เรื่องสั้น : คามิน โดย อุทิศ อติมานะ
ชีวิต-อารมณ์-ศิลปะ จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ศึกษาศิลปะในรุ่นเดียวกันกับคามิน เลิศชัยประเสริฐดูเหมือนว่าในบรรดานักศึกษาศิลปะรุ่นนั้น คามินเป็นผู้มีแรงทะเยอทะยานที่เข้มข้นที่สุดคนหนึ่งใน “การเป็นศิลปิน”
เขาเริ่มต้นสนใจศิลปะการถ่ายภาพ แม้สถาบันที่เขาศึกษาอยู่จะไม่มีการเรียนการสอนโดยตรง แต่เขาก็เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่แสวงหาความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยตัวเอง ผลงานในช่วงแรกเริ่มของเขาสะท้อนนิยามความเข้าใจศิลปะของคามิน สำหรับเขาแล้ว ” ศิลปะก็คือเครื่องมือของการสำแดงพลังทางอารมณ์ที่คุกรุ่นบอบช้ำจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา”
เมื่อพิจารณาศิลปะภาพถ่ายของเขาในขณะนั้น … ” เก็บกดหมายเลข 4″ เราจะสังเกตเห็นตัวละครหลักอยู่ 2 ประเภท “รูปร่างของคนจริง และหุ่นใบหน้าคน” จัดองค์ประกอบล้อรับกันในอิริยาบทต่างๆท่ามกลางบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดูวังเวง น่ากลัว ผลงานชุดนี้ของเขาอ้างถึงแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกันระหว่าง ” ชีวิตและความตาย” (แทนค่าด้วยความกลมกลืนกันของวัตถุที่มีชีวิตและไร้ชีวิต) เป็นประสบการณ์ตรงของการพึ่งสูญเสียแม่ในช่วงเวลานั้น ซึ่งถูกตัดขาก่อนเสียชีวิต และคามินต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำขาเทียมด้วยกระดาษ เพื่อประกอบพิธีกงเต๊กในพิธีศพแบบประเพณีจีน …
ผู้เขียนเชื่อว่า ผลงานศิลปะในวัยนักศึกษาของคามินมีความเกี่ยวกันไม่มากก็น้อยกับศิลปินศิลปะในดวงใจของเขา ซึ่งก็เหมือนๆศิลปินทุกๆคนในโลกไม่มีละเว้น ที่เริ่มต้นเติบโตมาจาก ” ภูมิปัญญาทางศิลปะ” ในประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ผ่านมา … ด้วยแรงทะเยอทะยานอย่างเปี่ยมล้นใน “การเป็นศิลปิน” หลังจากแสดงผลงานศิลปะเดี่ยวของเขาที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2530 คามินตัดสินใจที่จะเดินทางไป “ขุดทอง” ที่นครนิวยอร์กทันที … ที่นิวยอร์กไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะศิลปินชาวไทยที่จะก้าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับ ” การเมืองของศิลปะ” ในนิวยอร์ก ชีวิตส่วนตัวของคามินในช่วงเริ่มต้นนั้นตกต่ำที่สุด … ช่วงเวลา 2 ปีแรกของการใช้ชีวิตในนิวยอร์ก เขาสามารถสร้างผลงานศิลปะชุดหนึ่งซึ่งต่อเนื่องทั้งแนวคิดและรูปแบบทางศิลปะขณะที่อยู่เมืองไทย ที่นี่คามินคือจิตรกรที่วาดภาพขนาดใหญ่ เริ่มต้นทดลองสร้างจิตรกรรมเป็นชุดติดตั้งรวมกันทั้งห้องในแบบ “อินสตอลเลชั่นอาร์ต” ตามสมัยนิยม เนื้อหาเรื่องราวของผลงานยังคงแสดงภาวะของมนุษยชาติที่ต้องคำสาปแห่งการต่อสู้ ดิ้นรน ความทุกข์ทรมาน ผลงานชุดนี้ … มีชื่อว่า “ฉันมองที่ตัวฉัน” ( I Look at Myself) นำเสนอแนวเรื่องเกี่ยวกับวัฏสงสารของชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ชีวิตก่อนเกิดและชีวิตหลังความตาย