บทวิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมของนาย “อิทธิพล โดย ผศ. อิทธิพล” โดย อิทธิพล ตั้งโฉลก
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าศิลปวิจารณ์ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างศิลปินผู้สร้างงานกับประชาชนผู้ดูงานในบ้านเรายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เรายังขาดแคลนนักวิจารณ์ทัศนศิลป์ในระดับมืออาชีพ
ศิลปินยังคงต้องทำหน้าที่เป็นผู้อธิบายงานศิลปะกับสาธารณชน ผมในฐานะที่เป็นศิลปินผู้สร้างงานมายาวนานกว่า 30 ปี ก็ยังประสบปัญหาไม่มีนักวิจารณ์มาศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์ผลงานอย่างจริงจัง เข้มข้น และต่อเนื่อง ในการแสดงเดี่ยวครั้งที่ 2 ปี 2543 นี้ ผมจึงต้องพึ่งพาศักยภาพของตัวเองในฐานะที่เป็นอาจารย์และนักวิชาการที่สอนและวิจารณ์ผลงานของนักศึกษามาตลอดเกือบ 30 ปีด้วยนี้ มาทำหน้าที่วิเคราะห์ผลงานของตนเอง ซึ่งในการทำหน้าที่นี้คงจะมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ข้อดีก็คือ ตัวผมเองย่อมมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงานของตนเองอย่างถ่องแท้และลึกซึ้งเข้าไปถึงระดับความคิดตัวเองย่อมเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนนี้มีจุดประสงค์มากกว่าการประเมินคุณค่า ยกย่องตัวเอง โดยผมหวังว่านอกจากบทความนี้จะช่วยให้ผู้ดูงานได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การชื่นชมผลงานให้ลึกซึ้งขึ้นแล้ว ในภายภาคหน้าจะมีนักวิจารณ์ที่เป็น ” คนกลาง” จริงๆ มาวิจารณ์ผลงานของผมในระดับที่ลุ่มลึกกว่า โดยอาศัยบทความนี้เป็นพื้นฐานต่อไป
อิทธิพลทำงานศิลปะมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลานี้เขาได้สร้างผลงานออกมาจำนวนมากมายหลายประเภท หลายเทคนิค และหลายต่อหลายชุด ทั้งภาพพิมพ์ จิตรกรรม และประติมากรรม แต่บทความนี้จะมุ่งวิเคราะห์เฉพาะผลงานจิตรกรรม ในช่วง 3 ปี ที่สร้างขึ้นระหว่างปี 2541-2543 ชุด “สีสันแห่งแสง” นี้ แต่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะอ้างอิงถึงผลงานเก่าที่เกี่ยวข้อง ผลงานจิตรกรรมชุดนี้แตกต่างไปจากงานในชุดเดิมๆ อย่างเห็นได้ชัดจากรูปลักษณ์ภายนอก คือ มีลักษณะเป็นรูปธรรมเห็นถึงเรื่องราวได้ชัดเจนขึ้น ถ้าสำรวจย้อนหลังผลงานทั้งหมดของเขาก็จะเห็นได้ว่า ผลงานส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นนามธรรมมีเพียงผลงานบางชุด เช่น ภาพพิมพ์แกะไม้ชุดที่ได้รับรางวัลเหรียญทองครั้งแรกจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินั้น มีลักษณะกึ่งนามธรรม ที่ผู้ดูมองเห็นเรื่องราวของประตู หน้าต่าง และผนังเก่าๆ และผลงานจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ที่เป็นเรื่องราวของ น้ำ และไฟ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ก็มีลักษณะกึ่งนามธรรมที่เห็นถึงเรื่องราวคู่ตรงกันข้ามของน้ำ และไฟ ถึงแม้รูปแบบของผลงานมีลักษณะเป็นรูปสัญลักษณ์มากกว่าเหมือนจริง และมีเพียงผลงานภาพพิมพ์ ชุดเดียวไม่กี่ชิ้น คือ ชุดประตูเหล็ก และประตูไม้ของห้องแถวเก่าๆ ที่ทำขึ้นในช่วงปี 2523 เท่านั้นที่มีรูปแบบเหมือนจริง
