การทำบุญทางไกล : ศิลปะที่วัดไทยในวิมเบอดัน โดยซานดรา หลุยส์ เคท
สีและจิตรกรรมแห่งอารมณ์ จากบทความที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ และสูจิบัตรที่เขียนโดยจิตรกรเองระบุในเบื้องต้นว่า สิ่งที่ทำให้จิตรกรรมฝาผนังที่นี่ต่างไปจาก “ขนบ” ของจิตรกรรมตามฝาผนังวัดในเมืองไทย ก็คือสีนั่นเอง โดยสีที่ใช้เป็นสีอครายลิก ซึ่งจะให้ภาพที่มีความสุกสว่างมากขึ้น และมีสีที่หลากหลาย
ด้วยวิธีการใช้สีเช่นนี้จิตรกรมุ่งที่จะถ่ายทอดเรื่องราวทางพุทธศาสนาออกมาในรูปของศิลปะ และตั้งใจสื่อความหมายของเรื่องราวผ่านอารมณ์ความรู้สึก สีและคุณสมบัติของสีที่กระทบต่ออารมณ์ ( ค่อนข้างแตกต่างไปจากการใช้สีเป็นสัญลักษณ์และใช้เป็นเครื่องหมายในการจัดลำดับชั้นทางสังคมตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์) เป็นสิ่งที่จิตรกรเหล่านี้เชื่อถือว่า พวกเขาต้องเรียนรู้เพื่อสร้างงานศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่แท้จริง …
สีที่ผนังแห่งนี้มีความสดใสและมีระดับความต่างและความจัดมาก ซึ่งแตกต่างไปจากสีที่ดูสงบที่ได้จากเนื้อสีจากวัตถุธรรมชาติ ซึ่งใช้กันในจิตรกรรมฝาผนังตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 23 หรือต่างจากกลุ่มสีโทนเดียวในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ด้วยวิธีใช้สีเช่นนี้ จิตรกรได้สร้างภาพเขียนที่ข่มพระประธานในพระอุโบสถลง ภาพของเฉลิมชัยที่มีสีแดงสุกสว่างด้านหลังพระประธาน สอดรับกันพอดีกับภาพของปัญญาที่มีสีน้ำเงินจัด สีม่วงสด และสีชมพูบนผนังด้านตรงกันข้าม ในขณะที่ภาพฉากหลังซึ่งแสดงเรื่องราวส่วนตัวของจิตรกรที่บรรจุรายละเอียดและทิวทัศน์ในระยะไกลถูกนำเสนอด้วยโทนสีอ่อนที่มีความสว่าง และเขียนอย่างประณีต การใช้สีจำนวนมากนี้ได้ก่อให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบจากชาวไทยหลายคนว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่รบกวนจิตใจ และเป็นภาพที่ประหลาดผิดปรกติ หรืออาจพูดได้อีกแบบหนึ่งว่า สีที่ใช้ไม่เป็นไปตาม “ขนบ” …
ชีวิตประจำวันกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เหมือนกับที่จิตรกรตั้งแต่สมัยอยุธยาได้วาดภาพชาวบ้านทั่วไป ในชีวิตประจำวันของพวกเขามีทั้งสุข สนุก และเศร้า ซึ่งเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น จิตรกรแห่งวัดพุทธปทีปก็ได้ทำเช่นเดียวกัน ภาพชีวิตประจำวันสำหรับคนไทยและผู้มาเยี่ยมชมคนอื่นๆในจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ประกอบไปด้วยตราเครื่องหมายของสินค้าในวัฒนธรรมตามสมัยนิยมของยุคโลกาภิวัตน์ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 อาทิ เครื่องหมายของเบียร์ไฮเนเก้น โคคาโคล่า ตัวนินจาเต่าในภาพยนตร์ หรือภาพคนนั่งเล่นไพ่ … ในบทบาทของจิตรกรแห่งยุครัตนโกสินทร์ พวกเขาได้วาดภาพช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ให้หยุดนิ่งบนฝาผนัง ได้สร้างภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเสด็จพระราชดำเนินและพระราชกรณียกิจขององค์พระประมุข และภาพที่แสดงให้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และการสูญเสียวิถีชีวิตที่รื่นรมย์ของชาวไร่ชาวนา
