ศิลปะ สถาปัตยกรรม และความงาม ในมุมมองของปัญญาชนสยาม
เรียบเรียงจาก “ส.ศิวรักษ์ประจักษ์งาม”
ปาฐกถาของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แสดง ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันศุกร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๓
อารัมภกถา
เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีหนังสือออกมาใหม่เล่มหนึ่งชื่อ On Beauty and Being Just by Elaine Scarry ซึ่งสจ๊วต แฮมเชอร์ วิจารณ์ไว้ใน The New York Review of Books ฉบับ ๑๘ พฤศจิกายน ศกก่อน อย่างน่าสนใจยิ่งนัก เช่นเขากล่าวว่า
“ความงามนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา แต่บัดนี้มิตินี้ได้เหือดหายไป …… มีอะไรเกิดขึ้น เมื่ออมตภาพเข้ามาหรือไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคนงามหรือสิ่งซึ่งสวยงาม ผู้รับรู้ความงามย่อมมีทัศนะที่ต่างออกไป”
ที่สำคัญอันขอสรุปมาไว้ในที่นี้ก็คือผู้เขียนให้ข้อสังเกตว่า “คนที่แสวงหา หรือมีความสุข ตลอดจนคนที่ปกป้องความงามนั้น ไม่จำต้องเป็นคนงาม ในขณะที่คนซึ่งแสวงหาและปกป้องสัจจะ จำต้องมีความรู้ในเรื่องความถูกต้อง และเขาต้องเป็นคนที่ยุติธรรมด้วย”
พร้อมกันนั้น ผู้เขียนก็สารภาพว่า “เรารับรู้ความงามได้จากวัสดุหรือสิ่งซึ่งแสดงออกทางวัตถุ โดยผ่านอายตนะของเรา แม้เมื่อเรามองเห็นความงามจากท้องฟ้า นั่นก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุได้ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ความยุติธรรมนั้นรับรู้ไม่ได้โดยอายตนะ และไม่จำต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุ แต่วัสดุก็แสดงออกได้ถึงความยุติธรรม โดยผ่านความงาม”
ประเด็นเรื่องความงามและความถูกต้องหรือความยุติธรรมนั้น คงพูดได้มาก หากไม่ใช่ในที่นี้
ในภาษาไทยเราเองก็มีคำว่า คุณงามความดี ซึ่งควรควบคู่กันไป แต่เกรงว่าคนสมัยนี้จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวลีพวกนี้กันเสียแล้ว เพราะเราถูกสะกดให้คิดตามศัพท์บัญญัติจากฝรั่งกันเป็นส่วนมาก
สำหรับหนังสือที่ชื่อว่า Conjunctions and Disjunctions by Octavio Paz นั้นได้นำเอาคำแปลจากภาษาสเปญมาลงไว้ในท้ายเรื่อง “อำนาจของภาษาและสถาบันทางวิชาการเพื่อใคร” แล้ว ผู้เขียนเสนอว่าถ้า
“เพ่งดูหน้ามนุษย์อย่างพิเคราะห์แล้วไซร้ ใบหน้าก็จะประจักษ์ขึ้นมาให้เราเห็นได้ว่าไม่ต่างไปจากก้น หรือถ้าพิจารณากันจนเห็นความงาม ก็จะประจักษ์ออกมาว่าก้นแทบไม่ต่างไปจากใบหน้า ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าที่พระท่านภาวนาในทางกรรมฐานเรื่อง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นั้น ก็เพื่อให้ประจักษ์แจ้งแก่ใจว่ารูปร่างที่งดงามนั้น แท้ที่จริงน่าเกลียด เป็นปฏิกูลนั้นแล”
ก่อนที่จะปาฐกถาตามที่เจ้าภาพตั้งชื่อเรื่องให้ ขอแปลถ้อยคำจากท้ายเรื่อง “อำนาจของภาษาและสถาบันทางวิชาการเพื่อใคร” มาให้ฟังกันบ้าง เผื่อจะเกิดอนุสติ
(๑) เป็นคำของประธานาธิบดีวาคลาฟ ฮาเวลแห่งสาธารณรัฐเชค ซึ่งกล่าวไว้ในปี พ.ศ.๒๕๓๓
“มีเหตุผลที่ดีพอจะเสนอได้ว่าสมัยปัจจุบันนั้นมาถึงที่สุดเสียแล้ว ….. ทุกวันนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งส่อให้เห็นว่าเรามาถึงสมัยแห่งการเคลื่อนย้ายสถานะ จนส่อเค้าว่าบางอย่างมาถึงที่สุดแล้ว และบางอย่างกำลังเกิดขึ้นอย่างทุกข์ทรมาน….ตัวอย่างเช่น เดี๋ยวนี้เรารู้เรื่องจักรวาลมากมายเหลือคณานับยิ่งกว่าบรรพชนของเรายิ่งนัก แต่ท่านนั้นๆในอดีตดูจะเข้าใจในเรื่องของเนื้อหาสาระในบางสิ่งบางอย่างยิ่งกว่าเรามากนัก โดยที่เราเข้าไม่ถึงสาระเหล่านี้เอาเลย ดูเราจะอยู่ในสถานะอันขัดข้อง คือเราได้ความพอใจจากผลได้ทางอารยธรรมสมัยใหม่ จนทำให้ความเป็นอยู่ในร่างกายของเราง่ายดายในหลายๆทางยิ่งขึ้นบนพื้นพิภพนี้ แต่แล้วเราก็ไม่รู้แน่ว่าเราควรจะทำอะไรเกี่ยวกับตัวเรา เราจะหันไปหาทางไหนดี…… เราเข้าใจในเรื่องชีวิตของเราน้อยลงไปทุกที กล่าวโดยสรุปคือ เรากำลังมีชีวิตอยู่ในยุคหลังความทันสมัย กล่าวคืออะไรๆก็เป็นไปได้ แต่แล้วก็ไม่มีอะไรแน่นอนเอาเลย”
(๒) เป็นคำของกุมารสวามี ที่เขียนไว้แต่ปีพ.ศ. ๒๔๗๕
“ศิลปะของภารตประเทศ(ในสมัยโบราณ) คือการแสดงออกซึ่งประสบการณ์ของชุมชนที่อยู่ร่วมกัน และศิลปะรับใช้ชีวิต เช่นเดียวกับอาหาร ศิลปะอินเดียเป็นผลผลิตตามความต้องการของชุมชน…… โลกสมัยใหม่นั้นเน้นที่กิตติคุณของปัจเจกบุคคล ซึ่งผลิตงานออกมาได้อย่างเป็นเลิศหรืออย่างกึ่งดิบกึ่งดี ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามความสามารถของศิลปินแต่ละคน แต่ในชมภูทวีปนั้น ความงามหรือความน่าเกลียดของศิลปวัตถุขึ้นกับยุคสมัย…..จะเข้าใจในเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจประสบการณ์ซึ่งมีเป็นสามานย์ทั่วไปสำหรับมนุษย์ในกาลนั้นๆและสมัยนั้นๆที่ศิลปวัตถุปรากฎขึ้น
