กาลิเลโอ ของแบร์ทอลท์ เบรคชท์

ข้อคิดเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับการแสดงละครเรื่อง “กาลิเลโอ” ของแบร์ทอลท์ เบรคชท์
โดยเจตนา นาควัชร


ผู้ดูผู้ชมที่คุ้นกับ “ละครตู้” คงจะประหลาดใจมากว่า กาลิเลโอ ฉบับไทยนี้ทำหน้าที่ “ชวนหัว” และ “ชวนคิด” ได้พร้อมๆกัน การแสดงครั้งนี้ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเบรคชท์ เป็นนักประพันธ์ละครที่ยิ่งใหญ่ สมกับที่มีผู้ยกย่องว่าเป็น “เชกสเปียร์ของยุคใหม่” และในขณะเดียวกันก็อาจสร้างความมั่นใจให้แก่วงการละครเวทีของไทยว่า เราพร้อมที่จะออกโรงด้วยงานระดับ “คลาสสิกของยุคใหม่” ได้แล้ว อันที่จริง รัศมี เผ่าเหลืองทอง กับคณะก็คงจะสำนึกอยู่ดีว่า รากฐานที่คณะละคร “พระจันทร์เสี้ยว” ก็ดี ที่ “วิกจุฬา” ของอาจารย์สดใส พันธุมโกมล ก็ดี ที่ “วิกธรรมศาสตร์” ของอาจารย์มัทนี รัตนิน ก็ดี ได้ปูเอาไว้นั้นเป็นการถางทางที่นำมาสู่ความสำเร็จของ กาลิเลโอ ในครั้งนี้ได้ แม้ว่าจะมีการขาดช่วงขาดตอนไปบ้าง แต่นักแสดงสมัครเล่นของเราก็ได้สั่งสมประสบการณ์ในการแสดงละครของเบรคชท์มาแล้วไม่น้อย ข้อวินิจฉัยของผู้เขียนเกี่ยวกับการแสดงละครเบรคชท์ครั้งล่าสุดนี้ ถ้าจะกล่าวให้สั้นที่สุดก็คงจะเป็นว่า “เป็นการแสดงที่เบรคชท์เองคงจะพอใจ” กลุ่มคนหนุ่มคนสาวที่ก่อตัวกันขึ้นเป็น “คณะละครสองแปด” นี้ เข้าถึงเบรคชท์ได้อย่างดียิ่ง ตีบทแตก จับประเด็นหลักของละครเรื่องนี้ได้ และสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชมกับละครเบรคชท์หรือผู้ที่ศึกษาวรรณกรรมของเบรคชท์ก็คือ “คณะละครสองแปด” เดินตามเบรคชท์แล้วไม่หลงทาง

ซึ่งผู้กำกับการแสดงและคณะละครในซีกโลกตะวันตกเป็นจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยเต็มใจที่จะทำ

ที่ผู้เขียนจำเป็นจะต้องดึงเอาประสบการณ์ของการแสดงละครในประเทศตะวันตกบางประเทศเข้ามาอภิปรายในที่นี้ก็เพราะในบางครั้งวงการละครของตะวันตกอาจจะเป็นตัวอย่างที่เราไม่ควรเดินตาม ยิ่งในเยอรมนีตะวันตก ซึ่งคณะละครส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนด้วย “เงินหลวง” แล้วก็ถลุงกันอย่างที่กะเหรี่ยงสยามอย่างเราเสียดายเงินแทนนั้น คณะละครที่โด่งดังมักจะมุ่งสร้างความแปลกใหม่ให้กับละครเก่า ในบางครั้งก็เล่นเพื่อจะยั่วโทสะคนดู ผู้เขียนเคยได้ประสบการณ์เช่นนี้มาแล้วจากโรงละครอันโด่งดังที่เมืองฟรังค์ฟุร์ท (Frankfurt) และเมืองโบคุม (Bochum) เคยได้ดูเบรคชท์ที่โบคุมครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนอยากจะสรุปว่า เป็นการแสดงที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ผู้กำกับการแสดงฉลาดกว่าทั้งเบรคชท์เองและคนดู การแต่งบทใหม่