ศิลปินเหล่านี้ได้วาดภาพที่แสดงความเห็นอย่างรุนแรงต่อวิทยาการสมัยใหม่ พัฒนาการของสังคมบริโภค การเมืองระดับโลก และสงคราม โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นภาพนักการเมืองตะวันตกหลายคนนั้น แสดงให้เราเห็นถึงจุดยืนของตัวศิลปินเอง หรืออาจเป็นจุดยืนของประเทศไทยและเอเชีย ( โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของพุทธศาสนา) ที่มีต่อวัฒนธรรมตะวันตก ศิลปะ และศาสนา และระบบของโลกที่ถูกครอบงำโดยค่านิยมแบบทุนนิยม
ความคิดเห็นต่อศิลปะสมัยใหม่ … ในภาพจิตรกรรมที่แสดงถึงเหตุการณ์ปัจจุบันและมุมมองในจุดสำคัญของโลกสมัยใหม่ของจิตรกรกลุ่มนี้ พวกเขาถือว่าตัวเองมีฐานะเป็นศิลปิน และเป็นคนไทย เป็นผู้มีส่วนร่วม เป็นผู้สังเกตการณ์ และเป็นผู้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์เหล่านั้น สิ่งที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนก็คือ จิตรกรซึ่งเพิ่งจะจบการศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากรกลุ่มนี้มักจะเรียกร้องว่า ศิลปะไทยแนวประเพณี และแนวความคิดส่วนตัวของพวกเขา หรือการแปลงรูปแบบจากศิลปะแนวประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของศิลปะโลก ดังที่ปรากฏให้เห็นว่า พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าในศิลปะตะวันตก ( แม้จะนำมาล้อเลียนด้วยก็ตาม) และได้วาดภาพที่เป็นตัวแทนของศิลปะและสถาปัตยกรรมตะวันตกลงในฉากที่มีความสำคัญในจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ …
นอกจากจิตรกรแห่งวัดพุทธปทีปจะวาดสิ่งที่พวกเขามีความรู้จากศิลปะตะวันตก ทั้งในด้านรูปแบบและเทคนิคแล้ว พวกเขายังวิพากษ์วิจารณ์โลกศิลปะในสังคมร่วมสมัยอีกด้วย เห็นได้จากการที่พวกเขาลดค่าความสูงส่งของศิลปินลง (อาทิ ภาพฟานก๊อกตกจากบันได) และลดความสูงส่งของงานชิ้นสำคัญ (ดังเช่น รูปโมนาลิซาที่แตกออกเป็นชิ้นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในท้ายที่สุดมันก็เป็นแค่รูปที่ถูกวาดบนผ้าใบ) ในแง่นี้โลกของศิลปะจึงเป็นแหล่งข้อมูลทางความคิดที่ต่อเนื่องกันมา เป็นแรงบันดาลใจสำหรับจิตรกรไทย และกลายเป็นประเด็นของการแสดงความคิดเห็นทางพุทธศาสนา เป็นเนื้อหาที่ถูกนำมาเล่าทับกันอย่างซับซ้อนกับเงื่อนไขของชีวิตร่วมสมัยอย่างตะวันตก และอย่างไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ …
ภาพทิวทัศน์ ภาพเหมือนบุคคล และเรียลลิสม์ … ในขณะที่เกือบจะไม่เคยมีปรากฏงานในรูปแบบของศิลปะไทยชิ้นใดเลยที่มีลักษณะของจิตรกรรมแบบเรียลลิสม์ หรือแบบเหมือนธรรมชาติ (ที่แตกต่างออกไปจากการแสดงภาพด้วยเส้น และการแสดงภาพแบนๆ หรือการใช้แบบแผนในการเสนอภาพคนและเทพ) ในจิตรกรรมฝาผนังไทยตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา 1 แบบแผนของงานเรียลลิสม์นั้นได้บรรลุถึงขีดของรูปแบบใหม่ที่จิตรกรรมฝาผนังวัดพุทธปทีป ด้วยการสร้างภาพเหมือนรูปถ่าย ( photo-realist) ของตัวศิลปินและบุคคลที่พวกเขาคิดว่ามีความสำคัญที่จะต้องแสดงความขอบคุณหรือระลึกถึง การจัดระดับความสำคัญขององค์ประกอบต่างๆที่เกิดจากการสร้างรูปขึ้นใหม่นี้ ได้ถูกแสดงออกมาอย่างเหมือนจริงหรือตามแบบธรรมชาติ จากทิวทัศน์ไปสู่ภาพสัตว์ จากคนธรรมดาไปสู่ผู้สูงศักดิ์ นี่เป็นเครื่องบ่งชี้และเป็นการก่อร่างความเป็นจริงทางสังคมแนวใหม่ และเป็นการอ้างถึงสถานภาพทางสังคมของช่างเขียนภาพฝาผนังว่ามีฐานะเป็นศิลปิน …
คุณสมบัติของภาพที่เห็นได้ในแบบเหมือนจริงในจิตรกรรมไทยได้พัฒนาควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ( แม้ว่าจะไม่ใช่สาเหตุหลักก็ตาม) และความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของคนในทางสังคม ความเปลี่ยนแปลงนี้ถูกกำหนดโดยการค้า การคุกคามจากการล่าอาณานิคม บทบาทของมิชชันเนอรี่ การทูต การลงทุน และการท่องเที่ยว ความต่างระหว่างภาพที่เป็นจริงกับจินตนาการนั้นถึงขีดสุดอย่างเห็นได้ชัดจากวัดพุทธปทีป ซึ่งมันได้เกิดขึ้นนอกเขตแดนของประเทศไทย
องค์ประกอบของภาพทิวทัศน์และสถานที่ค่อยๆได้รับการปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะที่เหมือนจริงมากขึ้น โดยเริ่มพัฒนาจากการออกแบบประดิษฐ์รูปไปสู่การแบ่งองค์ประกอบของพื้นที่ว่างในภาพให้มีการระบุสถานที่ในแบบเหมือนจริงมากขึ้น ต้นไม้ที่เคยมีรูปแบบเฉพาะซึ่งมักจะเป็นรูปแบบของจีนที่มีลำต้นเล็กบิดงอและกิ่งเต็มไปด้วยดอกไม้ ภูเขาที่ตะปุ่มตะปั่มเต็มไปด้วยก้อนหินม้วนตัว ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันในจิตรกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้กลายมาเป็นรูปแบบที่มีชีวิตชีวามากขึ้นในช่วงปลายของพุทธศตวรรษที่แล้ว ในวัดบางแห่งในเขตของกรุงเทพที่มีจิตรกรรมฝาผนังในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 นั้น ต้นไพน์ (ไม่ใช่ไม้พื้นเมืองของไทย) ได้ปรากฏในภาพทิวทัศน์แล้ว ดอกไม้ซึ่งเข้ามาเป็นส่วนตกแต่งในพื้นที่ของภาพค่อยๆหลีกทางให้แก่ภาพเมฆในท้องฟ้า และภาพก็มีการแสดงความเปลี่ยนแปลงของแสงซึ่งเป็นผลจากเวลา ดังที่ได้ชี้แจงในบทนี้ นวัตกรรมที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดในจิตรกรรมฝาผนังตามวัดของไทย ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของภาพสถาปัตยกรรม และภาพทิวทัศน์ โดยเริ่มจากการรับเอาวิธีการสร้างภาพด้วยทัศนียวิทยาที่มีจุดรวมสายตาจุดเดียว “single-point perspective” การใช้เส้นขอบฟ้า และการปรับอัตราส่วนรูปคนให้มีขนาดเล็กลงเพื่อกำหนดความลึก