เหตุเฟื่องฟูและตกต่ำ
ปี ๒๔๒๐ รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำเนินการสนับสนุนกิจการสร้างภาพยนตร์ไทยด้วยมาตรการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ เป็นผลให้การนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศลดจำนวนลงฮวบฮาบทันที
เกิดภาวะการขาดแคลนภาพยนตร์สำหรับป้อนโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ราว ๗๐๐ โรง สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้การผลิตภาพยนตร์ไทยเพิ่มปริมาณขึ้นทดแทนทันที จากที่เคยผลิตกันในระยะก่อนหน้าปี ๒๕๒๑ เลี่ยปีละ ๘๐-๑๐๐ เรื่อง เพิ่มขึ้นเป็นปีละ ๑๒๐-๑๖๐ เรื่อง
ระยะสองสามปีหลังจากมาตรการขึ้นภาษีภาพยนตร์ต่างประเทศ จึงเป็นระยะที่กิจการสร้างภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง บริษัทสร้างภาพยนตร์รายใหญ่ที่มีอยู่สามรายคือ บริษัทนิวไฟว์สตาร์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่น บริษัทสหมงคลฟิล์ม และบริษัทเอเพ็กซ์โปรดักชั่น ยังคงเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์สำคัญของประเทศ ขณะเดียวกัน ระยะนี้เองได้เกิดบริษัทสร้างภาพยนตร์เช่นนี้เพิ่มขึ้นอีกสองสามราย ได้แก่ บริษัทเพิ่มพูนทรัพย์โปรดักชั่น บริษัทพีดีโปรโมชั่น บริษัทโอเรียนเต็ลอาร์ต
ผลงานภาพยนตร์ไทยเรื่องสำคัญในระยะเฟื่องฟูนี้ เช่น “รักอลวน” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๐) โดย เปี๊ยก โปสเตอร์ “เพื่อนรัก” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๐) โดย สักกะ จารุจินดา “ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๐) โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์อีกสองสามเรื่องซึ่งสร้างโดย ผู้สร้างอิสระ และปรากฏว่ามีความดีเด่นและบทบาทสำคัญยิ่งต่อวงการภาพยนตร์ไทยโดยส่วนรวมในระยะนั้น ได้แก่ “แผลเก่า” และ “ครูบ้านนอก”
“แผลเก่า” ของบริษัทเชิดไชยภาพยนตร์ โดย เชิด ทรงศรี ออกฉายปี ๒๕๒๐ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายชีวิตรักของหนุ่มสาวไทยพื้นบ้านสมัยก่อนสงครามครั้งที่สองของ ไม้ เมืองเดิม เป็นนิยายซึ่งเคยผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาก่อนแล้ว และประสบความสำเร็จทุกครั้ง เพราะความกินใจของความรักเชิงตำนานโศกนาฏกรรมอมตะทำนองเดียวกับโรมิโอ-จูเลียต
“ครูบ้านนอก” ของบริษัทดวงกมลมหรสพ โดยสุรสีห์ ผาธรรม ออกฉายปี ๒๕๒๑ สร้างจากนิยายของ คำหมาน คนไค แสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และสภาพปัญหาของชนบททุรกันดารในภาคอีสานอย่างจริงจัง
ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในด้านคำนิยมยกย่องจากนักวิจารณ์และการต้อนรับจากผู้ชมสามารถทำสถิติรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ทั้งคู่และก่อให้เกิดการเลียนแบบสร้างภาพยนตร์ในแนวนี้ติดตามมาเป็นขบวนการอีกหลายเรื่อง และต่างก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประกวดและฉายในงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่ง มีส่วนทำให้ภาพยนตร์ไทยเป็นที่รู้จักและสนใจของวงการภาพยนตร์สากลมากขึ้น
