บทวิจารณ์ >>’อ่าน’ บางอย่างที่เกินและขาดหายไปในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ ในนิทรรศการชุด Flesh ของ ทวีศักดิ์ ศรีทองดี แหล่งข้อมูล : นิตยสารไฮคลาส ฉบับ 248 / กรกฎาคม 2549
ทวีศักดิ์ ศรีทองดี เป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นใหม่ที่ยังคงให้ความสำคัญกับการวาดภาพใบหน้าและร่างกายของมนุษย์อย่างมาก กระทั่งรูปร่างและทรวดทรงอันบิดเบี้ยว พร้อมด้วยใบหน้าที่อาจมีบางอย่างขาดหายไป หรือบางครั้งก็มีบางอวัยวะหรือรยางค์เพิ่มเข้ามาได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานของเขาไปในที่สุด
ดังนั้นถ้อยคำของทวีศักดิ์ที่ว่า “ผมรู้สึกเหมือนเป็นดร.แฟรงเกนสไตน์ ที่พยายามค้นความงามในร่างกายของคน” จึงสะท้อนแนวคิดบางอย่างต่อผลงานชุดที่ผ่านๆ มา อย่างเช่น Neo-Morph ที่ทำให้เพศสภาพบนเรือนร่างดูเคลือบคลุมจนเหมือนจะเป็นคนที่ปราศจากเพศ Heroes ที่เป็นภาพเรือนร่างของยอดมนุษย์ที่มีมัดกล้ามแปลกแยกจากระบบกายวิภาคหรือยอดมนุษย์อื่นๆ และแน่นอนว่ายังคงปรากฏให้เห็นในงานชุด Flesh ที่เป็นที่กล่าวขานถึงกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา
แม้ว่า ‘ความงามในแบบแฟรงค์เกนสไตน์’ จะถูกลดบทบาทความสำคัญลง จนพูดได้ว่าความงามของผลงานชุดนี้เริ่มจะเข้าใกล้กับความงามแบบสาธารณ์ ที่คนส่วนใหญ่ใช้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันเพื่อมองเรือนร่างหรือใบหน้าของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งหยิบยืมพื้นฐานมาจากนางแบบเสื้อผ้า ภาพปกนิตยสารแฟชั่น และนานาสารพันที่เรือนร่างและใบหน้าเหล่านั้นถูกใช้เป็นพาหะสื่อสารข้อความบางอย่างแทนตัวสินค้าในโลกยุคใหม่ แต่กระนั้นเราก็ยังคงพบบางอย่างที่ ‘เกิน’ และ ‘ขาดหาย’ ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ ซึ่งดำรงอยู่ในโลกอันแปลกพิกลและมีที่ทางให้กับความวิตถารของทวีศักดิ์ ศรีทองดีอยู่นั่นเอง
ขอเริ่มต้น ‘อ่าน’ งานชุด Flesh จากผลงานชิ้นที่มีชื่อว่า Fan ซึ่งดูเหมือนจะมีอายุมากที่สุดชิ้นหนึ่งในบรรดาผลงานทั้งหมดที่จัดแสดง ทวีศักดิ์เขียนภาพชิ้นนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2004 คือราวเกือบสองปีมาแล้ว Fan เป็นเพียงแค่ภาพใบหน้าที่ปราศจากผม ต้นคอ ใบหู หรือแม้กระทั่งความเป็นหัว ที่มองดูเผินๆ แล้วก็คล้ายกับใบหน้าในภาพอื่นๆ ที่ไร้เพศ หากเป็นที่น่าสังเกตว่า ‘เรือนร่าง’ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในผลงานแทบทุกชิ้นของเขากลับไม่มีอยู่ในงานชิ้นนี้ แต่ทว่า ‘การไม่มีอยู่’ ซึ่งน่าจะเป็นการเน้นย้ำของสิ่งที่ขาดหายไป กลับเป็นแค่การกลบทับความสำคัญของสิ่งนั้น Fan จึงเป็นภาพเขียนที่ดูไร้พลัง เปราะบาง และปราศจากรัศมีในตัวของมันเอง พูดได้ว่าถ้า Fan ไม่ใช่ความพยายามที่จะหลีกหนีการใช้องค์ประกอบเดิมๆ ซ้ำๆ ก็คงจะเป็นการทดลองที่ค่อนข้างจะล้มเหลวของเขา เมื่อเปรียบเทียบกับ Boota งานในปีเดียวกันที่เป็นภาพของผู้ชายที่หัวมีแท่งอวัยวะยืดยาวออกมา
ต่อกันที่ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง ที่ตั้งชื่อไว้ได้น่าสนใจกว่าทุกชื่อก็คือ Slow Motion ซึ่งเป็นภาพครึ่งตัวของผู้ชายที่เขียนทับไปบนผ้าคอตตอนลายดอกไม้ ผู้ชายคนนั้นมีใบหน้าคมเข้ม ตาชั้นเดียว รูปร่างล่ำสัน คาดแว่นกันแดดรูปทรงทันสมัย มีรอยสักรูปม้ายูนิคอร์น และลวดลายตรงแผ่นอก ด้านหลังของชายคนนั้นเป็นภาพริ้วคลื่นสีเขียวสลับดำ