ตัวละครในภาพเป็นตัวเขาเองในบริบทเรื่องราวของคริสต์ศาสนา อาทิ อาดัมและอีวา การกินแอปเปิ้ลจากต้นไม้แห่งความรู้ และการตายบนไม้กางเขน … เมื่อพิจารณาผลงานชุดนี้ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาทันทีว่า ” เหตุใดคามินจึงทำศิลปะที่อ้างถึงคริสต์ศาสนา” … คามินกล่าวว่า ” ผมเคยศึกษาในโรงเรียนของคริสต์ศาสนา ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล สวดมนต์ ประกอบพิธีกรรม จนรู้สึกว่าตัวเองมีความผูกพันกับ “พระเจ้า” ในด้านจิตใจ แต่ไม่ได้สนใจคริสต์ศาสนาในฐานะรูปแบบและพิธีกรรม”
ความคิด นำ อารมณ์ ชีวิตในนิวยอร์กปีที่ 3 น่าจะเป็นช่วงชีวิตที่น่าจดจำสำหรับคามิน … จากประสบการณ์ศิลปะในอเมริกา … ดูเหมือนว่า คามินได้ละทิ้งกลิ่นอายของศิลปะเพื่อสำแดงพลังทางอารมณ์ไปเสียแล้ว เขาได้เริ่มต้นก้าวมาสู่ศิลปะแบบเน้นแนวความคิด … เป็นศิลปะที่แสดงออกจาก ” ความคิดนำอารมณ์” แต่คามินก็ยังคงรักษาอุปนิสัยถาวรของเขานั่นคือความตรงไปตรงมา แต่เป็น “ความตรงไปตรงมาที่จะแดกดันเย้ยหยัน” ศาสตร์ศิลปะหรือเรื่องราวต่างๆ ภาพพิมพ์รูป อัลเบิร์ต ไอสไตน์ แลบลิ้น และพระสันตะปาปาทำท่าอารมณ์ขัน ( รูปแทนของวิทยาศาสตร์และคริสต์ศาสนา) ให้กับคำว่า ART กลับหัว … … ภาพพิมพ์รูปลิงถือหนังสือวิทยาศาสตร์และศาสนา ฯลฯ รูปแทนของสิ่งต่างๆในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ถูกนำมาเปรียบเทียบกันด้วยความคิด เพื่อตั้งคำถามวัฒนธรรมของมนุษยชาติในแง่มุมต่างๆ …
น่าศึกษาอย่างยิ่งในอีกประเด็นที่ว่า ทำไมนิวยอร์กจึงสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับคามิน เขาเริ่มต้นอ่านหนังสืออย่างจริงจัง และเป็นหนังสือในแนวปรัชญาตะวันออกทั้งหลาย อาทิ วิถีเต๋า พุทธศาสนานิกายเซ็น ฯลฯ และด้วยแรงบันดาลใจจากปรัชญาหยิน-หยาง ในลัทธิเต๋า คามินได้ริเริ่มสร้างศิลปะวาดเส้นอีกแนวทางหนึ่งขึ้น … ” ไม่มีชื่อ” สำหรับวาดเส้นแล้วคือการ “บำบัด” จิตใจของเขาเมื่อรู้สึกว่าตัวเองฟุ้งซ่าน ตัวละครของภาพมักเป็นตัวละครทางนามธรรม 2 ฝ่าย อาทิ รูปทรงขาวกับรูปทรงดำ รูปทรงที่เกิดจากธรรมชาติกับรูปทรงที่สร้างเลียนแบบ ฯลฯ ล้อรับกันใน อิริยาบทต่างๆ ผลงานแนวนี้ได้ถูกพัฒนาต่อมาในผลงานชุด นิราศไทยแลนด์ซึ่งจะกล่าวต่อไป
อย่างไม่สามารถคาดการณ์ได้ คามินประสบอุบัติเหตุทางความคิดต่อโลกศิลปะที่เขาพบเห็นที่นิวยอร์ก ในช่วงปลายปี 2533 เขาตัดสินใจละทิ้งโลกศิลปะในนิวยอร์กเพื่อกลับสู่เมืองไทยเป็นครั้งแรก ด้วยอารมณ์ที่คุกรุ่นผิดหวังอย่างรุนแรง … เมื่อถูกชักชวนให้มองย้อนอดีต คามิน กล่าวว่า “เป็นช่วงชีวิตที่สับสนหลายประการ โดยเฉพาะความคาดหวังต่อศาสตร์ศิลปะที่สูงส่ง จากความเชื่อที่ว่า ศิลปะมีคุณค่าแก่ชีวิตด้านจิตวิญญาณ แต่กลับกลายมาเป็นคุณค่าแก่ชีวิตทางด้านวัตถุ เพิ่มพูนกิเลสตัณหา เป็นเพียงธุรกิจศิลปะ การเล่นเกมส์ การแก่งแย่ง และอำนาจ ฯลฯ” แต่แล้ว “ความเบื่อศิลปะ” ก็เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบระยะสั้นๆ
