คำกล่าวหาจากศาลาทวงศพ

คำกล่าวหาจากศาลาทวงศพ โดย เจตนา นาควัชระ
การแสดงละครเรื่อง นายซวยตลอดศก โดย “ กลุ่มมะขามป้อม ” ณ ลานไทรริมน้ำ สวนสันติชัยปราการ บางลำพู เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมละครเวทีที่นักแสดงร่วม 40 กลุ่มร่วมใจกันจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และผมได้ไปชมเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2545

ที่ผมตั้งชื่อบทความไว้ข้างต้นนั้นมิใช่เป็นการเสแสร้งเล่นคำแต่ประการใด แต่จุดหนึ่งซึ่งผมคิดว่าบาดใจคนดู ( ที่ยังมีสัญชาตญาณใฝ่ดีติดตัวอยู่บ้าง ) ก็คือคำพูดของผู้แสดงนำฝ่ายหญิง ซึ่งตามท้องเรื่องสูญเสียลูกสาวของเธอไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เธอกล่าวประโยคเดียวกันซ้ำอยู่หลายครั้งว่า “ เอาศพลูกฉันคืนมา ” ยิ่งฟังก็ยิ่งเหมือนถูกตรึงด้วยคำพูดนั้น ดูราวกับจะทำให้เวทีกลางแจ้งที่ใกล้ป้อมพระสุเมรุ ซึ่งดูจะเป็นรมณียสถานที่น่าจะสร้างความหฤหรรษ์เพลิดเพลินให้กับเรา กลับกลายเป็นศาลยุติธรรมซึ่งประชาชนตั้งขึ้นเอง และสถานที่นั้นก็ทำหน้าที่เป็น ศาลาทวงศพ ไปโดยปริยาย ยิ่งเมื่อผู้แสดงคนเดียวกันกล่าวความซ้ำหลายครั้งด้วยเสียงกรีดร้องเป็นข้อกล่าวหาเชิงสาธารณะว่า “ ไม่มีใครพูดความจริงกับฉันเลย ” “ ละครผอม ” ที่ผมได้ดูในคืนนั้นก็กลายเป็นมหากาพย์ที่มุ่งปลุกสำนึกและเตือนสติสังคมไทยที่พร้อมจะปรับตัวได้อย่างรวดเร็วไปในทิศทางที่เมินประวัติศาสตร์หรือลืมประวัติศาสตร์เอาเสียด้วย

วิธีการเมินและวิธีการลืมประวัติศาสตร์อาจมีหลายวิธี วิธีหนึ่งที่ซื่อบริสุทธิ์ก็คือหลีกเลี่ยงความจริงอันปวดร้าวเสีย เพื่อชีวิตจะได้ดำเนินต่อไปนัยว่าอย่างสงบสุข บางครั้งอัจฉริยภาพในทางภาษาก็เข้ามาเป็นเครื่องมืออันยอดเยี่ยมในปฏิบัติการดังกล่าว ทุกครั้งที่ผมนั่งรถไฟไปมาระหว่างบางกอกน้อยกับนครปฐม ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า ชื่อสถานี ศาลาธรรมสพน์ ที่เราสะกดเสียใหม่ให้เข้าแบบคำไทยที่มาจากบาลี – สันสกฤตนั้น เป็นกลวิธีในการเลี่ยงชื่อที่เป็นอัปมงคล แต่ครั้งหนึ่งได้ไปอ่านบทความของ ม . ร . ว . คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่าน จึงได้ทราบว่า แต่เดิมสถานที่นั้นเรียกว่า ศาลาทำศพ อย่างตรงไปตรงมา เพราะเป็นที่ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นขนศพมาเผา ละครของ ” กลุ่มมะขามป้อม ” จึงดูจะเดินสวนทางกับวิถีของคนไทยส่วนใหญ่ เพราะผมแน่ใจว่า ละครเรื่องนี้ไม่ต้องการที่จะเบนหนีจากความจริงทางประวัติศาสตร์ เสียงกรีดร้องที่ผมเอ่ยถึงข้างต้นนั้นชวนให้ผมคิดถึงละครเรื่องอื่นๆที่เคยได้ดูมาและก็ยังฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ลืมไม่ได้ นั่นก็คือ “ แม่ค้าสงคราม ” (Mutter Courage) ของแบร์ทอลท์ เบรคชท์ (Bertolt Brecht) ฉากที่จัดได้ว่าเป็นจุดสุดยอดของละครก็คือ ฉากที่แม่ต้องปฏิเสธความเป็นแม่เมื่อฝ่ายตรงข้ามนำศพลูกมาให้ดู ผมไม่มีความสามารถพอที่จะบรรยายฉากนั้นได้ดังใจ จึงต้องขออ้างผู้เชี่ยวชาญ George Steiner ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ มรณกรรมของละครโศก ( The Death of Tragedy ) ของเขาว่า