ช่างเขียนยังเริ่มวาดรูปคนด้วยค่าความเป็นสีที่ให้ผลของภาพที่มีแสงและเงาด้วย ทั้งสองอย่างนี้ทำให้เกิดความรู้สึกถึงน้ำหนักและภาวะในแต่ละขณะของเวลา ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทำลายเอกภาพของการเล่าเรื่องในแบบ 2 มิติลง 2 แน่นอนความเปลี่ยนแปลงนี้ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนและการรับรู้ภาพที่ปรากฏในพื้นที่ของจิตรกรรมฝาผนังด้วย สิ่งที่ก่อรูปขึ้นในจักรวาลตามมโนคติของพุทธศาสนาของคนไทยที่มีการมองโลกในระดับชั้นของสิ่งมีชีวิต และพื้นที่ที่ระบุความสัมพันธ์ของตัวละครในภาพที่มีสถานะทางสังคมที่ต่างกัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในภาพเดียวกันในจิตรกรรมฝาผนังแบบเดิมของไทยนั้น จะอ่านหรือรับรู้ให้เข้าใจได้ด้วยการมองการจัดภาพในแนวตั้ง ที่แสดงลำดับชั้นของบุคคลและสถานที่ 3 แต่ในความสัมพันธ์ของภาพตามแนวนอน ภาพบุคคล จะมีกิจกรรมต่างๆในพื้นที่เดียวกัน แม้ว่าจะแตกต่างและแยกออกจากกันด้วยขนาดที่ใหญ่หรือเล็กก็ตาม การจัดภาพที่แสดงลำดับชั้นของชีวิตดูเหมือนจะถูกทำลายลง หากระบบการจัดภาพด้วยการใช้ทัศนียวิทยาถูกนำมาใช้ เพราะภาพบุคคลจะเป็นที่เข้าใจได้ก็ต่อเมื่อดูความสัมพันธ์รวมของภาพในพื้นที่ที่ปรากฏ มากกว่าจะเข้าใจได้ด้วยการดูจากฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา สาระสำคัญของการสร้างภาพ “สถานที่” นี่เป็นการสร้างนัยสำคัญที่เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงของความเป็นปัจเจกบุคคลของคนไทย โดยผ่านองค์ประกอบหรือวิธีการของชาวบ้านที่สามารถบ่งชี้ความสัมพันธ์ในสังคมไทย และความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ …
บทวิพากษ์ ในบทนี้ ข้าพเจ้าต้องการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์ของศิลปินกับการอ้างถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆในโลก ด้วยกลวิธีและแบบแผนต่างๆที่ศิลปินมีประสบการณ์ทั้งจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ จากภาวะทางสังคมของไทยและความสัมพันธ์กับตะวันตก จากวัฒนธรรมและลักษณะประจำชาติในบริบทของกระแสวัฒนธรรมข้ามชาติ จากการเล่าเรื่องที่เป็นส่วนตัว และจากพันธะสัญญาต่อการรื้อฟื้นการสร้างงานแบบอดีตในมุมมองที่ร่วมสมัย มาสู่จิตรกรรมฝาผนังที่จิตรกรกลุ่มนี้วาดขึ้น ณ วัดพุทธปทีป ข้าพเจ้าต้องการเน้นที่การแสดงออกที่ปรากฏในผลงานนี้ ในแง่ของการเล่าเรื่องและกลวิธีทางศิลปะ ดังที่จิตรกรกลุ่มนี้เรียกว่า เป็นแง่มุมของ “ผู้ชม” ในขณะที่ตระหนักด้วยว่าตัวเองมีฐานะเป็น “ศิลปิน” และในแง่ของการเล่าพุทธประวัติที่อยู่ในรูปของศิลปะต่อกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย ต่อเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ที่มีการแสดงออกนั้นปรากฏอยู่ ด้วยเวลาที่ผ่านไป