หลังจากได้ ” ชาร์ต” ไฟศิลปะอีกครั้งหนึ่งที่เมืองไทย คามินก็ตัดสินใจกลับนครนิวยอร์กอีกเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงต้นปี 2534 เขาถามตัวเองว่า ” ความเป็นไทยในผลงานศิลปะอยู่ที่ไหน ? ความเป็นไทยในวัฒนธรรมไทยอยู่ที่อะไร ? จากประสบการณ์ที่อยู่ต่างแดน ทำให้ตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่อยู่ในตัวเขาตลอดเวลา นั้นก็คือ ภาษาไทย” วิถีชีวิตที่นิวยอร์กในครั้งที่ 2 ของเขาดูค่อนข้างมีชีวิตชีวา คามินทุ่มเทพลังงานชีวิตทั้งหมดเพื่อรังสรรค์ผลงานในชุด “ก เอ๋ย ก ไก่” … โครงงานศิลปะ “ก เอ๋ย ก ไก่” เปรียบได้กับการสร้างตำราบทเรียนพยัญชนะไทย ใน ” เวอร์ชั่นแบบคามิน” … เขาใช้กระดาษกาวกั้นให้เป็นรูปพยัญชนะ ก แล้วใช้นิ้วมือละเลงสีตามจินตนาการที่เขานึกขึ้นได้อย่างเฉียบพลันเกี่ยวกับพยัญชนะนั้นๆ ภาพนี้อ้างถึงลีลาของการชนไก่ที่ค่อนข้างเป็นภาพนามธรรม พอละเลงสีด้วยมือจนเป็นที่น่าพอใจ เขาก็ใช้มือที่เปื้อนสีนั้น พิมพ์ลงบนกระดาษในชุดภาพพิมพ์ ซึ่งมีกระดาษกาวกั้นเป็นรูปพยัญชนะที่ต้องการไว้ก่อนแล้ว … และยังใช้มือที่เปื้อนสีนั้นเขียนพยัญชนะลงบนกระดาษขาวในชุด “โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนไทย” และจินตนาการฉับพลันถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพยัญชนะนั้นๆ แล้วจึงเติมพยัญชนะให้เป็นคำหรือประโยคที่เขาผุดนึกขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา …
… คามินกล่าว “เมื่อสิ้นสุดผลงานในชุด “ก เอ๋ย ก ไก่” ทำให้เขาได้ตระหนักรู้ถึงผลเสียของศิลปะที่เน้นคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ เป็นพื้นฐานของลัทธิชาตินิยม เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง แบ่งชนชาติ จนกลายเป็นสงครามในที่สุด ด้วยเหตุนี้เขาจึงฉุกคิดถึงประเด็น ” ความเป็นสากลในงานศิลปะ” ทำให้คิดถึงศิลปะของเด็กว่ามีสไตล์การแสดงออกที่อิสระ ตรงไปตรงมาเหมือนกันทั้งโลก ไม่มีกรอบของวัฒนธรรมหรือลัทธิทางศิลปะต่างๆ …
เวลา-ประสบการณ์-ศิลปะ กลางปี 2534 คามินวางแผนกลับสู่ประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแสดงผลงานในชุด “ก เอ๋ย ก ไก่” และในขณะเตรียมงานนิทรรศการ เขาก็เริ่มสร้างศิลปะในโครงงานชุด “นิราศไทยแลนด์” ไปด้วย ไม่น่าเชื่อว่า เพียงระยะเวลาที่อยู่เมืองไทยช่วง 3 เดือน คามินผลิตผลงานของเขาราวกับโรงงานอุตสาหกรรม นิราศไทยแลนด์มีทั้งหมด 5 ชุด ประกอบด้วย วาดเส้น บทกวี ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และการแสดง นิราศเกี่ยวข้องกับบันทึกการเดินทาง คามินใช้รองเท้าของเขาเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเดินทางไปถึงสถานที่ต่างๆ พื้นรองเท้าถูกแกะสลักเป็นชื่อของเขา 3 ภาษา จีน ไทย และอังกฤษ 3 วัฒนธรรมที่หล่อหลอมความเป็นคามิน เขาวางแผนที่จะบันทึกสิ่งที่ประทับใจในรูปแบบต่างๆจากการดำเนินชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งแสดงทัศนคติต่อเหตุการณ์นั้นๆด้วยประโยคสรุปสั้นๆ “รถ รถ ลด รถ” “ไม้กวาด” และเซ็นชื่อตัวเองพร้อมวันที่ของเหตุการณ์นั้นๆด้วย 3 ภาษา