การบิดเบือนความต้องการของผู้แต่ง จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ จนกระทั่งในระยะหลังนี้ทายาทของเบรคชท์ต้องออกมาวุ่นวายกับวงการละคร โดยจะอนุญาตให้นำละครเบรคชท์ออกแสดงได้ในกรณีที่ผู้กำกับการแสดงยอมเดิมตามบทที่เบรคชท์วางไว้เท่านั้น โรคระบาดใหม่ที่กำลังเข้ามากัดกร่อนวงการศิลปะการแสดงของเยอรมันเองก็คืออหังการของ ศิลปินผู้แสดง ที่วางตัวไว้เหนือ ศิลปินผู้สร้าง ละครเวทีจึงกำลังจะกลายรูปไปเป็นสิ่งที่เขาเรียกกันว่า “ละครของผู้กำกับ” แทนที่จะเป็น “ละครของผู้แต่ง” เช่นเดียวกับในวงการแสดงดนตรีมักจะมีผู้กล่าวถึง “Karajan’s Fifth” ซึ่งถ้าเราไม่ได้อยู่วงการในก็คงจะงงๆว่าท่านวาทยากรบันลือโลก แฮร์แบร์ท ฟอน คารายาน (Herbert von Karajan) แต่งซิมโฟนีขึ้นเองกระนั้นหรือ ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ สิ่งที่เขาต้องการพูดถึงคือ ซิมโฟนี หมายเลข 5 ของเบโธเฟน (Beethoven) บรรเลงโดยวงดนตรีในความควบคุมของท่านคารายาน ในสังคมเช่นที่ว่านี้ คีตกวีเบโธเฟนก็เลยพลัดตกเวทีไปโดยปริยาย สภาพการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้และก็เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะนักวิจารณ์หัวก้าวหน้าพร้อมที่จะเข้าร่วมขบวนการ และผู้ดูผู้ชมผู้ฟังจำนวนไม่น้อยก็มักกลัวจะถูกประณามว่าโง่ เข้าไม่ถึงความแปลกใหม่ของอัจฉริยศิลปินยุคใหม่ ก็เลยเออออไปกับเขาด้วย ทั้งที่รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง วงการศิลปะการแสดงจึงถอยห่างจากจุดกำเนิดของงานศิลปะไปทุกที ผู้เขียนแน่ใจว่าชาวเยอรมันหัวก้าวหน้าบางคนที่ได้มาชมกาลิเกโอ ฉบับไทยคงจะรำพึงออกมาด้วยความสมเพชว่า “คร่ำครึอะไรเช่นนี้” หรือ “ล้าหลังไป 20 ปี”

ความคร่ำครึของ “คณะละครสองแปด” อยู่ที่ว่าเขาไม่พร้อมที่จะ “สู่รู้” และยังพร้อมที่จะมอบความไว้วางใจให้แก่เบรคชท์ ละครเรื่อง กาลิเลโอ มีข้อขัดแย้งภายในที่ดูประหนึ่งว่าผู้แต่งเองจะแก้ไม่ตก

