ภาพพุทธประวัติจากหินสลักยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. 300-700 โดยพระเทพวิสุทธิเมธี
ในประเทศอินเดียมีภาพพุทธประวัติในหินสลักอยู่ประเภทหนึ่งซึ่งกล่าวได้ว่าเป็น พุทธประวัติชุดแรกที่สุดในโลก และน่าสนใจที่สุด หรือมีค่าที่สุดในโลกด้วย คือชุดที่ได้จำลองเอามาพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้จำนวนหนึ่งนั่นเอง
และเป็นภาพพุทธประวัติที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยเรา ที่ว่าเป็นครั้งแรกในโลกนั้น หมายความว่าก่อนหน้าพุทธประวัติชุดนี้ยังไม่เคยมีใครที่ไหนได้ทำภาพพุทธประวัติขึ้น ไม่ว่าประเทศไหนในโลก พุทธประวัติชุดที่กล่าวนี้ เริ่มทำขึ้นในประเทศอินเดีย ระหว่าง พ.ศ. 300 เศษ ถึง พ.ศ. 600 เศษ เป็นระยะเวลาสามร้อยปีเท่านั้น โดยเป็นภาพพุทธประวัติที่ไม่ยอมทำรูปพระพุทธองค์อยู่ยุคหนึ่ง หลังจาก พ.ศ. 600 เศษเป็นต้นมา ก็มีการทำภาพพุทธประวัติในยุคที่สอง คือมีพระพุทธรูปและมีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ก่อนหน้า พ.ศ. 300 เศษขึ้นไปทางหลัง ก็ยังค้นไม่พบว่าได้มีการสลักภาพพุทธประวัติไว้ ณ ที่ใดเลย
ที่ว่าน่าสนใจที่สุดหรือมีค่าที่สุดนั้น ก็เพราะมุ่งแสดงพระพุทธองค์ในทางนามธรรมยิ่งกว่าทางรูปธรรม แสดงความสูงในทางจิตใจของพุทธบริษัทแห่งยุคนั้นยิ่งกว่าในยุคนี้ จึงไม่ทำรูปของพระพุทธองค์ในลักษณะที่เป็นรูปมนุษย์ ซึ่งเป็นการแสดงความเขลาและความขลาดออกมาในที่สุด แต่ได้แสดงด้วยสัญลักษณ์ที่ทำขึ้นเฉพาะเหตุการณ์นั้นๆ ในพระชนม์ชีพของพระองค์ อย่างมีความหมายลึก ชนิดที่รูปภาพคนแสดงเช่นนั้นไม่ได้ ซึ่งจะได้วิจารณ์กันต่อไปตามสมควร …
… เมื่อความสำคัญของภาพพุทธประวัติชุดนี้อยู่ที่การไม่ยอมทำรูปพระพุทธองค์เป็นรูปมนุษย์ antropomophic image แต่พยายามทำเป็นสัญลักษณ์ symbol ไปเสียทั้งนั้น ดังนี้แล้วปัญหาย่อมเกิดขึ้นว่า ทำไมจึงไม่ยอมทำ ? ถ้าเราตอบคำถามข้อนี้ได้ เราจะเข้าใจอะไรมากมายหลายอย่าง ในทางศิลปะ โบราณคดี ประวัติของศาสนา กระทั่งหลักธรรมะในขั้นสูงเช่น เรื่องความไม่ยึดมั่นด้วยอุปทานเป็นต้น
ในขั้นแรกที่สุด เราจะต้องทราบกันเสียก่อนว่า ประเทศอินเดียในยุคพุทธกาลหรือยุคอุปนิษัทนั้น มีวัฒนธรรมทางจิตใจหรือทางศาสนาขึ้นสูงถึงขนาดที่ประนามรูปเคารพ idol กันเสียแล้ว … … สรุปความว่า ในยุคอุปนิษัทของอินเดีย (ประมาณตั้งแต่ 200 ปีก่อนพุทธกาล ลงมาถึง 200 ปีหลังพุทธกาล) นั้น รู้จักนั่งเข้าฌาน นั่งสมาธิวิปัสสนา เพื่อค้นหาความจริงในด้านนามธรรมหรือความสูงในทางวิญญาณกันทั่วไปแล้ว จึงประณามการไหว้รูปเจว็ดกันแล้วในหมู่ชนที่มี วัฒนธรรม …
… ทีนี้เราจะย้อนกลับไปถึงความรู้สึกอันเกี่ยวกับรูปเคารพในประเทศอินเดีย ในสมัย พ.ศ. 300 ถึง พ.ศ. 600 กันใหม่ เพื่อศึกษาดูว่าในระยะกาลนั้น มหาชนมีความรู้สึกในเรื่องนี้กันอย่างไร
