การกลายเป็นอื่นใน The Passenger

การกลายเป็นอื่นใน The Passenger
คงไม่มีใครที่ติดตามเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่อง The Passenger (1975) ไปจนถึงตอนจบแล้วจะไม่รู้สึกอะไรเลย หรือแม้แต่ภาพทุกภาพที่เรามองเห็นหรือเสียงทุกเสียงได้ยินจะเป็นเพียงสิ่งที่เกิดอยู่ไกลๆ และถึงที่สุดอาจไม่มีบทสรุปหรือคำอธิบายใดๆ เลย

หากความรู้สึกหนึ่งที่แจ่มชัดก็คือ ‘ ความเศร้า ‘ ซึ่งแม้แต่ตัวมิเกลันเจโล อันโตนิโอนี (Michelangelo Antonioni) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อตอนที่เขาให้สัมภาษณ์ว่า “ เขาไม่ได้รู้สึกว่าตอนจบของหนังเรื่องนี้เศร้า ” ก็ยังพูดด้วยสีหน้าที่เศร้าสร้อยหม่นหมอง

The Passenger เป็นเรื่องราวของเดวิด ลอค ( แจ็ค นิโคลสัน ) นักข่าวหนุ่มผู้เดินทางเพื่อไปยังประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่งในทวีปอาฟริกา ซึ่งกำลังมีการทำสงครามกันระหว่างกองกำลังของรัฐบาลเผด็จการกับขบวนการปลดปล่อย
ลอคต้องการที่จะเข้าพบผู้นำขบวนการ เพื่อให้สารคดีของเขาที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ หากไม่ว่าเขาจะพยายามสักเท่าไร เขาก็ไม่สามารถเข้าถึงขบวนการปลดปล่อยได้เลย ท่ามกลางทะเลทราย และความร้อนระอุของไอแดด รถของเขาติดอยู่ในหลุมทราย ในที่สุดลอคก็เลิกล้มความตั้งใจ เขาเดินเท้ากลับมายังโรงแรมที่เขาเข้าพัก ซึ่งปรากฏว่าโรเบิร์ตสันเพื่อนข้างห้องที่เขารู้จักโดยบังเอิญ ได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ในห้วงเวลานั้นลอคที่รู้สึกผิดหวังเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็เกิดแรงจูงใจบางอย่างขึ้นมา เขาย้ายศพของโรเบิร์ตสันมาไว้ห้องของเขา สับเปลี่ยนภาพถ่ายบนหนังสือเดินทาง เพื่อปลอมแปลงตัวเขาเป็นโรเบิร์ตสัน และโรเบิร์ตสันเป็นเดวิด ลอค นักข่าวหนุ่มที่ได้เสียชีวิตด้วยลงด้วยโรคหัวใจ

ลอคในอัตลักษณ์ของโรเบิร์ตสันกลับไปบ้านที่ลอนดอนของเขาอีกครั้ง เขาพบว่าภรรยาหรือราเชล ลอคกำลังคบหากับใครคนอื่นอยู่จากข้อความที่ฝ่ายชายเขียนทิ้งไว้ เหมือนการกลับไปที่บ้านครั้งนี้เป็นภารกิจสุดท้ายที่ลอคทำให้กับตัวเอง เพื่อคลายความข้องใจ หรือเพื่อเรียนรู้ความเป็นจริงบางอย่าง

ลอคเดินทางด้วยตั๋วเครื่องบินของโรเบิร์ตสันไปยังฮัมบูร์ก แล้วก็ได้ค้นพบว่าตัวตนที่เขาเป็นอยู่ในตอนนั้นคือตัวตนของพ่อค้าอาวุธที่ทำการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับนักรบในกลุ่มต่อต้าน เขาได้พบกับอาชีเบผู้นำขบวนการปลดปล่อย ( ที่เขาไม่สามารถพบเจอได้เมื่อเป็นนักข่าว ) ซึ่งก็นิยมชมชอบในตัวโรเบิร์ตสันในฐานะของพ่อค้าอาวุธที่มีอุดมการณ์ ( ซึ่งก็โชคดีที่อาชีเบก็เองไม่เคยเจอโรเบิร์ตสันมาก่อน )