รายละเอียดต่างๆที่จิตรกรเก็บเอามาจากความนิยมตามสมัยอาจล้าสมัยไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่น นินจาเต่าที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1990 ก็ค่อยๆเสื่อมความนิยมลงไปตามเวลา แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ต่อไป ด้วยความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการเสนอภาพที่มีความซ้อนเหลื่อมกัน ทั้งจากรูปแบบและวิธีการทางศิลปะ และด้วยการเสนอแง่มุมมองของจิตรกรหลายๆคน จิตรกรแห่งวัดพุทธปทีปได้วาดอดีตที่อยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันที่พวกเขาวาดเป็นการตระหนักถึงโลกาภิวัตน์ทางการเมือง สังคม และอำนาจทางวัฒนธรรม และแรงผลักดันเคลื่อนไหวของประชาชนที่ทำให้เกิดเป็นภาวะเช่นนี้ขึ้น และพวกเขาตระหนักถึงการแบ่งกลุ่มแบ่งประเภท (อาทิ ขนบทางวัฒนธรรม ภาวะสมัยใหม่ เรื่องของรัฐชาติ จิตนิยมและวัตถุนิยม) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เรายังต้องถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ และในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เราใช้กำหนดสถานะของผู้อื่นและตัวเราเองในปัจจุบัน
นอกจากจะเป็นการแสดงออกต่อสังคมในทางใหม่แล้ว พวกเขายังได้วาดภาพในพื้นที่ข้ามชาติ โดยอ้างถึงหลายชาติหลายประเทศในเวลาเดียวกัน ในหลายฉากหลายตอนที่ได้กล่าวถึงไว้แล้วข้างบน ภาพบุคคลที่ปรากฏแสดงถึงคนหลากหลายเชื้อชาติ และองค์ประกอบต่างๆก็ทำให้เห็นได้ชัดถึงความเป็นมาทางเชื้อชาติของรูปคนเหล่านั้น ไม่ว่าจะบ่งชี้โดยรูปแบบลักษณะทางศิลปะ หรือโดยอ้างถึงธุรกิจ การเมือง การเอาชนะในสงคราม การท่องเที่ยว หรือความทรมาน ในภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ราวกับว่านักเดินทางข้ามเวลาได้เดินทางเข้ามาในเหตุการณ์ต่างๆที่เคลื่อนตามพระพุทธเจ้าไปบนเส้นทางสู่การตรัสรู้และบรรลุพระนิพพานของพระองค์ พื้นที่บนผนังของวัดพุทธปทีปไม่ได้เป็นพื้นผิว 2 มิติที่ใช้บรรยายเรื่องอย่างที่จิตรกรรมฝาผนังของไทยในอดีตเคยเป็นมาอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ดูคลุมเครือว่า การมีอยู่ของจิตรกรรมแห่งนี้เป็นการกำหนดขอบเขตเฉพาะของคนไทย หรือของตะวันตก หรือของเอเชียกันแน่ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่พื้นที่ที่มีความเฉพาะดังกล่าวมานี้ที่เป็นประเด็นสำคัญ แต่ด้วยภาพที่บ่งชี้ชัดถึงสถานที่หลายแห่งและบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายคนที่โยงให้นึกถึงประเทศต่างๆนี้ ได้พาผู้ชมเข้าไปสู่ดินแดนในพุทธประวัติ และทำให้เราตระหนักถึงคำสอนของพระพุทธองค์ การแสดงออกทางศิลปะนี้เป็นการสร้างภาพจำลองของสังคม และชีวิตในทางศาสนาที่เป็นไปของวัดแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่วัดแห่งนี้ได้สนองต่อผู้ที่มาสักการะบูชาและนักเดินทางจากทั่วโลก …