จะเห็นว่า ” หลักการการสร้างสรรค์ศิลปะที่ให้คุณค่าประสบการณ์ชีวิตในแต่ละวัน การบันทึกประสบการณ์ด้วยเทคนิคของศิลปะ การพยายามเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และหาประโยคสรุปเหตุการณ์นั้นๆ และการเซ็นชื่อของตัวเองอย่างบรรจง พร้อมวันที่ของประสบการณ์นั้นๆ” น่าจะกล่าวได้ว่า เป็นหลักการพื้นฐานของกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะของคามิน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ผลงานชุดต่อๆมา จวบกระทั่งผลงานล่าสุด คามินให้เหตุผลว่า ” ผมประทับใจความคิดของ อัลเบิรต์ ไอสไตน์ที่ว่า เราจะรู้จักเวลาได้ เนื่องจากมีประสบการณ์เข้ามาคั่น และเวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของสภาวะจิตแต่ละบุคคลนั้นๆ แนวคิดนี้ตอกย้ำให้ผมตระหนักถึงคุณค่าของเวลาที่สัมพันธ์กับสภาวะจิตของตัวเองจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน”
นอกจากแนวคิดเกี่ยวกับเวลาแล้ว ผลงานนิราศไทยแลนด์ยังสะท้อนอิทธิพลแนวคิดทางปรัชญา หยิน-หยาง ของลัทธิเต๋า … นิราศไทยแลนด์ถูกนำเสนอสู่สาธารณชนถัดมาอีกปีหนึ่ง (ปลายปี 2535) ประเด็นการใช้รองเท้าแทนค่าการเดินทางของเขาเป็นที่น่ากังขาของคนไทยบางกลุ่ม และประเด็นการเผาผลงานศิลปะของเขาเองในชุด “วาดเส้นสู่จิตวิญญาณ” ทั้งหมดราว 1000 ชิ้น ทุกๆ 8 นาที ต่อ 1 ภาพ ซึ่งก่อให้เกิดข้อสงสัยหลากหลายมุมมองแก่ผู้ชม คามินให้เหตุผลในกรณีการใช้รอยเท้าในผลงานศิลปะของเขาหลายประเด็น หนึ่งในเหตุผลที่สำคัญนั้นคือ การตั้งคำถามทางวัฒนธรรมกับสังคมไทย ซึ่งถือว่าเท้าเป็นของต่ำ ไม่สุภาพ แต่เราสามารถเคารพกราบไหว้รอยเท้าของพระพุทธเจ้า ( รอยพระพุทธบาท) เพราะคุณงามความดีของพระองค์นั้นแสดงว่าคุณค่าที่แท้จริง ” เป็นนามธรรมของกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคม มิใช่รูปแบบ” จากประเด็นนี้ทำให้เขาเกิดการตั้งคำถามถึง ” คุณค่าที่แท้จริงในศิลปะว่าอยู่ที่รูปแบบหรือเจตนา” ส่วนกรณีการเผาผลงานของตัวเอง คามินอ้างถึงวัฒนธรรมจีนในเรื่องการเผาหุ่นต่างๆที่ทำจากกระดาษเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้จิตวิญญาณอีกมิติหนึ่ง กรณีการเผาผลงานของเขาคือการอุทิศกุศลทั้งหลายที่เขาเพียรวาดผลงานศิลปะชุดนี้ขึ้นให้กับจิตวิญญาณของนักสร้างสรรค์ศิลปะที่ผ่านมา และอีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงท่าทีให้เห็นว่า “ศิลปะมิใช่สินค้า แต่เป็นเพียงกระบวนการ ‘ บำบัด ‘ จิตวิญญาณและปัญญาของเรา” เท่านั้น ดูเหมือนว่าเหตุผลที่คามินกล่าวมาในที่นี้ น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดคงละไว้ให้เป็นดุลพินิจของผู้ชมต่อไป
