งสมญาพวกเขาว่า ” วานรที่ชอบเลียนแบบธรรมชาติ Apes of Nature” ซึ่งเป็นชื่อโบราณที่ขนานนามให้แก่เหล่าจิตรกรด้วย (จาก Inferno 29.139)
ศิลปะการละครของ โพลเค dramaturgy บางครั้งก็ขยายวงกว้างข้ามกระบวนการจริงๆของจิตรกรรมออกไป เมื่อเขาเลือกใช้สีที่จะเปลี่ยนแปลงไปในภายหลัง เมื่อมันโดนแสง ความร้อน และความชื้น “ละครแห่งปฏิกิริยาทางเคมี chemical theatre” ของสสารจะผ่านองก์ที่ 2 ไป หลังจากศิลปินวางพู่กันของเขาลง สีที่ละเอียดอ่อนต่อการกระตุ้นจากความร้อนและความชื้นจะเก็บพลังงานเอาไว้จนกว่ามันจะต้องแสง ณ ที่ซึ่งงานจิตรกรรมนั้นถูกนำออกแสดง ด้วย “ปฏิกิริยา” ( เหมือนกับคำที่ใช้กันทางเคมี) ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากจิตรกร ผลงานจิตรกรรมเหล่านั้นก็จะแสดงตัวมันเองในฐานะของเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง และเป็นจิตรกรรมในฐานะที่เป็นศิลปะของการกลายร่าง art of metamorphosis ปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตรกรกับ “วิญญาณที่เขากุขึ้นมา” นั้นเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมใดๆ ยิ่งกว่านั้น ศิลปินทั้งหลายเป็นผู้ที่ทำงานในทางทฤษฎีไร้ระเบียบ chaos theory มานานก่อนที่วิทยาศาสตร์จะเริ่มโอ้อวดถึงความสำเร็จของมัน ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น มันเริ่มเมื่อจิตรกรเป่าผงโลหะ (อันที่จริงเป็นกากเพชร) ลงไปในสารสังเคราะห์เรซิ่น หรือทำให้เกิดการจับตัวเป็นก้อนด้วยไอโอดีนหรือซิลเวอร์ไนเตรด บางครั้งกระบวนการทางเคมีก็ทำให้เกิดการหดตัวเป็นริ้วรอยและลวดลายของเส้นที่จะปรากฏเมื่อสารสังเคราะห์นั้นเก่าและแตก ซึ่งคล้ายๆกับเป็นการสร้างสรรค์ลวดลายเพื่อการตกแต่ง บางครั้งมันก็บวมจนแตกออกอย่างรุนแรงและทำลายลวดลายต่างๆลง ซึ่งดูราวกับเป็นการแทนที่รูปทรงด้วยการแสดง พลวัตเช่นนี้บ่งชี้ถึงกลวิธีแบบใหม่ของ ” การทำให้เป็นนามธรรม abstraction” ในทางจิตรกรรม เราอาจเรียกมันว่า ปรัชญาแห่งธรรมชาติที่ถูกวาดขึ้น “จิตวิญญาณอันไม่อาจมองเห็นได้ที่มอบพลังให้” ” Die Geister, die Kraft verleihen, sind unsichtbar.” เป็นชื่อที่ตีความได้ไม่แน่ชัด และเป็นชื่อของงานจิตรกรรมขนาดใหญ่จำนวน 5 ชิ้น ในปี 1988 ซึ่งแสดงถึงความเร้นลับนี้ของงานจิตรกรรมราวกับเป็นสารานุกรมเล่มหนึ่งที่รวบรวมเรื่องนี้เอาไว้
เรื่องราวของงานจิตรกรรมยังคงอยู่ในส่วนของฉากหลังซึ่งทำหน้าที่เหมือนผู้กำกับ แต่ใครกันที่กำลังแสดงอยู่หน้าเวทีของโพลเค ? สีและวัตถุธาตุต่างแสดงออกมาให้เรารู้สึกว่ามันไม่ขึ้นอยู่กับอะไร และมันปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากผืนผ้าใบทึบตันซึ่งปรกติแล้วมักจะถูกปกคลุมด้วยผิวชั้นที่สอง ผิวหน้าของงานจิตรกรรมถูกชโลมชุ่มไปด้วยน้ำยาเรซิ่นจนหนาถึงระดับที่ทำให้มันกลายเป็นช่องที่ปล่อยให้แสงผ่านได้ ภาพที่มี 2 ด้านจึงถูกสร้างขึ้นจากด้านหน้า และด้านหลัง และรูปทรงด้านที่กลับกัน 2 ด้าน positive and negative form ก็เกาะเกี่ยวสอดประสานกันอย่างกลมกลืน เราไม่จำเป็นต้องหันภาพกลับไปดูอีกด้านหนึ่งดังที่ต้องทำเมื่อชมภาพจิตรกรรม 2 ด้านแบบโบราณ ความโปร่งแสงแบบใหม่ช่วยทำให้มันมองเห็นภาพที่ดูเป็นปริศนาได้พร้อมๆกัน ความลวงในการสร้างละครฉากนี้ เรียกได้ว่าเป็นความประทับใจที่เราสามารถมองทะลุผ่านผืนผ้าใบราวกับว่ามันไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น แทนที่จะพยายามหลอมละลายสิ่งที่ไม่อาจละลายลงได้ด้วยพื้นผิวทึบๆที่เป็น ” กำแพงแห่งจิตรกรรม” a wall of paintingดังที่บาลซาค Balzac เรียก งานจิตรกรรมของโพลเคชุดนี้ได้เนื้อของตัวมันเองกลับคืนมา จนดูราวกับเป็นเวทมนตร์ที่ทำให้ผืนผ้าใบนั้นปราศจากร่าง ผลงานเหล่านั้นดูเหมือนกับว่าจะลอย เมื่อมันตรึงสายตาเราไว้กับศูนย์กลางของช่องแสงในตัวมัน ( หรือใครจะเรียกว่าฉากก็ได้) สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจของงานจิตรกรรมนี้กำลังถูกกำกับ มันเตือนให้เราระลึกถึงข้อเปรียบเทียบเดิมกับปรากฏการณ์ของการเล่นแร่แปรธาตุ หรือศิลปะที่ถูกลืม ซึ่งโพลเคนำมันกลับมาใช้ใหม่ในนามของจิตรกรรม เพื่อที่จะดึงเอาความใกล้เคียงกันของศิลปะกับเวทมนตร์กลับคืนมาจากความหลงลืม
สุภาวี ศิรินคราภรณ์ : ผู้แปล จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้เรียบเรียง
ตัดตอนแปลจาก: Han Belting, “On Lies and Other Truths of Painting : Several Thoughts for S.P., Alchemy/ Chemistry and Metamorphosis.” Sigmar Polke : The Three Lies of Painting, Cantz, 1997, pp.134-137.