ศิลปะของชมภูทวีปทั้งหมดเป็นผลผลิตของช่างฝีมือ ซึ่งถือตามประเพณีที่สืบต่อกันลงมาจากครูถึงศิษย์เป็นช่วงๆ ไม่ได้มุ่งความเลอเลิศอย่างแปลกใหม่ที่แหวกแนวออกไปอย่างไม่ให้ซ้ำกับใครในอดีต ถ้าเกิดงานอันวิเศษขึ้น ศิลปินก็หาได้จงใจหรือเน้นไปในทางนี้ รูปแบบที่เปลี่ยนไปในทางศิลปะของสมัยหนึ่งไปยังอีกสมัยหนึ่งนั้น ส่อให้รู้ถึงโลกทัศน์และวิถีชีวิตในยุคสมัยนั้นๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพราะศิลปินต้องการแสดงความวิเศษมหัศจรรย์ส่วนตน การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพเป็นผลผลิตของอะไรๆหลายปัจัย โดยเฉพาะก็คือขึ้นอยู่กับพลังชีวิตและรสนิยมในชุมชนซึ่งเปลี่ยนแปลงไป
อะไรใหม่ๆในศิลปะของชมภูทวีปนั้นเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีใครบงการหรือวางแผนไว้หรือคิดคำนวณไว้ให้มีการเปลี่ยนแปลง ที่เปลี่ยนก็เพราะวิถีชีวิตอันยาวนานมีประสบการณ์อันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนประเพณีเป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่ประเพณีกำหนดให้มีการลอกแบบ ดังชีวิตของคนสมัยใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยการลอกแบบ
ศิลปะของชมภูทวีปให้ความหมายอย่างมีเลศนัยและให้เป้าหมายอย่างชัดเจน ที่จะพูดว่า ศิลปะเพื่อศิลปะ หรือ ศิลปะที่งาม กับ ที่ทราม นั้นไม่มีอยู่ในแนวคิดของคนในชมภูทวีปสมัยก่อน คนสมัยใหม่ที่พูดเรื่องความงามและความไร้คุณค่าทางศิลป์นั้น ดูไม่สัมพันธ์กับชีวิตเอาเลย ดูจะเป็นการพูดถึงเล่ห์กลในทางศิลป์ จนมหาชนรักศิลปะไม่ได้เอาเลย
การที่ชุมชนจะนฤมิตรศิลปะอันสำคัญขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่เพราะมหาชนรักศิลปะ แต่เป็นเพราะมหาชนรักชีวิตต่างหาก”
(๓) เป็นคำของ หริ ดาม ที่เขียนขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๔ เขาว่าเปรียบตะวันออกกับตะวันตกว่า
“เรามีชีวิตอยู่ตามกาละและเทศะ ท่านเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา
เรารักศาสนาเป็นประการแรกและเราพอใจในอภิปรัชญาหรือเมตาฟิสิคส์ คือสิ่งที่พ้นสสารออกไป แต่ท่านทุ่มเทใจให้กับวิทยาศาสตร์ ท่านพอใจในวิชาฟิสิคส์หรือในสสารต่างๆ
ท่านเชื่อในเรื่องเสรีภาพของการพูด ท่านพยายามแสดงออกให้ได้อย่างชัดเจน แต่เราเชื่อในเสรีภาพของความเงียบ เราหันเข้าหาสมาธิและภาวนา
ความสำเร็จของท่านขึ้นอยู่กับการที่ท่านได้แสดงออกซึ่งอัตตา แต่เราดำรงคงอยู่ได้เพราะเราต้องการลดอัตตาลง
ท่านต้องการยิ่งๆขึ้นทุกวัน หากเราได้รับการสั่งสอนมาแต่นอนเปล ให้ต้องการน้อยลงเรื่อยๆ
อุดมคติของท่านคือการมีชีวิตอย่างเปี่ยมไปด้วยอามิสสุข แต่อุดมคติของเราคือการเอาชนะอามิสสุขให้ได้
ในบั้นปลายของชีวิต ท่านต้องการมีความสุขตามที่ท่านต้องการโดยไม่ต้องกรากกรำทำงานอีกต่อไป ในขณะที่พวกเราต้องการสละโลกียสุข เพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับชีวิตในโลกหน้า”
นี่ยกมาอ่านให้ฟังเพียงจากสามทัศนะ ยิ่งทัศนะของออกโตวิโอ พัซ ในเรื่องศิลปะจีนและอินเดีย ศิลปะของพุทธและพราหมณ์ ที่เปรียบกับศิลปะของอิสลามและคริสต์ เรื่อยไปจนตะวันออกและตะวันตกนั้น น่าสนใจนัก แต่จะไม่แปลมาไว้ในที่นี้ ผู้สนใจควรหามาอ่านและแปลกันเอาเอง ยิ่งคำของคาร์ล ยุง นักจิตวิเคราะห์ชาวสวิสที่พูดถึงฝรั่งด้วยแล้ว ควรรับฟังเป็นอย่างยิ่ง
อารัมภบททั้งหมดนี้ หวังว่าคงมีประโยชน์ สำหรับเนื้อหาของปาฐกถา ซึ่งจะแสดงต่อไปในอันดับนี้
ความงามของภูมิทัศน์และภูมิสภาปัตย์อย่างโบราณ
ใครก็ตามที่ข้ามไปหลวงพระบาง คงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ราชธานีเก่าของลาวช่างงดงามตระการตาอะไรเช่นนั้น ภูมิสถาปัตย์สอดคล้องต้องกันกับธรรมชาติ พระราชวังเป็นอาคารชั้นเดียว อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนและอย่างเรียบง่าย ไม่แสดงความโอฬาริกเหนือวัดวาอารามรอบๆนั้น แม้ตึกแถวอย่างฝรั่งที่สร้างขึ้นใหม่ ก็ไม่ขัดกับอาคารสถานอย่างเดิม โดยที่สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติที่รอบล้อมเมืองนั้นไว้อย่างหนาแน่น อย่างน่าอยู่ และอย่างสวยงาม
ที่นครพิงค์นี้เอง เมื่อข้าพเจ้าแรกขึ้นมาในปีพ.ศ.๒๔๙๔ ก็มีความงามแทบตลอดทั้งเมือง แม้ร้านขายของก็เป็นเรือนไม้ ที่เจ้าของอาศัยอยู่ชั้นบน หรืออยู่หลังร้าน วัดวาอารามเรียงลำดับกันแทบทุกถนน และทุกวัดมีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างไปจากทางเมืองล่างเราอย่างน่าจับตามอง ยังกุฏิริฐาน โบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ก็มีความงามอย่างบรรสานกันทั้งอารามและกับสภาพแวดล้อมนอกวัดออกไป ทั้งแต่ละอาคารภายในวัด ไม่ว่าจะพระวิหารหรือหอไตร ก็มีขนาดอันเหมาะสม มีมัณฑนศิลป์อันน่ากินตากินใจ รูปเขียนภายในก็หลากหลาย แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมของทางเหนืออย่างน่าภาคภูมิใจ
