โดยสมภพ จันทรประภา
เมื่อได้ยินว่ากรมศิลปากรเล่นละคอนในเรื่องอิเหนาก็ดีใจ เพราะอยากจะดูอีกสักหนว่า ละคอนในนั้นเป็นอย่างไร ครั้งสุดท้ายที่ได้ดูมันนานเต็มทีถึง 37 ปี จำอะไรไม่ได้เลยนอกจากว่า อิเหนาแต่งตัวช้าเหลือเกินกว่าจะอาบน้ำผลัดผ้าเสร็จก็ง่วงแทบตาย
ความอดทนอยู่เพียงสวมแหวน กว่าอิเหนาจะสวมเสร็จก็หลับพับไปเสียแล้ว ละคอนที่ได้ดูในครั้งนั้นเป็นละคอนในขนานแท้และดั้งเดิมชุดสุดท้ายของหลวง แสดงในสวนศิวาลัยภายใต้การควบคุมของเจ้าพระยาวรพงศ์ เสนาบดีกระทรวงวังในสมัยนั้น เปลี่ยนการปกครองแล้วยังมีกระเสนกระสายให้ดูที่สวนมิสกวัน แต่ก็เป็นโขนไม่ใช่ละคอน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ท่านให้ละคอนของท่านเล่นที่โรงศรีอยุธยาก็เล่นละคอนดึกดำบรรพ์ไม่เล่นละคอนใน ถึงกรมศิลปากรเองก็น้อยเต็มทีหรือจะไม่มีเลยก็จำไม่ได้
การที่อยากดูครั้งนี้อยากดูแบบนักเรียน เพื่อจะหาเหตุผลให้แน่ชัดว่า เหตุใดละคอนในจึงซบเซา เหตุใดสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ จึงทรงปฏิรูปให้เป็นละคอนดึกดำบรรพ์ จริงอยู่ตามตำราว่ากันไว้ว่า ละคอนในเป็นละคอนผู้หญิง มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าหลัง พ.ศ. 2330 และจะมีได้แต่ของหลวงเท่านั้น เจ้านายและขุนนางจะมีได้แต่ละคอนผู้ชาย เพิ่งจะมามีละคอนผู้หญิงได้เมื่อ แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าฯนี่เอง เรื่องที่เล่นก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ไม่มากมาย แต่ความที่แต่ละเรื่องยืดยาว จึงดูกันได้ไม่เบื่อ เพราะอาจจะตัดตอนดูกันได้ ได้ทำใจไว้ว่าจะดูด้วยความตั้งใจและอดทนต่อการดำเนินเรื่องซึ่งย่อมจะชักช้า เพราะละคอนในนั้นมุ่งหมายอยู่ที่ศิลปะแห่งการรำเป็นสำคัญ ไม่หวังอะไรหนักๆ ไม่หวังความขบขัน หวังแต่เพลงเพราะๆ รำงามๆ …เท่านั้น
คนไทยที่รู้เรื่องอิเหนาดีนั้นไม่มีใครเกิน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ เพราะนอกจากจะทรงรู้จักอิเหนาของไทยเป็นอย่างดีเท่าที่คนไทยที่รักศิลปะรู้จักแล้ว ท่านยังทรงสนพระทัยค้นคว้าถึงต้นตอในชวา ในขณะที่ประทับอยู่ในประเทศนั้น และทรงแปลเรื่องปันหยีสะมิหรังจากภาษามลายูออกเป็นภาษาไทย เพราะทรงเห็นว่าอิเหนาฉบับนี้แปลไปจากชวา และพอจะมีเค้าลงรอยกับอิเหนาของไทยบ้าง ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
” มีเค้าที่จะลงรอยกับเรื่องอิเหนาของเรา แต่ในกระบวนชื่อเมือง ชื่อคน และวงศ์วารบ้างเท่านั้น ว่าโดยเนื้อเรื่องแล้วต่างกันมากอยู่ จะเทียบกับอิเหนาใหญ่หรืออิเหนาเล็กก็ไม่ตรงกันทั้งนั้น ”