ผู้เขียนเองก็เคยได้กล่าวถึงปัญหานี้ไว้แล้วในหนังสือวรรณกรรมละครของแบร์ทอลท์ เบรคชท์ – การศึกษาเชิงวิจารณ์ (หน้า 111-117) และก็อยากจะขอบคุณ “คณะละครสองแปด” ไว้ ณ ที่นี้ว่า ได้ช่วยให้ผู้เขียนเข้าใจละครเรื่องนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อได้อ่านเป็นวรรณกรรม หรือเมื่อได้ชมการแสดงเป็นครั้งแรกในเยอรมนีเมื่อ 20 ปีมาแล้ว ข้อขัดแย้งดังกล่าวมิได้ทำให้ละครอ่อนพลังลงไป ข้อขัดแย้งที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของละคร ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้ละครมีรสชาติขึ้นเสียด้วยซ้ำ ประเด็นมีอยู่ว่าเบรคชท์เขียนละครเรื่องนี้ขึ้นถึง 3 สำนวนในช่วงเวลาที่ต่างกัน (ซึ่งได้มีนักวิจารณ์หลายท่านอภิปรายประเด็นนี้ไปแล้ว) พอมาถึงสำนวนที่ 3 (ซึ่งเป็นฉบับที่ตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย และก็เป็นฉบับที่ได้รับการนำมาทำเป็นพากย์ไทย) จึงดูราวกับว่าต้นเรื่องกับท้ายเรื่องจะตีกันเอง คือ ความคงเส้นคงวาในบุคลิกภาพของตัวกาลิเลโอเองออกจะขาดไป เมื่อได้ดูละครเวทีแล้วผู้เขียนก็อดที่จะสรุปไม่ได้ว่า นั่นแหละคือเสน่ห์ของกาลิเลโอในฐานะที่เป็นตัวละคร เราไม่ได้เห็นภาพบิดาของวิทยาศาสตร์แผนใหม่ในฐานะวีรบุรุษ กาลิเลโอในละครเรื่องนี้มีหลายมิติ เราชื่นชมกับสติปัญญาอันล้ำเลิศของเขากับผลงานการค้นคว้าของเขา แต่ความยิ่งใหญ่ของวิชามิได้ตั้งอยู่บนความยิ่งใหญ่ของบุคคลเสมอไป ในแง่หนึ่งเราเคลิ้มไปกับวิทยาการที่เบิกทางไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งกาลิเลโอเหมาเอาว่าจะเป็นยุคที่น่าพิสมัย แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นความกะล่อนของเขาในหลายๆกรณี เช่น กรณีที่เขาผูกติดอยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือเอางานของผู้อื่นมาขาย (ในกรณีของกล้องส่องทางไกล) หรือการที่เขายอมสยบนบนอบต่อราชสำนักฟลอเรนซ์ อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผู้ใหญ่ที่กะล่อน” ผู้นี้สามารถที่จะช่วยไม่ให้วิทยาการอันสูงส่งสูญสลายไป การที่เขาแอบทำสำเนาหนังสือ “Discorsi” เอาไว้แล้วมอบให้ศิษย์อันเดรอาลักลอบเอาไปเผยแพร่ในต่างประเทศนั้น อาจจะเป็นความกะล่อนที่น่าให้อภัยในเรื่องที่เขายอมถอนคำสอนก็เช่นกัน เราอาจจะเคลิ้มตามการประณามของลูกศิษย์ของเขาในฉากที่ 13 แต่เราก็ทราบดีอยู่ตลอดเวลาว่าเขาถูกข่มขู่จากศาสนจักร ซึ่งกาลิเลโอเองก็พูดความจริงออกมาในฉากที่ 14 ว่า เขากลัวจะถูกทรมานด้วย “เครื่องมือ” ที่ศาสนจักรนำมาขู่ เราจึงเกลียดเขาไม่ลง ปัญหาที่หนักหน่วงที่สุดสำหรับผู้กำกับการแสดงและนักแสดงก็คือ ในสำนวนที่ 3 เบรคชท์ต้องการที่จะเน้นประเด็นเรื่องภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษยชาติได้ ถ้านักวิชาการยอมสยบต่ออำนาจ และก็ได้เขียนบทที่ให้กาลิเลโอประณามตนเองอย่างรุนแรง

มีหลักฐานปรากฏว่าในตอนที่เบรคชท์นำเรื่องกาลิเลโอ มาซ้อมกับคณะละครของเขาเองที่เบอร์ลินตะวันออกนั้น ผู้ที่แสดงเป็นตัวกาลิเลโอคือแอร์นสท์ บุช (Ernst Busch) โต้เถียงกับเบรคช์อย่างตรงไปตรงมาว่า เบรคชท์ขัดกับตัวเองที่ต้องการจะทำให้ภาพของกาลิเลโอออกมาในทางลบ แต่เบรคชท์ก็ยืนยันความประสงค์ของเขา (บังเอิญเขาถึงแก่กรรมเสียก่อนที่จะได้เห็น กาลิเลโอ ที่เขากำกับการแสดงเอง) “คณะละครสองแปด” ไม่มีโอกาสจะเถียงกับเบรคชท์ และดูจะยอมสยบต่อศิลปินผู้สร้าง พวกเขาคงจะคิดว่าเมื่อเบรคชท์แต่งมาอย่างนี้ก็ต้องเล่นอย่างนี้ และในท้ายที่สุดศิลปินไทยกลุ่มนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเบรคชท์เป็นฝ่ายถูก แม้ว่าเขาจะไม่สามารถบีบให้เราเกลียดกาลิเลโอได้อย่างที่เขาต้องการ ผู้เขียนเองไม่มีความรู้สึกว่าฉากที่ 14 ออกนอกเรื่อง หรือขัดแย้งกับตอนต้นเรื่องจนเสียรส การแสดงครั้งนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของความเชื่อในเรื่องความหลายนัยของละครกาลิเลโอ และความหลายนัยนี่เองที่เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้ดูผู้ชมต้องกลับไปคิดต่อนอกเวที นอกโรงละคร นั่นคือแก่นของละครเบรคชท์ เมื่อเราได้ยินอันเดรอากล่าวกับครูเก่าของเขาว่า “อาจารย์เอาความจริงไปซ่อนไว้ ซ่อนให้พ้นมือศัตรู ในเรื่องของจริยธรรม อาจารย์ล้ำหน้าพวกเราเป็นศตวรรษทีเดียว” เราก็คงอดหัวเราะไม่ได้ (ผู้เขียนได้ดูละครเรื่องนี้แล้ว 2 รอบ และข้อความตอนนี้ก็เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้ทั้ง 2 วาระ) แต่มันก็เป็นการหัวเราะที่สะดุดหยุดอยู่กับเสียงหัวเราะนั้น เมื่อเรากลับไปบ้านแล้วเราอาจจะฉุกคิดขึ้นมาว่า ข้อความเชิงเสียดสีนี้ช่างแฝงด้วยความหมายที่ซับซ้อนเสียนี่กระไร เราอาจจะหัวเราะไม่ออกอีกแล้ว เบรคชท์กำลังจะชักชวนให้เราประณามกาลิเลโอกระนั้นหรือ แล้วเราจะยอมทำเช่นนั้นหรือเปล่า อันที่จริง ละคร ชวนหัวกับละคร ชวนคิด มันก็เรื่องเดียวกันนั่นแหละ

ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับผู้ที่ได้ชมกาลิเลโอฉบับไทยนี้แล้วหลายคน ทุกคนลงความเห็นว่าฉากที่ 14 อันเป็นตอนที่กาลิเลโอประณามตัวเองนั้น ไม่ทำให้เราเกิดปฏิกิริยาในเชิงต่อต้านแต่ประการใด เราคิดพ้องกันว่าผู้แสดงเป็นตัวกาลิเลโอแสดงบทตอนนี้ได้ดีเยี่ยม ประทับใจกว่าในตอนต้นๆเรื่องมาก เป็นอันว่าเรากำลังตกอยู่ในห้วงมายาที่เบรคชท์สร้างขึ้นมาครอบเรากระนั้นหรือเป็นอันว่าละครเบรคชท์เดินทางกลับไปหาระบบของอริสโตเติลที่เขาเองพยายามจะล้มล้างกระนั้นหรือ ผู้เขียนอยากจะคิดว่าทฤษฎีละครเอพิคนำมาใช้กับกาลิเลโอได้น้อยมาก และผู้กำกับการแสดงก็คงจะไม่พะวงกับเรื่องทฤษฎีนี้มากนัก ซึ่งก็อาจจะเหมาะแล้วสำหรับละครเรื่องนี้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงไม่รู้สึกว่าการประณามตนเองในตอนท้ายเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไปทำลายแก่นของเรื่อง เพราะถึงอย่างไร ละครเรื่องนี้ก็ให้ความหลายนัยอยู่แล้วมาแต่ต้น อีกประการหนึ่ง การตีความของ “คณะละครสองแปด” ดูจะเอื้อต่อการเดินตามสำนวนที่ 3 ของเบรชท์ นั่นก็คือ ไม่ได้มีการเน้นบทบาทของกาลิเลโอในฐานะวีรบุรุษ จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม การที่ผู้กำกับการแสดงตัดสินใจตัดทอนฉากที่ 5 ออกไปนั้น เท่ากับเป็นการทอนบทบาทเชิงวีรบุรุษออกไปมากทีเดียว เพราะในฉากนี้กาลิเลโอไม่ยอมทิ้งงานค้นคว้าของเขาทั้งๆที่โรคระบาดอันร้ายแรงมาถึงตัวแล้ว (ซึ่งผู้เขียนเองมีความรู้สึกว่าทำให้ละครขาดความสมดุลไปบ้าง) ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่แสดงเป็นกาลิเลโอก็ไม่ตีบทไปในทำนองที่ชี้ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของยักษ์ใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ผู้นี้เท่าใดนัก ซึ่งก็เท่ากับเป็นการปูทางไปสู่การที่กาลิเลโอจะประณามนักวิชาการขายตัวในฉากที่ 14 ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าการตีความไปในแนวนี้เป็นไปโดยจงใจหรือเปล่า หรือเป็นไปเพราะนักแสดงสมัครเล่นไม่อาจจะตีบทวีรบุรุษนักวิชาการได้เท่ากับนักแสดงอาชีพที่มีชื่อเสียง เช่น ชาร์ลส์ ลอตัน (Charles Laughton) นักแสดงชาวอังกฤษ ซึ่งเบรคชท์ยกย่องและเขียนสำนวนที่ 2 เป็นภาษาอังกฤษให้แสดงโดยเฉพาะ หรือแอร์นสท์ บุช (Ernst Busch) ซึ่งเป็นนักแสดงชาวเยอรมันที่มีฝีมือระดับ “โปร” ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร (ซึ่งผู้วิจารณ์อาจไม่จำเป็นจะต้องรู้) การตีความ กาลิเลโอ ของ “คณะละครสองแปด” ออกมาเหมาะเหม็งกับแนวทางที่เบรคชท์ต้องการในสำนวนที่ 3 ของเขา จะว่าโชคเข้าข้าง “สองแปด” ก็ได้ แต่มันก็เป็นการตีความซึ่งผู้กำกับการแสดงและนักแสดงอื่นๆอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น เบรคชท์เองคงจะเห็นด้วย แค่นี้ก็น่าพอใจแล้วมิใช่หรือ เราอาจจะสรุปได้ว่า กาลิเลโอ ฉบับไทย คือ กาลิเลโอที่เป็น “พระเอกแหย” แต่ความแหยกลับทำให้เราเห็นว่าเขาเป็นมนุษย์ปุถุชน เราอดเห็นใจเขาไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์และองค์กรทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่เข้ามาสนับสนุนการแสดงในครั้งนี้จะทราบหรือไม่ว่า ละครเรื่องนี้ที่แสดงในครั้งนี้ มิได้ฉายภาพที่สนับสนุนความยิ่งใหญ่ของบิดาแห่งวิทยาศาสตร์แผนใหม่เท่าใดดอก ใครหนอที่ไปหลอกให้นักวิทยาศาสตร์มาชมละครเรื่องใหม่ที่ชื่อว่า “Anti-Galilei” หรือ “จงระวังนักวิชาการขายตัว !”