ส่วนทางด้านมาร์ติน ไนท์เพื่อนร่วมงานของลอคที่เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของเขาแล้วก็มีความพยายามที่จะรวบรวมผลงานที่ยังไม่เสร็จสิ้นของลอคให้เป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งที่อุทิศให้แก่ตัวลอคเอง และด้วยเหตุนี้มาร์ตินจึงต้องการที่จะพบหรือขอสัมภาษณ์พูดคุยกับโรเบิร์ตสัน เพื่อนร่วมห้องที่ใกล้ชิดกับลอคมากที่สุด ในช่วงเวลาก่อนเขาที่จะเสียชีวิตลง

ลอคในอัตลักษณ์ของโรเบิร์ตสันจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะหลบเลี่ยงการพบปะกับมาร์ติน ทั้งนี้ก็เพื่อปกปิดหรืออำพรางตัวตนของเขาในอัตลักษณ์ของคนอื่นต่อไป

ในระหว่างที่ลอคพยายามจะหลีกหนีมาร์ตินซึ่งดักรอเขาอยู่ที่โรงแรมนั้นเอง เขาก็บังเอิญได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่ง ( มาเรีย ชไนเดอร์ ) ที่อาคารของอันโตนิน เกาดี (Antonin Gaudy) น่าแปลกที่ในเรื่องไม่มีเลย แม้แต่สักตอนเดียวที่ทำให้เราได้ทราบชื่อของเธอ ( หากก็เป็นไปได้ว่าอันโตนิโอนีจงใจที่จะให้ตัวละครผู้หญิงคนนี้ไม่มีชื่อ ) และเธอนั่นเองที่ช่วยให้ลอคสามารถหลบหลีกมาร์ตินได้เป็นผลสำเร็จ

ลอคและหญิงสาวคนนั้นจึงออกเดินทางไปด้วยกัน เหมือนการมาพบกันของทั้งคู่ได้ช่วยตอกย้ำถึงหน้าที่ภาระที่ลอคต้องทำต่อในฐานะที่เป็นโรเบิร์ตสัน หรือเพราะหญิงสาวคนนั้นเชื่อว่าการมีอยู่ของโรเบิร์ตสันก็คือการทำให้อุดมคติบางอย่างมีอยู่ต่อไป

เรื่องราวดำเนินไปพร้อมกับการฉายให้เห็นอันตรายที่กำลังคืบใกล้เข้ามาหาลอค ( หรือลอคในอัตลักษณ์ของโรเบิร์ตสัน ) อาชีเบถูกตำรวจลับที่ทำงานให้กับรัฐบาลเผด็จการจับตัวได้ที่บาร์เซโลน่า ขณะที่อีกทางหนึ่งภรรยาของลอคก็ค้นพบว่าหนังสือเดินทางที่เธอได้จากสถานทูต ( พร้อมๆ กับกล้องถ่ายภาพยนตร์ เครื่องบันทึกเสียง และข้าวของอื่นๆ ของลอค ) ถูกเปลี่ยนแปลง เพราะภาพที่ติดอยู่ไม่ใช่ใบหน้าของสามีเธอ เธอจึงพยายามสืบค้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับสามีเธอกันแน่ ซึ่งหลังจากที่ราเชลกลับไปสถานทูตอีกครั้งเพื่อสืบถามความจริงเกี่ยวกับโรเบิร์ตสันก่อนจะออกเดินทางไปสเปน ทางรัฐบาลก็ได้ส่งตำรวจลับแอบติดตามเธอ เพื่อไปถึงตัวโรเบิร์ตสัน