ทรงมีความเห็นเรื่องพระราชนิพนธ์อิเหนา รัชกาลที่ 2 ว่า ” ทรงดัดแปลงร้อยกรองให้เป็นท่วงที งดงามดี เหมาะแก่การเล่นละคอนใน เชิงรำก็ให้ท่าทีจะรำได้ แปลก ๆ งาม ๆ ในเชิงจัดคุมหมู่ละคอนก็ให้ท่าทีจะจัดได้เป็นภาพงามโรง ในเชิงร้องก็ให้ทีที่จะจัดลู่ทางทำนองไพเราะเสนาะโสต ในเชิงกลอนก็สละสลวยเพราะพริ้งไม่มีที่เปรียบ อาจเล่นละคอนให้สมบูรณ์ ครบองค์ห้า ของละคอนดีได้ คือ 1. ตัวละคอนงาม 2. รำงาม 3. ร้องเพราะ 4. พิณพาทย์เพราะ 5. กลอนเพราะ ซึ่งสำเร็จเป็นทั้งทัศนานุตตริยะและ สวนานุตตริยะ อย่างไพบูลย์ ”
กรมศิลปากรตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะให้เป็นละคอนในโดยแท้คืนวันนั้น เพราะยึดหลักสำคัญให้อยู่ที่ศิลปะการรำ รักษาแบบแผน ไม่มีตลกฟุ่มเฟือย นักร้องและนักดนตรีตั้งใจให้เป็นไปโดยความประณีตในขณะเดียวกันก็พยายามเอาใจใส่กับคนดูดีที่สุดที่จะทำได้ ลงทุนจัดกระบวนเสด็จพระราชดำเนินของท้าวดาหา เมื่อไปใช้บนเป็นการเริ่มเรื่องให้คนดูที่ยังใหม่ต่ออิเหนาเข้าใจในท้องเรื่องที่จะเดินต่อไป กระบวนการเสด็จของท้าวดาหานั้น ไม่ใช่กระบวนเล็ก ๆ เพราะนอกจากที่พระองค์จะทรงรถแก้วมณีศรีแล้วยังมี
รถประไหมสุหรีเทวี อีกรถมะเดหวีลำดับกัน แล้วรถระเด่นบุษบา กับพระน้องสียะตราเฉิดฉัน รถสามมเหษีเรียงรัน รถประเทียบกำนัลนารี เครื่องสูงชุมสายรายริ้ว ธงทิวปลิวระยับสลับสี เสียงประโคมโครมครื้นปัถพี ออกจากบุรีรีบมา
ขนาดตัดพระมเหษีรถ พระประเทียบออกยังเต็มโรง แล้วยังทัพอิเหนา ทัพจรกาติดตามมาเป็นทิว ออกมาแว้บเดียวแท้ๆ แล้วก็เข้าไปแก้เครื่อง เพราะตัวละครที่จะเล่นต่อไปมีไม่กี่ตัว คืออิเหนาสังคามารตา สี่พี่เลี้ยง และกิดาหยัน กับบุษบา สี่พี่เลี้ยง นางค่อม และข้าหลวงเป็นละคอนโรงอื่นเล่นไม่ได้ ขาดทุนค่าเครื่อง ค่าคนแต่งตัว ค่าตัวคนเล่น แต่ผลที่ได้สำหรับคนดูที่ไม่คุ้นกับอิเหนาก็คุ้มอยู่
เปิดฉากก็มีศาลเทพารักษ์เห็นไกลๆ มีสระบัว มีแท่นใต้ต้นโศก บุษบาออกมากับพี่เลี้ยงนางกำนัล หลังจากสรุปว่าทูลถามประไหมสุหรีพระชนนีแล้ว เมื่อออกมาก็จับระบำชมศาล ด้วยเพลงชมตลาดตามบทพระราชนิพนธ์ ก็บุษบาชมศาลนั้น คนที่มีอายุ 80 ลงมาจนถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจในการฟ้อนรำนั้นเคยกับบุษบาชมศาลของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ที่แสดงที่โรงละ-คอนดึกดำบรรพ์ เมื่อกลอนผิดหูไปก็ชักกระสับกระส่ายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ตัดชมศาลออกมาก ทรงพระนิพนธ์ใหม่ใช้พระราชนิพนธ์เดิมประกอบและทรงให้เป็นบทของบุษบาและนางกำนัลชี้ชวนชมกัน ตามแบบที่ทรงปฏิรูปของเดิมซึ่งนั่งดูคืนนั้น เป็นการบรรยายของต้นเสียงและลูกคู่ บุษบาและนางกำนัลใช้บทดูแล้วซึมทราบ เพราะพบว่าฉากศาลเทพารักษ์ที่อยู่เบื้องหลังนั้นหมดความหมายเอาทีเดียว กลอนบรรยายโดยคนเสียง บุษบากับนางกำนัลทำมือทำไม้ประกอบ … เข้าใจ … รู้เรื่อง ศาลเทพารักษ์ที่บุษบาและคนเสียงบอกนั้นสวยนัก งามนัก ไม่ใช่ศาลในฉากนั้น การเล่นละคอนแต่ก่อนท่านไม่ใช้ฉากกัน เล่นในโรงเลย เราต้องสร้างจินตนาการกันเอาเอง ดังนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ เวลาที่ทรงจัดละคอนให้ ข้าฉากอย่างฝรั่ง ท่านจึงต้องทรงปฏิรูปการละคอน ให้ตัวละคอนพูดเอง ทำท่าเอง ร้องเอง และไม่มีการบรรยายตามแบบโบราณ เหมือนกับละครสากล มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งก็คือ บทของบุษบาชมศาลนี้ เมื่อมาถึงตอนที่ว่า
ที่สถานลานวัดจังหวัดวง บรรจงปรายโปรยโรยทราย
นั้น กรมศิลปากรได้จัดให้ นางค่อมเชิญพาน ซึ่งสงสัยตั้งแต่ออกฉากแล้วว่า พานอะไร … พานทราย … ในพานนั้นมีทรายนางค่อมเชิญมาให้บุษบา “บรรจงปรายโปรยโรยทราย” ดูแล้วแปลกใจว่าทำไมต้องให้บุษบาโรยทรายเอาจริงๆ เพราะตามบทคนเสียงเล่าให้ฟังถึงความสะอาดในวัดว่าในลานวัดนั้นโรยทรายไว้สะอาด การโรยทรายนั้นปกติเป็นหน้าที่ของกรมเมือง (หรือเทศบาลในปัจจุบัน) เวลามีแขกบ้านแขกเมืองมา หรือมีแห่ มีเสด็จพระราชดำเนิน กรมเมืองก็จะเก็บกวาดท้องถนนให้ดูสะอาดตา ก็ถนนสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นถนนดิน ตรงไหนเปียก เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน เขาก็แก้ไขโดยการเอาทรายมากลบ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ให้บุษบาทำท่าบอกว่า เขาบรรจงปรายโปรยโรยทรายเอาไว้ ก็ท่าฝนยังทำได้ ท่าลมพัดยังทำได้ ไม่เห็นต้องใช้น้ำจริงหรือลมจริง ๆ พูดนี้ก็ตามประสาคนดู ถ้าท่านโกรธก็กราบ ที่จริงเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับคนดูรุ่นใหม่ ๆ กับละคอนไทยนั้นมีเสมอ อย่างโขนคราวที่แล้ว ลิงเข้าไปทำลายพิธียักษ์ เป่าเทียนดับก็พยายามได้ แต่ถึงกับยกม้ามิ่งทองล่องชาดที่วางเทียนเอามาเก็บในโรงก่อน แล้วจึงกลับไปรอต่อนั้นไม่เข้าใจ หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น แล้วยังไปห่วงของสองอัฐฬส ถีบให้มันล้มลงไปให้ดูเป็นจริงเป็นจังก็ยังทำได้ ถึงตอนลงสรงในสระบัวในพระราชนิพนธ์ ใช้เพลงพระทองหวน ให้นางลงไปในสระมีบัวจริง ๆ ถ้าทำได้ถึงตอนที่ว่า
น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกประทุมาอยู่ไหวไหว
ก็คงทำให้เห็นปลาจริงๆ แต่ทำไม่ได้จึงมีแต่ดอกบัว สระที่นางจมหายลงไปก็ดี ดอกบัวต่าง ๆ ก็ดี กินท่ารำอันควรจะดูไปเสียเป็นก่ายเป็นกอง นึกไม่ออกที่พอถึงบทที่ว่า
ลางนางบ้างกระทุ่มน้ำเล่น บ้างโกรธว่ากระเซ็นถูกเกษา บ้างว่ายแซงแข่งเคียงกันไปมา เกษมสุขทุกหน้ากำนัลใน