หลักฐานเท่าที่ปรากฏอยู่จริงในหินสลักต่างๆ นั้นค้นพบได้จากที่ 3 แห่งคือที่สถูปภารหุต ค่อนไปทางทิศเหนือ ที่กลุ่มสถูปสาญจี ทางภาคกลาง และกลุ่มสถูปอมราวดี ทางอินเดียใต้ ซึ่งมีหินสลักภาพพุทธประวัติอยู่ด้วยกันมากมาย สำหรับสถูปภารหุตนั้น ถูกทำลายสูญหายไปเสียมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ทางโบราณคดีไปพบเหลืออยู่ประมาณ 1 ใน 4 และได้นำไปเก็บรักษาไว้ใน Indian Museum ที่กัลกัตตาทั้งหมด แม้แต่ชิ้นใหญ่ ๆ เช่น ซุ้มประตูขนาดมีความสูงตั้ง 3 วา … … สำหรับสถูป สาญจีนั้น นับว่าโชคดีมาก ที่อะไรๆก็ยังคงอยู่ในที่เดิม จนกระทั่งสามารถจัดเป็นพิพิธภัณฑ์สถานขึ้นโดยเฉพาะ ณ ที่นั้นเอง … สำหรับสถูปกลุ่มอมราวดีทางอินเดียใต้นั้น น่าสังเวชที่ชาวบ้านพบก่อนเจ้าหน้าที่ รื้อแผ่นสวยงามไปขาย … … ในที่สุดชิ้นที่สวยงามประมาณ 200 ชิ้น ก็ไปรวมกันอยู่ได้ที่บริติชมิวเซียม ในประเทศอังกฤษ … … ส่วนที่เหลืออีกมากมายนั้นถูกนำไปรวมรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งรัฐมัดราส …
… จากความใหญ่โตมโหฬาร ความมากมาย และความประณีตบรรจงในการกระทำ ตลอดจนถึงความเสียสละอดทน อันจะสังเกตเห็นได้จากศิลปวัตถุนั้นๆ ทำให้รู้สึกว่าพุทธบริษัทแห่งสมัยนั้น (พ.ศ. 001 – 600) ไม่มีความรู้เรื่องพระพุทธรูปกันเสียเลยจริงๆ และไม่มีใครเคยทำพระพุทธรูปขึ้นเลยในระยะนี้ ประชาชนทั่วไปก็ดี พวกช่างหรือศิลปินก็ดี กษัตริย์หรืออิสรชนก็ดี ตลอดถึงคณะสงฆ์และพุทธบริษัททั่วไปก็ดี มั่นคงอยู่ในคติที่ว่าองค์พระศาสดาหรือ ” พระภควัน” นั้นไม่ใช่สิ่งที่อาจจะแสดงได้ด้วยรูปของมนุษย์ สิ่งที่อาจจะแสดงได้ด้วยรูปของมนุษย์นั้น เป็นเพียงเปลือกนอกของสิ่งที่เรียกว่าพระศาสดาที่แท้จริง อันจะเป็นที่พึ่งของเราได้ ถ้าเราแสดงภาพของพระ ภควันด้วยรูปร่างมนุษย์เช่นนั้น เราก็เป็นคนตู่พระภควัน หรือแสดงพระภควันในลักษณะที่เป็นของเท็จหรือของปลอมออกมา เพราะว่าใครจะไปทำภาพของหน้าตาแขนแมนของพระองค์ให้เหมือนของจริงได้ หรือว่าใครจะแสดงอารมณ์ mood อันแท้จริงที่พระพักตร์ของพระพุทธรูปนั้นให้เหมือนของจริงได้หรือถูกต้องได้ ย่อมทำไปตามอารมณ์ของผู้ทำเองจนมีมากแบบมากชนิด น่าเกลียดน่าชังก็มี เป็นเจ้าชู้ไปก็มี บูดบึ้งไม่สมกับความเป็นพระภควันไปก็มี มากมายเหลือที่จะกล่าวได้ ยิ่งพยายามยิ่งขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งไปไกลไปเท่านั้น เพราะทำด้วยมานะทิฏฐิของตนเอง ไม่ได้ทำด้วยจิตว่างเหมือนจิตของพระภควันเอง และโดยแท้จริงนั้น สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ในลักษณะที่เป็น mood นั้นจะไม่มีเลยแก่องค์พระภควันที่แท้จริง จะมีแม้เพียงบางอย่างก็ที่นามรูปอันเป็นชั้นผิวนอกเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพระภควันที่แท้จริงเลย เมื่อเขารู้จักแยกพระภควันองค์จริงที่เขาถือเอาเป็นที่พึ่ง ออกจากเปลือกนอกที่ปรากฏแก่คนทั่วไปดังนี้ เขาจึงไม่ทำองค์พระภควันนั้นให้เป็นรูปมนุษย์ มีหน้าตาแขนแมนอย่างนั้นอย่างนี้แต่ประการใด