… ตลอดประวัติศาสตร์ของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังไทย การเล่าเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนามักจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่น ( มักจะเกิดขึ้นในวัดไทย วัง หมู่บ้าน หรือในป่า) และขยายออกไปยังฉากในท้องถิ่นที่สังคมกำหนดไว้ (ภายในพระราชวัง ที่อยู่ของชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และฉากวัฒนธรรมประเพณีในสังคม) ซึ่งภาพที่วาดมักแสดงถึงความรู้สึกทางสุนทรีย์และแสดงถึงลักษณะเด่นเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ท้องถิ่นของคนไทยล้านนา และอีสาน เป็นต้น แต่ในจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธปทีปมีรายละเอียดต่างๆ อาทิเช่น เครื่องบิน ( จรวดนำวิถี นินจาเต่า สถานที่สำคัญที่เป็นอนุสรณ์สถาน และบุคคลต่างๆ ผู้มีชื่อเสียงจาก ชาร์ลี แชปลิน ไปถึง แรมโบ้ และพระสันตปาปา) สิ่งเหล่านี้ขยายทัศนะการมองแบบไทยๆที่เป็นเรื่องของท้องถิ่นออกไปสู่สากล …
… จากภาพจิตรกรรมในหลายฉากที่มีรายละเอียดคล้ายคลึงกันนี้ ศิลปินได้สร้างเรื่องราวจากโบราณกาลให้มาอยู่ในสถานที่และเวลาของผู้ชม ข้าพเจ้าพบว่า รายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาในหลายระดับด้วย ในแง่ที่มันฝืนกับจุดยืนและความเข้าใจของผู้ชมที่มีต่อโลก “ภายนอก” ที่ถูกเขียนอยู่ในจิตรกรรม ผู้ชมบางคนโต้แย้งกับความคิดที่ฝังใจว่า ประเทศไทยเป็นเช่นนั้น (เพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่งกล่าวถึงเครื่องบินในภาพว่า ” มันชวนให้ฉันคิดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเครื่องบินมากมาย”) ผู้ชมคนอื่นๆที่คุ้นเคยดีกับภาพพุทธประวัติโดยที่เคยได้ชมมาในประเทศไทย (หรือ ในประเทศอื่นๆที่นับถือพุทธศาสนานิยายเถรวาท) ก็มักจะโต้แย้งกับตัวเองว่า ภาพเขียนนี้ไม่เป็นตาม “ขนบ” …
… เป็นการยากที่จะทำความเข้าใจและหาข้อสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและศิลปะ หรือแม้แต่จะจำกัดขอบเขตของการวิเคราะห์ศิลปะไทยร่วมสมัย ทั้งในแง่ของการสร้างงานศิลปะที่มีเนื้อหาทางพุทธศาสนา จะด้วยจินตนาการหรือด้วยความตั้งใจอื่นๆ ตลาดของศิลปะแนวนี้ ( ขนาดของตลาดศิลปะในประเทศไทยก็ยังคงอยู่รอดได้ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน) และการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับศิลปะแนวประเพณีใหม่ และพุทธศิลป์แนวใหม่ในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีทีท่าว่า ข้อถกเถียงในเรื่องความสัมพันธ์นี้จะยุติลงได้