ภายในตัวเมือง แม้จะมีรถยนตร์บ้างแล้ว ก็ไม่แออัด ผู้คนใช้รถจักรยานสองล้อกันทั่วไป ดูเหมือนรถโดยสารจะไม่มีเอาเลย พวกเราขี่จักรยานไปจอดทิ้งไว้ที่เชิงดอยสุเทพ แล้วเดินขึ้นไปไหว้พระธาตุที่ยอดดอย โดยไม่ต้องห่วงว่าใครจะมาขโมยรถ ทั้งรอบๆ องค์พระธาตุก็มีสิ่งปลูกสร้างอย่างเหมาะสม ทั้งสะอาด ทั้งสงบ ช่วยให้จิตใจสว่างอย่างเบิกบาน เวลากราบกรานองค์พระธาตุก็ดี บูชาพระพุทธรูปก็ดี ช่วยให้เกิดศรัทธาปสาทะยิ่งๆขึ้น ครั้นออกมาเบิ่งมองลงไปดูทางรอบๆ ก็เห็นแมกไม้เต็มไปหมด เหลือบมองไปทางข้างล่างก็เห็นไร่นา ป่าเขา ซึ่งเขียวขจี มีเมืองเป็นจุดน้อยๆอย่างน่ารัก ทั้งๆที่มีตึกใหม่ๆบ้างแล้ว ก็ไม่มีอะไรให้ขัดตา สะพานเนาวรัตน์ก็กระทัดรัด แม้ถนนที่สร้างให้รถยนตร์ข้ามขึ้นดอยสุเทพได้ ก็เกิดจากแรงศรัทธาของมหาชนอันมีท่านครูบาศรีวิชัยเป็นแรงหนุนอันสำคัญยิ่ง ยิ่งถ้าย้อนถอยไปก่อนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อรถไฟยังไม่ถึงด้วยแล้ว ห้วยแก้วและแม่น้ำพิงค์ ตลอดจนตัวเมืองเชียงใหม่จะงดงามขนาดไหน การล่องใต้ก็ต้องใช้เรือพาย เรือถ่อ และขึ้นช้าง ขึ้นม้า เป็นระยะๆ
การถ่อเรือก็ดี การทำไร่ทำนาก็ดี แม้การปลูกอาคารสถานที่ต่างๆก็ดี ย่อมมีดนตรี มีการร้องรำ และมีการบูชาเทวดาฟ้าดิน ตลอดจนรุกขเทวดา รวมอยู่ด้วย โดยที่ทั้งหมดนี้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุด
หลวงพระบางกับศรีนครพิงค์เชียงใหม่
อนึ่ง พึงตราไว้ว่าหลวงพระบางนั้นเป็นเมืองใหม่ เมื่อเทียบกับนครพิงค์ของเรา เพราะฮ่อยกพลมาเผาและปล้นสดมภ์เมืองหลวงพระบางเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ นี่เอง แต่การสร้างเมืองขึ้นใหม่ ได้อาศัยพื้นภูมิธรรมเดิมอย่างแทบไม่แปรเปลี่ยน หากเติมอาคารร้านรวงขึ้น ก็ดูเหมือนแต่เมื่อฝรั่งเศสมายึดครองไปได้แล้วนั้นเอง และฝรั่งเศสก็เข้าใจในเรื่องความงาม ในเรื่องอนุรักษ์ศิลปสถานและโบราณสถาน ดังที่อุทิศตนให้ในเรื่องนี้ ทั้งที่เมืองลาว และเมืองเขมร ยิ่งนครวัด นครธมด้วยแล้ว ฝรั่งเศสบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างอนุรักษ์ศิลปกรรม ให้ความงามควบคู่ไปกับความเก่าแก่มหัศจรรย์ของนฤมิตรกรรม ที่เข้ากันได้ดีกับป่าเขารอบๆนั้น อย่างควรแก่การสรรเสริญ
เชียงใหม่เองเริ่มลดสภาพของความงามลง ก็เมื่อหมดเจ้าผู้ครองนครไปแล้วเอาเลยก็ว่าได้ แม้เมื่อเป็นปเทศราชภายใต้กรุงเทพฯ จักรวรรดิวัตรซึ่งพระเจ้าจักรพรรดิแห่งกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยายึดถือมาแต่สมาทานพระพุทธศาสนา เรื่อยลงมาจนกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ย่อมไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของเจ้าปเทศราชต่างๆ ซึ่งย่อมอุดหนุนความงาม อย่างควบคู่ไปกับความดี ด้วยเหตุฉะนี้ วัดจึงเป็นศูนย์กลางของความงามและความดี ทั้งนี้เพราะคุณธรรมทั้งสองนี้ เอื้อให้ได้เข้าถึงความจริงอันประเสริฐสุด ซึ่งเป็นจุดสุดยอดของพระบวรพุทธศาสนา อันได้แก่ พระจตุราริยสัจ
ใช่แต่พระเจ้าเชียงใหม่จะอุดหนุนความงามความไพเราะของพุทธมามกะ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นประมุขเท่านั้นก็หาไม่ หากยังทรงอุดหนุนไพร่บ้านพลเมืองทุกหมู่เหล่า ตลอดไปจนชาวเขาเผ่าต่างๆ ให้เขาแสวงหาความงาม ความดีและความจริง ตามความเชื่อถือของเขา
การอุดหนุนในเรื่องความงามของชนชั้นปกครองโบราณ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสเล่าว่า เคยทอดพระเนตรการออกขุนนางของพระเจ้าเชียงใหม่ ในฤดูหนาว ชาวว้าหรือชาวปากะยอ นำดอกเอื้องและไพลมาถวายพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งรับเครื่องบรรณาการนั้นแล้ว ก็ทรงเคี้ยวไพล และถ่มลงที่ท้องพระโรง ซึ่งเป็นพื้นดินปรับเรียบอย่างง่ายๆ พลางรับสั่งว่า
“ตราบใดที่ดอกเอื้องหลวงบาน พวกท่านย่อมนำเครื่องบรรณาการมาถวายเรา เป็นการแสดงความจงรักภักดี เราเองก็ขอสัญญากับท่านว่า ตราบใดที่เรารับเครื่องบรรณาการจากท่าน เราจะปกครองป้องกันไม่ให้พวกท่านได้รับภัยใดๆในอาณาเขตของเรา ขอให้ท่านทำมาหากิน ตามลัทธิประเพณีของท่าน ให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป”
ใช่แต่พระจักรพรรดิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา และเจ้าปเทศราชอย่างเชียงใหม่และหลวงพระบาง จะอุดหนุนคุณงามความดีให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร ในอาณาบริเวณของพระองค์เท่านั้นก็หาไม่ หากยังทรงปกป้องสัตว์จตุบททวิบาทและทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งหมด ในเขตแคว้นที่พระองค์เป็นใหญ่อีกด้วย