ทีนี้ ก็มาถึงปัญหาเกี่ยวกับสัญลักษณ์ พวกที่ทำพระพุทธรูปขึ้นมา ก็จะหาทางออกว่าแม้ที่ทำเป็นองค์พระพุทธรูปขึ้นมานั้น ก็มุ่งให้เป็นเพียงสัญลักษณ์ symbol ไม่ใช่ประสงค์จะทำเป็นรูปเหมือน idol ดังนั้นแม้จะมีอารมณ์ mood อะไรแสดงอยู่ในหน้าตานั้นบ้างก็ให้ถือเป็นเพียงสัญลักษณ์พอให้รู้ประวัติของพระพุทธองค์ได้ก็แล้วกัน ข้อนี้ยิ่งพูดไปก็จะยิ่งเห็นว่าเป็นการหาทางออกอย่างข้างๆคูๆยิ่งขึ้น เพราะว่าผู้ที่หลุดพ้นแล้วโดยแท้จริงนั้น ย่อมพ้นจากการกระตุ้นหรือการปรุงแต่งโดยประการทั้งปวง จึงไม่มีแบบหรือรูปของอารมณ์ mood ใดที่เป็นของจริงสำหรับท่าน มีแต่ที่เปลือกนอกดังที่กล่าวแล้ว การไปแสดงสัญลักษณ์ของสิ่งชั้นเปลือกนอกที่มิใช่พระองค์จริงนั้น จะมีประโยชน์อะไร …
พวกที่ทำภาพพุทธประวัติในหินสลักที่สาญจี ภารหุต และอมราวดีนั่นแหละ เป็นพวกที่ทำภาพพระพุทธองค์ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์อย่างแท้จริง และเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกต้องถึงที่สุดจริงๆ ด้วย พวกนี้มีความเห็นว่าไม่มีสัญลักษณ์ใดๆที่เหมาะสมสำหรับพระองค์นอกจากสัญลักษณ์แห่ง ความว่าง ดังนั้นเราจึงได้เห็นบัลลังก์ที่ว่างเต็มไปหมดในภาพเหล่านั้น โดยไม่มีใครอยู่บนบัลลังก์ กระทั่งบนหลังม้าที่ออกผนวช ก็มิได้มีใครนั่งอยู่บนนั้น …1 … ผู้ดูจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียด้วยว่า ไม่ใช่ตัวบัลลังก์นั้นเป็นสัญลักษณ์ หากแต่ว่าความว่างจากตัวคนบนบัลลังก์นั่นแหละเป็นสัญลักษณ์ เราอาจรู้หรือทายได้ทุกคนว่าบนบัลลังก์นั้นมีพระพุทธองค์ประทับอยู่ แต่องค์แท้ของพระพุทธองค์นั้นคือความว่างจากบุคคลอันอยู่ในลักษณะซึ่งเราไม่สามารถจะแสดงด้วยภาพหรือแบบหรือรูปใดได้ นอกจากความว่างนั้นเอง …
… ทีนี้ยังมีสัญลักษณ์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งบางทีก็ทำวางไว้บนพระแท่นนั้น … คือรูป ตรีรตนะ มีลักษณะเป็นดอกบัวบานอยู่ในวงกลมคือความว่าง และมีเปลวแสงสว่างออกมาจากวงกลมนั้น อันเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายดีเป็นพิเศษจนกลายเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด …
… เมื่อพระแท่นและต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์แสดงความหมายทางร่างกายเนื้อตัว ตรีรตนะนี้ก็แสดงความหมายทางคุณธรรมหรือจิตใจโดยตรง อย่างสูงสุดหรือถึงที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะเฉพาะของแบบสาญจีและภารหุต สำหรับแบบอมราวดีนั้น ยังก้าวไกลออกไปอีกก้าวหนึ่งคือ ทำสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์เพิ่มขึ้นอีกแบบหนึ่งคือ ทำเป็นเสาสูง มีไฟลุกรอบตัว ที่ยอดเสามีเครื่องหมายตรีรตนะ ที่โคนเสามีรอยพระพุทธบาทคู่หนึ่ง นี่นับว่าเป็นความคิดก้าวหน้าต่อมาของยุคอมรวดีเอง ดูก็แยบคายดีมาก และใครๆที่เป็นพุทธบริษัทก็พอจะอธิบายได้เองแล้วว่า สิ่งเหล่านี้ที่เอามาประกอบกันเข้าเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์นั้น แต่ละสิ่งมีความหมายว่าอย่างไร ทั้งหมดนั้นมุ่งแสดงคุณธรรมทางนามธรรม มิได้มุ่งแสดงทางวัตถุร่างกาย ดูแล้วทั้งสวยทั้งศักดิ์สิทธิ์ ดูแล้วเพิ่มความรัก ความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ ยิ่งกว่าดูพระพุทธรูปหลายแบบทีเดียว เพราะทำให้ซาบซึ้งในคุณธรรมของพระองค์ลึกกว่ากันนั่นเอง
เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ในเรื่องราวอันเกี่ยวกับการไม่ยอมทำรูปเหมือนเช่น พระพุทธรูป แต่ทำสัญลักษณ์แห่งความว่างและอื่นๆแทนนี้ เราจะนึกได้ด้วยสามัญสำนึกว่า แม้ในบุคคลธรรมดา ที่เป็นบุคคลสำคัญของชาติ เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นต้นนี้ ในสมัยที่เราได้ฟังแต่พระเดชพระคุณของท่าน เรารู้สึกจับใจซาบซึ้งด้วยความรัก ความเลื่อมใส นับถือบูชาอย่างไร ทั้งๆที่เราทายไม่ถูกว่าพระพักตร์ของท่านเป็นอย่างไร ครั้นเราทำรูปของท่านขึ้นในลักษณะรูปเหมือน ความประทับใจที่เคยมีอย่างซาบซึ้งนั้น มันชืดลงอย่างไรและเพียงไร และยิ่งชินตาหนักเข้า มันจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือว่าเมื่ออนุสาวรีย์นั้นกร่อนไปตามกาลเวลา ( เช่นพระพุทธรูปหักเกลื่อนไปตามที่ต่างๆ) เราจะมีความรู้สึกอย่างไร เพราะยากที่ใครจะยอมเชื่อได้ว่าอนุสาวรีย์ของบุคคลนั้นทำได้เหมือนตัวจริง เพราะไม่มีใครเคยเห็นท่าน ในบรรดาคนที่มีชีวิตอยู่ ต้องเดาต้องสันนิษฐาน ดังนั้นจึงเกิดความลังเลขึ้นในใจของผู้เห็นทุกคราวที่เห็น ความลังเลนั้นเองย่อมจะบั่นทอนความรู้สึกประทับใจอย่างซาบซึ้งในตอนที่เรายังไม่ได้ทำรูปเหมือนของท่านขึ้นมา ทีนี้เราขยับใกล้เข้ามาถึงรูปถ่ายที่เหมือนจริงๆของคนจริงๆ ของใครคนหนึ่ง ที่เราเคยประทับใจในคุณธรรมของเขา ในขณะที่เรายังไม่เคยเห็นรูปถ่ายของเขา รูปถ่ายที่เราได้รับมานั้น จะทำลายความรู้สึกบางอย่างแทบสิ้นเชิง ในทางความสูงหรือศักดิ์สิทธิ์ชนิดที่บรรยายเป็นตัวหนังสือหรือคำพูดไม่ได้ แม้ว่าจะได้ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างอื่นขึ้นมาแทนอีกทางหนึ่ง มันก็ไม่มีค่าเท่ากับความรู้สึกอันแรกโน้น … … ดังนั้นบุคคลในยุคที่มีปัญญาอย่างยุคอุปนิษัทของอินเดีย จึงไม่ยอมทำรูปเคารพหรือรูปเหมือน
