ศิลปะเชิงสังวาส ที่ปรากฏในศิลปะแบบแผนประเพณีไทยนั้น มักพบในจิตรกรรมฝาผนังเป็นจำนวนมากในช่วง รัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๓ และสำหรับจิตรกรรมฝาผนังบางแห่งอาจล่วงเลยมาได้จนถึงช่วงรัชกาลที่ ๕ การศึกษาศิลปะเชิงสังวาสนั้น มีการศึกษาไว้หลายแห่ง ยกตัวอย่าง จิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม จ.ราชบุรี จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จ. น่าน จิตรกรรมฝาผนังวัดหน้าพระธาตุ จ.นครราชสีมาฯลฯ
มักเข้าใจกันว่าเพราะความเป็นอิสระทางความคิดของช่างภาพเชิงสังวาสจึงเกิดขึ้น และอาจเป็นเพราะว่าไทยเรามักรับเอาอิทธิพลศิลปะจากประเทศเพื่อนบ้าน จากประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดีย หรือศาสนาฮินดู เมื่อขนบธรรมเนียมการวาดภาพจิตรกรรมเริ่มเปลี่ยนไป มาสู่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้นเอง ภาพจิตกรรมฝาผนังจึงมิได้ปรากฏเพียงแค่ภาพสังวาสระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น แต่มีระหว่างหญิงกับหญิงและชายกับชายด้วย รวมทั้งสัตว์นานาชนิดที่ขียนขึ้นด้วยเส้น สีสัน และรูปทรงอันงดงาม สอดแทรกเป็นส่วนประกอบของโครงเรื่องใหญ่ แสดงถึงวิถีชีวิตจริงของชาวบ้านในสังคมไทย และอารมณ์ขันของจิตรกร เป็นหลักฐานที่ช่างโบราณถ่ายทอดเอาไว้ ทำให้ได้ศึกษาเรื่องราว สังคม ประเพณี วัฒนธรรม ในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
ข้อสันนิษฐานอีกอย่าง เนื่องจากการสร้างงานจิตรกรรมสมัยก่อนนั้น ส่วนมากจะเกี่ยวกับเรื่องราวทางพุทธศาสนา มักเขียนเรื่องราวขนาดเล็กๆ มีคั่นเรื่องราวด้วยฉากภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ หรือเส้นสินเธาว์ เพื่อที่จะได้มีเรื่องราวเยอะขึ้น จึงมักเกิดพื้นที่ว่าง ช่างเขียนในสมัยนั้นก็เลยเพิ่มเรื่องราวของวิถีชีวิต สังคม เข้าไป ซึ่งส่วนที่เพิ่มไปนั้นก็มีเรื่องราวของศิลปะเชิงสังวาสลงไปด้วย ปะปนเข้าไปในเรื่องศาสนา ทำให้รับรู้ถึงเรื่องกิเลสมนุษย์ ซึ่งผู้ดูจะมองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องขบขันและเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดีจะถือว่าเป็นคติธรรม
“ในส่วนของภาพแปลกๆ ที่แทรกอยู่ในจิตรกรรมฝาผนัง ถามว่าผิดแบบแผนของเก่าหรือไม่ จริงๆ แล้วน่าจะเรียกว่าเป็นพัฒนาการมากกว่า เพราะหลังๆ มานี้ช่างจะใช้จินตนาการในการสร้างงานหลากหลายมากขึ้น เหมือนกับที่เราเห็นในงานศิลปะสมัยใหม่ การเขียนจิตรกรรมตามขนบประเพณีนั้นถูกปรับเปลี่ยนเพราะช่างไปเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆมา ทั้งในเรื่องของเทคนิควิธีการเขียน การใช้สีใช้เส้น รวมทั้งเรื่องของจินตนาการทางช่างด้วย เราคงห้ามไม่ได้ว่าภาพจิตรกรรมต้องคงตามขนบเดิมทุกประการ เพราะแม้แต่เทคนิคการเขียนก็ยังเปลี่ยนไป ความคิดก็ต้องมีเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยน เป็นพัฒนาการมากกว่า ทุกอย่างมีเกิดขึ้นก็ต้องมีเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ในอนาคตก็อาจจะมีอะไรพิสดารไปกว่านี้อีก อาจจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบแอ็บสแตรกไปเลยก็ได้” จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าว
สิ่งสำคัญในการสร้างจิตรกรรมฝาผนัง คือ การสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา น้อมนำให้ผู้ดูชมเกิดอาการสำรวม สงบ ซึมซับกับเรื่องราวในพุทธศาสนา ให้ความรู้สึกในความงามอันบริสุทธิ์ มักเขียนขึ้นบนฝาผนังภายในโบสถ์ วิหาร และศาลาการเปรียญเป็นหลัก ไม่ว่าช่างเขียนจะถ่ายทอดเรื่องราวอะไรก็ตาม แต่ความมุ่งหวังของผู้สร้างงานคือการสั่งสอนคนด้วยภาพตามกุสโลบายของช่างโบราณ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดี งามของชาติ มีคุณค่าทางศิลปะ เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า เรื่องราวที่เกี่ยวกับ ศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ สังคม วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการแสดงการเล่นพื้นเมืองต่างๆของแต่ละยุคสมัยที่ประกอบกันเป็นภาพจิตรกรรมไทย เสริมสร้างสุนทรียภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษยชาติที่ได้ชื่นชม จึงจิตรกรรมฝาผนังจึงนับเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทยและเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง
ขอบคุณเนื้อหาข้อมูลบางส่วนจาก : http://bbznet.pukpik.com/scripts2/view.php?user=g7_ptk&board=12&id=40&c=1&order=numview
ขอบคุณข้อมูลภาพจาก : http://www.naryak.com/forum/