ข้อเท็จจริงบางประการในผลงานของชาติชายที่ข้าพเจ้ารู้ โดย ทาคาดะ มิเนโอะ
ก่อนอื่น ข้าพเจ้าจำเป็นต้องสารภาพว่า ข้าพเจ้ายังใหม่ต่อความพิเศษไม่ธรรมดาของ ชาติชาย ยิ่งไปกว่านั้น ข้าพเจ้าเพิ่งจะคุ้นเคยกับผลงานของเขาและตัวชาติชายเองในเวลาต่อมาเมื่อประมาณไม่กี่ปีมานี้เอง
แต่นี่เป็นการอธิบายถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะเขียนเกี่ยวกับชาติชาย เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นผลงานของเขาครั้งแรกที่ ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงฤดูร้อนปี 1997 ข้าพเจ้ายังไม่เคยรู้จักผลงานของชาติชายหรือแม้กระทั่งชื่อของเขามาก่อนเลย ถึงแม้ว่า ข้าพเจ้าจะรู้จักศิลปินในประเทศไทยบางคนที่มีชื่อเสียงมาก เช่น มณเฑียร บุญมา แม้กระนั้น ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็น ข้าพเจ้าก็หลงใหลในผลงานของเขาเป็นอย่างมาก หรืออาจต้องพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ข้าพเจ้าหลงเสน่ห์งานของเขาเสียแล้ว
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิทรรศการศิลปะที่ชื่อว่า ” ศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1997″ แม้ว่านิทรรศการครั้งนี้จะมีผลงานที่ดีและงดงามของศิลปินเป็นจำนวนมาก จนแม้ขณะนี้ข้าพเจ้าก็ยังจดจำชื่อของศิลปินบางคนจากนิทรรศการครั้งนั้นได้ ตัวอย่างเช่น เอ็ง วี ชูว์ Eng Hwee Chu เป็นต้น แต่ผลงานของชาติชายกระทบใจข้าพเจ้ามากกว่าของคนอื่นๆ ข้าพเจ้าสามารถจดจำได้เป็นอย่างดีว่า วันนั้นเป็นวันที่อากาศดีวันหนึ่งในช่วงฤดูร้อน และข้าพเจ้ากำลังจะออกเดินทางจากโอซาก้าไปยังบังคลาเทศโดยผ่านกรุงเทพเพื่อจุดประสงค์ในการวิจัย และวันนั้นก็เป็นวันเปิดนิทรรศการพอดี … … ที่นั่นมีผลงานจิตรกรรมของชาติชายแขวนอยู่บนผนัง 4 ชิ้น และทั้ง 4 ชิ้นเป็นภาพหน้าตัวเขาเองในแต่ละแบบ ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อผลงานชุดนี้ว่า ” สยามเมืองยิ้ม”
ในหนังสือบางเล่มได้อธิบายไว้ว่า อะไรคือ “สยามเมืองยิ้ม ?” ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม และแน่นอนพวกเราที่เป็นชาวต่างชาติมักจะได้รับการทักทายด้วยยิ้มและไหว้ในประเทศไทยเสมอ แต่การยิ้มในผลงานของชาติชายนั้นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ยิ้มปากเบ้ แสยะยิ้ม ยิ้มที่เลือดเย็น หรือยิ้มที่เต็มไปด้วยความร้ายกาจ และการหัวเราะในลำคอ เท่าที่ข้าพเจ้ารู้ มันเป็นยิ้มที่ไม่เหมือนรอยยิ้มของคนไทย สิ่งที่ชัดเจนก็คือชาติชายตั้งชื่องานชุดนี้อย่างตั้งใจและแดกดันเป็นการเสนอความหมายบางประการที่ซ่อนอยู่ในชื่อนี้ แต่แน่นอนว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ความหมายนั้นมาก่อน ผลงานจิตรกรรมเหล่านี้มีขนาดใหญ่ประมาณ 200×200 เซนติเมตรหรือมากกว่า ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้ว รอยยิ้มในผลงานจิตรกรรมเหล่านั้นดูน่าขนพองสยองเกล้า อย่างไรก็ตาม ผลงานเหล่านั้นก็เต็มไปด้วยพลังบางอย่าง และมีรังสีที่ฉายออกมาให้เราสัมผัสได้ ข้าพเจ้าจำต้องแสดงความรู้สึกนี้ออกมา ถึงแม้จะรู้ดีว่านี่จะเป็นคำพูดที่แสนธรรมดาและฟังดูไร้ความหมาย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของขนาดนั้น มีงานบางชิ้นที่ขนาดใหญ่กว่าปรกติมาก ซึ่งข้าพเจ้าสามารถยืนยันได้ว่า พลังและรังสีที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสไม่ใช่เพราะขนาด เป็นสิ่งที่ยากมากที่จะอธิบายว่า พลังนั้นเป็นเช่นไรและรังสีนั้นเป็นแบบไหน แปลก เป็นด้านดี พิเศษ เลวร้าย หรือน่ากลัวในบางความรู้สึก ไม่มีคำอธิบายใดๆจะแสดงสิ่งเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน คำอธิบายทั้งหมดนี้ก็สามารถเปรียบเทียบได้เพียงบางความรู้สึกเท่านั้น แน่นอนว่ามันสวยงาม แต่ก็เหนือความงามในความรู้สึกทั่วไป ผลงานเหล่านั้นรุกเร้าข้าพเจ้า รุกเร้าอะไรต่อข้าพเจ้านั้น ? ข้าพเจ้าไม่รู้ และก็ยังไม่รู้จนกระทั่งปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ารู้สึกอย่างแท้จริงถึงแรงกดดันอันประหลาดที่โถบทับอย่างมากมาย ในแง่ของหลักจิตวิเคราะห์ ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า แรงกดดันนั้นเป็นดั่งการบังคับ ผลงานเหล่านั้นจูงใจข้าพเจ้า มันจูงใจให้ข้าพเจ้าทำอะไรนั้น ? ในเวลานี้ข้าพเจ้าตอบได้อย่างชัดเจน ข้าพเจ้าเริ่มเสาะหางานของเขาที่กรุงเทพเพื่อที่จะชมผลงานชิ้นอื่นๆ ข้าพเจ้าไม่ต้องการจะเสียพื้นที่ในหน้ากระดาษไปเปล่าๆกับการบรรยายถึงความยากลำบากของข้าพเจ้าในการค้นหาผลงานของเขา อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้พบกับผลงานที่ค่อนข้างใหม่ของเขา และรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยกับเขาในที่สุด และการค้นหาของข้าพเจ้าทำให้ได้พบข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับงานของชาติชาย ผลงานจิตรกรรมของเขาไม่เพียงแต่เร้าผู้ดูทางจิตใจเท่านั้น แต่ยังเร้าทางกายภาพด้วย
