หนังใหญ่ ถือเป็นมหรสพการแสดงที่มโหฬารและมีขนาดใหญ่กว่าหนังตะลุง ซึ่งเหมือนกับการฉายภาพยนตร์ในปัจจุบัน โดยเริ่มมีการเล่นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2001 ซึ่งค้นพบได้จากหลักฐานที่กล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หลังจากนั้นหนังใหญ่ก็มีการละเล่นเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา แล้วได้เลือนหายไป ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี การเล่นหนังใหญ่ก็ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
การทำหนังใหญ่ จะใช้หนังวัวหรือหนังควายดิบ โดยตากแห้งและขึงลงในกรอบให้ตึง แล้วจึงเขียนภาพลงบนแผ่นหนัง ฉลุด้วยเครื่องมือ โดยตอกฉลุให้เป็นช่องหลุดขาดออกไป เมื่อฉลุแล้วจะเป็นภาพโปร่ ง อาจเป็นแผ่นหนังที่มีภาพตัวเดียว เรียกว่า
หนังเดี่ยว หรือเป็นภาพที่กำลังต่อสู้กัน ที่เรียกว่า หนังจับ ซึ่งมีการฉลุอยู่ 2 แบบ คือ แบบฉลุเอาหนังออกเหลือแต่เส้นแสดงวงหน้า ตา คิ้ว ปาก เส้นขอบแขนและคอ เท่านั้น เรียกว่า หน้าแขวะ และอีกแบบหนึ่ง คือ ฉลุเอาเส้นตา คิ้ว วงหน้า ขอบแขนออก เรียกว่า หน้าเต็ม
สำหรับลักษณะของภาพตัวหนังนั้น แยกออกได้ คือ หนังเดี่ยว หรือตัวหนังที่มีภาพเดี่ยวจะเป็นภาพที่อยู่ในท่าเดิน ยืน ท่าผาดแผลง หรือท่าทำความเคารพ จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น หนังง่า หนังที่มีภาพในท่าแผลงศร ท่าเหาะ หรือหนังเฝ้า หนังที่มีภาพในท่านอบน้อม ท่านั่งพนมมือ หรือการเข้าเฝ้า หนังเหล่านี้จะใช้ประกอบในการดำเนินเรื่อง ส่วนตัวหนังที่มีภาพ 2 ตัวขึ้นไป ที่เรียกว่า
หนังเรื่อง จะอยู่ในแผ่นเดียวกัน เช่น หนังจับ คือ ภาพที่แสดงการต่อสู้ซึ่งทางจิตรกรรมไทยจะเรียกว่า ภาพจับ มีทั้งมนุษย์รบกับยักษ์ ลิงรบกับยักษ์ หนังปราสาทโลม คือ หนังที่มีภาพโลม เช่น หนุมานโลมนางสุวรรณกันยุมา หนังเมือง คือ หนังที่มีภาพปราสาท บ้านเรือน ซึ่งบางทีอาจเรียกว่า หนังพิธี หรือหนังพลับพลา สำหรับตัวหนังที่ไม่จำกัดว่าเป็นภาพอะไร เช่น คนถืออาวุธ, พลยักษ์, ตัวตลก, ภาพราชรถ และเครื่องอาวุธ ช้าง, ม้า, ราชสีห์ จะรวมเรียกว่า หนังเบ็ดเตล็ด การแสดงหนังใหญ่ จะมีทั้งหนังสีและหนังดำ ซึ่งจะต้องระบายสีลงบนภาพหนังซึ่งเป็นหนังชนิดบาง โดยการขูดเยื่อต่างๆ ออกจนหมด
การเชิดหนังใหญ่นั้น ผู้ที่เชิดจะเต้นและทำท่าทางไปตามจังหวะเพลง แต่ภาพที่ปรากฏบนจอจะไม่เคลื่อนไหวตาม ส่วนมากคนเชิดจะเป็นผู้ชายที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่ว่าจะเชิดตัวพระหรือตัวนางก็ตาม การฝึกหัดก็เช่นเดียวกับการฝึกหัดโขน โดยมีการเต้นเสา เพราะในการเชิดนั้นจะต้องยืด ยุบ กระทบเท้า ลงเหลี่ยม ขยั่นเท้า กระดกเท้า มือทั้งสองข้างจะต้องชูตัวหนังขึ้นสูง ส่วนหนังตัวเล็กจะต้องจับไม้คาบอันเดียวทั้งสองมือ การเต้นก็ต้องเต้นตามจังหวะ มีการเก็บเท้า สะดุดเท้า ขยั่นเท้าสลับกัน ถ้าเป็นตัวหนังพระก็ทำท่าอย่างพระ ตัวหนังนางก็ทำท่าอย่างนาง ตัวหนังยักษ์ก็ทำท่าอย่างยักษ์ ตัวหนังลิงก็ทำท่าอย่างลิง เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเภทจะมีท่าเฉพาะของตัวเอง
การพากย์หนังใหญ่ ผู้เชิดกับผู้พากย์จะต้องมีการประสานงานและเข้าใจกัน อาทิ ตอนขึงขัง, ตอนอ่อนโยน, หรือตอนนอบน้อม โดยเฉพาะหนังเฝ้า ซึ่งตัวหนังนั่งพนมมือก็จะต้องโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อยเชิงก้มศีรษะน้อมรับราชโองการ สำหรับดนตรีที่ใช้ในการเล่นหนังใหญ่ จะใช้วงปี่พาทย์ ตั้งอยู่หน้าจอหนัง เว้นระยะห่างจากจอประมาณ 4 เมตร เพื่อให้คนเชิดเต้นได้สะดวก เพราะการเชิดหนังใหญ่นั้น จะต้องเชิดทั้งหน้าจอและหลังจอด้วย
ในปัจจุบันการเล่นหนังใหญ่ยังพบเห็นกันได้ในภาคกลาง โดยจะมีอยู่ที่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี นิยมเรียกกันว่า หนังใหญ่วัดขนอน, หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี ส่วนทางภาคตะวันออก มีหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอ
——————————————————————————–
ที่มา : www.m-culture.com
ขอบคุณภาพจาก : http://www.bangkokbiznews.com/