ออกแบบโดย : บริษัท โรเบิร์ต จี บุย แอนด์ แอสโซซิเอทส์ (ROBERT G : Boughey & Associates)
เจ้าของโครงการ : กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ประเภทอาคาร : –
ปีที่ก่อสร้าง : –
ขนาดพื้นที่ : –
ตั้งอยู่ที่สี่แยกปทุมวัน ตรงข้างห้างสรรพสินค้าชื่อดังกลางกรุงอย่างมาบุญครองและสยามดิสคัฟเวอรี่ อันเป็นทำเลทองเปรียบได้กับหัวแหวนของย่านการค้าสำคัญในเมืองหลวง เป็นอาคารสีขาว รูปทรงมีดีไซน์แปลกตาทันสมัย มองผ่านตัวตึกเข้าไปภายในดูโล่งโปร่งสบายตา สามารถเดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติได้โดยเชื่อมต่อกับบริเวณทางเข้าชั้น 3 ซึ่งถูกออกแบบโดย บริษัท โรเบิร์ต จี บุย แอนด์ แอสโซซิเอทส์ (ROBERT G : Boughey & Associates)
หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่จัดทำกิจกรรมด้านศิลปะ เป็นสถานที่รองรับ อาทิ ศิลปิน นักออกแบบ หรือผู้ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานต่อประชาชน เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกรุ่นทุกวัยเพื่อการก่อเกิดวัฒนธรรมใหม่ของการพูดคุย สังสรรค์ระหว่างผู้สร้างงานและผู้สนใจงานศิลป์ในทุกๆด้าน อาทิ เช่น การออกแบบ ศิลปะภาพเขียน ดนตรี ละครเวที เป็นต้น โดยมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นการเสริมและสร้างแรงบันดาลใจของการเรียนรู้ในสังคมซึ่งอาจจะนำไปสู่แนวทางใหม่ของศิลปวัฒนธรรมไทย ดังที่ผู้ออกแบบได้เสนอแนวความคิดหลักที่นำมาใช้ในการออกแบบรูปทรงของอาคารหลังนี้ไว้ว่า อาคารจะมีคามยืดหยุ่นสูงในการใช้สอยและเอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อให้การจัดการแสดงงานศิลปะ ซึ่งภายในจะมีพื้นที่หลากหลายซึ่งมี แสง ขนาด และลักษณะที่แตกต่างกันเพื่ออำนวยต่อการแสดงงานศิลปะรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยที่รูปแบบอาคารจะคุณลักษณะอิงรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมไทยหรือวัฒนธรรมไทย มีความน่าตื่นเต้น เชื้อเชิญ ตอบสนองต่อประโยชน์ใช้สอย ภายในถูกออกแบบให้มีพื้นที่(Space) ในลักษณะที่มีสูงเพื่อให้เหมาะกับการแสดงงานศิลปะ นอกจากนี้พื้นที่ใจกลางอาคารแสดงเอกลักษณ์ของอาคาร ซึ่งเป็นตัวกำหนดภาพรวมของงานตกแต่งภานในทั้งหมด โดยส่วนของห้องแสดงนิทรรศการจะใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติให้มากที่สุด แต่ทั้งนี้แสงนั้นต้องได้รับการควบคุม เพราะการแสดงงานศิลปะจำเป็นที่จะต้องควบคุมปริมาณแสงให้พอเหมาะเพื่อไม่ให้เป็นการทำลายงาน และยังมีการรวมส่วนร้านค้าเข้าเป็นส่วนบริการเสริมของหอศิลป์ โดยเลือกร้านค้าอย่างเหมาะสมให้เกี่ยวโยงกับศิลปะก็จะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างส่วนพาณิชย์และส่วนของศิลปะ