“ ข้าพเจ้าได้ดูเฮเลนเนอ ไวเกล (Helene Weigel) แสดงบทตอนนี้ที่โรงละคร Berliner Ensemble แต่คำว่า “ แสดง ” เป็นเพียงคำจืดๆที่ไม่สามารถสะท้อนศิลปะอันมหัศจรรย์ของเธอได้ เมื่อร่างของลูกชายถูกนำมาไว้เบื้องหน้าเธอ เธอเพียงแต่สั่นหัวเล็กน้อยเป็นการให้คำปฏิเสธ พวกทหารบังคับให้เธอเพ่งมองศพอีกครั้ง เธอก็ไม่ยอมแสดงท่าว่าจำได้ เพียงแต่มองเหม่อลอยไปข้างหน้า เมื่อเขานำร่างนั้นออกไป ไวเกลผินหน้าไปอีกทางหนึ่งและฉีกปากออกกว้าง ท่านั้นคือภาพของม้าที่อ้าปากร้องโอดครวญในจิตรกรรมอันเลื่องชื่อ คือ Guernica ของปิกัสโซ เสียงที่เธอเปล่งออกมานั้นน่าจะเป็นเสียงที่แหบแห้งและเจ็บปวดเกินกว่าที่ข้าพเจ้าจะบรรยายได้ แต่ความจริงมีอยู่ว่าไม่มีเสียงใดๆออกมาเลย ไม่มีจริงๆ เสียงนั้นคือความเงียบ และก็ความเงียบนั่นแหละที่แผดร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก้องไปทั้งโรงละคร จนทำให้ผู้ชมต้องก้มหัวลงราวกับจะหนีลมแรงที่พัดกรรโชกมา … นั่นคือเสียงโอดครวญดึกดำบรรพ์อันบริสุทธิ์ที่สะท้อนถึงสภาพอมนุษย์ของมนุษย์ และความสูญเสียของมนุษยชาติ ”

ผมไม่ได้เรียกร้องว่าละครไทยจำเป็นต้องใช้ความเงียบเพื่อกู่ร้องในจินตนาการถึงความโหดเหี้ยมของประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับละครเองของเบรคชท์ วิธีการที่เราใช้ก็เป็นไปตามประสาของคนซื่อ นั่นก็คือเมื่อเจ็บก็ร้อง แต่ละครไม่ใช่เรื่องของการร้องที่ไร้เสียงสะท้อน เสียงแผดร้องของตัวละครที่เล่นบทของเฮงยังก้องอยู่ในโสตประสาทของผมมาจนถึงบัดนี้

