การเปลี่ยนแปลง
ปี ๒๕๑๓ นับเป็นปีสำคัญแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการภาพยนตร์ไทย ในบรรดาภาพยนตร์ไทยมาตรฐานที่ออกฉายในปีนี้ มีอยู่สองเรื่องซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งสามารถกำหนดทิศทางความเป็นไปของวงการ นั่นคือ “มนต์รักลูกทุ่ง” ของรุ่งสุริยาภาพยนตร์ และ “โทน” ของสุวรรณฟิล์ม
“มนต์รักลูกทุ่ง” กำกับการแสดงโดย รังสี ทัศนพยัคฆ์ ซึ่งมีผลงานสร้างและกำกับภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร พากย์ มาแล้วมากมาย เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นประวัติการณ์ของภาพยนตร์ไทย ออกฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียม กรุงเทพฯ นานติดต่อกันถึง ๖ เดือน ทำสถิติรายได้สูงสุดถึง ๙ ล้านบาท ก่ให้เกิดความตื่นตะลึงไปทั่ว
สาเหตุความสำเร็จของ “มนต์รักลูกทุ่ง” น่าจะอยู่ที่การรวมเอาความสุดยอดของสูตรสำเร็จภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร โดยเฉพาะคือการให้ มิตร-เพชรา เป็นคู่แสดงนำ ผนวกกับสุดยอดของเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นเพลงที่ครองใจชาวไทยระดับชาวบ้านทั่วประเทศ
ส่วน “โทน” สร้างโดยผู้สร้างหน้าใหม่ และกำกับการแสดงโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับหน้าใหม่ซึ่งก้าวขึ้นมาจากช่างเขียนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และช่างเขียนใบปิดโฆษณาภาพยนตร์มือหนึ่งของวงการขณะนั้น ความสำเร็จของ “โทน” ก็คือสามารถจุดความหวังใหม่ให้แก่ผู้ที่ปรารถนาจะเห็นภาพยนตร์ไทยมีพัฒนาการทางคุณภาพและคุณค่าทางศิลปะ “โทน” สามารถเรียกร้องผู้ที่เคยตั้งข้อรังเกียจภาพยนตร์ไทย ให้หันกลับมาสนใจดูภาพยนตร์ไทย
ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้มีผลทำให้บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะผู้สร้างในระบบ ๑๖ มิลลิเมตร ซึ่งเริ่มรู้สึกตัวกันมาก่อนหน้านี้แล้วว่าภาพยนตร์ไทยมีแนวโน้มจะต้องเปลี่ยนไปเป็นการสร้างภาพยนตร์มาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตร เสียงในฟิล์ม ยิ่งพากันรู้สึกหวั่นไหวมากขึ้นว่า ถึงเวลาที่พวกตนจะต้องเปลี่ยนแปลงจริงๆแล้ว
ฝ่ายผู้ชมภาพยนตร์ไทย ซึ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ไทยระบบมาตรฐานบ่อยขึ้น ก็เริ่มรู้สึกชอบใจและติดใจภาพยนตร์ไทยมาตรฐานมากกว่า เพราะจอกว้างใหม่กว่า สีเสียงสดใสตระการตา ในระยะนั้น ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตรหลายรายพยายามปรับตัวด้วยการถ่ายทำบางฉาก โดยเฉพาะฉากร้องเพลง เป็นระบบมาตรฐาน แทรกปนอยู่ในภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตรของตน
ปี ๒๕๑๓ เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันอย่างหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นจุดสุดยอดผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทย นั่นคือการประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา ซึ่งร่วงลงมาจากการห้อยโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ขณะเข้าฉากแสดงอยู่ในภาพยนตร์ไทยมาตรฐานเรื่อง “อินทรีทอง”
การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ มิตร ชัยบัญชา กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญประการสุดท้ายที่ทำให้การสร้างภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร พากย์ ซึ่งรุ่งเรืองมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปีต้องสิ้นสุดลง ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ของภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร ที่กำลังสร้างค้างอยู่ในขณะนั้น มี มิตร ชัยบัญชา แสดงนำภาพยนตร์เหล่านี้ต้องเลิกสร้างไปโดยปริยาย และนับจากนั้นมาผู้สร้างภาพยนตร์ไทยต่างหันไปสร้างภาพยนตร์มาตรฐานทีละรายสองราย นับจากปี ๒๕๑๕ ไม่มีใครสร้างภาพยนตร์ ๑๖ มิลลิเมตรอีกต่อไป