นั้น จะรำกันอย่างไร ที่ท่านเล่นกันแต่ก่อน อาบน้ำเสร็จแล้ว บุษบาก็จับระบำด้วยเพลงปะหลิ่ม ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงจัดให้บุษบาและนางกำนัลร้องเองด้วยเพลงคำหวาน และแขกประเทศรับปี่พาทย์ แทรกแม่ศรีสาวสะ พูดมาถึงตอนนี้ต้องกราบพระบาทสรรเสริญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ที่ท่านได้ทรงทำบทนั้นได้อย่างวิเศษ บุษบาชมศาลนี้ท่านทรงกลับเอาไปไว้ตอนกลาง เวลาท่านเล่นท่านเอาตัดดอกไม้ขึ้นก่อน ไม่ตรงตามบทพระราชนิพนธ์ แต่ฉายกริชเอาไว้ตอนท้ายเช่นกัน ฉากนี้จบลงด้วยการที่นางค่อมถูกใช้ให้ไปหาดอกลำเจียก
ฉากสองเปิดเห็นอิเหนาในพลับพลา ซึ่งถ้าเป็นละคอนในแต่ก่อนคงรำออกมานั่งเตียงเอาดื้อๆ บทพระราชนิพนธ์ให้ร้องเพลงปีนตลิ่งใน หรุ่ม แล้วก็ร่ายเมื่อเสด็จออกจากพลับพลา พอมาถึงหน้าศาลม่านก็ปิด ร้องชมตลาดชมศาลอีก ถึงตอนนี้ที่ต้องกราบพระบาทสรรเสริญสมเด็จฯ ดังกล่าวมา เพราะเพื่อนคนหนึ่งที่ไปดูด้วยกัน เป็นสถาปนิกที่ฉลาด สมัยใหม่เจี๊ยบ ชอบทางระบำรำเต้นเห็นเก้อที่ชมศาลซ้ำอีกในเวลาไม่ห่างกัน ที่จริงเขาฟังกลอนไม่ถนัด ถ้าฟังถนัดเขาจะพบว่าถึงซ้ำก็ชมไม่เหมือนกัน และเขาไม่รู้มาก่อนเลยว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงดัดแปลงแก้ไขเอาตอนนี้ขึ้นก่อน และแทนที่จะร้องชมตลาด แต่ให้อิเหนาและเสนาร้องชมดงแทน ไม่มีการพรรณนาถึงสถาปัตยกรรมเลย ทั้ง ๆ ในบทพระราชนิพนธ์มี
ตอนนี้ นางยุบลค่อม ออกอย่างตามแบบละคอนในธรรมดาๆ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงให้นางยุบลร้องเพลงแขกถอนสายบัว ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “อาเยรปาขัง” มาแต่ในโรง แล้วเดินออกมาร้องแขกลันดาดง และอื่น ๆ จนคนรู้จักกันแพร่หลาย ดังนั้น เมื่อนางค่อมออกมาตามแบบเดิม คนที่คุ้นเคยกับบทของนางค่อมใหม่ก็กระสับกระส่ายอีกวาระหนึ่ง
ฉากสามเป็นฉากป่ามีต้นลำเจียกอิเหนาทำบท ” แลลอดสอดหาดอกปะหมัน” ครั้นพบก็ตั้งพิธีชักกฤชออกตัดอยู่อีกนาน ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน รำงามจริง ๆ ตอนนี้ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ท่านไม่มี อิเหนาหายเข้าไปในโรง ปล่อยให้นางค่อมบ่นอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็ออกมาเอาดอกลำเจียกยื่นให้ แต่ละคอนในเล่นละเอียดจนถึงเมื่อ
ได้บุหงาปะหงันทันใด ภูวไนยลิขิตด้วยนะขา เปิดอักษรทุกกลีบมาลา แล้วกลับคืนมายังคีรี
