ดิน น้ำ ลม ไฟ มหันตภัยทางธรรมชาติ และภัยพิบัติของของมนุษย์

นอกเหนือไปจากภัยธรรมชาติที่ได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปเป็นจำนวนมากตามที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันแล้ว โรคภัยไข้เจ็บก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนที่เราต้องล้มหายตายจากไปปีละไม่น้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่าภัยที่เกิดขึ้นไม่ว่ากับคนหรือโลกเรา ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจาก ดิน น้ำ ลม และไฟ เป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น พูดง่ายๆว่าโลกป่วยหรือคนป่วย ก็เป็นผลมาจากดิน น้ำ ลม ไฟนี่แหละ

ทำไมถึงพูดเช่นนี้ ก็เพราะว่า ในร่างกายคนเรานั้น เขาบอกว่าประกอบด้วยธาตุ 4 อย่าง คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งธาตุแต่ละตัวจะต้องมีความสมดุลซึ่งกันและกัน สุขภาพจึงจะแข็งแรง หากมีธาตุใดธาตุหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป หรือเกิดธาตุแปรปรวนที่เรียกกันว่าธาตุพิการ ก็จะก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ตั้งแต่ระดับธรรมดาไปจนถึงขั้นล้มหมอนนอนฟูก และท้ายสุดก็นอนในโลง ส่วนโลกของเราก็มีดิน น้ำ ลมไฟเป็นส่วนประกอบในธรรมชาติ ซึ่งก็ต้องมีความสมดุลเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นแล้ว ก็จะก่อให้เกิดภัยพิบัติต่างๆอย่างที่เห็นๆกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแค่ฝนตกฟ้าร้องธรรมดาๆไปจนถึงแผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์ หรือคลื่นยักษ์สึนามึที่ถล่มประเทศญี่ปุ่น

สำหรับธาตุต่างๆในร่างกายคนเรา ทางการแพทย์แผนไทย เขาก็มีจำแนกไว้ว่า ธาตุดินที่เรียกว่า “ปถวีธาตุ” จะหมายถึงอวัยวะส่วนที่เป็นโครงสร้างและมีคุณสมบัติไปในทางแข็ง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน เนื้อ หนัง กระดูก รวมถึงส่วนที่เป็นหัวใจและตับไตไส้พุง ส่วนธาตุน้ำ หรือ “อาโปธาตุ” ได้แก่ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำดี เสลด เหงื่อ น้ำตา และน้ำลาย เป็นต้น ด้านธาตุลม หรือ“วาโยธาตุ” ก็คือพลังขับดันภายในที่มีการเคลื่อนไหวหมุนเวียนในร่างกาย เช่น ลมที่พัดอยู่ในลำไส้ กระเพาะ และลมหายใจเข้าออก เป็นต้น และธาตุไฟ หรือ “เตโชธาตุ” ก็คือพลังงานที่ทำให้เกิดความอบอุ่น และการเผาไหม้ในร่างกาย เช่นไฟสำหรับย่อยอาหาร เป็นต้น

ดังนั้น หากธาตุในร่างกายผิดปกติขึ้นเมื่อใด คนเราก็จะเกิดอาการต่างๆปรากฏให้เห็น เช่น ถ้าธาตุไฟมากไป ก็อาจก่อให้เกิดอาการหงุดหงิด โมโหง่าย หรือเป็นไข้ตัวร้อน ถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับธาตุลมก็อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด อยากจะเป็นลม หรือเกิดอาการปวดศีรษะ หรือถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับธาตุน้ำไม่ปกติ ก็จะมีอาการอย่างเช่นเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล คอแห้ง ยิ่งถ้าส่วนที่เป็นธาตุดินเกิดปัญหา อาการก็จะค่อนข้างหนักหรือสาหัสสักหน่อย เช่น เป็นโรคกระดูกผุ กระดูกพรุน หรือโรคหัวใจ ผลก็คือ อาจจะทำให้พิการหรือตายได้ง่ายๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าธาตุทั้ง 4 อันเป็นส่วนประกอบของคนเราล้วนเป็นบ่อเกิดแห่งภัยของตัวเราทั้งสิ้น พระพุทธองค์จึงสอนมนุษย์ให้รู้จักปลงอนิจจัง ว่าสังขารทั้งหลายล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน

หันมาดูด้านธรรมชาติที่เป็นส่วนประกอบของโลกบ้าง เราจะเห็นว่า แม้โลกจะมีส่วนประกอบกลับกันกับร่างกายของคนเรา คือ มีส่วนที่เป็นของเหลว ได้แก่ น้ำ มากกว่าส่วนที่เป็นของแข็ง เช่นดิน หรือหิน อย่างที่เราเคยเรียนภูมิศาสตร์มาแล้ว ว่าโลกมีน้ำถึง 3 ใน 4 ส่วน แต่หากส่วนหนึ่งส่วนใดของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเสียสมดุลเมื่อไร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ภัยธรรมชาติอันหลากหลายรูปแบบก็จะบังเกิดขึ้น และก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งถ้ามีผลรุนแรงมาก เราก็มักจะเรียกมันว่า “มหันตภัย” สำหรับภัยธรรมชาติที่เกิดจากดิน น้ำ ลม ไฟบนโลกของเราใบนี้ มีอะไรบ้าง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจะขอยกตัวอย่างให้ทราบ ดังนี้

ภัยที่เกิดจากดิน ได้แก่ โคลนถล่ม ถือเป็นภัยธรรมชาติที่มักเกิดขึ้นตามเชิงเขา หลังฝนตกหนัก ทำให้น้ำซึมลงใต้ดินอย่างรวดเร็ว และเมื่อต้องอุ้มน้ำจนอิ่มตัว ก็มีผลให้แรงเกาะยึดระหว่างมวลดินน้อยลง จนที่สุดก็เกิดการไหลเลื่อนของดินมาตามไหล่เขากลายเป็นดินถล่ม นอกจากนี้แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโคลมถล่มได้ก็คือ การตัดไม้ทำลายป่า จนทำให้ไม่มีรากไม้ไปยึดดิน เมื่อเกิดการเขยื้อนเคลื่อนไหวดินบริเวณนั้น มันเลยถล่มลงมา ข้อสังเกตหรือสิ่งบอกเหตุว่าอาจจะเกิดโคลนถล่มลงมา ก็คือ หากที่ใดมีฝนตกหนักมาก แล้วน้ำในลำห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือน้ำมีการเปลี่ยนเป็นสีของดินภูเขา หรือมีเสียงอื้ออึงผิดปกติมาจากภูเขาหรือลำห้วย ควรจะหนีออกจากพื้นที่นั้นทันที ซึ่งในบ้านเราก็มีเหตุการณ์โคลนถล่มมาแล้ว เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมเฉียบพลัน ทำให้ดินโคลนถล่มในพื้นที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งคาดว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 100 รายและเมื่อปีพ.ศ. 2544 ก็เกิดน้ำป่าโคลนถล่มที่อำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ทำให้บ้านเรือนเสียหายกว่า 500 ครัวเรือน คนตายกว่า 100 คน

นอกจากโคลนถล่มแล้ว ยังมีกรณีภูเขาไฟระเบิด หรือหิมะถล่ม ซึ่งบ้านเราไม่มี แต่ที่เรารู้จักกันดี น่าจะเป็น แผ่นดินไหว ที่เรียกกันว่า “ธรณีพิบัติภัย” หรือจะบอกว่าธรณีพิโรธก็ว่าได้ ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน ที่ตำราเขาบอกว่าเกิดจากการปลดปล่อยพลังงาน เพื่อระบายความเครียดที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลัน เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ โดยปกติจะเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนภายในชั้นของเปลือกโลกที่อยู่ด้านนอกสุดของโครงสร้าง ซึ่งตามธรรมดาก็จะมีการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆอยู่แล้ว แต่เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเกินไปก็จะเกิดแผ่นดินไหว หรือจะพูดง่ายๆว่าแผ่นดินไหว เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกนั่นเอง

การวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหว จะมี 2 มาตราคือมาตราริตเตอร์ที่ได้ยินบ่อยๆ อันเป็นการวัดขนาดและความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้กับศูนย์กลางเช่นถ้ามีขนาด 1-2.9 เล็กน้อย คนจะรู้สึกถึงการมาของคลื่น มีอาการวิงเวียนบ้างในบางคน แต่ถ้าเป็นขนาด 6-6.9 จะรุนแรงมาก อาคารเสียหายหรือพังทลายลงมาได้ ส่วนมาตราเมอร์แคลลี่จะเป็นการวัดโดยจัดอันดับและลักษณะความรุนแรงโดยการเปรียบเทียบเช่น อันดับ 1 ถือว่าอ่อนมาก คนจะไม่รู้สึกต้องวัดโดยเครื่องมือเฉพาะเท่านั้นถ้าอันดับ 5 คนส่วนใหญ่จะรู้สึก ของเบาในบ้านจะเริ่มแกว่งไกว ถ้าอันดับ 10 อาคารจะพัง และรางรถไฟถึงหักงอเสียหายได้ เป็นต้น

วิธีปฏิบัติเวลาเกิดแผ่นดินไหว ข้อแรก เขาบอกว่าต้องตั้งสติให้มั่น พยายามหลบในที่แข็งแรงปลอดภัยเช่น ใต้โต๊ะ เตียงเพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งปรักหักพังร่วงลงมา(แต่ควรดูด้วยว่าโต๊ะหรือเตียงนั้นแข็งแรงพอที่จะไม่หักมาทับเราอีกที)นอกจากนี้ อย่าอยู่ใต้คานหรือที่ที่มีน้ำหนักมาก อย่าทำสิ่งใดให้เกิดประกายไฟ หากอยู่ในรถ ให้รีบหยุดรถแล้วรอจนกว่าแผ่นดินจะหยุดไหว ไม่ควรใช้ลิฟต์ เพราะอาจติดอยู่ภายใน ทางที่ดีควรรีบออกจากอาคาร โดยเฉพาะอาคารที่ชำรุด และควรสวมรองเท้าเพื่อป้องกันเศษแก้ว เศษกระเบื้อง และถ้าเป็นไปได้ให้เปิดรับฟังข่าวสารและคำแนะนำจากทางการว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป ซึ่งแม้บ้านเราจะยังไม่เจอธรณีพิภัยร้ายแรงอย่างที่อื่น แต่ก็ควรรู้แนวทางปฎิบัติไว้บ้าง และประเทศญี่ปุ่นน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในขณะนี้

สำหรับภัยอันมีสาเหตุจากน้ำหรือที่เราเรียกว่า “อุทกภัย” นั้น ก็มีหลายอย่าง ได้แก่ น้ำท่วม น้ำป่า และคลื่นสึนามิ เป็นต้น ซึ่งการเกิดน้ำท่วม โดยทั่วไป ก็มักจะเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน แล้วบางทีก็มีน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำไม่มีทางไป จึงล้นท่วมบ้านเรือนเสียหาย ส่วนน้ำป่าก็เกิดจากฝนตกหนักเช่นเดียวกัน แต่มักเกิดบนภูเขา หรือต้นน้ำลำธารในป่า แล้วไหลบ่าลงที่ราบอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีต้นไม้ช่วยดูดซับ หรือชะลอกระแสน้ำ ส่วนคลื่นสึนามิเมืองไทยเพิ่งจะรู้จักและเจอของจริงเมื่อปีพ.ศ. 2547 นี้เอง คำว่าสึนามิ เป็นภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า “คลื่นที่ท่าเรือหรือคลื่นชายฝั่ง” เป็นคลื่นที่มีจุดกำเนิดอยู่ในเขตทะเลลึก ซึ่งมักปรากฏหลังแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หรือเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล หรือภูเขาไฟระเบิด โดยคลื่นสึนามินี้จะสามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกล และเข้าทำลายชายฝั่งที่ห่างออกไปจากจุดกำเนิดได้นับพันกิโลเมตร ดังล่าสุดที่เราได้เห็นจากประเทศญี่ปุ่น