ว่าไปทำไมมี ถ้าจะพูดในแง่ของศิลปะการแสดงแล้ว การแสดงเรื่อง นายซวยตลอดศก จัดได้ว่าเป็นละครที่ให้ความหฤหรรษ์ในทางสุนทรีย์ได้อย่างดียิ่ง ไม่มีขณะใดเลยที่ผมรู้สึกว่าละครยาวหรือน่าเบื่อ ฉากสั้นๆที่ทับซ้อนต่อเนื่องกันมาราวกับว่าไร้ระบบนั้น ความจริงคือ ตัวอย่างของสิ่งที่ผมเรียกว่า “ สุนทรียศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่อง ” ไม่ว่าจะเป็นการเอาเพลงที่กินใจ เช่น “ แสงดาวแห่งศรัทธา ” เข้ามาผนวกไว้ หรือเป็นการนำเอาหางเครื่องเข้ามาสลับ ก็ดูจะลงตัวไปเสียทั้งหมด เรียกได้ว่าความสามารถในเชิงเทคนิคอยู่ในระดับสูงพอที่จะทำให้ละครเดินเรื่องไปได้อย่างราบรื่น ลื่นไหลอย่างที่ไม่ติดขัดเสียจนผู้แต่งบทสามารถที่จะปรับละครเรื่องนี้ให้เป็นละครสอนใจได้ทุกเมื่อ ลักษณะที่ดูประหนึ่งคล้ายกับจะเป็นละครประเภทด้นบทมีความยืดหยุ่นพอที่จะเอื้อให้ละครสะท้อน “ ประเด็นร้อน ” ทางสังคมและการเมืองได้ทุกเมื่อเช่นกัน ถ้ามีการตั้งกระทรวงใหม่กันขึ้นมา ละครก็พูดเรื่องกระทรวงใหม่ได้กับเขาเหมือนกัน ถ้าเขามีกระทรวงวัฒนธรรม ละครก็ตอบสนองนวัตกรรมทางการเมืองที่ว่านี้ได้ทันที กลเม็ดเด็ดพรายอย่างนี้ใช้ไม่ได้ง่ายนัก เพราะถ้าแดกดัน เสียดสีจนเกินไป คนดูก็อาจจะรำคาญได้ ความพอเหมาะพอดีเป็นสิ่งที่มากับประสบการณ์ และละครคณะนี้ก็ดูจะมีประสบการณ์ติดตัวมามากพอที่จะใช้อารมณ์ขันประสมกับอารมณ์โศกไว้สำหรับตีแสกหน้าคนดู ( อันรวมถึงคนที่ไม่ได้ดู และคนที่ไม่มีวันจะมาดู ) ได้อย่างสะใจนัก เช่นเมื่อตัวละครฝ่ายหญิงขอร้องให้ผู้ปกครองบ้านเมืองใช้ดาวเทียมไปเสาะหาศพของลูกสาวคืนมาให้เธอนั้น ผู้ชมก็อดหัวเราะไม่ได้ แต่ ณ จุดนี้ อารมณ์ขันกับอารมณ์โศกปะปนกันอย่างแยกไม่ออก เช่นเดียวกับชะตากรรมของครอบครัวหนึ่งซึ่งดูจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในท้ายที่สุดก็กลายเป็นประเด็นสาธารณะขึ้นมาได้ การทวงศพลูกอาจจะอยู่ในระดับของประเด็นส่วนตัว แต่ในกรอบของละครเรื่องนี้ประเด็นส่วนตัวกับประเด็นสาธารณะแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะชาวบ้านผู้ไม่ประสีประสาคนหนึ่งเรียกร้องให้คนพูดความจริงกับเธอ นั่นเท่ากับเป็นการจี้ไปที่แผลฉกรรจ์ของสังคมไทย นับได้ว่าเป็นประเด็นทางสังคมและการเมือง และถ้าคิดต่อไปอีกก็อาจเป็นประเด็นเชิงปรัชญาขึ้นมาได้ คนที่อยู่รอบข้างเธอถูกกล่าวหาหมด ไม่ว่าจะเป็นนายซวยผัวของตัวเอง หรือรุกขเทวดา รวมทั้งเพื่อนร่วมสังคมนิรนามอีกจำนวนหนึ่งซึ่งก็ตกเป็นจำเลย ณ ศาลาทวงศพ แห่งนี้ไปด้วยเช่นกัน

