ยุคภาพยนตร์เสียงศรีกรุง
ปี ๒๔๗๗ พี่น้องวสุวัตได้เริ่มลงมือก่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงอย่างถาวรและทันสมัยใหญ่โตขึ้นที่บริเวณทุ่งนา ชานพระนคร (บริเวณปากซอยอโศก ถนนสุขุมวิท ปัจจุบัน) ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า ทุ่งบางกะปิ และในระหว่างนี้ คณะพี่น้องวสุวัตได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประชาธิปไตยขณะนั้นให้จัดสร้างภาพยนตร์เสียงเรื่อง “เลือดทหารไทย”
เป็นภาพยนตร์เรื่องบันเทิงซึ่งมุ่งหมายจะเผยแพร่กิจการของกองทัพไทยและปลุกใจให้รักชาติ ออกฉายครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ๒๔๗๘
ปี ๒๔๗๘ การก่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงที่ทุ่งบางกะปิ ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ ประกอบด้วยโรงถ่ายเก็บเสียง ห้องปฏิบัติการล้างและสำเนาฟิล์ม ห้องปฏิบัติการบันทึกเสียง ห้องตัดต่อ สำนักงานและอาคารบ้านพักสำเร็จลง คณะพี่น้องวสุวัตได้ติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาได้ประดิษฐ์และดัดแปลงกันขึ้นเอง โรงถ่ายนี้เริ่มเปิดกิจการและดำเนินการในรูปบริษัท ชื่อ บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง จำกัด นับเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงสมบูรณ์แบบแห่งแรกของชาติ
บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ได้เริ่มผลิตภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ทั้งภาพยนตร์เรื่องบันเทิงและภาพยนตร์ข่าวสารสารคดีออกเผยแพร่ตั้งแต่ปี ๒๔๗๒ เป็นต้นไป มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์เสียงสำคัญของชาติ สามารถดำเนินกิจการก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเริ่มขึ้นในยุโรปก่อนตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ มีผลให้เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะฟิล์มภาพยนตร์และสารเคมีในการล้างฟิล์มภาพยนตร์ในปีต่อๆมาประจวบกับได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นในกรุงเทพฯเมื่อปี ๒๔๘๕ สร้างความเสียหายแก่โรงถ่ายอย่างมาก และสยามก็เข้าสู่เวทีสงครามโดยตรงดังนั้นหลังจากสร้างภาพยนตร์เรื่องบันเทิง เรื่อง “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” ในปี ๒๔๘๕ ออกฉายแล้ว บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็ต้องยุติกิจการลงโดยปริยาย
ตลอดเวลาราว ๗ ปีที่ดำเนินกิจการ โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง สามารถผลิตภาพยนตร์ไทยเสียงในฟิล์มออกเผยแพร่สูสาธรณชนได้ทั้งสิ้น ๑๗ เรื่อง เฉลี่ยปีละ ๒-๓ เรื่อง
บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ได้สร้างนักแสดงภาพยนตร์ระดับพระเอกและนางเอกซึ่งมีชื่อเสียงกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ชมภาพยนตร์ทไทยขึ้นคู่หนึ่ง คือ จำรัส สุวคนธ์ และมานี สุมนนัฏ อันนับได้ว่าเป็นนักแสดงภาพยนต์ระดับดาราคู่แรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย