ละครที่เสียดสีสังคมบริโภคทุกยุคสมัยได้อย่างสะใจ โดย กรกช อัตตวิริยะนุภาพ
ในสภาพสังคมที่ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยม ระบบแข่งขันกันทางธุรกิจ ที่ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่บ่นว่า “ เราจ่ายไม่ไหวแล้ว ” และถ้าเกิดว่าความรู้สึกอึดอัดขัดสนนี้สั่งสมเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ จนผู้คนเหล่านี้ประกาศออกมาว่า “ เราไม่จ่ายหรอก เราไม่จ่าย ” แล้วอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปชมละครเวทีภาษาเยอรมันเรื่อง “Bezahlt wird nicht” ซึ่งแปลได้ว่า “ ไม่มีการจ่าย ” หรือ “ ไม่มีใครจ่าย ” ที่โรงละคร Schlachtlaus กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผลงานละครที่เสียดสีสังคมบริโภคได้อย่างยอดเยี่ยม จนอดไม่ได้ที่จะต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง
Bezahlt wird nicht นำเสนอเรื่องราวของสามีภรรยา 2 คู่ ที่ถูกสถานการณ์พาไปให้ไปพบกับเหตุการณ์ต่างๆ และต้องแก้ไขสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เรื่องเริ่มต้นด้วยการที่มีบรรดาผู้หญิงนับพันคนไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เกตแล้วทนไม่ไหวกับการที่ราคาของแพงมาก พวกเธอก็เลยไม่พอใจแล้วพากันหยิบเอาข้าวต่างๆ ของจากร้านนั้นมาโดยไม่ยอมจ่ายเงิน Antonia ภรรยาของ Giovanni ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นโดยบังเอิญ เธอจึงได้ร่วมปล้นของมาจากร้านนั้นด้วย และหอบข้าวของมามากมายจน Margherita เพื่อนสาววัยอ่อนกว่าเธอ ซึ่งมาพบเธอเข้าโดยบังเอิญ ต้องช่วยเธอขนของเข้าบ้าน Antonia จึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้เพื่อนฟัง เธอเอาของที่ได้มาส่วนหนึ่งซ่อนไว้ใต้เตียงและพยายามยัดเยียดของส่วนหนึ่งให้เพื่อนสาว เพราะกลัวว่า Giovanni สามีของเธอจะรู้เข้า เนื่องจากเขาเป็นคนที่ยึดถืออุดมคติอย่างแรงสูงว่ายอมอดตาย แต่ไม่มีวันไปปล้นหรือหยิบของๆ ใครมาโดยไม่จ่ายเงิน และจะต้องโกรธที่เธอทำเช่นนี้อย่างแน่นอน Margherita เอาของซ่อนอยู่ใต้เสื้อคลุมของเธอ จนทำให้เธอดูเหมือนคนท้อง และทำให้ Giovanni สงสัย แต่ Antonia ก็แก้ตัวไปขุ่นๆ เรื่องราวที่ Antonia กุขึ้นมาโกหกสามีทำให้เกิดมุขตลกมากมาย แต่ละเหตุผลล้วนทำให้ผู้ชมละครต้องหัวเราะอยู่ตลอดเวลา เป็นต้นว่า Margherita ไม่ยอมกินยาคุมกำเนิด เพราะว่าเป็นคาทอลิกและถูกสันตปาปาห้าม จนทำให้แอบตั้งท้อง โดยปกปิดไม่ให้ Luigi ผู้เป็นสามีรู้
