กลอยใจจระเข้ เรื่อง ธนาวิ โชติประดิษฐ ภาพ ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ
นิทรรศการชื่อ ‘ กลอยใจจระเข้ ‘ ของธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ ให้ภาพของผู้หญิงและมุมมองเกี่ยวกับผู้หญิงที่น่าสนใจไว้หลายประการ ความน่าทะนุถนอมและความน่ากลัวรวมอยู่ในชื่อเดียวกัน ‘ กลอยใจ ‘ เป็นคำที่ทุกวันนี้เราไม่ได้ยินบ่อยนัก
เป็นเหมือนคำจากนิยายโบราณ ติดจะเชยๆ ออกอารมณ์กวี แต่ก็เป็นคำเรียกผู้หญิงที่น่ารักและให้ความรู้สึกทางบวก หากคำว่า ‘ จระเข้ ‘ นั้นแตกต่างออกไป ‘ จระเข้ ‘ อุปมาเหมือนผู้ชายที่อันตรายต่อหญิงสาว ‘ ล่อตะเข้ ‘ จึงเป็นคำที่บ่งบอกถึงอันตรายจากสายตา (และสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น) ของผู้ชาย
สายตาของผู้ชายในนิทรรศการนี้ก็คือสายตาของศิลปินนั่นเอง ในภาพไม่ปรากฏจระเข้หรือผู้ชาย หากมีเพียงร่างของผู้หญิงขนาดใหญ่เต็มผืนผ้าใบ ราวกับว่าเรามองผ่านสายตาของผู้วาดไปสู่สิ่งที่เขาเห็น ร่างของผู้หญิงที่เด่นชัด ขนาดใหญ่เกือบเต็มกรอบ โดดเด่นออกมาจากพื้นหลังที่เป็นทิวทัศน์เรียบๆ ไม่ระบุเวลาและสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงนั้นปะทะกับสายตาของผู้ชม ไม่มีอะไรเลยที่โดดเด่นไปกว่าร่างกายที่หนาหนักเหล่านั้น เป็นผู้หญิงคนเดียวกันในทุกๆ ภาพ – กลอยใจของจระเข้ ( Crocodile’s Fianc? ในภาษาอังกฤษ)
ธเนศจัดวางร่างของผู้หญิงในภาพให้เป็นองค์ประกอบหลัก สัดส่วนและระยะทางในภาพไม่ได้เป็นไปตามหลักทัศนียวิทยาทั่วไปในงานจิตรกรรม ร่างกายขนาดใหญ่ของผู้หญิงถูกดันออกมาที่ด้านหน้า พื้นหลังสีอ่อนก็ช่วยขับเน้นให้ดูเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เราไม่สามารถระบุได้ว่าทิวทัศน์ที่เห็นอยู่นี้คือที่ไหน หรือเป็นอะไรกันแน่ มันดูเหมือนทะเลทรายที่ประกอบไปด้วยเนินสูงๆ ต่ำๆ ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนกองหมอน ที่นอนที่อ่อนนุ่ม อันแนะไปถึงประเด็นเชิงอีโรติก พื้นที่สีน้ำตาลอ่อนเหล่านี้ก็ถูกดันมาข้างหน้าเช่นกัน เรามองเห็นท้องฟ้าในบางภาพก็แต่เพียงเล็กน้อย เป็นพื้นที่แคบๆ อยู่ด้านบน องค์ประกอบส่วนใหญ่ของภาพจึงอยู่ด้านหน้าใน และไม่แนะถึงพื้นที่ด้านหลังที่ไกลออกไป
รูปทรงที่เป็นเหมือนเนินสีน้ำตาลนั้นชวนให้คิดไปถึงหน้าอกและหน้าท้องของหญิงสาวด้วยเช่นกัน ประเด็นเชิงอีโรติกชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยภาพของ ‘ ไห ‘ และ ‘ รู ‘ ( สะดือ ?) ในขนบของจิตรกรรมตะวันตก ‘ ไห ‘ หรือ ‘ เหยือก ‘ สื่อถึง ‘ พรหมจรรย์ ‘ ( ในบริบทดังกล่าว ภาพที่สื่อถึงการเสียพรหมจรรย์ของหญิงสาวมักปรากกฎภาพเหยือกแตก หมายถึงสิ่งที่สูญเสียไปแล้วไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ ไม่สามารถทำให้เหมือนเดิม เหยือกแตก จึงสื่อความเช่นเดียวกับภาพของไข่แตก กระจกแตก) ส่วน ‘ สะดือ ‘ ก็สื่อถึงเรื่องกามารมณ์เช่นกัน omphalos – seat of passion…
จึงไม่ใช่เพียงร่างเปลือยและกึ่งเปลือยของหญิงสาวเท่านั้นที่สื่อถึงกามารมณ์ในผลงานของธเนศ แต่ทิวทัศน์หรือฉากในภาพก็แฝงไว้ซึ่งประเด็นดังกล่าวเช่นกัน สีน้ำตาลอ่อนๆ ที่ราวกับผิวเนื้อของมนุษย์นั้นทำให้จิตรกรรมของเขาเป็นเสมือนภาพที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนอันน่าหลงใหลของร่างกายผู้หญิง เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานเก่าๆ ที่สร้างในปี 2543 และ 2544 แล้ว จะเห็นได้ว่าศิลปินลดทอนรายละเอียดลงไปมาก ทิวทัศน์แบบเดียวกันในผลงานปี 2548 ไม่ได้เต็มไปด้วยพื้นผิวที่เกิดจากฝีแปรงขรุขระ ปื้นสีที่หนาเป็นชั้นอีกต่อไป แต่เป็นฝีแปรงที่เกลี่ยเรียบ อารมณ์ที่น่าตื่นเต้นของภาพเปลี่ยนเป็นความนิ่งที่เกิดจากการผสมกลมกลืนของโทนสีอุ่นๆ หากยังคงหัวข้อเดิมคือ หญิงสาว
ความเป็นเพศหญิงในผลงานของธเนศที่เกิดจากภาพของผู้หญิงและรูปทรงที่แนะไปถึงอวัยวะบางส่วนของผู้หญิงในผลงานชุดนี้ จึงไม่ใช่ความเป็นเพศหญิงที่นำเสนอโดยผู้หญิงเอง หากคือความเป็นเพศหญิงในสายตาของผู้ชาย (หรือจระเข้ ที่ศิลปินเอ่ยถึงตนเอง) เป็นมุมมองเชิงบวกที่มีต่อผู้หญิง ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่น่าหลงใหล น่าทะนุถนอม และเป็นเสมือนที่พึ่งพิงอันเป็นที่รัก / กลอยใจ ดังที่ศิลปินเขียนไว้ว่า “ กลอยใจจระเข้ เป็นโลกทัศน์ที่อ้างอิงถึงโลก ผู้หญิงและความเป็นเพศหญิงในสิ่งต่างๆ ที่ขยับจากโลกอันแวดล้อมไปด้วยซากวัตถุ เข้าสู่โลกแห่งความสมดุลที่สะอาด สงบ โปร่งเบา เปี่ยมสันติ ”
นิทรรศการ กลอยใจจระเข้ โดย ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ จัดแสดงที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ ระหว่างวันที่ 19 มกราคม – 26 กุมภาพันธ์ 2549