ชาวเขาเผ่าต่างๆเอง ก็อยู่กินกับป่า กับเขา กับน้ำ อย่างมีความดี ความงามเป็นบรรทัดฐาน มีวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละเผ่า โดยสืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดสาย แม้จะทำไร่หมุนเวียน ก็ตัดต้นไม้แต่น้อย อย่างไม่เคยทำลายป่า ถางป่ามาเป็นไร่เป็นนา แล้วก็ย้ายไป ให้ต้นไม้ได้เติบโตขึ้นใหม่ แล้วก็หวนกลับมาทำกินกันในที่เดิม แม้จะฆ่าสัตว์ฆ่าปลา แต่ก็ไม่ได้ทำลายล้างเผ่าพันธุ์ของมัจฉาชาติหรือสัตว์ป่านั้นๆด้วยความโลภ หรือด้วยเทคโนโลยีอย่างใหม่ ช่วยให้ชาวเขาทั้งหลายอยู่กับป่า อยู่กับดอยมาเป็นเวลาร้อยๆปี อย่างมีความสุข แม้จะวิวาทกันบ้าง รบพุ่งกันบ้าง โดยที่มีแต่อาวุธอันไม่ร้ายแรง ก็ย่อมไม่เป็นไปในทางที่เลวร้าย ทั้งยังเชื่อผีปู่ย่าตายาย เชื่อเจ้าป่า เจ้าเขา ย่อมมีความเคารพธรรมชาติและเคารพบรรพชน ซึ่งสืบทอดภูมิธรรมดั้งเดิมอย่างรักษาตนให้อยู่รอดปลอดภัยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และชีวิตของชาวป่า ชาวเขา ก็มีความงามและความดี ประสานกันไปเสมอ ดังขอให้ดูที่การแต่งเนื้อแต่งตัวของเขา และประเพณีพิธีกรรมของเขา ว่างดงามเพียงไร บทเพลงก็ไพเราะ และสืบทอดวัฒนธรรมทางมุขปาฐะต่อๆกันมาอย่างน่าสนใจยิ่ง
ความภูมิใจในความดีและความงามของตน
คนเมืองเอง แม้จะมีวัฒนธรรมต่างไปจากคนบนภูเขา แต่ก็เคารพกันและกัน ไม่ดูถูกกัน ถ้าชาวใต้ไปดูถูกชาวเหนือ ชาวเหนือก็ดูถูกตอบ ทั้งนี้เพราะแต่ละชุมชนมีความภูมิใจในความดีและความงามของตนๆ ซึ่งสืบทอดมาแต่บรรพชน โดยที่ทุกๆคนนับถือปู่ย่าตาทวด และนับถือวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันต่อๆมา ยิ่งกว่าจะไปเคารพนับถือวัฒนธรรมหรือศาสนธรรมจากกระแสอื่น
ด้วยเหตุฉะนี้ พวกมิชชันนารีฝรั่งจึงแสวงหาคนมาเข้ารีตได้ยาก ทั้งนี้ก็เพราะจารีตประเพณีและพิธีกรรมเดิมให้ความมั่นใจกับทุกๆคน ทั้งในเรื่องโลกนี้และโลกหน้า ตลอดจนในเรื่องของปรมัตถธรรม ซึ่งสูงส่งและลึกซึ้งที่สุด ยังการสอนในเรื่องปรมัตถสัจจ์ ก็สัมพันธ์กับสมมติสัจจ์ โดยอาศัยความงาม ความไพเราะในการเผยแผ่สัจธรรมนั้นๆด้วยเสมอไป ดังไตรภูมิพระร่วงนั้น เป็นเรื่องที่เนื่องด้วยมนุษย์ ด้วยนรก ด้วยสวรรค์ ขึ้นไปจนพรหมโลก และอรหัตผล และไตรภูมินี้แสดงออกทั้งทางวิจิตรศิลป์และวรรณศิลป์อย่างงดงามและอย่างไพเราะ ช่วยให้ผู้คนได้เติบโตขึ้นในทางคุณงามความดีไปเรื่อยๆ ดังที่เราใช้คำว่าบริกรรมเป็นการเจริญบารมีนั้นเอง
ความงามอย่างเก่าเริ่มอัศดงเมื่อรับวัฒนธรรมตะวันตก
ความงามความไพเราะที่แสดงออกทางดนตรี กวีนิพนธ์และฟ้อนรำนั้น ไม่ได้มีแต่ในหมู่คนเมืองเหนือ แม้เมื่อคนเมืองใต้เป็นแขกเมืองขึ้นมา เจ้านายฝ่ายเหนือก็ฟ้อนออกไปรับเจ้านายฝ่ายใต้ ซึ่งก็ควรจะฟ้อนตาม แล้วเข้าเมืองเป็นขบวนอย่างงดงาม หากเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแรกเสด็จเชียงใหม่นั้น ทรงฟ้อนไม่เป็นเสียแล้ว ต้องโปรดให้ขุนนางผู้ใหญ่ในคณะออกไปฟ้อนแทนพระองค์ ทั้งนี้แสดงว่าความงามอย่างเก่าเริ่มอัสดงลง เมื่อเรารับวิถีชีวิตอย่างใหม่แบบฝรั่งเข้ามาแทนที่ ในรัชกาลที่ ๕ นี่เอง
ดังขอให้สังเกตว่าในหลวงพระองค์นั้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้าย ที่เสด็จขึ้นไปทรงรำง้าวบนพระคชาธารถวายพระพุทธบาทที่สระบุรี ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อเดิมนั้น แม้การพระราชสงครามก็ต้องประกอบไปด้วยความงาม พวกเราคงจะจำได้จากเรื่อง ราชาธิราชว่า เมื่อพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงทำสงครามกับพระเจ้าฝรั่งมังสีชะวานั้น ครั้นทอดพระเนตรเห็นอีกฝ่ายใช้ปืนไฟอย่างฝรั่ง ถึงกับทรงพระกรรแสง ตรัสว่าการพระราชสงครามแต่ไหนแต่ไรมา ย่อมเป็นราชกรีฑาของพระราชามหากษัตริย์ ซึ่งฝึกหัดทแกล้วทหารให้รำเพลงดาบ เพลงทวนต่างๆอย่างงดงาม บัดนี้มีปืนไฟมาประหัตประหารผู้คน เพียงเพื่อเอาชนะ ต่อแต่นี้ไป จะหาความงาม ความสนุกสนานจากสงครามได้อีกละหรือ ประเด็นนี้ควรแก่การสำเหนียก โดยไม่ต้องนึกถึงระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเยนก็ยังได้
แท้ที่จริง เมื่อกรุงศรีอยุธยารับเอาปืนไฟจากฝรั่งมาใช้ ก็ยังโปรดให้สลักกระบอกปืนนั้นๆอย่างวิจิตร รวมถึงลูกกระสุนด้วย ดังเช่นด้ามง้าว ด้ามทวน และศรธนู ก็เคยได้รับการประดิษฐ์ขึ้นอย่างงดงามนั้นเอง
แม้จะฆ่ากัน เราก็เคยถือว่าต้องมีความงามเป็นองค์ประกอบ เฉกเช่นการกิน การแต่งตัวและการทำไร่ทำนา ก็ล้วนมีความงามเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น ตลอดจนการไปวัดไปวา ก็มีความงามประกอบไปด้วยความดี เพื่อแสวงหาความจริงอย่างยิ่งนั้นเอง
เวลาทำไร่ทำนา ชาวบ้านไม่ได้นุ่งผ้าผืนงามที่สุด แต่ผ้านั้นก็ทอกันเองด้วยมือ ขณะทอก็มีเสียงดนตรีคละกันในหลายต่อหลายบ้าน แม้การหว่านไถและเก็บเกี่ยวก็มีเพลง มีดนตรี ที่ช่วยให้เกิดสามัคคีธรรม ที่ช่วยให้เกิดความสนุกสนาน ทั้งอาหารที่ได้จากไร่จากนา ก็นำไปถวายพระ นำไปเซ่นไหว้ผีสางเทวดา ปู่ย่าตายาย และแจกจ่ายเพื่อนบ้านตามเทศกาลต่างๆ ก่อนทำกินเอง ต่อเหลือจึงขาย
วิถีชีวิตเช่นนี้ ย่อมมีความงามและความดีอย่างผูกพันกันไป ดังงานพิธีต่างๆ ทุกคนจะแต่งตัวด้วยผ้าผ่อนท่อนสะไบอันงดงามตามอัตภาพของตนๆ อาหารที่นำไปถวายพระก็ใส่พาน ใส่ถาด แม้หาบไป ก็ใช้ไม้คานและตระกร้าอันงดงาม คนจนใช้ฝ้าย ใช้ไม้ไผ่ ใช้หวาย ใช้ใบตอง ใช้ดิน ในการแสดงออกซึ่งความงาม คนรวยก็ใช้ธรรมชาติเหล่านั้นรวมถึงเงิน นาค ทอง และอัญมณีต่างๆเพื่อแสดงออกซึ่งความงาม แต่วิถีชีวิตเป็นไปอย่างมีความงาม ความไพเราะ ความเหมาะเจาะเหมาะสมกับธรรมชาติที่แวดล้อมตน ให้ชีวิตสัมพันธ์กันและกัน ทั้งระหว่างหมู่มนุษย์ และมนุษย์กับสรรพสัตว์ ซึ่งรวมถึงเทวดาฟ้าดินและขบวนการทางธรรมชาติทั้งหมด