เมื่อ Giovanni บ่นว่าหิว Antonia ก็หยิบเอาอาหารสัตว์ประเภทต่างๆ มาวางกองไว้ให้แล้วบอกว่าเงินที่มีซื้อได้แค่นั้น แล้วเธอก็บอกว่าจะออกไปขอยืมอาหารจากเพื่อนสาวของเธอ Giovanni ทนหิวไม่ไหว จนในที่สุดก็เริ่มเปิดอาหารกระป๋องสำหรับสัตว์ที่วางอยู่บนโต๊ะออกมากิน ในระหว่างนั้นก็มีตำรวจยามตามมาค้นบ้าน เพื่อหาข้าวของที่บรรดาผู้หญิงไปปล้นมาจากซุปเปอร์มาร์เกต ตำรวจผู้นี้เห็นอกเห็นใจที่ Giovanni ไม่มีอะไรจะกินจนถึงขนาดต้องกินอาหารสัตว์ และยังบอกว่าเขาเข้าใจบรรดาผู้หญิงที่ทำแบบนั้น และเห็นว่าผู้ร้ายตัวจริงคือพวกนายทุนผู้ได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าราคาแพงมากกว่า ในที่สุดเขาจึงจากไปทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการตรวจค้นบ้านด้วยซ้ำไป แต่แล้วก็มีตำรวจคนที่ 2 มาตรวจค้นบ้านอีก ตำรวจผู้นี้มีความคิดเห็นตรงกันข้ามกับคนแรกโดยสิ้นเชิง ซึ่งในระหว่างนั้น Antonia และ Margherita กลับมาแล้ว ด้วยความกลัวว่าตำรวจจะมาพบของที่ซ่อนไว้ ทั้งสองจึงต้องทำให้เกิดเหตุการณ์โกลาหลขึ้น โดย Margherita ทำท่าเป็นกำลังจะต้องคลอดลูก ในที่สุดตำรวจจึงต้องพาสองสาวนี้ไปโรงพยาบาล ทิ้งให้ Giovanni งุนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเขาพบว่ามีเม็ดมะกอกตกอยู่ที่พื้น
เมื่อ Luigi สามีของ Margherita กลับมา ก็ต้องหัวเสียเมื่อหาภรรยาไม่พบทั้งๆ ที่บ้านเปิดประตูทิ้งไว้ เมื่อเขามาถามหาภรรยาของเขากับ Giovanni เขาก็ไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าภรรยาของตนตั้งท้อง สองคนจึงชวนกันออกไปตามหาภรรยาของพวกเขากัน ระหว่างทางทั้งคู่ก็ไปเห็นอุบัติเหตุรถบรรทุกสินค้าสองคันชนกัน ในรถบรรทุกนั้นเต็มไปด้วยกระสอบข้าว น้ำตาล และอาหารต่างๆ เมื่อ Giovanni รู้จาก Luigi ว่าโรงงานที่ทั้งสองคนทำงานนั้นจะตัดชั่วโมงทำงานของพวกเขา เพราะจำลดต้นทุนการผลิตโดยการไปตั้งโรงงานในต่างประเทศที่ค่าใช้จ่ายถูกกว่า เราจึงเกิดความผิดหวัง และโมโหกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนต้องยอมทิ้งอุดมคติของตัวเอง เขาจึงชวน Luigi หอบกระสอบข้าวของเหล่านั้นออกมาจากรถบรรทุก แต่ก็ต้องโชคร้ายมาพบกับตำรวจคนโหดเข้าพอดี ทั้งสองจึงต้องหนีกันกระหืดกระหอบ เนื่องจากตำรวจรู้จักบ้านของ Giovanni ทั้งสองคนจึงตกลงว่าจะหนีไปพบกันที่บ้านของ Luigi แทน แต่เมื่อไปถึงก็เข้าบ้านไม่ได้เพราะ Luigi ลืมกุญแจไว้ที่บ้านของ Giovanni ทั้งสองคนได้พบกับสัปเหร่อคนหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ จึงได้ขอยืมโลงศพ แอบเอาของที่ขโมยมาซ่อนไว้ และยกโลงศพนั้นไปที่บ้านของ Giovanni
ในระหว่างนั้นฝ่ายภรรยาทั้งสองคนก็พยายามลำเลียงข้าวของที่ได้หยิบมาจากซุปเปอร์มาร์เกตไปซ่อนที่บ้านพ่อของ Giovanni โดยทำเป็นคนท้อง ค่อยๆ ขนของออกจากบ้านไป เมื่อตำรวจที่ตามล่าหา Giovanni และ Luigi มาพบเข้า จึงจับได้ว่าเธอสองคนแกล้งทำเป็นท้อง ทั้งสองคนหลอกตำรวจเกี่ยวกับว่าที่บรรดาผู้หญิงทั้งหลายทำเป็นท้องนั้นเป็นเพราะกำลังทำพิธีเพื่อแสดงความเคารพต่อ Eulalia และบอกว่าถ้าใครลบหลู่จะตาบอด ทั้งสองทำให้ตำรวจผู้นี้หลงเชื่อ จนตกใจกลัวและหมดสติไป ทั้งสองคนตกใจคิดว่าตนได้ทำการฆาตกรรมตำรวจ จึงนำเครื่องให้ออกซิเจนมาใช้ แต่แล้วกลับไม่สามารถทำเอาท่อออกซิเจนออกจากปากของตำรวจได้จนกระทั่งท้องของเขาป่องขึ้นมาจากลมที่ถูกเป่าเข้าท้องไป สองสาวจึงนำเขาไปซ่อนไว้ในตู้