โครงงานศิลปะ ” ม่วงงิ้ง แซ่เล้า” ดูเหมือนจะสะท้อนการพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับ “เวลา-ประสบการณ์” ของคามินให้ชัดเจนมีระบบระเบียบมากขึ้น ( จากเดิมที่เขามักทำศิลปะหลายๆชิ้นในเวลาเดียวกัน) คามินเริ่มต้นโครงงานนี้ในวันแรกที่เดินทางกลับไปนิวยอร์กเป็นครั้งที่ 3 ( ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย) ในราวตุลาคม 2534 และสิ้นสุดโครงงานเดือนกันยายน 2535 ที่ประเทศไทย รวมเวลาทำงาน 366 วันพอดี เหตุที่ชื่อโครงงานคือ ม่วงงิ้ง แซ่เล้า ( ซึ่งเป็นชื่อในวัยเยาว์) สะท้อนจุดหมายของโครงงานที่ปรารถนาการแสดงออกทางศิลปะด้วยจิตวิญญาณแบบเด็กๆอย่างแท้จริง … จิตวิญญาณของม่วงงิ้งถูกวางแผนแสดงออกเป็น 2 ชุด อย่างแรก วาดบนผ้าใบขนาด 12×12 นิ้ว ทุกวันๆละ 1 ชิ้น โดยการบันทึกเรื่องราวของตัวเขาเองกับประสบการณ์ชีวิตในแต่ละวันจากความเชื่อที่ว่าประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนมีอิทธิพลต่อปัญหาสังคม ส่วนอีกชุดหนึ่ง … เป็นตัวเขาเองที่มองสังคมจากความเชื่อที่ว่า สภาวะแวดล้อมทางสังคมมีอิทธิพลต่อปัญหาส่วนตัว จะเห็นว่า ผลงานในชุดหลังนี้คามินมิได้วาดจากเหตุการณ์เพียงวันเดียว แต่ประมวลจากหลายๆเหตุการณ์ในสังคมขึ้นมา เป็นประสบการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งๆ
… เขาวาดบนผ้าใบขนาดใหญ่ด้วยสีสันที่สดใส และสอดแทรกเรื่องราวในสังคมทั้งในแง่ลบและแง่บวกผสมผสานในภาพเดียวกันตามข้อเท็จจริงที่ได้รับอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับสุนทรียภาพ เอกภาพของผลงานตามทฤษฎีศิลปะที่ผ่านมา ทำให้ผลงานชุดนี้มีผู้ชมบางส่วนกล่าวถึงว่า “ดิบ” “ไร้รสนิยมทางศิลปะ” ซึ่งน่าจะตรงกับเจตนารมย์ของศิลปิน
พุทธศาสนา-ศิลปะ-ชีวิต ปลายปี 2536 คามินเริ่มต้นสร้างศิลปะอีกโครงงานหนึ่งในชื่อ “ปัญหา-ปัญญา” … โดยต่อเนื่องจากผลงานที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของ ” เวลา-ประสบการณ์-ความคิดเห็น” แต่รูปแบบเปลี่ยนไป โครงงานนี้ใช้เวลาสร้างถึง 2 ปีเต็ม … โดยปีแรก คามินจะอ่านหนังสือพิมพ์รายวันของวันนั้นๆ และเลือกตัดคอลัมน์ข่าว 1 ข่าวที่เขาประทับใจ และถือเป็นประเด็นที่ให้บทเรียนชีวิตสำหรับตัวเขาเอง หนังสือพิมพ์ส่วนที่เหลือจะถูกทำให้ย่อยสลาย และนำมาปั้นเป็นประติมากรรมกระดาษอีกครั้งหนึ่ง เป็นรูปทรงที่อ้างถึงเนื้อหาของข่าว หลังจากนั้นคามินจะนำคอลัมน์ข่าวที่เขาตัดไว้ติดทับบนรูปทรงประติมากรรมนั้นๆ ประติมากรรมวันละ 1 ชิ้น ข่าว 1 ประเด็น ได้ถูก รังสรรค์ขึ้นจนครบ 1 ปี หลังจากนั้น ในปีที่ 2 ( ของวันที่เดียวกันแต่คนละปี) เวลาทั้งวันสำหรับคามินคือการหยิบประติมากรรมของปีที่ผ่านมาแต่วันที่เดียวกัน นำมาพิจารณาแสวงหาภูมิปัญญา ความเข้าใจในปัญหา ความถูกต้องเหมาะสม ฯลฯ ของประเด็นข่าวนั้นๆ เพื่อเป็นบทเรียนทางปัญญาและพยายามคิดประโยคสั้นๆ 1 ประโยคที่สรุป-เตือนสติตัวเขาเอง เมื่อคิดได้แล้วจึงเขียนประโยคดังกล่าวบนประติมากรรมและวาดลายเซ็นชื่อตัวเอง น่ากล่าวได้ว่า เพราะความเป็นนักวางระบบให้กับวิถีชีวิตของตัวเอง ในปีที่ 2 ของโครงงาน “ปัญหา-ปัญญา” ซึ่งถือเป็นยุคทองของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นกับเขาเองอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาแบบตะวันออก จนทำให้วิถีชีวิตของคามินนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เขาเริ่มต้นฝึกฝนโยคะอย่างจริงจังทุกวัน ไล่เลี่ยกับการนั่งสมาธิทุกๆวันอย่างจริงจัง
