ยุคทองของภาพยนตร์ไทย กำเนิดภาพยนตร์ไทยพูดได้
ในระยะปลายปี ๒๔๗๒ ต่อ ๒๔๗๓ ได้มีคณะฝรั่งนักถ่ายภาพยนตร์เสียงในฟิล์มจากบริษัท ฟ้อกซ์มูวี่โทน แห่งสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเสียงในฟิล์มเป็นครั้งแรกในสยาม คณะถ่ายภาพยนตร์นี้ดีรับความอนุเคราะห์จาก พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เสนาบดีกระทรวงพานิชย์และคมนาคมขณะนั้นให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อบันทึกภาพยนตร์เสียง พระองค์ทรงกล่าวแนะนำประเทศสยามเป็นภาษาอังกฤษไว้ในภาพยนตร์นี้ด้วย
ในครั้งนั้น ปรากฏว่า หลวงกลการเจนจิต และนายกระเศียร วสุวัต สองพี่น้องสกุลวสุวัต แห่งคณะผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในนามกรุงเทพภาพยนตร์บริษัท ซึ่งเวลานั้นรับราชการอยู่ในกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว กรมรถไฟหลวง ได้มีโอกาสช่วยงานคณะถ่ายภาพยนตร์เสียงนี้อย่างใกล้ชิด จนคุ้นเคยสนิทสนม คณะฝรั่งได้ถ่ายทอดวิธีการทำภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม และให้พี่น้องวสุวัตยืมอุปกรณ์ไปทดลองถ่ายทำภาพยนตร์เสียงด้วยตนเอง ซึ่งพวกเขาได้ทดลองถ่ายทำภาพยนตร์เสียงบันทึกการแสดงเบ็ดเตล็ดของคณะจำอวด นายทิ้ง มาฬมงคล นายยอบ บุญติด และบันทึกการแสดงเดี่ยวซอสามสายโดย พระยาภูมิเสวิน กับการเดี่ยวจะเข้ โดยนางสนิทบรรเลงการซึ่งนับได้ว่าเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์เสียงในฟิล์มโดยคนไทยเป็นครั้งแรก
ต่อมาพี่น้องวสุวัตได้นำผลงานภาพยนตร์เสียงในฟิล์มที่ได้ทดลองทำขึ้นนี้ ออกฉายสู่สาธรณชนที่โรงภาพยนตร์พัฒนากรดมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๗๓ โดยดัดแปลงเครื่องฉายภาพยนตร์เงียบให้เป็นเครื่องฉายภาพยนตร์เสียง สำหรับการฉายครั้งนี้ด้วย ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับจากมหาชนด้วยความตื่นเต้นยินดี
นับแต่นั้นมา คณะพี่น้องวสุวัต ก็หันมาสนใจการสร้างภาพยนตร์เสียง ได้ทุ่มเทเวลาไปกับการคิดค้นดัดแปลงกล้องถ่ายภาพยนตร์เงียบของตน ให้เป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ซึ่งต้องอาศัยความอุสาหวิริยะอย่างยิ่ง จนล่วงถึงปี๒๔๗๔ แล้ว จึงทำได้สำเร็จ
วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๔ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯกลับจากประพาสสหรัฐอเมริกา คณะพี่น้องวสุวัตได้ถ่ายทำภาพยนตร์เสียงในฟิล์มบันทึกเหตุการณ์ในพิธีรับเสด็จ และนำออกฉายสู่สาธรณชนเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๔ และครั้งนี้พวกเขาเรียกชื่อกิจการภาพยนตร์ของตนว่า “ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง” ทั้งยังระบุด้วยว่าเป็นภาพยนตร์เสียงแบบวสุวัต
หลังจากนั้น คณะพี่น้องวสุวัต ในนามคณะภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ก็คิดทำภาพยนตร์เสียงชนิดเรื่องบันเทิง ซึ่งจะเป็นประวัติการณ์เรื่องแรกของชาติ ประจวบกับปี ๒๔๗๕ ที่กำลังจะเข้ามาถึงจะเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี พวกเขาจึงมีจุดมุ่งหมายจะสร้างภาพยนตร์ไทยพูดได้เรื่องแรกของชาติเพื่อร่วมการเฉลิมฉลองอันสำคัญนี้
คณะพี่น้องวสุวัตได้สร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงชั่วคราวขึ้นในสนามหน้าบ้านของตน ย่างสะพานขาว ด้วยกระโจมผ้าใบที่ใช้ในการแสดงละครสัตว์ และลงมือถ่ายทำภาพยนตร์ไทยพูดได้เรื่องแรกซึ่งชื่อว่า “หลงทาง” แต่งเรื่องและกำกับโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้ซึ่งเพิ่งประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงมาจากการกำกับภาพยนตร์ไทยเงียบเรื่อง “รบระหว่างรัก” ของหัสดินทรภาพยนตร์” พี่น้องวสุวัตจึงชักชวนมาร่วมงาน
คณะพี่น้องวสุวัตถ่ายทำ “หลงทาง” สำเร็จและนำออกฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของสยามขณะนั้น และเป็นวันเริ่มต้นการเฉลิมฉลองพระนคร ๑๕๐ ปีพอดี
ปี ๒๔๗๖ กลุ่มพ่อค้าชาวจียในสยาม ได้ว่าจ้างคณะพี่น้องวสุวัต สร้างภาพยนตร์เสียงในฟิล์มพูดภาษาจีนกวางตุ้งเรื่อง “ความรักในเมืองไทย” ออกฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๗๖
ต่อมาในปลายปีนั้น คณะพี่น้องวสุวัตได้สร้างภาพยนตร์ไทยพูดได้เรื่องที่สองของตน คือ “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” เป็นภาพยนตร์ผจญภัยตื่นเต้น และได้ทดลองถ่ายทำบางฉากด้วยฟิล์มสี สำเร็จออกฉายครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๗๖