ทองสุโขทัย

เครื่องประดับทองคำสุโขทัยนับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทย (Thai Cultural Heritage) ที่น่าภูมิใจในสมัยรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง ลักษณะรูปแบบของเครื่องทองสุโขทัยด้วยความสามารถของชาวสุโขทัยที่นำแนวคิด และแรงบันดาลใจจากลวดลายโบราณสถานโบราณวัตถุ ในสมัยสุโขทัยมาประยุกต์กับเทคนิค กรรมวิธีการทำทองโบราณ สร้างลักษณะพิเศษที่เห็นชัดเจน

ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องทองสุโขทัย เช่น ลักษณะการถักเส้นทอง การทำลูกปัดทอง การลงยา สร้างลักษณะพิเศษให้กับชิ้นงาน จูงใจให้ผู้พบเห็นพอใจและต้องการเป็นเจ้าของความพิเศษของกรรมวิธีการผลิตเครื่องทองโบราณนี้เป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับเครื่องประดับทุกชิ้น วัตถุดิบหลักคือทองบริสุทธิ์ 99.9%

ร้านทองร้านแรกที่ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดรูปแบบทองลายโบราณหรือทองสุโขทัยนั้นก็คือ ร้านทองสมสมัย ก่อนที่จะมาเป็นร้านทองสุโขทัยในปัจจุบันนั้นเล่ากันว่า สมัยก่อนมีช่างชาวจีน 2 คน จากกรุงเทพฯ ชื่อ พ้ง กับขุ่ย ล่องเรือมาเพื่อหาพื้นที่ตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน โดยใช้ฝีมือด้านการทำทองในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ในที่สุดก็ตกลงใจตั้งปักฐานทำกินในจังหวัดสุโขทัยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนในท้องถิ่น นายเชื้อ วงศ์ใหญ่ คุณพ่อของคุณสมสมัย ได้เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และในเวลาต่อมาจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาช่างทองจากช่างทองชาวจีนท่านนั้น นายเชื้อใช้เวลาสั่งสมและศึกษาขั้นตอนการทำทองทุกรูปแบบจนกระทั่งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง จึงเปิดร้านทองขึ้นมารับทำทองตามสั่ง และร้านในปัจจุบันนี้ก็คือ ร้าน ๆ เดียวกับที่เปิดครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน

ทองโบราณ หรือทองศรีสัชนาลัยเป็นงานศิลปหัตถกรรม ที่มีชื่อเสียงของชาวบ้านตำบลท่าชัย และตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่ประจงทำทองรูปพรรณเลียนแบบอย่างเครื่องทองสมัยโบราณได้อย่างสวยงาม จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของชาวไทยและชาวต่างชาติ เริ่มแรกทองโบราณเกิดขึ้นจากความคิดของช่างทองตระกูล “วงศ์ใหญ่” ซึ่งมีนายเชื้อ วงศ์ใหญ่ อยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย มีอาชีพทำทองและรับซื้อของเก่าหรือ

วัตถุโบราณ อาชีพรับซื้อของเก่านี้เกิดขึ้นกับแหล่งที่เป็นเมืองโบราณ โดยอาชีพที่ซื้อขายไปทำให้เห็นและสัมผัสกับเครื่องทองรูปพรรณแบบโบราณต่าง ๆ ผ่านมือตนเองไปเป็นจำนวนมาก และนับวันจะหายากยิ่งขึ้นพร้อมกับราคาที่สูงขึ้นเป็นทวีคูณ จนวันหนึ่งมีผู้นำสร้อยโบราณที่ได้มาจากริมฝั่งแม่น้ำยมมาให้ดู จึงเกิดความคิดน่าจะทำสร้อยลายแบบนี้บ้าง สร้อยที่เห็นนั้นเป็นสร้อยที่ทำด้วยสัมฤทธิ์ถักสานเป็นสร้อยสี่เสา จึงได้แกะลายออกมาศึกษาจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด แกะออกมาทีละปล้องทีละข้อ ใช้ลวดทองแดงถักร้อยตามรูปแบบเดิมแต่ไม่สำเร็จ จึงตัดสินใจไปหาชาวบ้านที่มีอาชีพสานกระบุงตะกร้าให้มีลวดลายถัก และทดลองถักเลียนแบบจนเป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้ใช้ทองคำนำมาถักสานในรูปแบบของทองโบราณ แต่เนื้อทองที่ทำเป็นเนื้อทองสมัยใหม่ เพียงแต่ลายเป็นลายโบราณแท้ ๆ มีชื่อเรียกว่า สร้อยสี่เสา นับว่าเป็นสร้อยเส้นแรกที่เลียนแบบโบราณได้สำเร็จ จากนั้นจึงนำออกมาจำหน่ายที่ร้านขายของเก่าในจังหวัดเชียงใหม่ และร้านขายทองในสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร ทำให้ทองโบราณเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและได้รับความนิยมอย่างสูงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