ถึงอย่างไรก็ตาม ผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า การแสดงครั้งนี้ฟูมฟายเกินไป จนถึงขนาดมีการหลั่งน้ำตากันบนเวที ในขณะที่ผู้ชมก็อดไม่ได้ที่จะต้องน้ำตาซึมหรือน้ำตาเล็ดตามไปด้วย ผมเข้าใจดีว่าละครต้องการจะสร้างผลกระทบในด้านของความสำนึกผิดชอบชั่วดี และมีลักษณะของการสั่งสอน (didactic) อย่างเลี่ยงมิได้ ซึ่งไม่ใช่ของแปลกอันใดสำหรับวงการละครไทย แต่สิ่งที่ผมเฝ้าสังเกตมาก็คือ การปลุกอารมณ์ โดยไม่ปลุกสำนึกที่ เป็นเหตุเป็นผล นั้น อาจไม่ส่งผลที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆได้ ผมเคยเฝ้าสังเกตชนชั้นนำของสังคมไทยบางคนที่แสดงความเห็นอกเห็นใจประชาชนผู้ยากไร้เสียจนต้องหลั่งน้ำตาในที่สาธารณะ แต่เมื่อหลั่งน้ำตาไปแล้วท่านเหล่านั้นก็คงเกิดความโล่งทางอารมณ์ตามแบบที่ปราชญ์อริสโตเติลเขียนเอาไว้ใน กวีศาสตร์ ของเขา แล้วก็กลับไปสู่มหกรรมบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ของท่านต่อไป ลืมประชาชนไปพักหนึ่ง จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟูมฟายในลักษณะนี้อีกในครั้งต่อไป เมื่อพูดถึงศิลปะการละครผมก็จำเป็นต้องสารภาพว่าผมเชื่อในอุดมคติของแบรทอลท์ เบรคชท์ ที่ว่าละครซึ่งมุ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงจะต้องปลุกให้ผู้ดูผู้ชมใช้ เหตุผล มากกว่าใช้ อารมณ์ นั่นคือ ละครกำกับให้ผู้ชมฉุกคิด คิดต่อ คิดด้วยตนเอง คิดด้วยเหตุผล นอกโรงละคร ในชีวิตจริง และในสังคม ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นแก่นสารจึงอาจจะเกิดขึ้นได้ บทวิจารณ์นี้มิได้เสแสร้งดัดจริต ทำตัวเป็นงานของผู้คงแก่เรียน แต่ผมอดไม่ได้ที่จะต้องอ้างผู้รู้ที่ผมเคารพนับถือ จำได้ว่าเมื่อได้ไปสัมมนาทางวิชาการในกรอบของมหกรรมละครของเบรคชท์ ที่ฮ่องกง เมื่อปี 2529 ผมได้ฟังการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญละครชาวฝรั่งเศส ชื่อ แบร์นารด์ ดอรท์ (Bernard Dort) ซึ่งจับใจผมมาก และก็ฝังใจผมมาจนทุกวันนี้ ประโยคสุดท้ายที่ท่านกล่าวเอาไว้มีความว่า ” ถ้าท่านไม่เชื่อว่า สังคมเปลี่ยนแปลงได้ จะเล่นละครเบรคชท์ไปทำไม ” ผมจึงอยากจะเห็นคนหนุ่มคนสาวที่ลงแรงลงใจเล่นละครหนักๆเช่นเรื่องนี้ ได้ตั้งโจทย์ให้แก่ตัวเองไว้ในทำนองเดียวกันว่า ” ถ้าละครเปลี่ยนสังคมไม่ได้ จะเล่นละครไปทำไม ” “ กลุ่มมะขามป้อม ” อาจจะประสบความสำเร็จในฐานะที่ทำละครเพื่อการศึกษามาแล้ว แต่ถ้ามีความมุ่งมั่นสูงที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ก็คงจะต้องคิดให้หนักถึงแง่มุมต่างๆในด้านของศิลปะการละครด้วย

