ชีวิตอลหม่าน ของ วสันต์ สิทธิเขตต์ มานิต ศรีวานิชภูมิ
“เป็นไงพี่ งานสะใจดีไหมครับ” เสียงหนึ่งดังขึ้นถามอย่างแกมบังคับคำตอบล่วงหน้า ” เออๆ มันดี” เสียงหนึ่งจึงตอบแบบเออออห่อหมกพอเป็นพิธี
นั่นเป็นบทสนทนาหน้าห้องน้ำแกลเลอรี่ของชายสองคนที่ดังผ่านเข้าหูผม ระหว่างที่รอคิวเข้าไปปลดทุกข์ ขณะยืนปฏิบัติภารกิจปลดทุกข์อยู่นั้น ในสมองอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าผมถูกใครถามแบบดักคำตอบไว้เช่นนั้นแล้ว ผมจะตอบเออออห่อหมกว่า “อลหม่าน” ภาพเขียนชุดใหม่ของ วสันต์ สิทธิเขตต์ นั้น ” มันดี-สะใจดี” จะดีไหม ??…
… แล้วเราก็มีศิลปินเช่น วสันต์ สิทธิเขตต์ ที่กล้าหาญกว่าใครเพราะสามารถวาดภาพ ” ไม่มีชื่อ” ที่เห็นรัฐมนตรีในชุดสายสะพายเต็มยศ ใบหน้าเป็นสัตว์เดรัจฉานยืนเอามือกุมเป้าเรียบร้อย บนโต๊ะเบื้องหน้าที่แก้วไวน์แดงวางอยู่ เหมือนกำลังยืนรอใครบางคนในงานฉลองบางอย่าง หรือภาพ “ภาระของรัฐมนตรี” … … หรือ “ท่านรัฐมนตรีกำลังเซ็นอนุมัติสัมปทาน” ที่เราจะเห็นนักการเมืองจิบไวน์และเสพสังวาสอย่างจะแจ้งกระจ่างตา หรือแม้แต่ ” นิพพาน 2000″ ที่เห็นพระกำลังเสพเมถุนกับหญิงสาวในท่วงท่าสุนัขอย่างเบิกบานอารมณ์ เหล่านี้คือภาพสะท้อนการคอรัปชั่น โกงกิน และมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมือง และพระทุศีลทั้งหลาย ที่เรารับรู้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนเป็นเรื่อง “ชินชาตายด้าน” ไปกับดีกรีความเลวร้ายที่เพิ่มขึ้น และซับซ้อนเข้าทุกที วสันต์ก่นด่าในภาพวาดเช่นที่ตาสีตาสาสบถทุกเช้าในร้านสภากาแฟหน้าหมู่บ้านก่อนจะไปไร่ไปนา แล้วทุกอย่างก็ดำเนินไปเช่นเคย (จนบางครั้งกลายเป็นกิจวัตร หรือสูตรสำเร็จของชีวิตประจำวัน)
ในสังคมแบบตัวใครตัวมันและสยบยอมให้กับความชั่วร้ายเช่นไทยไทย เราอาจต้องการเพียงให้ใครบางคนลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็น “หน่วยกล้าด่า” เท่านั้น เพราะ “นรกคือคนอื่น” ความชั่วร้ายเป็นเรื่องที่คนอื่นก่อขึ้นทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัวผมหรือตัวคุณ เช่นนี้แล้วเราจึงชมผลงานของวสันต์ด้วยอารมณ์และความรู้สึกแบบเดียวกับที่เราอ่านรายงานข่าว พฤติกรรมโกงกินของนักการเมือง หรือเรื่องพระเสพเมถุนของหนังสือพิมพ์รายวันหัวสี เราพากันตื่นเต้นไปกับข่าวการเปิดโปงความชั่วร้ายของคนอื่น เหมือนคนเชียร์มวยข้างสนาม