เรื่องนี้มีนัยสำคัญของอัตลักษณ์ทางการเมืองและความแตกต่างในระดับโลกอยู่ด้วย ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นแรงผลักดันทางศาสนา และอีกด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสำนึกในด้านการแสดงออกทางศิลปะที่เป็นส่วนตัวของศิลปิน จิตรกรรมที่วัดพุทธปทีปเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ด้วยวิธีการหรือวิธีคิดเช่นใดที่ศิลปินและผู้เขียนบทความทางศิลปะ แสดงจุดยืนและแนวความคิดของตัวเขาเองในระบบเศรษฐกิจที่นับถือพุทธศาสนา ในศิลปะ และในตลาดศิลปะด้วย จิตรกรรมฝาผนังวัดพุทธปทีปแสดงถึง ศิลปินร่วมสมัยไทยกลุ่มใหญ่ซึ่งค้นหาความชัดเจนถูกต้องทางวัฒนธรรมที่เปิดรับสิ่งต่างๆอย่างกว้างขวาง โดยผ่านเรื่องราวทางพุทธศาสนาและจินตนาการ ศิลปะของพวกเขาเหมือนการเติมเชื้อให้แก่การโต้เถียงกันระหว่างวัตถุนิยมกับจิตนิยม ซึ่งแสดงถึงลักษณะของภาวะสมัยใหม่ของไทยที่ต่อเนื่องไปถึงแวดวงทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย ศิลปินและกลุ่มที่ตระหนักว่ามีความขาดแคลนในโครงสร้างที่จะสนับสนุนการสร้างงานศิลปะนั้น ปฏิเสธการแบ่งขั้วอย่างเด่นชัด ในเรื่องนี้ แง่หนึ่งก็เป็นการเพิ่มอำนาจการขยายตัวแก่เศรษฐกิจแบบสังคมบริโภค และเพิ่มปัญหาให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม นักวิจารณ์ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธศิลปะประเพณีนิยมใหม่และพุทธศิลป์แนวใหม่ เพราะพวกเขาเชื่อว่ามันตกอยู่ในโลกของจินตนาการที่ซ้ำซากและขาดการวิเคราะห์อย่างจริงจัง และไม่เผชิญกับปัญหาของสังคมและโลกแห่งความเป็นจริง แนวความคิดนี้โดยตัวมันเองก็เป็นแนวทางของแนวคิดนานาชาติที่เห็นว่า ศิลปะเป็นการวิจารณ์สังคม ในจุดสุดท้ายแล้ว การโต้แย้งกันนี้ก็อยู่ที่การประเมินว่าอะไรเป็นศิลปะ “ที่ดี” โดยใช้มาตรฐานทั้งของไทยและสากล ซึ่งใครมีอำนาจทางวัฒนธรรมที่จะตัดสินก็ขึ้นอยู่กับว่าแวดวงไหนเป็นผู้ตัดสินและหลักอันไหนที่ใช้ในการตัดสินนี้ที่วัดพุทธปทีป จิตรกรได้สร้างงานขึ้นบนความสัมพันธ์ที่ยังไม่มีข้อยุติระหว่าง โลกศิลปะ ศิลปะไทยประเพณี คำสอนทางศาสนา อดีตกาลและสมัยใหม่ …สำหรับพวกเขา “อดีต” ในบริบทนี้หมายถึง ประวัติศาสตร์ และพัฒนาการในจิตรกรรมฝาผนังไทย ซึ่งประกอบด้วยภาพแทนความหมายและลวดลายที่มีระบบระเบียบเป็นไวยากรณ์ให้เรียบเรียงในเชิงศิลปะที่สามารถแสดงถึง ” ความเป็นไทย” แต่แทนที่จะยึดติดกับจิตรกรรมฝาผนังของไทยในอดีต จิตรกรกลุ่มนี้ได้เลือกที่จะใช้พื้นฐานของภาพจิตรกรรมไทย ซึ่งพวกเขาสามารถที่จะทดลองนำเอารูปแบบอื่นๆเข้ามาผสมผสาน เช่น แบบเรียลลิสม์ เซอร์เรียลิสม์ เอ็กเพรสชั่นนิสม์ และภาพเหมือนบุคคล จินตนาการใหม่ และสัญลักษณ์ที่มีความหมายส่วนตัว ภายในฉากชนบทบางภาพแสดงความรู้สึกถึงความโหยหาคิดถึงบ้านและอดีต ซึ่งก็แสดงถึงรูปแบบของวิถีชีวิตปัจจุบันที่ผสมผสานอยู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และความต้องการทางวัตถุด้วย ในขณะที่บางฉากก็วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นสมัยใหม่ด้วยภาพอาวุธทำลายล้างจำนวนมาก และภาพนักการเมืองหลายคนที่ไม่ลังเลใจที่จะใช้อาวุธเหล่านี้ การทดลองใช้รูปแบบมากมายในการสร้างภาพเช่นนี้ เป็นการเปิดไปสู่การเชื่อมโยงกับผู้ชมที่มีหลากหลายในโลกปัจจุบัน จากมุมมองของศิลปิน คำสอนทางพุทธศาสนายังคงเป็นหนทางหนึ่งและเป็นหนทางของพวกเขาที่จะทำความเข้าใจต่อความเป็นสมัยใหม่ และพวกเขาได้พยายามที่จะทำให้มุมมองของพวกเขา เป็นที่เข้าใจได้และประทับใจต่อสาธารณะที่กว้างขวางออกไป …