ฤตุกับฤตะ ฤดูกาลกับจารีตที่สอดคล้องกัน
คำสันสกฤตสองคำเป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญของวิถีชีวิตมนุษย์ คือคำว่า ฤตุ หรือฤดูกาล ซึ่งควรสัมพันธ์กับ ฤตะ กล่าวคือจารีต ความประพฤติปฏิบัติ ควรสอดคล้องกับความเป็นไปทางธรรมชาติ
ยิ่งในทางพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว มีพระพุทธพจน์ว่าเมื่อพระราชาทรงธรรม เสนาบดีย่อมทรงธรรม คหบดีและสมณพราหมณ์ย่อมทรงธรรม และประชาราษฎรย่อมทรงธรรม นี้แลคือจารีตในทางพุทธศาสนา ซึ่งมีคุณงามความดีเป็นน้ำกระสาย ที่นำไปสู่ความจริง และเมื่อมนุษย์มีคุณธรรมความดีงามมากเท่าไร ย่อมส่งผลให้ธรรมชาติเป็นไปอย่างสมดุลย์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารออกดอกออกรวงตามปกติ ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์มีความเป็นปกติในสังคม กล่าวคือศีลในพุทธศาสนานั้น หมายถึงความเป็นปกติ เฉกเช่นความเป็นไปของธรรมชาติ
ชาวอีสานและชาวลาวมีเนื้อหาสาระของชีวิตทั้งปี ที่ฮีตสิบสองฉันใด พระเจ้าแผ่นดินไทย ก็ทรงมี พระราชพิธีสิบสองเดือน ฉันนั้น ที่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ไล่ๆกับที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงรจนาเรื่อง พระราชพิธีทวาทศมาศ ก็เพราะประเพณีและพิธีกรรมของเรากำลังเริ่มปลาสนาการไปในรัชกาลที่ ๕ โดยที่ตราบถึงสมัยนั้น ไม่ว่าจะจารีตประเพณีตามฤดูกาลหรือตามความเป็นไปของแต่ละบุคคล ในเรื่องเกิด ตาย แต่งงาน ปลูกเรือน ฯลฯ ล้วนมีความงามและความดีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
ดังท่านเสฐียรโกเศศซึ่งเขียนเรื่องต่างๆทางประเพณีและพิธีกรรมของไทยเอาไว้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าท่านเป็นบุคคลรุ่นสุดท้ายที่แลเห็นวิกฤตการณ์ทางวิถีชีวิตแบบไทยๆ ซึ่งกำลังกลายจากความงามเป็นความน่าเกลียด กลายจากความดีเป็นความกึ่งดิบกึ่งดี และกลายจากการแสวงหาความจริงเป็นการแสดงออกทางอาสัตย์อาธรรม เพื่อแสวงหาเงินและอำนาจ อย่างสยบยอมต่อสิ่งซึ่งเรียกว่าอารยธรรมอย่างฝรั่ง หรือศรีวิไล ซึ่งมีคำว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นคำตอบ โดยที่ทั้งสองคำนี้อาจให้ความสะดวกสบายแก่คนจำนวนน้อย แต่ให้โทษแก่คนจำนวนน้อยนั้นด้วย เพราะความงามและความดีขาดหายไปกับเทคโนโลยีอย่างใหม่ๆ การพึ่งตัวเองหายไป การพึ่งธรรมชาติกลายมาเป็นการทำลายล้างธรรมชาติ รวมถึงการกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบมหาชนกว่าครึ่งหนึ่งของผู้คนทั้งหมดบนพื้นพิภพนี้
อารยธรรมของชาวเอเชียมาจากป่า อารยธรรมของตะวันตกมาจากเมือง
รพินทรนาถ ฐากูร กล่าวว่าอารยธรรมหรือวัฒนธรรมของชาวเอเชียมาจากป่า หรือมีต้นตอมาจากป่า ในขณะที่อารยธรรมของตะวันตกมาจากเมือง
คำว่าศรีวิไลหรือ civilization ที่เราแปลมาอย่างผิดๆว่าอารยธรรมนั้น ในภาษละตินหมายถึงการอยู่เมือง อริสโตเติลแถลงว่าถ้ามนุษย์ไม่อยู่เมือง ย่อมไม่อาจเติบโตได้เต็มที่ทางด้านความงาม ความดี และการแสวงหาความจริง เพราะเมืองเป็นที่ที่อาจแบ่งสรรปันการงานให้คนที่มีสติปัญญาได้ใช้ความคิดความอ่านอย่างเต็มที่ เพราะถ้าอยู่หมู่บ้านหรืออยู่ป่า แต่ละคนมัวเสียเวลาไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือดูแลสุขภาพอนามัย ป้องกันโจรผู้ร้าย ก็หมดวัน เป็นอันไม่มีเวลาว่างให้สร้างสรรค์นฤมิตรศิลปวิทยาได้เลย
อนึ่ง ตัวเมืองยิ่งวิเศษพิสดารเท่าไร ถือได้ว่าเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยเน้นที่ความงาม ความมั่งคงแข็งแรง และอำนาจในทางการเมืองและในทางเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ความข้อหลังนี้เป็นความคิดของพวกโรมันยิ่งกว่าพวกกรีก ซึ่งเห็นว่าเมืองควรเป็นนครรัฐเล็กๆ สิ่งก่อสร้างก็ควรงดงามอย่างไม่ใหญ่โตโอฬาร และไม่ควรขยายอำนาจออกไปกดขี่ข่มเหงเพื่อนบ้าน แม้อุดมคติข้อหลังนี้จะแปรผันไปแต่สมัยเมื่อเอเธนส์เรืองอำนาจ ก่อนสมัยพระเจ้าฟิลิปส์แห่งมาซีโดเนียและอเล็กซานเดอร์มหาราชแล้วด้วยซ้ำไป
สำหรับโรมนั้น การขยายอาณาจักรออกไปเป็นสัญญลักษณ์ของการกระจายอารยธรรมแบบโรมัน ไปเอาชนะพวกป่าเถื่อน โดยมีจูเลียส ซีซ่าเป็นคนสำคัญสุด และออกัสตัสนำความคิดนี้มาขยายต่อ พระองค์ได้ทำให้กรุงโรมงดงามและจิรังยั่งยืนที่สุด อย่างน้อยก็ในทางวัตถุ ดังคำสรรเสริญพระเกียรติมีว่า เมื่อพระองค์เสวยราชย์กรุงโรมเต็มไปด้วยอาคารอิฐ หากเมื่อพระองค์สวรรคต กรุงโรมเต็มไปด้วยอาคารหินอ่อน