20 กว่าปีที่วสันต์แสดงงานศิลปะและขยันไปร่วมกิจกรรมประท้วงเรียกร้องเรื่องต่างๆตั้งแต่การเมือง ศาสนา จนถึงสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนมีผลให้วสันต์ถูกสังคมตีตราจัดเข้าแฟ้มแบ่งประเภทโดยคนทั่วไป และนักวิชาการศิลปะว่าเขาเป็น “ศิลปินนักต่อสู้เพื่อสังคม” ( ไม่รู้ว่าสันติบาลเขียนประวัติของเขาว่าอย่างไร) นานเข้า บ่อยเข้า ก็ลดเกรดเขาลงเป็นเพียง “ดอกไม้ประดับเวทีอภิปราย” หรือ ” สีสันบันเทิงคั่นรายการประท้วง” ( เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับหลายคนมิใช่แต่วสันต์)
เมื่อวสันต์จัดแสดงภาพเขียนชุด ทิวทัศน์จากเกาะบูบู กระบี่ ก็ถูกนักวิจารณ์ศิลปะและเพื่อนศิลปินบางคนสับแหลก กล่าวหาว่าทิ้งอุดมการณ์การเมืองและสังคม วสันต์เองถึงกับเป๋ไปตามแรงวิจารณ์ ประกาศว่าจะไม่แสดงภาพทิวทัศน์ (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหว) อีกต่อไปแทนที่จะให้วสันต์ได้ใช้ความพยายาม ฝีไม้ลายมือที่จะถ่ายทอดความเข้าใจในธรรมชาติ เราก็เลยได้แต่ภาพลายเส้นหยาบๆที่เป็นเพียงรูปตีนยื่นออกมาจากต้นไม้เพื่อถีบคนชั่ว เพราะภาพแบบนี้เราถือว่า “แรง” เราพากันมองความ “แรง” เพียงรูปแบบ เพียงเปลือกผิวกายนอก ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถนำพาใครไปสู่อะไร นอกจากสร้างความพึงพอใจชั่วครั้งชั่วคราว
เราไม่จำเป็นต้องตีกรอบตีตราให้กับคนใดคนหนึ่งและศิลปินก็ไม่จำเป็นต้องติดยึดกับทฤษฎีความคิดใดความคิดหนึ่ง ( ไม่ว่าจะเป็นนักปรัชญานิทซ์เช่ หรือสกุลลัทธิการเมืองคอมมิวนิสต์ อนาคิสต์) จนกลายเป็นโซ่ตรวนให้กับตนเอง เพียงแต่ให้รู้ว่าตนมีเป้าหมายและต้องการอะไรในท้ายที่สุด ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าสลัดทิ้งเหล่าอาจารย์โยคีสำนักต่างๆจนนำไปสู่การบรรลุนิพพาน
” วสันต์ as usual” ผู้ชมท่านหนึ่งพูดกับผมพร้อมกับหัวเราะ เหอะ เหอะ คุณจะแปลความหมายนี้ว่าอย่างไร เป็นคำชมหรือคำด่าอย่างรักษาน้ำใจศิลปิน
งานวสันต์ต้องมีภาพคนแก้ผ้า โชว์อวัยวะเพศ เสพสังวาสด้วยท่าพิสดาร ชาวนาหน้าเหี่ยว หรือฆ้อนเคียวและคำสบถด่านักการเมืองรุนแรง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นโลโก้หรือตราสินค้าไปแล้ว ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ ” วสันต์ as usual” ไม่มัน ไม่สะใจ คิดกันอย่างนี้ “ศิลปะ” จึงถึง แก่กรรมในเวลาอันรวดเร็ว
วสันต์ไม่เคยทำให้ใครผิดหวังด้วยผลงาน ” ภาพประกอบข่าวการเมือง” อันเป็นความโกรธแค้นที่สามารถหาซื้อสะสมประดับบ้านได้ กระนั้นก็ตาม ผมกลับเห็นว่ามีผลงานที่ถือได้ว่าเป็น “วสันต์ as Unusual” โดดเด่นออกมาอย่างนุ่มนวลท่ามกลางความอลหม่าน ความคิดของวสันต์ภาพนั้นคือ ” คิดถึงพ่อ” ในภาพจะเห็นชายผู้พ่อหัวโล้นยืนหันหลังอยู่บนชายหาด ร่างเปลือยเปล่า มือขวาเท้าเอว มือซ้ายชี้นิ้วมือออกไปยังทะเลสีเขียว(คล้ายคนชี้ทาง) ตรงปลายแขนมีเด็กน้อย (เด็กชายวสันต์) กำลังห้อยโหนตัวอย่างมีความสุขสนุกสนาน โทนสีชมพูของภาพดูอ่อนหวานคล้ายความฝัน นุ่มนวล และอบอุ่น เป็นภาพความรักความผูกพันระหว่างพ่อ-ลูก ระหว่างชายต่างวัยที่งดงามภาพหนึ่ง ” นี่เป็นภาพสุดท้ายที่เขียน ตอนแรกจะเขียนแต่รูปแม่ แต่เขียนไม่ออก กลับนั่งคิดถึงแต่พ่อทั้งๆที่จำหน้าพ่อไม่ได้แล้ว” วสันต์เล่าถึงที่มาของรูปดังกล่าว พ่อของวสันต์เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก เขาจึงผูกพันกับแม่มาก เวลาคิดถึงพ่อ วสันต์จึงเห็นภาพพ่อจากมุมมองของเด็ก อาจเป็นเพราะนี่คือ “การวาดความรู้สึกอันแท้จริง” ของวสันต์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะนักเคลื่อนไหว นักประท้วง นักปฏิเสธ ที่เขาพยายามประกาศอยู่ตลอดเวลา
น่าแปลกใจที่ภาพ “ผมเห็นแม่ในทุ่งข้าวสีทอง” กลับไม่จับใจ อาจเป็นเพราะภาพนี้วสันต์ไม่ได้เห็นแม่ของเขาจริงๆในทุ่งข้าวก็ได้ เพียงแต่อยากจะจินตนาการเปรียบเปรยแม่ของตัวเองกับแม่โพสพ และนี่คือความแตกต่างที่เห็นชัดระหว่างภาพที่ได้จากความรู้สึกในใจกับภาพที่เกิดจากความคิดเห็นทางสมอง ที่พยายามสอดใส่ประเด็นทางสังคมเข้าไปในเนื้อหา ซึ่งต่างจากภาพ “แม่กับลูก” ในชุดด้วยรักและเกลียดชัง ปี 2539 ที่วสันต์เขียนสีฝุ่นบนไม้กลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 120 ซม. เป็นภาพแม่ผมหงอกขาว นั่งเปลือยเปล่าอุ้มวสันต์ในร่างเด็กหนึ่งขวบ แต่ใบหน้าแก่เกือบสี่สิบ สวมแว่นสายตาหัวเถิกล้าน หนวดรุงรัง มือเด็กแคระวสันต์ถือพู่กัน เหนือหัวของเขามีภาพถ่ายขาวดำรูปพ่อในชุดเครื่องแบบข้าราชการแปะอยู่ ภาพนี้กลับน่ารักและตรงไปตรงมามาก (ในตอนที่แม่ของวสันต์มีชีวิตอยู่ วสันต์มักจะกลับบ้านไปนอนตักแม่เสมอๆ) วสันต์เป็นเด็กเสมอสำหรับแม่ไม่ว่าเขาจะอายุ 10, 20, 30 หรือ 40 ( คนส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้มิใช่หรือ)
วสันต์ Unusual นี้แตกต่างจากการคาดหมายหรือเดาได้ของใครๆ เป็นวสันต์ที่ไม่ธรรมดาที่นำพาหรือส่งให้ผู้ชมก้าวข้ามไปสู่อีกมิติหนึ่งแห่งปัญญา เข้าใจชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับสถานการณ์ปัญหาการเมืองรายวัน เป็นวสันต์ที่ไม่ได้มีมิติเดียว เป็นคนมีเลือดเนื้อและความรู้สึก ไม่ใช่เครื่องจักรศิลปะผลิต “ความโกรธ” ตามที่ใครๆต้องการ
สิ่งนี่จะเป็นจริงได้ วสันต์เองต้องเลิกทำให้ตัวเอง “อลหม่าน” ไปตามกระแสเรียกร้องของสังคม การเมืองและกิจกรรมอันเป็นจำเป็น แล้วหันมาสร้างงานตามความรู้สึกนึกคิดอันแท้จริงของตนเอง
ที่มา: มานิต ศรีวานิชภูมิ. “ชีวิตอลหม่าน ของวสันต์ สิทธิเขตต์.” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 46 ฉบับ 27 ( ธันวาคม 2542), หน้า 98.