หนังสือ “อุปลมณี” ที่เขียนถึงชีวประวัติหลวงพ่อชา สุภัทโท ถูกกล่าวถึงในฐานะปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนวิถีชีวิตและมีผลโดยตรงต่อผลงานศิลปะชุด ” ปัญหา-ปัญญา” ในระยะหลังอย่างมาก คามินกล่าวว่า “ผมแสวงหาคำตอบของการมีชีวิต การทำศิลปะที่มีคุณค่ามาทั้งชีวิต จนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ว่า พุทธศาสนาเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เราเข้าถึงสัจธรรม และมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนจากการทำความเข้าใจทางภาษาที่สื่อ ทำให้ผมตัดสินใจเข้าสู่วิถีทางแบบพุทธในวิถีปฏิบัติ”
น่าจะกล่าวได้ว่า อิทธิพลของปรัชญาพุทธศาสนานั้นเป็นปัจจัยใหม่ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการสร้างศิลปะของคามิน จะเห็นว่า ผลงานที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ผลงานชุด นิราศไทยแลนด์-ม่วงงิ้งแซ่เล้า-อะไรในใจฉัน หรือแม้แต่ชุด ปัญหา-ปัญญา ช่วงแรก การนำประสบการณ์ในแต่ละวันมาพิจารณามักมีจุดหมายไปสู่คำตอบที่มีพื้นฐานจากปรัชญา หยิน-หยาง (ตามที่คามินเข้าใจ) การเข้าใจสรรพสิ่งในฐานะสิ่งสมดุลของความชั่ว/ดี ถูก/ผิด เป็นการใคร่ครวญปัญหาในระดับศีลธรรม ระดับวัฒนธรรม พุทธศาสนาที่คามินเข้าใจ ปรับทิศทางการนำประสบการณ์ในแต่ละวันมาไตร่ตรองเพื่อไปสู่คำตอบบนพื้นฐานของสรรพสิ่งนั้น ” ว่างเปล่า” “อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา” การแสวงหาความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆที่ปลดจากการลำเอียง อคติ เพื่อผลประโยชน์เข้าข้างตัวเองหรือพวกพ้อง คามินเริ่มต้นกล่าวถึงคำว่า ” เหตุผลบริสุทธิ์” และมันได้กลายเป็นปรัชญาพื้นฐานในผลงานชุดต่อไปของเขา
” ปัญหา-ปัญญา” เป็นผลงานที่มีเสียงตอบ-รับในแง่บวกมากที่สุด อาจเพราะความต่อเนื่อง อาจเพราะเวลาที่ทำถึง 2 ปี ฯลฯ แต่ที่เป็นจุดสำคัญในความเห็นส่วนตัวคือ สุนทรียภาพของรูปทรง/รูปแบบผลงานที่แปลก (ไม่เหมือนผลงานของคามินที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรูปแบบทัศนศิลป์ตามประเพณีนิยม) เข้าสูตรโลกศิลปะปัจจุบันที่คาดหวังการได้เห็น “รูปแบบของศิลปะ” ที่ให้ความแปลกใหม่ตื่นเต้นทางประสาทสัมผัสมากกว่าจะสนใจ “สาระ” หรือแนวคิดที่เป็นนามธรรมเบื้องหลังรูปแบบเหล่านั้น ผลงานชุด “ปัญหา-ปัญญา” น่าจะเป็นผลงานที่มีจุดนัดพบเชิงคุณภาพที่พอดีระหว่าง “สาระและรูปแบบ” ของศิลปะในจุดยืนแบบคามิน
” ธรรมดา-ธรรมชาติ” เป็นผลงานศิลปะชุดล่าสุดที่นำมาเผยแพร่สู่สังคม เป็นอีกโครงงานหนึ่งที่ต่อเนื่องอย่างแนบสนิทกับผลงานที่ผ่านมา เริ่มต้นช่วงเดือนสิงหาคม 2538 ไปสิ้นสุดโครงงานอีก 366 วัน พอดี แนวคิดเกี่ยวกับเวลา-ประสบการณ์ และการแสวงหา “เหตุผลบริสุทธิ์ ?” จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันยังคงดำเนินต่อไป การเลือกวัสดุ-เทคนิควาดเส้นที่เรียบง่าย ดินสอดำบนกระดาษขาว … สื่อและสไตล์การวาดที่ “ธรรมดา” ที่สุด กับนิยามศิลปะแบบคามินที่ว่า ศิลปะเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นเพียงมรรควิธี เป็นเพียงกระบวนการเพื่อการพัฒนา ” สาระชีวิต” (เป็นกระบวนการเข้าถึงสัจธรรม คามินกล่าว) ฯลฯ มากกว่าเจตนาที่จะใช้เวลาของชีวิตแสวงหาคุณค่าทางรูปแบบของศิลปะ ดูเหมือนว่า ช่วงชีวิตที่เขาเริ่มต้นสัมผัสพุทธศาสนาจะทำให้ระบบวิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากเดิม
… การนำประสบการณ์ชีวิตของแต่ละวันมาพิจารณาอย่างรอบด้าน ในขณะนั่งสมาธิ มองลึกเข้าไปสู่องค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆที่ประกอบกันเป็นกิจกรรม เหตุการณ์ และปัญหาในแต่ละวัน และตั้งคำถามที่ว่า อะไรคือ “เหตุผลบริสุทธิ์ ?” ของเหตุการณ์นั้น … อะไรคือ “ความว่าง” “ความจริงสูงสุด” “สัจธรรม” ของเหตุการณ์นั้นๆ ? เมื่อเขาคิดว่า “พอจะเข้าถึงความจริง” ของประเด็นนั้นๆแล้ว คามินก็จะทำศิลปะโดยเขียนประโยคสรุปประเด็นนั้นๆผ่านเทคนิคของการวาดเส้น
คำว่า ” เหตุผลบริสุทธิ์” ( Pure Reason) เป็นคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายเป็นลำดับแรกสุดของโครงงานนี้ มิตร ใจอินทร์ กล่าวว่า “ต้องนิยามคำนี้ให้ชัดเจน เพราะเอมมานูเอล คานท์ นักปรัชญาตะวันตกเคยใช้คำนี้ และในความเห็นส่วนตัว มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงหรือเชื่อว่า “มี” เหตุผลบริสุทธิ์ที่เป็นกลาง หรือเชื่อว่าเราจะสามารถหาได้ในชีวิตจริง ยิ่งในบริบทของสังคมนิยม … ทุกๆเหตุผลที่ ” มีอยู่” และ “สร้างขึ้น” ล้วนเพื่อตัวเราเองทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย”
คามินเชื่อว่า “เหตุผลบริสุทธิ์มีอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน เช่นการเกิดขึ้นเองของสามัญสำนึกชั่วขณะหนึ่งของคนเรา โดยปราศจากความคิดและเจตนา หรืออีกสภาวะหนึ่งที่เกิดจากการฝึกสมาธิจนเกิดสติจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วเกิดปัญญาที่ว่างจากทัศนคติที่ยึดยั่นถือมั่นในตัวตนของตน เราไม่สามารถเข้าถึงด้วยสัมผัสของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และความคิด แต่เราสามารถเข้าถึงได้ด้วย “ญาณทัศนะ” ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวทางของพุทธศาสนา”
ความจริงแล้ว ทั้ง 2 ทัศนะสะท้อนปรัชญาชีวิตพื้นฐานของมนุษยชาตินั้นเอง ท่าทีแรกไม่เชื่อว่ามี ” ภาวะ/โลกอุดมคติ” ( Utopia) ที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีภาวะนิพพานและเหตุผลบริสุทธิ์ เราต่างดิ้นรนเพื่อดิ้นรนไปวันๆเท่านั้น (ซึ่งเป็นท่าทีในเชิงปรัชญาแนวหนึ่ง) แต่ท่าทีแบบคามินนั้นเชื่อว่ามี “ภาวะ/โลกอุดมคติ” มีภาวะนิพพาน มีเหตุผลบริสุทธิ์ และมนุษย์สามารถเข้าถึงได้ (ซึ่งเป็นท่าทีในเชิงพุทธศาสนา) มีผู้ชมบางท่านแสดงทัศนคติไม่เห็นด้วยอย่างมากต่อผลงานศิลปะชุดนี้ว่ามีลักษณะ ” สั่งสอน” … จากกรณีนี้ คามินให้เหตุผลว่า ” จุดมุ่งหมายแรกของการทำศิลปะชุดนี้ของผมเพื่อที่จะสอนตัวเอง … ผมใช้กระบวนการทำศิลปะเป็นวิธีการในการเข้าถึงสัจธรรม แต่ตัวผลงานศิลปะไม่ใช่ตัวสัจธรรม เหมือนดังการนั่งสมาธิ เป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้เราเข้าถึงสัจธรรม แต่การนั่งสมาธิไม่ใช่ตัวนิพพาน”