ทำไมอิทธิพลต้องทำงานในแบบนามธรรม ? จึงเป็นคำถามที่น่าจะนำมาพิจารณาตั้งแต่ตอนต้นนี้ เพื่อนๆในรุ่นเดียวกันหรือรุ่นที่เรียนอยู่ใกล้เคียงกันจะทราบดีว่า อิทธิพลมีทักษะฝีมือเชิงช่างสูงที่เห็นได้ชัดทั้งในงานจิตรกรรมและประติมากรรมแบบเหมือนจริง ถึงขนาดที่เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งเคยพูดว่า “อิทธิพลเลือกทำศิลปะผิดแนว ไม่ตรงกับความถนัดของตัวเอง ถ้าเขาทำงานในแนวเหมือนจริงจะพบความสำเร็จยิ่งกว่านี้” ในการเลือกทำงานแบบนามธรรมจึงไม่ใช่การหลีกหนีเพราะความไม่ถนัด และไม่ใช่การทำตามกระแสนิยมในยุคนั้นเพียงเพื่อให้ดูเป็นผลงาน “สมัยใหม่” เพราะความคงเส้นคงวาของผลงานตลอด 30 ปีเป็นประจักษ์พยาน แต่อิทธิพลทำงานแบบนามธรรมก็เพื่อแสดงออกถึงประสบการณ์ทางใจที่ได้รับโดยตรงต่อสัจจะแห่งธรรมชาติ อันเป็นโลกอัตวิสัยแห่ง “นาม” มากกว่าการแสดงออกถึงประสบการณ์ทางกายอันเป็นโลกของวัตถุแห่ง “รูป” และการที่เขาเลือกทำงานในแนวนี้ก็มิใช่เพียงเพื่อให้ก้าวล่วงพ้นจากระเบียบกฎเกณฑ์ ความถูกผิด หรือเหมือนจริงของธรรมชาติเพื่อให้มี “อิสระ” ในการสร้างสรรค์เท่านั้น แต่เป็นไปตามความเชื่อมั่น “ศรัทธา” ว่างานนามธรรมเป็นวิถีที่จะนำไปสู่การแสดงออกถึง ” ประสบการณ์ทางสุนทรียภาพแห่งสัจจะของจักรวาล” เลยทีเดียว
อันที่จริงงานศิลปะที่เป็นการแสดงออกถึงสภาวะแห่ง “นาม” สำหรับศิลปินตะวันออกนั้นมีมาตั้งแต่บรรพกาลแล้ว ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์เต๋าของจีน ” เหนือสิ่งอื่นใด การวาดภาพมิใช่ ‘ การลอกเลียนแบบ ‘ จากธรรมชาติ ‘ ความเหมือน ‘ มิใช่สิ่งสำคัญของการวาดภาพ การสร้างสรรค์นั้นคือความจริง เมื่อศิลปินที่แท้วาดรูปต้นไม้ รูปปรากฏของต้นไม้มิได้อาศัย ‘ ความเหมือน ‘ หากคือการถ่ายทอด ‘ วิญญาณ ‘ ของต้นไม้นั้นลงในภาพ ต้นไม้นั้นจึงเป็นต้นไม้จริงเป็นต้นไม้ที่มีชีวิต ต้นไม้นั้นมิได้เป็นเพียงกระดาษที่เปื้อนสีหมึก” คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า งานศิลปะนั้นเป็นการแสดงออกถึง “ความเป็นจริง” ที่ศิลปินได้รับประสบการณ์ทางใจโดยตรงจากธรรมชาติ มิใช่การแสดงออกถึง ” ความเหมือนจริง” ที่เป็นเพียงการเลียนแบบแค่ผิวภายนอกตามที่ตาเห็นเท่านั้น
ความเป็นนามธรรมในจิตรกรรมชุดนี้ของอิทธิพลเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นจุดมุ่งหมายในการแสดงออก เพราะถึงแม้ผู้ดูจะเห็นถึงรูปธรรมของเรื่องราวธรรมชาติที่เป็นต้นไม้ ใบไม้ และน้ำ แต่อิทธิพลได้ใช้วิธีการอันหลากหลายในการเลือกสรร ดัดแปลง ตัด และลดทอนสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญออก คือการเลือกสรรเฉพาะรูปทรงของต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้เพียงบางชนิด และเน้นขยายเพียงบางส่วนให้มีขนาดใหญ่กว่าจริงหลายเท่า