ถ้าการตีความของ “คณะละครสองแปด” เป็นไปในทางที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ฉากที่ 16 อันเป็นฉากสุดท้ายจะต้องเป็นปัญหาแน่ เพราะดูราวกับจะเป็นส่วนที่ติ่งออกมาเพื่อเตือนผู้ชมก่อนจะจบเรื่องว่าอย่าเพิ่งสิ้นหวังเสียทีเดียว วิทยาศาสตร์ยังเป็นคุณต่อโลกได้อีกมากถ้าถูกนำมาใช้ในทางที่ชอบที่ควร คือ วิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นจะต้องนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ ฉากนี้เล่นยาก และผู้กำกับการแสดงบางคนที่ขบปัญหาไม่ออกก็ตัดทิ้งไปเสียเลย ผู้กำกับไทยที่ฝากตัวไว้กับเบรคชท์มาตั้งแต่ต้นแล้วตัดสินใจที่จะเดินตามเบรคชท์อีกครั้งหนึ่ง และดูจะหาทางออกได้ไม่เลวนัก โดยเฉพาะในการแสดงรอบที่ 2 (ซึ่งได้แก้ไขการแสดงในรอบพิเศษสำหรับสื่อมวลชนไปบ้าง) นั่นคือการเน้นประเด็นเรื่องการลักลอบนำหนังสือ Discorsi ออกไปจากอิตาลี แทนที่จะเน้นบทตลกแบบแกนๆเกี่ยวกับความงมงายในเรื่องแม่มดหมอผี เรื่องจบด้วยการตอกย้ำแง่คิดที่ว่า วิทยาการจะอยู่รอดไม่ได้ในดินแดนที่ทรราชครองเมือง อันที่จริง แนวความคิดที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแก่นเรื่อง เบรคชท์พยายามจะชี้ให้เห็นด้วยว่า กาลิเลโอเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อต้านทรราช การที่เขาต้องแตกกับคู่หมั้นของลูกสาวก็ด้วยข้อขัดแย้งอันรุนแรงในทางความคิดทางศาสนาและทางสังคม ถ้าเราคิดให้รอบคอบจะเห็นว่าฉากสุดท้ายเข้ากับท้องเรื่องได้อย่างดี เมื่อสู้กับทรราชไม่ได้ในเชิงพลังอำนาจ นักคิดก็ต้องถอยฉากออกไป เสแสร้งว่ายอมสยบ แล้วหาทางสู้แบบใต้ดิน ผู้ใหญ่จอมกะล่อนแบบกาลิเลโอเท่านั้นที่จะสู้กับจอมทรราชทางการเมืองได้ กว่าผู้ดูจะเชื่อมโยงความคิดเข้าหากันในทำนองที่กล่าวมานี้ได้ ก็คงจะเดินทางกลับถึงบ้านแล้ว ละครไปเร็วมากเสียจนคนดูไม่มีเวลาได้หยุดคิด นั่นอาจจะเป็นข้อบกพร่องของเบรคชท์เองที่เขาใช้เทคนิค “การทำให้แปลก” (ซึ่งรู้จักกันในภาษาเยอรมันว่า Verfremdung) น้อยเกินไปในเรื่องนี้ เมื่อเบรคชท์ลืมทฤษฎีของเบรคชท์เอง ปัญหาก็ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในท้ายที่สุดคนดูก็ต้องกลับไป ทำการบ้าน กันที่บ้านจริงๆ กว่าจะจับได้ว่าอะไรเป็นอะไร ละครชวนคิดแบบนี้อาจจะสร้างผลกระทบได้สองแบบ แบบหนึ่งคือชักนำให้คนที่ช่างคิดและชอบคิดอยู่แล้วคิดต่อไปได้อีกหลายตลบ แต่อีกแบบหนึ่งก็อาจจะทำให้ฝ่อไปเลยก็ได้ การนำละครแบบนี้ออกแสดงเป็นการเสี่ยงอย่างมหาศาลในด้านของกำไรขาดทุน ถ้าใจไม่ถึงจริงๆแล้วคงไม่กล้า

ในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งเคยได้ชมการแสดงละครเรื่อง กาลิเลโอ มาแล้วในเยอรมนีตะวันตก การแสดงของ “คณะละครสองแปด” มีชีวิตชีวามาก ไปได้เร็ว ไม่เนือย ไม่มีตอนใดที่น่าเบื่อเลย ข้อวินิจฉัยนี้ได้รับการยืนยันจากชาวเยอรมันผู้หนึ่งซึ่งชื่นชมกับการแสดงครั้งนี้มาก (ทั้งๆที่ภาษาไทยของเขาอยู่ในระดับอนุบาล !) เขาบอกว่าเพิ่งจะได้ไปชมการแสดงของคณะละครเก่าของเบรคชท์เองที่เบอร์ลินตะวันออกมา เขาว่าที่นั่นเล่นไม่ถึงใจเท่าคณะละครของไทย ผู้เขียนไม่คิดว่าเขาโปรยยาหอม สิ่งที่เขาทึ่งมากคือเพลงร้องและดนตรีที่สุรชัย จันทิมาธรแต่งและแสดงเอง เขาถามผู้เขียนตรงๆว่า แต่งใหม่ตามใจผู้แต่งหรือยังยึดบทของเบรคชท์อยู่ ผู้เขียนตอบเขาไปว่าเป็นเพลงที่ครบถ้วนด้วยคีตลักษณ์และวรรณลักษณ์แบบไทยโดยไม่ได้บิดเบือนเบรคชท์เลย ผู้เขียนอยากจะกล่าวเสียด้วยซ้ำไปว่า สุรชัยมิได้แปลหรือแปลงบทเฉพาะตอน แต่ดูจะเข้าใจความหมายของ กาลิเลโอ ทั้งเรื่อง ฉากที่ 10 อันมีลักษณะเป็นพิพิธทัศนา เป็นฉากที่ทำให้ผู้กำกับการแสดงชาวตะวันตกหลายคนยกธงขาวกันไปแล้ว เพราะไม่รู้จะแสดงอย่างไรจึงจะไม่เปิ่น และไม่กระแทกกระทั้นคนดูที่เป็นคริสตศาสนิกชนมากเกินไป ในแง่นี้ คนไทยได้เปรียบเพราะมิได้อยู่ในสังคมคริสต์ จึงไม่ต้องพะวงเรื่องปฏิกิริยาในทางลบของผู้ชม ฉากนี้แหละที่ชาวเยอรมันที่ผู้เขียนเอ่ยถึง ถูกอกถูกใจมาก เพราะถึงฟังเนื้อเพลงไม่ออก ก็จับความหมายจากสัญลักษณ์ต่างๆได้

