ความสงสัยในห้วงเวลาที่หยุดนิ่ง The Suspiciously Suspended Moment
The Suspended Moment หรือ ‘ ในห้วงเวลาที่หยุดนิ่ง ‘ เป็นนิทรรศการศิลปะของศิลปินหลากหลายซึ่งผ่านการคัดเลือกจากสายัณห์ แดงกลม และฮิลเด เทียร์ลิงค์ ซึ่งมีกรอบความคิดร่วมกันในการนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเรียกว่า “เวลา”
The Suspended Moment จึงไม่เพียงแต่เป็นนิทรรศการที่น่าสนใจ หากมันชวนให้เราสงสัยด้วยว่าศิลปินแต่ละคนมีความคิดเกี่ยวกับ ‘ เวลา ‘ อย่างไรบ้าง และหนึ่งในผลงานที่เหมือนจะมีเรื่องราวให้ได้พูดถึงมากที่สุดก็คงจะเป็นงานชุดซาฟารีของมานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพศิลปินที่หลายคนรู้จักและจดจำเขาได้จากงานภาพถ่ายชุดพิงค์แมน ซึ่งกลายเป็นเครื่องหมายการค้าในผลงานของมานิตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผลงานชุดซาฟารีเป็นงานที่มานิตได้ถ่ายไว้ในช่วงที่เขาเดินทางไปที่ไนโรบี ประเทศเคนย่า (ประเทศหนึ่งซึ่งกลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองในช่วงหลายเดือนก่อนตอนที่รักษาการผู้นำของเราได้บินไปเจรจาธุระกิจที่นั่น) ภูมิหลังที่ใครก็คงพอจะทราบอยู่บ้างก็คือเคนย่าเป็นประเทศในทวีปอัฟริกาที่ส่งออกสัตว์ป่าเป็นสินค้ามากที่สุดเป็นอันดับแรกๆ
ซึ่งแทนที่มานิตจะถ่ายภาพของสัตว์เป็นๆ แต่เขากลับเลือกสัตว์สตั๊ฟฟ์ (หรือในอีกความหมายก็คือสัตว์ที่ตายแล้ว) ในพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติมานำเสนอเป็นผลงานชุดซาฟารี
ให้บังเอิญว่ามันเป็นการล้อเลียนเสียดสีที่ให้ผลที่มากกว่าการล้อเลียนเสียดสีธรรมดาๆ ตรงที่ศิลปินได้ผลิตซ้ำภาพของความพยายามในการทำให้สัตว์ที่ตายแล้วดำรงอยู่เหนือกาลเวลา ภายใต้สภาพแวดล้อมจำลองจากโลกของความเป็นจริง ที่ยังคงเปลี่ยนแปลงและผุพังลงช้าๆ อย่างไม่สิ้นสุด
มโนทัศน์ของมานิตอันนี้ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง La Jet?e1 ของคริส มาร์แกร์ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสที่ได้นำเอาภาพนิ่ง ( snapshots) หลายๆ ภาพ มาร้อยเรียงต่อกันจนกลายเป็นเรื่องราว
ความน่าสนใจคงไม่ได้อยู่ที่เทคนิควิธีที่ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ ทว่าเป็นสิ่งที่มาร์แกร์ได้นำเสนอแก่ผู้ชมให้เห็นถึงโลกที่การรับรู้เกี่ยวกับกาลเวลาสาปสูญไปอย่างสิ้นเชิง (หลังสงครามโลกครั้งที่ 3 มนุษย์ต้องอาศัยอยู่ในโพรงใต้ดิน) ความทรงจำและวันเวลาที่แน่นอน กลายเป็นสิ่งที่ลึกลับหรือเป็นความจริงที่มนุษย์ไม่มีวันเข้าถึง
ฉากหนึ่งที่มีความสำคัญของ La Jet?e ก็คือฉากที่ตัวเอกทั้งสองได้มาพบกันที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง (พระเอกได้ย้อนเวลากลับไปยังอดีต เพื่อหาวิธียับยั้งไม่ให้เกิดสงคราม) ซึ่งภาพที่เราเห็นก็คือทั้งสองคนยืนอยู่ในท่ามกลางสัตว์สตั๊ฟฟ์
บทบรรยายของตอนนี้มีอยู่ว่า “ ราววันที่ 15 ทั้งคู่ได้พบกันที่พิพิธภัณฑ์ซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ในสภาพที่ไร้กาลเวลา ขณะนี้เป้าหมายที่แน่นอนได้สำทับด้วยชั่วขณะที่ถูกต้องแม่นยำ เขาเลือกที่จะอยู่ตรงนั้นและไม่พยายามจะเขยื้อนไปไหน 2”
ภาพของสัตว์สตัฟฟ์และตัวเอกที่หยุดนิ่ง (ภายใต้กระบวนการถ่ายทำด้วยภาพนิ่งของ La Jet?e) จึงทำให้รู้สึกคล้ายกับว่า ‘ สภาพไร้เวลา ‘ แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ความพยายามที่จะหยุดทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ตำแหน่งแห่งที่ หรือดำรงอยู่ในสถานะภาพเดิม กระทั่งพยายามที่จะสร้างโลกปลอมๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นมารองรับ
พิพิธภัณฑ์ใน La Jet?e และภาพถ่ายชุดซาฟารีของมานิตนำเสนอในเรื่องเดียวกันก็คือ การผลิตซ้ำ ‘ สภาพไร้เวลา ‘ ที่มนุษย์ปลูกถ่ายเอาไว้ในสัตว์สตั๊ฟฟ์และธรรมชาติจำลอง ซึ่งสิ่งที่เราประจักษ์ได้จากภาพกลับเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความตั้งใจแรก เพราะมันได้เปิดเผยให้เราเห็นรอยปริรั่วของกาลเวลาที่ซึมแทรกออกมา เป็นความไม่แนบเนียน ไม่สมจริง ไม่ว่าเราจะพยายามมากเพียงใดก็เป็นเพียงความพยายามที่ล้มเหลว
ซึ่งก็คงมาจากที่การดำรงอยู่ของสิ่งที่ไร้เวลาในอีกแง่หนึ่งก็คือการดำรงอยู่อย่างผิดที่ผิดเวลา สำหรับสิ่งที่ดำรงอยู่ในตามเงื่อนไขหรือกระแสของกาลเวลาและแม้แต่ประวัติศาสตร์
ต่อประเด็นดังกล่าวนี้จึงย้อนกลับไปสู่คำถามที่ว่า แล้วศิลปะมีเวลาของมันเองหรือไม่ ? หรือการมีอยู่ของเวลาของศิลปะสัมพันธ์ หรือสอดพ้องกับเวลาของศิลปินและผู้รับชมหรือไม่อย่างไร ?
แน่นอนที่สุด แม้ว่าภาพจิตรกรรมหรือภาพถ่ายเองก็ตามจะเป็นเรื่องของ ‘ พื้นที่ ‘ ที่มีเวลาเป็นเครื่องหมักบ่ม แต่หากเราพิจารณาปัญหาเรื่องของ ‘ เวลา ‘ อย่างลึกซึ้งผ่านรอยปริรั่วของเวลาที่ปรากฏอยู่ในผลงานซาฟารีเราก็จะเห็นว่า ‘ เวลาของผลงาน ‘ ไม่ได้ดำรงอยู่นอกระนาบหรือคนละมิติกับ ‘ เวลาของผู้สร้าง ‘ ซ้ำยังเป็นที่แน่ชัดว่าความพยายามในการจะแยกแยะเวลาออกเป็นสมบัติของใครเป็นการเฉพาะเป็นเพียงความผิดพลาดล้มเหลว เหมือนเช่นที่ความพยายามจะดำรงอยู่เหนือการเวลา ก็เป็นส่วนหนึ่งของความสับสนในการรับรู้เกี่ยวกับเวลา
โชคดีที่งานชิ้นนี้มานิตไม่ได้มีความพยายามในการจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ เวลา ‘ โดยตรง (เพราะมิเช่นนั้นเขาก็อาจจะเป็นหนึ่งในศิลปินอีกคนที่เปลี่ยนความหมายของเวลาให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) หากความพยายามของเขาคือการเดินอ้อมๆ ไปตามรอยทางที่เวลาได้ทิ้งไว้ ซึ่งก็เป็นเหมือนละอองฝุ่นบางๆ ที่ทิ้งไว้บนสัตว์สตัฟฟ์ในพิพิธภัณฑ์ ที่อาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
1 หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ The Jetty ซึ่งแปลความแล้วหมายถึง ‘ ช่องทางขึ้นเครื่องบิน ‘ ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นต้นเค้าให้กับภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์เรื่อง 12 Monkeys ของผู้กำกับชาวอังกฤษเทอรี กิลเลียม
2 Around the fiftieth day, they meet in a museum filled with timeless animals. Now the aim is perfectly adjusted. Thrown at the right moment, he may stay there and move without effort.