เรื่องที่สอง ที่ข้าพเจ้าต้องการจะกล่าวถึงก็คือการทำงานของเขาซึ่งมีทั้งความกล้าและความสุขุม หรืออาจพูดได้ว่าเป็นความดิบที่ประณีต อย่างที่เรารู้กันว่า ชาติชายชอบงานที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมักจะเป็นขนาดที่ใหญ่มากทีเดียวประมาณ 200×200 เซนติเมตร และบางครั้งก็มีความกว้างมากกว่า 300 หรือ 400 เซนติเมตร ขนาดที่ใหญ่โตนี้ทำให้ดูลานตา เราจำเป็นต้องอยู่ในระยะห่างพอสมควรเพื่อที่จะมองภาพทั้งภาพได้ อย่างน้อยที่สุด 2-3 เมตร หรือ 10 เมตรถ้าเป็นไปได้ จากจุดที่ยืนชมภาพอยู่เช่นนั้น ระยะห่างจะทำให้เราสามารถมองเห็นประเด็นความคิดหลักของเขาเช่นเดียวกับการได้เห็นภาพทั้งภาพ ตัวละครต่างๆในภาพจะแสดงตัวออกมาข้างหน้าอย่างมีพลังและมีชีวิต สีที่ดูเหมือนว่ารุนแรงมากเกินไปและกระจัดกระจายเมื่อเราดูมันใกล้ๆ ทันใดนั้นมันก็หลอมรวมกันและก่อรูปทรงที่แปลกใหม่และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงให้ปรากฏออกมาภายในสี ณ เวลานั้นเราจะเข้าใจว่า ทำไมเขาจึงเลือกภาพที่มีขนาดโตเช่นนั้น และนั่นทำให้เรารู้สึกประหลาดใจในความสามารถที่จะวาดภาพขนาดใหญ่ของเขาโดยที่งานไม่ดูหลวม แต่ครั้นเราเข้าไปใกล้ภาพและมองมันอย่างใกล้ชิด เราก็จะพบรูปคนและสิ่งต่างๆจำนวนมากในภาพ เราอาจจะพบรูปคนขนาดเล็กจำนวนมากที่เราจะสังเกตเห็นได้ยากจากจุดที่ไกลออกไป หรือเราอาจพบกลเม็ดบางอย่าง อาทิ ดวงตาขนาดเล็กทำเทียม ที่วางล้อเลียนอยู่ในตำแหน่งดวงตาของตัวละครสำคัญในภาพ ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งในภาพเราจะพบตัวอักษรภาษาไทยที่เขียนไว้จางๆภายในเส้นที่วาดเอาไว้ ลักษณะของการวาดเส้นที่มีความจริงจังและเต็มไปด้วยความหมายอย่างมากนั้น ถูกชาติชายนำมาเล่นในเวลาเดียวกัน ความยืดหยุ่นที่แปรเปลี่ยนได้เช่นนี้เป็นลักษณะเฉพาะที่มีทั้งความกล้าและความสุขุมหรือความละเอียดอ่อนที่มักจะสร้างความอัศจรรย์ใจแก่เราเสมอ
อาจไม่จำเป็นต้องพูดว่า เขาไม่ใช่เพียงแค่ชายหนุ่มที่ประหลาดผู้ไม่สนใจทั้งกฎเกณฑ์และความเคยชินต่างๆในงานศิลปะเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม เขาให้ความสนใจในศิลปะแนวประเพณีทั้งตะวันตกและตะวันออก และให้ความเคารพแก่ศิลปะทั้งสองแนวทาง ถ้าจะพูดให้ถูกข้าพเจ้าอยากจะพูดว่า ผลงานของเขามักนำไปสู่เรื่องราวของศิลปะในสองแนวทางนี้ ในบางกรณีผลงานของเขาจะมีที่มาจากบางภาพที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ โดยมีการปรับเปลี่ยนบ้าง บางภาพที่ปรากฏในนิทรรศการครั้งนี้ 1 แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะมองผลงานเพียง 3 ภาพจากทั้งหมด แต่ทั้ง 3 ภาพนั้นก็มีที่มาจากผลงานที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น งานชิ้นหนึ่งที่แสดงภาพใบหน้าขนาดใหญ่ของชาติชายอยู่บนเก้าอี้ตรงกลางของภาพมีที่มาจากงานชิ้นเอกใน ประวัติศาสตร์ของ เวราส เควซ์ Velasquez 2 ชื่อ ” Papa Inocentio X” ในงานชิ้นนี้ใบหน้าของชาติชายถูกสร้างขึ้นแทนรูปร่างทั้งหมดของ ” Papa Inocentio