ข้อบกพร่องของการแสดงครั้งนี้ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องเสียงของผู้แสดงส่วนใหญ่ ซึ่งขาดพลัง ในเมื่อผู้กำกับการแสดงต้องการจะรักษาประเพณีของละครพูดแบบตะวันตกเอาไว้ คือ ไม่ยอมใช้เครื่องขยายเสียง ข้อพกพร่องที่กล่าวมานี้จึงแก้ได้ยาก ก็เห็นจะเป็นตรงนี้แหละที่นักแสดงสมัครเล่นเสียเปรียบนักแสดงอาชีพ เพราะนักแสดงอาชีพอาจจะได้รับการฝึกฝนในเรื่องเสียงมาเป็นเวลาแรมปีกว่าจะออกโรงได้ ว่าตามจริงแล้วก็เห็นจะมีแต่ วิสรรค์ ฉัตรรังสิกุล ผู้แสดงเป็นซาเกรโดและบาร์เบรินิ กับสมปอง จุลละทรัพย์ ผู้แสดงเป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่มีเสียงที่ทรงพลัง บทละครที่เต็มไปด้วยคำคมมากมาย ซึ่งได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาไทยที่ไพเราะเพราะพริ้ง จึงไม่ให้ความประทับใจในทางวรรณศิลป์เท่าที่ควร จะสังเกตได้ว่าฉากใดที่เป็นฉากที่กำหนดให้ผู้แสดงพูดด้วยเสียงที่อ่อนโยน จะเป็นฉากที่สร้างความประทับใจได้อย่างดีเยี่ยม จะขอยกตัวอย่างฉากที่ 8 อันเป็นฉากการสนทนาระหว่างกาลิเลโอกับนักบวชน้อย ในเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องมีศาสนา ผู้กำกับการแสดงคงจะตระหนักในปัญหาดีจึงให้ตัวละครทั้งสองสนทนากันติดกับขอบเวทีด้านหน้าเลยซึ่งได้ผลมาก อีกตอนหนึ่งที่ประทับใจผู้ชมทุกคนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยด้วยคือ ตอนที่กาลิเลโอกล่าวประณามตัวเองในฉากที่ 14 พรศิล จันทนากร เล่นได้ถึงบทจริงๆ และต้องขอชมเชยว่านักแสดงสมัครเล่นที่รับบทกาลิเลโออันหนักหน่วงโดยไม่ล่มกลางคัน แล้วยังสร้างความสง่างามที่แฝงอยู่ในบทตอนสุดท้ายนี้ได้เช่นนี้ ต้องนับว่าประสบความสำเร็จที่น่าพึงพอใจ แม้ว่าเสียงและการพูดในตอนฉากแรกๆดูจะหย่อนอยู่บ้าง ผู้เขียนคงจะไม่มีโอกาสได้กล่าวถึงการแสดงเป็นรายบุคคล แต่ใคร่ที่จะกล่าวสรุปรวมว่าการแสดงครั้งนี้มี เอกภาพ เล่นกันเป็นคณะ เล่นด้วยกันอย่างมีวินัย ในแง่นี้คงจะต้องชมเชยทั้งผู้แสดงและผู้กำกับการแสดง การที่สามารถใช้ผู้แสดงเพียง 20 คน เล่นบทที่เขียนไว้สำหรับตัวแสดง 50 ตัว นับว่าเป็นสิ่งที่ยากยิ่งอยู่แล้ว ถ้าผู้ดูเกิดจำได้ว่ายุทธนา มุกดาสนิท เล่นทั้งบทลุโดวิโกและบทอันเดรอาตอนหนุ่ม ก็คงจะต้องทำใจเพราะละครเบรคชท์เป็นละครที่ไม่ต้องการครอบเราให้ตกอยู่ในห้วง “มายาอันสมบูรณ์” เกี่ยวกับด้านเทคนิคเรื่องฉากและแสงนั้น ผู้เขียนขาดความสันทัดจึงคงจะไม่อาจกล่าวอะไรที่เป็นสาระได้มากนัก เพียงแต่รู้สึกว่าบางตอนสว่างเกินไป โดยเฉพาะฉากที่ 13 ในตอนที่กาลิเลโอพ่ายแพ้กลับมาหลังจากยอมถอนคำสอน สำหรับฉากส่วนบนนั้นอาจจะไม่เหมาะกับการแสดงบางตอนซึ่งไม่ต้องการลักษณะที่หรูหราของสถาปัตยกรรมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ข้อปลีกย่อยเหล่านี้อาจปรับแก้ได้ด้วยการใช้แสงที่เหมาะสม