ตัวอาคารมี 11 ชั้น(ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) โดยในตัวอาคารได้ถูกออกแบบมาให้เป็นทรงกระบอก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระหว่างอาคารได้ด้วยทางเดินวน เป็นแนวเอียงขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คนที่เข้ามาชมผลงาน สามารถชมได้ต่อเนื่องในแต่ละชั้น ถึงแม้ว่าตัวอาคารจะประกอบด้วยพื้นที่ใช้สอยที่แยกจากกัน รวมทั้งพื้นที่ร้านค้า แต่ก็มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสถาปัตยกรรม พื้นที่ภายในจะพัฒนาจากจุดศูนย์กลางคือ พื้นที่เปิดโล่งทรงกระบอกซึ่งนำเสนอจุดเด่นแก่สายตา เมื่อเข้าสู่อาคารโถงกลางชั้นที่ 1 ได้รับการออกแบบให้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเสนอ ภาพลักษณ์ของอาคารและเป็นเสมือนตัวแทนเชื่อมโยงภาพรวมของกิจกรรมทั้งหลาย มีบทบาทกระตุ้นระหว่างงานศิลปะและประชาชนที่สนใจ พื้นที่เปิดโล่งนี้ยังนำสายตาสู่ชั้นบนสุดของอาคาร นับเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริงซึ่งสามารถจัดกิจกรรมหลากหลายให้เกิดการปฎิสัมพันธ์กับคนทำให้สามารถเห็นกิจกรรมต่างๆในอาคารนี้ ซึ่งนำไปสู่งานศิลปะภายในห้องจัดแสดงรูปทรงซึ่งมีจุด
ศูนย์กลางเช่นนี้ทำให้เห็นกิจกรรมในพื้นที่ใช้สอยอันหลากหลาย โดยที่มองจากชั้นล่างก็จะสามารถเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นทางด้านบน เนื่องจากอาคารนี้เป็นอาคารเพื่อสาธารณะชน ความตื่นเต้นเร้าใจจากการแสดงให้เห็นกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นตัวปลุกให้เกิดการตอบสนองจากชุมชน พื้นที่ส่วนกลางนี้ยังทำให้เกิดความชัดเจนของการเข้าถึงและความยืดหยุ่นของอาคาร โดยลักษณะของชั้นบนถัดไปก็จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนพื้นที่การจัดแสดงงานศิลปะ นิทรรศการ หรือร้านค้า ร้านหนังสือ ที่จะแบ่งไปตามลักษณะของห้องสตูดิโอ มีลักษณะของการจัดแสดงที่สามารถรับรู้และจบได้ภายในห้องเดียว และอีกส่วนหนึ่งคือเป็นลักษณะของการเดินวนเพื่อชื่นชมงาน โดยมีระยะห่างระหว่างการเดินเพื่อหยุดดูและผนังในความกว้างที่สามารถมองงานได้อย่างทั่วถึง และจัดไฟสำหรับพื้นที่การแสดงที่จุดๆเฉพาะ โดยจะเป็นงานที่เป็นเรื่องราวเดียวกันจัดแสงตามทางเดินวน
โดยชั้นที่หกนั้นจะเปรียบเสมือนห้องโถงสูงก่อนที่จะเข้าชมห้องแสดงงานชั้นถัดไป ที่เป็นโถงแสดงงานทัศนศิลป์ เช่น ห้องแสดงภาพ ประติมากรรม นิทรรศการถาวรต่างๆซึ่งอยู่ในชั้นที่เจ็ด ลักษณะการแสดงงานจะแตกต่างออกไปจากชั้นล่าง คือจะเป็นโถงใหญ่ พื้นที่ทางเดินส่วนหนึ่งจะลาดเอียงที่ชั้นพอสมควร โดยอาศัยแสงธรรมชาติในการจัดแสดงงาน อีกทั้งรูปทรงของอาคารที่เป็นรูปทรงกระบอกทำให้นึกคิดว่า อาคารหอศิลป์เหล่านี้คงจะได้รับอิทธิพลการออกแบบมาจากอาคาร Guggenheim museum โดยสถาปนิก Frank Lloyd wrights อยู่ในช่วงยุคสมัยสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 20 สถาปัตยกรรมโมเดิร์น รูปทรงหน้าตาอาคารที่เรียบง่าย ลักษณะของอาคารเมื่อมองจากภายนอกก็สามารถท้ำเรารู้ถึงการจัดวางภาพแกลลอรี่ที่อยู่ภายในนั้น ซึ่งในสมัยนั้นก็นับว่าเป็นแนวความคิดที่แปลกใหม่ ที่ส่งผลให้การออกแบบพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะในสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลการออกแบบจากอาคารหลังนี้ คล้ายคลึงกับอาคารหอศิลป์นี้ที่ผังส่วนหนึ่งเป็นรูปร่างทรงกระบอกก้นหอย ทำให้เราสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าการใช้งานภายในนั้นเป็นเช่นไร แต่ในรูปแบบของอาคารที่แตก่างกันในแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนั้น อาคารแบบยุคโมเดิร์นอาจจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้เนื่องจากอาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเมือง ลักษณะอาคารหอศิลป์จึงได้มีการประยุกต์ภาพลักษณ์ของสถาปัตยกรรมให้เข้ากับสถาปัตยกรรมไทย อาคารซึ่งมีความทันสมัยแต่ขณะเดียวกันก็อิงรูปทรงที่แสดงประวัติหรือเอกลักษณ์ไทย การออกแบบทางสถาปัตยกรรมหลายประการ อาทิ การนำสอบเข้าของผนังซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทย มาประกอบการออกแบบรูปทรงของอาคารภายนอก ช่วงหน้าต่างแคบๆซึ่งเป็นรูปทรงแบบไทยๆได้นำมาดัดแปลงให้เกิดเป็นองค์ประกอบสมัยใหม่ในลวดลายและรูปทรง ทั้งยังเป็นส่วนควบคุมแสงธรรมชาติไม่ให้เข้าสู่อาคารมากเกินไปทางด้านทิศตะวันตก การนำรูปแบบส่วนโค้งของหลังคาทรงไทยและรูปทรงอื่นๆของไทย เช่น ท่ารำ มาเป็นส่วนประกอบของหลังคาและแผงกันแดดเหนือหลังคาห้องกระจกนิทรรศการ ซึ่งอาจจะดูเหมือนคล้ายสถาปัตยกรรมในยุคโพสต์โมเดิร์นที่มีการสื่อสารและความหมายที่ถือเป็นความงามที่ต่างจากประโยชน์ใช้สอยของอาคารก็เป็นได้
ศิลปะเปรียบเหมือนพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ หอศิลป์จึงเป็นโครงสร้างการดำรงชีวิตของชุมชน ซึ่งในปัจจุบันมักจะถูกมองข้าม แต่หากคิดดีๆหอศิลป์ก็มีความจำเป็นและความสำคัญเช่นเดียวกับห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ เปรียบเสมือนสาธารณูปโภคที่จะพัฒนาสังคมด้านสมองและจิตใจ
จากทำเลที่ตั้งของหอศิลป์นี้ ที่ดูคล้ายกับเป็นอาคารเพื่อนของมาบุญครอง อาคารน้องของสยาม แหล่งรวมของเยาวชน วัยรุ่น ศูนย์การค้า โรงเรียนและมหาวิทยาลัย จะพบว่าเป็นทำเลดีมากสำหรับคนกรุงเทพและคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นจุดที่มีผู้คนเยอะ โดยเฉพาะวัยรุ่นหรือเด็กที่ทางรัฐได้เล็งเห็นว่าเรื่องของศิลปะนั้นจะต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆเพราะมันมีความสามารถในการพัฒนาสมอง ความคิดและจิตใจของคนได้ แต่ทว่ากว่าที่อาคารหอศิลป์หลังนี้จะได้อญุ่มาจนทุกถึงทุกวันนี้ในลักษณะของความที่เป็นจุดนัดพบของความรู้ด้านศิลปะนั้น ครั้งหนึ่งเกือบจะกลายเป็นศูนย์การค้า โดยแบ่งส่วนของพื้นที่แสดงงานให้อยู่เพียงส่วนหนึ่งของอาคารเท่านั้น ซึ่ก็นับว่าน่าเสียดายมากถ้าอาคารหลังนี้จะต้องกลายเป็นแค่สถานที่เพื่อความบันเทิงเพียงเท่านั้น เพราะปัจจุบันนี้ คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯถูกละเลย ช่องทางการหาความสุขไม่เพียงพอ คนกรุงเทพฯขาดอาหารทางสมองและจิตใจ เยาวชนไม่มีทางเลือกที่จะไปใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การมีโอกาสที่จะใช้เวลาในหอศิลป์บ้างก็จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ เยาวชนจะได้รับและสัมผัสสิ่งี่มีคุณค่าทางสุนทรีย์ สิ่งแปลกใหม่ ได้รับการฝึกทักษะในการมอง การสังเกตุ เข้าใจในกระบวนการสร้างสรรค์ ได้รับความรู้ทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ การพูดคุย สังสรรค์ระหว่างผู้สร้างงานศิลป์ด้วยกันและกับคนที่ชื่นชมงาน เพื่อกลับไปสร้างจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจและทดลองสิ่งใหม่ๆสร้างผลงานศิลปะและเติมเต็มการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ขึ้น
ผู้เขียน : ทัดพร อินทรนันท์ 5016610270