นายซวยตลอดศก เป็นเรื่องของสองผัวเมียชาวบ้านที่หนีไม่พ้นแรงกระทบทางสังคมและการเมือง เป็นเหยื่อของนักการเมืองที่จงใจหลอกลวงประชาชน ( และลูกชายคนเดือนตุลาฯ ของเขาก็เสียคนไปในทำนองเดียวกัน ) ประเด็นเหล่านี้ใครๆก็ทราบตระหนักดี แต่จะทำเป็นละครให้กินใจได้อย่างที่ ” มะขามป้อม ” ได้ทำมาแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย บางครั้งคนหนุ่มคนสาวเหล่านี้ก็ตั้งใจมากเสียจนขาดความคงเส้นคงวา เช่นในตอนท้ายของเรื่อง ชาวบ้านเปลี่ยนภาษาพูดจากระดับของคนสามัญธรรมดา ขึ้นสู่วาทศิลป์ของปัญญาชนท่าพระจันทร์ อย่างนี้ผู้ดูที่ตั้งใจดูก็อดที่จะรู้สึกขัดๆไม่ได้ ยิ่งคิดถึงฝ่ายผู้ดูผู้ชมและมหาชนแล้วก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า คนที่มาดูนั้นส่วนใหญ่อาจจะเป็นผู้ที่เห็นพ้องกับทิศทางความคิดของละครเรื่องนี้อยู่แล้วใช่หรือไม่ ทำไปทำมาก็จะกลายเป็นเรื่องของคนกลุ่มเดียวกันเล่าเรื่องที่ตนอยากฟังและชอบฟังให้พวกเดียวกันฟัง ผลกระทบในทางสังคมจะมีมากน้อยเพียงใด พวกผมที่อาสาเข้ามาเขียนวิจารณ์ก็เพียงแต่หวังว่าจะช่วยขยายวงของผู้สนใจให้กว้างออกไปได้บ้างเล็กน้อย เผื่อว่าผู้ที่ยังมิได้ให้ความสนใจต่อ ” ละครผอม ” ประเภทนี้จะได้ให้โอกาสกับ “ มะขามป้อม & Co” บ้าง

ในขณะที่ผมกำลังดูละครอยู่นั้น เมื่อมองผ่านเลยเวทีละครขึ้นไปในแนวสูงก็เห็นสะพานพระราม 8 แห่งใหม่ตั้งตระหง่านอยู่ มีการแต่งไฟในยามราตรีให้งดงามและสง่างาม ( งามยิ่งกว่า “ กรุงเทพราตรี ” ที่เพลงสุนทราภรณ์พรรณนาเอาไว้เสียอีก ) ในบางครั้งก็มีเรือสำราญขนาดใหญ่แล่นผ่านไปมาบนท้องน้ำเจ้าพระยา ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วชะตากรรมของครอบครัวนายซวยและนางเฮงสัมพันธ์อย่างไรกับสถาปัตยกรรมชิ้นใหม่อันโอฬารและผู้คนเจ้าสำราญที่ล่องเรือยามราตรีผ่านไป อะไรคือประวัติศาสตร์ อะไรคือความสำนึกทางประวัติศาสตร์ อะไรคือบทเรียนจากประวัติศาสตร์ ละครทำหน้าที่ตั้งคำถามเหล่านี้ แต่มิได้ให้คำตอบ ผมกลับไปบ้านแล้วก็หยิบหนังสือกวีนิพนธ์เล่มหนึ่งขึ้นมา เปิดไปที่บทกวีของศักดิ์สิริ มีสมสืบ ชื่อ ” รำลึกทวนรอยเท้าแห่งวิถี ” ซึ่งเขียนขึ้นในวาระครบ 20 ปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้วก็รำพึงกับตัวเองว่า ” ถ้าโลกแห่งความจริงหรือโลกที่ใกล้กับความเป็นจริงดูจะถึงทางตัน แล้วละก้อ เราคงจะต้องกลับไปหางานศิลปะที่ชี้ทางออกให้แก่เราได้บ้าง “

You may also like...