เปิดตำนานไม้ขีดไฟไทย

ไม้ขีดไฟถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1827 โดยนักเคมีชาวอังกฤษชื่อ ‘จอห์น วอล์คเกอร์’ ไม้ขีดก้านแรกของโลกทำขึ้นจากเศษไม้จุ่มปลายด้วยส่วนผสมของ แอนติโมนีซัลไฟด์ โปตัสเซียมคลอเรต และกาวจากยางไม้ เมื่อเอาไม้ขีด ขีดกับอะไรก็ได้ ที่เนื้อหยาบๆ เช่น กระดาษทราย ก็จะเกิดประกายไฟ แต่ไม้ขีดชนิดนี้ยังมีปัญหาที่ ‘ขีดแล้วติดบ้างไม่ติดบ้าง’

ต่อมาใน ค.ศ. 1930 ชาร์ลส์ โซเรีย ชาวฝรั่งเศสได้ผลิตไม้ขีดไฟที่ปลายหุ้มด้วยฟอสฟอรัสเหลือง ซึ่งมีคุณสมบัติจุดติดไฟได้ดีขึ้น แต่ต่อมาพบว่า ฟอสฟอรัสเหลืองที่ใช้เป็นวัตถุมีพิษ ทำให้คนงานโรงงานไม้ขีดไฟป่วยเป็นโรคที่เรียกว่า Phossy Jaw ซึ่งร้ายแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตทีเดียว

ใน ค.ศ. 1940 มีการค้นพบฟอสฟอรัสแดง ทำให้เทคโนโลยีการผลิตไม้ขีดไฟเปลี่ยนไป และมีความปลอดภัยขึ้น โดยไม้ขีดไฟแบบใหม่นี้ จะจุดได้ก็ต่อเมื่อขีดลงบนพื้นที่ที่เตรียมไว้เท่านั้น หัวไม้ขีดจะถูกหุ้มด้วย โปตัสเซียมคลอเรต ขณะที่พื้นที่ที่ขีด ที่โดยปกติจะเป็นข้างกล่องไม้ขีด จะถูกฉาบด้วยฟอสฟอรัสแดง เมื่อโปตัสเซียมคลอเรตกระทบกับฟอสฟอรัสแดง จะเกิดปฏิกิริยาให้ความร้อนมากพอ ที่จะจุดไฟติดได้ ส่วนวัสดุอื่นก็ใช้ทำก้านไม้ขีดไฟได้ด้วย เช่น ด้ายเคลือบขี้ผึ้ง และกระดาษแข็งเคลือบขี้ผึ้ง แต่ไม้เป็นวัสดุที่ใช้ทำก้านไม้ขีด ได้ดีที่สุด ไม้สำหรับทำก้านไม้ขีดควรจะเป็นไม้สีขาว ไม่มีกลิ่น เนือไม้ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไปนิยมใช้ไม้มะยมป่า ไม้มะกอก ไม้อ้อยช้าง ไม้ปออกแตก เป็นต้น ก่อนจุ่มทำหัวไม้ขีดจะต้องเอาปลายก้านไม้ขีดที่จะติดหัวนั้นไปจุ่มขี้ผึ้งพาราฟินก่อน หากเนื้อไม้แข็งเกินไปก็จะไม่ดูดซึม พาราฟิน พาราฟิน นี้จะเป็นตัวส่งผ่านจากหัวไม้ขีดไปสู่ก้านไม้ขีดหากไม่มีพาราฟินพอขีดไฟติดปุ๊บไฟก็จะดับปั๊บ และหากเนื้อของไม้อ่อนไปก้านไม้ขีดก็จะไม่คงรูปเป็นก้านตรงได้

ไม้ขีดไฟยุคแรกๆ ที่เข้ามาขายในเมืองไทยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นของสวีเดนและญี่ปุ่น แต่ของญี่ปุ่นนั้นมีตราต่างๆ จำนวนมากหลายพันแบบ ภาพวาดบนฉลากไม้ขีดไฟนี้เป็นรูปต่างๆ สารพัดมีทั้งรูปสัตว์ รูปคน รูปผลไม้ รูปดอกไม้ ซึ่งการสะสมหน้าไม้ขีดไฟ (ฉลากไม้ขีดไฟนักสะสมมักจะเรียกว่า หน้าไม้ขีดไฟ) นักสะสมจะเก็บรวบรวมหน้าไม้ขีดไฟ โดยนิยมเก็บไว้ในสมุดบัญชีเล่มใหญ่ๆ ใช้วิธีปิดกาว หรือเจาะกระดาษสำหรับสอดมุมหน้าไม้ขีดเข้าไปได้ โดยพวกบาทหลวงที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาเป็นผู้นำเข้ามาใช้ก่อน ภายหลังจึงเริ่มมีเข้ามาขาย

 

ช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 คนไทยสามารถผลิตไม้ขีดไฟเองได้ ทำให้การนำเข้าไม้ขีดไฟจากต่างประเทศค่อยๆ ลดลงจนหมดไปในที่สุด โรงงานไม้ขีดไฟของเมืองไทยในยุคต้นๆ ได้แก่ บริษัทมิ่นแซจำกัด ผลิตตรานกแก้ว ตรารถกูบ บริษัทตังอาจำกัด ผลิตตรามิกกี้เม้าท์ ตราแมวเฟลิกซ์ บริษัทไทยไฟ ผลิตตรา 24 มิถุนา เป็นรูปพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นที่ระลึกในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย บริษัทเอเซียไม้ขีดไฟจำกัด ผลิตชุด ก.ไก่ ข.ไข่ บริษัทสยามแมตซ์แฟ็กตอรี่ ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นบริษัทไม้ขีดไฟไทย ผลิตตรา ธงไตรรงค์ ตราพระยานาค ซึ่งมีขายมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้…

——————————————————————————–

ที่มา : www.m-culture.go.th

You may also like...