หินอ่อนก็เลยกลายเป็นสัญญลักษณ์ของความงาม และความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ดังนั้น จูเลียส ซีซาร์ และออกัสตัส ซีซาร์สามารถโปรดให้แปลงปฏิทินในระบบสุริยคติ ให้พระนามกลายมาเป็นชื่อเดือนถึงสองเดือน คือเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม แม้ชื่อเดือนเดิมจะผันแปรไปจากความเป็นจริงก็ตาม ดังจะเห็นว่าเดือนกันยายนเรื่อยไปจนธันวาคมนั้น ในภาษาละตินบ่งว่าเดือน ๗ เดือน ๘ เดือน ๙ และเดือน ๑๐ หากในปฏิทินปัจจุบันกลายเป็นเดือน ๙ เดือน ๑๐ เดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ ไป
แม้พระสันตปาปาเกรกโกรี่จะปรับระบบปฏิทินในภายหลัง ก็หากล้าเปลี่ยนชื่อเดือนได้ไม่ และในการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสนั้น มีการเสนอชื่อเดือนใหม่ ให้ใช้ชื่อดอกไม้แทน เพื่อความงาม ให้ทิ้งของเดิมเสีย แต่ก็หาสำเร็จไม่ เฉกเช่นพระเจ้าปราสาททองของเรา ที่โปรดให้ลบศักราช ก็ไม่สำเร็จเช่นเดียวกัน
เมื่อไทยเรารับเอาความคิดอย่างฝรั่งและผลที่ตามมา
การที่ไทยเรารับเอาความคิดฝรั่งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมานั้น เริ่มถอนรากถอนโคนความคิดดั้งเดิมของเรา คือเราเกิดเชื่อถืออย่างฝรั่งขึ้นว่า การอยู่ป่าเป็นสัญญลักษณ์ของอนารยะ จนพระเจ้าลูกเธอองค์แรกในรัชกาลที่ ๕ ที่ประสูติในรัชกาลที่ ๔ จากเจ้าจอมมารดา ที่ทรงรักใคร่เป็นคนแรกนั้น มีพระนามว่า ศรีวิไล และอะไรๆที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของฝรั่ง ถือว่าไม่ศรีวิไล นี้แลคือหายนภัยที่สำคัญสุดของไทย ที่ทำลายทั้งความงาม ความดี และความจริง
เพราะมนุษย์เรานั้น ถ้าดูถูกคุณธรรมดั้งเดิมของตน โดยมองไม่เห็นคุณค่าอันวิเศษ ซึ่งอาจแอบแฝงอยู่ แล้วไปแสวงหาอารยธรรมอื่นนอกจารีตเดิมของตน นั่นคือการหักเหออกจากคุณธรรมดั้งเดิมซึ่งถือได้ว่าเป็นอันตรายนัก แม้เราจะไม่ไปเข้ารีตกับคริสตศาสนาของฝรั่ง แต่เราไปเข้ารีตกับความเป็นศรีวิไลของฝรั่ง ซึ่งมีอันตรายยิ่งกว่าคริสตศาสนาเสียอีก ยิ่งคริสตศาสนาก่อนแนบสนิทกับจักรวรรดิฝ่ายตะวันตก ซึ่งเป็นผู้กดขี่ด้วยแล้ว นับว่าคริสตธรรมมีคุณงามความดีซึ่งควรแก่การสรรเสริญ
แม้เราจะอ้างว่าเรายังนับถือพุทธศาสนาอยู่ แต่พุทธศาสนากลายมาเป็นเพียงจารีต ประเพณีและพิธีกรรม ซึ่ง ฤตะ แทบไม่สัมพันธ์กับ ฤตุ เอาเลย จะมีข้อยกเว้นก็แต่เพียงการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตตามฤดูกาลเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจารีตแม้จน พระราชพิธีสิบสองเดือน กลายเป็นเพียงรูปแบบภายนอก ซึ่งส่อถึงความลุ่มลึกภายในไม่ได้ และเมื่อภายในปราศจากคุณงามความดีที่เป็นสันติสุขเสียแล้ว จะสร้างสรรปั้นแต่งสังคมภายนอกให้มีความงามและความดีถึงเนื้อหาสาระได้อย่างไร
หนังสือ สมบัติของผู้ดี เครื่องมือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม
หนังสือ สมบัติของผู้ดี ที่แต่งแต่ในรัชกาลที่ ๕ ให้นักเรียนเรียนกันทั่วไปในระบบการศึกษาอย่างใหม่นั้น นายเมืองเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมอย่างใหม่ ในขณะที่นายเถื่อนเป็นตัวแทนของความล้าสมัย หรือความป่าเถื่อน ทั้งๆที่ความคิดดั้งเดิมของเรานั้น ป่าเป็นต้นตอที่มาของอารยธรรม ดังพระมหาสัตว์เสด็จออกจากวัง จากเมือง เพื่อแสวงหาพระอมตธรรมหรืออารยธรรมที่ในป่า ทรงใช้เวลาถึง ๖ ปี จึงทรงค้นพบพระปรมัตถธรรม ภายใต้ต้นมหาโพธิ ดังพระองค์เองก็ประสูติ ณ สวนป่าหรือวนา ทรงแสดงปฐมเทศนาในสวนป่าและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในสวนป่า รวมถึงวัดวาอารามที่โปรดให้สงฆ์จากจาตุรทิศอาศัยอยู่ด้วยก็ล้วนมุ่งให้เป็นสวนป่า หรืออารามนั้นเอง
สะอาด สว่าง สงบ หนทางแห่งสุนทรียธรรม
ป่าให้ความงามตามธรรมชาติ ดังวัดก็ให้ความงามตามธรรมชาติเช่นกัน แม้จะมีสิ่งก่อสร้าง อาคารนั้นๆก็บรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ เฉกเช่นชีวิตของพระก็บรรสานสอดคล้องกันภายในองค์ท่าน ชีวิตท่านจึงทรงพรหมจรรย์ คือชีวิตอันงดงามอย่างประเสริฐ โดยพระแต่ละรูปอยู่ร่วมกันในอารามอย่างบรรสานสอดคล้องกัน มีวิถีชีวิตอันเรียบง่าย อย่างเสียสละ เพื่อเป็นแบบอย่างแห่งการพอใจในสิ่งที่มีอยู่ตามมีตามได้ อยู่อย่างว่าง อย่างให้ยิ่งกว่ารับ แม้การกิน การอยู่ การนอน การครองผ้าของท่านก็เป็นไปอย่างงดงาม อย่างมีสติเป็นตัวกำกับ ความงามจึงประสานกับความดี คือศีลาธิคุณ นับเป็นความงามอย่างสะอาด และเมื่อเจริญจิตสิกขาอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม ความสงบจึงควบคู่ไปกับความสะอาด โดยที่เมื่อท่านแสวงหาศักยภาพที่แท้อันซ่อนเร้นอยู่ได้ภายในตนท่าน แล้วนำเอาศักยภาพนั้นๆมารับใช้หรือเกื้อกูลสรรพสัตว์ เท่ากับว่าท่านสว่างขึ้นอย่างงดงาม สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า นัตถิปัญญาสมาอาภา นั้นแล
