ยุคภาพยนตร์ไทยเงียบของสยาม
ปี๒๔๗๐ ซึ่งคนไทยเราเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์เรื่องบันเทิงด้วยตนเองนั้น ในทางสากลนับเป็นปีที่วงการภาพยนตร์ของโลก กำลังเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคภาพยนตร์เสียง หรือที่เวลานั้นเรียกกันว่า ภาพยนตร์พูดได้ (talkies) พอดี
หลังจากที่มีการคิดค้นทดลองกันมาก่อนหน้านี้หลายปี ในปี ๒๔๗๐ นี้เป็นปีที่บริษัทวอร์เนอร์บราเดอร์ แห่งสหรัฐอเมริกา สร้างภาพยนตร์เสียงเรื่อง The Jazz Singer เป็นภาพยนตร์เสียงขนาดยาวออกฉายสู่สาธรณชนเป็นเรื่องแรก และประสบความสำเร็จอย่างสูง นับจากนั้นมาบริษัทภาพยนตร์อื่นๆ ในฮอลลีวู้ดและประเทศอื่นๆ ก็หันมาสร้างภาพยนตร์เสียง ภาพยนตร์แบบที่สร้างกันมาแต่เดิมซึ่งไม่มีเสียง และต่มาจึงถูกเรียกว่าภาพยนตร์เงียบหรือภาพยนตร์ใบ้ เริ่มลดจำนวนลงและหมดไปในสองสามปีต่อมา
ในสยาม ภาพยนตร์เสียงอย่างที่เรียกกันว่าภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม เข้ามาฉายเผยแพร่สู่สาธรณชนครั้งแรกในปี ๒๔๗๑ แต่กว่าที่โรงภาพยนตร์บางโรงในกรุงเทพจะเริ่มเปลี่ยนไปติดตั้งเครื่องฉายภาพยนตร์เสียงเพื่อฉายภาพยนตร์เสียงประจำก็ล่วงไปถึงปี ๒๔๗๓ แล้ว และหลังจากปี ๒๔๗๕ ไปแล้วนั้นแหละ โรงภาพยนตร์ทั่วไปในสยามจึงเปลี่ยนเป็นโรงสำหรับฉายภาพยนตร์เสียง
ดังนั้น ในช่วงเวลาระหว่างปี ๒๔๗๐-๒๔๗๕ รวมเวลาราว ๖ ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวสยามเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์เรื่องบันเทิงเพื่อการค้าขายด้วยตนเอง จึงเป็นยุคภาพยนตร์เงียบของเราด้วย เพราะภาพยนตร์ไทยที่สร้างกันออกมาในระยะนี้ล้วนเป็นภาพยนตร์เงียบ คือไม่มีการบันทึกเสียงใดๆ การบรรยายเรื่องและบทเจรจาของตัวละครจะใช้ตัวอักษรบรรยายสลับกับภาพ
ความมสำเร็จของภาพยนตร์ไทยเรื่อง “โชคสองชั้น” และ “ไม่คิดเลย” เป็นกำลังใจให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยรุ่นบุกเบิกทั้งสองราย คิดสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องต่อไปอีก และเป็นตัวอย่างให้มีผู้สร้างภาพยนตร์ไทยรายอื่นๆ เกินขึ้นทีละรายสองราย เท่าที่ค้นพบข้อมูลแล้ว ปรากฏว่านอกจาก “โชคสองชั้น” และ “ไม่คิดเลย” แล้ว ก็ยังมีผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในยุคภาพยนตร์เงียบออกมาฉายสู่สาธรณชนอีกรวมถึง ๑๔ เรื่อง