การตัดและลดทอนรายละเอียดต่างๆ ภายในรูปทรงลงให้เหลือเพียงความแบนและเรียบง่าย ผู้ดูจะเห็นเพียงเงาดำของรูปร่างภายนอกในลักษณะ “การมองย้อนแสง” เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อบ่งบอกความหมายอย่างง่าย ตรง และชัดแจ้งที่สุด ถึงสาระสำคัญในผลงานคือเรื่องของ “แสง” แต่การแสดงให้เห็นประจักษ์ถึงเรื่องของแสงได้ก็ต้องมีคู่ตรงกันข้ามคือ รูปทรงที่มีลักษณะเป็นเงาดำ ( silhouette) เป็นตัวเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับ “รูปทรง” ที่ต้องปรากฏคู่อยู่กับ “พื้นที่ว่าง” เสมอ จะดำรงอยู่โดยตนเองโดดๆไม่ได้ การอาศัยคู่ของสิ่งตรงข้ามมาเป็นเนื้อหาสาระในงานศิลปะนั้นเป็นแนวความคิดหลักของอิทธิพลมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่งานในแต่ละชุดจะมีคู่ตรงกันข้ามที่แตกต่างกันไป เช่น ระเบียบกฎเกณฑ์กับอิสระ ความนิ่งกับความเคลื่อนไหว แสงกับเงา เป็นต้น คู่ตรงกันข้ามนี้เป็นสัมพันธภาพที่ต้องปรากฏเคียงคู่กัน เปรียบเทียบกัน หรือเป็นสองด้านของสัจธรรมอันเดียวกัน และเป็นสัจธรรมที่ศาสนาตะวันออกค้นพบมาตั้งแต่บรรพกาล ดังคำกล่าวของลามะโควินทะว่า ” สัมพันธภาพของรูปและความว่าง มิใช่สัมพันธภาพของสิ่งที่ตรงกันข้าม แต่มันเป็นเพียงสองด้านของความจริงอันเดียวกัน ซึ่งดำรงอยู่ร่วมกันและดำเนินไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง” หรือในคัมภีร์ของเต๋ากล่าวไว้ว่า ” ความสงบนิ่งในความสงบนิ่งมิใช่ความสงบนิ่งที่แท้จริง แต่เมื่อมีความสงบนิ่งในท่ามกลางความเคลื่อนไหวเท่านั้น ท่วงทำนองแห่งจิตวิญญาณจึงปรากฏทั้งในสวรรค์และบนโลกพิภพ”
” แสง” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งบนโลก แสงทำให้เรามองเห็นโลกถ้าปราศจากแสง โลกก็จะมืดมิดและหนาวเย็น แสงเป็นพลังงานบริสุทธิ์ที่ให้ความอบอุ่นให้ความร้อน ก่อให้เกิดชีวิต เติบโต ดำรงอยู่ เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงเป็นกลางวัน-กลางคืน เป็นฤดูกาล เป็นเดือน เป็นปี เป็นวัฏจักรที่หมุนเวียนแปรเปลี่ยน ไม่หยุดนิ่งอย่างเป็นนิรันดร์
” แสง” ในทางศิลปะเป็นทัศนธาตุพื้นฐานที่เป็นปัจจัยหลัก แสงก่อให้เกิดน้ำหนักอ่อนแก่ สุนทรียภาพแห่งแสงและเงาหรือน้ำหนักอ่อนแก่เป็นปัจจัยหลักในงานทัศนศิลป์ทุกประเภท ในทางสัญลักษณ์ “แสง” ถูกใช้แทนความหมายของสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแสงเทียน แสงไฟ แสงจากหลอดไฟฟ้า และแสงจากดวงอาทิตย์ ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์สากลที่หมายถึง ความหวัง ความเจริญรุ่งเรือง พุฒิปัญญา หรือทางออกแห่งปัญหาและอุปสรรคต่างๆเสมอตลอดมา