การออกแบบลวดลายทองสุโขทัยนั้นได้รับแนวคิดและแรงบันดาลใจในการออกแบบจากสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

1.    เครื่องทองสมัยโบราณ

2.    รูปแบบลวดลายจากประติมากรรม รูปเคารพ ลายปูนปั้นและจิตรกรรมฝาผนังที่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ดังเช่นลายเครือวัลย์ ลายนางพญา แหวนหัวมังกร ลายนะโม

3.    แนวคิดที่เกิดจากสุนทรียภาพ จินตนาการและความคิดความสร้างสรรค์ของช่างทองที่ประจงทำลวดลายรูปแบบตามจินตนาการของตนเองประดิษฐ์สร้อยข้อมือ หัวแหวนหรือการลงยาเครื่องประดับ การตอกลายตามธรรมชาติเป็นลายเทพพนม ลายกนก ลายนักษัตริย์ตามปีเกิด

4.    แนวคิดที่เกิดจากการศึกษารูปภาพเครื่องทองแหล่งอื่น ๆ หรือการศึกษาของจริงแล้วนำมาประดิษฐ์เพิ่มเติม ปรับเปลี่ยนตามจินตนาการของช่างทอง

5.    แนวคิดที่เกิดจากจินตนาการของลูกค้า หรือความต้องการของลูกค้านำแบบมาให้หรือมาบอกกล่าวด้วยตนเองว่าต้องการรูปแบบอย่างใด ช่างจะประดิษฐ์ให้ตรงตามที่ลูกค้าสั่งทำ

6.    แนวคิดที่เกิดจากสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่พบเห็น เช่น ลายสุ่ม ลายลูกตะกร้อ ลายตะกรุด ลายมัดหมี่ ลายจักรสาน ลายปี๊บ ลายมุมเมอแรงเป็นต้น

7.    แนวคิดที่เกิดจากรูปแบบลวดลายธรรมชาติ เช่น ลายเม็ดมะยม ลายหยดน้ำ ลายไข่ปลา ลายดอกพิกุล ลายเถาวัลย์ ลายลูกประคำ ลายหัวใจ เป็นต้น

ประเภทของลวดลายทองสุโขทัย

เครื่องทองสุโขทัยที่ทำจากตำบลศรีสัชนาลัยและตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาจังหวัดสุโขทัย จะมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากเครื่องทองแหล่งอื่น ๆ พบว่ามีชื่อเรียกต่าง ๆ ดังนี้ ลายถัก การถักทองคล้ายกับการถักโครเชต์ มีการถัก 2 แบบ คือ ถักกลมและถักแบน

การถักกลม เป็นการถักลวดลายตั้งแต่สามเสา สี่เสา ห้าเสา หกเสา ถึงสิบเสา ถ้าจำนวนเสามากเส้นทองจะใหญ่ขึ้น นิยมนำไปทำสร้อยคอ และสร้อยข้อมือ ลายถักที่ประกอบเป็นสร้อยคอ หรือลายสร้อยคอมือ ได้แก่ ลายกระดูกงู เกลียวเชือก เกล็ดมังกร (มังกรคาบแก้ว) กระดูกแย้ สี่เสา หิ้วเย้า ตะขาบ ผ่าหวาย สายรุ้ง สนเกลี้ยง และพวงมาลาเป็นต้น