ความสะอาด ความสงบ และความสว่าง ของพระ ช่วยให้ท่านงดงามด้วยจรรยา ช่วยให้วัดงดงามอย่างเป็นที่ตั้งแห่งกองกุศลทั้งปวง โดยที่วัดเป็นองค์รวมในทางคุณงามความดีทั้งหมด ไม่ว่าจะในทางศาสนธรรม ศีลธรรม ศิลปวิทยาหรือการเยียวยารักษาโรค ตลอดจนการป้องกันโรค โดยที่วัดเป็นสถานที่ที่บรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ กับสังคมภายในวัดและภายนอกวัด ช่วยให้พุทธบริษัทหรืออุบาสกอุบาสิกาได้รับพลังในทางความดี ความงาม ความเรียบง่าย ตลอดจนลดความเบียดเบียน ไปจนเพิ่มความเกื้อกูลอาดูรกันในสังคมอีกด้วย ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับบ้าน ย่อมเป็นไปอย่างสอดคล้องกันและอย่างงดงามในแทบทุกกรณี
ถ้าพระเป็นอลัชชี เป็นสมี ชาวบ้านย่อมมีอำนาจในการตรวจสอบ ในการไม่ทำนุบำรุงด้วยอามิส ไปจนถึงการจับสึกมาลงทัณฑ์ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ชาวบ้านก็จะยกย่องอย่างเป็นการถวายสมณศักดิ์ โดยที่สมณศักดิ์จากประชาชนมีคุณค่ายิ่งกว่าที่มาจากทางราชการเป็นไหนๆ แม้ในสมัยที่รัฐบาลและองค์การกลางของคณะสงฆ์จะยังไม่ฉ้อฉลดังในบัดนี้ก็ตามที
หัวมงกุฎท้ายมังกร ความกึ่งดิบกึ่งดี
การเปิดกรุงสยามให้ฝรั่งเข้ามามีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือเราในรัชกาลที่ ๔ นั้น อาจเป็นความเหมาะสมสำหรับยุคสมัย แต่การที่ชนชั้นปกครองของไทยเริ่มแลเห็นคุณค่าของฝรั่งว่าเป็นอารยธรรม ที่สูงส่งกว่าพื้นภูมิธรรมเดิมของเรา เท่ากับว่าเราเริ่มสั่นคลอนทางคุณค่าที่ว่าด้วยความดีงาม ที่สืบทอดมาแต่บรรพกาล ยิ่งมีการดูถูกอุดมการณ์จาก ไตรภูมิพระร่วง รวมตลอดจนดูถูกความคิดของพระอดีตราชามหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วยแล้ว นับว่าให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ
ยิ่งการไม่ยอมรับจักรวาลวิทยาของเดิม ที่ความงามความดีต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางด้วยแล้ว เท่ากับว่าเราบั่นทอนแนวความคิดที่สืบทอดกันมาอย่างน่าวิตก ยิ่งมาสร้างตึกฝรั่ง ๒-๓ ชั้นขึ้นในพระบรมมหาราชวัง นั่นเท่ากับทำลายองค์รวมในทางความงาม ที่ผูกพันทั้งกับจักรวาลวิทยาและระบบธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งมีสุนทรียรสอย่างบรรสานสอดคล้องกัน โดยมีความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์รวมอยู่ด้วยกันกับวิถีชีวิต อาคาร สถานที่ และพิธีกรรมด้วยประการทั้งปวง
จากพระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์เก่า) มาจนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง นั่นเป็นการเอาความทันสมัยอย่างฝรั่ง เข้ามาบดบังและทำลายความบรรสานสอดคล้องกันในด้านความงาม และความศักดิ์สิทธิ์อย่างเดิม จนเกิดความคิดแบบหัวมงกุฎท้ายมังกร ควบคู่ไปกับความกึ่งดิบกึ่งดี ที่น่าจะตราเอาไว้ ยังการที่โปรดให้สร้างวังเจ้านายสำหรับพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ อย่างตึกฝรั่งทั้งหลายด้วยแล้ว เราแลเห็นกันไหมว่านั่นเป็นการเริ่มต้นความเป็นศรีวิไลอย่างฝรั่ง ซึ่งให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ
ยิ่งมาถึงปลายรัชกาลที่ ๕ ด้วยแล้ว ถ้าเราไม่มีอาคารที่สร้างด้วยหินอ่อนจากอิตาลี เราจักศรีวิไลได้ไม่เต็มที่ ทำให้ต้องแพ้พระจักรพรรดิออกัสตัส แม้โบสถ์วัดเบญจมบพิตร ก็ต้องใช้หินอ่อน ดั่งพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์ใหม่ ในสวนดุสิต ก็เป็นหินอ่อนทั้งหลัง ซึ่งมีนายช่างสถาปนิกชาวอิตาเลียนก็ยังพอทน แถมจิตรกรรมฝาผนังก็ใช้นายช่างจากอิตาลีอีกเช่นกัน โดยรูปภาพนั้นๆก็เป็นฝีมือฝรั่ง ซึ่งสรรเสริญเยินยอพระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์อย่างเกินความเป็นจริง
ตึกรามที่ไม่สัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวมนั้น แม้จะงดงามเป็นสง่าอย่างฝรั่ง ก็ไม่บรรสานสอดคล้องไปกับสังคมไทยทั้งหมด ยิ่งภายหลังขุนนางข้าราชการและคหบดีเอาอย่างมาสร้างคฤหาสน์เป็นตึกฝรั่งอย่างวังเจ้านายด้วยแล้ว นั่นเป็นการขยายความโอฬาริกอย่างฝรั่ง เข้าไปทำลายสุนทรียภาพอย่างดั้งเดิมของเรา ซึ่งรักษาไว้ได้อย่างกึ่งฝรั่งกึ่งไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา
การเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย การคลายจากความเคารพในธรรมชาติ
ดังพระราชโองการที่โปรดให้ใส่เสื้อเข้าเฝ้านั้น ถ้าให้เหตุผลว่าเพื่อเอาใจฝรั่ง ก็ยังพอรับได้ นี่ประกาศว่าการไม่ใส่เสื้อเข้าเฝ้า แสดงถึงความป่าเถื่อน ให้เห็นกลากเกลื้อนเหงื่อไคลและสิ่งปฏิกูลต่างๆทางร่างกายนั้น เท่ากับว่าเราพูดอย่างฝรั่งเอาเลย แม้พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระภูษาโจง แต่การทรงพระมาลาสก๊อตนั้น ไม่เห็นเป็นการเสียหาย ดังต่อมาทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับลงไปบนฉลองพระองค์ และเครื่องแต่งกายอย่างฝรั่งด้วยแล้ว ทั้งอึดอัดขัดข้อง โดยมองไม่เห็นคุณค่าของยศศักดิ์อัครฐานแบบเดิมที่มีทนายหรือบ่าวไพร่ถือตามไป ซึ่งให้คุณกับผู้เป็นนาย ยิ่งกว่าเอายศศักดิ์อัครฐานนั้นๆมาประดับกายเป็นไหนๆ
