คนไทยกับขบวนการขอมือขวาของบรรดาเพลงปลุกใจ
ในบรรดาเพลงปลุกใจทั้งหมด เพลง ถามคนไทย ของสุรพล โทณะวณิก ที่ขับร้องโดยสันติ ลุนเผ่ ดูจะมี ‘ หมวดคำ ‘ ที่แสดงการเข่นฆ่ากันได้ภาพพจน์ชัดเจน กระทั่งเรียกได้ว่าค่อนไปทางซาดิสม์ ( sadism) ตั้งแต่ท่อนขึ้นต้น
๏ หัวใจถูกแทงกี่ขั้ว ตามตัวถูกฟันกี่แผล ปู่ไทยตายไปกี่คนแน่ ไทยจึงได้แผ่มาถึงแหลมทอง ๏ กระดูกไทยกระเด็นไปกี่ท่อน เชิงตะกอนเผาไปกี่หน คอขาดกันไปกี่คน ไทยทุกคนจึงได้ไทยครอบครอง ๏ เสียเลือดกันไปเท่าไหร่ เสียใจกันไปกี่ครั้ง น้ำตาของไทยไหลหลั่ง ทุกๆ ครั้งที่ถูกเฉือนขวานทอง
คือถ้าเรา ‘ อ่าน ‘ เฉพาะ ‘ ความหมาย ‘ ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อร้องทั้งหมดนี้ เราก็จะมองเห็นภาพของ ‘ ไทย ‘ หรือ ‘ ประเทศไทย ‘ เป็นดินแดนที่งอกหรือยืดขยายออกมาจากกองหัวใจ หัวคน ซากศพ โครงกระดูกที่เกิดจากการเข่นฆ่า (ไม่ถูกฆ่า ก็ต้องไปฆ่าคนอื่น) ของบรรดา ‘ ปู่ไทย ‘
ที่จริงการให้ภาพของการต่อสู้แบบดุเดือดถึงเลือดถึงเนื้อนี้ก็มีอยู่ในเพลงปลุกใจอย่างเพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้ ด้วยเช่นกัน หากก็ไม่ได้ให้ภาพพจน์ที่รุนแรงมากเท่าอย่างเช่นท่อนที่ว่า
๏ ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
หรืออย่างเพลงอนุสติไทยของแสงสุวรรณ ขับร้องโดยวรนุช อารีย์ก็มีการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งและสองคำว่า ‘ กู ‘ และ ‘ มึง ‘ เข้ามาเพื่อเพิ่มระดับอารมณ์ความรู้สึกในท่อนสร้อย
๏ กูจะสู้แม้รู้ว่าพวกกูน้อย สู้ไม่ถอยแม้รู้ว่าจะดับสลาย แผ่นดินนี้พ่อกูอยู่ปู่กูตาย กูสุดอายหากเสียไพรีครอง
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ถามคนไทย ดูจะเป็นเพลงที่โดดเด่นในเรื่องของความรุนแรง มากที่สุดในบรรดาเพลงปลุกใจทั้งหมดที่เราเคยมี (ทั้งวิธีคิดและถ้อยคำ) หรือโดยเฉพาะท่อนจบที่ว่า
๏ เข่นฆ่ากันทำไม เราเป็นไทยด้วยกันทั้งผอง ไทยฆ่าไทยให้คนอื่นครอง วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร
‘ การปลุกใจ ‘ ของเพลง ถามคนไทย ในแง่นี้จึงเป็นการกระตุ้นด้วยคำถามแรงๆ แบบที่ไม่ต้องการคำตอบ อย่างเช่น “ หัวใจถูกแทงกี่ขั้ว? ” , “ ตามตัวถูกฟันกี่แผล? ” , “ ปู่ไทยตายไปกี่คนแน่ ?”, “ กระดูกไทยกระเด็นไปกี่ท่อน? ” หรือ “ คอขาดกันไปกี่คน? ” ซึ่งภาพพจน์ที่มากับตัวคำถามเหล่าคือความรุนแรงที่ส่งผลมาจากตัวภาษาโดยตรงและจากอ่านความหมาย กล่าวได้ว่า ถามคนไทย อาจเป็นเพลงปลุกใจหนึ่งในจำนวนไม่กี่เพลงที่ไม่พยายามปกปิดการเสพติดความรุนแรงในวิธีคิดวิธีแต่งเพลง
