การที่ใครสักคนจะตัดสินใจหยิบหนังสือหรือนิตยสารขึ้นมาพินิจสักเล่มหนึ่ง นอกจากเนื้อหาสาระที่ดึงดูดใจแล้ว ต้องยอมรับว่าภาพประกอบก็มีส่วนสำคัญที่เย้ายวนให้รู้สึกสนใจงานเขียนเหล่านั้นได้เช่นกัน
นั่นเป็นต้นทางที่ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ภาพประกอบจำเป็นกับงานเขียนมากน้อยเพียงใด
วิวัฒนาการของภาพประกอบอาจจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ครั้งบรรพกาล เมื่อประชาชนยังไม่มีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ จากนิยายภาพที่เขียนไว้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเรื่องราว อาทิ ภาพพุทธประวัติ, ชาดก, ภาพอธิบายวิถีชีวิต หรือภาพจากวรรณคดี เข้าสู่ยุคของการเขียนภาพประกอบคำโคลงเพื่ออธิบายแก่กัน ดังเรายังพอเห็นได้จากวัดวาเก่าแก่ อาทิ ภาพชาดกลายเส้นบนหินชนวนจำนวน 88 แผ่น ในอุโมงค์วัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย, ภาพจิตรกรรมองค์ความรู้ต่างๆบนพระระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพมหานคร หรือจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์บนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร เป็นต้น และในขณะเดียวกันนั้นเราก็ยังพอได้เห็นภาพประกอบเพื่ออธิบายขยายความเนื้อหาที่เป็นตัวอักษรบ้างแล้ว ในสมุดไทย สมุดข่อย เช่น ภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน, ภาพเรื่องนรก-สวรรค์ หรือภาพเทวดา นางฟ้าต่างๆ เป็นอาทิ
เมื่อการศึกษาในประเทศไทยได้มาตรฐาน ผู้คนสามารถรับรู้ข่าวสารและเสพรสวรรณศิลป์กันอย่างแพร่หลายแล้ว นวนิยายมากมายก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น เชื่อแน่ว่าไม่มีคอนิยายหรือนักนิยมศิลปะคนไหนปฏิเสธมนตร์ขลังที่ฉาบอยู่บนภาพประกอบเรื่อง ฝีมืองบรมครูอย่าง เหม เวชกร ไปได้
ผลงานของเหม เวชกร ได้รับการยกย่องว่าเต็มไปด้วยลีลาและชีวิต ช่วยสร้างรสใหม่ให้กับนวนิยายประโลมโลกอย่างถึงอกถึงใจ มีคนจำนวนไม่น้อยที่นิยมภาพประกอบฝีมือเหม เวชกร มากกว่านิยมนิยายที่ภาพของเขาประทับพิมพ์พร้อมอยู่ด้วย แม้เมื่อลมหายใจของเขาสิ้นลงแต่ลมหายใจของผลงานของเขายังกระเพื่อมไหวแรงอยู่ทุกครั้งที่ได้ชม
อาจกล่าวได้ว่าเหม เวชกร เป็นผู้บุกเบิกวงการภาพประกอบให้เฟื่องฟูขึ้นในเมืองไทยโดยเฉพาะเป็นช่วงเริ่มต้นของสมัยแห่งภาพประกอบในฐานะพาณิชศิลป์ ในขณะที่ยุคนั้นอาจเป็นต้นทางของคำถามที่ว่า ภาพประกอบมีความจำเป็นเพียงไหนกับงานเขียน
จากยุคของเหม เวชกร สู่สมัยแห่งนิยายภาพและโปรแกรม Illustrator คำถามนั้นยังคงแจ่มชัดอย่ในความรับรู้ของใครหลายคน
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.creativeculturethailand.com/detail_page.php?sub_id=4412