กิจการสร้างภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟูอยู่ได้เพียงสองสามปี สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป มีเหตุให้จำนวนการผลิตภาพยนตร์ต่อปีตกต่ำลงทันที สาเหตุแรกก็คือ หลังจากปี ๒๕๒๔ บริษัทตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่ของฮอลลีวู้ด ได้เริ่มส่งภาพยนตร์เข้ามาฉายในตลาดประเทศไทยอีก หลังจากการประท้วงเรื่องภาษีไม่ได้ผล อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการแข่งขันพัฒนากิจการวิทยุโทรทัศน์สถานีต่างๆ ในประเทศไทยโดยเฉพาะสถานีในกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากแข่งขันในด้านคุณภาพรายการแล้ว ยังแข่งขันในด้านการแพร่ภาพออกอากาศจนสามารถครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และสาเหตุสุดท้ายคือการเกิดขึ้นและแพร่หลายอย่างรวดเร็วของตลาดเครื่องเล่นแถบบันทึกภาพโทรทัศน์
จำนวนผลผลิตภาพยนตร์ไทยตกต่ำลงอย่างฮวบฮาบ ในระยะแรกคือ ช่วงปี ๒๕๒๕-๒๖ เหลือเพียงปีละไม่ถึงหนึ่งร้อยเรื่อง ฌรงภาพยนตร์หลายโรง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ต้องหยุดพักหรือเลิกกิจการไปตามๆกัน คนในวงการสร้างภาพยนตร์ไทยบางรายก็หันไปทำงานในวงการโทรทัศน์ อย่างไรก็ดีสถานการณ์ได้ค่อยๆ กระเตื้องขึ้นและทรงตัว
ปัจจุบันนี้มีบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยที่สำคัญอยู่ ๔ รายใหญ่คือ ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น สหมงคลฟิล์ม พูนทรัพย์ฟิล์ม และเอเพ็กซ์โปรดักชั่น และยังคงมีผู้สร้างอิสระซึ่งเป็นผู้สร้างมือเก่ามาแต่ครั้งยุค ๑๖ มิลลิเมตรอีกสามสี่ราย บริษัทและผู้สร้างอิสระเหล่านี้ ผลิตภาพยนตร์ไทยออกฉายเฉลี่ยปีละประมาณร้อยเรื่องเศษ ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ของโลก
ผลงานภาพยนตร์ไทยที่ดีเด่นในปัจจุบันนี้ได้แก่ “ลูกอีสาน” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๕) โดย วิจิตร คุณาวุฒิ “มือปืน” (วีซีโปรโมชั่นแอนด์พิคเจอร์ ๒๕๒๗) โดย ม.จ.ชาตรเฉลิม ยุคล “เพื่อน-แพง” (เชิดไชยภาพยนตร์ ๒๕๒๗) โดย เชิด ทรงศรี “น้ำพุ” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๗) และ “ผีเสื้อกับดอกไม้” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๘) โดย ยุทธนา มุกดาสนิท
ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียง นอกจาก ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งทรงปรากฏเป็นที่รู้จักในทางสากลจากผลงานภาพยนตร์สะท้อนสังคมหลายเรื่องของท่านแล้ว เชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอีกคนหนึ่งซึ่งปรากฏชื่อเสียงในทางสากลจากผลงานภาพยนตร์แสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย
ยังมีผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทยอีกสองคน ซึ่งมีผลงานสร้างชื่อเสียงและเกียรติยศให้แก่ชาติอย่างยิ่งในระยะปัจจุบัน คือ วิจิตร คุณาวุฒิ และยุทธนา มุกดาสนิท
ยุทธนา มุกสนิท เป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์รุ่นใหม่และวัยหนุ่ม (เกิด ๒๔๙๕) เข้าได้รับรางวัลชนะเลิศในฐานะผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ ในงานมหกรรมภาพยนตร์ ในงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติแห่งฮาวายเมื่อปี ๒๕๒๙ จากผลงานเรื่อง “ผีเสื้อกับดอกไม้”
วิจิตร คุณาวุฒิ เป็นผู้สร้างและผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์รุ่นอาวุโสของไทย (เกิด ๒๔๖๕) ในอดีตเขาเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่ได้รับฉายาว่า เศรษฐีตุ๊กตาทอง จากการได้รับรางวัลมากมายในการประกวดภาพยนตร์ในประเทศ ผลงานเกียรติยศของเขาคือ “ลูกอีสาน” ภาพยนตร์ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นงานภาพยนตร์ที่ดีเลิศของชาติ วิจิตร คุณาวุฒิ ได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาภาพยนตร์ เมื่อปี ๒๕๓๐ นับเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขานี้คนแรก