ยิ่งยวดยานพาหนะ ที่เดิมใช้เรือ กลายมาใช้รถ แต่เริ่มถนนเจริญกรุงเป็นต้นมานั้น ให้โทษยิ่งกว่าให้คุณในทุกๆทาง ยิ่งมามีรถมอเตอร์คาร์เป็นของเล่นสำหรับผู้มีอำนาจและผู้มีทรัพย์ด้วยแล้ว หามองเห็นกันไม่ว่านั่นได้กลายมาเป็นปัญหาทางด้านการจราจรติดขัด จนเกิดมลพิษต่างๆ ซึ่งรวมถึงอาคารที่สร้างสูงขึ้นไปอย่างไม่รู้ว่ากี่ชั้นต่อกี่ชั้น อันแสดงให้เห็นว่าการเคารพแผ่นดิน แผ่นน้ำหมดไป อาคารบางหลังอาจจะงาม โดยที่อาคารยิ่งสูง ยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งน่าเกลียด ยิ่งสร้างเพื่อแสวงหากำไร สร้างเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของวิศวกรหรือนายทุน ยิ่งปราศจากความงามเอาเลย โดยจะให้ได้ความงามอย่างสอดคล้องกันทั้งบ้านทั้งเมืองด้วยแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้เอาเลย
จะอย่างไรก็ตาม แต่รัชกาลที่ ๕ จนรัชกาลที่ ๗ ชนชั้นปกครองนั้น ในแง่หนึ่ง เห็นว่าเราต้องเดินตามฝรั่ง ทั้งด้านความงาม ความคิด และการพัฒนาบ้านเมือง ตลอดไปจนขบวนการยุติธรรม และโทรคมนาคม ซึ่งหมายถึงการรวมศูนย์อำนาจไว้ในราชธานีหนึ่งเดียว ด้วยการแผ่พระบรมเดชานุภาพไปทั่วทั้งรัฐสีมาอาณาจักร โดยอาศัยเทคโนโลยีอย่างฝรั่ง แม้จนจ้างฝรั่งมาช่วยในการบริหารบ้านเมือง หากส่งคนของเราไปเรียนรู้จากเขา ให้เท่าทันฝรั่งยิ่งๆขึ้นทุกที ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็นับว่าเป็นการดี แต่มองในมุมกลับ คนของเรายิ่งไปเรียนเมืองนอกนานเท่าไรก็ยิ่งนับถือฝรั่งยิ่งขึ้นเท่านั้น จนไม่เข้าใจพื้นภูมิเดิมของเราในทางความงามและความดีเอาเลย
แม้ความจริง ก็แสวงหาตามแบบตรรกวิทยาและคณิตศาสตร์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์แบบฝรั่งเท่านั้นเอง ถึงกระนั้นคนที่ไปเรียนในยุโรปอย่างรู้เท่าทันฝรั่ง ยังดีกว่าพวกที่ไปเรียนสหรัฐในระยะหลัง ซึ่งได้แต่ความกึ่งดิบกึ่งดีกลับมาโดยมาก เลยไม่เข้าใจเนื้อหาสาระทางด้านอารยธรรมฝรั่ง หรือวัฒนธรรมของไทยเอาเลย
อย่างน้อยในสมัยราชาธิปไตย ชนชั้นปกครองเริ่มมองเห็นโทษของการเดินตามก้นฝรั่งบ้างแล้ว จนในปลายรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจพวก โซ้ด คือพวกที่นิยมความเป็นฝรั่งอย่างสุดๆ โดยหันมาโปรดพวก อิน คือพวกอาราม ที่สึกหาลาพรตมารับราชการ หรือคนที่แสวงหาเอกลักษณ์อย่างของไทย ยิ่งกว่าจะหันไปนิยมยินดีกับความศรีวิไลอย่างฝรั่ง แม้พระราชวังดุสิตเอง จะมีตำหนักตึก จนพระที่นั่งหินอ่อนอย่างฝรั่งก็ตาม แต่ก็มีแมกไม้มากพอ นับเป็นการเอาอย่างฝรั่งในทางที่ดีงาม พร้อมกันนั้นก็โปรดให้สร้างพระที่นั่งวิมานเมฆเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง แถมยังมีเรือนต้น อันเป็นเรือนไม้ตามแบบชาวบ้านของชาวไทยในภาคกลางรวมอยู่อีกด้วย แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงของเล่นของพระราชา
จะอย่างไรก็ตาม ชนชั้นปกครองและคฤหบดีโดยทั่วๆไปยังได้รับรสพระธรรมประจำใจอยู่มิใช่น้อย ศาสนจักรยังเป็นตัวถ่วงอาณาจักร ทั้งทางด้านความดีและความงาม อย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ
การตัดขาดจาดความงาม ความดี แบบถอนรากถอนโคน
เรามาถูกตัดขาดจากความงามความดีของเราแต่เก่าก่อนอย่างแบบถอนรากถอนโคนเอาเลย ก็เมื่อเกิดเผด็จการพิบูลสงครามขึ้น จนเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยแลนด์เมื่อ ๖๐ ปีที่แล้วมานี้เอง กรณีนี้หมายถึงความเป็นไทยในแบบดั้งเดิม แม้กับการแต่งตัว การนั่งกับพื้น นั่งยองๆ หรือกินหมาก ก็ถูกรัฐนิยมห้ำหั่นเอาเสียสิ้น ที่สุดจนวรรณกรรมท้องถิ่นอย่างเช่นของชาวล้านนา ที่นายนอตอง อดีตกงสุลฝรั่งเศสเก็บรวบรวมไว้ ก็ถูกเผาให้ปลาสนาการ
นับว่านี่เป็นการถอนรากถอนโคนทางความงามและความดีที่สำคัญยิ่ง ทั้งนี้เพราะเผด็จการนั้นโกงกินและทารุณอย่างเลวร้าย และที่ร้ายยิ่งกว่านี้ ก็แต่ปี ๒๔๙๐ และ ๒๕๐๐ เป็นต้นมา เพราะนั่นเป็นการผูกอำนาจไว้ในอธรรมไม่กี่คน หรือไม่กี่สกุล ยิ่งกรณีหลังนี้ด้วยแล้ว ได้ใช้ขัตติยราชเป็นเครื่องมือของเผด็จการอย่างเลวร้าย
โดยเฉพาะก็การสยบยอมกับทุนนิยมแบบอเมริกันนั้น ได้สร้างความวิกฤตขึ้นกับคุณงามความดีอย่างของเราในทุกๆทาง แถมมีการทำลายล้างขบวนการของประชาชน ทำลายล้างผู้นำในชนบทและในกรุงแทบทุกระดับ ยังคำว่า “พัฒนา” ก็ดี คำว่า “ประชาธิปไตย” ก็ดี ล้วนเป็นคำกลาง ที่มุ่งให้ชนชั้นนำของเราสยบยอมกับอภิมหาอำนาจ โดยเฉพาะก็สหรัฐ เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของคนพวกนั้น ยิ่งกว่าจะให้คุณประโยชน์แก่ประชาราษฎรส่วนใหญ่
ธนาธิปไตยกับการทำลายความงามและธรรมชาติ
ความน่าเกลียดเข้ามาแทนที่ความงามแต่พ.ศ. ๒๔๙๐ และ ๒๕๐๐ โดยเริ่มจากเมืองกรุง ยิ่งกรุงขยายอำนาจอันฉ้อฉล และเป็นจุดศูนย์รวมของกำลังทรัพย์ที่รับใช้อภิมหาอำนาจและบรรษัทข้ามชาติ แล้วแพร่ขยายอิทธิพลในทางเลวร้ายนี้ออกไปในจังหวัดต่างๆมากเพียงไร โดยอาศัยเทคโนโลยีแบบใหม่ ให้เกิดถนน ให้เกิดการสื่อสารคมนาคม โดยเฉพาะก็สื่อสารมวลชน ที่รัฐผูกขาดอยู่กับบรรษัทข้ามชาติ หรือกับนายทุนที่หนุนรัฐบาล โดยเป็นฐานท