โดยถ้าเราย้อนกลับไปในยุคของหลวงวิจิตรวาทการ การเลือกสรรถ้อยคำมาใช้แทนการให้ภาพของการเข่นฆ่าตรงนี้ถือว่ามีความประณีตกว่ามาก อย่างเพลง ต้นตระกูลไทย ก็จะมีคำที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกันกับการต่อสู้มาใช้แทนอย่างเช่น “ รักษาดินแดนไทย ” , “ สู้รบป้องกัน ” หรือ “ ต่อตีศัตรู ” ข้อสังเกตประการต่อมา หมวดคำที่แสดงห้วงการกระทำอย่าง ‘ แทง ‘ , ‘ ฟัน ‘ หรือ ‘ เฉือน ‘ ที่ปรากฏอยู่ในเพลง ถามคนไทย มีความหมายมากกว่าการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฆ่าโดยทั่วไปตรงที่การกระทำเหล่านี้ส่งผลต่อ ‘ การยืด ‘ หรือ ‘ การหด ‘ ของ ‘ ไทย ‘ หรือประเทศไทย
มองในแง่นี้เอง ‘ การยืด ‘ และ ‘ การหด ‘ ในเพลง ถามคนไทย ทำให้เราเห็น ‘ ไทย ‘ หรือประเทศไทยมีสภาพเป็นเพียงประเทศบนแผนที่ คือเป็นเพียง ‘ พื้นที่ ‘ หรือ ‘ อาณาเขต ‘ แน่นอนนี่เป็นลักษณะที่ปรากฏอยู่ในเนื้อร้องเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ หรือนักแต่งเพลงท่านอื่นๆ ที่มองการมีอยู่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือรัฐใดรัฐหนึ่งเป็นเพียงการปักหมุดเขต ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นจิตร่วมสากลของบรรดานักแต่งเพลงปลุกใจ หากแนวคิดเรื่องรัฐกับพื้นที่เป็นเรื่องใหม่ คือว่าไปแล้วรัฐนั้นผูกติดกับคนมาก่อน สงครามส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นก็เป็นการช่วงชิงไพร่พล ไม่ใช่การแย่งชิงพื้นที่ ซึ่งการมองเห็นรัฐเป็นพื้นที่ก็เป็นความเข้าใจผิดที่เพลงปลุกใจมีร่วมกัน
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของเพลงปลุกใจไว้ได้อย่างแยบคายว่า ‘ เพลงเหล่านี้ไม่ได้มีบทบาทในการ “ ให้การศึกษา ” หรือ “ ทำให้คนเชื่อ ” ในสาระทางการเมืองที่มีอยู่ในเพลง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพลงเหล่านี้เป็นเพลงเพื่อคนที่เชื่ออยู่แล้ว ไม่ใช่สำหรับทำให้คนที่ยังเชื่อหันมาเชื่อ สำหรับพวกหลัง เนื้อหาของเพลงที่มีลักษณะการเมืองสูงเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ยากจะ “ ซาบซึ้ง ” ได้ แต่สำหรับผู้ที่เชื่อในอุดมการณ์ที่เพลงเหล่านี้สะท้อนอยู่แล้ว เพลงช่วยทำให้เกิดกำลังใจ, มีความสุข ( “ บันเทิง ” ), ให้ความรู้สึกที่เป็น “ ชุมชน ” ร่วมกับผู้อื่นที่คิดอย่างเดียวกัน และเพิ่มความเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังคิดและทำ, ทำให้อยากคิดแบบนั้นและทำแบบนั้นมากขึ้นไปอีก-พูดอย่างสั้นๆ ก็คือ “ ปลุกใจ ” นั่นเอง ‘
ถ้ามองภาพในมุมที่กว้างขึ้น เพลงปลุกใจจึงไม่เป็นเพียงรหัสระหว่างคนใน ‘ ชุมชน ‘ หรือ ‘ กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกัน ‘ หากยังมีการกำหนดกรอบหรือภาพรวมของ ‘ ชนพวกอื่น ‘ หรือ ‘ ความเป็นศัตรู ‘ ที่ค่อนข้างเป็นรหัส ซึ่งสามารถสื่อสารเข้าใจได้เฉพาะคนในกลุ่มผ่านถ้อยคำวิธีคิดที่เสียงดังและเกรี้ยวกราด
Text: กิตติพล สรัคคานนท์