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว กาลิเลโอ ของ “คณะละครสองแปด” เป็นการสร้างทานบารมีให้วงการละครของไทย เพราะนานๆครั้งเราจึงจะมีโอกาสได้ชมละครที่เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาอันลึกล้ำเช่นนี้กับเขาบ้าง เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งถามผู้เขียนหลังจากที่ได้ชมการแสดงว่า มีการ “แต่ง” บทใหม่ให้เข้ากับสภาวะบ้านเมืองไทยในตอนนี้บ้างหรือเปล่า ผู้เขียนได้ตอบปฏิเสธแทนคณะละครและยืนยันว่าพวกเขาเพียงแต่เดินตามเบรคชท์ นั่นเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่างานศิลปะที่ยิ่งใหญ่นั้นย่อมจะต้องมีลักษณะสากลที่กระตุ้นสติปัญญาความคิดให้แก่คนต่างยุคต่างสมัยต่างถิ่นได้ หลังจากที่เบรคชท์ถึงแก่กรรมไปแล้วหลายปี มีนักวิจารณ์คนหนึ่งถามฌอง ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสว่า ท่านคิดว่าใครเป็นนักประพันธ์ละครร่วมสมัย ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซาร์ตร์ตอบอย่างฉบับพลันว่า “เบรคชท์” แสดงว่าเขายังถือว่าเบรคชท์ร่วมสมัย กับเขาอยู่ทั้งๆที่เบรคชท์สิ้นไปแล้ว สำหรับบ้านเรานั้นความสนใจที่มีต่องานของเบรคชท์ดูจะเพิ่มขึ้นตามลำดับนับแต่ นี่แหละโลก ผ่าน คนดีที่เสฉวน ผ่าน อุปรากรยาจก มาสู่ กาลิเลโอ และการแสดงครั้งล่าสุดนี้ก็เป็นประจักษ์พยานให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเบรคชท์ยังเป็นนักประพันธ์ร่วมสมัยกับเรา

เป็นที่น่าประหลาดใจว่า ในเยอรมนีตะวันตกเอง เบรคชท์ได้ตกเวทีไปแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนเยอรมันเอาเบรคชท์ไปผูกกับแฟชั่นบางประการ รวมทั้งแฟชั่นทางการเมืองที่ผันผวนไปได้อยู่เสมอ เมื่อการเมืองเปลี่ยนไป เมื่อลมซ้ายอ่อนแรง และลมขวาพัดเข้ามาแทนที่ เบรคชท์ก็เลยมีอันเป็นไป ที่น่าสมเพชยิ่งไปกว่านั้นคือ วงวิชาการก็ถูกครอบด้วยความผันผวนทางการเมืองไปด้วย ในขณะนี้นักวิชาการเยอรมันที่ค้นคว้าวิจัยเรื่องเบรคชท์อย่างจริงจังดูจะมีอยู่น้อยคน เพราะนักวิชาการก็ต้องเดินตามแฟชั่นกับเขาเช่นกัน หาไม่ก็คงจะไม่ได้รับการสนับสนุนในด้านทุนวิจัย สภาพการณ์ภายนอกเยอรมนีกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ทั้งวงการละครและวงการวิชาการกลับให้ความสนใจเบรคชท์เพิ่มมากขึ้นทุกที ได้มีการก่อตั้ง “สมาคมเบรคชท์นานาชาติ” (International Brecht Society) ขึ้น ในอเมริกาเหนือก็ดี ในตะวันออกกลางก็ดี ในเอเชียก็ดี คนที่ “แสวงหาความหมาย” ดูจะพบคำตอบในหลายรูปแบบจากงานของเบรคชท์ ซึ่งไม่ใช่คำตอบแบบสูตรสำเร็จ แต่เป็นคำตอบที่กระตุ้นปัญญาที่เตือนสติ เราคงจะต้องประกาศอิสรภาพให้แก่เบรคชท์ ปลดปล่อยเขาจากชาติกำเนิด เขาเกิดมาเป็นคนเยอรมันก็จริง เขาเขียนงานเป็นภาษาเยอรมันก็จริง แต่เขาไม่ได้เป็นสมบัติของคนเยอรมันอีกต่อไปแล้ว

ที่มา : เจตนา นาควัชระ. “ข้อคิดเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับการแสดงละคร เรื่อง ‘กาลิเลโอ’ ของแบร์ทอลท์ เบรคชท์.” มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2829 (6/274) (1 ธันวาคม 2528), หน้า 37-39.

You may also like...