X” ส่วนมือทั้งสองข้างก็เปลี่ยนรูปร่างไปอย่างบิดเบี้ยวผิดธรรมดาจนดูเหมือนกับอวัยวะของสัตว์เลื้อยคลาน ในงานอีกชิ้นหนึ่งแสดงด้วยภาพศีรษะอันใหญ่โตของชาติชายเอียงตกลงไปในน้ำ ซึ่งทับลงบนภาพจิตรกรรมของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์ของจิตรกรรมไทยแนวประเพณี 3 เนื่องจากเป็นภาพที่มีการนำเสนอวิธีการมองภาพแบบที่ตาเห็นตามหลักทัศนียวิทยาในศิลปะไทย …
… ภาพนั้นแสดงให้เห็นถึงดอกบัวที่มีขนาดใหญ่โตอย่างผิดธรรมดาราวกับอาคารตั้งอยู่กลางน้ำ ประชาชนจำนวนมากดูเตี้ยแคระผิดธรรมดาเมื่อเทียบกับดอกบัวที่มีขนาดใหญ่ คนเหล่านั้นสวมใส่เสื้อผ้าแบบยุโรปและพากันมายืนอยู่ข้างสระน้ำเพื่อชมดอกไม้ ภาพดังกล่าวได้นำผู้ชมไปสู่ความเยือกเย็นที่น่าประหลาด อย่างไรก็ตาม ผลงานของชาติชายได้เปลี่ยนรูปทั้งหมดของภาพเดิม นั่นก็คือ ศีรษะขนาดใหญ่มากของชาติชายตกลงไปแทนที่ดอกบัว ประชาชนทั้งหมดล้มตายไปและซากศพเหล่านั้นกำลังลอยอยู่บนผิวน้ำ และมีรถสี่ล้อของซินเดอเรล่าคันหนึ่งกำลังแล่นผ่านด้านหน้าของภาพ ซึ่งดูประหนึ่งว่านั่นเป็นสัญลักษณ์แห่งจุดจบของโลกที่กำลังจะมาถึง ในภาพนั้นมีเพียงสิ่งเดียวที่แสดงสัญลักษณ์บางอย่างของการมีชีวิต นั่นก็คือสีแดงของดอกบัวที่เป็นสีที่ชาติชายชอบ ความสงบเงียบได้จางไปแล้ว และบรรยากาศมืดดำที่น่ากลัวกำลังลอยขึ้นมา ในผลงานอีกภาพหนึ่งเป็นภาพที่เสร็จเพียงครึ่งเดียวและข้าพเจ้าไม่สามารถจะกล่าวถึงลายละเอียดในที่นี้ได้ทั้งหมด แต่ข้าพเจ้าเน้นย้ำลงไปได้ว่างานของชาติชายชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานชิ้นเอกของโกแกง Gauguin4 ชื่อ ” venous-nous? Que Sommes-nous? Ou “Allons-nous?” ที่มีความหมายอย่างคร่าวๆว่า “พวกเรามาจากไหน ? พวกเราเป็นใคร พวกเราจะไปที่ไหน ? อย่างไรก็ตามทั้ง 3 กรณีนี้ ชาติชายได้วาดภาพในวิธีการของเขาเอง และได้สร้างสรรค์โลกที่เป็นของตัวงานนั้นเองขึ้นมา ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะประหลาดใจในจินตนาการอันน่าอัศจรรย์และความคิดริเริ่มของเขา ในท้ายที่สุด ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าสามารถทำได้แค่เพียงแสดงความชื่นชมต่อชาติชาย ข้าพเจ้าหวังว่า นิทรรศการครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อเช่นนั้นอย่างสนิทใจ
วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร : ผู้แปล
แปลจาก ” A few facts I Know about Chatchai’s work.” In : Takada Mineo. สูจิบัตรประกอบนิทรรศการระหว่างทางไปหาพระพุทธพบโกแกงเดินสวนมา ข้าฯลังเล ( 30 ตุลาคม – ธันวาคม 2542) หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ , หน้า 13-14.