ที่น่าแปลกใจอย่างมากก็คือภาพนี้ไม่ได้มีสิ่งใดที่บ่งบอกถึงความเคลื่อนไหว หรือแม้แต่จะเป็นความเคลื่อนไหวช้าๆ เหมือนอย่างชื่อของภาพเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นหากจะคิดถึงสิ่งที่ขาดหายไปในภาพ อย่างแรกสุดก็คงจะเป็นเรื่องของ ‘ชื่อ’ ที่สื่อถึงภาพพจน์บางอย่าง และ ‘ภาพ’ ที่ไม่สอดพ้องสัมพันธ์กับชื่อเลย
พูดง่ายๆ ‘สิ่งที่ขาด’ ในงานของทวีศักดิ์ชิ้นนี้คือสิ่งที่อยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างตัวผลงานและชื่อเรียกอันเป็นรหัสหมายที่ศิลปินเป็นผู้กำหนดขึ้น แน่นอนผลงานชิ้นนี้ลดความท้ายทายในตัวเนื้อหาของใบหน้าและเรือนร่างลง ด้วยการเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการเมืองระหว่างศิลปินและผลงาน ซึ่งสุดท้ายแล้วงานชิ้นนี้ได้ทำให้ ‘ชื่อ’ ที่เหมือนจะไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อตัวผลงานสะท้อนให้เห็นถึง ‘อำนาจ’ ของศิลปินในการตั้งชื่อ
ผลงานต่อมา Tora และ Ira ที่ดูเหมือนทั้งสองชิ้นจะเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นภาพของผู้หญิงผมสั้นติดศีรษะที่สวมนวมสีเขียวอ่อนมีลายเสือ ซึ่งข้างขวาเขียนตัวอักษรฮิระคะนะคำว่า ‘โทระ’ และโรมันจิ ‘Tora’ เอาไว้ ในภาพ Tora นี้เองที่มีหลายสิ่งที่ล้นเกินเข้ามา ทั้งระบบการสื่อความหมายที่ซ้อนซ้ำ ภาพเสือ ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น และตัวอักษรภาษาอังกฤษ (ที่ทั้งสองอย่างหลังน่าจะเป็นชื่อภาพที่ถูกจัดวางตำแหน่งไว้เกือบใจกลางภาพ) ขณะที่เรือนร่างและใบหน้าในภาพนี้แลดูคล้ายนางแบบผิวสีบนหน้านิตยสารเข้าไปทุกที ความเป็นเพศหญิงและรูปทรงตามสมัยนิยมเด่นชัดขึ้น เหมือนตัวทวีศักดิ์เองได้ยอมจำนนกับภาพลักษณ์สาธารณ์ที่ค่อยๆ กลายสภาพคนตามนิยามแบบแฟรงเคนสไตน์ให้กลายเป็นหุ่นลองเสื้อในโลกสมัยใหม่เกือบจะสมบูรณ์แบบ
โดยเฉพาะ Ira ที่เป็นภาพของผู้หญิงผมแกละเกือบเต็มตัว ซึ่งแม้ว่ารูปร่างของเธอจะมีสภาพคล้ายคลึงกับเสื้อผ้าที่ตัดมาจากเนื้อหนังของมนุษย์ (มีรอยสักมังกรสองตัวบนแขนทั้งซ้ายขวาและเสือกลางหน้าอก) หากใบหน้าและดวงตาที่ชวนให้นึกถึงหีบห่อหรือลูกกวาดจากญี่ปุ่น ก็กลับทำให้เรารู้สึกว่าความแปลกประหลาดที่ปรากฏอยู่ในสูทหนังมนุษย์ เป็นเพียงแค่เครื่องแบบที่ทำให้เธอดูคล้ายจะประหลาดหรือวิตถารนิดๆ เท่านั้นเอง ทว่าเนื้อแท้ภายในเธอกลับเป็นแค่หุ่นนิ่งในโลกของการโฆษณาสินค้า
ซึ่งว่าไปแล้ว Kee Ky น่าจะเป็นงานที่มีความเกี่ยวเนื่องอีกชิ้นหนึ่งที่เพิ่มเอาไอคอน (icon) หรือ ‘รูปสักการะทางประวัติศาสตร์’ อย่างอับราฮัม ลินคอนมาวางเคียงกับอดอร์ฟ ฮิตเลอร์ ใต้ราวนมของหญิงสาวที่สักเสือสองตัวไว้บนอกและแขนขวา เช เกอวาราบนแขนซ้าย (โดยมีลายเส้นบางๆ ของปลาคาร์พจากญี่ปุ่นคั่นกลางฮิตเลอร์และลินคอน)
และจาก Kee Ky ใบหน้าของไอคอนเหล่านี้ ที่เพิ่ม โอมชินริเคียว, คานธี, คาสโตร, จอร์จ ดับเบิลยู บุชและคนอื่นๆ ก็ถูกผลิตซ้ำอีกครั้งในรูปของลายเส้นที่ดูคล้ายกับหลุดมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นในผลงานภาพเขียนสีอคริลิคบนผ้าใบชิ้นที่มีชื่อว่า X องค์ประกอบทั้งหมดของภาพภาพขาวดำชิ้นนี้ลงตัวมากขึ้น หากเสน่ห์ของความดิบและการทดลองแทบไม่หลงเหลืออยู่อีกแล้ว
พูดให้สั้น หากงานชุด Flesh ไม่ใช่งานที่อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านของตัวศิลปินแล้ว Flesh ก็คงจะเป็นงานเลี้ยงฉลองอำลาของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ ในโลกอันแปลกประหลาดที่ทวีศักดิ์เคยสร้างขึ้นมา