ส่วนภัยที่เกิดจากลม หรือที่เรียกกันว่า “วาตภัย” ก็มีหลายระดับ โดยระดับธรรมดาที่ไม่ค่อยก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ก็มีพายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน ที่ทำให้ฝนตกโดยทั่วไป แต่ถ้าเป็นพายุไต้ฝุ่น ที่มีความเร็วของลมตั้งแต่ 65 น็อตหรือ 118 กิโลเมตรต่อชม. ก็เริ่มจะมีพิษสงเพิ่มขึ้น ชนิดถอนรากถอนโคนต้นไม้ได้ และหากเป็นทอร์นาโด (Tornado) อันเป็นพายุที่เกิดจากการหมุนของอากาศ ก็จะมีพลังทำลายที่สูงมาก เพราะมีความเร็วได้ถึง 500 กม/ชม. ซึ่งพายุทอร์นาโดนี้เกิดจากลมร้อนและลมเย็นมาเจอกัน จนก่อให้เกิดลมหมุน และเมื่อหมุนในระดับที่ไม่คงที่ ทำให้ปลายข้างหนึ่งลงมาสัมผัสพื้น ก็เลยเกิดเป็นทอร์นาโดขึ้น ซึ่งเราคงเคยเห็นในหนังมาแล้ว ที่เป็นลมหมุนในลักษณะเป็นรูปกรวย พายุนี้มักจะเกิดในสหรัฐอเมริกา เพราะสภาพภูมิประเทศของเขาเอื้อให้เกิดลมร้อนและลมเย็นมาปะทะกันในที่ราบ และภัยสุดท้ายอันเกิดจากไฟ ที่เรียกว่า “อัคคีภัย” นั้น เขาว่าเป็นภยันตรายที่เกิดได้ 2 ลักษณะใหญ่คือ เกิดจากความตั้งใจ และเกิดจากความประมาทเลิ่นเล่อหรือขาดความระมัดระวัง

สาเหตุที่เกิดจากความตั้งใจ ได้แก่ การลอบวางเพลิง หรือการก่อวินาศกรรม อันมีเหตุจูงใจต่างๆนานา เช่น หวังเงินประกัน มีความโกรธแค้นกับเจ้าของบ้าน หรือเป็นโรคจิต เป็นต้น

ส่วนสาเหตุที่เกิดจากความประมาท เช่น ไปจุดบุหรี่สูบในที่ไวไฟ หรือทำสะเก็ดไฟจากการเชื่อมโลหะไปตกในกองไม้หรือผ้าที่เป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้อัคคีภัยยังอาจเกิดจาก ปฏิกิริยาของสารเคมีบางชนิด อย่างโซเดียม โปแตสเซียม หรือฟอสฟอรัสที่สัมผัสกับน้ำ หรือวัสดุอื่นๆที่ทำให้เกิดการลุกไหม้ หรืออาจเกิดจากการลุกไหม้ด้วยตัวเองของสารบางชนิด เช่น ถ่านหิน ขยะ หรือหญ้าแห้ง เป็นต้น

เมื่อเกิดธรณีพิบัติภัย อุทกภัย วาตภัย และอัคคีภัย ไม่ว่าจะมากหรือน้อย มักจะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งสิ้น และแม้ภัยบางอย่างจะเป็นภัยจากธรรมชาติ แต่สาเหตุที่แท้จริงบางครั้งก็มีมนุษย์เราเป็นต้นเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญ เมื่อเกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นเมื่อไร หรือที่ไหน สิ่งที่คนต้องเผชิญและเป็นผลกระทบต่อมาก็คือ ทุพภิกขภัย (ภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง) ซึ่งขณะนี้ก็กำลังเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว ซึ่งวิธีแก้และป้องกันภัยทั้งหลายคงไม่มีอะไรดีไปกว่า ยาตำราของในหลวง คือ ต้องรู้จักพอเพียง และเพียงพอในทุกเรื่อง เพราะนี่ความสมดุลที่จะช่วยแก้ได้ทั้งภัยภายในร่างกายที่เกิดจากการกินและใช้เกินพอดี และช่วยป้องกันภัยจากธรรมชาติ เนื่องจากเมื่อมนุษย์กินและใช้อย่างพอเหมาะพอควรเมื่อไร ก็จะไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนเสียดุลยภาพ และเมื่อนั้น ความสงบสุขของโลกและคนก็จะกลับคืนมา
——————————————————————————–

ทัศชล เทพกำปนาท
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

You may also like...