ในงานจิตรกรรมของอิทธิพล ชุดนี้ ” แสง” เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังงานธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ก่อให้เกิดชีวิต เติบโต เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา และอย่างทรงพลัง ในขณะเดียวกัน “แสง” ในงานชุดนี้ยังเป็นการแสดงออกแห่งสภาวะอารมณ์ และความรู้สึกทางจิตใจของเขาไปพร้อมๆกันด้วย ดังนั้น “แสง” ซึ่งปรกติก็เหมือนกับ ” พื้นที่ว่าง” ที่ไม่ได้แสดงตัวเองอย่างโดดเด่นแต่มีบทบาทเป็นตัวประกอบ จึงถูกอิทธิพลกลับบทบาทให้มาแสดงตัวเองอย่างเด่นชัด กลายเป็นตัวเอกที่แสดงพลังแห่งชีวิต เคลื่อนไหว เลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง มิใช่ตัวประกอบในผลงานอีกต่อไป ในทางกลับกันรูปทรงที่เป็นเงาดำของต้นไม้ ใบไม้และน้ำ กลับถูกลดบทบาทลงให้แบนเรียบ และนิ่งสงบ มิใช่ตัวแสดงเอกอย่างเช่นในงานตามปกติ ลายแถบเส้นขนานของแสงที่อิทธิพลสร้างขึ้นโดยใช้เครื่องมือเฉพาะคล้ายหวีนี้ เคลื่อนไหว เลื่อนไหล เป็นเสมือนหนึ่งสายแห่งพลังงานเคลื่อนตัวอย่างเป็นจังหวะร่ายรำ ซอกซอนไปทั่วทุกอณูของสรรพสิ่ง แสดงให้เห็นถึงความประสานสัมพันธ์กันของทั้งสองสิ่งระหว่างแสงกับรูปทรงอย่างไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ ดำรงอยู่ร่วมกันและดำเนินไปด้วยกันอย่างต่อเนื่องและไม่สิ้นสุด
การแสดงออกซึ่งประสบการณ์แห่งสัจจะโดยใช้ ” ภาษาเฉพาะ” แห่งจิตรกรรมของอิทธิพลนั้น นอกจากการใช้รูปทรงจากธรรมชาติที่เป็นเงาดำคู่เคียงกับลายแถบเส้นขนาน อันเป็นสีสันแห่งแสงที่สะท้อนถึง “กาลเวลา” และ “การแปรเปลี่ยน” ไม่หยุดนิ่งของสรรพสิ่งแล้ว ในผลงานส่วนใหญ่จากอดีตจนถึงปัจจุบันของอิทธิพล ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญปรากฏร่วมอยู่ด้วยเสมอ คือเส้นและรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งในผลงานชุดนี้มีเส้นตรงขนานเป็นระเบียบซ้อนอยู่ในอีกมิติหนึ่งปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนบ้าง ไม่ชัดบ้าง สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เช่น กลางวัน กลางคืน ฤดูกาลต่างๆไปจนถึงระบบของสุริยจักรวาล นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงคู่ตรงกันข้ามที่นำมาเปรียบเทียบ ย้ำให้เห็นถึงสาระสำคัญในงานคู่อื่นๆอีกก็คือ ความเป็นระเบียบกับความอิสระ ความสงบนิ่งกับความเคลื่อนไหว และความเรียบง่ายกับความยุ่งเหยิงซับซ้อน
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าจิตรกรรมชุดนี้ของอิทธิพลเป็นการแสดงถึงประสบการณ์แห่ง ” สัจจะ” ที่ได้รับโดยตรงจากธรรมชาติ โดยใช้ “ภาษาเฉพาะ” ของจิตรกรรม ดังนั้น จิตรกรรมจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง “สัจธรรม” ที่เขาได้เข้าถึง แต่การเข้าถึง ” สัจจะ” นี้ เกิดจากญาณทัศน์ ( intuitive) อันเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นในใจเอง มิใช่ความรู้ที่เกิดจากการคิดในแนวเหตุผล ( rational) เขาจึงไม่อาจใช้คำพูดอธิบายได้ แต่การที่เขาเป็นศิลปินที่มีทักษะ การถ่ายทอด “สัจจะ” จึงเป็นการใช้ภาษาของจิตรกรรมสื่อสารโดยตรงจากคนสู่คน จากหัวใจสู่หัวใจ ภาษาของจิตรกรรมนี้ก็คือ เส้น สี น้ำหนัก พื้นผิว รูปทรง และพื้นที่ว่าง ภาษาเฉพาะนี้เป็นภาษาแห่ง “ความงาม” เป็นภาษาแห่งใจและเป็นภาษาแห่งจิตวิญญาณที่ลึกล้ำ ดังนั้น การสร้างสรรค์จิตรกรรมชุดนี้จึงเป็นการเข้าถึงสัจจะแห่งธรรมชาติ และสัจจะแห่งจิตรกรรมไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษาของจิตรกรรมให้สัมฤทธิ์ผลสื่อสารระหว่างใจถึงใจได้นั้น ต้องอาศัยเทคนิค วิธีการที่มีความประสานสอดคล้องกับรูปแบบและเนื้อหาของงานอย่างเป็น เอกภาพ เทคนิคของอิทธิพลชุดนี้ เป็นเทคนิคที่ค้นคิดทดลอง และพัฒนามาจากพื้นฐานของการเรียนฝึกฝนและทำงานภาพพิมพ์มาก่อน เทคนิคนี้เป็นเทคนิคเฉพาะที่ผสมผสานวิธีการทางจิตรกรรมและภาพพิมพ์เข้าด้วยกัน คือใช้ทั้งวิธีระบายสีน้ำมันหลายๆ สีบนกระดาษที่มีผิวเรียบและมันวาว แล้วใช้ลูกกลิ้งกลิ้งสีน้ำเงินเข้มทึบลงไปจนดำเรียบทั่วทั้งแผ่น หลังจากนั้นอิทธิพลจึงใช้เครื่องมือเฉพาะที่มีลักษณะเป็นซี่ๆคล้ายหวีขูดเอาสีน้ำเงินเข้มชั้นบนนั้นออกไปทำให้สีหลากสีที่อยู่ในชั้นถัดไปปรากฏให้เห็นขึ้นมาได้ และเว้นเฉพาะบริเวณที่เป็นรูปทรงเงาดำให้คงไว้ กระบวนการกลับค่าที่เริ่มจากดำกลับไปหาขาวหรือเริ่มจากมืดกลับไปหาสว่างนี้ย่อมเหมือนกับแสงที่ส่องสว่างขับไล่ความมืดของรัตติกาล เมื่อแสงส่องกระทบสิ่งใดรูปทรงของสิ่งนั้นก็ปรากฏขึ้นมา และด้วยวิธีการเฉพาะเช่นนี้รูปแบบของงานก็เกิดลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร มีเอกลักษณ์ของตัวเองไปด้วย เอกภาพของงานก็เกิดขึ้นจากความเป็นเหตุเป็นผลสัมพันธ์กันทั้งเนื้อหา รูปแบบ และเทคนิค
การสร้างภาพโดยการขูดสีจากมืดกลับไปหาสว่างนี้ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน และปราศจากความลังเล เพราะอิทธิพลต้องใช้เครื่องมือขูดลงไปในขณะที่สียังเปียก ย่อมไม่สามารถจะร่างภาพใดๆไว้ก่อนได้ และต้องกระทำอย่างรวดเร็วก่อนสีแห้ง การใช้กรรมวิธีที่ “ฉับพลัน” นี้เองที่ทำให้เขาต้องมีสมาธิอย่างเข้มข้น จดจ่อ และต่อเนื่อง มือ ตา ใจ สี รวมทั้งเครื่องมือและกระดาษรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวในช่วงขณะเวลาที่ทำงานอยู่นั้น ย่อมส่งผลให้การแสดงออกเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ปราศจากการติดยึด การปรุงแต่งใดๆ และตรงออกมาจากใจ
การทำงานจิตรกรรมในเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาตินี้ เป็นเหมือนการย้อนกลับไปสู่รากฐานของสรรพสิ่งโดยเฉพาะในกรณีของอิทธิพล เพราะผลงานในอดีตของเขาที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องราวของเมือง เรื่องราวของวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ ภาพพิมพ์โลหะ ร่องลึก และจิตรกรรม ในชุด “ผนัง” ชุด “เมือง” หรือ ชุด “ชิ้นส่วน” ทั้งนี้ก็คงด้วยเหตุผลที่ตรงไปตรงมาและชัดเจนว่าเขาเป็นคนเมือง เกิดเติบโตและอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาโดยตลอด การทำงานศิลปะย่อมมาจากประสบการณ์ชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ผลงานในยุคแรกๆนั้นจึงเป็นผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ชีวิตในเมืองที่เขาได้เข้าถึง