ฉากสี่อันเป็นฉากสุดท้ายเรียกว่า ตอนฉายกฤช ซึ่งเด็ก ๆ สมัยนี้ขันว่า ฉายทำไม ต้องตอบว่าฉายเพื่อเรียกร้องความสนใจจากนางเอก เด็ก ๆ ถามต่อไปว่า แล้วทำไมต้องสลบ ต้องตอบว่านางเอกเป็นคนขวัญอ่อน กลัวฟ้า เห็นแสงแวบมาโดยไม่ทันรู้ตัวก็ตกใจถึงสลบ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงจัดเอาไว้ตอนหลังตามบทพระราชนิพนธ์ ฉากนี้เป็นฉากสำคัญที่จะต้องพูดถึงมาก เรื่องที่พูดไม่ใช่ฉาก ไม่ใช่ท่ารำ ไม่ใช่ดนตรี แต่เป็นเรื่องกลอน เพราะตอนนี้มีฉากไม่เก้อเหตุที่ไม่มีการบรรยาย ท่ารำฉายกฤชไม่ต้องพูดถึงเพราะเห็นคนดูหลายคนตาค้าง ดนตรีนั้นฟังสบายหู กลอนที่จะพูดถึงนั้นคือกลอนในสารที่อิเหนาจารลงมาบนกลีบลำเจียกด้วยเล็บ บทพระราชนิพนธ์เดิม ความว่า
รูปชั่วต่ำช้าทั้งศักดิ์ศรี ทรลักษณ์พิกลอินทรีย์ ดูไหนไม่มีจำเริญใจ เกษานาสิกขนงเนตร สมเพชพิปริตผิดวิไสย เสียงแหบแสบสั่นเป็นพ้นไป รูปร่างช่างกระไรเหมือนยักษ์ มาร เมื่อยิ้มเหมือนหลอกหยอก เหมือนรู้ ไม่ควรคู่เคียงภักตร์สมัครสมาน ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์ มาประมาณหมายหงษ์พงศ์พระยา แม้แผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เลยจะดีกว่า พี่พลอยร้อนใจแทนทุกเวลา ฤาวาศนาน้องจะต้องกัน
สารนี้ในบทพระราชนิพนธ์ให้ร้องเพลงช้า ซึ่งถ้าร้องจบ เด็กสมัยนี้ไม่หลับก็เกือบไป สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงเห็นในความจริงตามสมัย จึงทรงให้บาหยันและสามพี่เลี้ยงช่วยกันอ่านเป็นเอกบท โดยทรงตัดทอนให้สั้นลง แต่รักษาหัวใจของสารไว้ ความว่า
จรการูปชั่วต่ำศักดิ์ ไม่ควรคู่เคียงภักตร์สมัครสมาน ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์ มาประมาณหมายหงษ์พงศ์ พระยา แม้แผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เลยจะดีกว่า พี่พลอยร้อนใจแทนทุกเวลา หรือวาสนาน้องจะต้องกัน
ใครที่เคยอ่านอิเหนาจะจำคำที่ว่า
” ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์ มาประมาณหมายหงษ์พงศ์พระยา แม้แผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า”
ไว้ได้ เพราะผู้หญิงที่อยู่เป็นโสดอันมีอยู่เป็นจำนวนมากมักจะยกคำนี้ขึ้นมาบอกกับตัวเองบ้าง บอกกับเพื่อนฝูงบ้างอยู่บ่อย ๆ
ละคอนในของกรมศิลปากรคราวนี้ คิดถึงความยาวเช่นเดียวกับสมเด็จฯ และยังรักษาแบบแผนที่ให้เพลงตามพระราชนิพนธ์เพียงแต่ตัดต่อสารให้สั้นลง ความว่า
ในลักษณ์นั้นว่าจรกา รูปชั่วต่ำช้าทั้งศักดิ์ศรี ทรลักษณ์พิกลอินทรีย์ ดูไหนไม่มีจำเริญตา แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เลยจะดีกว่า พี่พลอยร้อนใจแทนทุกเวลา ฤาวาศนาน้องจะต้องกัน
กรมศิลปากรแก้ “จำเริญใจ” เป็น “จำเริญตา” เป็นการแก้ที่ไม่เลว เพราะ ” ดูไหนไม่มีจำเริญตา” เข้าท่า เพราะ “ตา” เป็นเครื่องมือของการดู แต่ที่ตัดตรงไปต่อเอาที่ “แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย” เพื่อที่จะให้ “ตา” สัมผัสกับ “กว่า” ของคำที่ว่า “อย่ามีคู่เลยจะดีกว่า” นั้น กระทัดรัดจริง แต่ขาดน้ำหนัก เพราะน้ำหนักของสารฉบับนี้อยู่ตรงที่คำว่า
” ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์ มาประมาณหมายหงษ์พงศ์พระยา”
กรมศิลปากรทำให้ลักษณะของอิเหนาเปลี่ยนแปลงไป จากความเป็นคนเจ้ายศคนเกเร เอาแต่ใจตนเป็นประมาณมาเป็นแต่เพียงคนช่างค่อนเบา ๆ คนหนึ่ง
ดูแล้วนึกว่าเมื่อไหร่จะได้ดูละคอนรำที่จัดอย่างให้เล่นเข้าฉาก และแสดงโดยชายจริงหญิงแท้สักที เพราะจะน่าดูมาก ถ้ายังจำกันได้ เมื่อไม่กี่วันมานี้ กรมศิลปากรเล่นเรื่องพระคเณศเสียงาทางทีวี ใช้ผู้ชายเป็นปรศุราม เด็กรุ่นใหม่ทึ่งกันมากเพราะไม่เคยเห็นการรำที่งดงามผึ่งผาย องอาจอย่างนั้นโดยไม่ต้องสวมหัวมาก่อน เด็กๆมักจะผิดหวังที่เห็นพระเอกในละคอนป้อแป้ทั้งๆที่ก็ใช้ท่าพระอย่างถึงบท เพราะคติของเด็กทุกวันนี้ไม่ยอมรับพระเอกแบบนั้น ใครที่เคยดูการซัดชาตรีจะต้องยอมรับว่า ผู้ชายซัดได้น่าดูกว่าผู้หญิง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ได้ทรงปฏิรูปแบบการเล่นของละคอนมาชั้นหนึ่งแล้วและทรงพบความสำเร็จการปฏิรูปอันดับต่อไปจะเป็นไปในรูปใดยังไม่มีใครทายได้ เวลานี้ทายได้อย่างเดียวว่า อนาคตของละคอนในนั้นมืดมน ถึงแม้ว่าจะแก้กลับไปเล่นในโรงละคอนตามแบบไม่เข้าฉากก็ตามที ถ้าเป็นไปได้ขอดูละคอนที่เล่นตามแบบของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศ ฯ ที่ทรงปฏิรูปใหม่สักเรื่อง โดยทำบทขึ้นใหม่ และใช้ชายจริงหญิงแท้ และให้ผู้รำใช้ท่ายักษ์หรือท่าปรศุราม เพราะโขนที่รำดี และอาจฝึกร้องได้คงหาไม่ยากถ้าพยายาม การเสนอนี้มิใช่เสนอไม่ยาก เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีลายพระราชหัตถ์เลขาไว้หลังจากที่ทรงลองกำกับการแสดงละคอนเรื่องพระลอว่า
” คนที่จะเล่นละครมันต้องเป็นคนคิดได้ทั้งบทและทั้งคุมเรื่อง ให้ท่า จำต้องคิดเรื่อง คิดใหม่ ประกอบกับตัวคนที่มีอยู่ จึงจะเล่นได้ดี เพราะฉะนั้นคนที่เล่นละคอนดีมาแต่ก่อน ๆ พระพุทธเลิศหล้า ตาเจ้ากลับ นายเนตร นายต่าย เจ้าพระยามหินทร เหล่านี้เขานึกของเขาเองทั้งนั้น ถ้าเล่นละครมีผู้มาคอยติว่า ที่นี่ต้องอย่างนั้น ที่นั่นต้องอย่างนี้จึงจะถูกแล้ว เล่นอย่างไร ๆ ก็สู้เมื่อกระนั้น ( คือ คนที่เล่นแรกไม่ได้ ) ”
ที่มา : สมภพ จันทรประภา. “สวัสดี-ละคอนใน”. สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. ปีที่ 14 ฉบับที่ 11 (3 กันยายน 2510).
สมภพ จันทรประภา. “สวัสดี-ละคอนใน”. สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ .ปีที่ 14 ฉบับที่ 12 (10 กันยายน 2510).