การถักแบน เป็นการถักแบนทำสร้อยข้อมือเป็นลายเปีย ลายเย้า และเคยมีการถักถึงสองร้อยเสา สำหรับถักเป็นเสื้อและกระเป๋า เป็นต้น

ลูกประคำ (ลูกอะหลั่ย) เป็นลักษณะลูกปัดกลมรี มีรูตรงกลาง เพื่อนำไปร้อยตกแต่งสร้อย ต่างหู หรือกำไล เช่น ตะกร้อ มะยม ลูกสุ่ม ปิ๊บ ลูกสน ตะกรุด มุมเมอแรง ลูกประคำเกลี้ยง ลูกกลอง ลูกรักบี้ ตะกรุดข้าวหลามตัด ตะกรุดสุโขทัย ตะกรุดไอน้ำ ลูกเงาะ ลูกหกเหลี่ยม วงแหวน ไข่ปลา รัดข้อผ่าหวาย เป็นต้น
ลวดลายที่ใช้ประดิษฐ์ มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน บางครั้งอาจเป็นลายลูกประคำหลากหลายแบบ หรือลายถักผสมลายลูกประคำต่าง ๆ ชนิดและการลงยา เมื่อนำมาผสมกันแล้วเรียกชื่อลายตามรูปแบบที่ลอกเลียนมา หรือตามชื่อช่างผู้ประดิษฐ์ เช่น ลายบ้านเชียง ลายเธค ลายหัวใจ ลายการบินไทย ลายดอกพิกุล ลายไข่ปลา ลายหยดน้ำ ลายมัดหมี่ ลายหัวใจไข่ปลา ลายบัวคว่ำ ลายพวงมาลัย เป็นต้น

ประเภทเครื่องประดับ ได้แก่

1.    เครื่องประดับคอ มีสร้อยสามเสา สี่เสา ห้าเสา หกเสา แปดเสา จี้ สร้อยคอหลอดก้านแข็ง และทั้งกรอบพระประกอบกับสร้อยเป็นลายฉลุดอกพิกุล

2.    เครื่องประดับแขนมีกำไลข้อมือ กำไลหลอด กำไลหลอดแฝด สร้อยข้อมือถักลายเปียลายยี่สิบเสา และการถักแบน

3.    เครื่องประดับนิ้ว มีแหวนทองคำลงยา แหวนหัวมังกร แหวนพ่อขุน

4.    เครื่องประดับเอว มีเข็มขัดลายต่าง ๆ และหัวเข็มขัดแกะสลักลวดลายฉลุหรือการตอกลายนูน

5.    เครื่องประดับหู มีต่างหูแบบต่าง ๆ ทั้งลายฉลุ ลายหลอดก้านแข็ง

6.    เครื่องประดับเท้า มีผู้สั่งทำบ้าง แต่จำนวนน้อย เช่น กำไลข้อเท้า

7.    เข็มกลัดและเครื่องประดับอื่น ๆ ส่วนใหญ่มักสั่งเป็นลายฉลุ การตอกลายหรือลายประดิษฐ์

ประเภทเครื่องใช้สอย

ประเภทเครื่องใช้สอยนี้มีผู้สั่งทำเป็นกรณีพิเศษหรือทางร้านได้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงในงานประเพณี หรืองานแสดงสินค้า เช่น ผอบ กระเป๋า กระถางโพธิ์ เสื้อถักทอง เนคไท เชี่ยนหมาก กรอบรูป ฯลฯ

 

ชื่อผู้สร้างผลงาน : ตำบลท่าชัย และตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ชื่อผลงาน : ทองสุโขทัย

ที่มา : http://www.sukhothai.ru.ac.th/travel-sukhothai/sk-t.htm, http://www.oknation.net/blog/Tip2/2009/01/20/entry-1
 

You may also like...