การสืบสางภารกิจของโรเบิร์ตสันเกือบจะสิ้นสุดลง ลอคไม่พบบุคคลที่โรเบิร์ตสันได้ทำการนัดหมายเอาไว้แม้แต่คนเดียว ภาพที่เราเห็นก็คือเขาและหญิงสาวอยู่ในภาพภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมที่เวิ้งว้าง ใต้แสงแดดจ้าและท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม ลอคพยายามขับไล่เธอไป แต่ในที่สุดเขาก็รับเธอขึ้นรถอีกครั้ง และทั้งคู่ก็เข้าพักที่โรงแรมเก่าแก่แห่งหนึ่งและได้หลับนอนร่วมกันเป็นครั้งแรก

จุดสุดท้ายในการเดินทางของลอคและหญิงสาว ( ที่ได้เปลี่ยนอัตลักษณ์ของเธอเป็นนางโรเบิร์ตสัน ) คือโรงแรมที่ตั้งอยู่ในย่านชานเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ลอคได้ขอให้เธอไป ก่อนหน้าที่ตำรวจลับที่ติดตามราเชลจะเดินทางมาถึงโรงแรมแห่งนี้ไม่นาน ในกรอบหน้าต่างของห้องพัก เราจะเห็นหญิงสาวคนนั้นเดินออกไป จากนั้นเราก็จะเห็นรถของตำรวจลับสองคนเคลื่อนเข้ามาจอด ตำรวจลับคนหนึ่งก้าวออกจากรถ แล้วเดินเข้ามาในโรงแรม แต่เราจะไม่เห็นภาพของตำรวจคนนั้น นอกจากได้ยินเสียงปืนดังขึ้นนัดหนึ่ง พร้อมๆ กับเสียงเร่งเครื่องยนต์ แล้วภาพของรถยนต์คันเดิมก็ขับออกไป

ราเชลและตำรวจเดินทางมาถึงโรงแรม เธอเดินไปยังห้องพักของลอคพร้อมกับหญิงสาว ตำรวจถามราเชลว่า รู้จักชายผู้ตายหรือไม่ ราเชลส่ายหน้า ขณะที่ตำรวจถามคำถามเดียวกันกับหญิงสาว เธอพยักหน้ารับ และยืนยันว่าผู้ตายคือโรเบิร์ตสัน จุดจบของเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนภาพวาดที่แลดูคลุมเครือ ซึ่งจิตรกรบรรจงวาดในมุมที่ไกลออกไป

ภาพสุดท้ายที่เราเห็นในเรื่อง ก็คือภาพโรงแรมแห่งนั้น ซึ่งเบื้องหลังเป็นท้องฟ้าสีชมพูระเรื่อยามเย็น แสงไฟสังเคราะห์สุกสว่างขึ้นเพื่อรับกลางคืนที่จะมาถึง เสียงดนตรีไพเราะล่องลอยเข้ามา เหมือนเป็นสัญญาณหรือข้อความบางอย่างที่กระทบเข้ามาในจิตใจเรา ชั่วขณะนั้นเองที่เรารู้สึกได้ถึงความเศร้า ซึ่งบ่งบอกไม่ได้ว่าเราเศร้าให้กับใครหรือสิ่งใดกันแน่ s

The Passenger เป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนตัวตนเป็นคนอื่น ซึ่งเผอิญว่าตัวตนที่ลอคเลือกเป็นนั้นเป็นภาพเงาหรือภาพบุคคลที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นอุดมคติ ดังนั้นในตอนหนึ่งที่ลอคได้เปิดฟังบทสนทนา ที่เขาแอบบันทึกเสียงพูดคุยระหว่างเขากับโรเบิร์ตสันเอาไว้ ขณะที่ทำการสับเปลี่ยนภาพบนหนังสือเดินทาง จึงทำให้เราทราบได้ว่าโรเบิร์ตสันนั้นไม่เหมือนจะเป็นคนที่ทำการค้าหรือนักธุรกิจเอาเสียเลย

เพราะโรเบิร์ตสันมีอารมณ์อันละเอียดอ่อน เขาหลงใหลต่อภาพภูมิทัศน์และรู้สึกได้ว่าภาพที่เขาเห็นนั้นได้เปลี่ยนแปลงตัวเขาอย่างช้าๆ ซึ่งแน่นอนเกือบจะตรงกันข้ามกับลอคอย่างสิ้นเชิง ลอคไม่เชื่อในภาพภูมิทัศน์ นอกเสียจากผู้คนที่เขาทำการถ่ายภาพ หรือบันทึกเสียงเอาไว้