เมื่อสองสามีมาพบกับภรรยาเข้า ทั้งสองฝ่ายต่างก็ปกปิดเรื่องของตน แต่ในที่สุดความก็แตก เมื่อพ่อของ Giovanni มา เพื่อบอกว่าเขาจะต้องย้ายออกจากบ้านนี้เนื่องจากไม่ได้จ่ายค่าเช่ามาหลายเดือน เมื่อถึงตอนนี้ความลับต่างๆ ก็ได้ถูกเปิดเผยหมดทั้งเรื่องที่สองสาวแอบเอาของที่ขโมยมาไปซ่อน เรื่องที่แกล้งทำเป็นท้อง ส่วน Antonia ก็แทบไม่เชื่อสายตาเมื่อเห็นของที่สามีของเธอกับ Luigi ขโมยมา เมื่อถึงตอนนี้ความลับต่างๆ ก็ได้ถูกเปิดเผยหมด ในระหว่างนั้นตำรวจท้องป่องก็ฟื้นขึ้นพอดี พอเห็นว่าตนท้องป่องก็ตกใจวิ่งหนีหายไป
ความสนุกของละครเรื่องนี้อยู่ที่การโกหก และข้อแก้ตัวต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปเรื่อย จนทำให้เกิดเป็นตลกสถานการณ์ (situation comedy) ที่ทำให้ผู้ชมละครต้องหัวเราะกันจนท้องคัดท้องแข็งและน้ำตาไหลพรากตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากผู้แสดงไม่ได้มีความสามารถยอดเยี่ยม และผู้แสดงทุกคนในวันนั้นก็แสดงได้ดี ตีบทแตกจริงๆ ตัวละครนั้นมีมากกว่าผู้แสดงเนื่องจากผู้ที่แสดงเป็นตำรวจ 2 คน สัปเหร่อและ พ่อของ Giovanni นั้นใช้นักแสดงคนเดียวกันแสดง นอกจากนี้เขายังมีหน้าที่ในการทำเสียงประกอบ ( sound effect) ด้วย นอกเหนือไปจากนักดนตรีอีกคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างเวทีและคอยทำดนตรีประกอบอยู่ตลอดการแสดง โดยใช้กีตาร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ งานนี้ก็คงต้องยกความดีให้ Maret Matter ผู้กำกับด้วย
จังหวะการเคลื่อนไหวในละครเรื่องนี้ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีบางช่วงที่ตัวละครจำทำท่าเคลื่อนไหวแบบช้าๆ เป็นแบบ slow motion บางช่วงใช้ท่าเต้นเข้ามาประกอบ ในขณะที่บางช่วงมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวใน speed ที่ไม่เป็นธรรมชาติเช่นนี้นับว่าเข้ากับเรื่องที่เต็มไปด้วยการพูดโกหก การปั้นเรื่องที่ดูไร้เหตุผลต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ (โดยเฉพาะจากคำพูดของ Antonia) และเป็นการเพิ่มสีสันให้กับละครเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะนอกจากตลกจากคำพูด และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้ชมยังขำกับการแสดงท่าแปลกๆ หรือทำจังหวะช้าๆ เร็วๆ ของตัวละครอีกด้วย นอกจากนี้ การนำเอากล่องกระดาษที่เป็นกล่องใส่สื่อสมัยใหม่ต่างๆ อย่างเช่น โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ มาทำเป็นกรอบหน้าต่างและประตูบ้าน ซึ่งสามารถยกสลับเปลี่ยนและเลื่อนไปมาได้ เปลี่ยนเป็นฉากนอกบ้านได้ด้วย (อย่างเช่นตอนที่สองสามีไปเห็นอุบัติเหตุเข้า) นับว่าเป็นการออกแบบฉากที่ practical และเข้ากับท้องเรื่องที่ตั้งใจเสียดสีสังคมบริโภคได้เป็นอย่างดีทีเดียว โดยเฉพาะฉากที่สามีภรรยาทั้งสองคู่มาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง แต่ต่างพยายามจะปกปิดความลับของตน การเลื่อนฉากไปมาระหว่างฝ่ายหญิง ( ที่กลัวฝ่ายสามีเห็นตำรวจที่พวกเธอนำไปซ่อนไว้ในตู้) กับฝ่ายชาย ( ที่พยายามจะเลื่อนฉากมาปิดโลงศพที่พวกตนใส่ของที่ขโมยมาเอาไว้) นับว่าเป็นสื่อสะท้อนว่าทั้งสองฝ่ายพยายามปกปิดความลับของตนได้อย่างดีทีเดียว