ถึงแม้จะมีผลงานภาพพิมพ์หินในยุคเดียวกันนี้ เป็นชุด “ต้นไม้” ที่เป็นเรื่องของธรรมชาติโดยตรง แต่ก็ยังเป็นเรื่อง “ต้นไม้ในเมือง” ที่ถูกมนุษย์ตัดแต่ง ควบคุม บังคับจนขาดอิสระในการเติบโต ผลงานทั้งภาพพิมพ์และจิตรกรรม ตั้งแต่ยุคแรกประมาณปี 2513-2531 จึงเป็นเรื่องราวของ ” เมือง” ทั้งหมด จนถึงปลายปี 2531 จึงมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญช่วงหนึ่งที่เห็นเด่นชัดจากจิตรกรรมชุด “ชิ้นส่วน” การเปลี่ยนครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนทั้งเรื่องราว เนื้อหา รูปแบบ และเทคนิคใหม่ทั้งหมด โดยมีจุดเริ่มต้นจากความบันดาลที่เปลี่ยนจากเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมทางวัตถุมาสู่สิ่งแวดล้อมทางศิลปวัฒนธรรม นั่นคือการเข้าไปเห็น “วัด” ในจังหวัดเชียงใหม่ การไปเห็นวัดในเชียงใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับอิทธิพล เพราะมารดาเป็นคนเชียงใหม่ เขาจึงมีโอกาสได้ไปเชียงใหม่บ่อยครั้งตั้งแต่เด็กจนโต แต่การเห็นในครั้งนั้นเป็นการเห็นในจังหวะที่สอดคล้องพอเหมาะพอดีทั้งกาละและเทศะ คือวุฒิภาวะทางศิลปะของเขาในขณะนั้นเชื่อมโยงกับสถานที่ คือ วัดๆนั้นทำให้อิทธิพลเกิดประกายแห่งความคิดในการสร้างสรรค์งานชุดใหม่ขึ้นมาได้
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเมื่อต้นปี 2541 เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งจากการทำกิจวัตรประจำวันธรรมดาสามัญในบ้านที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้นานาชนิดที่งดงาม จุดบันดาลเกิดจากการพักผ่อนนั่งมองต้นไม้ ใบไม้ และน้ำ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อนอาจารย์ต่างสถาบันท่านหนึ่งได้กล่าวหยอกล้อว่า “แก่แล้วก็หันหน้าเข้าวัด และหันหน้าเข้าหาธรรมชาติ” หลังจากที่ได้ดูสไลด์ผลงานของอิทธิพลย้อนหลัง คงเป็นสัจธรรมที่เป็นความจริงแล้วทีเดียว อันที่จริงแล้วเมื่อพิจารณาทบทวนย้อนหลังกลับไป ความเปลี่ยนแปลงในผลงานแต่ละช่วงแต่ละชุดนั้น ส่วนใหญ่เกิดจาก “ความเป็นไปเอง” ของญาณทัศน์มากกว่าเกิดจากการคิดในเชิงเหตุผล หรืออาจจะกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า ความรู้และความคิดใหม่ๆนี้เกิดขึ้นเองจากการปฏิบัติงานอย่างจดจ่อและต่อเนื่อง ” จนเห็นเอง คิดได้เอง” มากกว่าเกิดจากการอ่านค้นคว้าทางทฤษฎี ดังนั้น การย้อนกลับไปหาศิลปวัฒนธรรมเดิมและการย้อนกลับไปหาธรรมชาติ จึงเป็นการย้อนกลับไปสู่ “ความธรรมดาสามัญ ความเรียบง่าย และรากฐานดั้งเดิม” ของมนุษย์อันเป็นสภาวะจิตใจของศิลปินตะวันออกมาตั้งแต่บรรพกาลนั่นเอง
ที่มา: อิทธิพล ตั้งโฉลก. “บทวิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมของนายอิทธิพล โดย ผ.ศ.อิทธิพล.” สูจิบัตรประกอบการแสดงงานนิทรรศการสีสันแห่งแสง ( 11 พฤษภาคม – 12 มิถุนายน 2543) สุรพลแกลเลอรี่ ; กรุงเทพฯ. ไม่ปรากฏเลขหน้า.