เคล็ดไม่ลับในการเขียนวรรณกรรมเยาวชน

หากขณะนี้ คุณคิดที่จะเขียนหนังสือสักเล่ม โดยวางแนวคิดไว้คร่าว ๆ ว่าจะเป็นวรรณกรรมเยาวชน ยังคงมีบางสิ่งที่คุณควรนำมาพิจารณาประกอบด้วย ได้แก่ อายุกลุ่มเป้าหมาย เพราะแม้กลุ่มผู้อ่านเด็กอายุ 8-12 ปี และกลุ่มผู้อ่านอายุ 14 -21 ปี ก็มีข้อแตกต่างกัน ซึ่งผู้เขียนต้องใคร่ครวญให้ดีก่อนจะลงมือเขียน

ส่วนเรื่องของตลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งในการวางแผนการเขียนด้วยเช่นกัน หากนักเขียนต้องการให้เรื่องของตนขายได้ก็ควรเขียนแนวที่ตลาดกำลังต้องการ นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดในส่วนของต้นฉบับที่นักเขียนควรคำนึงถึงคือตัวละครส่วนใหญ่อายุเท่าไร โดยปกตินักอ่านอายุน้อย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือวัยรุ่น ชอบอ่านเรื่องของตัวละครที่อายุเท่า ๆ กับพวกเขา หรืออายุมากกว่า แต่จะไม่ชอบตัวละครที่อายุน้อยกว่าดังนั้นหากวรรณกรรมมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กอายุ 8-12 ปี พวกเขาจะสุขใจ หากได้อ่านเรื่องของตัวละครที่อายุมากกว่า และกลุ่มผู้อ่านวัยรุ่นจะไม่ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับเด็กวัยน้อยกว่าเขา โดยเฉพาะหากเป็นตัวละครเอกของเรื่องด้วย พวกเขายอมรับตัวละครผู้ใหญ่ได้ (หากไม่ใช่ตัวละครเอก) และมีความสุขที่จะมีตัวละครที่อายุน้อยกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องทั้งหมด เช่น เป็นตัวละครผู้ช่วย หรือเป็นตัวเสริมให้ตัวละครหลักเด่นขึ้น เช่นเดียวกันผู้อ่านวัย 14 -21 ปี จะไม่ว่าอะไรหากมีตัวละครที่อายุมากกว่า และจะไม่สนใจตัวละครที่อายุน้อยกว่าพวกเขามากๆ เรื่องภาษาและสไตล์ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แตกต่างกันของผู้อ่านสองกลุ่มนี้ มีข้อแตกต่างอยู่เพียงนิดหน่อย กล่าวโดยรวมก็คือต้องเหมาะสมกับอายุ แต่ในเมื่องานเขียนเป็นเรื่องของศิลปะที่แน่นอนว่าย่อมไม่มีกฎที่ตายตัวเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์  ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด แม้จะเป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่ก็มีความยาวมาก มีการเขียนบทบรรยายที่ยืดยาว รวมถึงมีการนำเสนอประเด็นเรื่องของผู้ใหญ่แทรกเข้าไปด้วย เช่น เรื่องของการประชุม
ซึ่งใครจะไปคิดว่านักอ่านจะสนใจ แต่ทั้งนี้ต้องยกให้เพราะเป็นวรรณกรรมแนวแฟนตาซี ที่สามารถแหวกกฎได้ทุกอย่าง และดูเหมือนกับมีสิทธิพิเศษผู้อ่านไม่ว่าจะอายุรุ่นใดดูจะมีความอดทนมากขึ้นและยินดีเข้าไปมีส่วนร่วมกับความสลับซับซ้อนในด้านโครงเรื่อง แนวคิด และภาษามากกว่าวรรณกรรมแนวอื่น ๆ

ลองอ่านเรื่องของคุณ พิจารณาสิว่ามันไหลลื่นไหม บทสนทนาเป็นธรรมชาติ  และน่าเชื่อถือไหม พยายามเขียนร่างแรกให้สมบูรณ์  ยิ่งมีเนื้อมาก ๆ ยิ่งดี เพราะในขั้นตอนนี้การเกินไว้ย่อมดีกว่าไม่เพียงพอ  เพราะกระบวนการของการตรวจแก้ไข การตัดง่ายกว่าการเพิ่ม พักต้นฉบับทิ้งไว้ระหว่างการตรวจแก้ครั้งที่ 1 และ 2 เพื่อให้ตัวเองได้ผ่อนคลายอารมณ์ และแยกตัวออกจากชิ้นงานบ้าง มิฉะนั้นคุณอาจมองไม่เห็นข้อบกพร่องและสิ่งที่จำเป็นต้องเพิ่มเข้าไปตลอดจนถึงการขัดเกลาให้เป็นงานเขียนชิ้นเยี่ยม ในการตรวจแก้ไขครั้งที่ 2 พิจารณาโครงเรื่องย่อย ตัวละครรองอย่างรอบคอบ เช่น ตัวละครบางตัวจำเป็นต้องอยู่ในเรื่องไหม หรือเข้ามาอย่างไม่ได้เชื้อเชิญ ความซับซ้อนมากเกินไปอาจทำให้เรื่องดูล้นเกิน เป็นต้น หากมีเพื่อนสนิทที่เป็นนักอ่าน หรือใครสักคนที่คุณยอมรับข้อคิดเห็นของเขาในด้านวรรณกรรม ลองส่งต้นฉบับร่างสองหรือจะเป็นร่างแรกก็ได้ที่คุณคิดว่าเรื่องสอดคล้องกันดีแล้วให้พวกเขาอ่านทีละตอน อย่าส่งครั้งเดียวทั้งเรื่องเด็ดขาด เพราะจะทำให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นได้ยากขึ้นยึดหลักสายกลางอย่าตรวจแก้ไข หรือเขียนใหม่มากเกินไป เพราะจะทำให้เรื่องขาดความสด และความมีชีวิตชีวา ทั้งหมดนี้แหละคือเคล็ดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากเขียนงานวรรณกรรมเยาวชน….แต่สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ลงมือเขียน…แล้วก็เขียน-เขียน-เขียน

——————————————————————————–

ขอบคุณที่มาจาก www.bangkokbiznews.com คอลัมน์ Life
Style:Read & Write
วันที่ 14 มกราคม 2554 เขียนโดย บงกช
(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/read-write/20110114/371317/news.html)

 

You may also like...