ตลอดเวลาประมาณชั่วโมงครึ่งที่นั่งชมการแสดง โดยไม่มีการพักครึ่ง ผู้ชมละครไม่เพียงแต่จะได้รับความบันเทิงอย่างจุใจเท่านั้น แต่ยังสามารถหยิบเอาประเด็นปัญหาต่างๆ ที่นำเสนอในละครเรื่องนี้กลับไป “ ครุ่นคิดพินิจนึก ” ต่อที่บ้านได้อีกอย่างแน่นอน เพราะละครเรื่องนี้มีการสอดแทรกประเด็นปัญหาต่างๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ปัญหาการตกงาน ว่างงาน หรือปัญหาครอบครัว ที่ฝ่ายชายสนใจแต่ตัวเองเป็นหลัก คิดว่าตนเองทำงานแล้ว ให้เงินภรรยาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่ภรรยาจะต้องจัดสรรใช้จ่ายเงินนั้นให้เพียงพอ โดยไม่สนใจว่าเงินที่ได้มานั้นเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ( แถมยังเย่อหยิ่ง ภาคภูมิใจว่าตนเองไม่มีทางไปหยิบของใครมาโดยไม่จ่ายเงินอย่างพวกผู้หญิงอย่างแน่นอน เหมือนที่ Giovanni เป็นในช่วงต้นเรื่อง) นอกจากนี้ยังมีการเสียดสีศาสนา อย่างเช่นการอ้างถึงสันตปาปาตอนโกหกว่า Magherita ตั้งท้อง ตลอดแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยอาศัยตัวละครตำรวจ 2 ตัว ที่มีแนวคิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่คนหนึ่งเห็นใจคนจน คนเดือดร้อน และคิดว่าผู้ร้ายตัวจริงคือพวกนายทุนที่ได้ผลประโยชน์ จนรู้สึกลำบากใจที่ต้องออกมาปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจอีกคนหนึ่งกลับสนใจแต่จะจับคนที่ขโมยของ และคิดว่าตนเป็นฝ่ายถูก
ละครเรื่อง “Bezahlt wird nicht” แปลมาจากบทละครภาษาอิตาเลียนเรื่อง “Non si paga, non si paga” ( ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษนั้นใช้ชื่อว่า “We Can’t Pay, We Won’t Pay” หรือ “ เราจ่ายไม่ไหว เราไม่จ่าย ”) ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1974 โดย Dario Fo ( นักเขียนชาวอิตาเลียนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1997) บทละครแนวเสียดสีเรื่องนี้เขียนขึ้นในยุคสมัยที่สภาพสังคมกำลังประสบกับปัญหาที่ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับมีการปลดคนงาน หรือลดชั่วโมงทำงานของคนงาน จนทำให้บรรดาคนงานทั้งหลายต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม ท้องเรื่องในละครเรื่องนี้คือที่มิลาน ประเทศอิตาลี แต่แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 30 ปี ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ และไม่ได้เกิดในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ในสภาพสังคมปัจจุบัน