ระลึกถึง จ่าง แซ่ตั้ง

ระลึกถึง จ่าง แซ่ตั้ง โดย สมพร รอดบุญ
ปูชนียบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่ต้องการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทยคือจ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินและกวีผู้ใช้ชีวิตแบบสมถะเรียบง่ายแต่ผลงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะของท่านเป็นพลังสำคัญที่ทำให้วิวัฒนาการทางด้านศิลปะสมัยใหม่ของไทยมีความเป็นเอกลักษณ์พิเศษแตกต่างไปจากชาติอื่นๆในแถบภาคพื้นเอเชียอาคเนย์

ถึงแม้ว่าจ่างจะศึกษาศิลปะและฝึกฝนด้วยตนเองมาโดยตลอดก็ตาม แต่ทัศนคติในการทำงานของท่านนั้นมีสาระสำคัญต่อวงการศึกษาศิลปะอย่างมาก ท่านได้เคยกล่าวว่า การเขียนรูปหรือการทำงานศิลปะนั้น สื่อสำคัญอยู่ที่การริเริ่ม สร้างสรรค์ด้วยปัญญาและสมองของเรา คำกล่าวนี้ทำให้นึกถึงหลักธรรมที่สามารถนำมาใช้ประยุกต์กับการปฏิบัติงานศิลปะได้เช่นกัน นั่นคือการสร้างด้วยสติสัมปชัญญะและการสร้างด้วยปัญญา ซึ่งในความเป็นจริงนั้นผู้ใกล้ชิดกับจ่างหลายท่านได้เล่าให้ฟังว่า การทำงานศิลปะของจ่างเป็นการเจริญธรรมอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 2490 และ 2500 ผลงานที่ผลิตขึ้นส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นนามธรรม

งานศิลปะแนวนามธรรมของจ่างในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีการแสดงออกซึ่งพลังแห่งความรู้สึกและจิตวิญญาณที่สมบูรณ์ที่สุด และอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานี้จ่างเป็นศิลปินไทยคนเดียวที่เขียนภาพแนวนามธรรมโดยมีรากฐานที่มาจากรากเหง้าทางด้านวัฒนธรรมของจีน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษและครอบครัวของเขา จ่างมีความสนใจในธรรมชาติปรัชญาจีนและบทกวี นอกจากนี้การทำงานของเขายังมีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาลัทธิเซ็นและลัทธิเต๋า จากการได้พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวของจ่างทำให้ทราบว่าการทำสมาธิก่อนที่จะลงมือเขียนภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับศิลปินท่านนี้มาก ดังนั้น พลังในการทำงานของจ่างจะเห็นได้จากการใช้ฝีแปรงลากเป็นเส้นที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี การตวัดเส้นหรือการลากเส้นนั้นเป็นไปอย่างฉับพลันคล่องแคล่ว เป็นการรวมใจและมือให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ศิลปะการเขียนอักษรจีนก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ให้ความบันดาลใจแก่การทำงานของจ่าง ภาพเขียนในแนวนามธรรมที่ปรากฏไม่เพียงแต่จะเผยให้เห็นถึงความรู้สึกอันล้ำลึกเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนภาษาสากลที่สามารถสื่อให้เข้าใจได้จากการใช้ เส้น รูปทรง และสีที่มีพลังอันแรงกล้าผสมผสานกับความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ส่วนภาพเหมือนของจ่างซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2530 เป็นเสมือนการบันทึกชีวิตภาวะอารมณ์ความรู้สึกในช่วงเวลาต่างกัน ภาวะของความยากลำบากในการดำรงชีวิตของจ่างเป็นภาวะที่เต็มไปด้วยความกดดัน อันเป็นสาเหตุของการนำมาสู่การทำงานที่ดูรุนแรงและเต็มไปด้วยพลังความรู้สึก เราสามารถสัมผัสกับชีวิตได้จากการอ่านความรู้สึกที่แฝงอยู่บนใบหน้าแววตาของศิลปิน การใช้ สี น้ำหนักแสงเงา และฝีแปรงทำให้ภาพมีทั้งความน่ากลัว ความลึกลับ ความทรนง ความหนักแน่น ความสิ้นหวัง ความมั่นใจ ความท้อแท้ ความหวาดระแวง ความสุข ความทุกข์ ความผ่อนคลาย และความสนุกสนานคละเคล้ากันอย่างหลากหลายและมีรสชาติ ภาพเหมือนของจ่างสะท้อนภาพชีวิตทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เสมือนไฟชีวิตที่มีความสว่างเจิดจ้า ร้อนแรง และมืดมนอันเป็นความหม่นหมองและความทุกข์ที่แท้จริง

