ในที่สุดกิจการสร้างภาพยนตร์ไทย ซึ่งกำเนิดขึ้นแล้วพัฒนาแตกออกไปเป็นสองสาย คือ ภาพยนตร์ไทยพากย์ และภาพยนตร์ไทยเสียงในฟิล์ม ตั้งแต่สมัยก่อนสงคราม แล้วคลี่คลายเป็นภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร พากย์ กับภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตร เสียงในฟิล์ม เมื่อหลังสงครามแล้ว
และที่สุดหลังจากปี ๒๕๑๔ ก็คลี่คลายอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้รวมกันเข้าเป็นสายเดียวกัน คือ ภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตร เสียงในฟิล์มจุดนี้นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นยุคภาพยนตร์ไทยปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะรวมเป็นสายเดียวกัน แต่ลักษณะแตกต่างทางความคิดยังคงปรากฏอยู่เป็นสองกลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มหนึ่งเป็นบรรดาผู้สร้างที่ยังคงมีความคิดและความเชื่อในสูตรสำเร็จเก่าๆ เช่น เมื่อสูญเสียมิตร ชัยบัญชาไป ผู้สร้างกลุ่มนี้ก็พยายามแสวงหานักแสดงคนอื่นมาแทนมิตร ที่สุดก็ได้ สมบัติ เมทะนี มาแทน และมี พิสมัย วิไลศักดิ์ กับ อรัญญา นามวงศ์ มาแทน เพชรา เชาวราษฏร์ แต่ไม่กี่ปีต่อมาก็มี สรพงษ์ ชาตรี กับ จารุณี สุขสวัสดิ์ มาเป็นสูตรสำเร็จแทนอีกระยะหนึ่ง
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นความคิดของผู้สร้างที่ตั้งใจจะพัฒนาเพื่อยกระดับคุณค่าทางศิลปะของภาพยนตร์ไทย ผู้สร้างกลุ่มนี้ กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงและนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสู่วงการสร้างภาพยนตร์ไทย
เปี๊ยก โปสเตอร์ ยังคงมีบทบาทเป็นผู้นำกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์หัวก้าวหน้า ภาพยนตร์เรื่องที่สองของเขาต่อจาก “โทน” คือ “ดวง” ซึ่งออกฉายปี ๒๕๑๔ และเรื่องที่สามคือ “ชู้” ออกฉายปี ๒๕๑๕ โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้ ปรากฏว่าได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ในความห้าวหาญสร้างสรรค์ภาพยนตร์ให้เป็นงานศิลปะ ผลงานของ เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นแรงดลใจให้ผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์ไทยหัวก้าวหน้าสร้างสรรค์ผลงานติดตามออกมาเป็นขบวนการ เริ่มจาก สักกะ จารุจินดา ซึ่งสร้าง “วิมานสลัม” (๒๕๑๕) และ “ตลาดพรหมจารี” (๒๕๑๖) และ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งสร้าง “มันมากับความมืด” (๒๕๑๕) และ “เขาชื่อกานต์” (๒๕๑๖)
ปรากฏการณ์ใหม่อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทยคือ บริษัทซึ่งทำธุรกิจบริการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดสร้างภาพยนตร์ด้วยตัวเอง โดยเกิดขึ้นในระยะแรก ๓ บริษัท ได้แก่ บริษัทไฟว์สตาร์ บริษัทสหมงคลฟิล์ม และบริษัทเอเพ็กซ์โปรดักชั่น โดยเฉพาะบริษัทหลังนี้นอกจากทำธุรกิจจัดจำหน่ายแล้ว ยังมีกิจการโรงภาพยนตร์ของตัวเองด้วยอีกหลายโรง การเข้ามาเป็นผู้จัดสร้างภาพยนตร์ด้วย จึงกล่าวได้ว่าเป็นการประกอบกิจการภาพยนตร์ที่ผูกขาดครบวงจร
บริษัทสร้างภาพยนตร์เหล่านี้ ต่างพยายามดุงผู้สร้างผู้กำกับการแสดง ตลอดจนนักแสดงภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงดีเด่น เข้าอยู่ในสังกัดของตน ผู้สร้างผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทย ซึ่งแต่เดิมมาเคยทำงานในลักษณะเป็นอาชีพอิสระ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้ทยอยเข้ามาอยู่ในสังกัดบริษัทเหล่านี้ นับจากปี ๒๕๑๖ เป็นต้นมา คนหนุ่มสาวที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ได้เริ่มเข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ไทยโดยหน้าที่ต่างๆ แทบทุกตำแหน่งรวมทั้งผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทยเช่น ยุทธนา มุกดาสนิท อภิชาติ โพธิไพโรจน์ ปกรณ์ พรหมวิทักษ์ “ศุภักษร” ม.ล.พันธ์เทวนพ เทวกุล
ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวจากวงการหนังสือพิมพ์และวงการโฆษณา ได้เข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ไทยด้วย เช่น วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ คิด สุวรรณศร เพิ่มพล เชยอรุณ สุชาติ วุฒิชัย เธียรชัย ลาภานันท์
คนรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้เข้ามาอยู่ในสังกัดบริษัทสร้างภาพยนตร์ในระบบใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดียังมีผู้สร้างภาพยนตร์ไทยมืออาชีพแต่ดั้งเดิมบางราย ที่ปรารถนาจะดำเนินกิจการเป็นผู้สร้างอิสระของตัวเองต่อไป เช่น ดอกดิน กัญญามาลย์ แห่งกัญญามาลย์ภาพยนตร์ ชรินทร์ นันทนาคร แห่งนันทนาครภาพยนตร์ เชิด ทรงศรี แห่งเชิดไชยภาพยนตร์ “พันคำ” หรือ พร้อมสิน สีบุญเรือง แห่งสีบุญเรืองฟิล์ม ฉลอง ภักดีวิจิตร แห่งบางกอกการภาพยนตร์
ผลงานภาพยนตร์ไทยของกลุ่มผู้สร้างรุ่นใหม่ ที่สำคัญและดีเด่นในระยะนี้ เช่น “เขาสมิง” (๒๕๑๖) ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ “เทพธิดาโรงแรม” (๒๕๑๖) และ “ความรักครั้งสุดท้าย” (๒๕๑๘) ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ” (๒๕๑๘) และ “ขุนศึก” (๒๕๑๙) ของ สักกะ จารุจินดา “ข้าวนอกนา” (๒๕๑๘) และ “ปราสาท” (๒๕๑๘) ของ เปี๊ยก โปสเตอร์
ส่วนภาพยนตร์ของกลุ่มผู้สร้างมือเก่าในวงการ ที่น่าสนใจเช่น “ทอง” (๒๕๑๗) ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร “แผ่นดินแม่” (๒๕๑๘) ของ ชรินทร์ นันทนาคร “ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ” (๒๕๑๗) และ ”นางเอก” (๒๕๑๙) ของ ปริญญา ลีละศร “สวัสดีคุณครู” (๒๕๒๐) ของ “พันคำ”