ดูเหมือนว่า ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับ ” เรื่องสั้นคามิน” ทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามประเด็นใหม่ๆหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจุดยืนทางศิลปะแบบคามิน กับจุดยืนต่างๆของศาสตร์ศิลปะปัจจุบัน อาทิ
ประเด็นแรก เกี่ยวข้องกับ ” วิธีการสื่อสารความหมาย” ของศิลปะวัตถุ สำหรับจุดยืนของคามินแล้ว เขาเชื่อวิธีการสื่อสารความหมายที่เน้นความเรียบง่าย จริงใจ ตรงไปตรงมา ( คามินเชื่อว่า จุดมุ่งหมายที่ดี ต้องใช้วิธีการที่ดี ที่ถูกต้องด้วย) ซึ่งเป็นมุมตรงข้ามกับศิลปะร่วมสมัยทั่วไป ที่นิยมวิธีการสื่อสารความหมายแบบคลุมเครือ ใช้ “สื่อ” ทุกรูปแบบ ทุกกลวิธี เพื่อบรรลุจุดหมายที่ต้องการ โดยไม่ได้สนใจผลกระทบทางสังคม ศีลธรรม ฯลฯ
กรณีต่อมา คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับศิลปะร่วมสมัยกลุ่มต่างๆ ศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง กลุ่มศิลปินที่นำเอา “เนื้อหาและรูปแบบ” ของพุทธศิลป์ในอดีตมา สร้างใหม่ โดยเปลี่ยนตัวละครและสิ่งแวดล้อมใหม่ กับศิลปะแบบคามิน ซึ่งเป็นอีกบริบทหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับศิลปะร่วมสมัย ในแง่ของการนำเอาพุทธปรัชญามาใช้ในศิลปะของเขา
เรื่องต่อมา เกี่ยวข้องกับนิยามประเภทต่างๆของศิลปะร่วมสมัย หลายๆคนคงเคยอ่านประโยคยอดนิยม 2 ประโยค “ศิลปะคือการเห็น” ( Art As Seeing) กับประโยค “ศิลปะคือการคิด” ( Art As Thinking) เป็นประเภทของศิลปะในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นิยามแรก เป็นศิลปะที่เน้นการค้นพบทาง “รูปแบบใหม่ๆ” ส่วนนิยามหลัง เป็นศิลปะที่เน้น ” กลวิธีการสื่อสารความคิด” เพื่อชักชวนให้ผู้ชมได้คิดต่างๆนานา ในประเด็นที่ศิลปินต้องการ แต่สำหรับจุดยืนทางศิลปะของคามินเป็นอีกจุดยืนหนึ่ง ในที่นี้ผู้เขียนขอเสนอประโยคใหม่ว่าเป็น “ศิลปะคือการปฏิบัติสมาธิ” ( Art As Meditation) เป็นศิลปะที่เน้นกระบวนการ การกระทำในปัจจุบัน
และประเด็นสุดท้าย เกี่ยวข้องกับปัญหา “คุณค่าของศิลปะ” จากภาพรวมของโลกศิลปะที่ถูกบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า ” คุณค่าศิลปะ เป็นคุณค่าทางวัตถุ” ศิลปินกับศิลปะที่พวกเขาสร้างขึ้น เป็นคนละกรณีกัน แต่สำหรับจุดยืนของคามิน ศิลปะเป็นเพียงมรรควิธีเพื่อการพัฒนา ” คุณภาพชีวิต” ของศิลปิน ดังนั้น คุณค่าของศิลปะจึงไม่สามารถแบ่งแยกได้ระหว่าง ” ศิลปินกับผลงานศิลปะของเขา” มาถึงย่อหน้านี้ คามินได้ทิ้งคำถามใหม่ให้เกิดขึ้นกับเราว่า “กระบวนการทำศิลปะ สามารถพาเราสู่สภาวะสูงสุดของสัจธรรม ได้หรือไม่ ?”
ที่มา: อุทิศ อติมานะ. “เรื่องสั้น : คามิน.” , สูจิบัตรประกอบนิทรรศการ ” ธรรมดา-ธรรมชาติ.” , หอศิลป์ตาดู , กรุงเทพ , 2540, หน้า 29 -49.