ภาพเหมือนของจ่างทั้งหมดทำให้ผู้เขียนต้องหยุดคิดพิจารณาถึงสภาวะชีวิตมนุษย์ แก่นสาร และสาระสำคัญของชีวิตที่แท้จริงนั้นคืออะไร ภาพเหมือนของจ่างเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงสัจธรรมของชีวิตซึ่งมีความชัดเจนและความสมบูรณ์ ภาพเหมือนเหล่านั้นมีความหลากหลายในเทคนิค และรูปแบบที่เหมือนจริง รูปแบบที่เป็นกึ่งนามธรรมและนามธรรม เมื่อกล่าวถึงเทคนิคจะเห็นได้ว่ามีการใช้วัสดุที่สอดคล้องกับเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นการปาดป้ายสี การแต้มจุด หรือการขีดเส้นเพียงแผ่วเบาบนพื้นที่ว่าง ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงจังหวะของอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนจิตวิญญาณของศิลปิน ซึ่งมีผลกระทบทางด้านจิตวิญญาณอย่างสูง ภาพเหมือนทั้งหมดของจ่างเมื่อนำมาจัดวางเรียงรายต่อเนื่องกันนั้น เปรียบเสมือนการตั้งคำถามที่ว่า “ฉันคือใคร” เป็นคำถามที่ท้าทายให้ผู้ดูต้องถามตนเอง และพิจารณาถึงความเป็นอัตลักษณ์ เป็นคำถามในเชิงปริศนาซึ่งศิลปินไม่ต้องการคำตอบ แต่ผู้ดูเท่านั้นที่ต้องคิดและตอบตนเอง ในระหว่างปี พ.ศ. 2538 และ 2539 นั้น ศูนย์เอเชีย มูลนิธีญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว ได้จัดนิทรรศการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศแถบเอเชียชื่อ Asian Modernism ขึ้น ผู้จัดได้นำศิลปะแนวนามธรรม รวมทั้งภาพเหมือนของตนเองของจ่างไปแสดงพร้อมกับงานศิลปะไทยชั้นบรมครูท่านอื่นๆ ณ ประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบวิวัฒนาการทางด้านศิลปะแนวนามธรรมจากยุโรปและอเมริกา เช่น ศิลปะแนวแอ็บสแตรคเอ๊กซ์เพรสชั่นนิสม์ ( Abstract Expressionism) ได้เข้ามามีบทบาท และมีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศดังกล่าวมากในช่วงทศวรรษ 2500 และ 2510 แต่ในกรณีของไทยนั้น ในขณะที่กระแสอิทธิพลของตะวันตกกำลังมาแรง จ่างสร้างสรรค์ศิลปะแนวนามธรรมโดยมิได้รับอิทธิพลทางความคิดหรือแบบอย่างของตะวันตกแต่ประการใด ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า รูปแบบของศิลปะแนวนามธรรมของจ่างได้ความบันดาลใจและมีที่มาจากรากฐานทางวัฒนธรรมของจีน ซึ่งมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับชีวิตและการทำงานของศิลปิน ภาพเขียนนามธรรมของจ่างมักมีขนาดใหญ่ สีที่ใช้ก็จะเป็นเพียงสีขาวดำ และมีความหนายากต่อการเก็บรักษา บางครั้งท่านเขียนภาพโดยใช้สีขาวบนพื้นสีขาว และสีดำบนพื้นสีดำ ฝีแปรงที่บดขยี้หรือป้ายตวัดบนผืนผ้าใบมีการใช้จังหวะอารมณ์ความรู้สึก และแม้กระทั่งพื้นที่อันว่างเปล่าที่ปรากฏในงานสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณของความเป็นตะวันออกอย่างชัดเจน