นอกจากนี้ ศิลปินกลุ่มนี้ยังอ้างถึงศิลปะตะวันตกและนำมาทำให้ดูตลกแบบไทยๆ ซึ่งเป็นการพลิกกลับการจัดลำดับชั้นทางศิลปะอีกด้วย ด้วยการอ้างถึงภาพจำนวนมาก พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความรู้ที่พวกเขามีต่อศิลปะตะวันตก ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ลดค่าความยิ่งใหญ่ของศิลปินอย่าง ฟานก๊อก ไมเคิลแอนเจอโล และดาวินซี หรือผลงานที่ยิ่งใหญ่ (อย่างโมนาลิซา หรือเกอร์นิก้า) ลง ด้วยเหตุนี้ โลกศิลปะจึงไม่เพียงเป็นแหล่งของความคิดใหม่ๆและแรงบันดาลใจ แต่ยังเป็นประเด็นให้แสดงความเห็นในทางพุทธศาสนา และเป็นเนื้อหาให้นำมาเล่าได้อย่างซับซ้อนในเรื่องที่เกี่ยวกับเงื่อนไขของชีวิตร่วมสมัยที่เป็นแบบตะวันตก แบบไทย หรือแบบโลกาภิวัตน์ การเลือกสรรของศิลปินไทยกลุ่มนี้ เป็นการยืมและลอกเลียนมาจากศิลปะของผู้อื่นหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นกลวิธีในการนำเสนอศิลปะของพวกเขาเอง มากกว่าที่จะเป็นการสืบทอดศิลปะจากแหล่งเดิม ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า มันได้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงต่อเนื่องและความสมบูรณ์ในทัศนะการมองของพวกเขา
ความผสมผสานที่เกิดจากการเลือกสรรที่จะอ้างอิงถึงศิลปะตะวันตก หรือการยกเอาสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมในวัฒนธรรมร่วมสมัย การนำเสนอความเป็นอื่น เรื่องเพศ และการเมือง เข้ามาบันทึกไว้เป็นหลักฐานในจิตรกรรมฝาผนังของไทยมีมานานมากกว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว ด้วยระยะห่างของเวลาและความเข้าใจจาก “ชั่วขณะในปัจจุบัน” ที่มีต่องานจิตรกรรมของพวกเขาเอง จิตรกรรมฝาผนังเหล่านั้นจึงเป็นการปรากฏของอดีตอยู่เสมอ แต่ในชั่วขณะของการชมที่เชื่อมโยงกับภาพเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ข้าพเจ้ายืนกรานว่า นี่เป็นจุดสำคัญอย่างแน่นอนของจิตรกรรมที่วัดพุทธปทีปที่เป็นเหตุให้เกิดการตระหนัก และการสำนึกถึงจุดยืนของคนๆหนึ่งในชั่วขณะนั้น และทำให้เกิดการโต้แย้งขึ้นในใจในเรื่องของจริยธรรม และการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งในชั่วขณะนั้น …
จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล
ตัดตอนแปลจาก : Cate, Sandra Louise, Long-distance Merit-Making: Art at a Thai Buddhist Temple in Wimbledon, Thesis (Ph.D. in Anthropology) University of California Berkelry,Fall 1998. pp. 280-282, 284-285, 287-290, 297-299, 301-302, 377-380.