ใครจะปฏิเสธความจริงได้ว่า กระแสโลกาภิวัฒน์นั้นได้ทำให้โลกเราเจริญขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในด้านวัตถุ ไม่ว่าจะเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าไหน เราก็จะเห็นมีสินค้านานาชนิดวางขายเต็มไปหมด แต่ก็มีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่มีเงินพอจับจ่ายใช้สอย และซื้อของเหล่านี้ได้อย่างสบายๆ และคงมีอีกหลายคนที่ในใจลึกๆ อยากจะทำอะไรบ้าๆ แบบบรรดาผู้หญิงในละครเรื่องนี้บ้างเหมือนกัน
ฉากสุดท้ายของละครเรื่องนี้จบลงด้วยการจราจล เมื่อตำรวจออกปราบปรามบรรดาผู้ร้าย ซึ่งหมายถึงผู้คนที่ไปปล้นหรือหยิบสินค้าต่างๆ มาโดยไม่จ่ายสตางค์ มีเสียงยิงปืน เสียงต่อสู้ระหว่างผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กับราษฎรที่ล้วนเป็นผู้ร้ายจำเป็น ที่พยายามขนของจากรถบรรทุก และหนีการจับกุมของตำรวจ แต่เมื่อต่อสู้กันไปพักหนึ่ง เสียงการต่อสู้กลับเปลี่ยนเรื่องไปกลายเป็นเหตุการณ์อื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งมีทั้งเรื่องของปาเลสไตน์ และอเมริกา และเมื่อเสียงการต่อสู้กันสิ้นสุดลง นักแสดงคนที่แสดงเป็นตำรวจ ก็มายืนอยู่ทางมุมขวาของเวที และรับบทบาทเป็นตัวละครตัวใหม่ คือ “ จอร์ช ดับเบิลยู บุช ” ซึ่งเหลืออยู่เพียงคนเดียว เมื่อไม่มีใครเหลือให้ปราบปรามได้อีก เขาก็ใช้มือสองข้างต่อสู้กันเอง จนกลายเป็นภาพที่เสียดสีสถานการณ์ตึงเครียดทั่วโลกนี้ได้ดีจริงๆ ฉากจบนี้ไม่มีในบทละครต้นฉบับ แต่เป็นการเติมเข้ามาในการนำเสนอละครฉบับสวิสครั้งนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าท่านประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ได้มาชมละครเรื่องนี้ที่นำเสนอโดยคณะละคร Club 111 ในวันนั้นด้วย ท่านจะหัวเราะกับมุขเด็ดมุขสุดท้ายนี้หรือไม่
สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงละครวันนั้นก็คือ ผู้ชมได้รับความบันเทิงไปอย่างเต็มที่ เสียงหัวเราะนั้นมีอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นเรื่องยันฉากสุดท้าย เรื่องราวจากบทละครเรื่องนี้เป็นสากล ผู้แสดงทุกคนในวันนั้นก็ฝีมือเยี่ยม ผู้เขียนคิดว่าได้ชมละครเวทีที่องค์ประกอบต่างๆ ล้วนนำเสนอเข้ากันได้อย่างลงตัว บทละครโดยผู้เขียนอิตาเลียน แปลเป็นภาษาเยอรมัน กำกับและแสดงโดยคนสวิสเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนและเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ไปชมละครด้วยกันพูดออกมาหลังละครจบว่าประทับใจจนอยากดูอีก ผู้เขียนเองถึงกับต้องไปยืมบทละคร (ฉบับแปลเป็นภาษาเยอรมัน) จากห้องสมุดมาอ่าน อ่านไปก็นึกถึงตอนชมละครไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนึกถึงว่าการที่ได้ชมละครที่บทดี แล้วยังนำเสนอดี คนแสดงยอดเยี่ยม สนุกๆ แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เสียด้วย