ในขณะที่จ่างยังมีชีวิตอยู่นั้น แม้ว่าการสร้างสรรค์ศิลปะของเขาจะไม่เป็นที่ยอมรับของคนบางกลุ่ม แต่การไม่ยอมรับมิได้เป็นผลเสียแต่ประการใด ในทางตรงกันข้าม เมื่อกาลเวลาผ่านไป การทำงานซึ่งเป็นลักษณะทวนกระแสของศิลปะซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้นกลับเป็นตัวที่บ่งบอกให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของศิลปะ และความเป็นต้นฉบับของศิลปะ งานนามธรรมของจ่างมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยและเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและต้องสงวนรักษาไว้เป็นอย่างดีเพื่อชนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสชื่นชมต่อไป เมื่อย้อนกลับมาดูงานภาพเหมือนของจ่างอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าการเขียนภาพของท่านจะมีลักษณะของการทำงานที่เป็นแบบไม่ย่ำอยู่กับที่ มีการใช้รูปแบบและเทคนิคเปลี่ยนกลับไปกลับมาโดยตลอด จ่างจะไม่ยึดมั่นอยู่กับรูปแบบวิธีการหรือรูปทรงภายนอกที่ปรากฏ

คุณสมบัติที่แท้จริงของศิลปินย่อมจะไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งดังกล่าวซึ่งมักจะเป็นตัวก่อให้เกิดอุปสรรคในการสร้างสรรค์ เพราะเหตุว่า ศิลปินไม่สามารถหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์เหล่านั้น ทำให้ขาดซึ่งอิสรภาพและเป็นหนทางที่ปิดกั้นมิให้ศิลปินได้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิต ดังนั้น การลากเส้นหรือการตวัดพู่กันในแต่ละครั้งของจ่างจะแฝงไว้ด้วยพลังความมั่นคง เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเด็ดขาด เป็นการถ่ายทอดภาวะของจิตที่บริสุทธิ์ในช่วงปฏิบัติงาน หลุดพ้นจากพันธนาการใดๆทั้งสิ้น จ่างใช้จิตวิญญาณของตนเข้าสัมผัสกับธรรมชาติและสิ่งต่างๆที่เขียน หลักการสำคัญของศิลปินท่านนี้อีกประการหนึ่งคือ การถ่ายทอดวิญญาณของสิ่งที่เขียน ส่วนสิ่งที่ไม่อาจจะมองข้ามไปได้นั้นคือการใช้ฝีแปรง ทีพู่กันและการจุดด้วยปากกาหรือดินสอมักจะประสานกลมกลืนไปกับการเคลื่อนไหว เปรียบเสมือนชีวิตที่ต้องดำเนินไป ในกรณีของจ่างนั้น เทคนิคในการเขียนภาพ หรือความงามที่ปรากฏมิใช่สิ่งสำคัญที่สุด จิตใจต่างหากเป็นเรื่องที่แสดงความเป็นสัจธรรมโดยตรง นอกจากนี้ บทกวีของจ่างบางบทมีการใช้ภาษาซึ่งเป็นคำง่ายๆในลักษณะซ้ำๆกัน หากนำบทกวีเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับศิลปะแนวคอนเซ็ปท์ชวล ในปัจจุบัน ภาษาที่ใช้จะเป็นสื่อกระตุ้นและนำให้ผู้อ่านเกิดคำถามขึ้นในใจ แง่ที่ว่าความเป็นศิลปินนั้นขึ้นอยู่กับอะไร แน่นอน คงไม่มีสถาบันหรือค่านิยมตามกระแสของศิลปะ หรือการยอมรับของสังคมในช่วงขณะหนึ่งขณะใด แต่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นศิลปินอย่างแท้จริงเท่านั้นที่อยู่เหนือขอบเขตมิติของกาลเวลา สถานที่ หรือกฎเกณฑ์ใดๆทั้งสิ้น ผลงานสร้างสรรค์ของจ่างเกิดจากความรัก ความศรัทธา ตลอดจนการรู้คุณค่าของศิลปะ ดังนั้น ความเป็นศิลปินของจ่างจึงเป็นที่ประจักษ์ และผลงานของท่านยังเป็นคุณูปการต่อการศึกษาทางด้านศิลปะ และวงการศิลปกรรมร่วมสมัยของไทยต่อไปอีกนานเท่านาน

ที่มา: สมพร รอดบุญ. “ระลึกถึง จ่าง แซ่ตั้ง.” สูจิบัตรประกอบนิทรรศการ “จ่าง แซ่ตั้ง ก็คือจ่าง แซ่ตั้ง.” ( 21 มีนาคม – 9 เมษายน 2543) เดอะเมอร์คิวรี่ อารต์ แกลเลอรี่ , กรุงเทพฯ.

 

You may also like...