การส่งเสริมภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน
ปี ๒๕๐๕ รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัตส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากนโยบายเร่งรัดพัฒนาประเทศ และต่อมาในปี ๒๕๐๗ รัฐบาลก็ประกาศยอมรับให้กิจการสร้างภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ให้สิทธิที่จะได้รับการส่งเสริมเพราะเห็นว่าการสร้างภาพยนตร์ไทยยังไม่ได้มาตรฐานสากล
บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ไทยระบบมาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตรเสียงในฟิล์ม ซึ่งอยู่เพียงสองสามรายในขณะนั้น เช่น หนุมานภาพยนตร์ อัศวินภาพยนตร์ ละโว้ภาพยนตร์ จึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้อง ขอให้รัฐบาลพิจารณาให้สิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน และได้จัดตั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๑๐
ปี ๒๕๑๒ รัฐบาลยอมให้สิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย โดยมีเงื่อนไขว่า จะให้เฉพาะรายที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด และมีเงินทุนไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านบาท และจะต้องสร้างภาพยนตร์ในระบบมาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตรเสียงในฟิล์ม
ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน ๓ รายแต่เดิม คือ หนุมาน อัศวิน และ ละโว้ ต่างก็จดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัด และได้รับสิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ยังมีบริษัทใหม่เกิดขึ้นอีกสองสามรายเช่น บริษัทศรีสยามภาพยนตร์ และ บริษัทสุริยเทพภาพยนตร์
ก่อนปี ๒๕๑๐ มีผู้สร้างภาพยนตร์ระบบมาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตรเสียงในฟิล์ม ออกมาเฉลี่ยปีละเพียง ๑-๒ เรื่อง แต่หลังจากปี ๒๕๑๐ ปรากฏว่ามีการผลิตภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตร เสียงในฟิล์มออกมาเพิ่มขึ้นเท่าตัว คือ เฉลี่ยปีละ ๓-๔