วรารมย์ ปัจฉิมสวัสดิ์

นักวิชาการทางศิลปะท่านหนึ่งกล่าวว่า หัวใจของงานศิลปะทั้งมวล คือ จังหวะ เพราะสิ่งนี้ก่อกำเนิดลีลาแห่งสรรพสิ่ง สะท้อนความงดงามออกมาให้ประสาทสัมผัสมนุษย์ได้ยลยิน ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง ฯ ล้วนแล้วแต่มีจังหวะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่นาฏลีลาที่ วรารมย์ ปัจฉิมสวัสดิ์ Artistic Director สถาบัน Dance Center ศิลปินไทยคนแรกที่สามารถเข้าร่วมแสดงกับคณะบัลเล่ต์ระดับโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ รักเท่าชีวิต 

 

 

“ เห็นเขาเต้น เห็นเขาแสดงมาตั้งแต่เด็กแล้วนึกชอบ มันฝังอยู่ในใจ พอมีโอกาสจึงเริ่มต้นเรียนอย่างจริงจัง จนกระทั่งถูกส่งไปเรียนที่ The Royal Ballet School ลอนดอน ประเทศอังกฤษ พอกลับมาเมืองไทยก็คิดอยากจะเปิดโรงเรียนสอนศิลปะแขนงนี้ แล้วก็เริ่มต้นทำเรื่อยมา ”

 

ในระยะหลัง ศิลปะการแสดงได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งมีความกระตือรือร้นจะเรียนรู้ศิลปะแขนงนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ในจำนวนนี้มีเพียงน้อยที่มุ่งมั่น และเอาจริงเอาจัง นอกนั้นเป็นเพียงสนใจตามกระแส ทำให้เกิดทัศนะคติที่ว่า การเรียนเต้นเป็นเรื่องของแฟชั่น

 

“ ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องตามกระแส เพราะสิ่งเหล่านี้มันต้องเริ่มต้นจากใจก่อน แล้วจะเป็นตัวจุดประกายให้เริ่มเรียนรู้ ซึ่งนั่นเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง คนจะเรียน Performance ได้ ต้องมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง

 

อันที่จริงศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยความพร้อม ความสมบูรณ์ของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งถ้าตอนนี้คุณพร้อมแล้ว แล้วคุณวางใจไม่ฝึกซ้อม ความสามารถของคุณก็จะหย่อนลงทันที

 

เพราะฉะนั้นคุณจะเห็นได้ว่า การเรียน Performance เพื่อจะเป็นนักเต้นที่ดี ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เรามองว่าการที่เด็กๆหันมาสนใจก็เป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าเขามีความมุ่งมั่น มีความสนใจในงานศิลปะ ส่วนเขาจะสนใจขนาดไหน ถึงเมื่อไร นั่นมันอยู่ที่ว่า เขาสู้หรือเปล่า ”

 

ความหลงใหลในมนต์เสน่ห์แห่งลีลา และดนตรี ทำให้วรารมย์มุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความรักอันนี้ สู่เยาวชนและผู้สนใจ ด้วยการก่อตั้ง โรงเรียนศิลปะการแสดง สถาบันแดนซ์ เซ็นเตอร์ ขึ้น ในปี พ.ศ.2528 โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสถาบันสอนศิลปะการแสดงชั้นนำของประเทศไทย คณาจารย์ของสถาบันล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและศิลปินนักเต้นและนักแสดงอาชีพ

 

“ เพราะเรารู้ว่า Performance ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เราจึงพยายามปลูกฝังศิลปะแขนงนี้ให้เติบโตขึ้นในสังคม และเราก็ตระหนักอีกว่าคนมากมายในสังคม มีความต้องการและคงวามสนใจที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก เราจึงวางหลักสูตรการเรียน การสอนที่นี่ให้ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งศิลปะการแสดง เช่น บัลเล่ต์คลาสสิค , แจ๊ซซ์ , คอนเทมโพรารี แด็นซ์ , creative dance, ฮิพ-ฮอพ , สตรีทแด๊นซ์ , ลาติน , บอลรูม , ยิมนาสติกลีลา เลยไปถึงศิลปะการป้องกันตัว ซึ่งเรามองว่ามันเป็นพื้นฐานขั้นแรกของการเตรียมร่างกายให้พร้อม มีทั้งหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรระยะยาว ของเด็ก ของผู้ใหญ่ เรื่อยไปจนถึงหลักสูตรของคนที่กำลังจะเลือกเดินทางสายอาชีพด้านนี้ ”

 

และเช่นเดียวกับศิลปะในแขนงต่างๆ การยอมรับและความสนใจของสังคมเป็นสิ่งพึงปรารถนา ช่วยต่อลมหายใจให้ศิลปินลุกขึ้นสู้

 

“ การสนับสนุนเป็นเรื่องที่จะสามารถช่วยให้ศิลปะแขนงต่างๆอยู่รอด อย่าง Performance ก็ได้รับการสนับสนุนมาโดยตลอด เช่น จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่ผ่านมาเราก็มีการร่วมมือกันทำงานออกมา เช่น งาน International Dance Day Festival 2006 เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่เราเน้นว่าทุกคนสามารถมีความสุขกับการเต้นได้ ความสุนทรีจะนำมาซึ่งความสุข และสุขภาพ เราคิดเสมอว่า คนที่ไม่มีความสุนทรีในชีวิต เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ” วรารมย์ทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มสดใส

 

 

——————————————————

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...