ขณะที่ในทางกลับกันโรเบิร์ตสันมองลอคและงานนักข่าวที่ลอคทำว่าเป็นสิ่งนามธรรมเกินไป เพราะเมื่อเปรียบกับงานของโรเบิร์ตสัน ( การจัดหาอาวุธให้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ) มันเป็นงานที่จับต้องได้และเป็นรูปธรรมกว่าจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่บทสนทนาระหว่างลอคและโรเบิร์ตสันจะชวนให้เราคิดถึงภาพชีวิตที่ขัดแย้งในชีวิตของกวีชาวฝรั่งเศสอาตูร์ แรงโบด์ (Arthur Rimbaud) ซึ่งหลังจากที่แรงโบด์เลิกเขียนบทกวี เขาก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นพ่อค้าอาวุธ หรือพ่อค้าทาสในกาฬทวีป

ว่าไปแล้วแรงโบด์เองก็เหมือนได้ตายไปจากตัวตนเดิมที่เขาเป็นกวีหนุ่ม ไปสู่ตัวตนของพ่อค้า ( ที่จะเขียนก็แค่เขียนจดหมายโต้ตอบกับน้องสาว ) การกลายเป็นคนอื่นของแรงโบด์อาจจะสอดพ้องหรือคล้ายคลึงกับลอคในแง่ที่เป็นการดำรงอยู่ในตัวตนอื่น ซึ่งสำหรับลอคตัวตนของโรเบิร์ตสันคือภาพเสนอของอุดมคติ ที่เมื่อวางอยู่ในโลกแห่งจริงความจริง ตัวตนนี้โปร่งใส บางเบา ไม่สามารถจับต้องได้ หรือจริงๆ แล้วแทบจะไม่มีใครเลยที่เคยเห็นโรเบิร์ตสัน หรือสามารถยืนยันได้ว่าเขามีตัวตนอยู่นอกจากลอค และข่าวสารข้อมูลจากรัฐบาลเกี่ยวกับโรเบิร์ตสัน

คำถามคือทำไมลอคจึงต้องเปลี่ยนตัวตนหรือกลายเป็นคนอื่น ? คำตอบของคำถามข้อนี้อยู่ในบทสนทนาที่ลอคพูดกับหญิงสาว เหมือนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาลอคเองก็พยายามหนีตัวตนของความเป็นสามี ความเป็นพ่อ หรือความเป็นครอบครัว หากการเปลี่ยนแปลงตัวตนครั้งหลังสุดเป็นความประจวบเหมาะหรือบังเอิญอย่างมาก ซึ่งทำให้เขาเปลี่ยนผ่านจากผู้นำเสนอความจริง ( นักข่าว ) ไปสู่ผู้สร้างความจริงแบบใหม่ให้กับโลก ( ผู้สนับสนุนการปฏิวัติ )

ตัวตนที่ถูกสับเปลี่ยนในกรณีของลอคและโรเบิร์ตสันจึงอาจใช้เป็นภาพเสนอแทนถ้อยคำหรือแนวความคิดบางอย่างของแรงโบด์ที่ว่า ‘ ฉันคือสิ่งอื่น ‘

กล่าวในอีกแง่หนึ่งการกลายเป็นโรเบิร์ตสันของลอคก็คือการกลายเป็น ‘ สิ่งอื่น ‘ หรือเป็นไปได้แม้แต่ ‘ ความว่างเปล่า ‘ บางทีความเศร้าที่เกิดขึ้นในชั่วขณะสั้นๆ ของเราก็มาจากการตระหนักได้ถึงความว่างเปล่านั้น ไม่ใช่ความตายของลอค หรือตัวตนของโรเบิร์ตสัน ซึ่งเป็นปรัชญาสภาวะที่อันโตนิโอนีนำเสนอไว้ได้อย่างงดงามจับใจ
 

You may also like...