เราจะดูกันต่อไปอีกนิดหนึ่ง คือเมื่อรูปเคารพเช่น พระพุทธรูปบุบสลายลงไป มีคอหัก แขนขาด หูแหว่ง จมูกวิ่น เป็นต้น เราเห็นแล้วจะรู้สึกอย่างไร นี้อย่างหนึ่ง กับเมื่อรูปสัญลักษณ์เช่นแท่นว่าง รูปธรรมจักร หรือรอยพระบาท เป็นต้น แตกหักแหว่งวิ่นหรือกระจัดกระจายไป เราจะรู้สึกเหมือนกันกับที่เห็นพระพุทธรูปบุบสลายนั้นหรือไม่ โดยที่แท้นั้นย่อมต่างกันลิบลับคือ สัญลักษณ์ที่แตกหักนั้นยังมีความศักดิ์สิทธิ์และความหมายอันให้ความรู้สึกแก่จิตใจอยู่เท่าเดิม ส่วนรูปเคารพนั้นทำให้ความทุเรศ ให้ความปั่นป่วนรวนเรแก่จิตใจ ถ้าหักออกในส่วนที่ทำให้ดูน่าเกลียด เราก็จะรู้สึกเกลียดดังนี้เป็นต้น ดังนั้นคนที่ฉลาดในด้านจิตใจจึงพากันไม่นิยมทำรูปเคารพ และห้ามการทำรูปเคารพมาแล้วตั้ง 3,000 กว่าปี เพิ่งจะมาถอยหลังเข้าคลองกันอีกเมื่อยุคหลังนี้
ทีนี้ในระดับสูงสุดคือการทำสัญลักษณ์นั้น ถ้าทำเป็นภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นรูปหรือแบบขึ้นมา ก็ต้องเผชิญกับความชำรุดเป็นธรรมดา ดังนั้นคนที่ฉลาดที่สุดจึงใช้ “ความว่าง” เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่รู้จักชำรุดทรุดโทรมหรือเปลี่ยนแปลงได้แม้แต่นิดเดียว นับว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ยอดสุดของสัญลักษณ์ทั้งหลาย เมื่อไม่มีอะไรจะกระทบกระทั่ง พระภควันพระองค์จริง อันเป็นอนันตกาลได้ฉันนั้น ดังนั้นพุทธบริษัทในอินเดียสมัย พ.ศ. 300-600 จึงไม่ยอมทำรูปเคารพแก่พระพุทธองค์ แต่ได้ทำสัญลักษณ์ในขั้นที่ฉลาดที่สุด คือความว่างแทน …
… สรุปความที่กล่าวมาแล้วอย่างยืดยาวนี้ ก็พอจะทำให้ผู้อ่านเรื่องนี้หยั่งทราบได้เองว่า พุทธบริษัทแห่งยุคที่ไม่ยอมทำพระพุทธรูปนั้น เขามีความรู้สึกกันอย่างไรในเรื่องนี้ และไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่จะทำพระพุทธรูปขึ้น มิใช่ว่าเขาจะจนปัญญาหรือไร้ฝีมือในการทำพระพุทธรูปนั้น ดังเราจะเห็นได้ว่าเขาสามารถทำหินสลักอันงดงามนั้น ซึ่งยากกว่าการทำพระพุทธรูปโดยตรงเป็นไหนๆ หากแต่เขาต้องการจะแสดงความรู้สึกที่สูงกว่า เป็นอุดมคติกว่า เข้าถึงพระภควันองค์จริงได้ง่ายกว่า เพราะไม่ผูกพันกับวัตถุนิยม materialism แต่ประการใดนั่นเอง
ทั้งหมดนี้เป็นการตอบปัญหาที่ว่า ทำไมจึงไม่ยอมทำพระพุทธรูปในหินสลักเหล่านี้ ทั้งที่เป็นเรื่องพุทธประวัติโดยตลอด…
… การแสดงธรรมหรือแสดงประวัติด้วยภาพนี้มีผลลึกซึ้งกว่าการแสดงด้วยตัวหนังสือ หรือด้วยคำพูด ตรงที่จะทำให้เกิดการประทับใจลึกซึ้งกว่า เพลิดเพลินกว่า และโดยที่ไม่รู้สึกตัวยิ่งกว่า มีการถ่ายทอดทางจิตใจได้ง่ายกว่า ถ้าหากว่าการกระทำนั้นกระทำโดยศิลปินที่ถึงขนาดจริงๆ ดังนั้นเราจึงควรสนใจที่จะศึกษาธรรมะด้วยภาพกันเสียบ้าง และสมุดเล่มน้อยนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อความมุ่งหมายอันนี้
ที่มา: พระเทพวิสุทธิเมธี. ภาพพุทธประวัติจากหินสลักยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. 300-700. กรุงเทพ: กองทุนวุฒิธรรม , ตีพิมพ์ครั้งแรก 2509. คำนำ หน้า 1-19.